ปริยัติธรรม
หนังสือ สังสารวัฏ โดย สุรีย์ มีผลกิจ
สังสารวัฏ อันเป็นไปในภพภูมิของสัตว์โลกทั้งหลาย ดังที่กล่าวไว้ในลําดับแรกนั้น ท่านกล่าวว่าพึงเห็น เสมือนหนึ่งกองไฟ สัตว์ผู้โง่เขลาเปรียบเหมือนบุรุษผู้บำเรอไฟ ใส่หญ้าแห้ง ใส่โคมัยแห้ง ใส่ไม้แห้งเติมลงในไฟ กองนั้นทุกๆ ระยะ ไฟกองใหญ่นั้น เมื่อมีอาหารอย่างนั้น มีเชื้อไฟอย่างนั้น ไฟจึงลุกโพลงตลอดกาลนาน แม้ฉันใด
สัตว์ผู้โง่เขลาทั้งหลาย อาศัยวัฏฏะคือการเวียนว่ายตายเกิด กระทํากุศลกรรมบ้าง อกุศลกรรมบ้าง ด้วยอํานาจของตัณหา วนเวียนอยู่ในวงจรของ กิเลสวัฏ กรรมวัฏ วิปากวัฏ ที่แม้จะตามศึกษาไปด้วยปัญญาร้อยปี พันปี หมื่นปี ก็ยังมิอาจรู้ถึงที่สุดแห่งเบื้องต้น เบื้องปลายของวัฏฏะได้ สัตว์ทั้งหลายจึงต้องท่องเที่ยวไปในภพภูมิ ต่าง ๆ ในกําเนิด ต่าง ๆ ด้วยอํานาจแห่งผลกรรมตามของกฎธรรมชาติ ฉันนั้น
** สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ หน้า ๓๗-๔๔ วิปัสสีสูตร และ มหาศากยมุนีโคตมสูตร แสดงไว้ว่า ความปริวิตกในเรื่องสังสารวัฏนี้ ได้มีแก่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่า พระวิปัสสีพุทธเจ้า พระสิขีพุทธเจ้า พระเวสสภูพุทธเจ้า พระกกุสันธพุทธเจ้า พระกัสสปพุทธเจ้า แม้สมณโคดมพุทธเจ้า ของเรา พระองค์นี้ ครั้งที่ยังเป็นพระโพธิสัตว์ยังมิได้ตรัสรู้ แต่ละพระองค์ได้มีพระปริวิตกเช่นเดียวกันว่า โลกนี้ถึงความลําบากหนอ สัตว์ย่อมเกิด ย่อมตายจุติและอุบัติวนเวียนสู่ภพแล้วภพเล่า กําเนิดแล้วกําเนิดเล่า ไม่มีผู้ใดทราบชัด ซึ่งธรรมอันเป็นที่สลัดออกจากกองทุกข์นั้นได้เลย เมื่อไรหนอ ธรรมเป็นที่สลัดออกจากกองทุกข์จึงจะปรากฏ
ตราบจนเมื่อพระโพธิสัตว์ทรงกําจัดพญามารและเสนามารได้ ด้วยอานุภาพของพระบารมี ๑๐ ประการ คือ ทานบารมี ศีลบารมี เนกขัมมบารมี ปัญญาบารมี วิริยบารมี ขันติบารมี สัจจบารมี อธิษฐานบารมี เมตตาบารมี และ อุเบกขาบารมี ที่ทุกพระองค์ทรงบําเพ็ญมาเป็นเวลาอันยาวนาน แทงตลอด พระสัพพัญญุตญาณ ทรงเปล่งอุทาน ที่พระพุทธเจ้าทุกพระองค์มิทรงละว่า
"เราแสวงหานายช่างผู้สร้างเรือนคือตัณหา
เมื่อไม่พบ พระสัมมาสัมโพธิญาณ
ได้ท่องเที่ยวไปตลอดชาติสังสารมิใช่น้อย
การเกิดบ่อย ๆ เป็นทุกข์"
"ดูก่อนนายช่างผู้สร้างเรือนคือตัณหา
บัดนี้เราพบท่านแล้ว ท่านจักสร้างเรือนแก่เรามิได้อีก
โครงสร้างเรือนของท่าน เราก็หักเสียแล้ว
ยอดเรือนคืออวิชชา เราก็กําจัดเสียแล้ว
จิตของเราถึงวิสังขาร คือพระนิพพาน
อันปัจจัยปรุงแต่งไม่ได้อีกต่อไป
เพราะเราได้บรรลุธรรมอันเป็นที่สิ้นตัณหาแล้ว"
สมัยพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราพระองค์นี้ เมื่อแรกตรัสรู้ประทับนั่งอยู่ ณ ควงไม้โพธิพฤกษ์ ใกล้ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ในอุรุเวลาประเทศ เสวยวิมุตติสุขตลอด ๗ วัน ณ บัลลังก์นั้น ในราตรีที่ ๗ ทรงออกจากผลสมาบัติแล้วทรงมนสิการ ปฏิจจสมุปบาท คือธรรมที่อาศัยกันและกันเป็นปัจจัยเกิดขึ้น ทรงตรัสรู้เหตุอันเป็นต้นเงื่อนของทุกข์ทั้งปวงในสังสารวัฏ ตลอดปฐมยาม ดังนี้
ปฏิจจสมุปบาทอนุโลม
ธรรมอันเป็นธรรมฝ่ายเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวล
เพราะ อวิชชา เป็นปัจจัย จึงมี สังขาร
เพราะ สังขาร เป็นปัจจัย จึงมี วิญญาณ
เพราะ วิญญาณ เป็นปัจจัย จึงมี นามรูป
เพราะ นามรูป เป็นปัจจัย จึงมี สฬายตนะ
เพราะ สฬายตนะ เป็นปัจจัย จึงมี ผัสสะ
เพราะ ผัสสะ เป็นปัจจัย จึงมี เวทนา
เพราะ เวทนา เป็นปัจจัย จึงมี ตัณหา
เพราะ ตัณหา เป็นปัจจัย จึงมี อุปาทาน
เพราะ อุปาทาน เป็นปัจจัย จึงมี ภพ
เพราะ ภพ เป็นปัจจัย จึงมี ชาติ
เพราะ ชาติ เป็นปัจจัย จึงมี ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส
กองทุกข์ทั้งมวลย่อมเกิดด้วยประการเช่นนี้
จากนั้น พระพุทธองค์ทรงเปล่งอุทานว่า เมื่อใด ธรรมทั้งหลายปรากฏแก่ผู้มีความเพียรเพ่งอยู่ เมื่อนั้น ความสงสัยทั้งปวงย่อมสิ้นไป เพราะได้รู้ธรรม พร้อมทั้งเหตุ ที่ท่านเรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท อันเป็นธรรมที่อาศัยกันและกันยังธรรมที่สืบเนื่องให้เกิดขึ้น คือได้รู้ธรรมที่เกิดพร้อมทั้งเหตุที่ทําให้กองทุกข์ทั้งปวงเกิดขึ้น ต่อแต่นั้น ทรงมนสิการ ปฏิจจสมุปบาทโดยปฏิโลม (ทวนกลับ) ทรงตรัสรู้ความดับแห่งสังสารวัฏ
ปฏิจจสมุปบาทปฏิโลม
ธรรมอันเป็นธรรมฝ่ายดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวล
เพราะ อวิชชาดับ สังขารจึงดับ
เพราะ สังขารดับ วิญญาณจึงดับ
เพราะ วิญญาณดับ นามรูปจึงดับ
เพราะ นามรูปดับ สฬายตนะจึงดับ
เพราะ สฬายตนะดับ ผัสสะจึงดับ
เพราะ ผัสสะดับ เวทนาจึงดับ
เพราะ เวทนาดับ ตัณหาจึงดับ
เพราะ ตัณหาดับ อุปาทานจึงดับ
เพราะ อุปาทานดับ ภพจึงดับ
เพราะ ภพดับ ชาติจึงดับ
เพราะ ชาติดับ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส จึงดับ
กองทุกข์ทั้งมวลย่อมดับด้วยประการเช่นนี้
จากนั้น พระพุทธองค์ทรงเปล่งอุทานว่า เมื่อใดธรรมทั้งหลายปรากฏแก่ผู้มีความเพียรเพ่งอยู่ เมื่อนั้น ความสงสัยทั้งปวงย่อมสิ้นไป เพราะได้รู้ความสิ้นไปแห่งปัจจัยทั้งหลาย
ต่อแต่นั้นทรงมนสิการปฏิจจสมุปบาท โดยอนุโลมและปฏิโลม คือพิจารณาปฏิจจสมุปบาททั้งฝ่ายเกิดและฝ่ายดับ แล้วทรงเปล่งอุทานว่า เมื่อใดธรรมทั้งหลายปรากฏแก่ผู้มีความเพียรเพ่งอยู่ ผู้นั้นย่อมกําจัดพญามารและเสนามารเสียได้ ดุจพระอาทิตย์อุทัยทําท้องฟ้าให้สว่าง ฉะนั้น
อรรถกถากล่าวว่า
พุทธอุทานครั้งแรก เกิดขึ้นด้วยอํานาจของการพิจารณา ธรรมที่เกิดขึ้นพร้อมทั้งเหตุ
พุทธอุทานครั้งที่สอง เกิดขึ้นด้วยอํานาจของการพิจารณา พระนิพพาน
พุทธอุทานครั้งที่สาม เกิดขึ้นด้วยการพิจารณา มรรค (ทาง) ประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ
ปฏิจจสมุปบาท ทั้ง ๑๒ ข้อ เป็นปัจจัยที่อาศัยสืบเนื่องกัน หมุนเวียนเป็นวงจรแห่งภพ
ไม่รู้เบื้องต้น ไม่รู้เบื้องปลาย เรียกว่า สังสารวัฏ เป็นกฎธรรมชาติที่พร้อมจะพาสัตว์หมุนเวียนไปสู่ภพและกําเนิดไม่มีที่สิ้นสุด นับแต่ชีวิตสัตว์ตั้งแต่เกิดจนตาย ผู้ที่เห็นภัยในวัฏฏะ พึ่งขวนขวายหาช่องทางที่จะพ้นออกจากวงจรแห่งกรรมนี้ ด้วยการศึกษา และมนสิการปฏิจจสมุปบาท ด้วยความเพียร ให้สมกับพระดํารัสของพระผู้มีพระภาคเจ้าที่ว่า
"ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้นั้นเห็นเรา
ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นเห็นปฏิจจสมุปบาท"
พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ธรรม อันเป็นต้นเงื่อนของทุกข์ในสังสารวัฏ คือ ชาติ ชรา มรณะ และทรงตรัสรู้ธรรมที่จะดับสังสารวัฏ ด้วยพระสัพพัญญุตญาณ ในวันเพ็ญ เดือนวิสาขะ ก่อนตรัสรู้ ๘๐ ปี ณ โพธิบัลลังก์ ใต้ร่มโพธิพฤกษ์อัสสัตถะ ตำบลพุทธคยา รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย
เมื่อตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ทรงโปรดเวไนยสัตว์ทั้งหลายให้พ้นจากวัฏฏะทุกข์ คือ ชาติ ชรา มรณะ ดังพระปณิธานที่ทรงตั้งไว้แต่ครั้งเป็นสุเมธดาบส ในสมัยพระทีปังกรพุทธเจ้าว่า
"เมื่อพระองค์ข้ามได้แล้ว จักให้ผู้อื่นข้ามได้ด้วย
เมื่อพระองค์พ้นแล้ว จักให้ผู้อื่นพ้นได้ด้วย"
พระธรรมคําสอนของพระพุทธองค์ เป็นธรรมที่สุขุมลุ่มลึก ดังที่ตรัสกับพระอานนท์พุทธอุปัฏฐากว่า อานนท์ ปฏิจจสมุปบาทนี้เป็นธรรมลึกซึ้ง เป็นธรรมที่เป็นเหตุเป็นผลอาศัยกันเกิดขึ้นพร้อม ต่อเนื่องกันไม่ขาดสาย ทั้งมีกระแสความลึกซึ้งเพราะไม่ได้รู้ ไม่แทงตลอดธรรมนี้ หมู่สัตว์จึงเป็นผู้ยุ่งเหยิงเหมือนด้ายของช่างหูก ที่มีเส้นด้ายกระจัดกระจายพาดพันกันเหมือนหญ้ามุงกระต่าย ย่อมไม่พ้นจากอบาย ทุคติ วินิบาต ดังนี้
