ปริยัติธรรม
พุทธธรรม ฉบับปรับขยาย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต)
อายตนะ แปลว่า เครื่องติดต่อหรือที่เชื่อมต่อ โดยรวมแล้วหมายถึงสิ่งที่เป็นสื่อใช้สำหรับในการติดต่อกันระหว่างสิ่งภายนอกและสิ่งภายใน โดยทำให้เกิดความรู้สึกขึ้น ซึ่งแบ่งออกเป็น ๒ อย่างด้วยกัน นั่นก็คือ อายตนะภายนอก ที่หมายถึงสิ่งที่อยู่ภายนอกตัวเรา ๖ อย่าง และอายตนะภายใน หมายถึงสิ่งที่อยู่ภายในตัวเรา ๖ อย่าง โดยทั้งสองอย่างนี้เป็นสิ่งที่ต้องคู่กันอยู่เสมอ ไม่สามารถแยกออกจากกันได้
“ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงแก่พวกเธอซึ่ง “สรรพสิ่ง” (สิ่งทั้งปวง, ครบหมด, ทุกสิ่งทุกอย่าง), จงฟังเถิด; อะไรเล่าคือ สรรพสิ่ง:- ตากับรูป หูกับเสียง จมูกกับกลิ่น ลิ้นกับรส กายกับโผฏฐัพพะ ใจกับธรรมารมณ์- นี้เราเรียกว่า สรรพสิ่ง”
“พระองค์ผู้เจริญ เรียกกันว่า “โลก โลก” ดังนี้, ด้วยเหตุเพียงไร จึงมีโลก หรือบัญญัติว่าเป็นโลก?”
“ดูกรสมิทธิ ที่ใดมีตา มีรูป มีจักขุวิญญาณ มีธรรมอันพึงรู้ด้วยจักขุวิญญาณ, ที่นั่นก็มีโลก หรือบัญญัติว่าเป็นโลก, ที่ใดมีหู...มีจมูก...มีลิ้น...มีกาย...มีใจ มีธรรมารมณ์ มีมโนวิญญาณ มีสิ่งอันพึงรู้ด้วยมโนวิญญาณ ที่นั้นก็มีโลกหรือบัญญัติว่าโลก”
“ภิกษุทั้งหลาย เราไม่กล่าวว่า ที่สุดโลก เป็นสิ่งที่รู้ได้ เห็นได้ ถึงได้ ด้วยการไป, แต่เราก็ไม่กล่าวเช่นกันว่า บุคคลยังไม่ถึงที่สุดโลก จะทำความสิ้นทุกข์ได้”
(พระอานนท์กล่าว :-) “ข้อความที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้โดยย่อ ยังมิได้ทรงแจกแจงเนื้อความโดยพิสดารนี้ ข้าพเจ้าเข้าใจความโดยพิสดารดังนี้:- บุคคลย่อมสำคัญหมายในโลกว่าเป็นโลก ถือโลกว่าเป็นโลกด้วยสิ่งใดสิ่งนั้นเรียกว่า “โลก” ในอริยวินัย.”
“ด้วยอะไรเล่า คนจึงสำคัญหมายในโลกว่าเป็นโลก ถือโลกว่าเป็นโลก? ด้วยตา...ด้วยหู....ด้วยจมูก....ด้วยลิ้น....ด้วยกาย....ด้วยใจ คนจึงสำคัญหมายในโลกว่าเป็นโลก ถือโลกว่าเป็นโลก”
“ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงการอุทัยพร้อมและการอัสดงแห่งโลก, จงฟังเถิด. การอุทัยพร้อมแห่งโลกเป็นไฉน? อาศัยตา และรูป จึงเกิดจักขุวิญญาณ, ความประจวบแห่งสิ่งทั้งสามนั้น คือ ผัสสะ, เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี, เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี, เพราะตัณหาเป็นปัจจัย อุปาทานจึงมี, เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ภพจึงมี, เพราะภพเป็นปัจจัย ชาติจึงมี, เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรามรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสก็มีพร้อม; นี้คือการอุทัยพร้อมแห่งโลก”
“อาศัยหู...อาศัยจมูก...อาศัยลิ้น...อาศัยกาย...อาศัยใจและธรรมารมณ์ จึงเกิด มโนวิญญาณ ฯลฯ นี้คือ การอุทัยพร้อมแห่งโลก”
“การอัสดงแห่งโลกเป็นไฉน? อาศัยตาและรูป จึงเกิดจักขุวิญญาณ, ความประจวบแห่งสิ่งทั้งสามนั้นคือ ผัสสะ, เพราะผัสสะเป็นปัจจัยจึงมีเวทนา, เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี, เพราะตัณหานั้นแหละสำรอกดับไปไม่เหลือ ความดับอุปาทานจึงมี, เพราะดับอุปาทาน ความดับภพจึงมี, เพราะดับภพ ความดับชาติจึงมี, เพราะดับชาติ ชรามรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และ อุปายาส จึงดับ, ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งหมด ย่อมมีได้อย่างนี้; นี้เรียกว่าการอัสดงแห่งโลก”
อาศัยหู...อาศัยจมูก...อาศัยลิ้น...อาศัยกาย...อาศัยใจและธรรมารมณ์ จึงเกิด มโนวิญญาณ ฯลฯ นี้คือ การอัสดงของโลก”
“พระองค์ผู้เจริญ เรียกกันว่า “มาร มาร” ...เรียกกันว่า “สัตว์ สัตว์” ...เรียกกันว่า “ทุกข์ ทุกข์” ดังนี้, ด้วยเหตุเพียงไร จึงมีมารหรือบัญญัติว่ามาร...จึงมีสัตว์หรือบัญญัติว่าสัตว์...จึงมีทุกข์หรือบัญญัติว่าทุกข์ ?”
“ดูกรสมิทธิ ที่ใดมีตา มีรูป มีจักขุวิญญาณ มีธรรมอันพึงรู้ด้วยจักขุวิญญาณ ฯลฯ มีใจ มีธรรมารมณ์ มีมโนวิญญาณ มีธรรมอันพึงรู้ด้วยมโนวิญญาณ, ที่นั้นก็มีมารหรือบัญญัติว่ามาร...สัตว์หรือบัญญัติว่าสัตว์...ทุกข์หรือบัญญัติว่าทุกข์”
“เมื่อตามีอยู่ พระอรหันต์ทั้งหลายจึงบัญญัติสุขทุกข์, เมื่อตาไม่มี พระอรหันต์ทั้งหลายย่อมไม่บัญญัติว่าสุขทุกข์, เมื่อหู...เมื่อจมูก...เมื่อลิ้น...เมื่อกาย...เมื่อใจมีอยู่ พระอรหันต์ทั้งหลาย จึงบัญญัติสุขทุกข์ เมื่อหู ฯลฯ ใจไม่มี พระอรหันต์ทั้งหลายย่อมไม่บัญญัติสุขทุกข์”
“ภิกษุทั้งหลาย ตา...หู...จมูก...ลิ้น...กาย...ใจ...ไม่เที่ยง...เป็นทุกข์...เป็นอนัตตา, แม้สิ่งที่เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เกิดขึ้น ก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา, ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ซึ่งเกิดจากสิ่งที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จักเป็นของเที่ยง จักเป็นสุข จักเป็นอัตตาได้แต่ที่ไหน”
“รูป...เสียง...กลิ่น...รส...โผฏฐัพพะ...ธรรมารมณ์ ไม่เที่ยง...เป็นทุกข์...เป็นอนัตตา, แม้สิ่งที่เป็นเหตุ เป็นปัจจัยให้รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์เกิดขึ้น ก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา, รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ซึ่งเกิดจากสิ่งที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จักเป็นของเที่ยง เป็นสุข เป็นอัตตาได้แต่ที่ไหน”
“ภิกษุทั้งหลาย ข้าวกล้างอกงามบริบูรณ์ และคนเฝ้าข้าวกล้าก็ประมาทเสีย, โคกินข้าวกล้า ลงสู่ข้าวกล้าโน้น พึงเมาเพลินประมาทเอาจนเต็มที่ ฉันใด, ปุถุชนผู้มิได้เรียนรู้ ไม่สังวรใน ผัสสายตนะ ๖ ย่อมเมาเพลิน ประมาทในกามคุณ ๕ จนเต็มที่ ฉันนั้น”
“ภิกษุทั้งหลาย ผัสสายตนะ ๖ เหล่านี้ที่ไม่ฝึก ไม่คุ้มครอง ไม่รักษา ไม่สังวร ย่อมเป็นเครื่องนำทุกข์มาให้...ผัสสายตนะ ๖ เหล่านี้ ที่ฝึกดีแล้ว คุ้มครองดี รักษาดี สังวรดี ย่อมเป็นเครื่องนำสุขมาให้...”
“ตาเป็นเครื่องผูกล่ามรูปไว้, รูปเป็นเครื่องผูกล่ามตาไว้; หู-เสียง; จมูก-กลิ่น; ลิ้น-รส; กาย-โผฏฐัพพะ; ใจเป็นเครื่องผูกล่ามธรรมารมณ์ไว้, ธรรมารมณ์เป็นเครื่องผูกล่ามใจไว้ ดังนี้หรือ ?”
