ปริยัติธรรม
พุทธธรรม ฉบับปรับขยาย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต)
"สังโยชน์" แปลตามศัพท์ว่า เครื่องผูก หมายถึง กิเลสที่ผู้กใจสัตว์หรืออกุศลธรรมที่ผูกมัดสัตว์ไว้กับทุกข์ในสังสารวัฏฏ์ เหมือนผูกเทียมสัตว์ไว้กับรถ มี ๑๐ อย่างคือ
- สักกายทิฏฐิ ความเห็นว่าเป็นตัวของตน ความเห็นที่ยังติดแน่นในสมมติว่าเป็นตัวตน เราเขา เป็นนั่น เป็นนี่ มองไม่เห็นสภาพความจริง ที่สัตว์บุคคลเป็นเพียงองค์ประกอบต่าง ๆ มาประชุมกันเข้า ทำให้มี ความเห็นแก่ตัวในขั้นหยาบ และความรู้สึกกระทบกระทั่งบีบคั้นเป็นทุกข์ได้รุนแรง
- วิจิกิจฉา ความลังเล สงสัย เคลือบแคลงต่าง ๆ เช่น สงสัยในพระศาสดา ในพระธรรม ในพระสงฆ์ใน สิกขา ในเรื่องที่มาที่ไปของชีวิต ในปฏิจจสมุปบาท เป็นต้น ทำให้ไม่หมั่นใจ ไม่เข้มแข็งแกล้วกล้าที่จะ ดำเนินชีวิตตามหลักธรรม ด้วยความมีเหตุผล และในการที่จะเดินหน้าแน่วดิ่งไปในอริยมรรคา
- สีลัพพตปรามาส ความถือมั่นศีลพรต คือความยึดถือผิดพลาดไปว่า จะบริสุทธิ์จะหลุดพ้นได้เพียง ด้วยศีลและพรต ได้แก่การถือศีล ระเบียบ แบบแผน บทบัญญัติและข้อปฏิบัติต่าง ๆ โดยสักว่าทำ ตาม ๆ กันไปอย่างงมงาย เห็นเป็นขลังหรือศักดิ์สิทธิ์ติดอยู่แค่รูปแบบุหรือพิธีรีต่อง ก็ดีถือด้วยตัณหา และทิฏฐิคือปฏิบัติเพราะอยากได้ผลประโยชน์ตอบแทนอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือเพราะเห็นว่าจะทำให้ได้ เป็นั่นนเป็นนี่ ก็ดีไม่เป็นไปตามความหมายและความมุ่งหมายที่แท้จริงของศีลและพรต ทำให้เขวออก นอกลู่นอกทาง หรือเลยเถิดไป เป็นอย่างศีลและพรตของนกับำเพ็ญตบะ เป็นต้น ไม่เข้าสู่อริยมรรค
- กามราคะ ความติดใคร่ในกาม ความอยากได้ใฝ่หาในเรื่องรูป เสียง กลิ่น รส และโผฏฐัพพะ ที่ชอบใจ
- ปฏิฆะ ความกระทบกระทั่งในใจ ความหงุดหงิดขัดเคือง หรืองุ่นง่านใจ
- รูปราคะ ความติดใจในรูปธรรมอันประณีต เช่น ติดใจในอารมณ์แห่งรูปฌาน พอใจในรสความสุข ความสงบของสมาธิขั้นรูปฌาน ติดใจปรารถนาในรูปภพ เป็นต้น
- อรูปราคะ ความติดใจในอรูปธรรมเช่นติดใจในอารมณ์แห่งอรูปฌานติดใจปรารถนาในอรูปภพ เป็นต้น
- มานะ ความถือตัว ความสำคัญตนเป็นั่นนเป็นนี่ เช่นว่า สูงกว่าเขา เท่าเทียมเขา ต่ำกว่าเขา เป็นต้น
- อุทธัจจะ ความฟุ้งซ่าน จิตใจไม่สงบ ว้าวุ่น ซัดส่าย คิดพล่านไป
- อวิชชา ความไม่รู้จริง ไม่รู้เท่าทีันสภาวะ ไม่เข้าใจกฎธรรมดาแห่งเหตุและผล หรือไม่รู้อริยสัจ
คำสอนพระอริยเจ้า
พระราชปริยัตยากร (บุญเรือง สารโท)
การที่เรามาประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐานในครั้งนี้ เราได้ผลมากน้อยแค่ไหนเพียงไร ขอให้ท่านทั้งหลายได้ตัดสินใจเอาเอง กิเลสนั้น ถ้ากล่าวโดยพระอภิธรรมจะมีอยู่ ๑๒ ตัว คือ โลภะ ๘ ตัว โทสะ ๒ ตัว แล้วก็โมหะอีก ๒ ตัว
โลภะ ๘ ตัวนั้น แยกเป็นความโลภที่ประกอบไปด้วยมิจฉาทิฏฐิ ๔ ตัว แล้วก็เป็นความโลภที่ไม่ประกอบไปด้วยมิจฉาทิฏฐิอีก ๔ ตัว รวมเป็น ๘ ตัวสำหรับ โทสะ ความโกรธ แยกออกเป็น ๒ ตัว คือ
โทสะตัวที่ ๑ เป็นความโกรธที่เกิดขึ้นโดยลำพัง คือเป็นอสังขาริก ไม่มีเครื่องกระตุ้น หรือไม่มีผู้ชักจูง เกิดขึ้นเองโดยลำพัง ท่านทั้งหลาย ถ้าหากว่าเรานึกย้อนหลัง ก็คงจะรู้ว่าความโกรธนี้ บางครั้งเรานอนอยู่เฉยๆ มันเกิดขึ้นมาเอง คือนึกถึงเรื่องอะไรที่ผ่านมาแล้วแต่อดีต ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดความโกรธขึ้นมา ความโกรธนั้นเกิดขึ้นมาอีก
โทสะตัวที่ ๒ เกิดขึ้นเพราะมีผู้ชักจูง คือมีแรงกระตุ้น เป็นสสังขาริก คือมีผู้ชักจูง หรือมีผู้กระตุ้นก่อนจึงเกิดขึ้น
สำหรับ โมหะ ๒ ตัวนั้น
ตัวที่ ๑ เป็นความหลงที่เกิดโดยอำนาจของวิจิกิจฉา
ตัวที่ ๒ เป็นโมหะคือความหลงที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจของ อุทธัจจกุกกุจจะ
หมายความว่า เราคิดมาก จิตใจของเราคิดฟุ้งซ่าน ซัดส่ายตามอารมณ์ต่างๆ คิดมากจนเกินไป คิดมากจนเกินขอบเขต ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดความหลงขึ้นมาได้เหมือนกัน