พระพุทธองค์ผู้ทรงหวังประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์โลก ให้ได้พ้นจากทุกข์ในสังสารวัฏ ทรงโอวาทเหล่า เวไนยสัตว์ ทั้งหลาย ตรัสกัมมัฏฐานในธรรมอันเป็นไปในภูมิทั้ง ๓ ว่า เธอจงหน่ายในธรรมอันเป็นไปในภูมิ ๓ เถิด เพราะเมื่อเธอมี ความพอใจเนืองๆ ในธรรมทั้งหลายอันเป็นปัจจัยแก่อุปาทานอยู่ ตัณหาย่อมเจริญ เพราะตัณหา เป็นปัจจัยจึงมีอุปาทาน เพราะอุปาทานเป็นปัจจัยจึงมีภพ เพราะภพเป็นปัจจัยจึงมีชาติ เพราะชาติเป็นปัจจัยจึงมีชราและมรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวล ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้
เปรียบเหมือนบุรุษผู้เผากองไฟ เมื่อใส่หญ้าแห้ง ใส่โคมัยแห้ง ใส่ไม้ฟืนแห้ง ในไฟกองใหญ่นั้นสิบเล่มเกวียนบ้าง ยี่สิบเล่มเกวียนบ้าง สามสิบเล่มเกวียนบ้าง เมื่อไฟกองใหญ่มีอาหารอย่างนั้น มีเชื้อไฟอย่างนั้น ย่อมลุกโพลงตลอดกาล บุรุษนั้นย่อมก่อวัฏฏะให้ยาวนานต่อไปอีก มิอาจพ้นไปจากสังสารวัฏได้เลย
เวไนยสัตว์เหล่าใดเห็นโทษเนืองๆ ในธรรมทั้งหลายอันเป็นปัจจัยแห่งอุปาทานอยู่ ตัณหาย่อมดับไป เพราะตัณหาดับ อุปาทานจึงดับ เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ เพราะภพดับชาติจึงดับ เพราะชาติดับ ชราและมรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์โทมนัสจึงดับ ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวล ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้
เปรียบเหมือนบุรุษนั้น ไม่ใส่หญ้าแห้ง ไม่ใส่โคมัยแห้ง ไม่ใส่ไม้พืนแห้ง ไม่เติมเชื้อไฟ ในไฟกองใหญ่ นั้นสิบเล่มเกวียนบ้าง ยี่สิบเล่มเกวียนบ้าง สามสิบเล่มเกวียนบ้าง ไฟกองใหญ่นั้นเมื่อไม่มีเชื้อ พึงดับไป เพราะสิ้นเชื้อ และไม่เติมเชื้อใหม่ แม้ฉันใด ไฟกองใหญ่นั้นย่อมมอดไปดับไป ดังนี้ เธอจักพ้นจากทุกข์ในสังสารวัฏได้
** สังยุตตนิกาย นิทานวรรค อรรถกถา ปริวิมังสนสูตรที่ ๑ หน้า ๒๕๕-๒๕๖ มีคําถามว่า เพราะเหตุไร ชรามรณะ ข้อเดียวจึงมีโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสตามมา ?
ตอบว่า เพราะเมื่อจับชรามรณะได้แล้ว ก็เป็นอันว่าจับทุกข์ทั้งปวง คือ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์โทมนัสได้ เหมือนเด็กน้อยถูกจับที่ผมจุก เด็กนั้นย่อมชื่อว่าถูกจับโดยแท้ ฉันใด เมื่อจับชรามรณะได้แล้วเช่นนี้ ทุกข์ทั้งปวง อันมีโสกะเป็นต้น ย่อมชื่อว่าเป็นอันจับได้โดยแท้ ฉันนั้น
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงชี้แจงวัฏฏะ และวิวัฏฏะคือพระนิพพาน ด้วยอํานาจอัธยาสัยของสัตว์ผู้อาจจะ ตรัสรู้ได้ เพราะผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม บำเพ็ญธรรมอันเป็นข้อปฏิบัติที่เป็นไปตามธรรม ผู้ปฏิบัติเพื่อความสิ้นทุกข์คือชรามรณะ เพื่อความดับแห่งสังขาร เพื่อความดับแห่งทุกข์ในสังสารวัฏ พอมีอยู่
ในยุคนี้สมัยนี้ พระธรรมคําสอนของพระพุทธองค์ ยากที่จะศึกษาให้เข้าใจได้ในเวลาอันเล็กน้อย หรือได้อ่านผ่านไปเพียงครั้งสองครั้ง ผู้ที่ใคร่ศึกษาจําต้อง มีศรัทธา คือความเลื่อมใสที่จะฟัง มีฉันทะ ความพอใจ ที่จะรับฟัง มีวิริยะ คือความเพียรที่จะได้ฟังบ่อย ๆ
เมื่อรับฟังแล้วจําต้อง มีสติ ที่จะจดจําระลึกถึงคำสอนนั้นไว้เนืองๆ อันเป็นเหตุให้เกิดความเลื่อมใส มีกุศลจิต ที่จะน้อมนำพระธรรมคำสอนนั้นมาประพฤติปฏิบัติ เมื่อใช้ ปัญญา ใคร่ครวญ พิจารณาสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง มีโยนิโสมนสิการในสิ่งที่กำลังปรากฏตามพระธรรมคำสอนแล้ว ย่อมประจักษ์ ลักษณะของสภาพธรรมตามที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้
ครั้นพิจารณาเห็นสภาพธรรมตามความเป็นจริงแล้ว ย่อมจะบังเกิดความเบื่อหน่าย แสวงหาทางที่จะ พ้นจากทุกข์ในวัฏฏะ เมื่อได้ปฏิบัติตามแนวทางที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประทานไว้ ย่อมหลุดพ้นจากทุกข์ใน สังสารวัฏได้ในที่สุด ลำดับต่อจากนี้ เป็นการขยายความปฏิจจสมุปบาท เพื่อให้เกิดความแจ่มแจ้งยิ่งขึ้น
ปฏิจจสมุปบาทธรรม เหตุเกิดแห่งสังสารวัฏ
อวิชชา เป็นปัจจัยให้เกิด สังขาร
อวิชชา เป็นธรรมชาติที่ไม่รู้ เป็นลักษณะ มีความหลง เป็นกิจ มีความปกปิดสภาวะแห่งอารมณ์ เป็นผล มีอาสวะ เป็นเหตุใกล้ให้เกิด เพราะความไม่รู้ ย่อมยังสัตว์ให้แล่นไปในสังสารวัฏ พาสัตว์ให้ท่องเที่ยวไปใน กำเนิดต่าง ๆ ภพภูมิต่าง ๆ อวิชชาคือความไม่รู้ในธรรม ๘ ประการ ได้แก่
- ไม่รู้ใน ทุกขอริยสัจ คือไม่รู้ในความทุกข์
- ไม่รู้ใน สมุทยอริยสัจ คือไม่รู้ในต้นเหตุแห่งความทุกข์
- ไม่รู้ใน ทุกขนิโรธอริยสัจ คือไม่รู้ความดับทุกข์
- ไม่รู้ใน ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา คือไม่รู้ในข้อปฏิบัติที่ทำให้ถึงความดับทุกข์
- ไม่รู้ใน ขันธ์ ธาตุ อายตนะ ที่เป็นอดีต
- ไม่รู้ใน ขันธ์ ธาตุ อายตนะ ที่เป็นอนาคต
- ไม่รู้ใน ขันธ์ ธาตุ อายตนะ ที่เป็นทั้งอดีตอนาคต
- ไม่รู้ใน รูปนามที่เป็นปัจจัยกันเกิดขึ้นเป็นไป ตามหลักปฏิจจสมุปบาทอันเป็นธรรมที่อาศัย กันเกิดขึ้นเป็นไป ดังที่กล่าวว่า เพราะอวิชชามีสังขารจึงมี เป็นต้น
สังขาร เป็นธรรมชาติที่มีการปรุงแต่งเป็นลักษณะ มีความขวนขวาย เป็นกิจ มีเจตนา เป็นผล มีอวิชชา เป็นเหตุใกล้ให้เกิด สังขารที่เกิดขึ้นเพราะอวิชชาเป็นปัจจัย ได้แก่
- กายสังขาร สภาพที่ปรุงแต่งการกระทําทางกาย ชื่อว่า กายสัญเจตนา
- วจีสังขาร สภาพที่ปรุงแต่งวาจา ชื่อว่า วจีสัญเจตนา
- จิตตสังขาร สภาพที่ปรุงแต่งจิต ชื่อว่า มโนสัญเจตนาหาร
หากบุคคลปรุงแต่งสังขารที่เป็นบุญ วิญญาณก็ถึงความเป็นบุญ คือ
- ปุญญาภิสังขาร (เจตนาในกามาวจรกุศล) สภาพที่ปรุงแต่งกรรมฝ่ายดี เป็นปัจจัยให้เหล่าสัตว์ ทั้งหลายท่องเที่ยวไปในกามสุคติภูมิ ๗ และรูปภูมิ ๑๖
- อปุญญาภิสังขาร (เจตนาในอกุศล) สภาพที่ปรุงแต่งกรรมฝ่ายชั่ว เป็นปัจจัยให้สัตว์ทั้งหลาย ท่องเที่ยวไปใน อบายภูมิ ๔
- อเนญชาภิสังขาร (เจตนาในอรูปาวจรกุศล) สภาพที่ปรุงแต่งภพอันมั่นคงไม่หวั่นไหว หมายเอาภาวะ จิตที่มั่นคง แน่วแน่ด้วยสมาธิแห่งจตุตถฌาน เป็นปัจจัยให้สัตว์ทั้งหลายท่องเที่ยวไปในอรูปภูมิ ๔ เพราะอวิชชา ความไม่รู้ ทั้ง ๘ ประการนั้น ย่อมยังสัตว์ให้แล่นไปในสังสารวัฏ ท่องเที่ยวไปในภพภูมิ ต่าง ๆ ดังกล่าว ด้วยอํานาจของสังขาร คือ อปุญญาภิสังขาร ปุญญาภิสังขาร และอเนญชาภิสังขาร ดังนี้
อวิชชา ย่อมปกปิด หุ้มห่อ ไม่ให้เพื่อรู้เพื่อเห็น เพื่อแทงตลอดความเป็นจริงแห่ง ขันธ์ ธาตุ อายตนะ ในอดีต ในอนาคต ทั้งอดีตและอนาคต พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ความไม่รู้ในธรรมที่เป็นปัจจัย ในธรรมทั้งหลายที่อาศัยกันเกิดขึ้น ชื่อว่า อวิชชา ผู้ใดที่ถูกอวิชชาครอบงำ ย่อมไม่รู้ในทุกข์ไม่รู้ในเหตุที่ทําให้ทุกข์เกิด ไม่รู้ วิธีดับทุกข์ ไม่รู้ข้อปฏิบัติที่จะทำให้ทุกข์ดับ จึงเป็นเหตุให้ธรรมทั้งหลายมีสังขารเป็นต้น อาศัยอวิชชา เกิดขึ้นด้วย อารมณ์ ๖ อย่างใดอย่างหนึ่ง ที่พอใจหรือเอาใจใส่เป็นพิเศษ อันเป็นเหตุให้มีกำลังเกิดขึ้นบ่อย ๆ ติดต่อกัน เสพอารมณ์นั้นโดยไม่มีระหว่างคั่น แม้อวิชชาที่ไม่มีก็ยังทำให้มีขึ้นเป็นปัจจัย เพราะความที่ปราศจากกันไม่ได้
อวิชชา จึงพาสัตว์ผู้ไม่รู้แล่นไปในสังสารวัฏ กระทำกุศลบ้างอกุศลบ้าง เป็นหัวหน้า เป็นผู้นำพาสัตว์ทั้งหลายท่องเที่ยวไปในภพภูมิต่างๆ ด้วยอำนาจของปฏิจจสมุปบาท คือธรรมที่อาศัยกันและกันเป็นปัจจัยเกิดขึ้น วนเวียนอยู่ในวงจรของ กิเลสวัฏ กรรมวัฏ และวิบากวัฏ พาหมุนไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ด้วยเหตุนี้ ปฏิจจสมุปบาท จึงนำ อวิชชา พาสัตว์ผู้ไม่รู้หมุนไปสู่ สังขาร ด้วยประการอย่างนี้
กรณีนี้อาจจะมีข้อให้สงสัยว่า อวิชชา มาจากไหน ? อวิชชา มีอะไรเป็นปัจจัย ?
