อรูปพรหมภูมิ ๔

อรูปพรหมภูมิ ๔

ปริยัติธรรม

หนังสือ สังสารวัฏ โดย สุรีย์ มีผลกิจ

สถานที่ตั้งอรูปพรหมภูมิ อยู่สูงจากรูปภูมิชั้นอกนิฏฐาภูมิขึ้นไป ๔,๙๘๔,๖๐๐ โยชน์ จึงถึง อรูปภูมิชั้นต้นคือ อากาสานัญจายตนภูมิ จากนั้นขึ้นไป ๕,๓๔๐,๐๐๐ โยชน์ จึงถึงอรูปพรหมภูมิชั้นที่ ๒ คือ วิญญาณัญจายตนภูมิ จากนั้นขึ้นไปสูงได้ ๕,๖๙๔,๐๐๐ โยชน์ จึงถึงอรูปพรหมภูมิชั้นที่ ๓ คือ อากิญจัญญายตนภูมิ จากนั้นสูงขึ้นไป ๒,๔๐๐,๘๐๐ โยชน์ จึงถึงอรูปพรหมภูมิชั้นที่ ๔ คือ เนวสัญญานาสัญญายตนภูมิ

อรูปพรหมภูมิทั้ง ๔ ชั้น ไม่มีรูปกาย ปราศจากสีและสัณฐาน จะปรากฏสีขาว สีเขียว สีเหลือง สีแดง สีเมฆ สีหงสบาท สีเลื่อมประภัสสร และสัณฐานน้อยใหญ่แม้สักเท่าใยแมงมุมมิได้มี มีแต่จิตและเจตสิกซึ่งเป็น นามธรรมอาศัยอยู่ในทิพยวิมาน เพราะผู้ที่ประสงค์จะมาอุบัติในภพนี้ พิจารณาเห็นโทษในรูปว่า สัตว์ทั้งปวงที่ทุ่ม เถียงกัน ต่อยติโบยกันด้วยไม้น้อยไม้ใหญ่ ไม้ยาวไม้สั้นก็ดี จะทิ่มแทงกันด้วยศาสตราอาวุธก็ดี เบียดเบียนกันให้ ลําบากนานาประการก็ดี จะอาพาธป่วยไข้มีสรรพโรคต่างๆ ก็ดี ย่อมบังเกิดจากการมีกรชกาย หากไม่มีกรชกายก็จัก ไม่มีทุกข์สาหัสสุดจะพรรณนา เมื่อพิจารณาเห็นโทษในกรชกายดังนี้แล้ว ปรารถนาจะพ้นจากรูป เบื่อหน่ายเกลียด ชังการมีรูปกาย ประสงค์จะให้รูปนั้นดับสูญ จึงเพียรพยายามเจริญอยู่ซึ่งอรูปกรรมฐาน

บุคคลที่ได้ไปบังเกิดในอรูปพรหมภูมิ ๔ ก็ด้วยอํานาจของ อรูปาวจรกุศล คือต้องเจริญรูปฌานที่ได้ จตุตถฌานนั้นก่อน โดยถือเอากสิณนิมิต ๙ ประการ ได้แก่ ปฐวีกสิณ อาโปกสิณ เตโชกสิณ วาโยกสิณ นีลกสิณ ปีตกสิณ โลหิตกสิณ โอทาตกสิณ อาโลกกสิณ ตามแต่จะเลือกเอากสิณใดกสิณหนึ่งเป็นอารมณ์ จนได้จตุตถฌานจากรูปพรหมภูมิแล้ว พิจารณาเห็นโทษแห่งจตุตถฌานนั้นว่า แม้รูปาวจรจตุตถฌานนี้ ก็ยังมีข้าศึก คือโสมนัสอยู่ใกล้ หยาบกว่าอรูปฌาน จึงเพิกจากกสิณนิมิตนั้น เปลี่ยนมาพิจารณาอากาศเป็นอารมณ์ อาการที่ เพิกเฉยมิได้กําหนดกสิณเป็นอารมณ์ ตั้งจิตกําหนดเอาแต่อากาศเป็นอารมณ์ ชื่อว่า เพิกกสิณ เมื่อกสิณรูปอันตรธาน แล้วอากาศมีประมาณเท่าวงกสิณก็ปรากฏแจ่มแจ้งในมโนทวาร ท่านเรียกว่า กสิณุฆาติมากาศ ถ้าผู้ปฏิบัติปรารถนา จะแผ่ออกให้ใหญ่ตลอดขอบจักรวาล ก็สําเร็จได้ตามความปรารถนา ต่อจากนี้ให้บริกรรมภาวนาว่า อากาโส อากาโส เจริญอากาศนิมิตนั้นไว้ให้มัน ปฐมอรูปฌานชื่อว่า อากาสานัญจายตนฌาน ก็จะบังเกิดหน่วงเอาอากาศเป็นอารมณ์

 

อากาสานัญจายตนภูมิ

อากาสานัญจายตนภูมิ พรหมโลกชั้นที่ ๑๗ เป็นที่อยู่แห่งพรหมที่ได้รูปาวจรจตุตถฌานแล้ว

** วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ เล่ม ๑ อารุปปนิเทศ หน้า ๒๓๐-๒๖๕ แสดงไว้ว่า พระโยคาวจรนั้น ครั้นเห็นโทษในรูปกายภายใน มีความเจ็บป่วยโรคตาโรคหูก็ดี เป็นต้น เห็นโทษในรูปกายภายนอก มีการถือไม้พลอง ถือศาสตราเพื่อประหัตประหารกันเป็นต้นก็ดี ก็เพราะมีรูปเป็นเหตุ เธอพิจารณาเห็นดังนี้แล้ว ย่อมเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อ ความหน่ายในรูปทั้งหลาย เพื่อความดับไปแห่งรูปทั้งหลายจึงยังจตุตถฌานให้เกิดขึ้นในกสิณ ๙ มีปฐวีกสิณเป็นต้น อย่างใดอย่างหนึ่ง เพิกจากกสิณนิมิต ไม่ใส่ใจในกสิณแห่งรูปาวจรจตุตถฌาน ทําในใจซึ่ง อากาสานัญจายตนฌาน เปล่า เท่าวงกสิณนั้นจะปรากฏในมโนทวารกาลใด กาลนั้น ผู้ปฏิบัติพึงพิจารณาเอาอากาศเป็นอารมณ์ บริกรรมว่า อนนฺโต อากาโส อนนฺโต อากาโส ร้อยคาบ พันคาบ หมื่นคาบ แสนคาบ เมื่อพิจารณาอากาศนิมิตเนืองๆ นิวรณธรรม ก็สงบ สติตั้งมั่น จิตเป็นอุปจารสมาธิ เมื่อทําให้มาก อากาสานัญจายตนจิตย่อมแนบแน่นอยู่ในอากาศ ดุจดังรูปาวจรจิตแนบแน่นในกสิณมีปฐวีกสิณเป็นต้น เมื่ออรูปาวจรจิตเกิดขึ้นอย่างนั้นแล้ว เพ่งแต่อากาศ หน่วง อากาศนิมิตเป็นอารมณ์ เข้าถึง อากาสานัญจายตนฌาน เมื่อดับขันธ์ลงแล้วก็จะอุบัติใน อากาสานัญจายตนภูมิ กําหนดอายุของอรูปพรหมชั้นนี้ ๒๐,๐๐๐ กัป

 

วิญญานัญจายตนภูมิ

วิญญานัญจายตนภูมิ พรหมโลกชั้นที่ ๑๘ เป็นที่อยู่แห่งพรหมที่ได้จตุตถฌานแล้ว เพ่งอากาศ กสิณได้อากาสานัญจายตนฌานแล้ว เห็นโทษของอากาสานัญจายตนฌานว่า สมาบัตินี้มีข้าศึกคือรูปาวจรณาน อยู่ใกล้ และยังไม่ละเอียดดังวิญญาณัญจายตนะ ดังนี้แล้ว ตัดความพอใจในอากาศ มนสิการว่า อนนฺตํวิญญาณํ วิญญาณไม่มีที่สิ้นสุด ร้อยคาบ พันคาบ หมื่นคาบ แสนคาบ ใส่ใจในวิญญาณที่แผ่อยู่ทั่วอากาศ เมื่อยังจิตให้ท่อง เที่ยวไปในนิมิตนั้นเนืองๆ นิวรณ์ทั้งหลายจะสงบลง สติจะตั้งมั่น จิตเป็นสมาธิขั้นอุปจาระ เมื่อทําให้มากบ่อยๆ เข้าวิญญาณัญจายตนฌานจิตย่อมแนบแน่น เป็นอัปปนาอยู่ในวิญญาณที่แผ่อยู่ทั่วอากาศดุจอากาสานัญจายตนจิต แนบแน่นอยู่ในอากาศฉะนั้น ผู้ปฏิบัตินั้นได้ชื่อว่า ก้าวล่วงจากอากาสานัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง เมื่อดับ ขันธ์ลงแล้วก็จะอุบัติใน วิญญาณัญจายตนภูมิ กําหนดอายุของอรูปพรหมชั้นนี้ ๔๐,๐๐๐ กัป

 

