ธาตุ

ธาตุ

ปริยัติธรรม

พุทธธรรม ฉบับปรับขยาย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ธาตุ ๔ หมายถึง สิ่งที่ทรงสภาวะของตนอยู่เอง คือมีอยู่โดยธรรมดา เป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่มีผู้สร้าง ไม่มีอัตตา มิใช่สัตว์ มิใช่ชีวะ เป็นส่วนประกอบของรูปขันธ์ หรือส่วนประกอบของชีวิตที่เป็นสสาร เช่น ส่วนที่เป็นผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เอ็น เนื้อ โลหิต น้ำเหลือง เป็นต้น ธาตุ ๔ หรือมหาภูตรูป (รูปใหญ่หรือร่างกายกาย คือ ส่วนประกอบที่สามารถมองเห็นได้และจับต้องได้ สัมผัสได้ ร่างกายประกอบด้วยธาตุ ๔ ได้แก่

ภิกษุทั้งหลาย ! ธาตุมีสี่อย่างเหล่านี้ สี่อย่างเหล่าไหนเล่า ? สี่อย่าง คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ
ภิกษุทั้งหลาย ! เหล่านี้แล คือ ธาตุสี่อย่าง
( บาลี – นิทาน. สํ. ๑๖/๒๐๓/๔๐๓ )

ภิกษุทั้งหลาย ! ปฐวีธาตุเป็นอย่างไรเล่า ? ปฐวีธาตุที่เป็นไปในภายในก็มี ที่เป็นภายนอกก็มี

ภิกษุทั้งหลาย ! ปฐวีธาตุที่เป็นไปในภายในเป็นอย่างไรเล่า ?

ภิกษุทั้งหลาย ! ส่วนใดเป็นของแข็ง เป็นของหยาบ อันวิญญาณธาตุอาศัยแล้ว ซึ่งมีอยู่ในตน เฉพาะตน กล่าวคือ ผมทั้งหลาย ขนทั้งหลาย เล็บทั้งหลาย ฟันทั้งหลาย หนังเนื้อเอ็นทั้งหลาย กระดูกทั้งหลาย เยื่อในกระดูก ไต หัวใจ ตับ พังผืด ม้าม ปอด ลำไส้ ลำไส้สุด อาหารในกระเพาะ อุจจาระ หรือแม้ส่วนอื่นอีกไร ๆ

ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เรียกว่า ปฐวีธาตุที่เป็นไปในภายใน

ภิกษุทั้งหลาย ! ปฐวีธาตุที่เป็นไปในภายในก็ตาม ที่เป็นภายนอกก็ตาม นี้แหละเรียกว่า ปฐวีธาตุ

ภิกษุทั้งหลาย ! อาโปธาตุเป็นอย่างไรเล่า ? อาโปธาตุที่เป็นไปในภายในก็มี ที่เป็นภายนอกก็มี

ภิกษุทั้งหลาย ! อาโปธาตุที่เป็นไปในภายในเป็นอย่างไรเล่า ?

ภิกษุทั้งหลาย ! ส่วนใดเอิบอาบเปียกชุ่ม อันวิญญาณธาตุอาศัยแล้ว ซึ่งมีอยู่ในตน เฉพาะตน กล่าวคือ น้ำดี เสลด หนอง โลหิต เหงื่อ มัน น้ำตา น้ำเหลือง น้ำลาย น้ำเมือก น้ำลื่นหล่อข้อ น้ำมูตร หรือแม้ส่วนอื่นอีกไร ๆ

ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เรียกว่า อาโปธาตุที่เป็นไปในภายใน

ภิกษุทั้งหลาย ! อาโปธาตุที่เป็นไปในภายในก็ตาม ที่เป็นภายนอกก็ตาม นี้แหละเรียกว่า อาโปธาตุ

ภิกษุทั้งหลาย ! เตโชธาตุเป็นอย่างไรเล่า ? เตโชธาตุที่เป็นไปในภายในก็มี ที่เป็นภายนอกก็มี

ภิกษุทั้งหลาย ! เตโชธาตุที่เป็นไปในภายในเป็นอย่างไรเล่า ?