** วิสุทธิมรรค ภาค ๓ ตอน ๑ หน้า ๒๔๒ ปัญญาภูมินิเทศ พระบาลีแสดงไว้ว่า อาสวสมุทยา อวิชชาสมุทโย ความเกิดขึ้นแห่ง อวิชชา ซึ่งเป็นต้นเหตุ เป็นยอดเหตุ มีเพราะความเกิดขึ้นแห่ง อาสวะ คือกิเลส แม้อาสวะก็มีอวิชชาเป็นปัจจัย เพราะทําให้ปฏิจจสมุปบาทอันเป็นฝ่ายเกิด พาสัตว์ผู้ไม่รู้หมุนเวียนไปในสังสารวัฏ ให้ไปสู่ภพแล้วภพเล่า กำเนิดแล้ว กำเนิดเล่า ยาวนานจนไม่รู้เบื้องต้นเบื้องปลาย ไม่มีที่สุด
สังขาร เป็นปัจจัยให้เกิด วิญญาณ
วิญญาณ เป็นธรรมชาติที่รู้แจ้งอารมณ์ เป็นลักษณะ มีการเป็นประธาน เป็นกิจ มีการเกิดสืบต่อ เป็นผล มีสังขาร เป็นเหตุใกล้ให้เกิด ได้แก่ วิญญาณในปฏิสนธิกาล และในปวัตติกาล
ปฏิสนธิวิญญาณ วิบากวิญญาณทำหน้าที่เกิดขึ้นในภพใหม่ ในขณะปฏิสนธิกาล
ปวัตติวิญญาณ วิบากวิญญาณทำหน้าที่รู้แจ้งอารมณ์ ต่อจากปฏิสนธิวิญญาณ จนถึงจุติ (ตาย) ได้แก่ จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ มโนวิญญาณ สำหรับวิญญาณ ในปวัตติกาลนี้ เป็นผลของกุศลหรืออกุศลที่ได้กระทำไว้แล้ว ย่อมได้รับวิบากคือผลให้ได้มี การเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส และสัมผัสที่น่ายินดีพอใจ หรือได้รับแต่สิ่งที่ไม่น่าพอใจยินดี คือ
อปุญญาภิสังขาร เพราะกระทํากรรมที่เป็นอกุศล จึงเป็นปัจจัยแก่ อกุศลวิบาก ในอบายภูมิ ๔ ทั้งในปฏิสนธิกาล และในปวัตติกาล
ปุญญาภิสังขาร เพราะกระทํากรรมที่เป็น กามาวจรกุศล รูปาวจรกุศล จึงเป็นปัจจัยแก่ กุศลวิบาก ในกามสุคติภูมิ ๗ และรูปภูมิ ๑๖ ทั้งในปฏิสนธิกาล และในปวัตติกาล
อเนญชาภิสังขาร เพราะกระทํากรรมที่เป็น อรูปาวจรกุศล จึงเป็นปัจจัยแก่ กุศลวิบาก ในอรูปภพ ทั้งในปฏิสนธิกาล และในปวัตติกาล
ความหมายของวิญญาณ การรู้อารมณ์ มี ๓ อย่าง คือ
- การรู้แบบ สัญญารู้ คือ การรู้อาศัยการจดจําในสิ่งที่เคยเห็น เคยได้ยิน เช่น รู้สีขาว สีเขียว รู้ว่านี้หญิงรู้ว่านี้ชาย เป็นต้น
- การรู้แบบ ปัญญารู้ ได้แก่ การรู้แจ้งสภาวะธรรมตามความเป็นจริง ในสภาพที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา หรือรู้แจ้งอริยสัจธรรม ๔ คือ ทุกขอริยสัจ ทุกขสมุทัยอริยสัจ ทุกขนิโรธอริยสัจ และทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ
- การรู้แบบ วิญญาณรู้ การรับรู้อารมณ์ตามทวารต่าง ๆ ได้แก่ จักขุวิญญาณ ทําหน้าที่เห็น
โสตวิญญาณ ทําหน้าได้ยิน ฆานวิญญาณ ทําหน้าที่ได้กลิ่น ชิวหาวิญญาณ ทําหน้าที่รู้รส กายวิญญาณ ทําหน้าที่ กระทบสัมผัส และ มโนวิญญาณ ทําหน้าที่คิดนึก เป็นต้น
สังขารเป็นปัจจัยแก่วิญญาณ เพราะบุคคลยังยึดถือสังสารทุกข์ โดยสําคัญว่าเป็นสุข ด้วยความ ไม่รู้ขันธ์ในอดีตก่อน ด้วยความไม่รู้ในสมุทัยคือเหตุที่ทำให้ทุกข์เกิด ไม่รู้ในนิโรธและมรรคคือความดับแห่งทุกข์ และข้อปฏิบัติที่จะทำให้ทุกข์ดับ จึงกระทำกรรมคือ ปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร หรืออเนญชาภิสังขาร
- บุคคลนั้นย่อมปรารภ ปุญญาภิสังขาร ทำกุศลที่เป็นไปด้วยกายสังขาร วจีสังขาร เพื่อบรรลุทุกข์ นั้น เหมือนตุ๊กแตนบ่ายหน้าสู่เปลวประทีป
- บุคคลนั้นย่อมปรารภ อปุญญาภิสังขาร ทำอกุศล ที่เป็นไปด้วยกายสังขาร วจีสังขาร มโนสังขาร ซึ่งเข้าใจว่าเป็นสุข เพราะความที่ถูกกิเลสครอบงำ ดุจทารกเล่นอยู่ซึ่งคูถอันเป็นปฏิกูล
- บุคคลนั้นย่อมปรารภ อเนญขาภิสังขาร ทำกุศลแม้ในอรูป อันเป็นจิตสังขารด้วยความเห็นผิดว่า เที่ยง เป็นสุข บังคับบัญชาได้ ดุจคนหลงทิศ เริ่มเดินมุ่งหน้าสู่นครปีศาจ ฉะนั้น
ข้อนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า
"คนเขลาตกอยู่ในอวิชชาแล้ว เพราะอวิชชาความไม่รู้ ย่อมปรุงแต่ง
ปุญญาภิสังขารบ้าง อปุญญาภิสังขารบ้าง อเนญชาภิสังขารบ้าง
เมื่อใดภิกษุละอวิชชา วิชชาย่อมเกิด เพราะสำรอกอวิชชาได้
เพราะความเกิดขึ้นแห่งวิชชา ภิกษุนั้นย่อมไม่ปรุงแต่งแม้ปุญญาภิสังขาร"
เพราะเหตุนี้ ปฏิจจสมุปบาทจึงพา สังขาร หมุนไปสู่ วิญญาณ ด้วยประการอย่างนี้
วิญญาณ เป็นปัจจัยให้เกิด นามรูป
นามรูป หมายถึง รูปธรรมนามธรรมที่ประชุมกัน รวมเรียกว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล ที่ชื่อว่า ขันธ์ ๕ ได้แก่ รูปขันธ์ ๑ นามขันธ์ ๔ คือ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ และวิญญาณขันธ์
รูปธรรม เป็นสภาพที่ไม่รู้อารมณ์ เป็นธรรมชาติที่แตกดับ เสื่อมสลายไปด้วยอํานาจของวิโรธปัจจัย คือ ความเย็น ความร้อน ความอ่อน ความแข็ง และความตึงไหว ได้แก่ มหาภูตรูป ๔ คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม และรูป ที่อาศัยมหาภูตรูป เป็นธรรมชาติที่มีการแปรปรวนไปเป็นลักษณะ มีการกระจัดกระจายไปเป็นกิจ มีความเป็น อัพยากตธรรมคือสภาวะที่เป็นกลางๆ ชี้ขาดมิได้ว่ากุศลหรืออกุศลเป็นผล มีวิญญาณเป็นเหตุใกล้ให้เกิด เป็นต้น รูปธรรมเป็นสิ่งที่ถูกรู้ด้วยตา หู จมูก ลิ้น กาย นี้เรียกว่า รูปขันธ์
นามธรรม สภาพที่รู้อารมณ์ทางใจ มีการน้อมไปเป็นลักษณะ มีการประกอบพร้อมกันเป็นกิจ มีการ ไม่แยกจากจิตเป็นผล มีวิญญาณเป็นเหตุใกล้ให้เกิด ได้แก่ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ และวิญญาณขันธ์
- เวทนาขันธ์ ธรรมชาติที่เสวยอารมณ์ ความรู้สึกสุข ทุกข์ หรือเฉย ๆ
- สัญญาขันธ์ ธรรมชาติที่ทำหน้าที่จำได้ หมายรู้ในอารมณ์ เช่นสีขาว สีเขียว เป็นต้น
- สังขารขันธ์ ธรรมชาติที่ปรุงแต่งจิตให้เป็นกุศล หรืออกุศล
- วิญญาณขันธ์ ธรรมชาติที่รู้แจ้งอารมณ์ ทางอายตนะภายในทั้ง ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ได้แก่ จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ และมโนวิญญาณ
วิญญาณที่เป็นปัจจัยแก่นามรูป ท่านกล่าวว่า วิญญาณเป็นปัจจัยแก่รูป ในขณะที่ปฏิสนธินั้นเมื่อ ปฏิสนธิวิญญาณนำเกิดในภพต่าง ๆ กระบวนการแห่งการเกิดก็ดำเนินก่อรูปเป็นชีวิต ด้วยกรรมเป็นสมุฏฐาน พร้อมที่จะปรุงแต่งการกระทำต่าง ๆ ที่เป็นกุศล หรืออกุศลต่อไป จึงเกิดมีรูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ โดยครบถ้วนตามกรรมที่นำมาเกิดในภพนั้นๆ สุดแต่ว่าจะเกิดเป็นมนุษย์ เทวดา หรือสัตว์เดรัจฉาน
วิญญาณเป็นปัจจัยแก่นามและรูป ที่เป็นวิบากในปวัตติกาล อันเป็นผลแห่งการกระทำกรรมไว้แล้ว เช่นการเห็น การได้ยินที่น่ายินดีพอใจในชาตินี้ ซึ่งเป็นผลแห่งกุศลกรรมที่ได้กระทำไว้แต่ภพก่อน การเห็นการได้ยิน ที่ไม่น่ายินดีพอใจ อันเป็นผลแห่งอกุศลกรรมที่ได้กระทำไว้แล้วแต่ภพก่อน โดยการที่เกิดพร้อมกัน อาศัยซึ่งกันและกัน อุปการะนามและรูปที่เกิดพร้อมกัน ด้วยความเป็นใหญ่และปราศจากกันไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ ปฏิจจสมุปบาท จึงนำพา วิญญาณ หมุนไปสู่ นามรูป ด้วยประการอย่างนี้
อรรถกถาจารย์กล่าวไว้ว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถึง นามรูปเกิดเพราะวิญญาณเป็น ปัจจัย ชื่อว่า ทรงประกาศพระธรรมจักรอันยอดเยี่ยม ที่สมณะก็ดี พราหมณ์ก็ดี เทวดาก็ดี มารก็ดี พรหมก็ดี หรือใครๆ ในโลกก็ดี จะเปลี่ยนแปลงความจริงไม่ได้ เพราะเมื่อบัณฑิตใคร่ครวญพิจารณาอยู่ ย่อมเห็นเป็นเพียงนามรูปโดย สัจปรมัตถ์ คือสภาวธรรมเท่านั้นที่ กำลังเป็นไป หาใช่สัตว์ บุคคล ตัวตนไม่ ดังนี้
นามรูป เป็นปัจจัยให้เกิด สฬายตนะ