กิเลสโดยแนวทางของอภิธรรมนั้นมีอยู่ ๑๒ ตัว ดังนี้
สำหรับผู้ประพฤติปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน หากว่าผ่านการประพฤติปฏิบัติไปได้ครั้งหนึ่ง คือได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน จะละโลภะไปได้ ๔ ตัว โทสะละยังไม่ได้ โมหะละได้ ๑ ตัว คือวิจิกิจฉา
ผู้ปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานผ่านญาณ ๑๖ ไปได้ครั้งที่ ๒ (เป็นพระสกทาคามี) โลภะก็ยังละได้ ๔ ตัวเท่าเดิม โทสะยังละไม่ได้ แต่ว่าอ่อนกำลังลง คือกิเลสที่ยังเหลืออยู่ทั้งหมดนั้นจะอ่อนกำลังลง แต่โมหะก็ยังละได้ ๑ ตัวเท่าเดิม คือวิจิกิจฉา
ผู้ปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานผ่านญาณ ๑๖ ได้ครั้งที่ ๓ (เป็นพระอนาคามี) โลภะก็ยังละได้ ๔ ตัวเท่าเดิม ส่วนโทสะละได้หมดทั้ง ๒ ตัว สำหรับโมหะก็ยังละได้ ๑ ตัวเท่าเดิมคือวิจิกิจฉา
ผู้ปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานผ่านญาณ ๑๖ ได้ครั้งที่ ๔ (เป็นพระอรหันต์) จึงจะละโลภะได้หมดทั้ง ๘ ตัว คือโลภะที่ละไปแล้ว ๔ ตัว ยังอีก ๔ ตัว ก็จะละให้หมดไปจากขันธสันดาน สำหรับโมหะก็ละได้ครบทั้ง ๒ ตัว คือเมื่อก่อนนั้นละโมหะ(ที่เกิดขึ้น)ด้วยอำนาจของวิจิกิจฉา เมื่อปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานผ่านญาณ ๑๖ ครั้งที่ ๔ แล้ว จึงจะละโมหะที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจของอุทธัจจกุกกุจจะ
นี้แนวทางของพระอภิธรรมโดยคร่าวๆ
สำหรับกิเลส ๑๐ นั้น จะไม่พูดถึง จะขอพูดถึงเฉพาะเรื่อง สังโยชน์ ๑๐ กิเลส ๑๐ นั้น ได้เคยบรรยายมาแล้ว
สำหรับ สังโยชน์ ๑๐ นั้น กล่าวโดยพระสูตร คือมีในพระสูตร ดังนี้
สังโยชน์ แปลว่า เครื่องผูก ถ้าเป็นคุณบทของบุคคล ก็เรียกว่าเป็นเครื่องผูกบุคคลไว้ ถ้าเป็นคุณบทของสัตว์ ก็เรียกว่าเป็นเครื่องผูกสัตว์ไว้ในภพ หมายความว่าสรรพสัตว์ทั้งหลายที่เกิดขึ้นมาในกามภพก็ดี ในรูปภพก็ดี ในอรูปภพก็ดี ที่ยังข้องอยู่ในภพ ไม่สามารถที่จะออกจากภพจากภูมิที่ตนเกิดแล้วได้ ก็เพราะว่ามีสังโยชน์นี้เป็นเครื่องผูกไว้ ไปได้ยาก ออกได้ยาก สลัดออกได้ยาก
เราคิดง่ายๆ ผู้ที่ไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน สัตว์เดรัจฉานบางพวกคิดว่าเป็นสัตว์เดรัจฉานก็มีความสุขพอแล้ว ก็อยากเป็นสัตว์เดรัจฉานอยู่อย่างนั้นต่อไป ไม่อยากออกจากกำเนิดของสัตว์เดรัจฉาน นี่มันผูกไว้อย่างนี้ คือเห็นว่าการมาเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานนี้ก็ดีอยู่แล้ว การมาเกิดเป็นประเภทนี้ก็ดีแล้ว มันเป็นอย่างนี้
หรือว่า ผู้ที่มาเกิดในมนุสสภูมิ คือพวกเราทั้งหลายที่มาเกิดในโลกมนุษย์ เมื่อเกิดในโลกมนุษย์ ได้บำรุงบำเรอด้วยกามคุณ ก็เห็นว่าการอยู่ในโลกมนุษย์นั้นมีความสุขแล้ว ยิ่งผู้มีอันจะอยู่จะกินเป็นกุฎุมพี เป็นเศรษฐี เป็นมหาเศรษฐี เป็นอภิมหาเศรษฐี เป็นพระราชา มหาราชา เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ก็เห็นว่าการที่ได้มาเกิดอยู่ในเมืองมนุษย์แล้วก็อยู่ในฐานะอย่างนี้ ก็ถือว่ามีความสุขพอดีแล้ว ไม่จำเป็นที่จะแสวงหาความสุขอื่นอีกต่อไป
ผู้ที่คิดเห็นอย่างนี้มีเป็นจำนวนมาก ดังที่พวกเราทั้งหลายได้เห็นกันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันนี้ เช่นว่า ในบ้านของเราที่ผ่านมาหลายปีดีดัก นับตั้งแต่มีการปฏิบัติพระกัมมัฏฐานมาจนถึงป่านนี้ ผู้ที่เข้ามาปฏิบัติพระกัมมัฏฐานนั้นมีน้อยนิดเดียว ผู้ไม่ปฏิบัตินั้นมีเป็นจำนวนมาก
ผู้ไม่ปฏิบัติโดยเฉพาะโยมผู้ชาย เวลามีการจัดงานปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน คือเมื่อก่อนเราจัด ๓ เดือนบ้าง ๒ เดือนบ้าง ๔๐ วันบ้าง ๑ เดือนบ้าง จนได้ลดลงมาถึง ๑๐ วัน ถึงกระนั้น เราก็เห็นโยมผู้ชายมาประพฤติปฏิบัตินั้นเป็นจำนวนน้อยเต็มที ปีหนึ่งๆ นี้มีไม่ถึง ๒๐ คนบางครั้ง บางคนนั้นไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่าท่านจัดอะไร