อากิญจัญญายตนภูมิ

อากิญจัญญายตนภูมิ พรหมโลกชั้นที่ ๑๙ เป็นที่อยู่แห่งพรหมที่ได้จตุตถฌานแล้ว เจริญอากาสา นัญจายตนฌาน เจริญวิญญาณัญจายตนฌานแล้ว ยังเห็นโทษในวิญญาณัญจายตนฌานว่า สมาบัตินี้มีข้าศึกคือ อากาสานัญจายตนะอยู่ใกล้ ไม่ละเอียดดังอากิญจัญญายตนะ ดังนี้แล้ว ตัดความพอใจในวิญญาณัญจายตนะ ทําในใจถึงความไม่มี ความว่างเปล่าเห็นโทษว่าแม้วิญญาณก็ยังไม่ละเอียด ใส่ใจในความว่างเปล่า มนสิการว่า นตฺถิ กิญจิ นตฺถิ กิญจิ แปลว่าความว่างหรือความไม่มี ร้อยคาบ พันคาบ หมื่นคาบ แสนคาบ ก็จะเห็นแต่ความว่าง ความไม่มี เมื่อทําให้มากบ่อย ๆ เข้า นิวรณ์ทั้งหลายจะระงับ สติจะตั้งมั่น จิตจะเป็นสมาธิขั้นอุปจาระ ล่วงจาก วิญญาณัญจายตนฌาน อากิญจัญญายตนจิตย่อมแนบแน่นเป็นอัปปนา อยู่ในความว่างเปล่า หรือความไม่มี ที่แผ่ ไปอยู่ทั่วอากาศ เข้าถึง อากิญจัญญายตนฌาน เมื่อดับขันธ์ลงแล้วก็จะอุบัติใน อากิญจัญญายตนภูมิ กําหนดอายุ ของอรูปพรหมชั้นนี้ ๖๐,๐๐๐ กัป

 

เนวสัญญานาสัญญายตนภูมิ

เนวสัญญานาสัญญายตนภูมิ พรหมโลกชั้นที่ ๒๐ เป็นที่อยู่แห่งพรหม ที่ได้จตุตถฌานแล้ว เจริญ อากาสานัญจายตนฌาน เข้าถึงวิญญาณัญจายตนฌาน เข้าถึงอากิญจัญญายตนฌานแล้ว เห็นอานิสงส์ ในคุณ ที่สูงขึ้นไป เห็นโทษในอากิญจัญญายตนะว่า อากิญจัญญายตนฌานนี้ก็ยังมีข้าศึกคือ วิญญาณัญจายตนะอยู่ใกล้ สัญญานั้นก็ยังหยาบ ยังเป็นภัย ยังเป็นลูกศรเสียบแทงจิตอยู่ ยังไม่ละเอียดดัง เนวสัญญานาสัญญายตนะ  หรือเห็นโทษว่าสัญญาเป็นดุจโรค ดุจฝี ดุจลูกศร ตัดความพอใจในอากิญจัญญายตนฌาน มนสิการว่า สนุตเมตํ ปณีเมตํ สนฺตเมตํ ปณีเมตํ แปลว่าละเอียด ละเอียด เมื่อทําให้มากในนิมิตนั้น ร้อยคาบ พันคาบ หมื่นคาบ แสนคาบ เนวสัญญานาสัญญายตนจิตย่อมแนบแน่นเป็นอัปปนา ก้าวล่วงเสียซึ่งอากิญจัญญายตนฌาน เข้าถึงเนวสัญญา นาสัญญายตนฌาน เมื่อดับขันธ์ลงแล้วก็จะอุบัติใน เนวสัญญานาสัญญายตนภูมิ กําหนดอายุของอรูปพรหมชั้น ๘๐,๐๐๐ กัป

อรูปสมาบัติทั้ง ๔ นี้ มีอารมณ์อันต่างล่วงอารมณ์ต่อ ๆ กัน คือ อากาสานัญจายตนฌานก้าวล่วง เสียซึ่ง กสิณนิมิต วิญญาณัญจายตนฌานก้าวล่วงเสียซึ่ง กสิณฆาติมากาศ อากิญจัญญายตนฌานก้าวล่วงเสียซึ่ง วิญญาณที่เป็นไปในอากาศ เนวสัญญานานสัญญายตนฌานก้าวล่วงเสียซึ่ง ความปราศไปแห่งวิญญาณ ยึดเหนี่ยว เอาเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน ที่ละเอียดและประณีตกว่าเป็นอารมณ์ เปรียบเหมือนบุคคลที่ขึ้นสู่บันไดบรรพต อันยาว เมื่อถึงที่สุดแห่งบันไดแล้ว ไม่มีต้นไม้และเครือเถาวัลย์ใดที่จะยึดเหนี่ยวได้อีก บุคคลนั้นย่อมยึดเอาที่สุดแห่ง บันไดบนยอดแห่งภูเขานั้นเป็นที่ดํารงกาย เพราะมิอาจหาสิ่งใดเป็นที่ยึดเหนี่ยวได้อีก ดุจเดียวกับผู้ที่ยึดเหนียว เนวสัญญานาสัญญายตนฌานเป็นอารมณ์ เพราะไม่มีอารมณ์ที่ละเอียดกว่าประณีตกว่านี้ได้แล้ว

อากาสานัญจายตนฌานกุศล ให้ปฏิสนธิใน อากาสานัญจายตนภูมิ
วิญญาณัญจายตนฌานกุศล ให้ปฏิสนธิใน วิญญาณัญจายตนภูมิ
อากิญจัญญายตนฌานกุศล ให้ปฏิสนธิใน อากิญจัญญายตนภูมิ
เนวสัญญานาสัญญายตนกุศล ให้ปฏิสนธิใน เนวสัญญานาสัญญายตนภูมิ


พิมพ์