สฬายตนะ หมายถึง อายตนะ ๑๒ ได้แก่ อายตนะภายใน ๖ อายตนภายนอก ๖ สฬายตนะ มีการทําวัฏฏะให้ยาวนาน เป็นลักษณะ มีการทําความเห็นเป็นต้น เป็นกิจ มีความเป็นวัตถุและทวาร เป็นผล มีนามรูป เป็นเหตุใกล้ให้เกิด
อายตนะภายใน ได้แก่ จักขายตนะ (ตา) โสตายตนะ (หู) ฆานายตนะ (จมูก) ชิวหายตนะ (ลิ้น) กายายตนะ (กาย) มนายตนะ (ใจ) เป็นรูปที่เกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐาน อายตนะภายในเป็นเครื่องต่อให้รู้อารมณ์ภายนอก อันเป็นบ่อเกิดแห่งกิเลสทั้งหลาย เพราะนำไปสู่สังสารวัฏอันยืดยาว ไม่รู้เบื้องต้นเบื้องปลาย ไม่มีที่สิ้นสุด
อายตนะภายนอก ได้แก่ รูปายตนะ (รูป) โสตายตนะ (เสียง) ฆานายตนะ (กลิ่น) ชิวหายตนะ (รส) กายายตนะ (โผฏฐัพพะ) มนายตนะ (ธัมมารมณ์คือรูปที่รู้ได้ทางใจ) อายตนะภายนอกเป็นวิบากคือผลของกุศล กรรมหรืออกุศลกรรมที่ทําไว้ในอดีต เป็นอารมณ์แก่อายตนะภายใน เช่นตาเห็นรูป เป็นต้น
นาม เป็นปัจจัยแก่มนายตนะ ในปฏิสนธิกาลโดยเกิดพร้อมกัน เป็นอุปการะแก่กัน อาศัยกันและกัน เป็นปัจจัย ให้เกิดขึ้นพร้อมกัน ดับพร้อมกัน มีอารมณ์เดียวกัน มีที่อาศัยเดียวกัน เพราะความมีอยู่จึงทำให้มีขึ้น เป็นปัจจัย และปราศจากกันไม่ได้ นามเป็นปัจจัยแก่มนายตนะในอรูปภพด้วย
นามที่เป็นวิบากคือผลแห่งการกระทําในอดีต มีจักขายตนะ เป็นต้น เป็นปัจจัยแก่อายตนะทั้งหลาย ในปฏิสนธิกาล และในปวัตติกาล แม้นามที่ไม่ใช่วิบาก ก็เช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นนามที่ต่างกุศลก็ยังเป็น ปัจจัยโดยการเกิดภายหลัง เป็นปัจจัยช่วยอุปการะแก่ธรรมที่เกิดก่อน เพราะนามกับรูปไม่ประกอบกันเป็นปัจจัย และด้วยนามรูปมีอยู่ จึงทําให้มีขึ้นเป็นปัจจัย ซึ่งปราศจากกันไม่ได้ ต่างอาศัยซึ่งกันและกัน เป็นที่อาศัยอุปการะรูป ที่เกิดพร้อมกัน เพราะความที่มีอยู่และปราศจากกันไม่ได้
นามบางอย่างเป็นปัจจัยด้วยเหตุ คือ โลภะเหตุ โทสะเหตุ โมหะเหตุ หรือ อโลภะเหตุ อโทสะเหตุ อโมหะเหตุ อันเป็นรากเหง้าของกุศล หรืออกุศล
นามบางอย่างเป็นปัจจัยด้วยอาหาร คือ ผัสสาหาร มโนสัญเจตนหาร หรือวิญญาณาหาร เพราะนาม อาหารทั้ง ๓ นี้ ต่างก็ช่วยอุปการะนามธรรม ให้เกิดขึ้นและตั้งอยู่ได้ ตามสมควรแก่ภพภูมิอีกด้วย
รูป เป็นปัจจัยแก่มนายตนะในปฏิสนธิกาล โดยเกิดพร้อมกัน เป็นธรรมที่อาศัยกันและกัน เพราะความมีอยู่จึงทำให้มีขึ้นเป็นปัจจัย เพราะความที่ปราศจากกันไม่ได้ รูปอื่น ๆ มีโสตายตนะ ฆานายตนะ ชิวหายตนะ กายายตนะ โผฏฐัพพายตนะ เป็นปัจจัยแก่อายตนะทั้งหลายในปวัตติกาล ด้วยอำนาจแห่งความมีอยู่ จึงทําให้มีขึ้น เป็นปัจจัย และเพราะความเป็นใหญ่ เป็นหัวหน้าปกครองธรรมที่เกิดร่วมกันตนให้ตั้งอยู่ ปฏิจจสมุปบาทจึงนำพา นามรูป หมุนไปสู่ สฬายตนะ ด้วยประการอย่างนี้
นามรูป ที่เป็นปัจจัยแก่สฬายตนะนั้น เพราะผลของกรรมเป็นปัจจัย ที่ปราศจากกันไม่ได้ สืบเนื่อง มาจากปุญญาภิสังขาร หรืออปุญญาภิสังขาร อันเป็นกรรมที่ทำไว้ในอดีต สังขารเหล่านั้นก็เป็นปัจจัยให้ได้ปฏิสนธิวิญญาณในภพภูมิที่ดี ให้ได้อายตนะที่บริบูรณ์สมบูรณ์ หากเป็นไปในกุศลก็จะได้อายตนะครบถ้วน ไม่เป็นคนบ้าใบ้ บอดหนวก หรือพิการแต่กำเนิด นามรูปเป็นปัจจัยแก่สฬายตนะ ดังนี้
สฬายตนะ เป็นปัจจัยให้เกิด ผัสสะ
ผัสสะ เป็นธรรมชาติที่กระทบอารมณ์ เป็นลักษณะ มีการประสานอารมณ์กับจิต เป็นกิจ มีการประชุมวัตถุ อารมณ์ จิต เป็นผล มีสฬายตนะ เป็นเหตุใกล้ให้เกิด ผัสสะย่อมเกิดแก่อายตนะทั้งหลาย คือ
- จักขุสัมผัสสะ การกระทบอารมณ์ ทางตา ทำให้เกิด จักขุวิญญาณ (การเห็น)
- โสตสัมผัสสะ การกระทบอารมณ์ ทางหู ทำให้เกิด โสตวิญญาณ (การได้ยิน)
- ฆานสัมผัสสะ การกระทบอารมณ์ ทางจมูก ทำให้เกิด ฆานวิญญาณ (การได้กลิ่น)
- ชิวหาสัมผัสสะ การกระทบอารมณ์ ทางลิ้น ทำให้เกิด ชิวหาวิญญาณ (การลิ้มรส)
- กายสัมผัสสะ การกระทบอารมณ์ ทางกาย ทําให้เกิด กายวิญญาณ (การสัมผัส)
- มโนสัมผัสสะ การกระทบอารมณ์ ทางใจ ทําให้เกิด มโนวิญญาณ (การรู้แจ้งอารมณ์)
อายตนะภายในอันได้แก่ จักขายตนะ โสตายตนะ ฆานายตนะ ชิวหายตนะ และกายายตนะ เป็นปัจจัยแก่ผัสสะ คือ จักขุสัมผัสสะ โสตะสัมผัสสะ ฆานะสัมผัสสะ ชิวหาสัมผัสสะ กายสัมผัสสะ ด้วยอำนาจ ของธรรมที่เป็นที่อาศัยกัน ด้วยธรรมที่เกิดก่อนเป็นปัจจัย โดยความเป็นใหญ่ เพราะนามกับรูปไม่ประกอบกัน เพราะความมีอยู่ และเพราะความที่ปราศจากกันมิได้
ส่วนมนายตนะเป็นปัจจัยแก่ มโนสัมผัสสะ ด้วยอำนาจของการเป็นธรรมที่เกิดพร้อมกัน อาศัยกัน เกิดขึ้นเป็นที่อาศัยให้ผลเกิดขึ้น ด้วยผลของกรรมเป็นปัจจัย ด้วยอาหาร ๔ ด้วยความเป็นใหญ่ เพราะความเป็นนามธรรมที่ประกอบกันเป็นปัจจัย เพราะความมีอยู่จึงทำให้มีขึ้นเป็นปัจจัย และเพราะความที่ปราศจากกันมิได้
ท่านกล่าวว่า ผัสสะหนึ่งย่อมเกิดแก่อายตนะหลายอย่าง เช่น จักขุสัมผัส เกิดแต่จักขายตนะ แก่รูปายตนะ แก่มนายตนะ กรรมที่ทำไว้ในอดีต เป็นปัจจัยให้เกิดอายตนะภายใน คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทําให้เกิด การเห็น การได้ยินเป็นต้น เพราะมีการกระทบกันของ จักขายตนะ(ตา) กับ รูปายตนะ(รูป) ทําให้เกิด จักขุวิญญาณ คือการเห็น ธรรม ๓ อย่างคือ ตา รูป จักขุวิญญาณประชุมกัน ทำให้เกิดผัสสะ อันเป็นธรรมชาติ กระทบอารมณ์ ชื่อว่า จักขุสัมผัสสะ ก็เป็นปัจจัยให้เกิดความชอบใจไม่ชอบใจหรือเฉย ๆ เมื่อผัสสะกระทบทางทวารใดทวารหนึ่ง ปฏิจจสมุปบาทก็พาสัตว์แล่นไปสู่ เวทนา ด้วยอำนาจของธรรมเป็นที่อาศัยเกิดก่อน โดยความเป็นใหญ่ เพราะนามกับรูปไม่ประกอบกันเป็นปัจจัย เพราะความมีอยู่จึงทำให้มีขึ้นเป็นปัจจัย และเพราะความที่ปราศจากกันไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ปฏิจจสมุปบาทจึงพา สฬายตนะ หมุนไปสู่ ผัสสะ ด้วยประการอย่างนี้
บรรดาอายตนะภายนอกทั้งหลาย รูปายตนะเป็นปัจจัยแก่จักขุสัมผัส โสตายตนะเป็นปัจจัยแก่ โสตสัมผัส ฆานายตนะเป็นปัจจัยแก่ฆานสัมผัส ชิวหายตนะเป็นปัจจัยแก่รสาสัมผัส กายยายตนะเป็นปัจจัยแก่ โผฏฐัพพะสัมผัส ด้วยอำนาจเป็นอารมณ์ให้จิต เพราะเป็นธรรมที่เกิดก่อนเป็นปัจจัย เพราะความมีอยู่จึงทำให้มีขึ้นเป็นปัจจัย เพราะความมีอยู่และปราศจากกันไม่ได้ ส่วนมนายตน เป็นปัจจัยแก่มโนสัมผัสโดยเป็นเพียงเป็นอารัมมณปัจจัยเท่านั้น
ผัสสะ เป็นปัจจัยให้เกิด เวทนา
เวทนา เป็นธรรมชาติที่เสวยอารมณ์ เป็นลักษณะ มีการบริโภคร่วมกันซึ่งรสแห่งอารมณ์ เป็นกิจ มีสุขและทุกข์ เป็นผล มีผัสสะ เป็นเหตุใกล้ให้เกิด บุคคลที่เสวยอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง ย่อมเสวยด้วยความพอใจไม่พอใจ หรือรู้สึกเฉยๆ เวทนา ๕ หมายถึง สุขเวทนา ทุกขเวทนา และอุเบกขาเวทนา ที่เป็นไปทางกาย โสมนัสเวทนา และโทมนัสเวทนา ที่เป็นไปทางใจ
- สุขเวทนา เสวยอารมณ์ที่ดี มีความสุข ความสบาย ทางกาย
- โสมนัสเวทนา เสวยอารมณ์ที่แช่มชื่นร่าเริงยินดี ทางใจ
- ทุกขเวทนา เสวยอารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา ไม่แช่มชื่นใจ ความไม่สบายทางกาย
- โทมนัสเวทนา เสวยอารมณ์ที่เป็นทุกข์ เศร้าโศกเสียใจ ทางใจ
- อุเบกขาเวทนา เสวยอารมณ์เป็นกลาง ๆ ไม่สุขไม่ทุกข์ ไม่ยินดียินร้าย ทั้งทางกายทางใจ
ในปฏิจจสมุปบาท พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเวทนา ๖ โดยทวาร ได้แก่