อย่างพ่อใหญ่อยู่ใกล้ๆวัดนี้ เราจัดงานปฏิบัติพระกัมมัฏฐานไปตั้ง ๖, ๗, ๘ ปีแล้ว วันหนึ่งแกเข้ามาในวัด เห็นพระกำลังทำกุฏิกัมมัฏฐานกันอยู่ ทำปะรำบ้าง ทำกุฏิกัมมัฏฐานบ้าง กางกลดบ้าง ทำความสะอาดบ้าง แกก็ถามว่า เพิ่นทำอีหยังกัน เพิ่นเฮ็ดอีหยังกัน คือพระท่านทำอะไรกัน ครูบาอาจารย์ทำอะไรกัน คือไม่รู้เลยว่าทางวัดนี้ทำอะไร ทางบ้านทำอะไร มันเป็นอย่างนี้
แล้วก็โยมผู้หญิงก็เหมือนกัน หายาก ยิ่งเป็นรุ่นใหม่มานี้ก็ยิ่งหายาก คือเห็นว่าการที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ มีฐานะเป็นอยู่อย่างนี้ มีอาหารการบริโภค มีเครื่องบำรุงบำเรออยู่อย่างนี้ ก็ถือว่าเป็นสุขพอดีแล้ว ก็อยากเป็นมนุษย์อยู่อย่างนี้ร่ำไป ผู้เป็นสามีภรรยากันก็อยากเป็นสามีภรรยากันตลอดไป ผู้เป็นพ่อเป็นแม่เป็นลูกเป็นหลานกัน ก็อยากเป็นพ่อเป็นแม่เป็นลูกเป็นหลานกันตลอดไป นี่มันผูกมัดไว้ในภพอย่างนี้
หรือผู้ไปเกิดในฉกามาวจรสวรรค์ เกิดเป็นเทพบุตรเทพธิดา ก็เห็นว่าการได้เกิดเป็นเทพบุตรเทพธิดานี้ก็มีความสุขเหลือเฟือแล้ว ไม่สามารถที่จะกอบโกยเอาความสุขนั้นไปหมดได้ เพราะติดอยู่หรือข้องอยู่ในฉกามาวจรสวรรค์ หรือผู้ที่ไปเกิดเป็นรูปพรหม ก็เห็นว่าการได้เกิดเป็นรูปพรหมนี้ก็มีความสุขแล้ว
ผู้ไปเกิดในอรูปพรหม ก็ถือว่าการไปเกิดในอรูปพรหมนี้ก็มีความสุขแล้ว ก็ไม่มีการแสวงหาความสุขอันเกษม ความสุขที่ไม่เจือด้วยอามิส คือความสุขในพระนิพพาน ก็ไม่มีการแสวงหาอีก
ที่เป็นเช่นนี้ เพราะอะไร ก็เพราะว่าสังโยชน์นั้นเป็นสิ่งที่ผูกรัดใจของสรรพสัตว์ทั้งหลาย ให้ข้องอยู่ ให้ติดอยู่ ในภพในภูมิที่ตนเกิดแล้ว
สังโยชน์นั้นมีอยู่ ๑๐ ประการ คือ
๑. สักกายทิฏฐิ คือความเห็นเป็นเหตุถือตัว คือเห็นว่าร่างกายอันยาววาหนาคืบ ตั้งแต่เท้าถึงศีรษะ ตั้งแต่ศีรษะถึงเท้านี้ เป็นเรา เป็นตัวของเรา โดยที่ไม่ได้พิจารณาแยบคายให้เห็นแจ้งประจักษ์โดยไตรลักษณ์
คือหลงติดอยู่ในสมมติว่าเป็นอัตตา คือเป็นตัวเป็นตน เป็นฆนะ หรือว่าเป็นก้อน ไม่ได้แยกออกไปว่า รูปนามนี้เป็นแต่เพียงธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ ประชุมกันอยู่ ก็สมมติว่าเป็นมนุษย์ เป็นสัตว์เดรัจฉาน เป็นเรา เป็นของเรา เป็นตัวของเรา คือหลงติดอยู่
แต่สำหรับผู้ปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน หากว่าได้เห็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ชัดจนสามารถยังมัคคจิตผลจิตให้เกิดขึ้นในใจได้ครั้งหนึ่ง คือได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน ก็เห็นแจ้งประจักษ์ทันทีว่า รูปนามขันธ์ ๕ นี้ไม่มีอะไรเลย เป็นแต่เพียงธาตุทั้ง ๔ ขันธ์ทั้ง ๕ ประชุมกันเข้าเท่านั้น ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวของเรา ก็เมื่อเกิดปัญญารู้แจ้งเห็นจริงอย่างนี้แล้ว ก็ไม่ยึดมั่นถือมั่นด้วยอุปาทาน ด้วยอำนาจใดๆทั้งสิ้น ถือว่าทำลายสักกายทิฏฐิได้แล้ว ไม่ยึดมั่นถือมั่นอีกต่อไป
แต่คนส่วนมากที่ไม่ได้ปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน ก็จะพากันยึดมั่นถือมั่นในตัวในตนว่า เป็นเรา เป็นของเรา ที่ทำสงครามประหารกันอยู่ทุกเมื่อทุกวันนี้ก็ดี การทะเลาะเบาะแว้งกัน การโกงกิน การคอร์รัปชั่น การทำลายกัน การประหัตประหารกันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันนี้ ก็เพราะสักกายทิฏฐินี้เป็นเหตุเป็นปัจจัย
๒. วิจิกิจฉา ความลังเลเป็นเหตุไม่แน่ใจในปฏิปทาของตน หมายความว่า มีความลังเลสงสัยในข้อปฏิบัติ
สมมติว่า เราได้ฟังเทศน์ฟังธรรม ได้ฟังครูบาอาจารย์บรรยายธรรมะ นี้เป็นประเภทเบื้องต้น จัดเป็นกามาวจรกุศล ถ้าผู้ใดประพฤติปฏิบัติธรรมประเภทนี้แล้วหรือข้อนี้แล้ว ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ไปเกิดเป็นมนุษย์ หรือเป็นเทพบุตรเทพธิดาในฉกามาวจรสวรรค์ ก็เกิดความลังเลสงสัยขึ้นมาว่า เอ๊ะ คนตายแล้วมันเกิดจริงหรือ มันไปเกิดได้อย่างไร เทพบุตร เทพธิดานั้นมีจริงหรือ สวรรค์นั้นมีจริงหรือ ถ้าสวรรค์มีจริง ไหน? ไม่เห็นเลย ไม่เห็นสวรรค์ปรากฏเลย
เครื่องบินบินขึ้นไปบนอากาศก็ไม่เห็นปราสาทวิมานของเทพบุตรเทพธิดา นักวิทยาศาสตร์เขาสามารถไปนอกโลก นำยานอวกาศไปลงบนดวงจันทร์ ไปดาวอังคาร ดาวศุกร์ เป็นหลายๆล้านกิโลฯ แต่เขาก็ยังไม่เห็นปราสาทของเทพบุตรเทพธิดา คงจะเปล่าละมั้ง คงจะเป็นเรื่องโกหกกัน คงจะเป็นเรื่องหลอกให้หลงเชื่อให้ปฏิบัติตาม ก็เกิดความลังเลสงสัยขึ้นมา ในเรื่องการเกิด ในเรื่องวิญญาณ ในเรื่องภพนี้ภพหน้า ก็เกิดความสงสัยขึ้นมา
ตลอดถึงสงสัยในเรื่องพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ว่าพระพุทธเจ้ามีจริงหรือ ท่านกล่าวไว้ในอดีตน่ะ มีจริงหรือ ดังที่พวกเราทั้งหลายเห็นประชาชนคนไทยทั้งหลายพากันสงสัย พวกเราพากันไปนมัสการพระบรมธาตุ พระธาตุพนมอย่างนี้ คนทั้งหลายก็หาว่าโกหกกัน ไม่ใช่ ไม่มีหรอก ไม่เป็นของจริง เรื่องโกหกพกลมกัน มีในประเทศอินเดียอย่างโน้นอย่างนี้ ก็ไม่ยอมเชื่อ และมีความลังเลสงสัยอยู่ตลอดเวลา
ถ้าพูดเรื่องพระธรรมก็เหมือนกัน พระธรรมที่ท่านกล่าวไว้ว่า ข้อนี้ประพฤติปฏิบัติแล้วทำให้ไปเกิดเป็นมนุษย์ ไปเกิดเป็นเทวดา ข้อนี้ไปเกิดเป็นพรหม ข้อนี้ไปเกิดเป็นอรูปพรหม ถ้าปฏิบัติอย่างนี้ได้ฌาน ปฏิบัติได้อย่างนี้ยังวิปัสสนาญาณให้เกิดขึ้นในขันธสันดาน ถ้าปฏิบัติอย่างนี้ได้บรรลุอริยมรรคอริยผลเป็นพระอริยบุคคล สามารถปิดประตูอบายภูมิได้เด็ดขาด ตายแล้วก็จะไม่จมไปสู่อบายภูมิ มีพระนิพพานเป็นที่ได้เป็นที่ถึง มีพระนิพพานเป็นที่ไป ก็เกิดความลังเลสงสัยขึ้นมา ไม่กล้าตัดสินใจ
สำหรับเรื่องพระสงฆ์ก็เหมือนกัน ก็สงสัยว่าพระอริยสงฆ์นี้มีจริงหรือ สมัยนี้ยังมีพระอริยสงฆ์อยู่หรือ ก็เกิดความสงสัย พูดเอาง่ายๆ สมมุติว่าเราทั้งหลายอยู่ร่วมกันอยู่ในทุกวันนี้ ในวัดพิชโสภารามนี้ มีพระอริยบุคคลอยู่หรือ หรือว่าในบ้านแก้งเหนือ บ้านคำม่วง บ้านเรืองอุดมนี้ ยังมีพระอริยบุคคลอยู่หรือ ผู้ที่ปฏิบัติธรรมร่วมกันนี้ ผู้ที่เป็นพระอริยบุคคลนั้นมีอยู่ด้วยหรือไม่หนอ มันมีความเป็นจริงหรือไม่
ผู้ที่ละกิเลสตัณหาได้นี่ มันละได้จริงๆหรือ เกิดความสงสัยขึ้นมา ที่จริงมันก็น่าจะสงสัยอย่างนั้น สมมุติว่าโลภะความโลภอย่างนี้ ถ้าเราคิดแล้วมันไม่น่าจะละได้ ไม่น่าจะทำลายได้ เพราะว่ามันมีอำนาจจริงๆ หรือว่าโทสะคือความโกรธอย่างนี้ คิดแล้วมันไม่น่าจะละได้ มันไม่น่าจะหมดไปจากจิตจากใจของเรา หรือโมหะความหลงอย่างนี้ มันก็ไม่น่าจะหมดไปจากจิตใจของเรา
ราคะคือความกำหนัดในเพศตรงกันข้ามอย่างนี้ คิดๆแล้วมันไม่น่าจะหมดไปจากจิตใจของเรา หรือว่าความเศร้าโศก โสกะปริเทวะ ความน้อยใจ ความแห้งผากใจ ความขัดใจ ความคับแค้นใจเวลาประสบอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง มันไม่น่าจะหมดไปจากจิตจากใจของเรา มันน่าจะมีอยู่อย่างนี้ เพราะว่าถือว่ามันเป็นธรรมชาติของมัน คือเราคิดแล้วว่ามันไม่น่าจะหมดไป
แต่ถึงอย่างไรก็ตาม มันก็หมดไปได้ คือมันมีแล้ว มันเกิดขึ้นมาได้มันก็ดับได้ สิ่งใดมี สิ่งนั้นก็สูญไปได้เหมือนกัน มีร้อนก็ต้องมีเย็น มีชั่วก็ต้องมีดี มีบาปก็ต้องมีบุญ มีโลกิยะก็ต้องมีโลกุตตระ มันเป็นของคู่กันอย่างนี้
แต่สำหรับผู้มีวิจิกิจฉานั้นก็จะเป็นผู้มีความลังเลสงสัยไม่แน่ใจในข้อวัตรปฏิบัติของตนอยู่ตลอดเวลา พูดธรรมะข้อใดๆก็มีความเคลือบแคลงสงสัยอยู่ตลอดไป ไม่กล้าตัดสินใจได้ นี้เป็นตัววิจิกิจฉา
แต่สำหรับท่านผู้ปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานผ่านโสดาปัตติมัคคญาณไปแล้ว คือยังอริยมรรคให้เกิดขึ้นในขันธสันดานได้ครั้งหนึ่ง ได้บรรลุเป็นพระโสดาบันแล้ว ก็จะหมดความเคลือบแคลงสงสัยในเรื่องพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ หมดความเคลือบแคลงสงสัยในปฏิปทาคือข้อปฏิบัติของตนในทันที
๓. สีลัพพตปรามาส ความเชื่อถือศักดิ์สิทธิ์ ด้วยเข้าใจว่ามีได้ด้วยศีลหรือพรตอย่างนั้นอย่างนี้ เช่นว่า พวกเราทั้งหลายจะเห็นในตำรับตำรา หรือไปเห็นสถานที่ต่างๆ เขามีการบูชายัญ บูชาพระภูมิเจ้าที่ ตั้งศาลพระภูมิไว้ในบริเวณบ้านของตน ในเรือนของตน กราบไหว้ภูเขาแม่น้ำลำธาร ตลอดถึงการทรงเจ้าเข้าผีเป็นต้น โดยเข้าใจว่าการปฏิบัติเช่นนั้นทำให้พ้นทุกข์ ได้รับความสุข ทำให้ไปเกิดในสุคติโลกมนุษย์สวรรค์
บางทีก็บำเพ็ญตบะ เช่นว่า ถือการกินผลไม้เป็นวัตร ไม่ยอมรับประทานอาหารอย่างอื่น ไม่ยอมรับประทานพวกปลาพวกเนื้อ มีแต่ฉันผักผลไม้ บางทีก็ปฏิบัติเหมือนโค คือเดินเหมือนโค นอนเหมือนโค กินเหมือนโค เวลากินก็ไม่เอามือจับ เอาปากคาบเอาเลย คือโคมันกินอย่างไรก็กินอย่างนั้น เหมือนโคทุกอย่าง บางทีก็ปฏิบัติเหมือนแพะ เหมือนแกะ เหมือนลา
บางทีก็ปฏิบัติเหมือนสุนัข บางทีก็ปฏิบัติเหมือนแมว คือสุนัขมันเป็นอย่างไร เวลานอนมันนอนอย่างไร เวลากินมันกินอย่างไร แมวก็เหมือนกัน เวลามันเดินมันเดินอย่างไร เวลามันจะนอนมันทำอย่างไร เวลามันกินมันกินอย่างไร ก็ปฏิบัติเหมือนอย่างนั้น
บางทีก็ถือการนั่งตากแดดเป็นวัตร บางทีถือการยืนตากแดดเป็นวัตร หมายความว่า จะนั่งตากแดดอย่างนั้น ทั้งวันก็จะนั่งตากแดดอยู่อย่างนั้น บางทีก็ถือการเดินบนขวากบนหนามหรือการนั่งการนอนบนขวากบนหนามเป็นวัตร โดยเข้าใจว่าการประพฤติปฏิบัติอย่างนี้ ได้บุญได้กุศล หากจุติแล้วก็จะไปบังเกิดในสุคติภพ
บางพวกก็ทำตนให้หมกมุ่นพัวพันอยู่ในกาม คือกามสุขัลลิกานุโยค บางพวกก็ทรมานตนให้ได้รับความลำบากลำบน เรียกว่า อัตตกิลมถานุโยค
สรุปสั้นๆว่า การประพฤติปฏิบัติที่ไม่ดำเนินไปตามทางของอริยมรรคมีองค์ ๘ ประการ จัดว่าเป็นสีลัพพตปรามาส
ธรรมะทั้ง ๘๔,๐๐๐ ข้อ หรือ ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์พระคาถานั้น ถ้าเราอนุโลมลงมามันจะได้กัน ถ้าว่าเป็นธรรมที่จะทำให้พ้นทุกข์ ไม่ขัดต่อหลักศีลธรรมอันดีงามของพระศาสนาแล้ว จะไม่ขัดกับหลักของอริยมรรคมีองค์ ๘ ประการ หรือจะไม่ขัดกับกฎหลักของพระศาสนาคืออริยสัจ ๔ คืออริยมรรค ๘ ประการนั้น เมื่อย่อลงมาแล้วก็มีศีล สมาธิ ปัญญา ธรรมะทั้ง ๘๔,๐๐๐ ข้อนั้น เมื่อย่อลงมาก็มี ๓ ประการเท่านั้นคือ (๑) เป็นศีล (๒) เป็นสมาธิ (๓) เป็นปัญญา
เมื่อเรากล่าวมาอย่างนี้ก็พอจะชี้ให้เห็นได้ว่า ข้อปฏิบัติใดๆที่ขัดกับหลักของศีล ขัดกับหลักของสมาธิ ขัดกับหลักของปัญญา หากว่าขัดต่อหลักทั้ง ๓ ประการนี้ ธรรมะหรือข้อปฏิบัตินั้นถือว่าเป็นสีลัพพตปรามาส ขอให้เข้าใจง่ายๆอย่างนี้ ถ้าว่าพูดไปอย่างอื่นก็จะเข้าใจได้ยาก
สรุปเอาสั้นๆว่า ข้อปฏิบัติข้อใด ถ้าขัดกับหลักศีลสมาธิปัญญาแล้ว ข้อปฏิบัตินั้นถือว่าเป็นสีลัพพตปรามาส เป็นธรรมหรือเป็นสิ่งที่ผูกสัตว์ไว้ในภพ ไม่สามารถจะออกจากภพชาติได้
สีลัพพตปรามาสนี้ เมื่อผู้ใดเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานผ่านญาณ ๑๖ ไปแล้ว ก็จะรู้จะเข้าใจได้ทันทีว่า การประพฤติปฏิบัติอย่างนี้ไม่ถูก การประพฤติปฏิบัติอย่างนี้จึงถูก ก็จะละสีลัพพตปรามาสได้ทันที ไม่ยึดมั่นถือมั่นในข้อวัตรปฏิบัติใดๆทั้งสิ้น ที่ขัดต่อหลักอริยมรรค ๘ ประการ หรือขัดกับหลักศีล สมาธิ ปัญญา
๔. กามราคะ ความกำหนัดด้วยอำนาจกิเลสกาม คือมีความกำหนัดในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส ทั้งที่เป็นสภาคารมณ์ ทั้งที่เป็นวิสภาคารมณ์
หมายความว่า ความกำหนัดในที่นี้ หากว่าพูดถึงบุคคล ก็จะมีความกำหนัดทั้งที่เป็นเพศเดียวกันด้วย ทั้งที่ต่างเพศด้วย ไม่ใช่ว่ากำหนัดเฉพาะเพศตรงข้ามเท่านั้น คือมีความใคร่ ความพอใจ ความชอบใจ ความติดใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส ทั้งที่เป็นสภาคารมณ์ และวิสภาคารมณ์
แต่ถ้าผู้ใดปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานผ่านญาณ ๑๖ ไปได้ครั้งที่ ๓ คือสามารถยังอนาคามิมรรคให้เกิดขึ้นในขันธสันดาน ก็สามารถที่จะทำลายกามราคะให้หมดไปจากขันธสันดาน แม้ถ้าว่าผู้นั้นบวชอยู่ในพระพุทธศาสนา ก็สามารถที่จะบวชอยู่ได้ตลอดชีวิต หากว่าผู้นั้นอยู่ครองฆราวาส ก็จะออกบวช หากว่าไม่ออกบวช ก็จะไม่มีการบริโภคกาม
หากมีสามีภรรยา ก็ต่างคนต่างอยู่ เหมือนกันกับพี่กับน้อง คือจะไม่มีการร่วมสังวาส คือตัดขาดจากกามแล้ว ครั้นจุติแล้วก็จะไม่มาสู่กามภพอีก คือจะไม่มาเกิดในมนุสสภูมิ จะไม่ไปเกิดในเทวภูมิ ชาตินี้ถือว่าเป็นชาติสุดท้ายของพระอนาคามี เมื่อจุติแล้วก็จะไปเกิดยังพรหมโลกในสุทธาวาสพรหมชั้นใดชั้นหนึ่ง แล้วบำเพ็ญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้วปรินิพพาน
หากผู้ใดมีความมั่นใจว่าเราพ้นแล้วจากกาม ไม่ข้องเกี่ยวในกามแล้ว ในภพนี้ชาตินี้ไม่คิดว่าจะมีลูกมีเมียจะมีลูกมีผัวอีกต่อไป ก็เป็นอันว่าเราประพฤติปฏิบัติจนสามารถยังอนาคามิมรรคอนาคามิผลให้เกิดขึ้นในขันธสันดาน เป็นพระอริยบุคคลขั้นที่ ๓ แล้ว
๕. ปฏิฆะ ความกระทบกระทั่งแห่งจิต ได้แก่ ความหงุดหงิดด้วยอำนาจของโทสะ อันนี้ก็เป็นตัวโทสะนั่นเอง คือหมายความว่า เมื่อผู้ประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐานจนสามารถยังมัคคญาณผลญาณให้เกิดขึ้นในขันธสันดานครั้งที่ ๓ แล้ว ปฏิฆะความกระทบกระทั่งแห่งจิต หรือความหงุดหงิดในเมื่อกระทบกับรูป กับเสียง กับกลิ่น กับรส กับสัมผัสใดๆนั้นก็ไม่มี
รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสใดๆ ที่เกิดขึ้นมา จะเป็นอิฏฐารมณ์ คืออารมณ์ที่ชอบใจพอใจก็ตาม จะเป็นอนิฏฐารมณ์ คืออารมณ์ที่ไม่ชอบใจไม่พอใจก็ตาม ก็จะไม่มีความหงุดหงิด ไม่มีความกระทบกระทั่งในจิตในใจ จิตใจก็จะเฉยอยู่ตลอดเวลา พูดง่ายๆว่า ไม่โกรธ คือมันจะเป็นเรื่องดีๆเกิดขึ้นมาก็เฉยๆ เรื่องไม่ดีเกิดขึ้นมาก็เฉยๆ เหมือนกับคนไม่มีหัวใจ เหมือนคนใจจืดใจจาง
บางทีดูเหมือนกับคนบ้า ไม่รู้จักดีใจ ไม่รู้จักเสียใจ เขาได้ทองเป็นแท่งๆ ก็เฉยๆ เขาได้เงินเป็นล้านๆบาท หรือเป็นพันๆล้านบาท ก็เฉยๆ ขึ้นไปธนาคารเห็นเงินเขากองพะเนินเทินตั้ง ก็เฉยๆ เหมือนเห็นกระดาษธรรมดา คือความดีใจเสียใจจะไม่มี ใครจะมายั่วมายุยังไงก็ตาม ก็จะรู้สึกเฉยๆอยู่ตลอดเวลา
อันนี้ ถ้าปฏิบัติได้อย่างนี้ ก็แสดงว่าท่านผู้นั้นสามารถยัง มัคคญาณ ผลญาณ ให้เกิดขึ้นในขันธสันดานได้ ๓ ครั้งแล้ว ได้บรรลุเป็นพระอนาคามีแล้ว ข้อนี้แหละเป็นสิ่งที่สำคัญท่านทั้งหลาย เวลาประพฤติปฏิบัติมาถึงนี้แล้ว ส่วนมากนักปฏิบัติเข้าใจว่าตนได้บรรลุเป็นอรหันต์แล้ว ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว
เพราะว่าสภาวะจิตใจของพระอนาคามีกับพระอรหันต์นั้นมันคล้ายๆกัน มันคล้ายคลึงกันจริงๆ ได้บรรลุพระอนาคามีแล้วก็คล้ายๆกับว่าได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ คือว่า เมื่อได้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว ก็คล้ายๆว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น คล้ายๆว่าไม่ได้ทำลายกิเลสตัณหาอะไรให้หมดไปเลย คือใจมันเฉยไปตั้งแต่เราผ่านอนาคามิมรรคครั้งที่ ๓ แล้ว กิเลสที่ยังเหลืออยู่ก็ได้เบาบางลงไปมาก
สังโยชน์ ๕ ข้อเบื้องต่ำนี้ เป็นโอรัมภาคิยสังโยชน์ คือเป็นสังโยชน์อย่างต่ำ หรือว่าอย่างหยาบ
๖. รูปราคะ คือความใคร่ ความพอใจ ความติดใจอยู่ในรูปธรรม เช่น ชอบใจในบุคคลบางคน หรือวัสดุบางสิ่ง หรือในวัตถุอันเป็นอารมณ์แห่งรูปฌาน
มันแปลกนะท่านทั้งหลาย ความรักในเพศเดียวกันอย่างนี้ มันเป็นความรักที่ชุ่มฉ่ำเหลือเกิน จนไม่อาจหาอะไรมาเปรียบเทียบได้ คือเราจะหาอะไรมาเปรียบมันก็เปรียบไม่ได้ สมมุติว่า พระไปรักสามเณรอย่างนี้ ก็เป็นความรักที่ชุ่มฉ่ำในจิตในใจ ไม่เคลือบแคลงด้วยกิเลสตัณหาอะไรทั้งนั้น
หากไปรักไปชอบเพศที่ตรงกันข้าม เช่นว่า เราเป็นผู้ชายไปชอบผู้หญิงอย่างนี้ ความชอบนั้นก็เรียกว่าเป็นไปโดยธรรม เป็นความชอบที่ไม่เจือด้วยกิเลสตัณหา แต่ในจิตในใจน่ะ คล้ายๆกับว่าความชอบนั้นไม่มีกิเลสตัณหาอะไรทั้งสิ้น นี้มันเป็นอำนาจแห่งอริยมรรคอริยผลทั้งสิ้นอย่างนี้
สรุปอีกอย่างหนึ่งว่า รูปราคะนี้ หมายความว่า จิตใจของผู้ปฏิบัติยังมีความพอใจชอบใจ มีความติดใจ มีความใคร่อยู่ในรูปธรรม เช่น เราชอบใจในบุคคลบางคน หรือชอบใจวัสดุบางสิ่งบางประการ หรือชอบใจในวัตถุอันเป็นที่ตั้งแห่งรูปฌาน เช่นว่า เราเจริญสมถกัมมัฏฐาน เอากสิณ ๑๐ มาบริกรรมอย่างนี้ พอดีได้อุคคหนิมิต ได้ปฏิภาคนิมิตขึ้นมา ก็มีความชอบใจพอใจในปฏิภาคนิมิตนั้น
เช่น เราเอาดินมาเป็นอารมณ์อย่างนี้ พอดีปฏิภาคนิมิตเกิดขึ้นมา ก็เห็นดินนั้นเหมือนแก้วมณีสวยสดงดงาม เมื่อก่อนมันเป็นดินธรรมดา เมื่อมันเกิดปฏิภาคนิมิตขึ้นมาแล้ว จะเห็นดินนั้นมีแสงเหมือนกับแสงพระอาทิตย์แรกอุทัย เห็นดินนั้นเหมือนแก้วมณี ก็จะมีความพอใจชอบใจในสีในแสงนั้นๆที่เกิดขึ้น
กัมมัฏฐานอันอื่นก็ตาม เมื่อปฏิภาคนิมิตเกิดขึ้นมาแล้ว ปฏิภาคนิมิตนั้นจะแปรสภาพเป็นของที่สวยสดงดงามเหมือนกับของมีค่าและวัตถุล้ำค่า ผู้ปฏิบัติที่ยังละไม่ได้ก็จะมีความพอใจชอบใจ มีความติดใจหรือมีความใคร่ในรูปนั้นๆ
๗. อรูปราคะ ความติดใจอยู่ในอรูปธรรม เช่น พอใจในความสุขที่เกิดขึ้น นั่งพระกัมมัฏฐานไป เกิดความสุขขึ้นมา เกิดความสุขกายขึ้นมาก็ดี เกิดความสุขใจขึ้นมาก็ดี ก็พอใจ บางทีมีสัญญาคือความจำได้ ของต่างๆที่ล่วงมาเลยมาตั้ง ๑๐, ๒๐, ๓๐ ปี ก็จำได้ หรือว่าเราท่องหนังสืออ่านหนังสือ หรือว่าเราฟังเทศน์ฟังธรรม ไม่น่าจะจำได้อย่างนี้ก็จำได้ จำได้โดยฉับพลัน จำเนื้อหาสาระได้มาก
สิ่งใดที่ผ่านมา โน้น เมื่ออายุของเรา ๓ ปี เราก็ยังจำได้ มันเกิดขึ้นมาในจิตในใจ ก็เลยติดอยู่ในสัญญานั้น บางทีเรามีความรู้ความฉลาด ก็ติดอยู่ในความรู้ความฉลาดความสามารถของเรา เรียกว่าติดอยู่ในส่วนที่เป็นนามธรรม เรียกสั้นๆว่า ติดอยู่ในส่วนที่เป็นนามธรรม ตลอดถึงการติดอยู่ในอารมณ์ของอรูปฌาน
ก็อรูปฌานนั้น เอาสิ่งที่ไม่มีรูปมาเป็นอารมณ์ เช่นว่า เอาวิญญาณคือความรู้ เอาสัญญาคือความจำได้หมายรู้อย่างนี้ มาบริกรรมเป็นอรูปฌาน ก็ติดใจอยู่ในสภาวธรรมนั้นๆ อันนี้ก็เป็นอรูปราคะ
๘. มานะ คือ ความถือตัว สำคัญตัวว่าเป็นโน่นเป็นนี่ เช่นว่า
(๑) เราเป็นผู้เลิศกว่าเขา ก็สำคัญตัวว่าเลิศกว่าเขา
(๒) เราเลิศกว่าเขา แต่สำคัญตัวว่าเสมอเขา
(๓) เราเลิศกว่าเขา แต่สำคัญตัวว่าเลวกว่าเขา หรือบางที
(๔) เราเสมอเขา แต่สำคัญตัวว่าเลิศกว่าเขา
(๕) เราเสมอเขา ก็สำคัญตัวว่าเสมอเขา
(๖) เราเสมอเขา แต่สำคัญตัวว่าเลวกว่าเขา หรือบางที
(๗) เราเลวกว่าเขา แต่สำคัญตัวว่าเลิศกว่าเขา
(๘) เราเลวกว่าเขา แต่สำคัญตัวว่าเสมอเขา
(๙) เราเลวกว่าเขา ก็สำคัญตัวว่าเลวกว่าเขา
อันนี้เป็นลักษณะของมานะ
หากว่าผู้ปฏิบัติยังไม่ได้บรรลุอรหัตตมรรคอรหัตตผล มานะทั้ง ๙ ประการนี้ก็ยังมีอยู่ในขันธสันดาน โดยเฉพาะว่าเราเลิศกว่าเขาแต่สำคัญว่าเราเลวกว่าเขาอย่างนี้ คือมันเป็นการถ่อมตัวจนเกินไป ไม่เข้าใจฐานะตามความเป็นจริง ก็ถือว่าเป็นมานะ มานะนี้ ผู้ได้สำเร็จอรหัตตมรรคอรหัตตผลแล้ว จึงจะละได้
๙. อุทธัจจะ ความฟุ้งซ่าน คือความคิดพล่าน เช่น นึกอะไรๆก็เกินไปกว่าเหตุ จิตไม่สามารถยับยั้งอยู่ในอารมณ์อันเดียวได้นานๆ แล้วก็คิดเรื่องโน้นคิดเรื่องนี้ อะไรร้อยแปดพันประการ ภาษาบ้านเราว่า ตัวทำให้คิดมาก จนจิตไม่สามารถจับอารมณ์เดียวได้นานๆ เดี๋ยวก็คิดโน้น เดี๋ยวก็คิดนี้
ส่วนมาก สิ่งที่เป็นเหตุให้คิดนั้นก็เพราะกุกกุจจะ คือตัวที่ทำให้นึกถึงบาปเก่าที่ทำไว้ และบุญที่ไม่ได้ทำ ก็เกิดความเดือดร้อนขึ้นมาในจิตในใจ เมื่อเป็นเช่นนี้ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดอุทธัจจะ คือคิดมาก
อย่างพวกเราทั้งหลาย สมมุติว่าเราทำบาปมาก เราล่วงละเมิดศีลของเราอย่างนี้ เมื่อตายแล้วเราอาจไปตกนรก หรือไปเป็นเปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน ได้ทนทุกข์ทรมานอย่างนั้นอย่างนี้ ก็เกิดความคิดมากขึ้นมา เลยกลายเป็นโมหจริตไป
อุทธัจจะ คือคิดมากตัวนี้ ถ้าผู้ปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานผ่านมัคคญาณผลญาณครั้งที่ ๔ คือยังอรหัตตมรรคอรหัตตผลให้เกิดขึ้นในขันธสันดานได้แล้วโน้นแหละถึงจะละได้ ถ้าไม่เช่นนั้นก็ไม่สามารถที่จะละได้ทำลายได้
๑๐. อวิชชา ความเขลา อันเป็นเหตุให้ไม่รู้ตามความเป็นจริงของสภาวธรรมที่เป็นอยู่ตามธรรมชาติ สรุปแล้วก็คือไม่รู้อริยสัจ ๔ คือ แม้ว่าการประพฤติปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานผ่านมัคคญาณผลญาณ ได้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามีมาแล้ว ก็ยังมีอวิชชาอยู่
ความหลงหรือความไม่รู้ในที่นี้ ก็คือความไม่รู้ว่าอาการบรรลุอริยมรรคอริยผลครั้งที่ ๔ นั้นจะเป็นอย่างไรหนอ เราไม่รู้ เพียงแค่ว่าเราสำเร็จเป็นพระอนาคามีเท่านั้น เราไม่สามารถที่จะตัดสินใจว่าสภาวะความเป็นไปของพระอรหันต์นั้นเป็นอย่างไร จิตใจของท่านเป็นอย่างไร ในเมื่อบรรลุอริยมรรคอริยผลครั้งที่ ๔ นั้น
การเห็นอริยสัจทั้ง ๔ ประการจะเป็นอย่างไร เมื่อสำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้วจะเป็นอย่างไร กิเลสตัณหาทั้งหลายทั้งปวง เมื่อมันดับแล้วจะเป็นอย่างไร ก็ยังมีความข้องใจสงสัยอยู่ แต่เมื่อได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้วก็หมดความเคลือบแคลงสงสัย ตัวอวิชชานี้ก็หมดไปจากขันธสันดาน
- พระโสดาบัน ผู้ปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานผ่านญาณ ๑๖ ไปได้ครั้งที่ ๑ ได้ชื่อว่าบรรลุโสดาปัตติผลญาณ สามารถละสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส คือละสังโยชน์ได้ ๓ ตัว ผู้นั้นชื่อว่าเป็นผู้มีคติเที่ยง ตายแล้วก็จะไม่ไปสู่อบายภูมิอีก มีสุคติเป็นที่ไปในเบื้องหน้า จะเกิดอีกอย่างมากเพียง ๗ ชาติเท่านั้น ก็จะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้วปรินิพพาน คือ พระโสดาบันนั้น แม้จะประมาทมากสักปานใดก็ตาม ก็จะไม่เกิดอีกในชาติที่ ๘ คือจะเกิดอีกอย่างมากเพียง ๗ ชาติเท่านั้น ก็จะสำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้วปรินิพพาน
- พระสกทาคามี ผู้ปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานผ่านญาณ ๑๖ เป็นครั้งที่ ๒ ได้สำเร็จเป็นพระสกทาคามี ผู้ที่สำเร็จเป็นพระสกทาคามีแล้วนี้ แม้ไม่สามารถที่จะละสังโยชน์ที่เหลืออยู่ให้หมดไปได้ แต่ก็ทำให้สังโยชน์ที่เหลืออยู่นั้นเบาบางลงไป คือแม้ท่านไม่สามารถละสังโยชน์ตัวใดตัวหนึ่งเพิ่มขึ้นได้อีก แต่ทำให้เบาบางลง ก็สามารถทำลายภพชาตินั้นให้น้อยลงไป คือหมายความว่า ผู้ที่เป็นพระสกทาคามีนี้ จะมาสู่ภพสู่ภูมิอีกเพียงชาติเดียว คือจะเกิดอีกเพียงชาติเดียวเท่านั้น พอมาเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานก็จะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้วก็ปรินิพพาน
- พระอนาคามี ผู้ปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานกระทั่งสามารถยังอนาคามิมัคคญาณให้เกิดขึ้นในขันธสันดาน สามารถละสังโยชน์เพิ่มเติมได้อีก ๒ ตัว คือ กามราคะ และปฏิฆะ ผู้ที่ได้สำเร็จเป็นพระอนาคามีแล้วจะไม่มาเกิดในกามภพนี้อีก ชาตินี้ถือว่าเป็นชาติสุดท้ายของท่าน เมื่อจุติแล้วก็จะไปบังเกิดในสุทธาวาสพรหมในรูปพรหม แล้วก็เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้วก็ปรินิพพานในพรหมโลกชั้นนั้นๆ
- พระอรหันต์ ผู้ปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานผ่านญาณ ๑๖ ได้ครั้งที่ ๔ ยังอรหัตตมรรคให้เกิดขึ้นในขันธสันดาน สามารถละสังโยชน์ได้เพิ่มอีก ๕ ตัว คือรูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ และอวิชชา ก็เป็นอันว่าพระอรหันต์นั้นสามารถละสังโยชน์ได้ครบทั้ง ๑๐ ตัว