ภิกษุทั้งหลาย ! ส่วนใดเป็นของเผา เป็นของไหม้ อันวิญญาณธาตุอาศัยแล้ว ซึ่งมีอยู่ในตน เฉพาะตน กล่าวคือ ธาตุไฟที่ยังกายให้อบอุ่นอย่างหนึ่ง ธาตุไฟที่ยังกายให้ชราทรุดโทรมอย่างหนึ่ง ธาตุไฟที่ยังกายให้กระวนกระวายอย่างหนึ่ง ธาตุไฟที่ทำอาหาร ซึ่งกินแล้ว ดื่มแล้ว เคี้ยวแล้ว ลิ้มแล้ว ให้แปรไปด้วยดีอย่างหนึ่ง หรือแม้ส่วนอื่นอีกไร ๆ

ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เรียกว่า เตโชธาตุที่เป็นไปในภายใน

ภิกษุทั้งหลาย ! เตโชธาตุที่เป็นไปในภายในก็ตาม ที่เป็นภายนอกก็ตาม นี้แหละเรียกว่า เตโชธาตุ

ภิกษุทั้งหลาย ! วาโยธาตุเป็นอย่างไรเล่า ? วาโยธาตุที่เป็นไปในภายในก็มี ที่เป็นภายนอกก็มี

ภิกษุทั้งหลาย ! วาโยธาตุที่เป็นไปในภายในเป็นอย่างไรเล่า ?

ภิกษุทั้งหลาย ! ส่วนใดเป็นลม ไหวตัวได้ อันวิญญาณธาตุอาศัยแล้ว ซึ่งมีอยู่ในตน เฉพาะตน กล่าวคือ ลมพัดขึ้นเบื้องสูงอย่างหนึ่ง ลมพัดลงเบื้องต่ำอย่างหนึ่ง ลมนอนอยู่ในท้องอย่างหนึ่ง ลมนอนอยู่ในลำไส้อย่างหนึ่ง ลมแล่นไปทั่วทั้งตัวอย่างหนึ่ง และลมหายใจเข้าออกอย่างหนึ่ง หรือแม้ส่วนอื่นอีกไร ๆ

ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เรียกว่า วาโยธาตุที่เป็นไปในภายใน

ภิกษุทั้งหลาย ! วาโยธาตุที่เป็นไปในภายในก็ตาม ที่เป็นภายนอกก็ตาม นี้แหละเรียกว่า วาโยธาตุ

( บาลี – อุปริ. ม. ๑๔/๔๓๗-๔๓๙/๖๘๔-๖๘๗ )

คำสอนพระอริยเจ้า

ธาตุ-ขันธ์-อายตนะ สัมพันธ์ หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี

ธาตุ ๔ เป็นวัตถุอันเป็นที่ตั้งมูลฐานของสิ่งทั้งปวง แม้แต่ธรรมทั้งหลายที่เป็นนิยานิกธรรม อันจะดำเนินให้ถึงวิมุติด้วยสมถะวิปัสสนา ก็จะหนีจากธาตุสี่นี้ไม่ได้ แต่ธาตุ ๔ เป็นวัตถุธาตุล้วนๆ ไม่เกี่ยวกับนามธรรมแลกิเลสใดๆ เลย ท่านจำแนกออกเป็นกองๆ ตามลักษณะของธาตุนั้นๆ

เช่น สิ่งใดที่มีอยู่ในกายนี้มีลักษณะข้นแข็ง ท่านเรียกว่า ธาตุดิน มี ๑๘ อย่าง คือ ผม ๑ ขน ๑ เล็บ ๑ ฟัน ๑ หนัง ๑ เนื้อ ๑ เอ็น ๑ กระดูก ๑ เยื่อในกระดูก ๑ ม้าม ๑ หัวใจ ๑ ตับ ๑ พังผืด ๑ ไต ๑ ปอด ๑ ไส้ใหญ่ ๑ ไส้น้อย ๑ อาหารใหม่ ๑ อาหารเก่า ๑ (ถ้าเติมกะโหลกศีรษะ และมันสมอง ศีรษะเข้าด้วยก็เป็น ๒๐ พอดี แต่ที่ไม่เติม เพราะไปตรงกับกระดูก และเยื่อในกระดูก จึงยังคง เหลือ ๑๘)