- จักขุสัมผัสสชาเวทนา ทางปัญจทวาร เป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา
- โสตสัมผัสสชาเวทนา ทางปัญจทวาร เป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา
- ฆานสัมผัสสชาเวทนา ทางปัญจทวาร เป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา
- ชิวหาสัมผัสสชาเวทนา ทางปัญจทวาร เป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา
- กายสัมผัสสชาเวทนา ทางปัญจทวาร เป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา
- มโนสัมผัสสชาเวทนา ทางมโนทวาร เป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา
ผัสสะ เป็นปัจจัยเวทนาแก่ทั้ง ๕ ด้วยอํานาจของเวทนา ซึ่งเป็นที่อาศัยที่มีกําลังมาก โดยการเกิด พร้อมกัน ผัสสะและเวทนาต่างอาศัยซึ่งกันและกันเป็นปัจจัย ด้วยผลของกรรม อุปการะนามรูปที่เกิดพร้อมกัน เพราะความที่ผัสสะและเวทนายังมีอยู่ ปราศจากกันไม่ได้ ผัสสะจึงเป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา ดังนี้
ก็เมื่อจักขุทวาร กระทบรูป ทําให้เกิดจักขุวิญญาณ เป็นต้น ธรรม ๓ อย่างประชุมกัน เป็นผัสสะ ผัสสะเป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา ด้วยอํานาจของการเกิดพร้อมกัน เป็นเหตุให้ผลเกิดขึ้น ด้วยผลของกรรมเป็นปัจจัย เพราะความที่ปราศจากกันไม่ได้ แม้ในมโนทวารผัสสะก็เป็นปัจจัยด้วยการเกิดพร้อม และเป็นที่อาศัยซึ่งมีกำลังมาก ด้วยเหตุนี้ปฏิจจสมุปบาทจึงพา ผัสสะ หมุนไปสู่ เวทนา ด้วยประการอย่างนี้
เวทนา เป็นปัจจัยให้เกิด ตัณหา
ตัณหา มีความเป็นเหตุ เป็นลักษณะ มีความบันเทิงใจเป็นกิจ มีความไม่อิ่มในอารมณ์ เป็นผล มีเวทนา เป็นเหตุใกล้ให้เกิด ตัณหาความยินดี ความเพลิดเพลิน ความกำหนัดแห่งจิต ความชักนำให้คล้อยตามไปด้วยอำนาจความยินดีพอใจ ในความกำหนัดแห่งจิต ได้แก่ ตัณหา ๓ คือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา
- กามตัณหา ราคะที่เกิดขึ้นพร้อมกับความยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ชื่อว่า กามตัณหา
- ภวตัณหา ราคะที่เกิดพร้อมกับความเห็นผิดว่าเที่ยง ชื่อว่า ภวตัณหา
- วิภวตัณหา ราคะที่เกิดขึ้นพร้อมกับความเห็นผิดว่าขาดสูญ ชื่อว่า วิภวตัณหา
สำหรับตัณหา ๖ ในปฏิจจสมุปบาท ท่านตรัสไว้ด้วยอำนาจแห่งอารมณ์ คือ
- รูปตัณหา ความอยากใน รูป
- สัททตัณหา ความอยากใน เสียง
- คันธตัณหา ความอยากใน กลิ่น
- รสตัณหา ความอยากใน รส
- โผฏฐัพพตัณหา ความอยากใน โผฏฐัพพะ คือการกระทบสัมผัส
- ธัมมตัณหา ความอยากได้ใน ธัมมารมณ์ คือรูปนามที่รู้ได้ทางใจ
ตัณหา เป็นเหตุเกิดแห่งทุกข์ต่างๆ คนมีทุกข์ย่อมปรารถนาสุข คนมีสุข ก็ย่อมปรารถนาสุข แม้ยิ่งขึ้นไป ส่วนอุเบกขาเวทนาท่านตรัสว่า สุขนั่นแหละเพราะเป็นธรรมสงบ เพราะฉะนั้นเวทนาทั้ง ๓ จึงเป็นปัจจัยแก่ตัณหาด้วยเป็นธรรมที่อาศัยมีกำลังมากอย่างแรงกล้า เป็นเหตุมีกำลังยิ่งให้เกิดผล เพราะมีอำนาจที่จะคุ้มครอง ให้ผลที่เกิดนั้นเป็นไปได้ ทั้ง ๓ กาล คือทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต รวมทั้งกาลวิมุตติด้วย อีกทั้งยังเป็นธรรมที่ นำเกิด และอุปถัมภ์ให้ผลธรรมนั้นให้ตั้งอยู่หรือให้เป็นไปด้วยดีอีกด้วย ท่านอุปมาไว้ว่า เหมือนแผ่นดินกับน้ำฝน และอุตุ ทั้ง ๓ อย่างนี้ย่อมเป็นที่อาศัยอันสำคัญของสัตว์โลก ที่ต้องอาศัยแผ่นดินอยู่ ด้วยเหตุนี้ปฏิจจสมุปบาทจึงนำพา เวทนา ไปสู่ ตัณหา ด้วยประการอย่างนี้
เวทนาจึงเป็นที่อาศัย ให้สัตว์โลกทั้งหลายท่องเที่ยวไปในวัฏฏะไม่มีที่สิ้นสุด ด้วยอำนาจของตัณหา เก่าก่อนที่เกิดขึ้น ความเกิดดับติตต่อกันของจิตโดยไม่มีระหว่างคั่น จิตดวงเก่าที่ดับไปเป็นเหตุที่มีกำลังยิ่ง ที่สามารถสร้างจิตดวงใหม่ให้เกิดขึ้นได้อีก เพราะความไม่รู้อิ่มในอารมณ์ ตัณหาจึงเป็นปัจจัยสร้างสังสารวัฏให้เกิด ติดต่อกันไม่มีที่สิ้นสุด ตราบใดที่ยังไม่ถึงจุติจิตของพระอรหันต์
ตัณหา เป็นปัจจัยให้เกิด อุปาทาน
อุปาทาน มีการยึดไว้ เป็นลักษณะ มีการไม่ปล่อย เป็นกิจ มีความมั่นคงด้วยตัณหาและเห็นผิด ในอัตตา เป็นผล มีตัณหา เป็นเหตุใกล้ให้เกิด อุปาทานความยึดมั่น ความถือมั่นด้วยกิเลส ความยึดติดอันเนื่องมาจากตัณหา ผูกพันอายตนะเป็นที่ตั้งได้แก่ กามุปาทาน ทิฏฐปาทาน สีลัพพัตตุปาทาน และอัตตวาทุปาทาน
- กามุปาทาน ความยึดมั่นในกาม คือกิเลสกาม และวัตถุกาม คือรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่น่ารักใคร่ น่าพอใจ เป็นตัวกิเลสที่เข้าไปยึดมั่นอารมณ์ทางทวาร ๕ โดยตรง
- ทิฏฐุปาทาน ยึดมั่นในความเห็นผิดที่ว่า ทานที่ให้แล้วไม่มีผล การบูชาไม่มีผล....ฯลฯ สมณะพราหมณ์ ที่ทําให้แจ้งซึ่งโลกนี้และโลกอื่น ด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้ว ประกาศให้คนอื่นรู้ได้ ไม่มีในโลก เป็นต้น
- สีลัพพัตตุปาทาน ความยึดมั่นในศีลและพรต คือข้อปฏิบัติ ขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ ถือมั่นว่า ความบริสุทธิ์ย่อมมีด้วยศีลและพรต เป็นต้น
- อัตตวาทุปาทาน ความยึดมั่นในตัวตน ได้แก่สักกายทิฏฐิ ย่อมเห็นรูป เสียง กลิ่น รสโผฏฐัพพะ ว่าเป็นของเรา เราเป็นนั่น เป็นต้น
- กามตัณหา คือรูปตัณหาเป็นไปพร้อมกับทิฏฐิ มีความเห็นผิดว่ารูปารมณ์นั้นเที่ยง ยั่งยืน ในกาลนั้น ชื่อว่า ภวตัณหา เพราะราคะเกิดร่วมกับสัสสตทิฏฐิ มีความเห็นผิดว่าเที่ยง
ในกาลใดรูปตัณหานั้น เป็นไปพร้อมกับอุจเฉททิฏฐิ เห็นผิดว่า รูปารมณ์นั้นขาดสูญ หรือพินาศ ในกาลนั้นชื่อว่า วิภวตัณหา เพราะราคะเกิดร่วมกับอุจเฉททิฏฐิ มีความเห็นผิดว่าขาดสูญ
แม้ในสัททตัณหา คันธตัณหา รสตัณหา โผฏฐัพพะตัณหา ธัมมตัณหาก็โดยนัยเดียวกันนี้ ตัณหาเป็นปัจจัยแก่กามุปาทานเป็นอันดับแรก เพราะเกิดในอารมณ์ทั้งหลายที่พอใจด้วยตัณหา เนื่องด้วยตัณหาเป็นกิเลสที่มีอารมณ์มาก ส่วนอัตตวาทุปาทาน ความยึดมั่นในสักกายทิฏฐิว่าเป็นเรา จะเกิดขึ้นก่อน ด้วยความเหนียวแน่นแห่งตัณหา อันเป็นธรรมที่อาศัยกันเกิด โดยการเกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน มีอารมณ์เดียวกัน เพราะความที่ปราศจากกันไม่ได้ ด้วยมีตัณหาเป็นต้นเหตุ ต่อจากนั้น จึงเกิดทิฏฐุปาทาน สีลัพพัตตุปาทาน และ กามุปาทานเป็นลําดับ แต่ที่ทรงแสดงกามุปาทานก่อน เพราะอุปทานเป็นกิเลสที่ประกอบด้วย โลภะมูลจิตทั้งหมด มีความอาลัย และยินดีโดยมาก ซึ่งอุปาทานอื่นไม่เป็นเช่นนั้น
กามุปาทาน จึงเป็นต้นเหตุแห่งทิฏฐุปาทาน สีลัพพัตตุปาทาน และอัตตวาทุปาทาน เป็นปัจจัย ที่นำ พาสัตว์ทั้งหลายให้หมุนเข้าสู่วงเวียนของปฏิจจสมุปบาท ด้วยการถือเอาโดยความเห็นวิปลาส ดังนี้ ด้วยเหตุนี้ ปฏิจจสมุปบาทจึงพา ตัณหา หมุนไปสู่ อุปาทาน ด้วยประการอย่างนี้
อุปาทาน เป็นปัจจัยให้เกิด ภพ
ภพ มีกรรมและผลของกรรม เป็นลักษณะ มีความทำให้เกิดขึ้นและความเกิดขึ้น เป็นกิจ มีความเป็นกุศล อกุศล และอัพยากตะ เป็นผล มีอุปาทาน เป็นเหตุใกล้ให้เกิด ภพได้แก่โลกอันเป็นที่อยู่ของสัตว์ทั้งหลาย คือ กามภพ รูปภพ และอรูปภพ ความละเอียดดังที่ได้กล่าวไว้แล้ว ในเรื่องภพภูมิของสัตว์โลก
- กามภพ ภพที่เป็นกามาวจร ได้แก่ สวรรค์ ๖ มนุษย์ ๑ อบาย ๔
- รูปภพ ภพของสัตว์ผู้เข้าถึงปฐมฌาน เป็นต้น ได้แก่ รูปพรหม ๑๖
- อรูปภพ ภพของสัตว์ผู้เข้าถึงอรูปฌาน ได้แก่ อรูปพรหม ๔
ความหมายของภพ ในปฏิจจสมุปบาทมี ๒ ประเภท คือ กรรมภพ และอุบัติภพ