“(หามิได้) ตาก็มิใช่เครื่องผูกล่ามรูปไว้, รูปก็มิใช่เครื่องผูกล่ามตาไว้; ฉันทราคะ (ความชอบใจจนติด) ที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยตาและรูปทั้งสองอย่างนั้นต่างหาก เป็นเครื่องผูกล่ามที่ตาและรูปนั้น ฯลฯ ใจก็ไม่ใช่ เครื่องผูกล่ามธรรมารมณ์, ธรรมารมณ์ก็มิใช่เครื่องผูกล่ามใจ:- ฉันทราคะ ที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยใจและธรรมารมณ์ทั้งสองอย่างนั้นต่างหาก เป็นเครื่องผูกล่ามที่ใจและธรรมารมณ์นั้น”
“หากตาเป็นเครื่องผูกล่ามรูปไว้ หรือรูปเป็นเครื่องผูกล่ามตาไว้แล้วไซร้, การครอง ชีวิตประเสริฐ เพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบ ก็จะปรากฏไม่ได้; แต่เพราะเหตุที่ตาไม่ใช่เครื่องผูกล่ามรูป, รูปมิใช่เครื่องผูกล่ามตา, ฉันทราคะที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยตาและรูปสองอย่างนั้นต่างหาก เป็นเครื่องผูกล่ามที่ตาและรูปนั้น เพราะเหตุฉะนั้น การครองชีวิตประเสริฐเพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบ จึงปรากฏได้ ฯลฯ”
“พระผู้มีพระภาคก็ทรงมีพระจักษุ, พระผู้มีพระภาคก็ทรงเห็นรูปด้วยจักษุ, (แต่) ฉันทราคะไม่มีแก่พระผู้มีพระภาคเจ้า, พระผู้มีพระภาคทรงมีพระทัยหลุดพ้นดีแล้ว; พระผู้มีพระภาคก็ทรงมีพระโสต...พระฆานะ...พระชิวหา...พระกาย...พระทัย...”
“พระองค์ผู้เจริญ ! ถึงแม้ข้าพระองค์จะชราแล้ว เป็นผู้เฒ่าผู้ใหญ่ ส่วนกาลผ่านวัยมาโดยลำดับก็ตาม, ขอพระผู้มีพระภาคสุคตเจ้าโปรดทรงแสดงธรรมแก่ข้าพระองค์แต่โดยย่อเถิด ข้าพระองค์คงจะเข้าใจความแห่งพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคได้เป็นแน่ ข้าพระองค์คงจะเป็นทายาทแห่งพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคได้เป็นแน่”
“แน่ะมาลุงกยบุตร ! ท่านเห็นเป็นประการใด? รูปทั้งหลายที่พึงรู้ด้วยจักษุอย่างใด ๆ ซึ่งเธอยังไม่เห็น ทั้งมิเคยได้เห็น ทั้งไม่เห็นอยู่ ทั้งไม่เคยคิดหมายว่าขอเราพึงเห็น, ความพอใจ ความใคร่ หรือความรัก ในรูปเหล่านั้น จะมีแก่เธอไหม?”
“ไม่มี พระเจ้าข้า”
“เสียง...กลิ่น...รส...โผฏฐัพพะ...ธรรมารมณ์ทั้งหลาย อย่างใด ๆ เธอไม่ได้ทราบ ไม่เคยทราบ ไม่ทราบอยู่ และทั้งไม่เคยคิดหมายว่าเราพึงทราบ, ความพอใจ ความใคร่ หรือความรักในธรรมารมณ์เหล่านั้น จะมีแก่เธอไหม?”
“ไม่มีพระเจ้าข้า”
“มาลุงกยบุตร ! บรรดาสิ่งที่เห็นได้ยินรู้ทราบเหล่านี้ ในสิ่งที่เห็น เธอจักมีแค่เห็น ในสิ่งที่ได้ยิน จักมีแค่ได้ยิน ในสิ่งที่ ลิ้มดมแตะต้อง จักมีแค่รู้ (รสกลิ่นแตะต้อง) ในสิ่งที่ทราบจักมีแค่ทราบ; เมื่อใด (เธอมีแค่เห็นได้ยินได้รู้ได้ทราบ) เมื่อนั้น เธอก็ไม่มีด้วยนั่น (อรรถกถาอธิบายว่าไม่ถูกราคะ โทสะ โมหะ ครอบงำ), เมื่อไม่มีด้วยนั่น ก็ไม่มีที่นั่น (อรรถกถาอธิบายว่า ไม่พัวพันหมกติดอยู่ในสิ่งที่ได้เห็นเป็นต้นนั้น), เมื่อไม่มีที่นั่นเธอก็ไม่มีที่นี่ ไม่มีที่โน่น ไม่มีระหว่างที่นี่ที่โน่น (ไม่ใช่ภพนี้ ไม่ใช่ภพโน้น ไม่ใช่ระหว่างภพทั้งสอง), นั่นแหละคือจุดจบของทุกข์”
(พระมาลุงกยบุตรสดับแล้ว กล่าวความตามที่ตนเข้าใจออกมาว่า:-)
“พอเห็นรูป สติก็หลงหลุด ด้วยมัวใส่ใจแต่นิมิตหมายที่น่ารัก แล้วก็มีจิตกำหนัดติดใจ เสวยอารมณ์ แล้วก็สยบอยู่กับอารมณ์นั้นเอง, เวทนาหลากหลายอันก่อกำเนิดขึ้นจากรูป ขยายตัวเพิ่มขึ้น จิตของเขาก็คอยถูกระทบกระทั่ง ทั้งกับความอยากและความยุ่งยากใจ เมื่อสั่งสมทุกข์อยู่อย่างนี้ ก็เรียกว่าไกลนิพพาน”
“พอได้ยินเสียง...พอได้กลิ่น...พอลิ้มรส...พอถูกต้องโผฏฐัพพะ...พอรู้ธรรมารมณ์ สติก็หลงหลุด ฯลฯ ก็เรียกว่าไกลนิพพาน”
“เห็นรูปก็ไม่ติดในรูป ด้วยมีสติมั่นอยู่, มีจิตไม่ติดใจ เสวยเวทนาไป ก็ไม่สยบกับอารมณ์นั้น; เขามีสติดำเนินชีวิตอย่างที่ว่า เมื่อเห็นรูป และถึงจะเสพเวทนา ทุกข์ก็มีแต่สิ้น ไม่สั่งสม; เมื่อไม่สั่งสมทุกข์อยู่อย่างนี้ก็เรียกว่าใกล้นิพพาน”
“ได้ยินเสียง...ได้กลิ่น...ลิ้มรส...ถูกต้องโผฏฐัพพะ...รู้ธรรมารมณ์ ก็ไม่ติดในธรรมารมณ์ด้วยมีสติมั่นอยู่ ฯลฯ ก็เรียกว่าใกล้นิพพาน”
“ด้วยเหตุเพียงไร บุคคลชื่อว่าเป็นผู้ไม่คุ้มครองทวาร ? คนบางคนเห็นรูปด้วยตาแล้ว ย่อมน้อมรักฝากใจในรูปที่น่ารัก ย่อมขุ่นเคืองขัดใจในรูปที่ไม่น่ารัก มิได้มีสติกำกับใจ เป็นอยู่โดยมีจิตคับแคบ (มีใจเล็กนิดเดียว), ไม่เข้าใจตามเป็นจริง ซึ่งความหลุดรอดปลอดพ้นของจิต และความหลุดรอดปลอดพ้นด้วยปัญญา ที่จะทำให้บาปอกุศลธรรมซึ่งเกิดขึ้นแล้วแก่ตัวเขา ดับไปได้โดยไม่เหลือ; ฟังเสียงด้วยหู...สูดกลิ่นด้วยจมูก...ลิ้มรสด้วยลิ้น...ต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย ทราบธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว ย่อมน้อมรักฝากใจใน...ธรรมารมณ์อันน่ารัก ย่อมขุ่นเคืองขัดใจใน...ธรรมารมณ์อันไม่น่ารัก ฯลฯ”
“ด้วยเหตุเพียงไร บุคคลชื่อว่าเป็นผู้คุ้มครองทวาร ? ภิกษุเห็นรูปด้วยตาแล้ว ย่อมไม่น้อมรักฝากใจในรูปที่น่ารัก ไม่ขุ่นเคืองขัดใจในรูปที่ไม่น่ารัก มีสติกำกับใจ เป็นอยู่อย่างผู้มีจิตกว้างขวาง ไม่มีประมาณ เข้าใจตามเป็นจริง ซึ่งความหลุดรอดปลอดพ้นของจิต และความหลุดรอดปลอดพ้นด้วยปัญญา ที่จะทำให้บาปอกุศลธรรมซึ่งเกิดขึ้นแล้วแก่ตัวเขา ดับไปได้โดยไม่เหลือ, ฟังเสียงด้วยหู ฯลฯ ทราบธรรมารมณ์ด้วยใจ ย่อมไม่น้อมรักฝากใจใน...ธรรมารมณ์อันน่ารัก ไม่ขุ่นเคืองขัดใจใน...ธรรมารมณ์อันไม่น่ารัก ฯลฯ”
“ภิกษุทั้งหลาย อย่างไรจึงจะชื่อว่าเป็นผู้อยู่ด้วยความไม่ประมาท ? เมื่อภิกษุสังวร จักขุนทรีย์อยู่ จิตย่อมไม่ซ่านแส่ไปในรูปทั้งหลายที่พึงรู้ด้วยจักษุ, เมื่อมีจิตไม่ซ่านแส่ ปราโมทย์ก็เกิด, เมื่อมีปราโมทย์แล้ว ปีติก็เกิด, เมื่อมีใจปีติ กายก็สงบระงับ, ผู้มีกายสงบ ย่อมเป็นสุข, ผู้มีสุขจิตย่อมเป็นสมาธิ, เมื่อจิตเป็นสมาธิ ธรรมทั้งหลายก็ปรากฏ, เพราะธรรมทั้งหลายปรากฏ ผู้นั้นจึงนับว่าเป็นผู้อยู่ด้วยความไม่ประมาท” (เกี่ยวกับโสตะ ฆานะ ชิวหา กาย มโน ก็เช่นเดียวกัน)
อานนท์ การอบรมอินทรีย์ ที่ยอดเยี่ยมในแบบแผนของอารยชน เป็นอย่างไร ? เพราะเห็นรูปด้วยตา...เพราะได้ยินเสียงด้วยหู...เพราะได้กลิ่นด้วยจมูก...เพราะรู้รสด้วยลิ้น...เพราะต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย...เพราะรู้ธรรมารมณ์ด้วยใจ ย่อมเกิดความชอบใจบ้าง เกิดความไม่ชอบใจบ้าง เกิดทั้งความชอบใจและไม่ชอบใจบ้างแก่ภิกษุ; เธอเข้าใจชัดดังนี้ว่า ความชอบใจ ความไม่ชอบใจ ทั้งความชอบใจไม่ชอบใจ ที่เกิดขึ้นแล้วแก่เรานี้เป็นสิ่งปรุงแต่ง เป็นธรรมหยาบ เป็นของอาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้น, ภาวะต่อไปนี้จึงจะสงบประณีต นั่นคืออุเบกขา (ความมีใจเป็นกลาง), (ครั้นแล้ว) ความชอบใจ ความไม่ชอบใจ ทั้งความชอบใจไม่ชอบใจที่เกิดขึ้นแก่เธอนั้นก็ดับไป อุเบกขาก็ตั้งมั่น”
“สำหรับบุคคลผู้ใดก็ตาม ความชอบใจ ความไม่ชอบใจ ทั้งความชอบใจไม่ชอบใจที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมดับไป อุเบกขาย่อมตั้งมั่นได้เร็วพลันทันที โดยไม่ยาก เสมือนคนหลับตาแล้วลืมตา หรือลืมตาแล้วหลับตา ฯลฯ นี้ เรียกว่า การอบรมอินทรีย์ที่ยอดเยี่ยม ในแบบแผนของอารยชน...”