ธาตุน้ำ สิ่งใดที่มีลักษณะเหลวๆ ท่านเรียกว่า ธาตุน้ำ มี ๑๒ คือ น้ำดี ๑ น้ำเสลด ๑ น้ำเหลือง ๑ น้ำเลือด ๑ น้ำเหงื่อ ๑ นั้นมันข้น ๑ น้ำตา ๑ น้ำมันเหลว ๑ น้ำลาย ๑ น้ำมูก ๑ น้ำมันไขข้อ ๑ น้ำมูตร ๑

ธาตุไฟ สิ่งใดที่มีลักษณะให้อบอุ่น ท่านเรียกว่า ธาตุไฟ มี ๔ คือ ไฟทำให้กายอบอุ่น ๑ ไฟทำให้กายทรุดโทรม ๑ ไฟช่วยเผาอาหารให้ย่อย ๑ ไฟทำความกระวนกระวาย ๑

ธาตุลม สิ่งใดที่มีลักษณะพัดไปมาอยู่ในร่างกายนี้ สิ่งนั้นท่านเรียกว่า ธาตุลม มี ๖ คือ ลมพัดขึ้นเบื้องบน ทำให้มึน งง หาว เอื้อมอ้วกออกมา ๑ ลมพัดลงข้างล่างทำให้ระบายเผยลม ๑ ลมในท้อง ทำให้ปวดเจ็บท้องขึ้นท้องเฟ้อ ๑ ลมในลำไส้ ทำให้โครกคราก คลื่นเหียน อาเจียน ๑ ลมพัดไปตามตัว ทำให้กายเบา แลอ่อนละมุนละไม ขับไล่เลือด และโอชาของอาหาร ที่บริโภคเข้าไปให้กระจายซึมซาบไปทั่วสรรพางกาย ๑ ลมระบายหายใจเข้าออก เพื่อยังชีวิตของสัตว์ให้เป็นอยู่ ๑ หรือจะนับเอาอากาศธาตุคือช่องว่างที่มีอยู่ตัวของเราเช่น ช่องปาก ช่องจมูก เป็นต้น เข้าด้วยก็ได้ แต่อากาศธาตุ ก็เป็นลมชนิดหนึ่งอยู่แล้ว จึงสงเคราะห์เข้าในธาตุลมด้วย

สมมุติว่าเป็น
มนุษย์ทั้งหลาย ที่เราๆ ท่านทั้งหลายที่เห็นกันอยู่นี้ ถ้าจะพูดตามเป็นจริงแล้ว มิใช่อะไร มันเป็นแค่สักว่าก้อนธาตุมารวมกันเข้าเป็นก้อนๆหนึ่งเท่านั้น มนุษย์คนเราพากันมาสมมติเรียกเอาตามชอบใจของตน ว่านั่นเป็นคน นั่นเป็นสัตว์ นั่นเป็นนั่น เป็นนี่ต่างๆ นานาไป แต่ก้อนอันนั้น มันก็หาได้รู้สึกอะไรตามสมมติของตนไม่ มันมีสภาพเป็นอยู่อย่างไร มันก็เป็นอยู่อย่างนั้นตามเดิม