ภพ ขันธ์ทั้งหลายที่เกิดขึ้นในกามภพ รูปภพ อรูปภพ ชื่อว่า กรรมภพ เพราะกรรมที่กระทำ มาจาก อปุญญาภิสังขาร ปุญญาภิสังขาร อเนญชาภิสังขาร ปรุงแต่งทำให้เกิดในภพภูมิต่าง ๆ คือ
บุคคลเมื่อทำกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริตด้วยอำนาจของ กามุปาทาน ก็ทำให้เกิดในอบายภูมิ
บุคคลผู้มีกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ด้วยอำนาจของ กามุปาทาน ก็ทําให้บังเกิดในกาม สุคติภูมิ คืออุบัติในหมู่เทวดาและมนุษย์
บุคคลผู้ทำรูปสมาบัติ (เจริญรูปฌาน) ด้วยอำนาจ กามุปาทาน ก็ไปบังเกิดในรูปพรหม ๑๖
บุคคลผู้ทำอรูปสมาบัติ (เจริญอรูปฌาน) ด้วยอำนาจของ กามุปาทาน ก็ไปบังเกิดในอรูปภูมิ ๔
ท่านกล่าวว่าปุถุชนเปรียบเหมือนคนบ้า มิได้พิจารณาว่า สิ่งนี้ควร สิ่งนี้มิควร ปรารถนาภพใดภพหนึ่ง ย่อมทำกามาวจรกุศล ด้วยอำนาจของกามุปาทาน เพื่อจะได้ไปเกิดในเทวดาหรือมนุษย์ หรือในรูปภพบ้าง ย่อมทำรูปาวจรกุศล เพื่อไปเกิดในอรูปภพบ้าง หรือบางคนถูกลวงโดยให้เสพอสัทธรรมทำอกุศล โดยคิดว่าเป็นกุศล กระทำทุจริตกรรม สำคัญว่า กาม ทั้งหลายย่อมสำเร็จด้วยกรรมนี้ บุคคลนั้นย่อมไปสู่อบายภพ
ปุถุชนบางคนได้ยินได้ฟัง หรือคาดคะเนเอาว่า รูปภพและอรูปภพดีกว่ากามภพ จึงเจริญรูปาวจรกุศล อรูปาวจรกุศล ด้วยอำนาจของกามุปาทาน จึงได้ไปบังเกิดขึ้นในรูปภพอรูปภพ ส่วนทิฏฐุปาทาน สีลัพพัตตุปาทาน อัตตวาทุปาทาน เป็นปัจจัยแก่ภพทั้ง ๓ คือ กามภพ รูปภพ และอรูปภพ ด้วยอำนาจของอุปาทาน อุปาทานและ ภพต่างอาศัยกันเป็นปัจจัยเกิดขึ้นพร้อม เพราะความมีอยู่ของตัณหาและอุปาทาน ซึ่งปราศจากกันไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ปฏิจจสมุปบาทจึงพา อุปาทาน หมุนไปสู่ ภพ ด้วยประการอย่างนี้
อุปัตติภพ คือภพที่บุคคลอุบัติขึ้นด้วยอำนาจแห่งกรรม ที่แต่ละบุคคลได้กระทำมา ขันธ์ทั้งหลาย ที่เกิดขึ้นแต่กรรมภพ ชื่อว่า อุปัตติภพ เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า กรรมย่อมจำแนกสัตว์ ทั้งหลาย ให้ไปสู่ภพภูมิที่ต่างกัน คือกามภพ รูปภพด้วยอำนาจของอุปาทาน ดังนี้
ภพ เป็นปัจจัยให้เกิด ชาติ
ชาติ การมีชีวิตเกิดขึ้นของสัตว์โลกทั้งหลาย ความปรากฏขึ้นแห่งขันธ์ ความเกิดพร้อม ความ หยั่งลง ความได้เฉพาะอายตนะในหมู่สัตว์นั้น ของสัตว์เหล่านั้น เรียกว่า ชาติ การเกิดหรือกำเนิดมี ๔ ประเภท คือ สังเสทชกำเนิด โอปปาติกกำเนิด อัณฑชะกำเนิด และชลาพุชกำเนิด
- สังเสทชะกําเนิด การเกิดในเถ้าไคล โลหิต หรือยางเหนียวที่ชุ่มชื้น ในต้นไม้ ดอกไม้ ผลไม้ เช่น นางจิญจามาณวิกาเกิดจากต้นมะขาม นางเวฬุวดีเกิดจากต้นไผ่ นางปทุมวดีเกิดจากดอกบัว โอรสของนางปทุมวดี ๔๙๙ องค์เกิดจากโลหิต เป็นต้น
- โอปปาติกกำเนิด การเกิดที่ผุดขึ้น แล้วเติบโตทันที โดยไม่ต้องอาศัยครรภ์มารดาเป็นต้น ได้แก่ มนุษย์สมัยต้นกัป เทวดาทั้ง ๖ ชั้น พรหมทั้งหมด เปรต อสุรกาย และสัตว์นรก
- อัณฑชะกําเนิด อาศัยเกิดจากครรภ์มารดา เมื่อเริ่มปฏิสนธิต้องอยู่ในฟองไข่ก่อน เมื่อมารดาคลอดแล้ว จึงจะออกจากฟองไข่ เช่น เป็ด ไก่ นก กา และงู เป็นต้น
- ชลาพุชกําเนิด สัตว์ประเภทนี้ต้องอาศัยครรภ์มารดาเกิด แต่ไม่ต้องมีฟองไข่หุ้มห่อ คลอดออก จากกครรภ์มารดาแล้ว จึงเจริญเติบโต ได้แก่ มนุษย์ สัตว์เดรัจฉาน เทวดาชั้นต่ำที่เป็นภุมมัฏฐเทวดาบางพวก เปรต และอสุรกายบางจําพวก
ในปฏิจจสมุปบาทนี้ ท่านประสงค์เอากรรมภพ เพราะกรรมภพนั้นเป็นปัจจัยแก่ชาติ ด้วยอำนาจของกรรมปัจจัย และเพราะชาติเป็นที่อาศัยที่มีกำลังมาก ในความต่างกันเพราะกรรมที่เลวหรือประณีต เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า กรรมย่อมจำแนกสัตว์ทั้งหลายให้เลวหรือประณีต ภพจึงเป็นปัจจัยแก่ชาติ ดังนี้ ส่วนอุปัตติภพนั้นไม่ได้เป็นปัจจัยแก่ชาติ ด้วยเหตุนี้ปฏิจจสมุปบาทก็พา ภพ หมุนไปสู่ ชาติ ด้วยประการอย่างนี้
ชาติ เป็นปัจจัย ให้มีชรา มรณะ
ชรา คือ ความเสื่อมแห่งอายุ ความแก่แห่งอินทรีย์ เพราะความแปรปรวนแห่งสังขาร ในเวลาที่ล่วงไป ความคร่ำคร่า อาการของฟันหัก หนังเที่ยว และผมหงอก เป็นต้น ตามกาลเวลาที่ผ่านไปโดยธรรมชาติ ท่านกล่าวว่า ชราเป็นธรรมชาติที่ไม่สามารถปรากฎเห็นได้ด้วยจักษุ แต่รู้ได้โดยการที่หนังเที่ยว ผมหงอกเป็นต้น เปรียบเหมือน ทางไปของน้ำ หรือทางลม หรือทางไฟ ย่อมปรากฏจากความที่หญ้า และต้นไม้หักโค่นทำลายเป็นทาง หลังจากที่น้ำ หลาก ลมพัด หรือไฟไหม้ผ่านพ้นไปแล้ว จึงมีอาการปรากฏให้รู้ให้เห็นได้ชัด
ท่านกล่าวว่า ชรานั้น มีความสิ้นอายุ และความแก่หง่อมของอินทรีย์ มีจักษุ โสตะเป็นต้น เพราะอายุของผู้ถึง ความชราแล้ว ย่อมเสื่อมไปเป็นธรรมดา ในเวลาที่ยังเป็นหนุ่มเป็นสาวก็ผ่องใสดี เมื่อถึงชราแล้ว ไม่คล่องแคล่วว่องไว ชรามี ๒ คือ อวีจิชรา และสวีจิชรา
อวีจิชรา ไม่มีร่องรอยให้ปรากฏ เช่น ความชราของแก้วมณี ทอง เงิน ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ เป็นต้น เพราะความชราเหล่านี้ไม่ปรากฏให้เห็นได้ด้วยจักษุ
สวีจิชรา ชราที่มีร่องรอยปรากฏ เช่น ฟันน้ำนมของเด็ก เมื่อฟันเหล่านี้หักไป ฟันแท้ก็จะขึ้นมาแทน ครั้งแรกย่อมเป็นสีขาว ย่อมเปลี่ยนเป็นสีดําเมื่อถูกวัยชรากระทบ หรือสีผมเมื่อวัยหนุ่มสาวก็จะมีสีดําเป็นมันขลับ แต่พอถึงวัยชราย่อมเปลี่ยนเป็นสีขาว เหมือนข้าวกล้าในเวลาที่หว่านแล้ว ย่อมงอกเป็นสีขาว ภายหลังเมื่อเติบโต ขึ้นก็เปลี่ยนเป็นสีเขียว ต่อมาเปลี่ยนเป็นสีเหลือง เป็นต้น
มรณะ คือ ความตาย สัตว์ผู้เคลื่อนจากภพนี้ ชื่อว่าจุติ (ตาย) ดุจหม้อที่แตกไป มฤตยูคือความตาย มัจจุผู้กระทำที่สุดชื่อว่า กาละ การกระทำของกาละนั้น ชื่อว่า กาลกิริยา (ความทํากาละหรือตาย)
ความแตกไปแห่งขันธ์ ความทอดทิ้งซากศพ ย่อมมีในพวกมนุษย์เป็นต้น ชื่อว่า ความตาย
ความตัดขาดแห่งชีวิตินทรีย์ ชื่อว่าความตาย เหมือนคําที่กล่าวว่า ข้าวกล้าตาย ต้นไม้ตาย สัตว์ตาย โค กระบือ แพะ แกะตายเป็นต้น คําว่ามรณะ มี ๓ อย่าง คือ ขณิกมรณะ สมมุติมรณะ สมุจเฉทมรณะ
ขณิกมรณะ การตายทุกขณะ หมายถึงจิตที่เกิดดับ อยู่ทุกขณะ
สมมุติมรณะ การตายโดยสมมุติ มีการเคลื่อนจากภพนี้ไป เป็นลักษณะ มีความพรากไป จากภพชาตินี้เป็นกิจ มีการปราศจากภพเก่า เป็นเหตุใกล้ให้เกิด
สมุจเฉทมรณะ การตายโดยเด็ดขาด คือความขาดไปแห่งชีวิตินทรีย์
เมื่อชาติมี ชรา มรณะ และธรรมมีโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส อันเกี่ยวเนื่องด้วยชรา และมรณะก็ย่อมตามมา เมื่อจุติจิตในภพนี้เกิดขึ้น ปฏิสนธิจิตก็เกิดต่อจากจุติจิตทันที แล่นไปสู่ภพภูมิใหม่ตามแต่กุศลวิบาก หรืออกุศลวิบากจะให้ผลนำปฏิสนธิในภพภูมิใด ด้วยเหตุนี้ปฏิจจสมุปบาทจึงพา ชาติ หมุนไปสู่ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส ด้วยประการอย่างนี้
นี้คือ อวิชชาความไม่รู้ที่นำพาให้สัตว์ทั้งหลาย เข้าไปสู่วงจรของปฏิจจสมุปบาท
