อนุปุพพิกถา ๕ และ อริยสัจ ๔ - การศึกษาตามลำดับลุ่มลึกลงสู่การพ้นทุกข์

อนุปุพพิกถา ๕ และ อริยสัจ ๔ - การศึกษาตามลำดับลุ่มลึกลงสู่การพ้นทุกข์

ปริยัติธรรม

หนังสือ ตามรอยพระธรรม ของ พระบรมศาสดา ผู้เขียน สุรีย์ มีผลกิจ

เป็นพระธรรมเทศนาที่แสดงเนื้อความลุ่มลึกลงไปโดยลําดับ เพื่อขัดเกลาอัธยาศัยของผู้ฟังให้ประณีตยิ่งขึ้น จนจิตของ บุคคลนั้นพร้อมที่จะเข้าใจในสัจธรรม จึงทรงแสดงอริยสัจธรรม ๔ อัน เป็นแก่นแท้ของพระพุทธศาสนา อนุปุพพิกถามี ๕ ประการ คือ


อนุปุพพิกถา ๕

๑. ทานกถา

กล่าวถึงการให้ การเสียสละ อันเป็นเหตุแห่ง ความสุขทั้งหลาย เป็นบ่อเกิดแห่งสมบัติทั้งหลาย เป็นที่ตั้งแห่งโภคะ ทั้งหลาย ทานย่อมให้สวรรค์สมบัติ พรหมสมบัติ จักรพรรดิสมบัติ สาวกบารมีญาณ ปัจเจกโพธิญาณ อภิสัมโพธิญาณ ทานจึงเปรียบดุจ แผ่นดินใหญ่

อ่านต่อ ทาน

๒. สีลกถา

กล่าวถึงความประพฤติที่ดีงาม ศีลย่อมให้สมบัติในโลกนี้และโลกหน้า เครื่องประดับใดจะงดงามเช่นกับผู้ที่มีศีลย่อมไม่มีกลิ่นใดจะหอมฟังทั้งตามลมและทวนลม เช่น กลิ่นของผู้มีศีลย่อมไม่มี พระพุทธองค์จึงตรัสศีลไว้ในลําดับต่อจากทาน

อ่านต่อ ศีล

๓. สัคคกถา

เรื่องสวรรค์ กล่าวถึงทิพยสุขทิพยสมบัติที่น่าปรารถนาอันจะพึงได้รับ จากผลแห่งทานและศีลที่กระทําแล้ว ย่อมได้ในสวรรค์ พระพุทธองค์จึงทรงแสดงสัคคกถาไว้ในลําดับต่อจากศีล

อ่านต่อ สวรรค์

๔. กามาทีนวกถา

พระพุทธองค์ตรัสว่า แม้ความสุขในสวรรค์ ก็ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน ไม่ควรยินดีพอใจเพียงแค่สวรรค์ เปรียบเหมือนบุคคลประดับช้างให้งดงามแล้ว กลับตัดเอางวงของช้างไป จึงแสดงโทษ และความต่ำทราม ความเศร้าหมองของกามว่า กามทั้งหลายมีสุขน้อย มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก พระพุทธองค์จึงตรัสกามาที่นวกถา ไว้ในลําดับต่อจากสวรรค์

อ่านต่อ โทษของกาม

๕. เนกขัมมานิสังสกถา

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงเรื่องของทาน ศีล สวรรค์ และโทษของกามทั้งหลายแล้ว ทรงแสดงอานิสงส์ ของการออกจากกาม ชี้แจงให้เห็นคุณของเนกขัมมะ คือการออกบวช เพื่อปฏิบัติให้ถึงธรรมอันเป็นที่สิ้นทุกข์ ซึ่งจักเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ทั้งโลกนี้และโลกหน้า

อ่านต่อ การออกจากกาม

อริยสัจธรรม ๔

เมื่อทรงทราบว่าบุคคลนั้น มีจิตที่ปราศจากกิเลส มีจิตที่ปราศจากนิวรณ์ คือ กามฉันทนิวรณ์ เป็นต้น มีจิตที่เบิกบานผ่องใส ประกอบด้วยปีติและปราโมทย์ สมบูรณ์ด้วยศรัทธาในสัมมาปฏิบัติแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงประกาศอริยสัจธรรม ๔ ประการ ที่พระองค์ตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง คือ ทุกขอริยสัจ ทุกขสมุทยอริยสัจ ทุกขนิโรธ อริยสัจ และ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ เพื่อให้บุคคลนั้นพิจารณา เห็นสัจธรรม ตรัสว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา

เมื่อบุคคลนั้นพิจารณา ตามกระแสแห่งพระธรรมเทศนา ประจักษ์แจ้งธรรมนั้นแล้วด้วยตนเอง บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันบุคคล ถึงความเป็นผู้แกล้วกล้า ไม่ต้องเชื่อฟังคําสอนของผู้อื่นอีก นอกจากคําสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ขอแสดงตนเป็นอุบาสกผู้ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ หรือขอบรรพชาอุปสมบทในที่สุดนี้ เป็นพระมหากรุณาคุณที่พระพุทธองค์ทรงมีต่อคฤหัสถ์ ผู้มีอุปนิสัย ที่จะได้บรรลุธรรม (ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒/๑ หน้า ๖๕-๗๐)

อ่านต่อ อริยสัจธรรม ๔



อารัมภกถา

สมัยหนึ่ง ขณะที่พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฎ กรุงราชคฤห์ ตรัสสอนภิกษุทั้งหลาย ถึงเรื่องการแสวงหาพรหมจรรย์ อุปมาด้วยเรื่องผู้มีความต้องการแสวงหาแก่นไม้ไว้ว่า

บุรุษคนหนึ่ง ปรารถนาจะแสวงหาแก่นของต้นไม้ที่ยืนต้นอยู่ แต่เขาละเลยแก่น ละเลยกระพี้ ละเลยเปลือก ละเลยสะเก็ดไปเสีย ตัดเอาไปเพียงกิ่งและใบ เข้าใจว่าเป็นแก่นไม้ เพราะความที่ไม่รู้จักว่าส่วนใดเป็นแก่นแท้ของต้นไม้นั้น เปรียบเสมือนกุลบุตรผู้ออกจากเรือน แสวงหาพรหมจรรย์ เพื่อกระทําที่สุดแห่งทุกข์ ครั้นบวชแล้วยังยินดีอยู่ ด้วยลาภยศ สรรเสริญ สุข ชื่อว่ายังเป็นผู้ประมาทภิกษุนั้นเพียงได้ถือ เอาเพียงกิ่งและใบของพรหมจรรย์เท่านั้น แล้วตรัสสอนให้ภิกษุทั้งหลาย รู้จักการแสวงหาพรหมจรรย์ที่แท้จริง ดังต่อไปนี้


สะเก็ดพรหมจรรย์

กุลบุตรบางคน ออกจากเรือนบวชด้วยความศรัทธา เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยศีล ด้วยความถึงพร้อมแห่งศีล แต่เขายกตนข่มผู้อื่นว่า เราเป็นผู้มีศีลมีกัลยาณธรรม ภิกษุอื่นเป็นผู้ทุศีล มีบาปธรรม เขาย่อมมัวเมา ถึงความประมาทเพราะความถึงพร้อมแห่งศีล เปรียบเหมือน บุรุษผู้มีความต้องการแก่นไม้ แสวงหาแก่นไม้ เห็นต้นไม้ใหญ่ตั้งอยู่ เขาถากเอาเพียงสะเก็ดของต้นไม้นั้นถือไป สําคัญว่าเป็นแก่นไม้ ภิกษุนี้ตถาคตเรียกว่า บุรุษนั้นได้ถือเอาเพียงสะเก็ดของพรหมจรรย์


เปลือกของพรหมจรรย์

กุลบุตรบางคน ออกจากเรือนบวชด้วยความศรัทธา เป็นสมบูรณ์ด้วยศีล เจริญสมาธิ ถึงพร้อมด้วยสมาธิ แต่ยกตนข่มผู้อื่นว่า เราเป็นผู้มีจิตตั้งมั่น มีอารมณ์เป็นหนึ่ง ส่วนภิกษุอื่นไม่มีจิตตั้งมั่น เขาย่อมมัวเมา ถึงความประมาท ด้วยความถึงพร้อมแห่งสมาธิ เปรียบเหมือนบุรุษผู้มีความต้องการแก่นไม้ แสวงหาแก่นไม้ เห็นต้นไม้ใหญ่ ตั้งอยู่เขาถากเอาเปลือกของต้นไม้นั้นถือไป สําคัญว่าเป็นแก่นไม้ ภิกษุนี้ ตถาคตเรียกว่า บุรุษนั้นได้ถือเอาเพียงเปลือกของพรหมจรรย์


กระพี้แห่งพรหมจรรย์

กุลบุตรบางคน ออกจากเรือนบวชด้วยความศรัทธา เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยศีล ถึงพร้อมด้วยสมาธิ เขาย่อมยังญาณทัสสนะ คือ มีความรู้ความเห็นให้สําเร็จ เพราะความถึงพร้อมแห่งญาณทัสสนะ เขายกตนข่มผู้อื่นว่า เรารู้เราเห็นอยู่ ภิกษุอื่นไม่รู้ไม่เห็น เขาย่อมมัวเมา ถึงความประมาท เพราะความถึงพร้อมแห่งญาณทัสสนะ เปรียบเหมือน บุรุษผู้มีความต้องการแก่นไม้ แสวงหาแก่นไม้ เห็นต้นไม้ใหญ่ตั้งอยู่ เขาถากเอากระพี้ (ส่วนของเนื้อไม้ที่อยู่ระหว่างเปลือกกับแก่น) ของต้นไม้นั้น สําคัญว่าเป็นแก่นไม้ ภิกษุนี้ตถาคตเรียกว่า บุรุษนั้นได้ถือเอาเพียงกระพี้ของพรหมจรรย์


แก่นของพรหมจรรย์

กุลบุตรบางคน ออกจากเรือนบวชด้วยความศรัทธา เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยศีล ถึงพร้อมด้วยสมาธิ และญาณทัสสนะแล้ว เป็นผู้ไม่ประมาท ย่อมถึงซึ่งวิโมกข์ (ความหลุดพ้น) บรรลุโลกุตตรธรรม ๙ คือ มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ เปรียบเหมือนบุรุษ ผู้มีความต้องการแก่นไม้ แสวงหาแก่นไม้ เห็นต้นไม้ใหญ่ตั้งอยู่ เขาเลือกถากเอาแก่นของต้นไม้ นั้นถือไป

กุลบุตรผู้นี้รู้จักสะเก็ด เปลือก และกระพี้ของต้นไม้นั้น เลือกถากเอาแต่แก่นไม้ถือไป เขาได้แก่นไม้ตามประสงค์ กิจที่จะทําด้วย แก่นไม้นี้จักสําเร็จประโยชน์แก่เขา ฉันใด ภิกษุพึงพากเพียรให้ถึงพร้อม ด้วยศีล สมาธิ และปัญญา ก็ย่อมสําเร็จประโยชน์อันเป็นผลสูงสุดในพระพุทธศาสนา บรรลุถึงพระนิพพาน พ้นจากสังสารวัฏได้ ฉันนั้น

พุทธศาสนิกชนทั้งหลาย จึงพิจารณาแล้วเลือกถากเอาแต่แก่นไม้มุ่งตรงสู่โลกุตตรธรรม ด้วยการขวนขวายศึกษาประพฤติปฏิบัติ ตามพระสัทธรรมของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น เดินตามรอยพระยุคลบาทของพระบรมศาสดา และพระอริยสาวกทั้งหลาย ที่ท่านพบแก่นแท้แห่งพรหมจรรย์ ดําเนินไปแล้ว พ้นแล้วจากทุกข์ทั้งปวงในวัฏฏะ (มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ ๑/๒ หน้า ๕๕๖-๕๕๕ มหาสาโรปมสูตร)


พิมพ์