อินทรีย์ ๕

อินทรีย์ ๕

ปริยัติธรรม

พระไตรปิฎกไทย (ฉบับหลวง) เล่มที่ ๑๙ หน้าที่ ๒๑๔-๒๑๕ ข้อที่ ๘๕๘-๘๖๓.

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อินทรีย์ ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน ? คือ สัทธินทรีย์ ฯลฯ ปัญญินทรีย์.

  1. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัทธินทรีย์เป็นไฉน ? ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศรัทธา เชื่อพระปัญญาตรัสรู้ของพระตถาคตว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ทรงถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ทรงเบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม นี้เรียกว่า #สัทธินทรีย์.
  2. ก็วิริยินทรีย์เป็นไฉน ? ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ปรารภความเพียรเพื่อละอกุศลธรรม เพื่อความถึงพร้อมแห่งกุศลธรรม มีกำลัง มีความบากบั่น มั่นคง ไม่ทอดทิ้งธุระในกุศลธรรมทั้งหลาย นี้เรียกว่า #วิริยินทรีย์.
  3. ก็สตินทรีย์เป็นไฉน ? ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีสติ ประกอบด้วยสติเป็นเครื่องรักษาตัวอย่างยิ่ง ระลึกได้ ตามระลึกได้ ซึ่งกิจที่กระทำและคำพูดที่พูดแม้นานได้ นี้เรียกว่า #สตินทรีย์.
  4. ก็สมาธินทรีย์เป็นไฉน ? ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ กระทำซึ่งนิพพานให้เป็นอารมณ์แล้ว ได้สมาธิ ได้เอกัคคตาจิต นี้เรียกว่า #สมาธินทรีย์.
  5. ก็ปัญญินทรีย์เป็นไฉน ? ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีปัญญา ประกอบด้วยปัญญาเครื่องกำหนด ความเกิดความดับอันประเสริฐ ชำแรกกิเลส ให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ นี้เรียกว่า #ปัญญินทรีย์

คำสอนพระอริยเจ้า

อินทรีย์ ๕ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

อินทรีย์ ๕ นั้นได้แก่ธรรมะที่เป็นใหญ่เหนือกิเลส หรืออธรรม อกุศลธรรมที่ตรงกันข้าม และธรรมะที่เป็นอินทรีย์นี้เป็นข้อที่กล่าวว่า ผู้นั้นผู้นี้มีอินทรีย์อ่อน มีอินทรีย์แก่กล้า พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมแก่ผู้ฟัง ซึ่งมีอินทรีย์คือธรรมะที่เป็นใหญ่ดั่งนี้ ตามควรแก่อินทรีย์ของเขา เมื่ออินทรีย์ยังอ่อน ก็ทรงสอนให้ปฏิบัติทำอินทรีย์ให้แก่กล้าขึ้น และก็ทรงแสดงธรรมะโปรดไปโดยลำดับ แม้ผู้ที่เข้ามาบวชปฏิบัติเพื่อความพ้นกิเลสและกองทุกข์

พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมแก่ผู้ฟัง ซึ่งมีอินทรีย์คือธรรมะที่เป็นใหญ่ดั่งนี้ ตามควรแก่อินทรีย์ของเขา เมื่ออินทรีย์ยังอ่อน ก็ทรงสอนให้ปฏิบัติทำอินทรีย์ให้แก่กล้าขึ้น และก็ทรงแสดงธรรมะโปรดไปโดยลำดับ แม้ผู้ที่เข้ามาบวชปฏิบัติเพื่อความพ้นกิเลสและกองทุกข์

พระพุทธองค์ก็ทรงแสดงธรรมะโปรดให้พอเหมาะแก่อินทรีย์ของเขาเช่นเดียวกัน ถ้าอินทรีย์ยังอ่อน ก็ทรงแสดงธรรมะที่เป็นธรรมดาสามัญที่เข้าใจง่าย คือที่เขาอาจจะเข้าใจได้ หรืออาจจะปฏิบัติได้ และทรงแสดงขยับให้สูงขึ้นโดยลำดับ จนถึงอินทรีย์แก่กล้า จึงทรงแสดงธรรมะโปรด เพื่อความสิ้นกิเลสและกองทุกข์ ซึ่งเมื่อมีอินทรีย์แก่กล้าแล้วก็สามารถได้ปัญญาเห็นธรรม ตรัสรู้ธรรม อันเป็นเหตุตัดกิเลสและกองทุกข์ ตั้งแต่บางอย่างจนถึงได้ทั้งหมด เพราะฉะนั้น อินทรียนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญ เป็นข้อที่พึงปฏิบัติอบรมให้เป็นพื้นฐาน สำหรับที่จะได้รองรับธรรมะที่สูงขึ้นๆ