** วิสุทธิมรรค ปัญญานิเทศ กล่าวไว้ว่า เพราะความที่ปัจจัยคืออวิชชามี ธรรมที่เกิดแต่ปัจจัยคือสังขารก็มี.. ความที่สังขาร คือปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร อเนญชาภิสังขารมี ก็เป็นปัจจัยแก่วิญญาณคือ ปฏิสนธิวิญญาณ และปวัตติวิญญาณ.... ความที่วิญญาณมี ก็เป็นปัจจัยให้เกิดนามรูป คือรูปธรรมนามธรรมที่เรียก ว่าขันธ์ ๕ ความที่นามรูปมี ก็เป็นปัจจัยให้เกิดสฬายตนะ ได้แก่อายตนะภายใน ๖ คือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และอายตนะภายนอก ๖ ได้แก่ รูปายตนะ โสตายตนะ ฆานายตนะ ชิวหายตนะ กายายตนะ และมนายตนะ เป็นต้น ดังนี้ จนถึงชาติชรามรณะ ปฏิจจสมุปบาทมีองค์ ๑๒ ที่หมุนไปด้วยอํานาจความสัมพันธ์กันแห่งเหตุและผลนั้น สืบเนื่องกันไปไม่มีที่สิ้นสุด เบื้องต้นจึงไม่ปรากฏ เพราะเหตุที่ความหมุนไปแห่งธรรมทั้งหลาย ดังแสดงให้เห็นนี้
บัณฑิตพึงทราบว่า สังสารวัฏนี้ปราศจากผู้สร้างผู้เสวย เป็นสภาวธรรมตามธรรมชาติที่เกิดขึ้น เป็นไป โดยปัจจัยตามหลักของปฏิจจสมุปบาท ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ด้วยพระปัญญาอันยิ่ง
** สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ หน้า ๓๕๓-๓๕๗ นฬกลาปิยสูตร แสดงไว้ว่า สมัยหนึ่ง ท่านพระสารีบุตรและท่านพระมหาโกฏฐิตะ อยู่ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน กรุงพาราณสี พระมหาโกฏฐิตะกล่าวคํานี้กับท่านพระสารีบุตรว่า ชราและมรณะนั้น ตนทําเอง ผู้อื่นทำให้ หรือทั้งตนและผู้อื่นทำให้ หรือว่า ชราและมรณะบังเกิดขึ้นเพราะตนไม่ได้ทำเอง และผู้อื่นไม่ได้ทำให้
พระสารีบุตรกล่าวว่า ท่านโกฏฐิตะ ชราและมรณะนั้น ตนเองทำก็ไม่ใช่ ผู้อื่นทำให้ก็ไม่ใช่ ทั้งตนทำเอง ทั้งผู้อื่น ทำให้ก็ไม่ใช่ แต่ว่า เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมีชราและมรณะ
พระโกฏฐิตะ ท่านพระสารีบุตร ก็เนื้อความนี้ เราทั้งหลายจะพึงเห็นได้อย่างไร ? พระสารีบุตร ดูก่อน อาวุโส ผมจักอุปมาให้ท่านฟัง ไม้อ้อ ๒ กำ พึงตั้งอยู่ได้เพราะต่างอาศัยซึ่งกันและกัน ฉันใด ชราและมรณะก็อาศัยชาติเป็นปัจจัย ชาติก็อาศัยชรามรณะเป็นปัจจัย ฉันนั้น ถ้าไม้อ้อ ๒ กำนั้น พึงเอาออกเสียกำหนึ่งอีกกำหนึ่งที่เหลือก็ล้มไป เพราะเหตุนี้ถ้าชาติดับ ชรามรณะจึงดับ
ในข้ออื่นพระโกฏิฐิตะสงสัย ก็โดยนัยเดียวกันนี้ว่า
เพราะวิญญาณ เป็นปัจจัย จึงมีนามรูป
เพราะนามรูป เป็นปัจจัย จึงมีสฬายตนะ
เพราะสฬายตนะ เป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ
เพราะผัสสะ เป็นปัจจัย จึงมีเวทนา
เพราะมีเวทนา เป็นปัจจัย จึงมีตัณหา
เพราะตัณหา เป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน
เพราะอุปาทาน เป็นปัจจัย จึงมีภพ
เพราะภพ เป็นปัจจัย จึงมีชาติ
เพราะชาติ ป็นปัจจัย จึงมีชรามรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส
ธรรมสองประการต่างเป็นปัจจัยซึ่งกันและกันดังนี้ เมื่อเอาอย่างหนึ่งออกไป อย่างหนึ่งก็อยู่ไม่ได้ ฉันใด เพราะวิญญาณดับ นามรูปจึงดับ เพราะนามรูปดับ สฬายตนะจึงดับ เพราะสฬายตนะดับ ผัสสะจึงดับ เพราะผัสสะดับ เวทนาจึงดับ เพราะเวทนาดับ ตัณหาจึงดับ ฯลฯ เพราะชาติดับ ชรามรณะจึงดับ ฉันนั้น
เมื่อชาติไม่มี ชื่อว่าชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส ก็ไม่มี บัณฑิตพึงทราบว่า ชาติเป็นปัจจัยแก่ชรามรณะ ด้วยธรรมเป็นที่อาศัยมีกำลังมาก หรือเป็นเหตุมีกําลังให้เกิดผล ดังนี้
พระมหาโกฏฐิตะ น่าอัศจรรย์ ท่านพระสารีบุตร ไม่เคยมีมา ที่ท่านสารีบุตรกล่าวนี้ เป็นอันกล่าว ดีแล้ว เราทั้งหลายพลอยยินดีสุภาษิตนี้ของท่านด้วยธรรมทั้งหมดนี้ เพราะพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า
ถ้าภิกษุแสดงธรรม เพื่อความหน่าย เพื่อคลายกําหนัด เพื่อดับชราและมรณะ ดับชาติ ภพ อุปาทาน ตัณหา เวทนา ผัสสะ สฬายตนะ นามรูป วิญญาณ สังขารทั้งหลาย และ ดับอวิชชา ควรกล่าวว่า ภิกษุนั้นเป็น ภิกษุธรรมกถึก
ถ้าภิกษุปฏิบัติ เพื่อความหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับชราและมรณะ ชาติ ภพ อุปาทาน ตัณหา เวทนา ผัสสะ สฬายตนะ นามรูป วิญญาณ สังขารทั้งหลาย และ ดับอวิชชา ควรกล่าวว่า ภิกษุนั้นเป็น ภิกษุปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม
ถ้าภิกษุหลุดพ้น เพราะความหน่าย เพราะความคลายกำหนัด เพราะความดับ เพราะไม่ถือมั่น ควรกล่าวว่า ภิกษุนั้นเป็น ภิกษุบรรลุนิพพานในปัจจุบัน
** สารัตถทีปนี ฎีกาพระวินัย บทพรรณนาพระพุทธคุณ ๙ หน้า ๓๒๔-๓๒๗ กล่าวไว้ว่า
อวิชชา เปรียบดังดุมล้อแห่งรถ เพราะเป็นรากเหง้าแห่งวงล้อปฏิจจสมุปบาท ในสังสารวัฏ
ชรามรณะ เปรียบดังกง คือส่วนรอบของวงล้อรถ เพราะเป็นที่สุดของวงล้อแห่งรถ
สังขาร วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทาน ภพ และชาติ เปรียบดุจ ซี่กำของล้อรถ เพราะอยู่ในท่ามกลางวงล้อรถ สอดแล้วด้วยเพลา คือแกนสำหรับสอดใส่ในดุมรถหรือคุมเกวียน ที่เปรียบดัง อาสวสมุทัย คือ ตัณหา ที่เป็นเหตุให้ทุกข์เกิด เพลานี้จะพาวงล้อหมุนไปสู่ภพทั้งสาม คือ กามภพ รูปภพ อรูปภพ ตามปัจจัยของตน นำพาสัตว์ผู้ไม่รู้วนเวียนไปสู่ภพแล้วภพเล่า ในกำเนิดแล้วกำเนิดเล่า จากโลกนี้ไปสู่ โลกอื่น จากโลกอื่นกลับมาสู่โลกนี้ หมุนวนอยู่ในวงล้อแห่งปฏิจจสมุปบาทไม่มีที่สิ้นสุด
นี้คือลําดับแห่ง ขันธ์ ธาตุ อายตนะ ที่เป็นไปอยู่ไม่ขาดสาย ที่ชื่อว่า สังสารวัฏ
คําอธิบายขยายความปฏิจจสมุปบาท ทั้ง ๑๒ ข้อ จาก พระอภิธรรมปิฎก เล่มที่ ๒ วิภังค์ ภาค ๑
(สัมโมหวิโนทนี ปัจจยาการวิภังค์ และปฏิจจสมุปบาทวิภังคนิเทศ หน้า ๔๓๓-๖๐๔)
พุทธธรรม ฉบับปรับขยาย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต)
ปฏิจจสมุปบาท แปลพอให้ได้ความหมายในเบื้องต้นว่า การเกิดขึ้นพร้อมแห่งธรรมทั้งหลายโดยอาศัย กัน การที่สิ่งทั้งหลายอาศัยกัน ๆ จึงเกิดมีขึ้น หรือการที่ทุกข์เกิดขึ้นเพราะอาศัยปัจจัยสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกันมา
ปฏิจจสมุปบาท เป็นหลักธรรมอีกหมวดหนึ่ง ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงในรูปของกฎธรรมชาติหรือหลัก ความจริงที่มีอยู่โดยธรรมดา ไม่เกี่ยวกับการอุบัติของพระศาสดาทั้งหลาย
พุทธพจน์แสดงปฏิจจสมุปบาทในรูปของกฎธรรมชาติวาดังนี้ “ตถาคตทั้งหลาย จะอุบัติหรือไม่ก็ตาม ธาตุ (หลัก) นั้น ก็ดำรงอยู่ เป็นธรรมฐิติเป็น ธรรมนิยาม คืออิทัปปัจจัยตา
ตถาคตตรัสรู้เข้าถึงหลักนั้นแล้ว จึงบอก แสดง วางเป็นแบบ ตั้งเป็นหลัก เปิดเผย แจก แจง ทำให้เข้าใจง่าย และจึงตรัสว่า “จงดูสิ”
“เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมีฯลฯ” “ภิกษุทั้งหลาย ตถตา (ภาวะที่เป็นอย่างนั้น) อวิตถตา (ภาวะที่ไม่คลาดจากการเป็นอย่าง นั้น) อนัญญถตา (ภาวะที่ไม่เป็นอย่างอื่น) คืออิทัปปัจจัยตา ดังกล่าวมานี้แล เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท”
ความสำคัญของปฏิจจสมุปบาท จะเห็นได้จากพุทธพจน์ว่า“ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้นั้น เห็นธรรม ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้น เห็นปฏิจจสมุปบาท”
“ภิกษุทั้งหลาย แท้จริง อริยสาวกผู้ได้เรียนรู้แล้ว ย่อมมีญาณหยั่งรู้ในเรื่องนี้ โดยไม่ต้องเชื่อผู้อื่นว่า เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น ฯลฯ
เมื่อใด อริยสาวกรู้ทั่วถึงความเกิดและความดับของโลกตามที่มันเป็นอย่างนี้ อริยสาวกนี้เรียกว่าเป็นผู้มีทิฏฐิสมบูรณ์ ก็ได้ ผู้มีทัศนะสมบูรณ์ ก็ได้ ผู้ลุถึงสัทธรรมนี้ ก็ได้ ว่าผู้ประกอบด้วยเสขญาณ ก็ได้ ผู้ประกอบด้วยเสขวิชชา ก็ได้ ผู้บรรลุกระแสธรรมแล้ว ก็ได้ พระอริยะผู้มีปัญญาชำแรกกิเลส ก็ได้ ผู้อยู่ชิดประตูอมตะ ก็ได้”