อย่างไปสมมติว่าหญิง ว่าชาย ว่าหนุ่ม ว่าแก ว่าสวย ไม่สวย ก้อนธาตุอันนั้นมันก็ไม่มีความรู้สึกอะไรเลย หน้าที่ของมัน เมื่อประชุมกันเข้าเป็นก้อนแล้ว อยู่ได้ชั่วขณะหนึ่ง แล้วมันก็ค่อยแปรไปตามสภาพของมัน ผลที่สุดมันก็แตกสลายแยกกันไปอยู่ตามสภาพเดิมของมันเท่านั้นเอง ใจของคนเราต่างหาก เมื่อความไม่รู้เท่าเข้าใจตามเป็นจริงแล้ว ก็ไปสมมติว่า เป็นคน เป็นหญิง เป็นชาย สวย-ไม่สวย สวยก็ชอบใจรักใคร่ อยากได้มาเป็นของตน ไม่สวย ก็เกลียด เหยียดหยาม ดูถูกไม่ชอบใจ ไม่อยากได้อยากเห็น ใจไปสมมติเอาเอง แล้วก็ไปหลงติดสมมติของตัวเอง เพิ่มพูนกิเลส ซึ่งมันหมักหมมอยู่แล้ว ให้หนาแน่นขึ้นอีก กิเลสอันเกิดจากความหลงเข้าใจผิดนี้ ถ้ามีอยู่ในจิตสันดานของบุคคลใดแล้ว หรืออยู่ในโลกใดแล้ว ย่อมทำบุคคลนั้น หรือโลกนั้น ให้วุ่นวายเดือดร้อนมากแลน้อย ตามกำลังพลังของมัน สุดแล้วแต่มันจะบันดาลให้เป็นไป ฯ

ธาตุล้วนๆ
ความจริงธาตุ ๔ มันก็เป็นธาตุล้วนๆ มิได้ไปก่อกรรมทำเข็ญให้ใครเกิดกิเลสหลงรักหลงชอบเลย ถึงก้อนธาตุจะขาวจะดำสวยไม่สวย มันก็มีอยู่ทั่วโลก แล้วก็มีมาแต่ตั้งโลกโน่น ทำไมคนเราพึ่งเกิดมาชั่วระยะไม่กี่สิบปี จึงมาหลงตื่นหนักหนา จนทำให้สังคมวุ่นวาย ไม่ทราบว่าอะไรเป็นอะไร มืดบอดยิ่งกว่ากลางคืน ด้วยเหตุนี้ พระพุทธเจ้าของพวกเราทั้งหลาย ผู้ทรงประสงค์ความสันติสุขแก่โลก จึงทรงจำแนกสมมติ ที่เขาเหล่านั้นกำลังพากันหลงติดอยู่เหมือนลิงติดตัง ออกให้เป็นแต่สักว่าธาตุ ๔ ดังจำแนกมาแล้วข้างต้น หรือจะเรียกว่า พระองค์ทรงบัญญัติให้เป็นไปตามสภาพของเดิม เพื่อให้เขาเหล่านั้นที่หลงติดสมมติอยู่แล้ว ให้ค่อยๆ จางออกจากสมมติ แล้วจะได้เห็นสภาพของจริง บัญญัตินี้ไม่เป็นตนเป็นตัว เป็นสภาพธรรมอันหนึ่ง แล้วบัญญัติเรียกชื่ออ เป็นเครื่องหมายใช้ชั่วคราวเท่านั้น ถ้าผู้มาพิจารณา เห็นกายก้อนนี้ เป็นสักแต่ว่าธาตุ ๔ แล้ว จะไม่หลงเข้าไปยึดเอาก้อนธาตุมาเป็นอัตตาเลย อันเป็นเหตุให้เกิดกิเลสหยาบช้า ฆ่าฟันกันล้มตายอยู่ทุกวันนี้ ก็เนื่องจากความหลง เข้าไปยึดก้อนธาตุว่าเป็นอัตตาอย่างเดียว

ผู้ใคร่ในธรรมข้อนี้ จะทดลองพิจารณาให้เห็นประจักษ์ ด้วยตนเองอย่างนี้ก็ได้ คือ พึงทำใจให้สงบเฉยๆ อยู่ อย่าได้นึกอะไร แลสมมติว่าอะไรทั้งหมด แม้แต่ตัวของเรา ก็อย่านึกว่า นี่คือเราหรือคน แล้วเพ่งเข้ามาดูตัวของเรา พร้อมกันนั้น ก็ให้มีสติทำความรู้สึกอยู่ทุกขณะว่า เวลานี้เราเพ่งวัตถุสิ่งหนึ่ง แต่ไม่มีชื่อว่าอะไร เมื่อเราทำอย่างนี้ได้แล้ว จะเพ่งดูสิ่งอื่น คนอื่น หรือถ้าจะให้ดีแล้ว เพ่งเข้าไปในสังคมหมู่ชนมากๆ ในขณะนั้น อาจทำให้เกิดความรู้สึกอะไรขึ้นมาในใจแปลกๆ และเป็นสิ่งน่าขบขันมาก อย่างน้อยหากท่านมีเรื่องอะไรหนักหน่วง และยุ่งเหยิงอยู่ภายในใจของท่านอยู่แล้ว เรื่องทั้งหมดนั้นหากจะไม่หายหมดสิ้นไปทีเดียว ก็จะเบาบาง แลรู้สึกโล่งใจของท่านขึ้นมาบ้างอย่างน่าประหลาดทีเดียว

หากท่านทดลองดูแล้ว ไม่ได้ผลตามที่แสดงมาแล้วนี้ ก็แสดงว่าท่านยังทำใจให้สงบ ไม่ได้มาตรฐานพอจะให้ธรรมเกิดขึ้นมาได้ ฉะนั้นจึงขอให้ท่านพยายามทำใหม่ จนได้ผล ดังแสดงมาแล้ว แล้วท่านจะเกิดความเชื่อมั่นในคำสอนของพระพุทธเจ้าว่า เป็นคำสอนที่ นำผู้ปฏิบัติให้ถึงความสันติได้แท้จริง ฯ

อนึ่ง คำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นคำสอนเพื่อสันติ ผู้ที่ยังทำใจของคนให้สงบไม่ได้แล้ว จะนำเอาคำสอนของพระพุทธเจ้าที่เป็นสันติ มาพิจารณาก็ยังไม่เกิดผล หรือมาตั้งไว้ ในใจของตน ก็ยังไม่ติด

สภาพเดิมของธาตุ
ฉะนั้น จึงขอเตือนไว้ ณ โอกาสนี้เสียเลยว่าผู้จะเข้าถึงธรรม ผู้จะเห็นธรรม รู้ธรรม ได้ธรรม พิจารณาธรรมในธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งที่แสดงมาแล้ว และกำลังแสดงอยู่ หรือที่จะแสดงต่อไปนี้ก็ดี ขอได้ตั้งใจทำความสงบเพ่งอยู่เฉพาะในธรรมนั้นๆ แต่อย่างเดียว แล้วจึงเพ่งพิจารณาเถิด จึงจะเกิดความรู้ความเข้าใจในธรรมนั้นๆ อย่างถูกต้อง

เรื่อง ธาตุ ๔ เป็นสภาวธรรมเป็นจริงอยู่ตามธรรมชาติแล้ว แต่คนเรายังทำจิตของตนไม่ให้เข้าถึงสภาพเดิม (คือความสงบ) จึงไม่เห็นสภาพเดิมของธาตุ ธาตุ ๔ เมื่อผู้มาพิจารณา ให้เห็นตามความเป็นจริงแล้ว จะเห็นว่า ธาตุเป็นสักแต่ว่าธาตุ มันมีสภาพเป็นอยู่เช่นไร มันก็เป็นอยู่เช่นนั้นตามสภาพของมัน ธาตุมิได้ก่อกวนให้ใครเกิดกิเลสความรักแลความหวัง หรือโลภโกรธหลงอะไรเลย ใจของคนเราก็เป็นธาตุเหมือนกัน เรียกว่ามโนธาตุ หากผู้มา พิจารณาให้เห็นสิ่งทั้งปวง เป็นแต่สักว่าธาต คือเห็นธาตุภายใจ (คือกายก้อนนี้) และธาตุภายนอก (คือนอกจากกายของเรา) และมโนธาตุ (คือใจ) ตามเป็นจริงแล้ว ความสงบสุข ก็จะเกิดมีแก่เหล่าประชาสัตว์ทั่วหน้ากัน สมตามพุทธประสงค์ที่พระพุทธองค์ตั้งปณิธานไว้ ทุกประการ


พิมพ์