อินทรีย์ ๕ คือ ๑ สัทธินทรีย์ อินทรีย์คือศรัทธา ๒ วิริยินทรีย์ อินทรีย์คือวิริยะ ๓ สตินทรีย์ อินทรีย์คือสติ ๔ สมาธินทรีย์ อินทรีย์คือสมาธิ และ ๕ ปัญญินทรีย์ อินทรีย์คือปัญญา พระพุทธเจ้าได้ตรัสแสดงอธิบายอินทรีย์ทั้ง ๕ นี้ไว้ทุกข้อ ทั้งที่เป็นอธิบายโดยทั่วไป และที่เป็นอธิบายอย่างสูงทุกข้อ ดังจะได้นำมาแสดงไปทีละข้อ

สัทธินทรีย์
สัทธินทรีย์ อินทรีย์คือศรัทธา ข้อ ๑ ได้ตรัสแสดงไว้ว่า อริยะสาวก สาวกของพระพุทธเจ้าผู้เป็นอริยะในพระธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศรัทธาเชื่อความตรัสรู้ของพระตถาคตพุทธเจ้า ว่า อิติปิโส ภควา พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น แม้ด้วยประการอย่างนี้ๆ อรหัง เป็นพระอรหันต์ผู้ไกลกิเลส ควรไหว้ควรบูชา สัมมาสัมพุทโธ ตรัสรู้เองชอบ วิชชาจรณสัมปันโน ถึงพร้อมด้วยวิชชาคือความรู้ และสรณะคือความประพฤติ สุคโต เป็นผู้เสด็จไปดีแล้ว โลกวิทู เป็นผู้รู้โลก

อนุตโร ปุริสทัมสารถิ เป็นสารถีผู้ฝึกบุรุษบุคคลที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นจะยิ่งขึ้นไปกว่า สัตถา เทวมนุสานัง เป็นศาสดาคือครูแห่งเทพและมนุษย์ทั้งหลาย พุทโธ เป็นผู้ตื่นด้วยความรู้ เป็นผู้เบิกบานแล้วในคุณธรรมทั้งหลายอย่างเต็มที่ ภควา เป็นผู้จำแนกแจกธรรมสั่งสอนประชุมชน และเป็นผู้มีโชค

เมื่อมีศรัทธาเชื่อความตรัสรู้ของพระตถาคตพุทธเจ้า ดังพระพุทธคุณทั้ง ๙ บทที่แสดงมานี้ ตั้งมั่น เป็นใหญ่เหนือ อสัทธิยะ คือความไม่เชื่อ คือมีความเชื่อความตรัสรู้ของพระตถาคตพุทธเจ้า ดั่งนี้ ตั้งมั่นไม่คลอนแคลน ก็ชื่อว่าสัทธินทรีย์ อินทรีย์คือศรัทธา

องค์คุณให้บรรลุโสดาบัน
อีกอย่างหนึ่งได้ตรัสแสดงไว้ถึงศรัทธา โดยยกเอา โสตาปัติยังคะ ทั้ง ๔ ได้แก่มีความเลื่อมใสไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า มีความเลื่อมใสไม่หวั่นไหวในพระธรรม มีความเลื่อมใสไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ มีศีลที่บริสุทธิ์ ไม่เป็นท่อน ไม่เป็นช่อง ไม่ด่างไม่พร้อย อันเป็นอริยกันตศีล ศีลที่พระอริยเจ้าต้องการปรารถนา เป็นศีลที่เป็นไทไม่เป็นทาส เป็นศีลที่ไม่ถูกกิเลสลูบคลำ คือเป็นศีลที่บริสุทธิ์ เป็นศีลที่ถึงจิตใจ ใจเป็นศีลด้วย ไม่ใช่ว่าใจคิดจะละเมิด แต่ว่าไม่กล้าละเมิด ใจต้องไม่คิดที่จะละเมิดด้วย คือไม่ถูกกิเลสตัณหาครอบงำ เป็นไปเพื่อสมาธิ ทั้ง ๔ นี้เรียกว่า โสตาปัตติยังคะ คือเป็นองค์คุณ องค์สมบัติ ที่จะให้บรรลุถึงกระแสธรรม เป็นโสดาบันบุคคลได้

วิริยินทรีย์
วิริยินทรีย์ อินทรีย์คือวิริยะข้อ ๒ ตรัสอธิบายไว้ว่า
ปรารภคือเริ่มความเพียร เพื่อละอกุศลทั้งหลาย เพื่อทำกุศลทั้งหลายให้ถึงพร้อม มีกำลังประคองความเพียร ไม่ทอดธุระในกุศลธรรมทั้งหลาย และได้ตรัสแสดงอธิบายไว้อีกประการหนึ่งว่า มีความเพียรในสัมมัปปธานทั้ง ๔

สตินทรีย์ สมาธินทรีย์
สตินทรีย์ อินทรีย์คือสติข้อ ๓ ได้แก่เป็นผู้มีสติ ประกอบด้วยสติเป็นเครื่องรักษาตนอย่างยิ่ง ระลึกนึกถึงการที่ทำคำที่พูดแม้นานได้ และได้ตรัสอธิบายไว้อีกประการหนึ่ง คือมีสติในสติปัฏฐานทั้ง ๔

สมาธินทรีย์ อินทรียคือสมาธิ ข้อ ๔ ตรัสอธิบายไว้ว่า เป็นผู้กระทำการสละละวางอารมณ์ คือเรื่องที่จิตคิด เรื่องที่จิตดำริ เรื่องที่จิตหมกมุ่นถึง อันเป็นอารมณ์ ประกอบไปด้วยโลภโกรธหลง ก็กระทำการสละวางอารมณ์เหล่านั้น ได้สมาธิ ได้ความที่จิตเป็นเอกัคคตา คือมีอารมณ์ในกรรมฐานที่ตั้งไว้เป็นอันเดียว และได้ตรัสอธิบายไว้อีกประการหนึ่งว่า คือมีสมาธิที่แนบแน่นเป็นอัปปนาสมาธิ สมาธิที่แนบแน่น บรรลุถึงรูปฌานทั้ง ๔

ปัญญินทรีย์
ปัญญินทรีย์ อินทรีย์คือปัญญา ข้อ ๕ ตรัสอธิบายไว้ว่าเป็นผู้มีปัญญา ประกอบด้วยปัญญาที่รู้ทั่วถึงความเกิดความดับ ปัญญาที่ให้ถึง รู้เกิดดับ หรือว่าปัญญาคือรู้ทั่วถึงเกิดดับ อันเป็นอริยะคือที่ประเสริฐ อันเป็นปัญญาที่เจาะแทงกิเลส ที่ให้ถึงความสิ้นทุกข์ได้โดยชอบ

อนึ่ง ได้ตรัสอธิบายไว้อีกว่า ได้แก่มีปัญญารู้ในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ คือรู้จักทุกข์ รู้จักทุกขสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ รู้จักทุกขนิโรธความดับทุกข์

รู้จักทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ข้อปฏิบัติหรือทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ (เริ่ม ๑๕๒/๑) ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา ทั้ง ๕ นี้ที่ได้อบรมจนถึงเป็นใหญ่ คือศรัทธาก็เป็นใหญ่เหนือ อสัทธิยะ คือความไม่เชื่อดังที่ได้กล่าวแล้ว วิริยะก็เป็นใหญ่เหนือความเกียจคร้านไม่พากเพียรปฏิบัติ ดังที่ได้กล่าวแล้วในข้อวิริยะ สติก็เป็นใหญ่เหนือความหลงลืมสติ สมาธิก็เป็นใหญ่เหนือความฟุ้งซ่านเป็นต้น หรือจะเรียกว่าเหนือนิวรณ์ทั้ง ๕ ก็ได้ เหนือกามฉันท์ความพอใจรักใคร่ในกาม พยาบาทความโกรธ จนถึงหมายล้างผลาญทำลาย ถีนมิทธะความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม อุทธัจจะกุกกุจจะความฟุ้งซ่านรำคาญ วิจิกิจฉาความเคลือบแคลงสงสัยลังเลใจไม่แน่นอน

สมาธิอบรมให้เป็นใหญ่เหนือนิวรณ์เหล่านี้ ดังที่ตรัสไว้ว่าสงบสงัดจากกาม จากอกุศลธรรมทั้งหลาย จิตได้สมาธิได้เอกัคคตาคือความที่มีอารมณ์เป็นอันเดียว และปัญญาก็อบรมจนถึงได้ปัญญาคือความรู้ที่เหนือความรู้ผิด หลงถือเอาผิดต่างๆ เป็นความรู้ที่เข้าถึงสัจจะคือความจริง จนถึงขั้นที่เห็นเกิดดับ อย่างสูงก็ที่เป็นถึงเป็นอริยะ ที่เจาะแทงอวิชชาความไม่รู้ หรือความรู้ผิด ความหลงถือเอาผิดต่างๆ ได้ ทำให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบได้ ปัญญาดั่งนี้จึงเป็นปัญญินทรีย์ สมาธิดังที่กล่าวนั้นจึงเป็นสมาธินทรีย์ สติที่กล่าวนั้นจึงเป็นสตินทรีย์ ความเพียรที่กล่าวนั้นจึงเป็นวิริยินทรีย์ ศรัทธาที่กล่าวนั้นจึงเป็นสัทธินทรีย์

การอบรมปฏิบัติให้มีศรัทธา มีวิริยะ มีสติ มีสมาธิ และมีปัญญา ดั่งที่กล่าวมา เป็นข้อที่พึงปฏิบัติอบรมไปโดยลำดับ ให้เข้าทางของศรัทธาเป็นต้น ตามที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสอนไว้ และเมื่อปฏิบัติให้เข้าทางดั่งนี้อยู่เรื่อยๆ แล้ว ทั้ง ๕ ข้อนี้ก็จะมีความเป็นใหญ่เหนือกิเลสอกุศลธรรมที่ตรงกันข้ามได้ไปโดยลำดับ ดั่งนี้แหละคืออินทรีย์อันเป็นข้อสำคัญ ที่ผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลายจะพึงปฏิบัติ ในธรรมะทั้ง ๕ ข้อนี้ ให้เป็นใหญ่เหนือกิเลสในจิตใจของตน


พิมพ์