“ภิกษุทั้งหลาย ก่อนสัมโพธิ เมื่อยังเป็นโพธิสัตว์ผู้ยังไม่ตรัสรู้ เราได้เกิดความดำริขึ้นดังนี้ว่า :- อะไรเป็นคุณ (ความหวานชื่น ความอร่อย) ของจักษุ ? อะไรเป็นโทษ (ข้อเสีย ความบกพร่อง) ของจักษุ ? อะไรเป็นทางออก (เป็นอิสระ ไม่ต้องอิงอาศัย) แห่งจักษุ ? อะไรเป็นคุณ...เป็นโทษ...เป็นทางออกแห่งโสตะ...ฆานะ...ชิวหา...กาย...มโน ?”
“เราได้เกิดความคิดขึ้นดังนี้:- สุข โสมนัส ที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยจักษุ นี้คือคุณของจักษุ, ข้อที่จักษุไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา นี้คือ โทษของ จักษุ, การกำจัด ฉันทราคะ การละฉันทราคะในเพราะจักษุเสียได้ นี้คือทางออกแห่งจักษุ” (ของโสตะ ฆานะ ชิวหา กาย มโน ก็เช่นเดียวกัน)
“ตราบใด เรายังมิได้รู้ประจักษ์ตามเป็นจริง ซึ่งคุณของอายตนะภายใน ๖ เหล่านี้โดยเป็นคุณ, ซึ่งโทษโดยเป็นโทษ, ซึ่งทางออกโดยเป็นทางออก, ตราบนั้นเราก็ยังไม่ปฏิญญาว่าเราบรรลุแล้วซึ่งอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ...”
(ต่อไปตรัสถึงคุณ โทษ ทางออกพ้นแห่งอายตนะภายนอก ๖ ในทำนองเดียวกัน)
“ภิกษุทั้งหลาย ผู้ที่รู้เห็นจักษุตามที่มันเป็น รู้เห็นรูปทั้งหลายตามที่มันเป็น รู้เห็น จักขุวิญญาณตามที่มันเป็น รู้เห็นจักษุสัมผัสตามที่มันเป็น รู้เห็นเวทนาอันเป็นสุขหรือทุกข์หรือ ไม่สุขไม่ทุกข์ ซึ่งเกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัย ตามที่มันเป็น ย่อมไม่ติดพันในจักษุ ไม่ติดพันในรูปทั้งหลาย ไม่ติดพันในจักขุวิญญาณ ไม่ติดพันในจักขุสัมผัส ไม่ติดพันในเวทนาอันเป็นสุขหรือทุกข์หรือไม่สุขไม่ทุกข์ ที่เกิดเพราะจักขุสัมผัสเป็นปัจจัย เมื่อผู้นั้นไม่ติดพัน ไม่หมกมุ่น ไม่ลุ่มหลง รู้เท่าทันเห็นโทษตระหนักอยู่ อุปาทานขันธ์ทั้ง 5 ย่อมถึงความไม่ก่อตัวพอกพูนต่อไป, อนึ่ง ตัณหาที่เป็นตัวการก่อภพใหม่ อันประกอบด้วยนันทิราคะ คอยแส่เพลิดเพลินอยู่ในอารมณ์ต่าง ๆ ก็จะถูกละไปเสียด้วย, ความกระวนกระวายทางกายก็ดี ความกระวนกระวายทางใจก็ดี ความเร่าร้อนกายก็ดี ความเร่าร้อนใจก็ดี ความกลัดกลุ้มทางกายก็ดี ความกลัดกลุ้มทางใจก็ดี ย่อมถูกเขาละได้; ผู้นั้นย่อมเสวยทั้งความสุขทางกายทั้งความสุขทางใจ, บุคคลผู้เป็นเช่นนั้นแล้ว มีความเห็นอันใด ความเห็นนั้นก็เป็นสัมมาทิฏฐิ, มีความดำริใด ความดำรินั้นก็เป็นสัมมาสังกัปปะ, มีความพยายามใด ความพยายามนั้นก็เป็นสัมมาวายามะ, มีความระลึกใดความระลึกนั้นก็เป็นสัมมาสติ, มีสมาธิใด สมาธินั้นก็เป็นสัมมาสมาธิ, ส่วนกายกรรม วจีกรรม และอาชีวะของเขา ย่อมบริสุทธิ์ดีมาแต่ต้นทีเดียว; ด้วยประการดังนี้ เขาชื่อว่ามีอริยอัฏฐังคิกมรรคอันถึงความเจริญบริบูรณ์” (เกี่ยวกับโสตะ ฆานะ ชิวหา กาย มโน ก็เช่นเดียวกัน)
คำสอนพระอริยเจ้า
ธาตุ-ขันธ์-อายตนะ สัมพันธ์ หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
อายตนะ ๖ ได้แต่ ตา ที่เห็นวัตถุรูป ๑ หู ที่เสียงดังมากระทบ ๑ จมูก ที่สูบกลิ่นสารพัดทั้งปวง ๑ ลิ้น ที่รับรสทุกๆ อย่างที่มาปรากฏสัมผัส ๑ กาย ที่ถูกสัมผัสเย็นร้อน อ่อนแข็ง อันจะรู้ได้ทางกาย ๑ ใจ ความรู้สึกนึกคิดในอารมณ์นั้นๆ ๑
อายตนะทั้ง ๖ นี้ย่อมรับทำหน้าที่แต่ละแผนกๆ ไม่ปะปนกัน เช่น ตารับทำหน้าที่ แต่เฉพาะไว้ดูรูปเท่านั้น ตกลงว่าบรรดารูปทั้งหลายแล้ว จะเป็นรูปชนิดใดอย่างไร หยาบละเอียด แม้แต่รูปอสุภะอันแสนน่าเกลียด ก็มอบภาระให้ตาดูไป ให้หูดูแทนไม่ได้เด็ดขาด เป็นต้น ท่านจึงเรียกว่าเป็นใหญ่ในหน้าที่นั้นๆ
ฉะนั้น เมื่อพูดถึงอายตนะภายใน ๖ แล้ว จึงจำต้องพูดคู่ของอายตนะภายในไปพร้อมๆกัน จึงจะเห็นประโยชน์ของอายตนะ ๖ ที่ว่ามานั้น เป็นของอยู่ในตัวของเรา ท่านจึงเรียกว่า อายตนะภายใน
สิ่งที่เป็นคู่กับอายตะภายใน เช่น รูปเป็นคู่กับตา เป็นต้น ท่านเรียกว่าอายตนะภายนอก อายตนะภายนอกก็มี ๖ เหมือนกัน อายตนะถ้าไม่มีคู่ เช่น มีแต่ตาอย่างเดียวไม่มีรูป ให้เห็น ก็ไม่มีประโยชน์อันใดเลย หรือมีแต่รูปอย่างเดียวไม่มีตาดู ก็จะมีประโยชน์อันใด แต่เมื่อเห็นรูปแล้ว ย่อมมีทั้งคุณแลโทษ เหมือนๆกับผู้รับผิดชอบการงานในหน้าที่นั้นๆ จะต้องรับผิดชอบทั้งดีแลไม่ดี อายตนะภายใน กับอายตนะภายนอก กระทบกันเข้านี่แหละ ที่ทำให้เกิดคุณแลโทษก็อยู่ที่ตรงนี้
ฉะนั้น อารมณ์ที่เกิดจากอายตนะทั้งสองนี้ จึงเป็นเหมือนกับมิตรแลศัตรูไปพร้อมๆกัน แต่มิตรไม่เป็นไรเรายอมรับทุกเมื่อ แต่ศัตรูนี้ซิ ตาเกลียดนักจึงคอยตั้งป้อมต่อสู้มัน
อายตนะทั้ง ๖ เมื่อใครได้มาเป็นสมบัติของตน ครบถ้วนบริบูรณ์ไม่วิกลวิกาลแล้ว จึงนับได้ว่า เป็นลาภของผู้นั้นแล้ว เพราะมันเป็นทรัพย์ภายใน อันมีคุณค่ามหาศาล ยากที่จะหาแลกเปลี่ยน ซื้อขายกันในตลาดได้ ทรัพย์ทั้งหลายภายนอก จะมีมากน้อยสักเท่าไร แลจะดีมีคุณค่าให้สำเร็จประโยชน์ได้ทุกประการก็ตาม หากขาดทรัพย์ภายในเหล่านี้แล้ว ก็ไม่สำเร็จประโยชน์อะไรเท่าไรนัก
อนึ่ง ทรัพย์ภายใน ๖ กองนี้ มีแล้วใช้ได้ไม่รู้จักหมดสิ้นตลอดวันตาย เป็นแก้วสารพัดนึกให้สำเร็จความปรารถนาได้ทุกสิ่ง เมื่อโดยมิต้องลงทุน หรือหากจะลงทุนบ้างเล็กน้อย แต่ได้ผลล้นค่า เหมือนกับได้ทิพย์สมบัติ ๖ กอง อย่างน่าภาคภูมิใจด้วย หากใครได้เกิดมาในโลกนี้ ไม่ได้สมบัติ ๖ กองนี้ หรือได้แต่ไม่ครบถ้วน ก็เท่ากับเป็นคนอาภัพในโลกนี้เสียแล้ว สมบัติ ๖ กองนี้เป็นของผู้ที่เกิดมาในกามโลก มีขันธ์ ๕ โดยเฉพาะ
กามคุณ ๕
อารมณ์ ๕ ที่เกิดทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ บัญญัติธรรมเรียกว่า “กามคุณ ๕” เพราะผู้ที่ได้ประสบอารมณ์ ๕ นี้แล้ว ชอบใจ ดีใจ ติดใจ เข้าไปฝังแน่นอยู่ในใจ เห็นเป็นคุณทั้งหมด หากจะเห็นโทษของมันอยู่บ้างบางกรณี แต่ก็ยากนักที่เอาโทษนั้นมาลบล้างคุณของมัน ฉะนั้นเหมาะสมแล้วที่เรียกว่า “กามคุณ”
ปุถุชนผู้เยาว์ปัญญา เมื่อได้ประสบอารมณ์ทั้ง ๕ นั้นแล้วจึงหวานฉ่ำ เหมือนแมลงวัน หลงใหลในน้ำผึ้ง ติดทั้งรสทั้งกลิ่น จะบินหนีก็เสียดาย ผลที่สุดคลุกเคล้าเอาตัวไปจม ลอยอยู่ในนั้น กามคุณเป็นหลุมฝัง ของปุถุชนผู้เยาว์ปัญญา โดยความสมัครใจของแต่ละบุคคลโดยแท้
กามโลก
โลกที่มีธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ อายตนะ ๖ บริบูรณ์ ท่านเรียกว่า “กามโลก” ทุกๆคนที่ยังพากันสร้างบารมีอยู่ จำจะต้องเวียนว่ายมาเกิดในกามโลกนี้จนได้
เพราะกามโลกสมบูรณ์ด้วยประการทั้งปวง จึงทำให้ปุถุชนผู้เยาว์ปัญญา หลงใหลคิดว่า เกิดมาได้รับความสุขพอแล้ว แม้พระพุทธเจ้า หรืออริยเจ้าทั้งหลาย ก่อนที่ท่านจะได้สำเร็จเป็นพระอริยะ ท่านก็ต้องมาเกิดในกามโลกนี้ อันเป็นวิบากผลกรรมของท่านแต่ชาติก่อน
อนึ่ง กามโลกนี้นับว่าเป็นสมรภูมิอย่างดีที่สุด ของท่านผู้จะได้เป็นพระอริยเจ้าทั้งหลาย มรรคปฏิปทา สมถะ-ฌาน-สมาธิ-สมาบัติ-วิปัสสนา อันเป็นหนทางที่จะให้ถึงเป็นพระอริยเจ้า ก็จำเป็นจะต้องมายืมสถานที่ คือกามโลกนี้ เป็นที่บำเพ็ญเจริญให้ได้ครบถ้วนบริบูรณ์ ถ้าจะพูดให้สั้นแล้วเรียกว่า ผู้จะพ้นจากกามโลกได้ ก็ต้องมาเกิด หรือมาศึกษาค้นคว้าในกามโลกนี้ ให้เห็นคุณแลโทษ ชัดแจ้งด้วยปัญญาแยบคายด้วยตนเองเสียก่อน จึงจะเรียกว่า รู้แจ้งซึ่งโลก แล้วจึงจะหนีจากโลกนี้ได้โดยชอบธรรม ถึงรูปโลกแลอรูปโลก ก็เช่นนั้นเหมือนกัน
ฉะนั้น เมื่อท่านเหล่านั้นเกิดขึ้นมาในกามโลกนี้แล้ว ด้วยบุญญาบารมี ที่ท่านได้สะสมมานาน แทนที่ท่านจะหลงเพลิดเพลิน มัวเมาในกามทั้งหลาย ดังปุถุชนคนธรรมดาทั่วไป ท่านเลยเห็นตรงกับข้าม อายตนะทั้ง ๖ มีไว้ใช้เพื่อให้เกิดความสุขแก่ปุถุชนก็จริงแล แต่ท่านผู้มีบารมี ที่ได้บำเพ็ญมา ควรที่จะได้ตรัสรู้ ท่านเลยเห็นตรงกันข้าม คือเห็นว่า ที่แท้นั้น มันเป็นบ่อเกิดของอารมณ์ นำทุกข์มาให้
เช่น ตาเห็นรูปสวยแล้วชอบใจ อยากได้มาเป็นของตัว ก็เป็นทุกข์ เพราะอยากได้ การพยายามที่จะให้ได้มา ก็เป็นทุกข์ ได้มาแล้ว ก็เป็นทุกข์ เพราะจะต้องบริหารหากรูปนั้นเสื่อมสูญฉิบหายไปโดยธรรมดาของมัน อย่างนั้นก็ตาม แต่ใจเราฝ่าฝืน ไม่อยากให้มันเป็นไปอย่างนั้น ก็เป็นทุกข์ เมื่อยังมีการเห็นเช่นนั้นอยู่ ก็เป็นทุกข์ เมื่อระลึกถึงรูปนั้นที่หายไปแล้ว ก็ยังเป็นทุกข์อยู่อีก อายตนะอื่นๆ นอกนี้ มีหูเป็นต้น ก็เช่นเดียวกันนี้
เรื่องนี้ พระพุทธองค์ได้เคยประสบการณ์มา ด้วยพระองค์เองแล้ว จนเห็นโทษ แล้วทรงสละทุกสิ่งทุกอย่าง ออกบวชบำเพ็ญทางใจ (คือต่อสู้กับอารมณ์) จนได้สำเร็จพระโพธิญาณ
พระองค์จึงนำเอาประสบการณ์ แลหลักยุทธวิธี ที่พระองค์ทรงใช้ได้ผลแล้วนั้น นำมาสั่งสอน แก่เหล่าศาสนิกชนต่อมา หลักคำสอนของพระพุทธองค์ตั้งแต่อนุปุพพิกถา มีทาน ศีล เป็นต้น ล้วนแต่เป็นหลักยุทธวิธีทั้งนั้น แต่เป็นยุทธวิธีเป็นขั้นๆไป ต่อสู้กับอะไร? ท่านต่อสู้กับ ความตระหนี่ เห็นแก่ตัว บางทีใจเป็นบุญกุศล อยากทำทานอยู่ แต่อีกใจหนึ่ง คิดห่วงหน้าห่วงหลังกลัวจะขาดแคลน หรือไม่เมื่อให้ท่านไปแล้ว กลัวทรัพย์ที่มีอยู่จะไม่ครบจำนวน ดังนี้ เป็นต้นฯ
ศีล ก็ต่อสู้กับเสียดายความสุขสนุกเพลิดเพลินอันเป็นโลกียะที่เคยได้ประสบมาแล้ว แลเห็นแก่ตัวเหมือนกันฯ เมื่อผู้มาต่อสู้ทั้งสองทัพนี้ จนพ่ายแพ้ไปได้แล้ว จะเห็นกิเลสเหล่านั้นเป็นของน้อยนิดเดียวไม่มีกำลังอันน่ากลัวเลย แล้วจะเห็นความสุขอันยิ่งใหญ่ในชัยชนะนั้น จนจิตใจกล้าหาญ มีความร่าเริงอิ่มใจเป็นอย่างยิ่งฯ เรียกว่า อนิสังสกถา ฯ
คำสอนของพระองค์ ยังสอนไว้ว่า ชนะขั้นนี้ยังไม่เป็นการชนะอย่างเด็ดขาด เพราะเป็นการชนะข้าศึกภายนอก มันยังอาจกลับกลอกได้ เพราะใจมันยังไปยินดี ติดกับด้วยความสุขในกามคุณ ๕ คือ รูป-เสียง-กลิ่น-รส-โผฏฐัพพะ อันเป็นอานิสงส์ของ ทาน ศีล เท่านั้นฯ กามคุณ ๕ เป็นความสุข ที่เจือไปด้วยทุกข์ สำหรับหลอกลวงบุคคล ผู้มีปัญญาเยาว์ให้หลงติดอยู่ เหมือนกับปลากำลังหิวอาหาร หลงเข้าไปฮุบเอาเหยื่อที่เขาหุ้มเบ็ดไว้ฉะนั้น
แล้วท่านสอนให้ต่อสู้ กับความหลงผิดติดสุขในกาม อย่าเห็นแก่ความหิวในเหยื่อเท่านั้น โทษจะถึงความตายในภายหลัง เรียกว่า “กามทีนพโทษฯ” เมื่อผู้มาพิจารณาเห็นโทษในกามคุณ ๕ ว่าเป็นเหมือนกับยาเสพติด คิดเบื่อหน่ายคลายสละได้ ใจพ้นจากอามิส เป็นอิสระสุขอยู่แต่ผู้เดียว เรียกว่า เนกขัมกถาฯ
แต่ยุทธวิธีตอนว่าด้วยอายตนะ ซึ่งจะอธิบายต่อไปนั้น เป็นยุทธวิธีอย่างละเอียด ต้องต่อสู้กันอย่างเอาเป็นเอาตายกันจริงๆ และสามารถให้ก้าวขึ้นสู่วิปัสสนาญาณทัสสนะได้ฯ
น่าอัศจรรย์
ท่านผู้อ่านทั้งหลาย เป็นที่น่าอัศจรรย์ไหม พระพุทธองค์ทรงอุบัติเกิดขึ้นมาในกามภพ เป็นอยู่ในกามภูมิ แวดล้อมแล้วด้วยกามคุณ ๕ ยั่วยวนแล้วด้วยกามกิเลสเหมือนๆกับปุถุชนคนเราทั้งหลาย แต่พระองค์เห็นโทษแล้วในกามทั้งหลาย จึงทรงแสดงหาอุบาย หนีเอาตนรอด จนเป็นยอดของบุคคลผู้เป็นอิสระทั้งหลาย โดยไม่มีใครเป็นครูอาจารย์ แต่รู้แจ้งด้วยพระองค์เอง
ฉะนั้น พระอานนท์เถระจึงชมเชยพระองค์ว่า เป็นที่น่าอัศจรรย์หนอ “พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ใน โอกาส” อธิบายว่า พระพุทธองค์ทรงอุบัติเกิดขึ้นมาในกามภพ แต่ไม่หลงติดอยู่ในกามภพ ถึงจะแวดล้อมไปด้วยกามคุณ ๕ แต่พระองค์ก็มิได้หลงใหลไปด้วย ถึงจะอุบัติอยู่ในกามภูมิ แต่พระองค์ก็มิได้จมอยู่ในภูมินั้น รู้เท่าเข้าใจ เห็นแจ้งชัดจริง ทั้งคุณแลโทษ พร้อมทั้งอุบาย หนีให้พ้นจากมันเสียจนได้ ด้วยใจด้วยปัญญาอันเฉียบแหลมของพระองค์เอง
อายตนะทั้ง ๖ ถึงแม้จะเป็นบ่อเกิดกองบุญ ของผู้ที่ยังปรารถนากามภพอยู่ ก็จริงแล แต่ผู้ที่เห็นโทษในกามภพแล้ว ผลของบุญ หรืออานิสงส์ของบุญนั้น มันกลับเป็นเครื่องผูกมัดจิตใจ ของผู้ต้องการพ้นจากกามไป เปรียบเหมือนสมบัติทั้งหลาย ย่อมเป็นที่ปรารถนาแต่เฉพาะผู้ต้องการเท่านั้น ส่วนผู้ที่ไม่ต้องการแล้ว แม้จะถูกคนบางคนหาว่าเป็นบ้าก็ตาม เขาผู้นั้นก็ยอมสละเพื่อเนกขัมมะ
ฉะนั้น อายตนะทั้ง ๖ มีตาเป็นต้น มิใช่จะเป็นบ่อเกิดแต่กิเลสอันเป็นของหยาบๆเท่านั้น ผลบุญกุศลที่เกิดจากอายตนะทั้ง ๖ ก็จัดเป็นกิเลสของผู้เห็นโทษในกามภพด้วย เช่นผู้ออกบวช ก็เห็นโทษในกาม ตามนามบัญญัติว่า เนกฺขมฺม อยู่แล้ว สรุปแล้ว สัพพกิเลสทั้งหลายย่อมเกิดขึ้น ณ ทวารทั้ง ๖ นี้ทั้งนั้น
อายตนะเป็นของร้อนเพราะไฟ
ในอาทิตตปริยายสูตร ที่พระพุทธองค์ทรงแสดงแก่ ชฏิลสามพี่น้อง พร้อมทั้งบริวาร ผู้บูชาไฟเพื่อปรารถนาในกามสุขว่า “อายตนะทั้ง ๖ มีตาเป็นต้น เป็นของร้อน ร้อนเพราะไฟ คือ ราคะ โทสะ โมหะ”
ท่านผู้อ่านบางคนอาจสงสัยว่า ถ้าอายตนะทั้งหลายมีตาเป็นต้น เป็นของร้อนแล้ว ไฉนมนุษย์คนเราทั้งหลายจึงเป็นคนอยู่ได้ ทำไมไฟคือกิเลสราคะเป็นต้น จึงไม่ไหม้ตายหมด พูดดูเหมือนอายตนะทั้งหลายมีตาเป็นต้น จะไม่มีประโยชน์ให้คุณเสียเลย หากมีผู้คิดเห็นไปเช่นนั้น ก็เป็นที่น่าเห็นใจเหมือนกัน ปลาเกิดในน้ำจืดจะไปอยู่ในน้ำเค็มย่อมไม่ได้ สัตว์บางชนิด เกิดในน้ำร้อนแต่มันก็อยู่ได้ไม่ตาย หนอนเกิดในที่สกปรก แลเหม็นคลุ้ง มันก็เพลินสนุกอยู่ได้ ไม่เห็นมีอะไรแปลก ไฟมิใช่จะให้แต่โทษอย่างเดียว คุณของไฟก็มีมาก คุณแลโทษเป็นแต่ บทรำพัน แต่ละทัศนะของแต่ละบุคคลเท่านั้น
อายตนะ ๖ มีตาเป็นต้น ผู้เกิดมามีไม่ครบบริบูรณ์ ทางพระศาสนาถือว่า เป็นกรรมเก่าของผู้นั้น คนพิการแม้จะบวชในพระศาสนา พระวินัยบัญญัติก็ห้าม สมจริงตามนั้น โลกอันนี้ จะเป็นที่น่าอยู่น่าชมสนุกสนาน ก็เพราะมีอายตนะทั้ง ๖ นี้เอง หากขาดอายตนะอันใดอันหนึ่งไปเสียแล้ว ก็เรียกได้ว่า ความสุขในโลกนี้ไม่สมบูรณ์ นี่ก็แสดงให้เห็นชัดอยู่แล้วว่า อายตนะทั้ง ๖ แต่ละอย่างมีความสำคัญ แลคุณประโยชน์มาก แก่ความเป็นอยู่ของผู้เกิดมาสักเพียงไร
เกจิอาจารย์บางท่าน ยังแสดงอายตนะทั้ง ๖ เทียบกับสวรรค์ ๖ ชั้นอีกด้วย พอสมจริง ดังท่านว่าอีกเหมือนกัน เพราะท่านพูดต้นเหตุ อายตนะทั้ง ๖ เป็นบ่อเกิดของกามาพจรกุศลทั้งหลาย หรือผู้มีอายตนะทั้ง ๖ แล้วก็เหมือนกับได้ทิพย์สมบัติ
ฉะนั้น ที่ท่านแสดงไว้ในอาทิตตปริยายสูตรว่า อายตนะเป็นของร้อนนั้น ท่านหมายเอา อายตนะทั้งหลาย มีตาเป็นต้น สัมผัสกับรูปแล้ว วิญญาณอาศัยของสองอย่างนั้นเกิดขึ้นว่าเป็นของร้อน แล้วพระองค์แจงออกไปว่าร้อนเพราะอะไร?
ร้อนเพราะมีเชื้อเดิมอยู่แล้ว ในตานั้น ที่ไปเห็นรูป ๓ อย่างได้แก่ ราคะความกำหนัดย้อมใจ ๑ โทสะความโกรธขึ้งเคียด ๑ โมหะความหลงไม่รู้เท่าเข้าใจในเหตุผลของสิ่งนั้นๆ ๑ ของสามอย่างนี้ เป็นเหตุให้เกิดความร้อน
อายตนะอื่นๆ นอกจากนี้ ก็เช่นเดียวกัน ถ้าสิ่งสามอย่างนี้เป็นเชื้ออยู่แล้ว หูฟังเสียง จมูกถูกกลิ่น ลิ้นถูกรส กายถูกสัมผัส ใจคิดไปในอารมณ์ต่างๆ ย่อมร้อนเหมือนกันทั้งหมด
ความจริง อายตนะ ทั้ง ๖ นี้ มิใช่ไฟเป็นของร้อนอะไรเลย อายตนะ ก็เป็นอายตนะอยู่ดีๆ นี่เอง ถ้าอายตนะ ๖ เป็นไฟ ไปหมดแล้ว ตนตัวคนเราทั้งหมด ก็เป็นเชื้อที่ให้ไฟไหม้ไปหมดแล้วแต่นาน หรือไม่ก็เป็นนรกตลอดกาลเท่านั้นเอง ที่ว่าเป็นของร้อน เพราะมันมีเชื้อไฟสามอย่างดังอธิบายมาแล้วอยู่ในนั้น หรือไม่ก็มีอยู่ในอายตนะภายนอกทั้ง ๖ มีรูปเป็นต้น เปรียบเหมือนไม้แห้งสองอันเอามาสีกันเข้า ต่างก็มีเชื้อไฟอยู่ในตัวของแต่ละอันอยู่แล้ว เมื่อเอามาสีกันเข้าจึงจะเกิดไฟขึ้นมาฉะนั้น ถ้าไม่เอามาสีกันถึงจะมีเชื้อไฟอยู่ในตัว ไฟนั้นก็ไม่อาจเกิดขึ้นมาได้
ระวังสังวร
ฉะนั้น พระพุทธองค์จึงสอนให้ระวังสังวรเมื่อตาเห็นรูปเป็นต้น ก็อย่าให้กระทบแรง ได้แก่ ให้มีสติรู้ตัวอยู่เสมอว่า ตาก็มีเชื้อไฟอยู่ในตัว รูปก็มีเชื้อไฟอยู่ในตัว แล้วก็ให้ระวังใจว่า ราคะก็เกิดขึ้นที่ใจนี้ โทสะก็เกิดที่ใจนี้ โมหะก็เกิดที่ใจนี้ ทั้งสามอย่างนี้ มันล้วนแต่เป็นของร้อนทั้งนั้น
คนรู้จักของร้อน แลเคยได้ประสบความร้อนมาด้วยตนเองก่อนแล้ว เมื่อมีผู้รู้เรื่องนั้นดีกว่าฉลาดกว่า มาแสดงโทษให้ฟัง เขาก็จะเข้าใจได้ดี แลได้ความรู้ฉลาดเพิ่มขึ้น หากเขาผู้นั้น ไม่รู้จักความร้อน แลโทษของความร้อน หรือไม่เคยได้ประสบความร้อนมาด้วยตนเองก่อนแล้ว ท่านผู้รู้ทั้งหลาย ก็ไม่ทราบว่าจะสอนให้เขาเข้าใจได้อย่างไร
ไฟสามกอง: ราคะ
ท่านอุปมาความร้อนของไฟสามกองไว้ว่า “ราคะมีความร้อนเหมือนกับน้ำร้อน” น้ำปกติ เป็นของเย็น คนที่ถูกความร้อนแผดเผาย่อมระลึกถึงน้ำ หรืออาบน้ำ ไม่ก็ดื่มเพื่อระงับความร้อนกระวนกระวายเสีย แต่เมื่อน้ำมากลายเป็นของร้อนไป จึงยากที่บุคคลผู้จะรู้ได้ ตราบใดความร้อนของน้ำยังไม่สัมผัสกับตัวด้วยตนเอง ก็ยังไม่รู้โทษของความร้อนของน้ำอยู่ตราบนั้น
ความใคร่ความพอในยินดีในกามคุณห้า ย่อมเป็นที่พอใจ แลปรารถนาของผู้ยังมีความหิวอยู่ เหมือนกับผู้ถูกความร้อนแล้วรู้สึกแลหิวกระหายน้ำฉะนั้น เมื่อดื่มน้ำเข้าไป ความร้อน หรือความหิวกระหายนั้นก็ระงับไป แล้วความหิวกระหายอื่นก็เกิดขึ้นมาแทน มิฉะนั้น เปรียบเหมือนอสรพิษกัด แล้วมียาดีๆ มาใส่ให้หายพิษได้ทันที แต่แล้วก็กัดอีก อยู่อย่างนั้นร่ำไป
แต่ท่านผู้หมดความหิวแล้ว ย่อมไม่มีความอยากกระหาย แม้แต่ไฟ คือราคะ ความกำหนัดรักใคร่ ก็ไม่เข้าไปย้อมใจของท่านให้ชุ่มได้ ฉะนั้น ท่านจึงไม่มีความหิว แลความอยากแล้ว อายตนะทั้งหลายของท่าน จะเป็นเหตุให้เกิดไฟคือราคะได้อย่างไร
ไฟสามกอง: โทสะ
โทสะ มีความร้อนเปรียบเหมือนไฟไหม้ป่า ธรรมดาไฟป่าเมื่อเผาตนเองแล้ว ก็ย่อมลุกลามไหม้สิ่งที่อยู่รอบๆไฟ ไม่เหลือแม้ที่สุดของแห้งแลของสด จะเป็นของสะอาดหรือโสโครกก็ตาม ไฟย่อมไหม้หมดโดยไม่เลือก
ไฟคือโทสะนี้ก็เหมือนกัน เมื่อมันติดลุก เกิดขึ้นในใจของผู้ใดแล้ว ย่อมเผากายใจของตนเอง ให้เดือดร้อนกระวนกระวาย แล้วเผาคนอื่น ให้เดือดร้อนตามๆกันไป คนผู้ดีมีจน มีคุณ ไม่มีคุณ แม้แต่บิดามารดาผู้เกิดเกล้า ไฟคือโทษ ย่อมเผาไม่เลือก ไม่ว่าไฟป่า หรือไฟบ้าน เมื่อมันลุกลามขึ้นมาแล้ว ใครๆเห็นเข้าย่อมกลัวทั้งนั้น กิ้งก่ากิ้งกือ ตั๊กแตน แมลงต่างเห็นเข้าแล้ว ต่างก็วิ่งหนีหัวซุกหัวซุน เพื่อเอาตนรอดทั้งนั้น
มนุษย์ได้สามัญญนามว่า เป็นผู้มีปัญญา มีใจสูง แต่ก็อดที่จะเอาไฟคือโทสะมาเผากายใจของตนเองไม่ได้ นามบัญญัติที่ว่านั้นมันมีความหมายอะไร อยู่ที่ตรงไหนกันแน่ หรือว่ามันเป็นเพียงมนุษย์ปลอมๆ เปล่าๆ เท่านั้นหรือ
ไฟสามกอง: โมหะ
โมหะ มีความร้อนเปรียบเหมือนกับไฟไหม้แกลบ ไฟแกลบใครๆ ก็ทราบอยู่แล้วว่า มันมีเถ้าปกคลุมอยู่ข้างบน แต่ข้างใต้มันร้อนระอุไม่แพ้ไฟอื่นเลย นานๆ ถ้ามีผู้ไปเขี่ยเถ้าของมัน จึงจะแสดงประกายให้ปรากฏออกมา ครั้นแล้วก็ค่อยเศร้าๆ สงบลงไป ร้อนกรุ่นอยู่ภายในตามเดิม
โมหะจริตก็เช่นนั้นเหมือนกัน อารมณ์อันใดเกิดขึ้นในจิต จะร้อนแสน ก็ไม่ค่อยจะแสดงอาการออกมาภายนอก แต่มิใช่เพราะความรู้เท่าเข้าใจในอารมณ์นั้นๆ ตามเป็นจริงแล้ว ปล่อยวางได้
ความร้อนมีอยู่ แต่ไม่ทราบว่าจะแก้ไขความร้อนนั้นด้วยอุบายใด มันมีแต่ความร้อน กับตันตื้อไปหมด ไม่ว่าจะอยู่ในท่าไหน มันทำให้มึนงงไปทั้งนั้น หรือที่เรียกว่ามืดแปดด้าน มองไม่เห็นช่องสว่างเอาเสียเลย
เรื่องนี้พูดไม่ถูก ถ้าใครได้ประสบการณ์ด้วยตนเองแล้ว จึงจะรู้ชัดยิ่งกว่าคนอื่นเล่าให้ฟัง นี่พูดถึงลักษณะของไฟ คือโมหะ แต่ลักษณะของโมหะแท้ ท่านแสดงไว้ในที่ต่างๆ ว่า ไม่รู้ในอริยสัจสี่ ไม่รู้ในปฏิจจสมุปบาท ไม่รู้อดีต ไม่รู้อนาคต แลไม่รู้ปัจจุบัน หรือไม่รู้ในทั้งหมด ที่กล่าวมาแล้วนั้นด้วย ไม่รู้ทั้งที่จะทำให้หมดกิเลสสิ้นทุกข์ทั้งปวงด้วย เรียกว่าโมหะ
ความจริง โมหะนี้ มิใช่ไม่รู้อะไรทั้งหมด โดยเฉพาะความร้อน โมหะก็ยังรู้ว่าร้อนอยู่ แลเหตุให้เกิดความร้อน ก็รู้อยู่เหมือนกัน แต่ไม่ยอมละเหตุนั้น เรียกว่ารู้แล้วแต่ไม่ยอมละ รู้แล้วยิ่งเกิดมานะ เพิ่มกิเลสขึ้นมาอีก
ความจริง โมหะนี้ ย่อมมีแก่สามัญญชนทั่วไป ตลอดตั้งแต่พระเสขบุคคล ก็ยังมีโมหะเหลืออยู่ ต่างแต่ว่าใครจะมีมากมีน้อยกว่ากันเท่านั้น ใครมี(โมหะเหลือมาก)ความร้อนแลทุกข์ก็มาก ใครมีน้อย ความร้อนแลทุกข์ก็มีน้อย
สติ ระวัง สังวรในอายตนะ
อายตนะเป็นบ่อเกิดของอารมณ์ทั้งดีแลไม่ดี ใจเป็นผู้รับอารมณ์ ถ้าดีก็ชอบใจติดใจ ถ้าไม่มีก็ไม่ชอบใจเสียใจ วิสัยของปุถุชนย่อมเป็นอยู่อย่างนี้ ผู้เห็นโทษของอารมณ์ ว่าเป็นเหตุนำมาซึ่งความทุกข์ดังนี้แล้ว ย่อมตั้งสติ ระวังสังวรในอายตนะนั้นๆ โดยยึดอุดมคติว่า
“อารมณ์ ที่เข้ามาทางอายตนะทั้ง ๖ เป็นเครื่องทำลายความสุขสงบของจิตอย่างยิ่งแล้ว ก็ตั้งสติ ระวัง สังวรในอายตนะนั้นๆต่อไป เพื่อความเกษมสุขอันปราศจากอามิส นี้เป็นทางเอกทางเดียวเท่านั้น ที่จะนำผู้ประพฤติปฏิบัติตาม ให้ถึงนิรามิสสุข”
นอกนี้แล้วไม่มีหวัง สมดังพระพุทธวจนะ ที่พระพุทธองค์ทรงสอนพระภิกษุ ๕ รูป ที่ต่างก็พากันระวังสังวรในทวารทั้ง ๕ มีตาเป็นต้น แล้วเห็นอำนาจประโยชน์ว่า ที่ตนทำนั้นถูกต้องดีแล้ว แลนำความสุขมาให้สมดังประสงค์ โดยสรุปใจความได้ว่า
“ภิกษุผู้สำรวมในแต่ละทวาร ย่อมยังคุณประโยชน์ให้สำเร็จได้ทั้งนั้น ภิกษุผู้สำรวมแล้วในทวารทั้งปวง ย่อมพ้นทุกข์ได้” ดังนี้ฯ
เนื่องจากไฟสามกอง อันเป็นข้าศึก เกิดติดอยู่กับตัวตลอดกาล จึงเป็นของลำบาก ยากที่จะไม่ให้ไฟนั้นร้อนถึงตัวได้ ผู้ที่คุ้มกันไฟอันติดอยู่กับตัว แต่ไม่ให้ร้อนถึงตัวได้ จึงนับว่า เป็นบุคคลน่าอัศจรรย์อย่างเยี่ยม เราท่านทั้งหลาย โดยเฉพาะผู้ที่ออกบวชแล้ว หรือผู้ที่เห็นโทษในกามทั้งหลาย โดยได้นามสมัญญาว่า เนกฺขมฺม ขอได้ติดตามยุทธวิธี ซึ่งจะได้อธิบายต่อไปนี้ดูว่า เมื่อทำตามแล้วจะได้คุณประโยชน์สมจริงหรือไม่ โดยยึดเอาอุดมคติดังกล่าวแล้วข้างต้น เป็นที่ตั้ง ทั้งผู้ที่ออกบวชแล้วแลไม่ออกบวช หากยังไม่เห็นโทษในกามคุณห้าอยู่แล้ว ก็ไม่ทราบว่าจะไปต่อสู้กับใคร เพื่อประโยชน์อันใด เพราะไฟสามกองดังกล่าวแล้ว ย่อมเกิดขึ้น ณ ที่อายตนะ ๖ อันมีอยู่ในตัวของเราท่านทุกคนนี้เอง
ผู้ไม่เคยทำจิตของตนให้สงบ ก็จะทราบว่าความสุขเกิดจากความสงบได้อย่างไร จึงเป็นที่น่าเสียดายมาก จะเห็นได้แต่ความเพลิดเพลินของจิต อันหลงระเริงสนุกเฮฮา ไปตามอารมณ์ที่ตนชอบใจเท่านั้น ว่าเป็นสุขอย่างยิ่ง เหมือนกับปลา ผู้ไม่รู้เรื่องความสนุกสนาน ที่มีอยู่ในป่าเถื่อนดงดอน อันเต่าผู้เป็นสหายเห็นแล้วนำมาเล่าสู่ฟัง ฉะนั้น
เมื่อเป็นเช่นนั้น ก็จะไม่มีฉันทะความพอใจ ในอันที่จะระวังสังวรในอายตนะ ๖ ต่อไป ผู้ที่ได้ฝึกฝนอบรมจิตให้เข้าถึงความสุขสงบอันปราศจากอามิสได้แล้ว ย่อมเห็นภัยในอารมณ์ ที่เกิดจากอายตนะเหมือนข้าศึกที่น่ากลัวฉะนั้น
ชั้นสูงจากสวรรค์ลงมา ต่ำแต่นรกขึ้นมา เป็นภูมิที่อยู่ของกามาพจรสัตว์ ผู้ล่องลอยอยู่ในกามคุณห้า มนุษย์เกิดมาด้วยอำนาจวิบากของกามาพจรกุศล จึงต้องวนวุ่นอยู่กับกลิ่น คือกามารมณ์ อายตนะทั้ง ๖ จึงทำหน้าที่รับเอาอารมณ์ขนาดหนักอยู่ตลอดเวลา
ถึงแม้จะ เห็นโทษว่าเป็นของวุ่นวาย นำมาซึ่งความเดือดร้อน แต่ก็จำต้องรับวิบากไปตามกาล เพราะได้ตกอยู่ในห้วงของกรรมแล้ว ผู้เห็นโทษเท่านั้นจึงคิดที่จะต่อสู้เพื่อเอาชนะมันได้ แล้วดำเนินตามแนวทางที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ว่า “ให้ตั้งสติระวัง อย่าให้หลงใหลไป ตามกระแสของอารมณ์ทั้ง ๖ เพราะทวารทั้ง ๖ นี้ จำต้องใช้มันอยู่ตลอดเวลา”
ตาเห็นรูป ก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากกามาพจรกุศล รูปที่ตาเห็น ก็เป็นวัตถุที่อยู่ในกามภูมิ ก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากกามาพจรกุศล ใจผู้รับรู้รับเห็นอารมณ์ ก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากกามาพจรกุศล ฉะนั้น อารมณ์ที่เกิดขึ้นจากสัมผัสของสองอย่างนั้น จึงต้องเป็นกามาพจรสืบไปด้วย คือมียินดียินร้าย ชอบใจแลไม่ชอบใจ แล้วแต่ไฟสามกอง คือ ราคะความรักใคร่ชอบใจ โทสะความไม่พอใจขึ้งโกรธ ความคับแค้นแน่นอุรา โมหะความลุ่มหลงมัวเมา เข้าใจผิด ติดในอารมณ์นั้นๆ แล้วเข้าไปยึดถือ เอามาเป็นตนเป็นของตน ก็เข้ามารุมเผากายใจของตน ให้เร่าร้อนเป็นทุกข์ หูแลเสียง จมูกแลกลิ่น ลิ้นแลรส กายแลสัมผัส ใจแลธรรมารมณ์ ทั้ง ๕ นี้ ก็มีอาการเช่นเดียวกัน แล้วบางที่ก็ต้องใช้พร้อมๆ กันทั้ง ๖ ทวารก็มี บางที่ก็ต้องเพียง ๒-๓-๔-๕ บ้าง สุดแล้วแต่กรณี ตลอด ๒๔ ชั่วโมง หากตนคนนั้นมีอายุ ๕๐-๖๐-๗๐ ขึ้นไปละ ลองคิดดูว่า ความเร่าร้อนเป็นทุกข์ของเขานั้น จะมีมากน้อยสักเท่าไร
มโนทวาร
บางคนอาจสงสัยว่า อายตนะนี้นอนหลับแล้วไม่ต้องใช้ ขอเฉลยไว้ ณ ที่นี้เลยว่าต้องใช้ คือ “มโนทวาร” คือใจ มีอายตนะครบถ้วนอยู่แล้ว เรียกว่า “อายตนะภายใน” มันทำงานอยู่ตลอดเวลาเหมือนกัน กายพักผ่อนนอนหลับแล้ว ใจไม่หลับ ที่เราเรียกกันว่าฝัน แล้วในฝันนั้นมันมีขันธ์ ๕ อายตนะครบบริบูรณ์เลย แต่ที่ไม่ฝัน นั่นเป็นเพราะสัญญานามธรรมไม่ร่วมทำงานด้วย
แท้ที่จริง ใจนี้ไม่มีการพักผ่อนหลับนอนเลย ใจจะพักทำงานได้ ก็ต่อเมื่อ ใจได้อบรมกรรมฐานโดยถูกต้อง แล้วเข้าถึงฌาน (คือภวังค์จิต) ถ้าจะพูดให้ชัด ภวังค์จิต ก็ยังไม่ชื่อว่า “จิตพักโดยสมบูรณ์ ต้องเข้าถึงนิโรธสมาบัติ ดับความรู้สึกนึกคิดทั้งหมด แม้แต่ลมหายใจก็ไม่ปรากฏ”
เพราะภวังค์เป็นแต่หยุดงาน อันเกี่ยวข้องด้วยอารมณ์ หรืออายตนะภายนอกเท่านั้น ส่วนอายตนะภายในใจ ซึ่งเกิดกับดับพร้อมอยู่ ณ ที่ใจโดยเฉพาะแล้ว หาได้หยุดไม่ ยังคงทำงานอยู่ตามเดิม แต่มันเป็นงานอันละเอียดเฉพาะส่วนตัว ถ้าจะเปรียบแล้ว เหมือนกับเราหยุดรับงานอื่นๆ มีงานรับแขกเป็นต้น แล้วเข้าห้องเขียนหนังสือเป็นต้น
ฉะนั้น ผู้ที่ไม่ได้ระวังสังวรในอายตนะทั้งหลาย จึงต้องได้รับความเดือดร้อนเป็นทุกข์มาก เพราะอารมณ์มาก แลมีทั้งดีทั้งชั่ว ผู้มาพิจารณาเห็นโทษแล้ว จึงต้องระวังสังวร ในอายตนะทั้งหลาย เพื่อมิให้ใจหลงใหลไปในอารมณ์ต่างๆ
อุบาย
ฉะนั้น งานนั้นจึงต้องใช้ทั้งสติ แลปัญญาแยบคายอันฉลาดแหลมลึก แลความกล้าหาญอดทน จึงจะเอาชนะกับอารมณ์ได้ เช่น ตาเห็นรูป ธรรมดาใครๆ ก็ต้องการดูแต่ที่สวยๆ เพื่อให้เกิด ความเพลิดเพลิน เจริญตาเจริญใจ ซึ่งกามสัตว์ทั่วไปปรารถนาอยู่แล้ว แต่ผู้เห็นโทษแล้ว กลับเห็นความเพลิดเพลินนั้น เป็นความหลงใหลไร้สาระ อย่าว่าแต่ถึงกับเพลิดเพลินเลย แม้ขณะที่จิตแล่นออกไปจากความเป็นหนึ่งของจิต ก็เห็นเป็นภัยอันใหญ่หลวงแล้ว สมกับที่ว่า “ภยทสฺสี ผู้ที่ปกติเห็นภัยมีประมาณเล็กน้อย”
เนื่องจากกายแลจิตเป็นวิบากของกามาพจรกุศล แลตกอยู่ในท่ามกลางของกามภูมิ ดังกล่าวแล้ว ฉะนั้น จิตจึงมักตกไปในกามารมณ์ได้ง่าย
ผู้เห็นโทษแล้วจึงต้องใช้อุบายให้ตรงกันข้าม เห็นตามเป็นจริงว่า รูปเป็นแต่สักว่าธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ หรือเห็นเป็นอสุภะของไม่งาม ไม่เที่ยงแท้แน่นอน เป็นทุกข์ เป็นของสูญเปล่า หาแก่นสารไม่ได้ เป็นต้น เมื่อพิจารณาไปๆ จิตมันถอนออกจากอุปาทาน ความเห็นผิดเดิมเสียได้ มาเห็นแน่ชัดในใจ ด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงว่า ที่เห็นเป็นคนเป็น มนุษย์บุรุษชายหญิง สวยไม่สวย น่ารักน่าเกลียดนั้น แท้จริงนั้นเป็นความหลงเข้าใจผิดต่างหาก หาได้เป็นไปตามนั้นไม่ ผู้มีปัญญามาพิจารณาเห็นอย่างนี้ เรียกว่าผู้ตื่นจากหลับหรือความหลง จึงจะตรงกันว่า เนกฺขมฺม โดยแท้
ข้าศึกตีวงล้อม และไส้เกิดเป็นหนอน
ท่านผู้อ่านทั้งหลาย ข้าศึกตีวงล้อมเราอยู่ทั้ง ๖ ทิศ มันหมายพิชิตแย่งเอาอิสระของเรา หากเราไม่ใช้กำลังศรัทธาพละ วิริยพละ สติพละ สมาธิพละ ปัญญาพละ ยอมสละชีพเพื่อความอยู่รอดของตนแล้ว มีหวังเป็นทาสของข้าศึกอย่างแน่นอน
ข้าศึกอย่างที่ว่านี้ ถึงชนะมันแล้ว ก็อย่าได้วางใจข้าศึกภายใน มันเข้าลักษณะที่ว่า ไส้เกิดเป็นหนอน คนสนิทคิดขบถได้ง่ายกว่าคนอื่นไกล ชนะเพราะเห็นตามเป็นจริงแล้ว อย่าได้ประมาทว่า จะได้ไม่หลงเห็นผิดอีก ข้อนั้นจะไม่สมหวังตลอดไป เพราะใจเป็นของเบากลับกลอกได้ง่าย อนึ่ง ใจที่เราปฏิวัตินั้น มันได้หลงใหลในอารมณ์มานานแสนนาน การที่ใจกลับกลอกหลงใหล ไปสู่สภาพเดิมเป็นของง่าย เหมือนน้ำไหล
ท่านผู้อ่านทั้งหลาย อารมณ์ที่เข้ามาทางทวาร ๖ เปรียบเหมือนข้าศึกของใจ ที่หวังจะ แย่งเอาความสุขสงบของผู้มีความสงบอยู่แล้ว ผู้ต้องการจะชิงชัยเอาชนะ ก็คือสติ โดยใช้ ปัญญาอันคมกล้าเป็นอาวุธในยุทธสนาม อันกว้างศอกยาววาหนาคืบนี้เอง ใจเป็นผู้หลง ใจก็ต้องเป็นผู้แก้ความหลงของตนเอง ใจจึงต้องรับหน้าที่ต่อต้านกับความหลงอย่างหนัก
การปฏิวัติความหลงของใจ ให้เกิดปัญญา เห็นตามเป็นจริง มิใช่ของทำง่าย จำต้องใช้ความพยายามอย่างพลีชีพ เป็นทหารหาญ เอาเยี่ยงอย่างพระบรมครูของเรา จึงจะชนะได้ ถึงเราชนะความหลงใหลแล้ว อายตนะทั้ง ๖ อันเป็นช่องทางให้ใจเกิดความหลง ก็คงยังเป็นอายตนะ แลอยู่ร่วมกันกับผู้ชนะนั่นเอง
คนสนิทคิดขบถ ย่อมทำได้ง่ายกว่าคนอื่นไกลเป็นไหนๆ มันจะเข้ากับหลักที่ว่า ไส้กลับกลายเป็นหนอน คิดว่า “ผู้เอาชนะแล้ว จะไม่แพ้อีก” ข้อนั้นจะไม่สมหวังตลอดไป ใจเป็นของกลับกลอกได้ง่าย แล้วก็เคยหลงใหลเข้าใจผิดมานานแสนนานกว่าที่เราจะมาปฏิวัติให้เห็นชัดของจริงตามเป็นจริง จึงเป็นของทำได้ยาก เมื่อผู้ชนะแล้ว จึงไม่ควรประมาทด้วยประการทั้งปวง
ให้ชำนาญ
ให้เห็นอารมณ์ที่เข้ามาในทวารทั้ง ๖ ว่าจะเป็นภัยคุกคามแก่ความสงบสุขของใจอยู่เสมอ ในหลักปฏิบัติท่านสอนให้เจริญ “วสีห้า” คือ
ให้ชำนาญในการพิจารณาอารมณ์ ไม่ว่าอารมณ์ใดๆ ใกล้ไกล หยาบละเอียด ให้พิจารณาให้ได้ให้เห็นชัดเหมือนกันหมด ๑
ให้ชำนาญในการเข้าจิต คือเข้าฌาน-สมาธิให้ได้ในอิริยาบถใด อยู่ในสถานที่ใด ก็ให้เข้าให้ได้ทุกขณะ ๑
ให้ชำนาญในการตั้งอยู่ของจิต คือเมื่อจิตเข้าฌาน-สมาธิได้แล้ว จะให้จิตนั้น ตั้งอยู่ในขั้นใด ภูมิใด ช้านานสักเท่าไรก็ได้ตามประสงค์ ๑
ให้ชำนาญในการตรวจตราชั้นภูมิของจิตทั้งของตนแลของคนอื่น ๑
ให้ชำนาญในการถอนจิต คือจิตเข้าถึงฌาน-สมาธิแล้ว เวลาจะถอนออกจากนั้นมา ให้รู้จักลักษณะอาการนั้นๆ ของจิต มิใช่เวลาจะถอนปุ๊บปั๊บถอนออกมาเลย ๑
ทำให้มาก เจริญให้ยิ่ง
ผู้ชำนาญในวสีห้านี้ ฌาน-สมาธิของผู้นั้นจะไม่มีเสื่อมเลย พระพุทธองค์จึงทรงตรัสย้ำว่า “ภาวิตา พหุลีกตา อภิญฺญาย สมฺโพธาย นิพฺพานาย สํวตฺตติ” แปลว่า ท่านทั้งหลายจงทำให้มาก เจริญให้ยิ่ง จึงจะเป็นไปเพื่อความตรัสรู้ เพื่อความดับทุกข์ดังนี้ คือพระองค์ประสงค์ว่า ทั้งผู้ที่กำลังเจริญอยู่ก็ดีหรือผู้ที่เจริญเป็นไปแล้วก็ดีในกรรมฐานหรือฌาน-สมาธิ-วิปัสสนาใดๆ ก็ตาม ไม่ให้ประมาท จงพากันเจริญอยู่เสมอๆ เพราะสิ่งที่จะยั่วยวนชวนให้เราหลงใหล มีอยู่รอบตัวในตัวของเรานี้ตลอดกาล
ถ้าผู้ใดมาเห็นว่า ตัวของเราทั้งหมดพร้อมด้วยสิ่งแวดล้อม ตกอยู่ในภายใต้ของกามคุณห้า จะทำอย่างไรๆ ก็เอาชนะมันไม่ได้ ไปไม่พ้นแล้ว ผู้นั้นชื่อว่า “เป็นผู้ยอมแพ้แล้ว (ตั้ง)แต่ยังไม่ทัน ออกสู่สนาม”
ถ้าผู้ใดมาเห็นว่า การรักษาอายตนะทั้ง ๖ เป็นการยุ่งยากลำบากมาก ผู้นั้นได้ชื่อว่า “กำลังต่อสู้กับข้าศึกอยู่ ชัยชนะมอบไว้ให้แก่กาลเวลาในอนาคต
ถ้าผู้ใดมาเห็นว่า อายตนะทั้ง ๖ เรารู้เท่าเข้าใจตามความเป็นจริงแล้ว อารมณ์ทั้ง ๖ เราเอาชนะมันได้แล้ว ผู้นั้น ได้ชื่อว่า “ใกล้อวสานแห่งการแพ้ต่อข้าศึกอยู่แล้ว ความหายนะ กำลังคืบคลานเข้ามาใกล้เข้า ทุกวินาที”