คำสอนพระอริยเจ้า
เปิดมรรคผลนิพพานที่จิต หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน
ความรู้นี้เป็นความรู้ของศาสดาองค์เอก ปฏิจจสมุปบาท หรือ อวิชฺชาปจฺจยา อวิชชาเป็นปัจจัย คือหนุนให้เกิดสังขาร สังขารก็คือสังขารสมุทัย สังขารธรรมดา สังขารของพระอรหันต์ สังขารของปุถุชนต่างกัน สังขารของปุถุชนนี่เป็นอวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา สังขารของพระอรหันต์เป็นอวิชฺชายเตฺวว อเสสวิราคนิโรธา สงฺขารนิโรโธ สังขารไม่มีกิเลส ต่างกันอย่างนี้ ทีแรก อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา สงฺขารปจฺจยา วิญฺญาณํ เรื่อยไป เอวเมตสฺส เกวลสฺส ทุกฺขกฺขนฺธสฺส,สมุทโย โหติ เหล่านี้เป็นสมุทัย เป็นวัฏวนเป็นลูกโซ่ต่อกันไปเลย
พออวิชชาดับเท่านั้น อวิชฺชายเตฺวว อเสสวิราคนิโรธา สงฺขารนิโรโธ ดับๆ ๆ หมด กิเลสดับที่ใจแห่งเดียว กิ่งก้านสาขาดอกใบที่ออกมาจากใจดับหมด เหมือนกับต้นไม้ ถอนรากแก้วมันพรวดขึ้นมาเท่านั้นกิ่งก้านสาขาดอกใบ ใบก็ดีดอกก็ดีไม่ต้องไปพรรณนา แต่ท่านพรรณนาไปนั้นเพื่อจะให้เข้าใจ สมกับว่าเป็นศาสดา ถ้าธรรมดาแล้วถอนรากแก้วขึ้นมาแล้ว กิ่งก้านสาขาดอกใบไม่ต้องบอก ดับไปพร้อมๆ กันเลย อวิชฺชายเตฺวว พออวิชชาดับเหล่านั้นดับหมด สังขารก็ไม่มีสมุทัยแล้วที่นี่ เพราะสังขารสมุทัยได้แก่ อวิชชาเป็นตัวหนุน อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา ทีนี้ก็ต่อเรื่อย สงฺขารปจฺจยา วิญฺญาณํ วิญฺญาณปจฺจยา นามรูปํ. เรื่อย คือมันแตกเป็นต้นเป็นลำแล้วก็เป็นดอกเป็นใบไป เหมือนต้นไม้พอถอนรากแก้วขึ้นแล้ว ไม่ว่ากิ่งก้านสาขาดอกใบดับไปด้วยกันหมด
แต่พวกเรามันไม่พอดี อ่านสวากขาตธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ชอบแล้วมันก็ไม่ชอบอยู่กับผู้อ่าน เพราะผู้อ่านมีแต่กิเลสเต็มตัว แบกส้วมแบกถานไปอ่านมันก็เป็นส้วมเป็นถานไปหมด ไม่ได้เรื่องได้ราวอะไร นี่พูดไปถึงไหนเราก็เลยไปใหญ่เลย (ขอโอกาสที่พระท่านถามหมายความว่า อวิชชานี้ไม่มีรูปมีนามก่อให้เกิดสังขารได้ เคยฟังจากท่านอาจารย์ฝั้นท่านบอกว่า จิตเดิมแท้เป็นพ่อแม่ของอวิชชา หมายความว่าอวิชชาอาศัยจิตเดิมก่อให้เกิดสังขารขึ้นมา) ก็ ฐีติภูตํ ท่านก็ว่าไว้แล้ว ฐีติภูตํ. อวิชฺชาปจฺจยา ถอดจากนี้ไป โห เวลามันมืดนี่ อ่านนิพพานอยู่นั้นแหละอ่านนิพพาน นิพพานมีหรือไม่มีน้า ทั้งๆ ที่อ่านนิพพานของพระพุทธเจ้าที่ตรัสรู้แล้ว บอกความจริงมา เราก็มาอ่าน อ่านก็คนมีกิเลสอ่าน หลับตาอ่าน นิพพานมีหรือไม่มีนา เป็นในเราเอง
สันทิฏฐิโกจากผู้เห็นภัยในวัฏฏสงสาร
ความจริงแล้ว ทุกสรรพสิ่งไม่เคยมีตัวตนมาแต่ไหนแต่ไร ( อนัตตา ) แต่เมื่อจิตหรือธาตุรู้ ซึ่งมีหน้าที่รู้ตามธรรมชาติ หลงว่ามีตัวตน หลงว่าเป็นตัวตน หลงว่าสิ่งที่รู้เป็นเรารู้ เป็นตัวตนของเรารับรู้ ( อวิชชา )
- จากนั้นจะมี ( สังขาร ) คือ ความคิดปรุงแต่งของจิต ความจงใจ เจตนา กระบวนการความคิดที่เป็นไปตามความโน้มเอียง ความเคยชินของจิต ที่ได้สั่งสมไว้ในชาติก่อนๆ
- จากนั้นจะมี ( วิญญาณ ) คือ ปฏิสนธิวิญญาณ วิบากวิญญาณทำหน้าที่เกิดขึ้นในภพใหม่ ในขณะปฏิสนธิกาล และปวัตติวิญญาณ วิบากวิญญาณทำหน้าที่รู้แจ้งอารมณ์ ต่อจากปฏิสนธิวิญญาณ จนถึงจุติ (ตาย)
- จากนั้นจะมี ( นามรูป ) คือ ความมีอยู่ของรูปธรรมและนามธรรม ในความรู้ของบุคคล ภาวะที่ร่างกายและจิตใจ เพื่อทำหน้าที่สอดคล้องกับการรับรู้อารมณ์ของวิญญาณ
- จากนั้นจะมี ( สฬายตนะ ) คือ ทวารหรืออวัยวะที่ใช้ในการสื่อสารรับรู้การสัมผัสของกายตน ที่ต่อหรือที่เชื่อมโยง ๖ อย่าง ของอายตนะ
- จากนั้นจะมี ( ผัสสะ ) คือ การเชื่อมต่อการรับรู้กับโลกภายนอก การรับรู้อารมณ์ คือ คือการกระทบกันระหว่างอายตนะภายใน ๖ กับอายตนะภายนอก ๖
- จากนั้นจะมี ( เวทนา ) คือ ความรู้สึก สุข ทุกข์ หรือ เฉยๆ ในสิ่งที่รับรู้ ในอารมณ์ที่รับรู้
- จากนั้นจะมี ( ตัณหา) คือ ความอยาก ความต้องการ ความยินดี ยินร้าย ความพอใจในอารมณ์ต่าง ๆ
- จากนั้นจะมี ( อุปาทาน ) คือ คือ อาการที่จิตเข้าไปยึดถือสิ่งใดสิ่งหนึ่งไว้ ความยึดติดหรือเกาะติดในตัณหาต่างๆ
- จากนั้นจะมี ( ภพ ) คือ ความมี ความเป็น กามภพ รูปภพ อรูปภาพ
- จากนั้นจะมี ( ชาติ ) คือ การเกิด การปรากฏแห่งขันธ์ทั้งหลาย
- จากนั้นจะมี ( ชรา มรณะ ) คือ ความเสื่อมกับความสลายแห่งธรรมต่าง ๆ ของอินทรีย์ และขันธ์
เมื่อจิตยังไม่หมดกิเลส ยังไม่ขาดสะบั้นจาก "อวิชชา" จึงมี "ภพชาติ" ไม่จบไม่สิ้น และสะสมความไม่รู้แจ้งความไม่รู้จริง (อวิชชา) ในทุกภพทุกชาติสืบต่อไป ( อนุสัยกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในการเกิดขึ้นสืบต่อแห่งรูปนามชื่อว่า "สันตานานุสยกิเลส" )
"มนุษย์" เมื่อได้เกิดเป็นมนุษย์ อยู่ในกามภพ และมีภพภูมิโลกมนุษย์รองรับสภาวะของโลก
มนุษย์ มี ๖ ธาตุ ( ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ ธาตุอากาศ ธาตุรู้ ) และมี ขันธ์ ๕ ( รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ) ประกอบกันอยู่ และอายตนะภายใน ๖ ( บ้างเรียกว่า อินทรีย์ ๖ มี ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ) อายตนะภายนอก ๖ ( บ้างเรียกว่า อารมณ์ ๖ มี ๖ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ )
มนุษย์ มีธาตุหลัก ๔ ขันธ์ ๕ ใน ( รูปขันธ์ ) เข้าใจง่ายๆ ว่าร่างกาย ประกอบด้วยธาตุหลัก ดิน น้ำ ลม ไฟ มี อาการ ๓๒ คือ ผม ขน เล็บฟันหนัง เป็นต้น ขันธ์ที่เหลือทั้งหมด คือใจ ประกอบด้วย (เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) หรือเรียก นามขันธ์ เพราะจับต้องไม่ได้ มนุษย์จึงมีกายกับใจ (รูป ๑ นาม ๔)
ด้วยจิตที่มีอวิชชาครอบงำความไม่รู้จริงมาแต่เดิม มาอยู่ในภพภูมิที่ประกอบด้วย ธาตุ ดิน น้ำ ไฟ ลม มีโลก และ ดาวต่างๆ รวมเรียก "จักรวาล" ตัวตนที่มีในภพนี้มีรูปกายประกอบด้วย ดิน น้ำ ไฟ ลม และ จิตหรือธาตุรู้ แล้วสมมุติชื่อเรียกว่า "มนุษย์"
มีช่องทางรับรู้ในภพภูมิหรือผัสสะและอายตนะ สามารถรับรู้สิ่งภายนอกร่างกายและในจิตใจ ( วิญญาณขันธ์ ) ที่เรียกว่า มองเห็นได้ ได้ยิน ได้กลิ่น ได้รู้รส ได้รู้สัมผัสกาย และธรรมารมณ์ ( อารมณ์ที่ใจรู้ ) มีความจำได้( สัญญาขันธ์ ) มีความรู้สึกต่อสิ่งที่รับรู้( เวทนาขันธ์ ) มีการปรุงแต่งหรือคิดได้ ( สังขารขันธ์ )
เมื่อเข้าไปยึดมั่นในสิ่งที่สามารถควบคุมได้ ( บางส่วนในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ) คิดเห็นว่าตัวเรามีจริง สิ่งที่รู้ได้มีจริง ทุกสรรพสิ่งมีอยู่แท้ถาวรจริงๆ
แท้จริงเป็นเพียงมายาม่านหมอกปกคลุมแสดงให้เห็น เพราะมีอวิชชาความไม่รู้สภาพความเป็นจริงแค่นั้นเอง
เราจึงต้องปฏิบัติขัดเกลาสร้างความรู้จริงให้เกิดในจิต เมื่อจิตมีความรู้แจ้งเห็นจริง ( วิชชา ) โดยตามหลักที่พระพุทธองค์ทรงตรัสสอนไว้ตาม มรรค ๘ หรือ ทาน ศีล ภาวนา จนเห็นแจ้งใน อริยสัจ ๔ และแทงตลอดใน ปฏิจจสมุปบาท ละสังโยชน์ทั้งหมดลงไปได้
แล้วจึงจะหลุดพ้นเป็นอิสระจากการเวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิมายาที่อวิชชาปิดบังเอาไว้ คือ นิพพาน นิพพานัง ปรมัง สุขัง นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง