จิตปรมัตถ์

จิตปรมัตถ์

ปริยัติธรรม

จิตปรมัตถ์ เรียบเรียงโดย พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร

ความหมายของจิต

จิต หมายถึง ธรรมชาติที่รู้อารมณ์ ดังวจนัตถะแสดงว่า “อารมฺณํ จินฺเตตีติ = จิตฺตํ” แปลความว่า ธรรมชาติใดย่อมคิด ธรรมชาตินั้นชื่อว่าจิต หมายความว่า เป็น ธรรมชาติที่ได้รับอารมณ์อยู่เสมอทางทวาร ๖ คือ รับรู้รูปารมณ์คือสีต่างๆ [รูป] ทางจักขุทวาร รับรู้สัททารมณ์คือเสียงทางโสตทวาร รับรู้คันธารมณ์คือกลิ่นทางฆานทวาร รับรู้ รสารมณ์คือรสทางชิวหาทวาร รับรู้โผฏฐัพพารมณ์คือการกระทบสัมผัสทางกายทวาร และ รับรู้ธัมมารมณ์คือความรู้นึกคิดทางมโนทวาร เหล่านี้จึงเป็นความหมายของจิต ที่ชื่อว่า รู้อารมณ์ ซึ่งมุ่งหมายถึงเพียงการรู้แบบธรรมดาเท่านั้น ไม่ใช่เป็นการรู้ที่พิเศษพิสดารอะไร ส่วนการรู้แบบพิเศษพิสดารนั้น เป็นการรู้ด้วยธรรมอย่างอื่นเป็นประธาน คือ รู้ด้วยสัญญา และรู้ด้วยปัญญา ฉะนั้น เมื่อสรุปแล้ว ความรู้จึงมี ๓ ประเภท คือ รู้แบบสัญญารู้ รู้แบบ ปัญญารู้และรู้แบบวิญญาณรู้

ความรู้ ๓ ประการ

๑. การรู้แบบสัญญารู้ คือ การรู้โดยอาศัยการกําหนดจดจําเอาไว้ได้ เช่น จําได้ว่า สี เขียว สีเหลือง สีแดง สีขาว นายดํา นายแดง คน สัตว์ สิ่งของ หรือ หมวดธรรมต่างๆ เป็นต้น
๒. การรู้แบบปัญญารู้ คือ การรู้เหตุผลตามความเป็นจริง เช่น รู้จักบาป บุญ คุณ โทษ ประโยชน์ และสิ่งที่มิใช่ประโยชน์ หรือ รู้รูปนามตามความเป็นจริง เป็นการรู้เพื่อ ทําลายกิเลส มีความเห็นผิด เป็นต้น ให้หมดไป
๓. การรู้แบบวิญญาณรู้ คือ การรู้โดยอาศัยการที่จิตรับอารมณ์อยู่เสมอทางทวารต่าง ๆ คือ รู้รูปารมณ์ทางจักขุทวาร รู้สัททารมณ์ทางโสตทวาร รู้คันธารมณ์ทางฆานทวาร รู้รสารมณ์ทางชิวหาทวาร รู้โผฏฐัพพารมณ์ทางกายทวาร และรู้ธัมมารมณ์ทางมโนทวาร การรู้อารมณ์ของจิต จึงเป็นแบบวิญญาณรู้นั่นเอง เพราะคําว่า จิต หรือ วิญญาณ นั้น มีความหมายเป็นอย่างเดียวกัน

ชื่อของจิต ๑๐ อย่าง

จิตนี้ ย่อมมีลักษณะที่เป็นไปในอาการต่างๆ ที่สามารถบ่งบอกถึงชื่อของจิตได้ มี ๑๐ ประการ คือ

๑. จิตตะ ธรรมชาติที่คิดอารมณ์ หมายถึง ธรรมชาติที่นึกหน่วงอารมณ์ [อยู่ภายใน มโนทวาร โดย มโนวิญญาณจิต]

๒. มโน ธรรมชาติที่น้อมไปในอารมณ์ หมายถึง ธรรมชาติที่น้อมนึกไปในอารมณ์ ต่าง ๆ แม้จะอยู่ไกลแสนไกล หรือ อารมณ์ที่ละเอียดลึกซึ้งเพียงใดก็ตาม

๓. มานัส ฉันทะที่มีอยู่ในใจ [ใครที่จะรับอารมณ์] หมายถึง ธรรมชาติที่มีความ พอใจในการรับอารมณ์ เพราะจิตแต่ละดวงที่เกิดขึ้นมา ต้องมีอารมณ์เป็นเครื่องรองรับให้รับรู้อยู่ทุกดวงไม่มีจิตดวงไหนที่เกิดขึ้นมาเฉยๆ โดยไม่มีอารมณ์ที่จะรับรู้

๔. หทยะ ธรรมชาติที่รวบรวมอารมณ์ไว้ภายใน หมายความว่า สภาพของจิตนั้นเมื่อได้รับอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งอยู่เสมอๆ แล้ว สัมปยุตตธรรมที่ประกอบกับจิต ย่อมจะทําหน้าที่รวบรวมอารมณ์ต่าง ๆ นั้นไว้ เมื่อได้ประสบกับอารมณ์นั้นอีก ย่อมสามารถที่จะจําได้ หรือเมื่อนึกถึงอารมณ์นั้น ก็สามารถที่จะนึกขึ้นมาได้ง่าย

๕. ปัณฑระ ธรรมชาติที่มีความผ่องใส หมายความว่า ธรรมชาติหรือสภาวะของจิต โดยแท้จริงนั้นเป็นแต่เพียงสภาพที่รับรู้อารมณ์ ที่เรียกว่า อารัมมณวิชชานั้นลักษณะ แต่ไม่สามารถรู้โดยความเป็นอย่างอื่นที่พิเศษออกไป คือไม่สามารถรู้ว่าเป็นสีเขียว สีเหลือง สี แดง สีขาว หรือรู้สิ่งนั้นสิ่งนี้ได้ รู้ได้เพียงสภาพของอารมณ์นั้น ๆ เท่านั้น จึงเป็นสภาพที่ ผ่องใส แต่เพราะมีเหตุปัจจัยเข้ามาปรุงแต่ง กล่าวคือ อดีตกรรม เจตสิก อารมณ์และวัตถุ จึงทําให้จิตสามารถรู้พิสดารและมีสภาพแตกต่างออกไปมากมาย ต่าง ๆ ถึง ๘๙ หรือ ๑๒๑ ดวง เช่น เมื่อถูกกิเลส คือ อกุศลเจตสิกเข้าไปปรุงแต่ง จึงทําให้จิตมีสภาพเศร้าหมองด้วยอุปกิเลสเหล่านั้น เปรียบเหมือนน้ําธรรมชาติที่มีสีใสบริสุทธิ์ แต่เมื่อเอาสีมาผสมเข้ากับน้ําบริสุทธิ์นั้น จึงทําให้น้ํานั้นแปรสภาพไปเป็นสีต่าง ๆ ตามแต่สีที่นํามาผสมนั้น เช่นเดียวกัน

๖. มนายตนะ ธรรมชาติที่เป็นบ่อเกิดแห่งการรับรู้ทางใจ หมายความว่า การรับรู้อารมณ์ตั้งแต่เริ่มต้นของชีวิตสัตว์ทั้งหลายที่ยังไม่มีประสาทรูปเกิดขึ้นหรือบรรดาอรูปพรหมทั้งหลายนั้น จิตนี้ก็จะทําหน้าที่เป็นมโนทวาร ทําให้เกิดการรับรู้อารมณ์ทางใจด้วยตนเอง ตลอดมาจนถึงความดําเนินไปของชีวิตที่เป็นการรับรู้อารมณ์ภายในมโนทวารส่วน หนึ่ง ซึ่งจิตนี้จะทําหน้าที่คิดนักหน่วงเหนี่ยวอารมณ์ต่าง ๆ ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องอาศัยรูปเลย

๗. มนินทรีย์ ธรรมชาติที่เป็นใหญ่เป็นผู้ปกครองในการรู้อารมณ์ หมายความว่า สภาพการรับรู้อารมณ์นั้น มีจิตเป็นใหญ่มีใจเป็นประธาน ถึงแม้เจตสิกจะเป็นตัวปรุงแต่งจิต ให้รับรู้อารมณ์ก็ตาม แต่ถ้าไม่มีจิตเสียแล้ว เจตสิกก็เกิดขึ้นไม่ได้ อนึ่ง เจตสิกแม้จะเป็นตัวปรุงแต่งจิตให้รู้อารมณ์ก็ตาม แต่ต้องเป็นไปตามอํานาจของจิต กล่าวคือ จิตรับอารมณ์อย่างไร เจตสิกก็ต้องรับอารมณ์อย่างนั้นด้วย จะรับอารมณ์อื่นต่างหากจากจิตนั้นไม่ได้

๘. วิญญาณ ธรรมชาติที่รู้แจ้งอารมณ์ หมายถึง สภาพของจิตนั้น เป็นสภาพที่รู้แจ้งอารมณ์ต่าง ๆ แต่ไม่ได้หมายความว่ารู้กระจ่างแจ้งถูกต้องเสียทุกอย่าง เพียงแต่หมายความว่า เป็นสภาพที่รู้แจ้งโดยความเป็นรูปารมณ์ คือ สีต่าง ๆ สัททารมณ์ คือ เสียง ต่าง ๆ เป็นต้นเท่านั้น เรียกว่า รู้แจ้งอารมณ์ หมายถึง รู้โดยไม่มีอาการคลุมเครือในสภาพ ของอารมณ์นั้น ๆ

๙. วิญญาณขันธ์ หมวดหมู่แห่งธรรมชาติที่รู้แจ้งอารมณ์ หมายความว่า จิตนี้เมื่อถูกปรุงแต่งจากเหตุปัจจัยต่าง ๆ คือ อดีตกรรม อารมณ์ เจตสิกและวัตถุแล้ว ก็ทําให้มีสภาพแตกต่างกันออกไปมากมายถึง ๘๙ หรือ ๑๒๑ ประการ มีการรับรู้อารมณ์พิสดารออกไป ตามอํานาจแห่งเหตุปัจจัยที่ปรุงแต่งนั้น แต่เมื่อประมวลรวมกันแล้ว ก็ได้แก่สภาวะที่รู้แจ้งอารมณ์ที่เรียกว่า อารัมมณวิชชานนลักษณะ เหมือนกันนั่นเอง

๑๐. มโนวิญญาณธาตุ สภาพที่ทรงไว้ซึ่งการรู้แจ้งอารมณ์เป็นพิเศษทางใจ หมายความว่า สภาพของจิตที่เป็น มโนวิญญาณธาตุ นี้ เป็นสภาวะธรรมชาติที่สามารถรู้ อารมณ์ได้วิจิตรพิสดารออกไปมากมาย ตามกําลังความสามารถของจิตดวงนั้น ๆ เพราะได้เหตุปัจจัยสนับสนุนเป็นพิเศษ คือ สภาพของมโนวิญญาณนั้นเป็นนามธรรม และสภาพของมโนทวารคือภวังคจิตก็เป็นนามธรรมด้วยกัน เมื่อนามธรรมกับนามธรรม ผนึกกําลังกัน จึงทําให้มีการรับรู้อารมณ์ได้เป็นพิเศษ ซึ่งต่างจากปัญจวิญญาณธาตุ และมโนธาตุ ที่เกิดทางปัญจทวาร คือ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น และทางกายนั้น ที่อาศัยเกิดเป็นรูปคือ ปสาทรูป ส่วนจิตนั้นเป็นนาม เป็นวิปปยุตต์ของกันและกัน ฉะนั้น จึงทําให้การรับรู้อารมณ์ นั้นมีกําลังน้อย คือ รู้ได้แบบธรรมดาในขณะที่สภาพของรูปปรมัตถ์ปรากฏเป็นอารมณ์ทาง ทวารนั้น ๆ ในขณะปัจจุบันเท่านั้นเอง ไม่สามารถรู้อดีต อนาคต และกาลวิมุตติอารมณ์ได้

ธรรมชาติของจิต

จิตนี้ย่อมมีบทบาทหน้าที่และความสามารถอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตน ซึ่งเป็นเครื่องกําหนดพิจารณาเห็นความสําคัญของจิตที่ว่าเป็นใหญ่เป็นประธานในธรรมทั้งปวงได้ ๓ ประการ คือ

๑. มีการรับอารมณ์อยู่เสมอ หมายความว่า จิตนี้ย่อมรับอารมณ์ทางทวาร ๖ อยู่ เสมอ แล้วแต่อารมณ์จะเกิดปรากฏทางทวารใด แม้ในเวลาหลับ ภวังคจิตก็รับอารมณ์ที่ มรณาสันนวิถีจิต [วิถีจิตในเวลาใกล้ตายในชาติก่อน] รับเอามา ในบรรดาอารมณ์ ๓ อย่าง คือ กรรมอารมณ์ กรรมนิมิตอารมณ์ หรือ คตินิมิตอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นอยู่เช่นนี้ เรื่อยไป จึงได้ชื่อว่า มีการรับอารมณ์อยู่เสมอ

๒. เป็นเหตุให้เจตสิกทั้งหลายรู้อารมณ์ได้คล้าย ๆ กับผู้นํา หมายความว่า จิตนี้เป็น ใหญ่เป็นประธานในธรรมทั้งปวง ถึงแม้ว่า เจตสิกทั้งหลายจะเป็นตัวปรุงแต่งจิตให้สามารถ รับรู้อารมณ์และมีสภาพหลากหลายออกไปก็ตาม แต่เจตสิกทั้งหลาย ก็ต้องเป็นไปตาม อํานาจของจิต คือ จิตรับอารมณ์อย่างไร เจตสิกก็ต้องรับอารมณ์อย่างนั้นด้วย เช่น จิตรับ รูป สีต่าง ๆ] เป็นอารมณ์ เจตสิกทั้งหลายที่เกิดพร้อมกับจิตดวงนั้น ก็ต้องรับรูป [สีต่าง ๆ เป็นอารมณ์ด้วย จะไปรับเสียงหรือรับอารมณ์อย่างอื่นที่ต่างจากจิตดวงนั้นรับอยู่ไม่ได้ ดังนี้ เป็นต้น

๓. ทําให้สิ่งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิตวิจิตรพิสดาร หมายความว่า เมื่อจิตมีการรับรู้ อารมณ์ต่าง ๆ อยู่เสมอ สภาพธรรมทั้งหลายที่เกิดพร้อมกับจิต กล่าวคือ เจตสิกทั้งหลาย นั้น ย่อมจะทําหน้าที่ในการสั่งสมความรู้และประสบการณ์ในเรื่องของอารมณ์นั้นไว้ ทําให้เกิดความรู้ที่วิจิตรพิสดารออกไปมากมาย

อำนาจของจิต ๖ ประการ

จิตนี้ย่อมมีอํานาจในตนเองอยู่โดยธรรมชาติ ด้วยเหตุนี้จึงทําให้สิ่งต่าง ๆ นั้น มีความวิจิตรพิสดารไปตามอํานาจของจิตด้วย เรียกว่า ความวิจิตรของจิต มี ๖ ประการ คือ

๑. มีอํานาจในการกระทํา หมายความว่า จิตนี้สามารถทําให้สิ่งต่าง ๆ ที่มีอยู่โดยธรรมชาตินั้นวิจิตรพิสดารงดงามแปลกประหลาดน่าพิศวงขึ้นไปอีก เช่น คิดผลิตสิ่งต่างๆ มีรถ เรือ เครื่องบิน จรวด เป็นต้น เรียกว่า “วิจิตรในการกระทํา

๒. มีอํานาจด้วยตนเอง หมายความว่า จิตนี้สามารถแปรสภาพตัวเองออกไปได้ มากมาย เป็นได้ทั้งกุศล อกุศล วิบาก และกิริยา มีทั้งจิตที่โลภ โกรธ หลง หรือ มีความฉลาด มีศรัทธา มีเมตตา เป็นต้น เรียกว่า “วิจิตรด้วยตนเอง

๓. มีอํานาจในการสั่งสมกรรมและกิเลส หมายความว่า จิตนั่นเองเป็นต้น เหตุใน การก่อกรรม คือ บุญและบาป เมื่อกระทํากรรมลงไปแล้ว ย่อมเก็บความดี ความชั่วนั้นไว้ รอโอกาสที่จะส่งผลให้เกิดขึ้นต่อไป และเมื่อได้ทําสิ่งใดบ่อย ๆ ย่อมจะเกิดความยึดติดผูกพัน ทําให้เกิดความถนัดเจนจัดและชํานาญในสิ่งนั้น เรียกว่า “วิจิตรในการสั่งสมกรรมและกิเลส

๔. มีอํานาจในการรักษาวิบาก หมายความว่า สภาพของจิตนี้เมื่อเป็นเหตุให้ทํากรรมลงไปแล้วย่อมจะเก็บรักษาผลของบุญ หรือผลของบาป ที่ได้ทําไว้แล้วนั้น ไม่ให้สูญหายไปไหนและไม่ให้เสื่อมสภาพไป แม้จะเป็นเวลานานแค่ไหนก็ตามเมื่อได้เหตุปัจจัยที่พอเหมาะแล้ว ย่อมสามารถให้ผลเกิดขึ้นได้ เรียกว่า “วิจิตรในการรักษาไว้ซึ่งวิบากของ กรรมและกิเลสที่ได้สั่งสมไว้"

๕. มีอํานาจในการสั่งสมสันดานของตนเอง หมายความว่า ถ้าได้คิด ได้ทํา ได้พูด อย่างใด ๆ ไว้ก็ตาม ถ้าได้กระทําบ่อยๆ ทําอยู่เสมอ ๆ จิตนี้ย่อมจะเก็บฝังติดอยู่เป็นนิสัย สันดาน ทําให้ชอบทํา ชอบคิด ชอบแสดงพฤติกรรมเช่นนั้นออกมาเสมอๆ ถ้าไม่ตั้งใจฝืน แก้ไขให้เปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างอื่น ก็จะยังคงพฤติกรรมอย่างนั้นอยู่เรื่อยไป หรือทวีความ รุนแรงมากขึ้น เรียกว่า “วิจิตรในการสั่งสมสันดานของตนเอง

๖. มีอํานาจต่ออารมณ์ต่าง ๆ หมายความว่า จิตนี้สามารถที่จะรับอารมณ์ได้อย่าง หลากหลายไม่จํากัด และที่สําคัญที่สุด คือ คนพาลจะรับอารมณ์ที่ไม่ดีได้ง่าย ส่วนบัณฑิต จะรับอารมณ์ที่ดีได้ง่าย เรียกว่า “วิจิตรด้วยอารมณ์ต่างๆ

ฉะนั้น สิ่งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิตที่วิจิตรพิสดารนั้น ก็เพราะอํานาจแห่งจิต คือ มีจิต เป็นผู้กระทําให้วิจิตร สิ่งที่มีชีวิต ได้แก่ สัตว์ทั้งหลาย ซึ่งเกิดจากกรรม และมีจิตเป็นเครื่อง ประคับประคอง มีอุตุ [คืออากาศหรืออุณหภูมิ] และอาหารเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงให้เป็นไป ได้ ส่วนสิ่งที่ไม่มีชีวิตนั้น ได้แก่ วัตถุสิ่งของทั้งหลายบรรดาที่ปรากฏมีอยู่ในโลกทั้งปวง เช่น ต้นไม้ ภูเขา แม่น้ํา เพชร นิล จินดา เป็นต้น ซึ่งเกิดจากอุตุ และอาหาร [คือสสารและ พลังงาน] ที่จับกลุ่มกันเป็นวัตถุสิ่งของต่าง ๆ เมื่อปรากฏเป็นอารมณ์ของจิตแล้ว ก็ทําให้ เกิดความวิจิตรด้วยอ้านาจแห่งจิตไปด้วย

สรุปได้ว่า สัตว์ทั้งหลายวิจิตร เพราะกําเนิดวิจิตร กําเนิดวิจิตร เพราะกรรมวิจิตร กรรมวิจิตร เพราะตัณหาวิจิตร ตัณหาวิจิตร เพราะสัญญาวิจิตร สัญญาวิจิตร ก็เพราะจิตวิจิตร

ความวิจิตร ๖ ประการ

สรรพสิ่งต่าง ๆ ในโลกนั้น ล้วนมีความวิจิตรพิสดารโดยฐานะต่าง ๆ เช่น ในฐานะเป็นผู้รับรู้อารมณ์ด้วยความวิจิตร ในฐานะเป็นตัวอารมณ์ให้รับรู้ได้อย่างวิจิตรพิสดารและ ในฐานะเป็นตัวจัดแจงปรุงแต่งให้เกิดความวิจิตรพิสดาร ดังนี้เป็นต้น เมื่อสรุปแล้วจึงได้ ความวิจิตร ๖ ประการ คือ

๑. สัตว์ทั้งหลายวิจิตร หมายความว่า บรรดาสัตว์ทั้งหลาย ที่ปรากฏอยู่ในภพภูมิ ต่าง ๆ นั้น มีมากมายหลายชนิด จนนับประมาณไม่ได้ เมื่อสรุปแล้ว มี ๔ ประเภท คือ สัตว์ไม่มีเท้า ๑ สัตว์สองเท้า ๑ สัตว์สี่เท้า ๑ และสัตว์มีมากกว่าสี่เท้า ๑ แม้ในภพภูมิของ มนุษย์นี้ ก็มีมากมายหลายชนิด จนนับประมาณไม่ได้ หรือแม้แต่มนุษย์เอง ก็มีมากมาย หลายผิวพรรณ หลายชนชั้น หลายฐานะและในอัธยาศัยจิตใจนั้นก็ยิ่งมีความหลากหลาย จนยากที่จะกําหนดกะเกณฑ์ได้ ฉะนั้นจึงชื่อว่า สัตว์ทั้งหลายวิจิตร

๒. กําเนิดวิจิตร หมายความว่า คนและสัตว์ทั้งหลาย ที่มีความวิจิตรแตกต่างกัน มากมายนั้น ก็เพราะมีกําเนิดที่แตกต่างกันออกไป คือ กําเนิดเป็นสัตว์นรก เปรต อสุรกาย เดรัจฉาน มนุษย์ เทวดา และพรหม โดยกําเนิด ๔ อย่าง คือ ชลาพุชะ เกิดในมดลูก อัณฑชะ เกิดในไข่ สังเสทชะ เกิดในเถ้าไคล และ โอปปาติกะ เกิดผุดขึ้นเองโดยไม่ต้องอาศัย มารดา ฉะนั้นการที่สัตว์ทั้งหลายมีความวิจิตรพิสดารแตกต่างกันนั้น ก็เพราะกําเนิดวิจิตร นั่นเอง

๓. กรรมวิจิตร หมายความว่า การกระทําทางกาย ทางวาจา และทางใจของสัตว์ทั้งหลาย ที่เป็นกุศลกรรมบ้าง อกุศลกรรมบ้าง มีความวิจิตรพิสดารแตกต่างกันออกไป มากมาย เมื่อมีการสั่งสมกรรมที่แตกต่างกันเช่นนี้ ก็ทําให้ปฏิสนธิในกําเนิดที่แตกต่างกันออกไปด้วย ทั้งนี้ก็เพราะกรรมวิจิตรนั่นเอง

๔. ตัณหาวิจิตร หมายความว่า ความยินดีพอใจในอารมณ์ต่าง ๆ ของสัตว์ทั้งหลายนั้น มีความวิจิตรพิสดารออกไปตามอํานาจการเสพคุ้นหรือการสั่งสม บางพวกหนักไปในรูป บางพวกหนักไปในเสียง บางพวกหนักไปในกลิ่น บางพวกหนักไปในรส บางพวกหนักไปในโผฏฐัพพะ บางพวกหนักไปในธัมมารมณ์ต่าง ๆ ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นเหตุให้การกระทํา กรรมแตกต่างกันออกไป ฉะนั้นเหตุที่กรรมคือการกระทําวิจิตร ก็เพราะตัณหาวิจิตร นั่นเอง

๕. สัญญาวิจิตร หมายความว่า ความจําได้หมายรู้ในสิ่งต่าง ๆ ที่ปรากฏแก่สัตว์ทั้งหลายนั้น มีความวิจิตรพิสดารแตกต่างกันออกไปตามสมรรถภาพของแต่ละบุคคล ด้วยเหตุนี้จึงทําให้สัตว์ทั้งหลายมีความคิดอ่านและรับรู้ได้มากน้อยแตกต่างกันออกไป และมีความทะยานอยากดิ้นรนแตกต่างกันออกไป ฉะนั้นเหตุที่ตัณหาวิจิตร ก็เพราะสัญญาวิจิตรนั่นเอง

๖. จิตวิจิตร หมายความว่า บรรดาความวิจิตรทั้ง ๕ ประการที่กล่าวมาแล้วนี้ ก็เนื่องมาจากจิตนั่นเอง แปรสภาพออกไปเป็นความวิจิตรพิสดารตามเหตุปัจจัยนั้นๆ กล่าวคือ เป็นกุศลจิตบ้าง อกุศลจิตบ้าง วิบากจิตบ้าง กิริยาจิตบ้าง ฉะนั้น จึงสรุปได้ว่า การที่สัญญาวิจิตรนั้น ก็เพราะจิตที่รับรู้นั้น มีความวิจิตรพิสดารนั่นเอง

ความเป็นไปของจิต

จิตนี้มีสภาพเป็นนามธรรมไม่มีรูปร่างสัณฐานไม่มีสีสันวรรณะใด ๆ ฉะนั้น จิตนี้จึงมีความเป็นไปในลักษณะต่าง ๆ เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตน ๔ ประการ คือ

๑. ทรังคะมัง เป็นธรรมชาติไปได้ไกล หมายความว่า จิตนี้สามารถน้อมไปหาอารมณ์ที่อยู่ไกลแสนไกลได้ โดยที่ตัวตนของบุคคลนั้นไม่ต้องไปถึง เช่น เคยไป เคยอยู่ที่ ไหน เพียงแต่นึกถึง สภาพของสถานที่นั้น หรืออารมณ์นั้น ๆ ก็ปรากฏในมโนทวาร เหมือนกับเห็นด้วยตา ดังนี้เป็นต้น

๒. เอกะจะรัง เที่ยวไปดวงเดียว หมายความว่า จิตนี้เป็นธรรมชาติที่เที่ยวไปดวงเดียว คือ สามารถรับรู้อารมณ์ได้ทีละอย่าง เกิดได้ทีละหนึ่งดวงเท่านั้น ไม่สามารถเกิด พร้อมกันได้หลายดวงและไม่สามารถรับอารมณ์ได้พร้อมกันหลายอย่าง เมื่อจิตดวงหนึ่ง เกิดขึ้นและดับไปแล้ว จิตดวงใหม่จึงจะเกิดต่อไปได้

๓. อะสะรีรัง ไม่มีสรีระร่างกาย หมายความว่า จิตนี้มีสภาพเป็นนามธรรม ไม่มีรูปร่างสัณฐาน มีสภาวะเป็นอรูปธรรม รู้ได้ด้วยใจเท่านั้นไม่สามารถรับรู้โดยประสาทสัมผัส ทั้ง ๕ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กายได้เลย

๔. คูหาสะยัง มีถ้ําเป็นที่อยู่อาศัย หมายความว่า จิตนี้เป็นธรรมชาติที่ต้องอาศัย วัตถุรูปเกิด ซึ่งเปรียบเสมือนถ้ําเป็นที่อยู่อาศัย [เฉพาะในปัญจโวการภูมิ เท่านั้น ที่ต้อง อาศัยวัตถุรูปเกิด ถ้าเป็นในจตุโวการภูมิไม่ต้องอาศัยวัตถุรูปเกิดเลย] ซึ่งเป็นเพียงการกล่าว โดยโวหารเท่านั้น แต่ความเป็นจริงแล้ว จิตนี้ไม่ได้อาศัยนอนนิ่งอยู่คงที่แต่อย่างใด เพราะมีสภาพเกิดดับเปลี่ยนแปลงรับอารมณ์ต่าง ๆ อยู่ตลอดเวลา และเป็นไปอย่างรวดเร็ว เพียงแต่อาศัยวัตถุรูปนั้น ๆ เกิดเพื่อรับรู้อารมณ์ตามเหตุปัจจัยของจิตดวงนั้น ๆ เท่านั่นเอง

เหตุปัจจัยที่ทําให้จิตเกิด

จิตเป็นสังขตธรรม คือ ธรรมที่ถูกปัจจัยปรุงแต่ง ฉะนั้นจิตจึงเป็นธรรมชาติที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ซึ่งเหตุปัจจัยที่ทําให้จิตเกิดขึ้นได้นั้น มี ๔ ประการ คือ

๑. อดีตกรรม หมายถึง กรรมที่บุคคลนั้นได้เคยทํามาแล้วในอดีต เมื่อบุคคลทํากรรมใดไว้ วิบากกรรมย่อมส่งผลหรือเป็นปัจจัยให้รับรู้ หรือแสดงปฏิกิริยาอย่างนั้นออกมา เสมอ ๆ จิตประเภทนั้น ๆ จึงสามารถเกิดขึ้นได้บ่อย ๆ ดังที่เรียกว่า นิสัย หรือ สันดาน เช่น คนที่สั่งสมโลภะมามาก ย่อมแสดงพฤติกรรมเกี่ยวกับความโลภออกมาเสมอ ๆ คนที่สั่งสมโทสะมามาก ย่อมแสดงพฤติกรรมเกี่ยวกับโทสะออกมาเสมอ ๆ คนที่สั่งสมโมหะมา มาก ย่อมแสดงพฤติกรรมเกี่ยวกับโมหะออกมาเสมอ ๆ คนที่สั่งสมเรื่องความศรัทธามา มาก ย่อมแสดงพฤติกรรมเกี่ยวกับความศรัทธาออกมาเสมอ คนที่สั่งสมปัญญามามาก ย่อมแสดงพฤติกรรมเกี่ยวกับปัญญาออกมาเสมอ ๆ ดังนี้เป็นต้น ซึ่งอดีตกรรมนี้ ย่อมเป็นปัจจัย สําคัญที่จะผลักดันให้บุคคลแสดงพฤติกรรม หรือรับรู้อารมณ์ต่าง ๆ ไปตามอํานาจของตน เพราะเป็นสมบัติของบุคคลนั้น ๆ โดยตรง

๒. อารมณ์ หมายถึง สิ่งที่จิตเข้าไปรับรู้ ได้แก่ รูปารมณ์ สัททารมณ์ คันธารมณ์ รสารมณ์ โผฏฐัพพารมณ์ และธัมมารมณ์ เมื่อมีอารมณ์มาปรากฏทางทวารต่างๆ อยู่เสมอ ย่อมทําให้จิตสามารถเกิดทางทวารนั้นได้บ่อย ๆ เพราะจิตแต่ละดวงที่จะเกิดขึ้นได้นั้น ต้องมีอารมณ์เป็นเครื่องรองรับและมีทวารเป็นช่องทาง ซึ่งจิตจะเกิดขึ้นโดยไม่มีอารมณ์นั้น ไม่ได้เลย และอารมณ์นี้ก็เป็นผลของอดีตกรรมเช่นเดียวกัน ฉะนั้น แต่ละบุคคลย่อมจะรับรู้ อารมณ์ได้ไม่เหมือนกัน หรือรับรู้อารมณ์ได้ไม่เท่ากัน เช่น อารมณ์อย่างเดียวกันแต่ ความรู้สึกต่ออารมณ์นั้นแตกต่างกัน หรืออยู่ในสถานที่เดียวกัน แต่ได้รับอารมณ์ไม่เหมือนกัน คนหนึ่งได้รับอารมณ์อย่างหนึ่ง แต่อีกคนหนึ่ง ได้รับอารมณ์อีกอย่างหนึ่งก็มี ดังนี้เป็นต้น ทั้งนี้เพราะทํากรรมมาไม่เหมือนกัน หรือเจตนาในการทํากรรมไม่เหมือนกัน นั่นเอง มี ๖ อย่างคือ

  • ๑. รูปารมณ์ ได้แก่ สีต่าง ๆ เป็นรูปธรรม ถูกจิตรับรู้ทางจักขุทวาร โดยอาศัยจักขุ วัตถุ คือ ประสาทตา จึงเรียกจิตนี้ว่า จักขุวิญญาณจิต แปลว่า จิตที่รับรู้รูปารมณ์โดยอาศัย จักขุทวารและจักขุทวารวิถีจิตอื่นๆ ที่รับรู้รูปารมณ์ทางจักขุทวารได้
  • ๒. สัททารมณ์ ได้แก่ เสียงต่างๆ เป็นรูปธรรม ถูกจิตรับรู้ทางโสตทวาร โดยอาศัย โสตวัตถุ คือ ประสาทหู จึงเรียกจิตนี้ว่า โสตวิญญาณจิต แปลว่า จิตที่รับรู้สัททารมณ์โดย อาศัยโสตทวารและโสตทวารวิถีจิตอื่นๆ ที่รับรู้สัททารมณ์ทางโสตทวารได้
  • ๓. คันธารมณ์ ได้แก่ กลิ่นต่างๆ เป็นรูปธรรม ถูกจิตรับรู้ทางฆานทวาร โดยอาศัย ฆานวัตถุ คือ ประสาทจมูก จึงเรียกจิตนี้ว่า ฆานวิญญาณจิต แปลว่า จิตที่รับรู้คันธารมณ์ โดยอาศัยฆานทวารและฆานทวารวิถีจิตอื่นๆ ที่รับรู้คันธารมณ์ทางฆานทวารได้
  • ๔. รสารมณ์ ได้แก่ รสต่างๆ เป็นรูปธรรม ถูกจิตรับรู้ทางชิวหาทวาร โดยอาศัย ชิวหาวัตถุ คือ ประสาทลิ้น จึงเรียกจิตนี้ว่า ชิวหาวิญญาณจิต แปลว่า จิตที่รับรู้ รสารมณ์ โดยอาศัยชิวหาทวารและชิวหาทวารวิถีจิตอื่นๆ ที่รับรู้รสารมณ์ทางชิวหาทวารได้
  • ๕. โผฏฐัพพารมณ์ ได้แก่ ความอ่อน แข็ง เย็น ร้อน หย่อน ตึง เป็นรูปธรรม คือ ดิน ไฟ ลม] ถูกจิตรับรู้ทางกายทวาร โดยอาศัยกายวัตถุ คือ กายประสาท จึงเรียกจิตนี้ว่า กายวิญญาณจิต แปลว่า จิตที่รับรู้โผฏฐัพพารมณ์โดยอาศัยกายทวารและกายทวารวิถีจิต อื่นๆ ที่รับรู้โผฏฐัพพารมณ์ทางกายทวารได้
  • ๖. ธัมมารมณ์ ได้แก่ จิต ๘๙ เจตสิก ๕๒ ปสาทรูป ๕ สุขุมรูป ๑๖ นิพพาน บัญญัติ สภาพที่รับรู้ได้ทางมโนทวาร โดยอาศัยหทยวัตถุ คือ หัวใจ (ส่วนพวกอรูปพรหมในอรูปภูมิ นั้น ไม่ต้องอาศัยหทยวัตถุ เพราะเป็นภูมิที่ไม่มีรูปใดๆ เกิดเลย ฉะนั้น จึงอาศัยมโนทวาร คือ ภวังคจิตในการเกิดขึ้นและรับรู้อารมณ์อย่างเดียว] จึงเรียกจิตนี้ว่า มโนวิญญาณจิต แปลว่า จิตที่รับรู้ธัมมารมณ์โดยอาศัยมโนทวาร
๓. เจตสิก หมายถึง สภาพธรรมที่ปรุงแต่งจิตให้รับรู้อารมณ์ต่าง ๆ ตามสมควรแก่ สภาพของจิตหรือสภาพของอารมณ์ที่รับรู้นั้น การที่จิตมีสภาพเป็นไปต่างๆ ที่เป็นโสภณจิตบ้าง อโสภณจิตบ้าง ก็เนื่องจากอํานาจของเจตสิกที่เข้าไปปรุงแต่งจิต ดังที่กล่าวมาแล้วว่า จิตนี้มีสภาพอย่างเดียว คือ รู้อารมณ์เท่านั้น ซึ่งเป็นเพียงการรับรู้แบบธรรมดาเท่านั้น ไม่ได้รู้เป็นพิเศษออกไปมากมายแต่ประการใดเลย ดังที่เรารับรู้กันอยู่ทุกวันนี้ แต่เพราะ อํานาจของเจตสิกแต่ละกลุ่มแต่ละจําพวกเข้าไปปรุงแต่ง [รวมกับเหตุปัจจัยอย่างอื่นที่ กล่าวแล้วด้วย] จึงทําให้จิตนั้นมีสภาพแตกต่างกันออกไปมากมาย ถึง ๘๙ หรือ ๑๒๑ ดวง เช่น เมื่อกลุ่มของโลภเจตสิกเข้าไปปรุงแต่ง จิตก็มีสภาวะเป็นความโลภ เรียกว่า โลภมูลจิต เมื่อมีกลุ่มโทสะเจตสิกเข้าไปปรุงแต่งจิตที่มีสภาวะเป็นความโกรธ เรียกว่า โทสมูลจิต เมื่อมีเฉพาะกลุ่มของโมหะเจตสิกเข้าไปปรุงแต่ง จิตก็มีสภาวะเป็นความหลง เรียกว่า โมหมูลจิต เมื่อมีกลุ่มของโสภณเจตสิกเข้าไปปรุงแต่ง จิตก็มีสภาวะเป็นโสภณะ เรียกว่า โสภณจิต ดังนี้เป็นต้น ฉะนั้น เจตสิกนี้จึงเป็นปัจจัยสําคัญอีกประการหนึ่ง ที่เป็นปัจจัยให้จิตแต่ละ ดวงเกิดขึ้น และมีสภาวะแตกต่างกันออกไป

๔. วัตถุ หมายถึง กัมมชรูปที่จิตอาศัยเกิด ได้แก่ วัตถุรูป ๖ คือ จักขุวัตถุ โสตวัตถุ ฆานวัตถุ ชิวหาวัตถุ กายวัตถุ และหทยวัตถุ สําหรับบุคคลผู้เกิดอยู่ในปัญจโวการภูมินั้น จิตจะเกิดขึ้นได้ต้องมีสถานที่อาศัยเกิด หรือต้องมีทวารเป็นช่องทางในการรับรู้อารมณ์ ยิ่งบุคคลใดมีวัตถุเป็นที่อาศัยเกิดของจิตมาก เช่น บุคคลที่เกิดในกามภูมิ ถ้ามีวัตถุรูปครบบริบูรณ์ทั้ง ๖ อย่าง ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย หัวใจ จิตก็สามารถอาศัยเกิดได้ทั้ง ๖ อย่าง และสามารถเกิดได้ทั้ง ๖ ทวาร การรับรู้อารมณ์ของบุคคลนั้น ๆ ย่อมมีมาก แต่ถ้าบุคคลใดบกพร่องไปอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่อาศัยเกิดของจิตก็น้อยลง และการรับรู้อารมณ์ก็ลดน้อยลง ไปด้วย ถ้าเกิดในรูปภูมิ ๑๕ [เว้น อสัญญสัตตภูมิ ๑] ย่อมมีวัตถุรูป ๓ อย่าง คือ ตา หู และ หัวใจ ที่อาศัยเกิดของจิตย่อมมีเพียง ๓ แห่ง และจิตย่อมเกิดได้เพียง ๓ ทวาร การรับรู้ อารมณ์ก็น้อยลงไปด้วย ถ้าเกิดในอรูปภูมิ ๔ ซึ่งไม่มีรูปเกิดเลย ฉะนั้น จิตจึงไม่ต้องอาศัยวัตถุรูปใด ๆ เกิด แต่อาศัยภวังคจิตที่ทําหน้าที่เป็นมโนทวารคือเป็นช่องทางให้จิตอาศัยเกิด เท่านั้น จิตย่อมเกิดได้น้อยลงไปอีก ส่วนบุคคลที่เกิดในอสัญญสัตตภูมินั้นย่อมไม่มีจิตเกิด เลย มีแต่รูปเกิดอย่างเดียว ฉะนั้น จิตของพวกอสัญญสัตตพรหมจึงไม่มีการเกิดขึ้น เพราะ ถูกกดทับไว้ด้วยอํานาจฌานสมาบัติ จนกว่าจะสิ้นอายุขัยจากอสัญญสัตตภูมิ แล้วกลับมาเกิดเป็นมนุษย์หรือเทวดาในกามสุคติภูมิต่อไป จึงจะมีจิตเกิดขึ้นใหม่อีก] ฉะนั้น วัตถุรูปจึงเป็นปัจจัยสําคัญที่ทําให้จิตของบุคคลที่เกิดในปัญจโวการภูมิได้อาศัยเกิดขึ้น ถ้าบุคคลนั้นขาดวัตถุรูปใดไป จิตที่อาศัยวัตถุรูปนั้นเกิด ย่อมไม่มีโอกาสได้เกิดแก่บุคคลนั้น เช่น คนที่ตาบอด จักขุวิญญาณจิต ย่อมไม่มีโอกาสเกิดแก่บุคคลนั้น คนที่หูหนวก โสตวิญญาณจิตย่อมไม่มีโอกาสได้เกิดแก่บุคคลนั้น ดังนี้เป็นต้น

สามัญญลักษณะของจิต

จิตนี้มีสภาพเป็นสังขตธรรม คือ ธรรมที่ถูกปัจจัยปรุงแต่งและปัจจัยที่เข้ามาปรุงแต่งจิตให้เกิดขึ้นและเป็นไปได้นั้น ย่อมมีสภาพเป็นสังขตธรรมด้วยเหมือนกัน ซึ่งล้วนแต่เป็นธรรมที่เป็นไปตามกฎเกณฑ์ของไตรลักษณ์ทั้งสิ้น ด้วยเหตุนี้ จิตมีจึงลักษณะเป็นไปตามกฎเกณฑ์แห่งสามัญญลักษณะ ที่เรียกว่า ไตรลักษณ์ นั่นเอง คือ

๑. จิตนี้เป็น อนิจจัง คือ ไม่เที่ยง ไม่มั่นคง ไม่ตั้งอยู่นาน มีการเกิดดับอย่างรวดเร็วอยู่ตลอดเวลา จิตดวงหนึ่งเกิดขึ้นตั้งอยู่และดับไป ก็เป็นปัจจัยให้จิตอีกดวงหนึ่งเกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไป เป็นอยู่เช่นนี้เรื่อยไป จนกว่าจะปรินิพพาน จิตดวงใหม่จึงจะไม่เกิดขึ้นอีกเป็นการสิ้นสุดแห่งสังสารวัฏฏ

๒. จิตนี้เป็น ทุกขัง คือ ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้นาน มีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปเป็นธรรมดา ไม่ตั้งอยู่นาน มีการเกิดดับติดต่อกันอย่างรวดเร็ว แค่ระยะเวลาเพียงช้างกระดิกหู หรืองูแลบลิ้น เท่านั้น จิตก็เกิดดับติดต่อกันถึงแสนโกฏิขณะ ไม่มีการหยุดพักแม้แต่ในเวลาที่สัตว์หลับสนิท ภวังคจิตย่อมเกิดดับติดต่อกันไป จนกว่าจะตื่นรับอารมณ์ใหม่อีก เป็นเช่นนี้เรื่อยไป ทั้งนี้ เป็นเพราะสภาพของจิตนั้นไม่สามารถทนนิ่งอยู่ในสภาพเดิมได้ อันเป็นสภาพของทุกข์นั่นเอง

๓. จิตนี้เป็น อนัตตา คือ เป็นสภาพที่ใคร ๆ ไม่สามารถบังคับบัญชาให้อยู่ในอํานาจ ไม่ให้เกิด ไม่ให้ดับ ก็ไม่ได้ หรือบังคับบัญชาให้เป็นสภาพมั่นคงเช่นนั้นตลอดไปก็ไม่ได้ ย่อมเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยของมันเอง เมื่อมีเหตุปัจจัยของจิตดวงนั้นพร้อมแล้วจิตดวงนั้นก็เกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไป เมื่อมีเหตุปัจจัยของจิตอีกดวงหนึ่ง จิตดวงนั้นก็เกิดขึ้นตั้งอยู่และดับไป เป็นอยู่เช่นนี้เรื่อยไป ไม่มีใครสามารถบังคับบัญชาให้เป็นไปตามที่ต้องการได้ว่า “ขอจิตดวงนั้นอย่าได้เกิดขึ้นเลย ขอให้จิตดวงนี้จงเกิดขึ้นอย่างเดียว” ดังนี้เป็นต้นนั้นไม่ได้เลย อนึ่ง จิตนี้เป็นนามธรรม ไม่มีรูปร่างสัณฐาน ไม่มีสีสันวรรณะแต่อย่างใด ไม่สามารถกระทบสัมผัสได้ด้วยประสาทสัมผัสทั้ง ๕ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่รู้ได้เฉพาะทางใจเท่านั้น จึงชื่อว่า อนัตตา คือ ความไม่มีตัวตน อีกความหมายหนึ่งด้วย

วิเสสลักษณะของจิต

จิตนี้ถึงแม้จะมีสภาพความเป็นไปโดยสามัญญลักษณะ คือ ลักษณะที่เสมอกันของสังขตธรรมทั้งปวงก็ตาม แต่จิตนี้ย่อมมีคุณสมบัติพิเศษอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตนที่ไม่เหมือนกันกับปรมัตถธรรมอย่างอื่น เรียกว่า วิเสสลักษณะของจิต ซึ่งมี ๔ ประการ มีลักษณะเป็นต้น จึงเรียกว่า ลักขณาทิจตุกกะ กล่าวคือ

๑. อารัมมะณะวิชานะนะลักขะณัง มีการรู้อารมณ์เป็นลักษณะ หมายความว่า จิตนี้มีการได้รับรู้อารมณ์อยู่ตลอดเวลา ทางทวารทั้ง ๖ คือ เห็นรูปทางตา ได้ยินเสียงทางหู ได้กลิ่นทางจมูก รู้รสทางลิ้น รู้กระทบสัมผัสทางกาย รู้สึกนึกคิดทางใจ ไม่มีจิตดวงใดที่เกิดขึ้นมาแล้วไม่มีการรับรู้อารมณ์ จึงเรียกว่า ธรรมชาติที่รู้อารมณ์

๒. ปุพพังคะมะนะระสัง มีการเป็นประธานในธรรมทั้งปวง เป็นกิจ หมาย ความว่าธรรมทั้งหลาย ล้วนมีใจเป็นใหญ่ มีใจเป็นหัวหน้า มีใจเป็นผู้ริเริ่มก่อน และสําเร็จได้ด้วยใจทั้งสิ้น ถ้าบุคคลใดมีใจดีแล้ว จะพูด จะทํา จะคิด ย่อมดีตามไปด้วย แต่ถ้าบุคคลใด มีใจชั่วแล้ว จะพูด จะทํา จะคิด ย่อมชั่วตามไปด้วยเช่นกัน และสภาพธรรมทั้งหลายที่เกิดพร้อมกับจิต ย่อมเป็นไปตามอํานาจของจิตด้วยนั่นเอง

๓. สันธานะปัจจุปปัฏฐานัง มีการเกิดขึ้นต่อเนื่องกันไม่ขาดสาย เป็นอาการปรากฏ หมายความว่า สภาพของจิตนั้น ไม่มีการหยุดพัก แม้ในเวลาที่สัตว์ทั้งหลายหลับอยู่ จิตก็ยังเกิดดับติดต่อกันไปโดยไม่ขาดสาย และเมื่อจุติ คือ ตายจากภพชาติเก่าแล้ว ปฏิสนธิจิต ก็เกิดขึ้นในภพชาติใหม่ทันที ไม่มีการท่องเที่ยวแสวงหาที่เกิด ที่เรียกว่า สัมภเวสี ดังที่เข้าใจ กันแต่อย่างใด [ คําว่า สัมภเวสี หมายถึง สัตว์ที่ยังต้องเกิดในภพภูมิใหม่อีกต่อไป จึงเรียกว่า ผู้แสวงหาภพน้อยภพใหม่ ซึ่งได้แก่ สัตว์ หรือ บุคคลทุกจําพวก ยกเว้นพระอรหันต์ที่ท่านไม่ต้องเกิดใหม่อีกแล้ว จึงพ้นจากสภาพความเป็น สัมภเวสี ส่วนนอกนั้น จัดเป็นสัมภเวสีทั้งหมด ] และเมื่อเกิดขึ้นในภพใหม่แล้ว ย่อมมีการเกิดดับรับอารมณ์ต่าง ๆ ต่อไป เช่นเดียวกัน เป็นอยู่เช่นนี้เรื่อยไปในสังสารวัฏฏ จนกว่าจะเข้าสู่ปรินิพพาน จึงจะดับสนิท เป็นครั้งสุดท้าย

๔. นามะรูปะปะทัฏฐานัง มีนามรูป เป็นเหตุใกล้ให้เกิด หมายความว่า การที่จิตจะเกิดสืบต่อกันไปในภพภูมิใหม่ได้นั้น ต้องมีปฏิสนธินามรูป คือ ปฏิสนธิจิต เจตสิกที่ประกอบและกัมมชรูปที่เกิดพร้อมด้วยปฏิสนธิจิตนั้น [ หมายเอาเฉพาะในปัญจโวการภูมิ ๒๖ ส่วนในอรูปภูมิ ๔ ที่เรียกว่า จตุโวการภูมิ นั้นไม่มีรูปเกิด มีแต่ปฏิสนธินามขันธ์ ๔ คือ มีแต่ปฏิสนธิจิตกับเจตสิกที่ประกอบเท่านั้น ] เกิดขึ้นมาก่อน แล้วจิตดวงอื่น ๆ จึงจะเกิดสืบต่อกันไปในภพภูมินั้นต่อไปได้อีก

ประเภทของจิต

จิตนี้เมื่อจําแนกโดยประเภทแห่งภูมิ คือ ระดับชั้นของจิตแล้ว มี ๔ ประเภท ด้วยกัน ดังพระบาลีที่ท่านพระอนุรุทธาจารย์ได้แสดงไว้ว่า “ตัตถะ จิตตัง ตาวะ จะตุพพิธีง โหติ กามาวะจะรัง รูปาวะจะรัง อะรูปาวะจะรัง โลกุตตะรัญเจติ” แปลความว่า ในปรมัตถธรรมทั้ง ๔ นั้น จิตปรมัตถ์ที่แสดงไว้เป็นอันดับแรกในอารัมภบทนั้นมี ๔ ประเภท คือ กามาวจรจิต รูปาวจรจิต อรูปาวจรจิต และโลกุตตรจิต ดังมีความหมายและรายละเอียด ต่อไปนี้

๑. กามาวจรจิต หมายถึง จิตที่ท่องเที่ยวเกิดอยู่ในภูมิอันเป็นที่เกิดของวัตถุกามและกิเลสกามโดยมาก หมายความว่า เป็นจิตที่เกิดกับกามบุคคล รับกามอารมณ์โดยมาก หรือจิตที่เป็นไปตามอํานาจแห่งกามตัณหา ได้แก่ ความยินดีติดใจในกามคุณอารมณ์ คือ รูป สีต่าง ๆ] เสียง กลิ่น รส สัมผัส และธัมมารมณ์ อันน่าใคร่น่าปรารถนาน่าชอบใจ โดยมาก แบ่งเป็น ๓ จําพวกคือ อกุศลจิต ๑๒ อเหตุกจิต ๑๘ กามาวจรโสภณจิต ๒๔

๒. รูปาวจรจิต หมายถึง จิตที่ท่องเที่ยวเกิดอยู่ในภูมิอันเป็นที่เกิดของรูปวัตถุและรูปกิเลสโดยมาก หรือ เป็นจิตที่เป็นไปตามอํานาจแห่งรูปตัณหา คือ ความยินดี ติดใจในรูปภพ หรือ รูปฌาน โดยมาก หมายความว่า จิตเหล่านี้ทั้งหมดล้วนแต่รับอารมณ์ของรูปฌาน ได้แก่ บัญญัติอารมณ์ต่าง ๆ มี กสิณ เป็นต้น มีจํานวน ๑๕ ดวง คือ รูปาวจรกุศลจิต ๕ รูปาวจรวิบากจิต ๕ รูปาวจรกิริยาจิต ๕ อนึ่ง จิตเหล่านี้พร้อมด้วยเจตสิก ๓๕ ดวงที่ประกอบร่วมด้วยนั้น ย่อมเป็นอารมณ์ของกิเลสได้ จึงเรียกว่า รูปวัตถุ และกิเลสที่ยึดเอารูปฌาน หรือรูปภพ ของตนหรือของบุคคลอื่นมาเป็นอารมณ์ เรียกว่า รูปกิเลส อีกนัยหนึ่ง เหล่าปุถุชนทั้งหลาย ที่เกิดความยินดีพอใจในรูปภพ ปรารถนาการเกิดในรูปภูมิ จึงได้เจริญรูปฌานให้เกิดขึ้น แล้วได้ไปเกิดในรูปภูมินั้นสมความปรารถนา เมื่อเกิดแล้วย่อมเกิดความยินดีพอใจในความเป็นรูปพรหมนั้น ฉะนั้น จึงเรียกว่า รูปตัณหา

๓. อรูปาวจรจิต หมายถึง จิตที่ท่องเที่ยวเกิดอยู่ในภูมิอันเป็นที่เกิดแห่งอรูปวัตถุ หรืออรูปกิเลสโดยมาก หรือ เป็นจิตที่เป็นไปตามอํานาจแห่งอรูปตัณหา คือ ความยินดีติดใจในอรูปภพ หรือ อรูปฌาน โดยมาก หมายความว่า จิตเหล่านี้ล้วนแต่รับอารมณ์ของอรูปฌาน โดยเฉพาะแต่ละอย่าง] มีกสินคฆาฏิมากาสบัญญัติ เป็นต้น มีจํานวน ๑๒ ดวง คือ อรูปาวจรกุศลจิต ๔ อรูปาวจรวิบากจิต ๔ อรูปาวจรกิริยาจิต ๔ อนึ่ง จิตเหล่านี้พร้อมด้วยเจตสิก ๓๐ ดวงที่ประกอบร่วมด้วยนั้น ย่อมเป็นอารมณ์ของกิเลส จึงเรียกว่า อรูปวัตถุ และกิเลสที่ยึดเอาอรูปฌาน หรืออรูปภพ ของตนหรือของบุคคลอื่นมาเป็นอารมณ์ เรียกว่า กิเลสอรูป อีกนัยหนึ่ง เหล่าปุถุชนทั้งหลายที่เกิดความยินดีพอใจในอรูปภพ ปรารถนาการเกิดในอรูปภูมิ จึงได้เจริญอรูปฌานให้เกิดขึ้น แล้วได้ไปเกิดในอรูปภูมินั้นสมความปรารถนา เมื่อเกิดแล้วย่อมเกิดความยินดีพอใจในความเป็นอรูปพรหมนั้น ฉะนั้น จึงเรียกว่า อรูปตัณหา

๔. โลกุตตรจิต หมายถึง จิตที่มีสภาพพ้นไปจากความยินดีติดใจภพทั้ง ๓ หรือเป็นจิตที่ไม่ได้เป็นไปตามอํานาจแห่งตัณหาทั้ง ๓ หมายความว่า เป็นจิตที่ไม่ได้รับอารมณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับภพภูมิทั้ง ๓ คือ กามภพ รูปภพ อรูปภพ และไม่ได้เป็นไปตามอํานาจแห่งกามตัณหา รูปตัณหา และ อรูปตัณหา อย่างใดอย่างหนึ่ง แต่เป็นจิตที่รับอารมณ์ที่พ้นไปจากสภาพแห่งโลกทั้ง ๓ และพ้นจากขอบเขตแห่งตัณหาทั้ง ๓ คือ พระนิพพาน อย่างเดียว จึงชื่อว่า โลกุตตรจิต

บุคคล ๘ จําพวก

สภาพบุคคล ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับเรื่องจิต เจตสิก รูป และภพภูมิต่าง ๆ นั้น มี ๘ จําพวกโดยสรุป คือ

๑. ทุคติอเหตุกบุคคล ได้แก่ บุคคลผู้ปฏิสนธิด้วยอุเบกขาสันติรณอกุศลวิบากจิต ๑ เป็นอบายสัตว์ทั้ง ๔ ภูมิ คือ นรก เปรต อสุรกาย และเดรัจฉาน

๒. สุคติอเหตุกบุคคล ได้แก่ บุคคลผู้ปฏิสนธิด้วยอุเบกขาสันติรณกุศลวิบากจิต ๑ เป็นมนุษย์ ที่ไม่สมประกอบทางด้านจิตใจ หรือทั้งร่างกายและจิตใจ เช่น ง่อย เปลี้ย บ้า ใบ้ บอด หนวก แต่กําเนิด และเป็นเทวดาชั้นจาตุมหาราชิกาภูมิ ที่เป็นจําพวกเทวดาชั้นต่ํา อับรัศมี ไม่ค่อยมีความสุขสบายเหมือนเทวดาทั่วไป และเป็นพวกอสัญญสัตตพรหม ๑ ที่ชื่อว่า สุคติอเหตุกบุคคล เพราะพวกอสัญญสัตตพรหมไม่มีจิตและเจตสิกเกิดเลย ตัวเหตุทั้ง ๖ คือ โลภะ โทสะ โมหะ อโลภะ อโทสะ อโมหะ คือ เจตสิกนั้นเอง เมื่อเจตสิกเหล่านี้ไม่เกิดแล้ว ชื่อว่า ไม่มีเหตุเกิด แต่พวกอสัญญสัตตพรหมนั้น เป็นบุคคลที่เกิดในสุคติภูมิ ฉะนั้น จึงเรียกว่า สุคติอเหตุกบุคคล ด้วย

๓. ทวิเหตุกบุคคล ได้แก่ บุคคลผู้ปฏิสนธิด้วยมหาวิบากญาณวิปปยุตตจิต ๔ ดวง ใดดวงหนึ่ง เป็นมนุษย์ หรือเทวดา ๖ ชั้น แต่เป็นผู้ที่ไม่มีปัญญาเกิดมาพร้อมกับกําเนิด เรียกว่า สชาติกปัญญา ซึ่งเป็นผู้ที่ไม่สามารถทําฌาน อภิญญา สมาบัติ มรรค ผล ให้เกิดในภพปัจจุบันนั้นได้

๔. ติเหตุกบุคคล ได้แก่ บุคคลผู้ปฏิสนธิด้วยมหาวิบากญาณสัมปยุตตจิต ๔ รูปาวจรวิบากจิต ๕ และอรูปาวจรวิบากจิต ๔ เป็นมนุษย์ เทวดา และเกิดเป็นพรหม ๑๙ ชั้น [ เว้นอสัญญสัตตพรหม ] เป็นผู้เกิดมาพร้อมด้วยปัญญา เรียกว่า สชาติกปัญญา ถ้าเป็นผู้มีบารมีเต็มพร้อมแล้ว ย่อมสามารถทําฌาน อภิญญา สมาบัติ มรรค ผล ให้เกิดได้ในภพปัจจุบันนั้น

บุคคล ๔ จําพวกนี้ มุ่งหมายเอาบุคคลที่เป็นปุถุชน เรียกว่า ปุถุชน ๔

๕. พระโสดาบันบุคคล ได้แก่ ติเหตุกบุคคลที่เป็นปุถุชนนั่นแหละ ซึ่งเป็นผู้มีบุญญาธิการในมรรคและผล ได้ทําการเจริญวิปัสสนา หรือ ได้เจริญองค์มรรค ๘ จนได้บรรลุโสดาปัตติมรรคและโสดาปัตติผล

๖. พระสกิทาคามีบุคคล ได้แก่ พระโสดาบันบุคคลนั่นแหละ ที่ได้ทําการเจริญวิปัสสนาหรือได้เจริญองค์มรรค ๘ ต่อไปอีกจนได้บรรลุสกิทาคามิมรรคและ สกิทาคามิผล

๗. พระอนาคามีบุคคล ได้แก่ พระสกิทาคามีบุคคลนั่นแหละ ได้ทําการเจริญวิปัสสนา หรือ ได้เจริญองค์มรรค ๘ ต่อไปอีก จนได้บรรลุอนาคามิมรรคและอนาคามิผล

๘. พระอรหันตบุคคล ได้แก่ พระอนาคามีบุคคลนั่นแหละได้ทําการเจริญวิปัสสนา หรือ ได้เจริญองค์มรรค ๘ ต่อไปอีก จนได้บรรลุอรหัตตมรรคและอรหัตตผล

บุคคล ๔ จําพวกที่กล่าวมา [ข้อ ๕ ๘] นี้ เรียกว่า พระอริยบุคคล ๔ ได้แก่ บุคคลที่ปฏิสนธิด้วยติเหตุกปฏิสนธิจิต ๑๓ ดวง คือ มหาวิปากญาณสัมปยุตตจิต ๔ รูปาวจรวิบากจิต ๕ อรูปาวจรวิบากจิต ๔ ดวงใดดวงหนึ่ง

กามาวจรจิต

กามาวจรจิต หมายถึง จิตที่เกิดได้กับกามบุคคล คือ บุคคลที่เกิดอยู่ในกามภูมิ และเป็นจิตที่รับกามอารมณ์โดยมาก มี ๓ จําพวก คือ

๑. อกุศลจิต หมายถึง จิตที่เป็นอกุศล คือ มีสภาพเศร้าหมอง เร่าร้อน และให้ผลเป็นความทุกข์ เพราะประกอบด้วยอกุศลเจตสิก มี ๓ จําพวก คือ โลภมูลจิต ๘ โทสมูลจิต ๒ โมหมูลจิต ๒

๒. อเหตุกจิต หมายถึง จิตที่เกิดขึ้นโดยไม่มีเหตุ ๖ คือ โลภเหตุ โทสเหตุ โมหเหตุ อโลภเหตุ อโทสเหตุ อโมหเหตุ อย่างใดอย่างหนึ่ง ประกอบร่วมด้วยเลย แต่เกิดขึ้นด้วยอํานาจอุปัตติเหตุของตน ๆ มี ๓ จําพวก คือ อกุศลวิบากจิต ๗ อเหตุกกุศลวิบากจิต ๘ อเหตุกกิริยาจิต ๓

๓. กามาวจรโสภณจิต หมายถึง จิตที่ท่องเที่ยวเกิดอยู่ในกามภูมิ คือ เกิดกับกาม ฃบุคคล รับกามอารมณ์อยู่โดยมาก แต่เป็นจิตที่ดีงาม ให้ผลเป็นความสุข เพราะประกอบด้วยโสภณเจตสิกซึ่งเป็นเจตสิกฝ่ายดีงามทําให้จิตนั้นมีสภาพดีงามตามไปด้วย มี ๓ จําพวก คือ มหากุศลจิต ๘ มหาวิบากจิต ๘ มหากิริยาจิต ๘

กาม ๒ อย่าง

คําว่า กาม หมายถึง ความใคร่ ความยินดีความติดใจเป็นต้นมี ๒ ประการ คือ

๑. กิเลสกาม หมายถึง สภาพที่เป็นตัวปรารถนา ตัวใคร่ ตัวกําหนัดยินดี เพลิดเพลินในลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ที่เป็นกามธรรม อันได้แก่ อกุศลเจตสิกทั้งหลาย คือ โลภะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ วิจิกิจฉา ถีนะ อุทธัจจะ อหิริกะ อโนตตัปปะ ที่เป็นองค์ธรรมของกิเลสกาม และอิสสา มัจฉริยะ กุกกุจจะ มิทธะ ที่นับเนื่องในจําพวกกิเลสกามนั้น ด้วย ซึ่งมีความยึดมั่นในกามคุณอารมณ์ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และความคิดนึกถึงอารมณ์เหล่านั้น ทําให้เกิดความกําหนัดในอารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความกําหนัด ขัดเคืองในอารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความขัดเคือง และหลงในอารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความหลง อยู่เป็นประจํา

๒. วัตถุกาม หมายถึง สภาพธรรมที่เป็นอารมณ์ให้กามตัณหาเข้าไปยึดหน่วงไว้ อัน ได้แก่ กามาวจรจิต ๕๔ เจตสิกที่ประกอบ ๕๒ และรูป ๒๘ กล่าวคือ รูป [สีต่าง ๆ] เสียง กลิ่น รส สัมผัส อารมณ์ที่คิดนึกถึง ซึ่งเป็นสิ่งอันน่าใคร่น่าปรารถนา น่าชอบใจ ของกามตัณหานั่นเอง

ความหมายของกามาวจรจิต ๓ ประการ
กามาวจรจิต เมื่อสรุปแล้ว มีความหมายเป็น ๓ ประการ กล่าวคือ

๑. จิตที่รับกามอารมณ์โดยมาก หมายความว่า เป็นจิตที่สามารถรับกามอารมณ์ คือ อารมณ์อันน่าใคร่น่าปรารถนาน่าชอบใจของกามตัณหาได้ทั้ง ๖ อารมณ์ ได้แก่ รูป[สี] เสียง กลิ่น รส สัมผัส และความรู้สึกนึกคิดที่เป็นไปในกามโลกโดยมาก แต่สามารถรับอารมณ์อย่างอื่นได้บ้าง คือ

  • ๑. อกุศลจิต สามารถรับพวกบัญญัติอารมณ์ มหัคคตอารมณ์ อันได้แก่ อารมณ์สมถะ รูปฌาน อรูปฌาน หรือโลกียอารมณ์ทั้งปวง อันได้แก่ โลกียจิต ๘๑ เจตสิก ๕๒ รูป ๒๘ และบัญญัติอารมณ์ต่าง ๆ ได้ตามสมควร
  • ๒. มหากุศลจิต มหากิริยาจิต สามารถรับบัญญัติอารมณ์และมหัคคตอารมณ์ อัน ได้แก่ อารมณ์สมถะ มหัคคตจิต และเจตสิกที่ประกอบ อนึ่ง มหากุศลจิต มหากิริยาจิต ที่เป็นญาณสัมปยุตต์ สามารถรับโลกุตตรอารมณ์ อันได้แก่ มรรคจิต ผลจิต นิพพาน ได้ตามสมควร
  • ๓. มโนทวาราวัชชนจิต สามารถรับอารมณ์ได้ทั่วไปทั้งหมด ไม่มีเหลือ หมายความว่า มโนทวาวัชชนจิตนี้ เมื่อเกิดทางปัญจทวารย่อมทําหน้าที่โวฏฐัพพนะ คือ ตัดสินอารมณ์ ซึ่งสามารถรับปัญจารมณ์ ได้แก่ อารมณ์ ๕ คือ รูป [สี] เสียง กลิ่น รส สัมผัสได้ทั้งหมด และเมื่อเกิดทางมโนทวาร ย่อมทําหน้าที่อาวัชชนะ คือ หน่วงเหนี่ยวหรือพิจารณาอารมณ์เป็นครั้งแรก ซึ่งสามารถรับอารมณ์ ๖ ได้แก่ รูป [สี] เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะทั้งหมดที่ปรากฏทางมโนทวารโดยสภาพเป็นธัมมารมณ์ คือ สภาพอารมณ์เหล่านั้นที่รับรู้ทางใจนั่นเอง


๒. จิตที่เกิดอยู่ในกามภูมิ ๑๑ โดยมาก หมายความว่า จิตเหล่านี้ เกิดอยู่กับบุคคลที่เกิดอยู่ในกามภูมิ คือ อบายสัตว์ ๔ มนุษย์ ๑ เทวดา ๖ ชั้นเป็นประจํา นอกจากบุคคลนั้น ได้ฌาน อภิญญา มรรค ผล จึงจะมีจิตประเภทอื่นเกิดแทรกขึ้นมาบ้าง ถ้าไม่ได้คุณวิเศษอย่างอื่น ก็จะมีแต่กามาวจรจิตเท่านั้นเกิด อนึ่ง จิตเหล่านี้ ย่อมสามารถเกิดกับบุคคลที่เกิดในรูปภูมิและอรูปภูมิได้ตามสมควร คือ

  • ๑. โลภมูลจิต ๘ โมหมูลจิต ๒ สามารถเกิดได้กับรูปพรหม และอรูปพรหมที่ยังเป็น ปุถุชนอยู่
  • ๒. ทิฏฐิคตวิปปยุตตจิต ๔ อุทธัจจสัมปยุตตจิต ๑ สามารถเกิดได้กับรูปพรหมและ อรูปพรหม ที่เป็นพระโสดาบัน พระสกิทาคามี และพระอนาคามี
  • ๓. จักขุวิญญาณจิต ๒ โสตวิญญาณจิต ๒ สัมปฏิจฉนจิต ๒ สันตีรณจิต ๓ ปัญจทวาราวัชชนจิต ๑ สามารถเกิดได้กับพวกรูปพรหม ๑๕ ภูมิ ทุกจําพวก [ยกเว้นอสัญญสัตตพรหม ซึ่งไม่มีจิตเกิดเลย]
  • ๔. มหากุศลจิต ๘ สามารถเกิดได้กับรูปพรหมและอรูปพรหม ที่เป็นปุถุชน พระโสดาบัน พระสกิทาคามี และพระอนาคามี
  • ๕. มหากิริยาจิต ๘ สามารถเกิดได้กับรูปพรหมและอรูปพรหมที่เป็นพระอรหันต์
  • ๖. หตุปปาทจิต ๑ สามารถเกิดกับพระอรหันต์ที่เป็นรูปพรหมได้
  • ๗. มโนทวาราวัชชนจิต ๑ สามารถเกิดได้กับรูปพรหมและอรูปพรหมทั้งหมด [เพราะเป็นจิตที่เกิดได้กับบุคคลที่มีจิตเกิดได้ทั้งหมด]


๓. จิตที่ข้องอยู่ในอํานาจแห่งกามตัณหาโดยมาก หมายความว่า จิตเหล่านี้ มีความเกี่ยวเนื่องอยู่ในกามคุณอารมณ์และถูกกิเลสกามทั้งหลายยึดหน่วงเป็นอารมณ์โดยมาก กล่าวคือ

  • ๑. มีสภาพเกี่ยวเนื่องและแปดเปื้อนด้วยกามตัณหาโดยมาก คือ ความยินดี พอใจ ติดใจและพัวพันอยู่ในกามคุณอารมณ์โดยมาก ได้แก่ อกุศลจิต ๑๒ และเจตสิกที่ประกอบ ๒๗ ดวงตามสมควร
  • ๒. รับกามอารมณ์ หรือ เป็นอารมณ์ของกิเลสกามโดยมาก ได้แก่ อเหตุกจิต ๑๘ กามาวจรโสภณจิต ๒๔ และเจตสิกที่ประกอบ ๓๘ ดวงตามสมควร
  • ๓. อเหตุกจิต ๑๗ [เว้นมโนทวาราวัชชนจิต ๑] มหาวิบากจิต ๘ รวม ๒๕ ดวงนี้ เป็นจิตที่รับกามอารมณ์อย่างเดียว และเป็นอารมณ์ของกิเลสกามอย่างเดียว เรียกว่า ปริตตารัมมณธรรม โดยส่วนเดียว


ส่วนมหากุศลจิต ๘ มหากิริยาจิต ๘ นั้น ถึงแม้จะสามารถรับอารมณ์อื่นได้บ้าง แต่ไม่เสมอไป รับได้เป็นบางครั้งบางคราวและเป็นบางบุคคลเท่านั้น กล่าวคือ

บุคคลใดมีประสบการณ์ในการเสพคุ้นในอารมณ์ใด มหากุศลจิต [ของปุถุชนและพระเสกขบุคคล ๓] หรือมหากิริยาจิต [ของพระอรหันต์] นั้น สามารถตอบสนองต่ออารมณ์นั้นได้ตามสมควรแก่ความถนัดเจนจัดหรือชํานาญ

อนึ่ง บุคคลใดได้ทําการฝึกฝนพัฒนาสภาพของจิตให้ประณีตยิ่งขึ้นโดยลําดับ มหากุศลจิต [ของปุถุชนและพระเสกขบุคคล ๓] นั้นก็สามารถรับรู้อารมณ์ที่เป็นโลกุตตรธรรมได้ กล่าวคือ มหากุศลญาณสัมปยุตตจิตที่เกิดในมัคควิถี สามารถรับพระนิพพานเป็นอารมณ์ได้ และที่เกิดในปัจจเวกขณวิถี สามารถรับมรรคญาณ ผลญาณ [ของบุคคลนั้น ๆ] และนิพพานเป็นอารมณ์ได้ หรือมหากิริยาญาณสัมปยุตตจิต [ของพระอรหันต์] ในปัจจเวกขณวิถี ย่อมสามารถรับอรหัตตมรรค อรหัตตผลและนิพพานเป็นอารมณ์ได้

สรุปความแล้ว

มหากุศลญาณวิปปยุตตจิต ๔ และมหากิริยาญาณวิปปยุตตจิต ๔ สามารถรับได้ทั้ง กามอารมณ์ มหัคคตอารมณ์และบัญญัติอารมณ์ ตามสมควรแก่ความสามารถของบุคคล นั้น ๆ ที่จะรับได้

มหากุศลญาณสัมปยุตตจิต ๔ สามารถรับได้ทั้งกามอารมณ์ มหัคคตอารมณ์ โลกุตตรอารมณ์ [ยกเว้นอรหัตตมรรคอรหัตตผล] และบัญญัติอารมณ์ ตามสมควรแก่ความสามารถของบุคคลนั้น ๆ ที่จะรับได้

มหากิริยาญาณสัมปยุตตจิต สามารถรับได้ทั้งกามอารมณ์ มหัคคตอารมณ์ โลกุตตรอารมณ์และบัญญัติอารมณ์ทั้งหมด ตามสมควรแก่ความสามารถของพระอรหันต์นั้น ๆ ที่จะรับได้

อกุศลจิต

อกุศลจิต หมายถึง จิตที่มีสภาพเป็นอาการเศร้าหมองเนื่องจากถูกอกุศลเจตสิกเข้า ไปปรุงแต่งให้มีสภาพเป็นไปต่าง ๆ กล่าวคือ เป็นความโลภ ความโกรธ ความหลง เป็นต้น อนึ่ง อกุศลจิตนี้นอกจากมีสภาพเศร้าหมองในตนเองแล้ว ก็ยังส่งผลให้สัตว์ทั้งหลาย ผู้กระทําอกุศลกรรมด้วยอํานาจของจิตนั้นได้รับความทุกข์ความทรมานไปด้วย

อกุศลจิตนี้ มี ๑๒ ดวง ซึ่งแบ่งเป็น ๓ จําพวก คือ โลภมูลจิตมี ๘ ดวง โทสมูลจิตมี ๒ ดวงและโมหมูลจิตมี ๒ ดวง

  • ๑. โลภมูลจิต หมายถึง จิตที่ประกอบด้วยโลภเจตสิก เป็นมูลเป็นประธาน ทําให้ เกิดความโลภ ความอยากได้ ความยึดติดในอารมณ์ที่ได้ประสบทางทวารทั้ง ๖ คือ เห็นรูป ทางตา ได้ยินเสียงทางหู ได้กลิ่นทางจมูก รู้รสทางลิ้น สัมผัสทางกายและคิดนึกทางใจ
  • ๒. โทสมูลจิต หมายถึง จิตที่ประกอบด้วยโทสเจตสิก เป็นมูลเป็นประธาน ทําให้ เกิดความโกรธ ความประทุษร้าย ความขัดเคือง ความเสียใจ ความเกลียด ความกลัว ความอาย [เพราะเสียหน้า] เป็นต้น ต่ออารมณ์ที่ได้ประสบนั้น ๆ
  • ๓. โมหมูลจิต หมายถึง จิตที่ประกอบด้วยโมหเจตสิก เป็นมูลเป็นประธาน ทําให้ เกิดความโง่ ความหลง ความงมงาย ความไม่รู้สภาวธรรมโดยทั่วไปตามความเป็นจริง ใน อารมณ์ที่ได้ประสบนั้น ๆ


โลภมูลจิต

โลภมูลจิต หมายถึง จิตที่มีสภาพเป็นความโลภ ความยินดีติดใจ ความยึดติด เป็นต้น ด้วยอํานาจแห่งโลภเจตสิกที่เป็นตัวนํา เป็นรากเหง้าเค้ามูล จึงทําให้เกิดปฏิกิริยา เหล่านี้ คือ

  • ๑. ความต้องการ หมายถึง สภาพของโลภะที่เกิดขึ้นในระยะเริ่มต้น ซึ่งยังไม่มีกําลัง มากนัก เนื่องจากเหตุปัจจัยสนับสนุน ยังมีกําลังน้อยอยู่
  • ๒. ความอยากได้ หมายถึง สภาพของโลภะที่เริ่มมีกําลังมากขึ้น เนื่องจากได้เหตุ ปัจจัยสนับสนุน เช่น เก็บกดความต้องการสิ่งนั้นไว้นานๆ หรือ ได้ประสบสิ่งนั้นบ่อยๆ
  • ๓. ความกําหนัด หมายถึง สภาพของโลภะที่มีกําลังมากขึ้นจนปรากฏเป็นความ กระหาย ดิ้นรน ใครที่จะเสพสิ่งนั้นจนทนแทบไม่ได้ หรือข่มแทบไม่อยู่
  • ๔. ความเพลิดเพลิน หมายถึง สภาพของโลภะที่เกิดขึ้นจากการได้เสพได้สัมผัสกับ สิ่งที่ต้องการอยากได้และที่กําหนัดยินดีนั้นสมความปรารถนา เมื่อได้เสพแล้วย่อมเกิดความเพลิดเพลินหลงใหล
  • ๕. ความยินดีติดใจ หมายถึง สภาพของโลภะที่เกิดขึ้นต่อจากความเพลิดเพลิน หลงไหลเมื่อได้เสพสิ่งนั้นสมปรารถนาแล้ว ทําให้เกิดความยินดีติดใจ คร่ําครวญโหยหา อยากที่จะเสพสิ่งนั้นอยู่เสมอๆ
  • ๖. ความชอบใจ หมายถึง สภาพของโลภะที่เกิดขึ้นต่อจากความยินดีติดใจ เมื่อได้ เสพบ่อยๆ ดังที่ใจต้องการและคร่ําครวญโหยหาแล้ว ย่อมมีความชอบใจ พอใจต่ออารมณ์ นั้นๆ
  • ๗. ความยึดมั่น หมายถึง สภาพของโลภะที่เกิดขึ้นต่อจากความชอบใจ เมื่อได้เสพ คุ้นและติดใจ ย่อมทําให้เกิดความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งนั้นว่า เป็นสาระ เป็นแก่น เป็นสิ่งมี คุณค่า ควรทะนุถนอมหวงแหน ควรแสวงหามาครอบครองเป็นเจ้าของ
  • ๘. ความหวัง หมายถึง สภาพของโลภะที่เกิดขึ้นสืบเนื่องมาจากสภาพของความยึด มั่นในอารมณ์นั้น เมื่อเกิดการพลัดพรากจากสิ่งนั้น หรือสิ่งนั้นเปลี่ยนแปลงไป แตกดับ สลายไป ก็ทําให้เกิดความหวัง ความปรารถนาอยากได้สิ่งที่คล้ายกันนั้น หรือสิ่งอื่นมา ชดเชยสิ่งที่สูญเสียไป ย่อมทําให้เกิดความดิ้นรนและคร่ําครวญโหยหาอยู่เป็นนิตย์
  • ๙. ความคลั่งไคล้ หมายถึง สภาพของโลภะที่เกิดขึ้นต่อเนื่องมาจากสภาพของ ความหวังที่สมหวังแล้วได้สิ่งที่หวังนั้นมา ก็ทําให้เกิดความคลั่งไคล้ คลอเคลีย หลงใหล ติด ใจ หวงแหน ไม่จืดจางคลายหายไป
  • ๑๐. ความปรารถนาลามก หมายถึง สภาพของโลภะที่เกิดขึ้น เป็นสภาพที่สืบเนื่องมาจากความคลั่งไคล้ที่สั่งสมจนหนาแน่นในสันดาน ทําให้เกิดความปรารถนาอยากได้ที่ไร้ขอบเขต ไม่มีที่สิ้นสุด ได้สิ่งนี้แล้ว ก็อยากได้สิ่งนั้น ได้สิ่งนั้นแล้ว ก็อยากได้สิ่งโน้น เป็นเช่นนี้อยู่ร่ําไป


ตัวอย่างโลภมูลจิต ๘

  • โลภมูลจิต ดวงที่ ๑ โสมนัสสสหคตัง ทิฏฐิคตสัมปยุตตัง อสังขาริกัง แปลความว่า จิตที่เกิดขึ้นโดยไม่มีการชักชวน พร้อมด้วยความดีใจ ประกอบด้วยความเห็นผิด ตัวอย่างเช่น นางสาวสุดสวย เป็นคนอารมณ์ดี แต่ไม่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องธรรมะ มักหลงระเริงอยู่กับสิ่งสวยงาม วันหนึ่งเดินไปตลาดเห็นเสื้อผ้าสวย ๆ ที่เขาวางขาย ก็มีความตื่นเต้นเกิดความอยากได้ขึ้นมาทันที
  • โลภมูลจิต ดวงที่ ๒ โสมนัสสสหคตัง ทิฏฐิคตสัมปยุตตัง สสังขาริกัง แปลความว่า จิตที่เกิดขึ้นโดยมีการชักชวน พร้อมด้วยความดีใจ ประกอบด้วยความเห็นผิด ตัวอย่างเช่น นายสุดหล่อ เป็นคนอารมณ์ดี แต่ไม่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องธรรมะ และไม่มีความเข้าใจ เรื่องแฟชั่นในเมือง วันหนึ่งมีโอกาสเข้าไปในเมือง เห็นเขาโฆษณาขายเครื่องสําอาง พร้อมกับพรรณนาถึงคุณภาพของเครื่องสําอางนั้นอย่างพิสดารเกินจริง ซึ่งนายสุดหล่อไม่เคยรู้จัก แต่เมื่อพิจารณาเห็นตัวอย่างที่เขาโชว์ให้ดู และภาพนางแบบนายแบบบนภาพโปสเตอร์ ก็เกิดความสนใจและอยากจะได้ไปใช้ดูบ้าง เพราะเห็นว่าตนเองยังหล่อไม่พอ อยากจะหล่อเหมือนนายแบบในโปสเตอร์บ้าง
  • โลภมูลจิต ดวงที่ ๓ โสมนัสสสหคตัง ทิฏฐิคตวิปปยุตตัง อสังขาริกัง แปลความว่า จิตที่เกิดขึ้นโดยไม่มีการชักชวน พร้อมด้วยความดีใจ ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด ตัวอย่างเช่น นางสาวศรีสะอ้าน เป็นคนอารมณ์ดี ทั้งเป็นคนมีความรู้ธรรมะดีพอสมควรว่า อะไรถูก อะไรผิด อะไรควร อะไรไม่ควร แต่มีอุปนิสัยเป็นคนรักสวยรักงาม ชอบประดับ ตกแต่ง วันหนึ่ง เดินผ่านร้านทอง ได้เห็นทองสีสวยสด รูปร่างสัณฐานน่าประดับตกแต่ง จึง เกิดความอยากได้ทองนั้นมาประดับกายทันที ทั้งที่รู้ว่า ทองย่อมเป็นแต่สภาพของรูปธรรม เท่านั้น แต่ยังติดความอยากไม่ได้
  • โลภมูลจิต ดวงที่ ๔ โสมนัสสสหคตัง ทิฏฐิคตวิปปยุตตัง สสังขาริกัง แปลความว่า จิตที่เกิดขึ้นโดยมีการชักชวน พร้อมด้วยความดีใจ ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด ตัวอย่างเช่น นายกุศล เป็นคนอารมณ์ดี มีความรู้เรื่องธรรมะดีพอสมควร แต่เป็นคนชอบ ความสวยความงาม ความประณีต วันหนึ่ง เดินผ่านร้านอาหาร ต้มยํากุ้ง พอได้กลิ่นต้มยํา กุ้งโชยมา ก็ยังไม่สนใจ เพราะเคยรับประทานมาแล้ว ซึ่งตนเองเพิ่งจะรับประทานอาหาร มาใหม่ ๆ และรู้ว่าอาหารนั้นจะอร่อยเฉพาะตอนที่หิวเท่านั้น แต่คนในร้านก็ร้องเชิญชวน อ้อนวอนให้เข้าไปชิมดูก่อน บอกว่า ไม่ทานไม่เป็นไร แต่ขอให้ลองชิมดูก่อน ถ้าติดใจค่อยว่ากันทีหลัง นายกุศล จึงเดินเข้าไปลองชิมดูแล้วรู้สึกว่า รสชาติดีดังคําโฆษณา จึงเกิดความชอบใจ และสั่งต้มยํากุ้งมารับประทานอย่างเอร็ดอร่อย จนอิ่มหนําสําราญ

  • โลภมูลจิต ดวงที่ ๕ อุเปกขาสหคตัง ทิฏฐิคตสัมปยุตตัง อสังขาริกัง แปลความว่า จิตที่เกิดขึ้นโดยไม่มีการชักชวน พร้อมด้วยความเฉย ๆ ประกอบด้วยความเห็นผิด ตัวอย่างเช่น นางสาวเฉื่อย เป็นคนเชื่องช้า และไม่ค่อยมีความรู้ความเข้าใจเรื่องธรรมะ ทั้ง เป็นคนที่ไม่ค่อยยินดียินร้ายกับสิ่งต่าง ๆ แต่เป็นคนชอบความสวยความงาม ความประณีต อยู่บ้าง วันหนึ่ง เดินไปพบนายสุดหล่อถือเครื่องสําอางเดินผ่านมา นางสาวเฉื่อย เมื่อได้เห็นเครื่องสําอางในมือนายสุดหล่อ ว่าเป็นยี่ห้อแปลกดีน่าสนใจ จึงเกิดความอยากได้ เครื่องสําอางนั้นไปใช้ดูบ้าง

  • โลภมูลจิต ดวงที่ ๖ อุเปกขาสหคตัง ทิฏฐิคตสัมปยุตตัง สสังขาริกัง แปลความว่า จิตที่เกิดขึ้นโดยมีการชักชวน พร้อมด้วยความเฉย ๆ ประกอบด้วยความเห็นผิด ตัวอย่างเช่น นายสุขุม เป็นคนมีลักษณะเฉย ๆ ไม่ค่อยยินดียินร้ายกับสิ่งต่าง ๆ นัก และ เป็นคนที่ไม่มีความรู้เรื่องธรรมะ วันหนึ่ง เดินผ่านโรงละคร ได้ยินเขาโฆษณาละครอยู่ ตนเองไม่ได้สนใจ เพราะไม่ค่อยมีอารมณ์สุนทรีย์ แต่เมื่อคนโฆษณาพยายามชี้ชวน และ ฉายตัวอย่างบางตอนของละครเรื่องนั้นให้ดู พร้อมกับบอกว่า “ถ้าละครเรื่องนี้เล่นไม่สนุก ไม่ถูกใจจะไม่เก็บเงินค่าผ่านประตู และจะแถมเงินให้อีกด้วย” นายสุขุมจึงเริ่มสนใจละครที่ เขาโฆษณานั้นแล้วเดินเข้าไปนั่งดู เมื่อขณะดูละครอยู่นั้น ก็คิดว่า “ละครเรื่องนี้แสดงดี พอสมควรล่ะ” ดังนี้แล้ว ก็เกิดความชอบใจในละครเรื่องนั้น

  • โลภมูลจิต ดวงที่ ๗ อุเปกขาสหคตัง ทิฏฐิคตวิปปยุตตัง อสังขาริกัง แปลความว่า จิตที่เกิดขึ้นโดยไม่มีการชักชวน พร้อมด้วยความเฉย ๆ ไม่ประกอบ ด้วยความเห็นผิด ตัวอย่างเช่น คุณตาเฉย เป็นคนมีความรู้เรื่องธรรมะเป็นอย่างดี ไปวัดฟังเทศน์ฟังธรรม และให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนาอยู่เป็นนิตย์ จนมีความเข้าใจในความเป็นไปของรูปนามขันธ์ ๕ ว่าเป็นแต่เพียงธาตุต่าง ๆ ประชุมพร้อมกัน โดยเหตุปัจจัยแห่งกรรมปรุงแต่ง มี ความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา แต่คุณตาเฉยยังไม่สามารถเจริญวิปัสสนา จนบรรลุมรรคผลนิพพานได้ คุณตาเฉยจึงยังมีความรู้สึกพอใจในภาวะความเป็นอยู่ของคุณตาเฉยเอง ยังมีความพอใจในบุตรภรรยาและทรัพย์สมบัติอยู่ แต่ไม่แสดงอาการยินดีหลงใหลใน สิ่งเหล่านั้น เพราะรู้ว่า เป็นแต่เพียงสิ่งสมมติใช้สอยกันในโลกเท่านั้น และทุกอย่างต้อง ดําเนินไปสู่ความแตกดับด้วยกันทั้งสิ้น

  • โลภมูลจิต ดวงที่ ๘ อุเปกขาสหคตัง ทิฏฐิคตวิปปยุตตัง สสังขาริกัง แปลความว่า จิตที่เกิดขึ้นโดยมีการชักชวน พร้อมด้วยความเฉยๆ ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด ตัวอย่างเช่น พระเสกขบุคคล คือ พระโสดาบัน พระสกิทาคามี หรือ พระอนาคามี ที่ปรารภถึงทรัพย์สมบัติ บุตรภรรยา หรือภาวะความเป็นอริยบุคคลของตนแล้ว เกิด ความคิดว่า ทรัพย์สมบัติเราก็มี บุตรเราก็เติบโตแข็งแรง ภรรยาเราก็ยังมีอยู่ ดังนี้แล้ว จึง เกิดความพอใจยึดติดในสิ่งเหล่านั้น แต่ไม่ได้มีความยินดีเพลิดเพลินกับสิ่งเหล่านั้น เพราะเป็นผู้รู้กระจ่างแจ้งแล้วว่า สิ่งต่างๆ เป็นแต่เพียงรูปนามขันธ์ ๕ เท่านั้น ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่ บุคคล ไม่ใช่ตัวตนแต่ประการใด กําลังเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยอยู่เนืองนิตย์ดังนี้แล้ว จึงทําความวางเฉยต่ออารมณ์นั้นๆ แต่เนื่องจากยังละโลภะไม่ได้ จึงเกิดความพอใจอยู่


เหตุที่ทําให้เกิดโลภะ ๔ ประการ

การที่บุคคลจะเกิดความโลภหรือความยึดติดในอารมณ์ ที่เรียกว่า โลภมูลจิต ได้นั้น ย่อมมีเหตุปัจจัยที่เป็นเครื่องสนับสนุนโลภะ ๔ ประการอย่างใดอย่างหนึ่งคือ

๑. โลภะปะริวาระกัมมะปะฏิสันธิกะตา ปฏิสนธิมาด้วยกรรมที่มีโลภะเป็นบริวาร หมายความว่า บุคคลนั้นเป็นผู้ปฏิสนธิมาด้วยกรรมที่มีโลภะเป็นปัจจัย ได้แก่ ผู้ที่ปฏิสนธิ ด้วยอุเบกขาสันติรณอกุศลวิบากจิต ๑ ดวง เป็นพวกเปรต อสุรกาย ต้องทุกข์ทรมาน เพราะความอดอยาก เนื่องจากสร้างกรรมเกี่ยวกับความโลภไว้มาก เป็นผู้ไม่รู้จักอิ่ม ไม่รู้จักพอ หรือเป็นผู้สั่งสมอุปนิสัยสันดานแห่งความโลภไว้มาก เมื่อได้มาเกิดเป็นมนุษย์หรือ เทวดา [ด้วยวิบากแห่งกุศลกรรมอํานวยผลให้ หรือเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน เพราะโมหะ เป็นปัจจัย จึงติดนิสัยเป็นผู้มักโลภ มักยินดี พอใจ ติดใจ ยึดติดในสิ่งต่างๆ ที่ตนเองชอบใจได้โดยง่าย

๒. โลภะอุสสันนะภะวะโต จะวะนะตา จุติจากภพที่มีโลภะมาก หมายความว่า บุคคลนั้นเป็นผู้ตายมาจากภพภูมิที่มีความโลภ ความอยากโดยมาก ได้แก่ เปรต อสุรกาย ซึ่งเป็นภพภูมิที่เต็มไปด้วยความอดอยาก ทุกข์ทรมานด้วยความโหยหิวอยู่ตลอดเวลา ไม่ค่อยได้สมหวังในความสุขสบาย ทําให้เก็บกดความรู้สึกเป็นอุปนิสัยสันดาน เมื่อมาเกิดในภพภูมิใหม่ จึงทําให้เป็นผู้ที่เกิดความพอใจ ติดใจ ทะยานอยากในสิ่งต่าง ๆ ที่ประสบได้ง่าย และเสพจนไม่รู้จักอิ่ม ไม่รู้จักเบื่อ ไม่รู้จักพอ ถ้าไม่รู้จักประมาณก็ทําให้ตกเป็นทาสแห่งตัณหา เป็นอยู่เช่นนี้เรื่อยไป ทําให้สั่งสมอุปนิสัยสันดานต่อไปในภพภูมิข้างหน้าอีก

๓. อิฏฐารัมมะณะสะมาโยโค ได้ประสบกับอารมณ์ที่น่าปรารถนาอยู่เสมอ หมายความว่า เป็นผู้ที่ได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี เช่น อยู่ในครอบครัวที่มีฐานะดี กินอยู่ อย่างสุขสบายไม่อดอยาก อยากได้สิ่งใด ก็มีคนหามาประเคนให้ทุกอย่าง มีเครื่องอํานวย ความสะดวกพร้อมสรรพ ปรารถนากามสุขอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็สามารถเสพได้ดังที่ต้องการ หรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยสิ่งเจริญหูเจริญตา ไม่ค่อยมีอะไรทําให้ขัดหูขัดตา ขัดใจเลย ดังนี้เป็นต้น ทําให้บุคคลนั้นติดในความสะดวกสบาย ไม่มีความรู้สึกที่เก็บกด ไม่มีปมด้อยในชีวิต หรือกลับเป็นปมเขื่องของชีวิต อยากได้อะไร อยากทําอะไร ต้องได้ดังใจ จึงทําให้มีความโลภได้ง่าย

๔. สังโยชะนีเยสุ อัสสาทะทัสสะนัง เป็นผู้ที่มีความเห็นในธรรมที่เป็นกิเลสเครื่องร้อยรัดว่าเป็นสิ่งที่น่ายินดี หมายความว่า เป็นคนมองโลกในแง่ดีเกินไป มองทุกสิ่งทุกอย่าง เห็นเป็นสิ่งที่น่ารื่นเริงสนุกสนาน น่าเพลิดเพลินเจริญใจไปเสียหมด จึงทําให้เกิดความดิ้นรนทะเยอทะยานอยากได้ในอารมณ์ต่าง ๆ และเกิดอาการหลงใหล คลั่งไคล้ ติดใจ ชอบ เสพ ชอบกิน ชอบเที่ยว ชอบบันเทิงรื่นเริงสนุกสนาน มองเห็นสิ่งเหล่านั้นว่าเป็นของมี สาระแก่นสารของชีวิตไป

เหตุที่ทําให้เกิดโลภะโสมนัส ๔ ประการ

การที่บุคคลจะเกิดโลภมูลจิตที่เกิดพร้อมด้วยโสมนัสสเวทนาได้นั้น ย่อมมีเหตุ ปัจจัยสนับสนุน ๔ ประการ อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ

๑. โสมะนัสสะปะฏิสันธิกะตา เป็นผู้มีปฏิสนธิพร้อมด้วยโสมนัสสเวทนา หมายความว่า เป็นผู้ปฏิสนธิมาด้วยมหาวิบากจิตที่เป็นโสมนัส ๔ ดวงใดดวงหนึ่ง เป็น มนุษย์หรือเทวดา ๖ ชั้น เมื่อเกิดมาแล้ว จึงทําให้เป็นผู้ที่มีอุปนิสัยแช่มชื่นเบิกบาน ยิ้มแย้ม แจ่มใสชอบรื่นเริงสนุกสนาน หรือมีอารมณ์ขัน ไม่ค่อยเก็บกดความรู้สึกไว้ มักมองโลกใน แง่ดี มองปัญหาทุกอย่างมีทางแก้ไขได้เสมอ เป็นผู้รู้จักปลดปล่อยอารมณ์อยู่เสมอ ดังนี้เป็นต้น เมื่อมีความรู้สึกที่เกี่ยวกับความโลภในอารมณ์บางอย่างที่ตนเองเคยเสพคุ้นเกิดขึ้น จึงทําให้เกิดความโลภที่เกิดพร้อมด้วยความยินดีได้

๒. อะคัมภีระปะกะติกา เป็นผู้ไม่ค่อยมีความสุขุมคัมภีรภาพ หมายความว่า เป็นบุคคลที่มีอุปนิสัยรื่นเริงสนุกสนาน ไม่ค่อยสุขุม ไม่ค่อยสําเหนียกสํารวม ไม่ค่อยเก็บกด ความรู้สึกไว้ในใจ มักปลดปล่อยไปตามอารมณ์ และปรับเปลี่ยนความรู้สึกได้ง่าย หรือเป็นคนไม่มักหงุดหงิดรําคาญง่าย ไม่มักโกรธ ไม่อาฆาตพยาบาท มองเห็นเป็นของสนุกสนาน เมื่อมีความรู้สึกที่เกี่ยวกับความโลภในอารมณ์บางอย่างที่ตนเองเคยเสพคุ้นเกิดขึ้น จึงทําให้เกิดความโลภที่เกิดพร้อมด้วยความยินดีได้

๓. อิฏฐารัมมะณะสะมาโยโค ได้ประสบกับอารมณ์ที่ดีอยู่เสมอ [ดังแสดงมาแล้วใน เหตุที่ทําให้เกิดโลภะ] เมื่อมีความรู้สึกที่เกี่ยวกับความโลภในอารมณ์บางอย่างที่ตนเองเคยเสพคุ้นเกิดขึ้น จึงทําให้เกิดความโลภที่ประกอบด้วยความยินดีได้

๔. พยะสะนะมุตติ เป็นผู้ที่พ้นจากความพินาศ ๕ ประการ หมายความว่า เป็นผู้ที่ไม่เคยประสบภัยพิบัติอย่างร้ายแรง หรือไม่เคยประสบกับความสูญเสียอย่างใหญ่หลวง ๕ ประการ กล่าวคือ
  • ๑. โภคพยสนะ สูญเสียทรัพย์สมบัติไปหมดสิ้น
  • ๒. ญาติพยสนะ สูญเสียญาติผู้เป็นที่รักยิ่งไป
  • ๓. โรคพยสนะ ถึงความวิบัติเพราะเป็นโรคร้ายแรง
  • ๔. สีลพยสนะ ถึงความวิบัติแห่งศีลที่ตนเองรักษาอยู่ จนไม่สามารถแก้ไขได้อีก
  • ๕. ทิฏฐิพยสนะ ถึงความวิบัติเพราะทิฏฐิ คือ เมื่อทราบว่า ที่ผ่านมานั้นตนเองมี ความเห็นผิดและถือผิดปฏิบัติผิดมาตลอด
เมื่อบุคคลไม่เคยประสบภัยพิบัติเหล่านี้ จึงทําให้ไม่มีความเก็บกดทางด้าน ความรู้สึก มีความปลอดโปร่งโล่งใจ เมื่อมีความรู้สึกที่เกี่ยวกับความโลภในอารมณ์ บางอย่างที่ตนเองเคยเสพคุ้นเกิดขึ้น จึงทําให้เกิดความโลภที่ประกอบด้วยความยินดีได้

เหตุที่ทําให้เกิดโลภะอุเบกขา ๕ ประการ

การที่บุคคลจะเกิดโลภมูลจิตที่เกิดพร้อมด้วยอุเบกขาเวทนาได้นั้น ย่อมมีเหตุปัจจัยสนับสนุน ๕ ประการ อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ

๑. อุเปกขาปะฏิสันธิกะตา เป็นผู้มีปฏิสนธิจิตเกิดพร้อมด้วยอุเบกขาเวทนา หมายความว่า เป็นผู้ปฏิสนธิมาด้วยอุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบากจิต เป็นพวกอบายสัตว์ทั้ง ๔ ทําให้ประสิทธิภาพในการรับรู้อารมณ์บางอย่างน้อยไป นอกจากอารมณ์ที่ตนเองเคย เสพคุ้นมา] เมื่อมีความรู้สึกที่เกี่ยวกับความโลภบางอย่างในอารมณ์ตนเองไม่เคยเสพคุ้น เกิดขึ้น จึงทําให้เกิดความโลภที่ประกอบด้วยอุเบกขาได้ หรือเป็นผู้ปฏิสนธิมาด้วยอุเบกขา สันตีรณกุศลวิบากจิต เป็นมนุษย์หรือเป็นเทวดาชั้นจาตุมหาราชิกา ที่เป็นสุคติอเหตุก บุคคล ซึ่งเป็นผู้มีประสิทธิภาพในการรับรู้หรือตอบสนองต่ออารมณ์บางอย่างน้อยไป [นอกจากอารมณ์ที่ตนเองเคยเสพคุ้นมา] เมื่อมีอารมณ์ที่เกี่ยวกับความโลภบางอย่างเกิดขึ้น จึงทําให้เกิดความโลภที่ประกอบด้วยอุเบกขาได้ หรือเป็นผู้ปฏิสนธิมาด้วยมหาวิบากจิตที่ เป็นอุเบกขา ๔ ดวง ดวงใดดวงหนึ่ง เป็นมนุษย์หรือเป็นเทวดา ๖ เมื่อเกิดมาแล้ว จึงทําให้ เป็นผู้ที่มีอุปนิสัยเฉย ๆ อืดอาด เฉื่อยชา ยิ้มยาก ไม่ค่อยคบหาสมาคมกับใคร ไม่ค่อยรื่นเริง สนุกสนาน ไม่ค่อยมีอารมณ์ขัน มองเห็นทุกสิ่งเป็นเรื่องจริงจังไปหมด หรือ เป็นผู้ที่มักเก็บ กดความรู้สึกไว้ ไม่ค่อยรู้จักปลดปล่อยอารมณ์ ดังนี้เป็นต้น เมื่อมีความรู้สึกที่เกี่ยวกับความโลภในอารมณ์บางอย่างที่ตนเองไม่ค่อยได้เสพคุ้นเกิดขึ้น จึงทําให้เกิดความโลภที่เกิดพร้อมด้วยความเฉย ๆ ได้

๒. คัมภีระปะกะติกา เป็นผู้มีความสุขุมคัมภีรภาพ หมายความว่า เป็นบุคคลที่มี ความสําเหนียกสํารวม มีความระมัดระวังอยู่เสมอ อาจเนื่องมาจากมีประสบการณ์ในชีวิต มามาก มีการศึกษาสูง มียศถาบรรดาศักดิ์ตําแหน่งหน้าที่การงานสูง ต้องพยายามระมัดระวังในการวางตนให้เหมาะสมกับฐานะอยู่เสมอ หรือเป็นนักปฏิบัติธรรมที่ผ่านการ สําเหนียกสํารวมกายวาจาใจอยู่เสมอ ดังนี้เป็นต้น เมื่อมีความรู้สึกที่เกี่ยวกับความโลภใน อารมณ์บางอย่างที่ตนเองไม่ค่อยได้เสพคุ้นเกิดขึ้น จึงทําให้เกิดความโลภที่เกิดพร้อมด้วย ความเฉย ๆ คือ ความรู้สึกแบบธรรมดาได้

๓. มัชฌัตตารัมมะณะสะมาโยโค ได้ประสบแต่อารมณ์ระดับปานกลางอยู่เสมอ หมายความว่า เป็นผู้ที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เป็นแบบธรรมดาทั่วไป เช่น อยู่ในถิ่น ทุรกันดาร หรือในสังคมที่ยากจน มีชีวิตค่อนข้างฝืดเคือง ไม่ค่อยได้พบเห็นสิ่งที่เจริญหู เจริญตา วัตถุสิ่งของเครื่องอุปโภคบริโภคทั้งหลาย ก็ได้แต่สิ่งที่หยาบ ๆ ปอน ๆ ไม่หรูหรา ไม่เคยได้สัมผัสกับสิ่งที่ดี ๆ ประณีตหรูหรา ดังนี้เป็นต้น เมื่อมีความรู้สึกที่เกี่ยวกับความ โลภในอารมณ์บางอย่างที่ตนเองไม่ค่อยได้เสพคุ้นเกิดขึ้น จึงทําให้เกิดความพึงพอใจหรือ ความชอบใจที่เกิดพร้อมด้วยความเฉย ๆ ได้ เนื่องจากทําใจไว้ก่อนในสิ่งที่ตนจะได้มานั้นว่า ไม่เต็มความปรารถนา

๔. พยะสะนะมุตติ พ้นจากความพินาศ ๕ ประการ ดังที่แสดงมาแล้วในเหตุที่ทํา ให้เกิดโลภโสมนัส] เมื่อมีความรู้สึกที่เกี่ยวกับความโลภในอารมณ์บางอย่างที่ตนเองไม่ค่อย ได้เสพคุ้นเกิดขึ้น จึงทําให้เกิดความพึงพอใจหรือชอบใจที่เกิดพร้อมด้วยความเฉย ๆ ได้

๕. มูคะธาตุกะตา เป็นผู้มีสันดานแห่งความเป็นคนใบ้ หมายความว่า เป็นผู้ที่มี อุปนิสัยเฉย ๆ อืดอาด เฉื่อยชา ตอบสนองต่ออารมณ์ช้า ยิ้มยาก พูดน้อย ถามหลายคํา ตอบแค่คําสองคํา มีประสบการณ์ในชีวิตน้อย ไม่ค่อยคบหาสมาคมกับใคร ไม่ค่อยรื่นเริง สนุกสนาน ไม่ค่อยมีอารมณ์ขัน หรือมีปมด้อยในชีวิตมาก เป็นผู้ที่มักเก็บกดความรู้สึกไว้ ไม่ค่อยรู้จักปลดปล่อยอารมณ์ ดังนี้เป็นต้น เมื่อมีความรู้สึกที่เกี่ยวกับความโลภในอารมณ์ บางอย่างที่ตนเองไม่ค่อยได้เสพคุ้นเกิดขึ้น จึงทําให้เกิดความพึงพอใจหรือความชอบใจ ที่ เกิดพร้อมด้วยความเฉยๆ ได้

โทสมูลจิต

โทสมูลจิต หมายถึง จิตที่มีสภาพเป็นความประทุษร้าย หรือผลักไสอารมณ์ คือ มี การตอบสนองต่ออารมณ์ในทางลบ แบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ โทสะรุกหน้า อย่างหนึ่ง โทสะถอยหลัง อย่างหนึ่ง ซึ่งมีสภาพดังต่อไปนี้

๑. ความไม่ชอบ หมายถึง สภาพของโทสะที่เกิดขึ้นในช่วงแรก ๆ เพราะได้กระทบ กับอนิฏฐารมณ์ คือ อารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา หรือ อาฆาตวัตถุอย่างใดอย่างหนึ่ง รวมทั้ง สัตว์และบุคคลผู้ไม่เป็นที่รักไม่เป็นที่พอใจ เป็นต้น เมื่อบุคคลนั้น ขาดโยนิโสมนสิการ ทําใจ ไม่แยบคายแล้ว โทสมูลจิตย่อมเกิดขึ้น ตอบสนองต่ออารมณ์นั้น ด้วยความผลักไสอารมณ์ให้พ้นไป

๒. ความเกลียด หมายถึง สภาพของโทสะที่เกิดขึ้นสืบเนื่องมาจากความ ไม่ชอบใจ เมื่อสภาพของอารมณ์นั้น ยังไม่พ้น หรือ ยังไม่หายไป ยังต้องประสบอยู่เช่นนั้น เสมอ ๆ ทําให้เกิดความเก็บกด สะสมความไม่พอใจให้มากขึ้น จนกลายเป็นความเกลียดชัง

๓. ความหงุดหงิด หมายถึง สภาพของโทสะที่เกิดขึ้นสืบเนื่องมาจากความเกลียด เมื่ออารมณ์นั้น ยังไม่หายไป ยังไม่ดับไป ทําให้เกิดความหงุดหงิด คิดหาวิธีการที่จะสลัดให้ พ้นไป หรือหาทางหลีกเลี่ยงให้พ้นไป

๔. ความโกรธ หมายถึง สภาพของโทสะที่เกิดขึ้นสืบเนื่องมาจากความหงุดหงิดเบื่อ หน่ายต่ออารมณ์นั้น เมื่อยังไม่สามารถที่จะสลัดออกไปหรือหลีกเลี่ยงให้พ้นไปได้ ทําให้เกิด ความเก็บกดยิ่งขึ้น กลายเป็นความโกรธ มีปฏิกิริยาทางจิตที่ตอบสนองต่ออารมณ์นั้น ด้วย การประทุษร้ายที่รุนแรงขึ้น

๕. ความอาฆาต หมายถึง สภาพของโทสะที่เกิดขึ้นสืบเนื่องมาจากความโกรธ ที่ เก็บกดสะสมไว้ เมื่อเพิ่มกําลังมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยไม่มีทางขจัดออกไปหรือไม่สามารถ บรรเทาให้ลดลงไปได้ และยิ่งเพิ่มเหตุปัจจัยเข้ามาอีก จึงทําให้เกิดความอาฆาตเคียดแค้น ขึ้นมา

๖. ความปองร้าย หมายถึง สภาพของโทสะที่เกิดขึ้นสืบเนื่องมาจากความอาฆาต เมื่อเหตุปัจจัยยังไม่หมดไป หรือ ยิ่งเพิ่มพูนทวีขึ้นอีก จึงทําให้เกิดความคิดพยาบาทปอง ร้ายจองเวรขึ้นมา

๗. ความคิดเบียดเบียน หมายถึง สภาพของโทสะที่เกิดขึ้นสืบเนื่องมาจากความคิด พยาบาทปองร้ายจองเวรนั้น เมื่อมีกําลังมากขึ้น เนื่องจากได้แรงกระตุ้นต่างๆ ทําให้เกิด ความคิดหาทางเบียดเบียนด้วยวิธีการต่าง ๆ ทางกาย หรือทางวาจา

๘. ความประทุษร้าย หมายถึง สภาพของโทสะที่เกิดขึ้นสืบเนื่องมาจากความคิด เบียดเบียนนั้น เมื่อได้โอกาสเหมาะ และมีเหตุปัจจัยสนับสนุน ย่อมทําให้เกิดการลงมือ ประทุษร้ายต่ออารมณ์นั้นด้วยวิธีการต่างๆ ทางกาย ทางวาจา หรือทางใจ ด้วยกา สาปแช่ง หรือการใช้พลังจิต ใช้เวทมนต์คาถาทําร้าย เป็นต้น สภาพของโทสะทั้ง ๘ ประการ ที่กล่าวมานี้ เป็นสภาพของโทสะที่รุกหน้าหรือต่อสู้ ตอบสนองต่ออารมณ์ด้วยการปะทะ เพื่อจะทําให้อารมณ์ย่อยยับสูญหายไป เรียกว่า โทสะรุกหน้า

๙. ความเสียใจ หมายถึง สภาพของโทสะที่เกิดจากการพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่ รักที่พอใจ ความไม่สมหวังดังที่ตั้งใจไว้ หรือสืบเนื่องมาจากการได้ประทุษร้ายต่ออารมณ์ นั้น ๆ แล้ว เมื่อสํานึกรู้สึกตัวขึ้นมา ก็เกิดความเสียใจ ในสิ่งที่ทําลงไปนั้น

๑๐. ความกลุ้มใจ หมายถึง สภาพของโทสะที่สัมปยุตต์ด้วยกุกกุจจะ ซึ่งเกิดสืบ เนื่องมาจากความเสียใจ เมื่อยังไม่สามารถหาสิ่งอื่นมาชดเชยความสูญเสียที่เสียไปนั้น หรือไม่สามารถลบล้างสิ่งที่ตนเองประทุษร้ายให้เกิดความสูญเสียไปนั้น ย่อมทําให้เกิดความกลุ้มใจ ท้อแท้เบื่อหน่าย

๑๑. ความรําคาญใจ หมายถึง สภาพของโทสะที่สัมปยุตต์ด้วยกุกกุจจะ ซึ่งเกิดสืบ เนื่องมาจากความกลุ้มใจ เมื่อยังไม่สามารถชดเชยสิ่งที่สูญเสียไปให้กลับดีขึ้นได้ และปัญหา อุปสรรคต่างๆ ก็รุมเร้าเพิ่มเข้ามา อันเป็นผลพวงจากความคิดอาฆาต พยาบาท ประทุษร้ายนั้นๆ ทับถมกันมากขึ้น ยากที่จะสะสางให้หมดสิ้นได้ ทําให้เกิดความรําคาญใจ ยิ่งเมื่อนึกถึงความไม่ดีที่ทําไปแล้ว และนึกถึงความดีที่ยังไม่ได้ทํา ทําให้เกิดความเครียด จน หลายคนต้องหาสิ่งเสพติดมาดับความเครียด ความรําคาญใจนั้น เป็นต้น

๑๒. ความกลัว หมายถึง สภาพของโทสะที่เกิดจากการประสบกับอนิฏฐารมณ์ ที่ ไม่น่าปรารถนาอย่างรุนแรง เช่น พบบุคคลที่มีอํานาจเหนือตน พบศัตรูฝ่ายตรงข้ามที่มี กําลังเหนือกว่า หรือพบภูตผีปีศาจที่ตนคิดว่าเป็นสิ่งที่จะทําอันตรายแก่ตนได้ต่างๆ นานา เป็นต้น ทําให้เกิดความผลักไสคิดที่จะสลัดให้พ้นไป หรือ ทําให้หลายคนที่ทนไม่ได้ ถึงกับ วิ่งหนีโดยไม่คิดชีวิตก็มี หรืออีกนัยหนึ่ง เป็นสภาพของโทสะที่เกิดสืบเนื่องมาจากความ รําคาญใจ เมื่อยังแก้ไขไม่ได้ ย่อมทําให้เกิดความกลัวในความไม่ดีที่ตนได้กระทําไปแล้ว กลัวว่า ผลแห่งความชั่วนั้นจะหวนกลับมาตอบสนองตนอย่างแสนสาหัส ทําให้เกิดความ สะดุ้ง หวาดหวั่น พรั่นพรึง บางคนถึงกับนอนไม่หลับ หรือบางคนเมื่อเก็บกดมากเข้า อาจ ทําให้เป็นคนสติฟั่นเฟือน เป็นโรคประสาทขึ้นมาก็มี หรือบางคนหาทางออกให้กับตนเอง ไม่ได้ สุดท้ายต้องจบชีวิตด้วยการประทุษร้ายตนเอง หรือบางคน อาจคิดที่จะทําลายบุคคล ที่เกี่ยวข้องเพื่อตัดต้นตอของความผิด ไม่ให้สาวมาถึงตนเองได้ เป็นต้น เพราะความคิดสั้น หรือขาดโยนิโสมนสิการนั่นเอง

๑๓. ความเขินอาย หมายถึง สภาพของโทสะที่เกิดสืบเนื่องมาจากปัจจัยหลาย ประการ เช่น ความด้อยในคุณสมบัติหรือทรัพย์สินทําให้ไม่กล้าเข้าหาบุคคลหรือสังคม ความหยิ่งผยองในตนเองเกินไปไม่กล้าเข้าหาบุคคลผู้มักเพ่งโทษ เช่น คนที่หยิ่งในความ งามของตน ไม่กล้าเข้าหาบุคคลที่ตําหนิเรื่องความงาม มีพระนางรูปนันทาภิกษุณี ที่ไม่กล้า เข้าเฝ้าพระบรมศาสดา เพราะทราบว่า พระพุทธเจ้ามักตรัสตําหนิเรื่องรูปร่างกายอยู่เสมอ เป็นตัวอย่าง] เป็นต้น หรืออีกนัยหนึ่ง เป็นสภาพของโทสะที่เกิดสืบเนื่องมาจากความกลัว ในความผิดที่ตนทําไปแล้ว จึงเกิดความเขินอาย ไม่กล้าสู้หน้าบุคคลที่ตนกระทําผิดต่อ หรือไม่กล้าสู้หน้าบุคคลที่รู้ในความผิดของตน ไม่กล้าเข้าสังคม เพราะกลัวถูกประจาน ความผิดที่ตนก่อขึ้น เป็นต้น ล้วนแต่เป็นสภาพของความกลัว อันเป็นสภาพของโทสะเป็น มูลเป็นประธานทั้งสิ้น

สภาพของโทสะทั้ง ๕ ประการหลัง ที่กล่าวมานี้ เป็นสภาพของโทสะที่ถอยหลัง หรือไม่กล้าสู้หน้า ตอบสนองต่ออารมณ์ด้วยการถอยหนี เพื่อให้พ้นจากสภาพอารมณ์นั้น เรียกว่า โทสะถอยหลัง

ลักษณะพิเศษของโทสมูลจิต

โทสมูลจิต เป็นจิตที่มีสภาพหยาบกระด้างหรือดุร้าย ด้วยเหตุนี้ จึงทําให้บุคคลที่ เกิดโทสมูลจิตนั้น เป็นผู้มีจิตใจหยาบกระด้างหรือดุร้ายตามไปด้วย ฉะนั้น โทสมูลจิตนี้ จึง มีคุณสมบัติพิเศษเฉพาะตน ที่เรียกว่า วิเสสลักษณะ หรือ ลักขณาทิจตุกกะ ดังต่อไปนี้

๑. จัณฑิกะลักขะโณ มีความกระด้าง เป็นลักษณะ หมายความว่า โทสมูลจิตนี้ เมื่อ เกิดขึ้นแล้ว ย่อมมีสภาพหยาบกระด้าง ไม่อ่อนโยน ทําให้จิตใจของบุคคลนั้นเกิดความหยาบกระด้างขัดเคือง ไม่เหมาะควรแก่การงานที่เป็นกุศลความดี หรือมีสภาพดุร้ายกระทบกระทั่งประทุษร้ายต่ออารมณ์ที่ประสบอยู่ ให้เสื่อมสิ้นสลายไป

๒. นิสสะยาทาหะนะระโส มีการเผาไหม้ที่อยู่ของตนเป็นกิจ หมายความว่า เมื่อ โทสะเกิดขึ้นแล้วย่อมเผาไหม้หทยวัตถุรูปอันที่อาศัยเกิดของตนนั้นให้เหี่ยวแห้งเศร้าหมอง หรือแตกสลายไปก็มี เช่น คนที่หัวใจวายตายเพราะความโกรธอย่างรุนแรง เป็นต้น ถ้า โทสะนั้นมีกําลังแรงกล้าก็สามารถเผาไหม้หัวใจให้แตกสลายได้ อนึ่ง โทสะนี้มีการทําให้ จิตใจของตนและผู้อื่นหม่นไหม้ เป็นกิจ หมายความว่า โทสมูลจิตนี้ มีสภาพที่เศร้าหมอง และเร่าร้อน เหมือนกับเปลวไฟที่กําลังลุกไหม้ ทําให้จิตใจของบุคคลนั้น พลอยเศร้าหมอง ขุ่นมัว และเดือดพล่านตามไปด้วย และบุคคลอื่นที่พบเห็นหรือเกี่ยวข้อง ก็พลอยได้รับ ผลกระทบจากอาการนั้นด้วย จึงเกิดความไม่สบายใจ มีความเศร้าหมอง ขุ่นมัวตามไปด้วยเช่นเดียวกัน

๓. ทูสะนะปัจจุปปัฏฐาโน มีการประทุษร้ายต่ออารมณ์ เป็นอาการปรากฏ หมายความว่า สภาพของโทสมูลจิต เมื่อปรากฏขึ้น ย่อมมีสภาพไม่เป็นไปตามสภาพของ อารมณ์ ย่อมเป็นปฏิปักษ์ต่อสภาพของอารมณ์ ตามสมควรแก่กําลังของโทสมูลจิตนั้น ถ้ามี กําลังมากก็ประทุษร้ายต่ออารมณ์นั้นอย่างรุนแรง หรือทําลายอารมณ์นั้น ไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์ หรือสิ่งของก็ตาม ให้พินาศย่อยยับไป เช่น ทําร้ายคน ทําร้ายสัตว์ หรือ ฆ่าคน ฆ่า สัตว์ ทําลายสิ่งของให้ย่อยยับไป เป็นต้น

๔. อาฆาตะวัตถุปะทัฏฐาโน มีอาฆาตวัตถุเป็นเหตุใกล้ให้เกิด หมายความว่า โท สมูลจิตนี้จะเกิดขึ้นได้ ต้องมีปัจจัยสําคัญคืออาฆาตวัตถุ ได้แก่ เรื่องราวต่าง ๆ ที่เป็นเหตุให้ เกิดความโกรธ ความไม่พอใจ ความเสียใจ การผูกอาฆาตพยาบาทจองเวร เป็นต้น เมื่อได้ กระทบกับเรื่องราวเหล่านี้แล้ว ย่อมทําให้เกิดโทสมูลจิต คือ ความโกรธ ความไม่พอใจ ความเสียใจ ความหงุดหงิดรําคาญใจ หรือประทุษร้ายต่ออารมณ์นั้น ๆ ให้พ้นไป หรือให้ฟัง พินาศไป

ความเกิดขึ้นของโทสมูลจิต

เหตุปัจจัยที่ทําให้เกิดโทสมูลจิตแต่ละดวงนั้น ย่อมมีเหตุปัจจัย จํากัดเฉพาะ บางอย่าง ซึ่งน้อยกว่าในโลภมูลจิต เพราะว่า เมื่อว่าโดยเวทนามีอย่างเดียวกัน คือ โทมนัสสเวทนา เมื่อว่าโดยสัมปโยคะ ก็มีอย่างเดียวกัน คือ ปฏิฆสัมปยุตต์ จึงไม่มีความ ต่างกันในเรื่องเวทนาและสัมปโยคะ แต่มีความต่างกันตรงที่เป็นอสังขาริกจิตดวงหนึ่ง และ เป็นสสังขาริกจิตดวงหนึ่ง เท่านั้น

ฉะนั้น ผู้ศึกษาพึงทําความเข้าใจในเรื่องเหตุปัจจัยที่ทําให้เกิดโทสมูลจิตเหล่านี้ โดย นํามาจัดเข้าเป็นองค์ประกอบร่วมกัน เพื่ออธิบายหรือทําความเข้าใจ ก็จะมีความเข้าใจใน เรื่องโทสมูลจิตได้กว้างขวางยิ่งขึ้น สามารถหาทางป้องกันหรือแก้ไขไม่ให้เกิดขึ้นได้ โดย หลีกเลี่ยง หรือตัดเหตุปัจจัย ที่สามารถหลีกเลี่ยงหรือตัดออกไปได้ หรือสามารถแก้ไขได้ทัน การณ์ ก็จะเป็นการกําจัดอุปนิสัยโทสจริต ทําให้โทสะมีสภาพเบาบางและลดน้อยลงไปโดย ลําาดับ

อาฆาตวัตถุ ๑๐

อาฆาตวัตถุ หมายถึง เหตุที่ทําให้เกิดความโกรธ ความอาฆาต พยาบาทปองร้าย ความคิดเบียดเบียนทําร้าย หรือความไม่พอใจ ที่ทําให้โทสมูลจิตเกิดขึ้น มี ๑๐ อย่าง คือ

๑. อาฆาต เพราะคิดว่า เขาได้เคยทําความเสื่อมเสียแก่เรา เป็นการนึกคิดถึง เรื่องราวที่ผ่านมาแล้ว เมื่อเห็นสัตว์ บุคคล หรือสิ่งของที่เคยทําความเดือดร้อน สร้างความ เสื่อมเสียให้กับตนเอง หรือเป็นศัตรูคู่อริกัน เมื่อเผชิญหน้ากับบุคคลหรือสิ่งของนั้นเข้า หรือนึกถึงเข้า ย่อมทําให้เกิดความโกรธ ความเกลียด ความกลัว หรือ ความอายขึ้นมาได้

๒. อาฆาต เพราะคิดว่า เขากําลังทําความเสื่อมเสียแก่เรา เป็นการเผชิญหน้ากับ สัตว์ บุคคล หรือสิ่งของนั้น ๆ ที่เป็นปฏิปักษ์กับตนโดยตรงก็ดี หรือเห็นอาการกิริยา ที่ท่า หรือลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งก็ดี ที่ตนไม่ชอบใจ ด้วยคิดว่า กําลังจะนําความเดือดร้อนมา สู่ตนเอง ซึ่งอาจจะไม่เป็นดังที่ตนคิดก็ได้ ย่อมทําให้เกิดความโกรธ ความเกลียด ความกลัว หรือความอายขึ้นมาได้

๓. อาฆาต เพราะคิดว่า เขาจักทําความเสื่อมเสียแก่เรา ซึ่งเป็นการคาดคะเนเอาว่า บุคคลหรือสิ่งของนั้นจะทําความเดือดร้อน สร้างความเสื่อมเสียให้แก่ตน หรือมองเห็นเหตุ ปัจจัยบางอย่างที่ทําให้น่าสงสัยว่า บุคคลหรือสิ่งของนั้น กําลังจะทําความเดือดร้อน สร้าง ความเสื่อมเสียให้กับตนเอง ย่อมทําให้เกิดความโกรธ ความเกลียด ความกลัว หรือความ อายขึ้นมาได้

๔. อาฆาต เพราะคิดว่า เขาได้เคยทําความเสื่อมเสียแก่ผู้ที่เรารัก เป็นการนึกคิดถึง เรื่องราวที่ผ่านมาแล้ว เมื่อเห็นสัตว์ บุคคล หรือสิ่งของที่เคยทําความเดือดร้อน สร้างความ เสื่อมเสียให้กับบุคคลหรือสิ่งของที่ตนเองรักใคร่หวงแหน หรือเป็นศัตรูคู่อริกับบุคคลหรือ สิ่งของ ๆ ตนนั้น เมื่อเผชิญหน้ากับบุคคลหรือสิ่งของนั้นเข้า หรือนึกถึงเข้า ย่อมทําให้เกิด ความโกรธ ความเกลียด ความกลัว หรือ ความอายขึ้นมาได้

๕. อาฆาต เพราะคิดว่า เขากําลังทําความเสื่อมเสียแก่ผู้ที่เรารัก ซึ่งเป็นการ เผชิญหน้ากับสัตว์ บุคคล หรือสิ่งของนั้นๆ ที่เป็นปฏิปักษ์กับบุคคลหรือสิ่งของที่ตนรัก โดยตรงก็ดี หรือเห็นอาการกิริยา ทีท่า หรือลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งก็ดี ที่ตนไม่ชอบใจ ด้วยคิดว่า กําลังจะนําความเดือดร้อนมาสู่บุคคลหรือสิ่งของที่ตนรัก ซึ่งอาจจะไม่เป็นดังที่ ตนคิดก็ได้ ย่อมทําให้เกิดความโกรธ ความเกลียด ความกลัว หรือความอายขึ้นมาได้

๖. อาฆาต เพราะคิดว่า เขาจักทําความเสื่อมเสียแก่ผู้ที่เรารัก ซึ่งเป็นการคาดคะเน เอาว่า บุคคลหรือสิ่งของนั้นจะทําความเดือดร้อน สร้างความเสื่อมเสียให้แก่บุคคลหรือ สิ่งของที่ตนรักใคร่หวงแหน หรือมองเห็นเหตุปัจจัยบางอย่างที่ทําให้รู้ได้ว่า บุคคลหรือ สิ่งของนั้น กําลังจะทําความเดือดร้อน สร้างความเสื่อมเสียให้กับบุคคลหรือสิ่งของที่ตนเอง รัก ย่อมทําให้เกิดความโกรธ ความเกลียด ความกลัวหรือความอายขึ้นมาได้

๗. อาฆาต เพราะคิดว่า เขาได้เคยทําประโยชน์แก่ผู้ที่เราเกลียดชัง เป็นการฝึก คิดถึงเรื่องราวที่ผ่านมาแล้ว เมื่อเห็นสัตว์ บุคคล หรือสิ่งของที่เคยทําประโยชน์ สร้างความ เจริญ สร้างความดีงามให้กับบุคคลหรือสิ่งของที่ตนเองไม่ชอบใจ หรือเกลียดชัง เป็นศัตรู คู่อริกัน เป็นต้น เมื่อได้เผชิญหน้ากับบุคคลหรือสิ่งของนั้นเข้า หรือนึกถึงเข้า ย่อมทําให้เกิด ความโกรธความเกลียด ความกลัว หรือ ความอายขึ้นมาได้

๘. อาฆาต เพราะคิดว่า เขากําลังทําประโยชน์แก่ผู้ที่เราเกลียดชัง ซึ่งเป็นการ เผชิญหน้ากับสัตว์ บุคคล หรือสิ่งของนั้นๆ ที่เป็นฝักฝ่ายกับบุคคลหรือสิ่งของที่ตนเกลียด ยังไม่ชอบใจโดยตรงก็ดี หรือเห็นอาการกิริยา ทีท่า หรือลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งก็ดี ที่ตน คิดว่า บุคคลหรือวัตถุสิ่งของนั้น กําลังจะนําความดีงาม นําความเจริญ นําประโยชน์มาสู่บุคคลหรือสิ่งของที่ตนเกลียดชัง ไม่ชอบใจนั้น ซึ่งอาจจะไม่เป็นดังที่ตนคิดก็ได้ ย่อมทําให้ เกิดความโกรธ ความเกลียด ความกลัว หรือความอายขึ้นมาได้

๙. อาฆาต เพราะคิดว่า เขาจักทําประโยชน์แก่ผู้ที่เราเกลียดชัง ซึ่งเป็นการ คาดคะเนเอาว่า บุคคลหรือสิ่งของนั้นจะทําคุณประโยชน์ สร้างความดีงาม สร้างความ เจริญรุ่งเรือง ให้แก่บุคคลหรือสิ่งของที่ตนเกลียดชัง ไม่ชอบใจ หรือมองเห็นเหตุปัจจัย บางอย่างที่ทําให้น่าสงสัยว่า บุคคลหรือสิ่งของนั้น กําลังจะทําคุณประโยชน์ สร้างความดี งาม สร้างความเจริญรุ่งเรืองให้กับบุคคลหรือสิ่งของที่ตนเองเกลียดชัง ไม่ชอบใจ ย่อมทํา ให้เกิดความโกรธ ความเกลียด ความกลัว หรือความอายขึ้นมาได้

๑๐. อาฆาต ด้วยเหตุอันไม่สมควรเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น เดินไปสะดุดนั่น ชนนี่ เป็น ต้น แล้วเกิดบันดาลโทสะ เกิดความโกรธ ความไม่ชอบใจ เกิดความหงุดหงิดรําคาญใจ หา ว่า บุคคลหรือสิ่งนั้นสิ่งนี้ ไม่รู้จักหลบ ไม่รู้จักหลีก หรืออยู่ไม่เป็นที่เป็นทาง ซึ่งอาจเป็น เพราะความพลั้งเผลอขาดสติ หรือเพราะความไม่มีระเบียบวินัยของตนเองก็ได้ ทําให้เกิด ความโกรธ ความกลัว ความเกลียด หรือหงุดหงิดรําคาญใจ หรือโกรธขึ้นมาได้

โมหมูลจิต

โมหมูลจิต หมายถึง จิตที่มีสภาพหลงไปจากเหตุผลตามความเป็นจริง หรือหลงไป จากรูปนามตามความเป็นจริง หมายความว่า เป็นสภาพจิตที่ไม่สามารถรู้สภาวธรรมตาม ความเป็นจริงอย่างถูกต้องนั่นเอง เพราะอํานาจแห่งอวิชชาที่ฝังแน่นอยู่ในขันธสันดานมา เป็นเวลายาวนานในสังสารวัฏฏ์ จึงทําให้บุคคลและสัตว์ทั้งหลายหลงใหลมัวเมา หรืองม งาย ไปในสิ่งที่ไม่เป็นสาระ คิดว่าเป็นสาระ แต่สิ่งที่เป็นสาระ กลับมองเป็นว่า ไม่เป็นสาระ จึงทําให้เกิดสภาพมืดมนในจิตใจ อยู่เช่นนั้น ตราบเท่าที่ยังไม่รู้เหตุผลตามความเป็นจริง และตราบเท่าที่ยังไม่สามารถทําลายอวิชชานั้นให้หมดไปได้ ซึ่งโมหะหรืออวิชชานี้มีความหมายดังต่อไปนี้

๑. มุฬหะ แปลว่า ความหลงใหล หมายความว่า เป็นสภาพที่หลงไปจากสภาวะที่ เป็นความจริง ทั้งที่เป็นสมมติสัจจะและปรมัตถสัจจะ หลงใหลไปในสิ่งที่ไม่เป็นสาระ ไม่ เป็นประโยชน์

๒. มุยหะ แปลว่า ความเขลา หมายความว่า เมื่อบุคคลถูกโมหะเข้าครอบงําแล้ว ทําให้เป็นคนเขลา ไม่รู้ว่าอะไรผิด อะไรถูก อะไรควร อะไรไม่ควร เป็นต้น

๓. นิมุคคะ แปลว่า จมลง หมายความว่า เมื่อบุคคลถูกโมหะเข้าครอบงําแล้ว ย่อม ทําให้เป็นคนที่จมปลักอยู่ในความคิดที่ไม่รอบคอบ ไม่เป็นสาระ ไม่สร้างสรรค์ ไม่แยบคาย หรือจมปลักอยู่ในการทํา การพูด การคิด ที่ไม่เป็นประโยชน์

๔. อเฉกะ แปลว่า ความไม่ฉลาด หมายความว่า เมื่อบุคคลถูกโมหะเข้าครอบงํา แล้ว ทําให้เป็นผู้ไม่ฉลาดในการที่จะทําสิ่งที่เป็นประโยชน์ให้เกิดขึ้น มุ่งหน้าไปสนใจทําแต่ สิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ หรือไม่สามารถปรับจิตใจให้เป็นกุศลได้

๕. อญาณะ แปลว่า ความไม่รู้ หมายความว่า เมื่อบุคคลถูกโมหะเข้าครอบงําแล้ว ย่อมมีสภาพที่โง่งมงายไม่รู้สรรพสิ่งทั้งปวงตามความเป็นจริง แต่รู้ไปโดยประการอื่น ที่ตรงกันข้ามกับความเป็นจริง

๖. อโกสัลละ แปลว่า ความไม่เชี่ยวชาญ หมายความว่า เมื่อบุคคลถูกโมหะเข้า ครอบงําแล้ว ย่อมทําให้เป็นผู้ไม่เชี่ยวชาญในการที่จะทําความดี และไม่เชี่ยวชาญในการที่ จะหลีกเว้นจากความชั่ว ไม่เชี่ยวชาญในการที่หาแนวทางการดําเนินชีวิตที่ถูกต้องตามทํานองคลองธรรมได้

๗. อวิชชา แปลว่า ความไม่รู้แจ้ง หมายความว่า เมื่อบุคคลถูกโมหะเข้าครอบงํา แล้ว ย่อมทําให้ตกอยู่ในสภาพที่ไม่รู้กระจ่างแจ้งในสภาพธรรมทั้งปวงตามความเป็นจริง มัวเมาไปแต่ในสภาพที่ไม่เป็นความจริง

๘. อัปปฏิเวธะ แปลว่า ความไม่แทงตลอด หมายความว่า เมื่อบุคคลถูกโมหะเข้า ครอบงําแล้ว ทําให้บุคคลนั้นไม่สามารถรู้แจ้งแทงตลอดในสภาพของรูปนามที่เป็นจริง คือ ไม่เข้าถึงสภาพความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาของสังขตธรรมทั้งปวงได้ ย่อมมัวเมาไปตาม กระแสโลกกระแสสังคมหรือกระแสกิเลสอยู่เสมอ

๙. อันธการะ แปลว่า ทําให้มืดมน หมายความว่า เมื่อสภาพของโมหะเกิดขึ้นแก่ บุคคลใดแล้ว ย่อมทําให้จิตใจของบุคคลนั้นมืดบอดจากแสงสว่างคือปัญญาโดยสิ้นเชิง ทํา ให้เห็นผิดเป็นชอบ เห็นสิ่งที่ไม่ควรว่าควร เป็นต้น

๑๐. อนาโลกะ แปลว่า ความไม่สว่าง หมายความว่า เมื่อบุคคลถูกโมหะเข้า ครอบงําแล้ว ทําให้เป็นคนมีอาการเซื่องซึม อึมครึม มัวซัวไม่สดใส ไม่สว่างรุ่งเรือง ไม่ องอาจกล้าหาญ ไร้จุดหมายปลายทางที่จะดําเนินไปสู่หนทางที่ดีที่เจริญได้

ตัวอย่างโมหมูลจิต ๒

โมหมูลจิต ดวงที่ ๑ อุเปกขาสหคตัง วิจิกิจฉาสัมปยุตตัง แปลความว่า จิตที่เกิดขึ้น พร้อมด้วยความเฉย ๆ ประกอบด้วยความสงสัย ตัวอย่างเช่น นายฉงน เป็นคนมีความรู้ น้อย ขาดประสบการณ์ในชีวิต และไม่มีความรู้เรื่องธรรมะเลย วันหนึ่ง เพื่อนมาชวนไปไหว้ พระที่วัดระฆังโฆสิตาราม เมื่อไปเห็นพระพุทธรูปในพระอุโบสถวัดระฆัง ที่ประทับนั่งยิ้มรับ ฟ้าอยู่ เพื่อนก็พาไปกราบและพรรณนาถึงคุณของพระพุทธเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์ ตลอดถึงเรื่องบาป เรื่องบุญทั้งหลาย อย่างพิสดาร แต่นายฉงน เป็นคนที่ไม่เคยมีความรู้ เรื่องนี้เลย จึงเกิดความสงสัยว่า “จะเป็นจริงดังที่เพื่อนพูดหรือเปล่าหนอ ” จึงได้ทําเฉย เหมือนไม่รู้เรื่องเลย

โมหมูลจิต ดวงที่ ๒ อุเปกขาสหคทั้ง อุทธัจจสัมปยุตตัง แปลความว่า จิตที่เกิดขึ้น พร้อมด้วยความเฉยๆ ประกอบด้วยความฟุ้งซ่าน เช่น นายพล่าน เป็นคนชอบคิดฟุ้งซ่านไป ในเรื่องต่างๆ จนเกินเลยสาระไป วันหนึ่ง เดินไปพบเห็นผู้คนตามท้องถนน ตามสถานที่ ต่างๆ ซึ่งมีปฏิกิริยาต่างๆ สงบเสงี่ยมบ้าง รื่นเริงสนุกสนานบ้าง หัวเราะหยอกล้อบ้าง หรือ เกิดทะเลาะวิวาทกันบ้าง แต่นายพล่านมัวแต่คิดเรื่องอื่นเรื่อยเปื่อยไปต่างๆ นานาอยู่ในใจ จึงไม่ได้สนใจพินิจพิจารณาในปฏิกิริยาของบุคคลหรือสิ่งต่างๆ ที่ตนเองเดินผ่านไปนั้น

ลักษณะพิเศษของโมหมูลจิต

โมหมูลจิต เป็นสภาพนามธรรมที่เป็นสังขตธรรม คือ เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นโดยมีเหตุปัจจัยปรุงแต่งและเป็นไปตามสภาพของเหตุปัจจัยนั้นๆ ด้วยเหตุนี้ โมหมูลจิตจึงมี คุณสมบัติพิเศษ ที่เรียกว่า วิเสสลักษณะ หรือลักขณาทิจตุกกะ ดังนี้

๑. อะญาณะลักขะโณ มีความไม่รู้ในอริยสัจเป็นต้น เป็นลักษณะ หมายความว่า เพราะความไม่รู้ในความเป็นไปของสภาพธรรมทั้งหลายตามความเป็นจริง มีความไม่รู้ใน อริยสัจ ๔ เป็นต้น จึงทําให้สัตว์ทั้งหลาย เกิดความหลงใหลงมงาย มัวเมาไปในสิ่งที่ไม่มี สาระไม่เป็นประโยชน์อย่างแท้จริงด้วยอํานาจอวิชชา

๒. อารัมมะณะสะภาวัจฉาทะนะระโส มีการปกปิดสภาวะของอารมณ์ไว้ เป็นกิจ หมายความว่า อวิชชานี้เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ย่อมปกปิดสภาวะของอารมณ์ต่างๆ ไว้ไม่ให้ มองเห็นสภาพความจริงของอารมณ์นั้น คือ ไม่ให้เห็นความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ ความ เป็นอนัตตาและความเป็นอสุภะ [ของไม่สวยงาม] ของอารมณ์นั้นๆ แต่ทําให้สัตว์มองเห็น เป็นไปตรงกันข้ามว่า เป็นของเที่ยง เป็นสุข เป็นตัวตนและเป็นสุภะ [ของสวยงาม] ไป ด้วย อ้านาจแห่งอวิชชา

๓. อันธะการะปัจจุปปัฏฐาโน มีความมืดมน เป็นอาการปรากฏ หมายความว่า บัณฑิตทั้งหลายเมื่อพิจารณาด้วยปัญญาอันแยบคายแล้ว ย่อมเข้าใจสภาพของโมหะได้ว่ามี ความมืดมน เพราะเป็นสภาพที่ปกปิดความจริงของอารมณ์ไว้ และเมื่อโมหะเกิดกับบุคคล ใดแล้ว ย่อมทําให้บุคคลนั้นมืดมน มองไม่เป็นความจริงของสิ่งทั้งปวง เหมือนกับบุคคลอยู่ ในสถานที่อันมืดมิด

๔. อะโยนิโสมะนะสิการะปะทัฏฐาโน มีการไม่ไตร่ตรองพิจารณาอารมณ์นั้น ๆ โดยอุบายอันแยบคาย เป็นเหตุใกล้ให้เกิด หมายความว่า การที่บุคคลไม่หมั่นพิจารณา ไตร่ตรองด้วยอุบายอันแยบคายอยู่เสมอ ย่อมทําให้บุคคลนั้นสั่งสมความไม่รู้ให้มากยิ่งขึ้น เหมือนดินพอกหางหมู นานๆ เข้าย่อมทําให้บุคคลนั้นมีจิตใจที่มืดมิดด้วยอํานาจแห่งอวิชชา

เหตุปัจจัยที่ทําให้เกิดโมหมูลจิต

เหตุปัจจัยหลักที่ทําให้เกิดโมหมูลจิตนั้น มี ๒ ประการ คือ

๑. อโยนิโสมนสิกาโร การทําไว้ในใจโดยอุบายอันไม่แยบคาย หมายความว่า การที่บุคคลเป็นผู้มีความคิดไม่รอบคอบ ขาดการไตร่ตรองพิจารณาหาเหตุผลที่ถูกต้องตามความเป็นจริง หรือเป็นผู้ที่ไม่ชอบใช้ปัญญา ไม่ชอบคิดอ่านในสิ่งที่ละเอียดลึกซึ้ง ชอบคิดอ่านแต่ ของง่ายๆ ตื้นๆ เท่านั้น จึงทําให้ขาดปัญญารู้เท่าทันทําให้เกิดความหลงความไม่รู้ขึ้นมาได้

๒. อาสวสมุปปาโท การเกิดขึ้นของอาสวะ หมายความว่า เป็นผู้ที่ถูกอาสวกิเลสรุมเร้ามากเกินไป ทําให้หลงมัวเมา ไม่มีสติปัญญาที่จะคิดอ่านในสิ่งต่าง ๆ ให้รู้เหตุผลตาม ความเป็นจริงได้ หรือไม่มีโอกาสช่องว่างที่จะแสวงหาความรู้ เพราะมัวแต่หมกมุ่นอยู่ด้วย อํานาจกิเลสอาสวะทั้งปวงที่รุมเร้า กล่าวคือ ถูกกามาสวะ เข้ารุมเร้าทําให้เกิดความมัวเมา ในเรื่องกาม หมกมุ่นไปในเรื่องการแสวงหาเรื่องกาม เรื่องกิน ถูกภวาสวะเข้ารุมเร้าทําให้ เกิดความมัวเมาในเรื่องเกียรติยศชื่อเสียงเป็นต้น ถูกทิฏฐาสวะเข้ารุมเร้าทําให้เกิดความมัว เมาในเรื่องความเห็นผิดจากทํานองคลองธรรม ถูกอวิชชาสวะเข้ารุมเร้าทําให้เกิดความมัว เมาในเรื่องความไม่รู้ไม่เข้าใจสิ่งต่าง ๆ ตามความเป็นจริง

เหตุให้เกิดอโยนิโสมนสิการ ๕ ประการ

การที่บุคคลจะมีความคิดเห็นที่เป็นอโยนิโสมนสิการ คือ ความคิดเห็นที่ไม่ถูกต้อง ตามหลักทํานองคลองธรรม หรือความคิดเห็นที่ไม่เป็นกุศล ไม่ประกอบด้วยสัมมาทิฏฐิ หรือเป็นความคิดเห็นที่จมลงไปในสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่ตนเองและบุคคลอื่น เป็นความคิดเห็นที่หลุดออกจากกรอบแห่งความดีงามและความเจริญ หรือเป็นไปเพื่อก่อทุกข์ก่อโทษ โดยส่วนเดียวนั้น มีปัจจัยสนับสนุน ๕ ประการ อย่างใดอย่างหนึ่ง กล่าวคือ

๑. ปุพเพ อกตปุญญตา การไม่ได้ทําบุญที่เกี่ยวกับเรื่องของปัญญาไว้ในปางก่อน อันเป็นอดีตเหตุ หมายความว่า เป็นบุคคลที่ไม่ได้ทําบุญกุศลมาด้วยปัญญา มักทําโดยไม่ ประกอบด้วยปัญญา ซึ่งทําได้ง่ายกว่า ไม่ต้องใช้ความรู้ความเข้าใจ หรือไม่ต้องใช้ความคิดมาก ด้วยเหตุนี้ เมื่อสําเร็จเป็นผลออกมา จึงทําให้เป็นผู้ที่ไม่มีปัญญาในการที่จะพิจารณา เหตุผลของสิ่งต่างๆ ได้อย่างลึกซึ้ง ทําให้ถูกอวิชชาครอบงําได้โดยง่าย เป็นเหตุให้เกิดอโยนิโสมนสิการอยู่เสมอ แม้จะมีคนบอกคนแนะนําให้ ก็มักไม่เข้าใจ หรือไม่ยอมรับฟัง ยังหลงงมงายอยู่เช่นนั้นเรื่อยไป

๒. อัปปฏิรูปเทสวาโส การอยู่ในประเทศที่ไม่สมควร หมายความว่า การที่บุคคล อยู่ในประเทศที่ไม่เหมาะสม ได้แก่ สถานที่อันเต็มไปด้วยอารมณ์ที่ทําให้เกิดอกุศลธรรมได้ ง่าย เช่น หมู่บ้านสลัม บ่อนการพนัน หรือสถานที่เริงรมย์ต่างๆ ที่เต็มไปด้วยอบายมุข หรือ สถานที่ใดที่เข้าไปแล้ว ทําให้อกุศลที่ยังไม่เกิด มีโอกาสเกิดขึ้นมา อกุศลที่เคยเกิดขึ้นแล้ว ยิ่งเจริญงอกงามขึ้น ส่วนกุศลที่ยังไม่เกิด ย่อมไม่มีโอกาสได้เกิดขึ้น กุศลที่เกิดขึ้นแล้ว มีแต่จะเสื่อมสิ้นไป ไม่สามารถรักษาสภาพของกุศลไว้ได้ สถานที่เช่นนั้น ชื่อว่า อัปปฏิรูปเทส คือ สถานที่อันไม่สมควร เมื่อบุคคลเข้าไปอยู่ในสถานที่นั้นนานเข้า ก็ทําให้จิตใจหลงใหลไป ตามอารมณ์ที่ยั่วยุเหล่านั้นได้ง่าย ทําให้ขาดปัญญา อีกอย่างหนึ่ง เป็นผู้ที่ไม่ค่อยได้รับ การศึกษาที่ดี ขาดตัวอย่างที่ดี จึงทําให้เกิดอโยนิโสมนสิการขึ้นมาได้

๓. อสัปปุริสปนิสสโย การคบหาสมาคมกับอสัตบุรุษ หมายความว่า การที่บุคคลได้ คบหาสมาคมกับอสัตบุรุษ คือ ผู้มีความรู้ชั่ว มีความประพฤติต่ําทราม มีความคิดไม่แยบ คาย เมื่อบุคคลไปคบหาสมาคมเข้า ทําให้อสัตบุรุษนั้นแนะนําชักชวนไปในสิ่งที่ไม่ดีไม่งาม ต่าง ๆ เช่น ชักชวนให้ดื่มน้ําเมา ชักชวนให้เล่นการพนัน ชักชวนเที่ยวเตร่ดูการเล่น หรือ ชักชวนให้ทําโจรกรรมต่างๆ เป็นต้น แนะนําไปในแนวทางวิถีแห่งคนพาล เหมือนกับพระ เจ้าอชาตศัตรู คบหาสมาคมกับพระเทวทัต จึงทําให้เกิดอโยนิโสมนสิการ สร้างความเสื่อม เสียต่างๆ มากมาย จนยากที่จะเยียวยาแก้ไขได้ เป็นต้น

๔. อสัทธัมมัสสวนัง การฟังแต่อสัทธรรม หมายความว่า เป็นผู้ที่อยู่ห่างไกลจาก ความเจริญทางด้านคุณธรรมและวัฒนธรรมอันดีงาม หรือเป็นผู้ที่ไม่ชอบฟังพระสัทธรรม ชอบฟังแต่อสัทธรรม หรือไม่มีโอกาสได้ฟังพระสัทธรรม จึงทําให้บุคคลนั้น มีความดําริผิด ประกอบด้วยอกุศลวิตกต่างๆ ขาดประสบการณ์ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง จึงทําให้ขาด ปัญญาในการพิจารณาเหตุผลตามความเป็นจริง จึงทําให้เกิดอโยนิโสมนสิการได้

๕. อัตตมิจฉาปณิธิ การตั้งตนไว้ในทางที่ผิด หมายความว่า เป็นผู้ที่ตั้งตนไว้ในทางที่ ผิดจากหลักพื้นฐานแห่งวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของสังคมหรือหลักธรรมของศาสนาที่ ถูกต้อง จึงทําให้เป็นคนไร้เหตุผล ไม่ยอมรับฟังใคร มีความมุทะลุดุดัน ปล่อยตัวปล่อยใจให้ ไหลไปตามกระแสกิเลสโดยมาก มีความคิดไม่แยบคายในอารมณ์ต่างๆ เหล่านี้เป็นต้น จึง ทําให้เกิดอโยนิโสมนสิการขึ้นมาได้

เหตุให้เกิดวิจิกิจฉาสัมปยุตต์ ๖ ประการ

การที่บุคคลจะเกิดโมหมูลจิตที่ประกอบด้วยวิจิกิจฉา คือ ความลังเลสงสัย ตัดสินใจไม่เด็ดขาด ในเรื่องที่ชวนให้เกิดความรวนเรใจ อันเป็นเหตุขัดขวางการทําคุณงาม ความดีได้นั้น มีเหตุปัจจัยสนับสนุน ๖ ประการ อย่างใดอย่างหนึ่ง กล่าวคือ

๑. อัปปัสสุตตา เป็นผู้มีการศึกษาน้อย หมายความว่า เมื่อบุคคลเป็นผู้มีการศึกษา น้อย ย่อมทําให้เกิดความสงสัยในสิ่งที่ตนเองไม่รู้ไม่เข้าใจและหมักหมมความสงสัยนั้นไว้ เช่น สงสัยในคุณพระรัตนตรัย ชาตินี้ ชาติหน้า กรรมและผลของกรรม เป็นต้น ถ้ายังไม่ สามารถคลายหรือบรรเทาให้เบาบางได้ ทําให้ขาดความมั่นใจ ที่จะเชื่อและปฏิบัติตาม ธรรมเหล่านั้นได้ จึงชื่อว่า เป็นปัจจัยให้เกิดวิจิกิจฉา เมื่อเป็นเช่นนี้ กุศลความดีต่างๆ ก็ เกิดขึ้นไม่ได้ จึงชื่อว่า เป็นเครื่องขัดขวางคุณความดี

๒. อปริปุจฉกตา ไม่ชอบสอบสวนทวนถามท่านผู้รู้ หมายความว่า เมื่อตนเองเกิด ความสงสัย มักเก็บกดความสงสัยนั้นไว้ ไม่กล้าถามผู้รู้ หรือ ชอบถามแต่ผู้ไม่รู้จริง ก็ยิ่งเกิด ความเคลือบแคลงสงสัย เพราะไม่ได้รับรู้ข้อมูลที่ถูกต้องตามความเป็นจริง จึงทําให้เป็นผู้ หมักหมมความสงสัยไว้จนพอกพูนทับถมในจิตใจอย่างหนาแน่น ยากที่จะบรรเทาเบาบางได้

๓. วินเย อปกตัญญุตา ไม่ศึกษาให้รอบรู้ในระเบียบวินัย หมายความว่า เป็นบุคคล ที่ไม่ค่อยมีระเบียบวินัยและไม่ได้ศึกษาเรียนรู้เรื่องระเบียบวินัยให้ถูกต้อง เป็นเหตุให้เป็น คนขาดระเบียบวินัยกับตนเองและในสังคมอื่น ๆ ทําให้คนอื่นไม่ปรารถนาจะคบหาสมาคม ด้วยและไม่ได้รับความเชื่อถือไว้วางใจจากบุคคลอื่น ทําให้เกิดปมด้อยของชีวิต ซึ่งบางคนก็ ไม่รู้สึกตัวว่า ตนเองทําอะไรผิดไป สังคมจึงไม่ให้ความสําคัญ หรือทั้งที่รู้อยู่ แต่ด้วยอํานาจ มานะทิฏฐิจึงไม่ยอมปรับปรุงตนเอง จึงมักปล่อยตัวปล่อยใจไปตามอํานาจกิเลส ประพฤติ ผิดศีลธรรมของศาสนาและขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของสังคม เมื่อปล่อยหมักหม มนานเข้า ทําให้เกิดความเคลือบแคลงสงสัยในหนทางชีวิตของตนเอง ที่ดําเนินผ่านมาแล้ว และที่จะก้าวต่อไปข้างหน้าว่า ควรจะทําอย่างไรดี ที่เคยดําเนินมานั้นถูกหรือผิด ดังนี้เป็นต้น จึงทําให้ขาดความมั่นใจในหนทางชีวิตและเกิดความท้อแท้เบื่อหน่าย ไม่ขวนขวายในการแสวงหาความรู้และการสร้างคุณงามความดีต่อไป

๔. อนธิโมกขพหุลตา มีการตัดสินใจไม่เด็ดขาด หมายความว่า เป็นคนมีนิสัยรวนเร ลังเล อืดอาด เฉื่อยชา ขาดความเด็ดเดี่ยวในการทํากิจการงานต่างๆ จนติดเป็นนิสัย ทําให้ การงาน หรือหน้าที่ต่างๆ คั่งค้าง ทับถม กลายเป็นปัญหาเรื้อรัง เหมือนดินพอกหางหมูอยู่ ทุกวัน จนยากที่จะสะสางให้เสร็จสิ้นได้ ชีวิตจึงไม่ประสบผลสําเร็จ ยิ่งทําให้เกิดความ รวนเรลังเลที่จะทําสิ่งต่างๆ ลงไปอีก

๕. ปาปมิตตตา ชอบคบหาสมาคมกับมิตรชั่ว หมายความว่า เป็นบุคคลที่ชอบคบ หาสมาคมกับบุคคลผู้มีความคิดความเห็นที่ไม่ถูกต้องตามทํานองคลองธรรมและมี พฤติกรรมไปในทางที่ไม่ดี ทั้งชอบแนะนําบุคคลอื่นไปในทางที่เสื่อมเสีย ก่อทุจริตต่างๆ อยู่ เป็นนิตย์ เมื่อบุคคลเข้าไปคบหาสมาคมอยู่เสมอ ๆ ย่อมชักนําไปในทางฉิบหาย ชวนให้ กระทําทุจริตกรรมต่างๆ เมื่อได้ทําทุจริตลงไปแล้ว เกิดสํานึกได้ในภายหลัง บางทีบางอย่าง ก็เป็นการสายเกินไปที่จะแก้ไขได้ ทําให้หนทางชีวิตมืดมนลงและเกิดอาการคลุมเครือเคลือบแคลงสงสัยในการที่จะตัดสินใจทําคุณงามความดีอะไรลงไปว่า ตนเองจะสามารถ สร้างความดีได้อีกหรือไม่หนอ หรือว่า หนทางไหนเป็นหนทางผิด หนทางไหนเป็นหนทางที่ ถูกต้องกันหนอ ดังนี้เป็นต้น เพราะขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องนั่นเอง

๖. อสัปปายกถา ไม่ได้ฟังถ้อยคําที่เป็นสัปปายะ หมายความว่า เป็นผู้ที่ไม่เคยได้รับ ฟังข้อมูลที่ถูกต้องให้คลายความสงสัย ได้ฟังแต่ข้อมูลที่ทําให้เกิดความสงสัยหมักหมมอยู่ในใจ เนื่องจากขาดเหตุปัจจัย คือ ไม่ได้คบหาสมาคมกับสัตบุรุษ และไม่ได้ฟังธรรมคําสอน จากสัตบุรุษ จึงทําให้เก็บกดความลังเลสงสัยนั้นไว้ จนกลายเป็นความหมักหมมคลุมเครือ จิตใจไม่ปลอดโปร่งอยู่เรื่อยไป เมื่อประสบกับอารมณ์อันน่าเคลือบแคลง ก็ทําให้เกิดความลังเลสัยได้

เหตุให้เกิดอุทธัจจสัมปยุตต์ ๗ ประการ

การที่บุคคลจะเกิดโมหมูลจิตที่เป็นอุทธัจจสัมปยุตต์ คือ ประกอบด้วยความ ฟุ้งซ่านซัดส่ายไปในอารมณ์ต่างๆ จนไม่สามารถสงบระงับอยู่ในอารมณ์อันเป็นกุศลได้นั้น มีเหตุปัจจัยสนับสนุน ๗ ประการ อย่างใดอย่างหนึ่ง กล่าวคือ

๑. อัปปัสสุตตา เป็นผู้มีการศึกษาน้อย หมายความว่า เมื่อบุคคลเป็นผู้มีการศึกษาน้อย ทําให้สะสมความไม่รู้ไม่เข้าใจ และหมักหมมไว้ในใจ ทําให้คิดฟุ้งซ่านไปในสิ่งที่ตนไม่รู้ไม่เข้าใจนั้นโดยไม่รู้จะตัดสินใจทําอะไรดี จึงมักปล่อยวันเวลาให้ล่วงเลยไปโดยเปล่า ประโยชน์ ความดีความงามหรือประโยชน์ต่างๆ ไม่ค่อยได้ทําให้เกิดขึ้น เพราะถูกความ ฟุ้งซ่านขวางกั้น ทําให้ขาดความมั่นใจที่จะริเริ่มทําสิ่งต่างๆ ลงไป ถ้ายังไม่สามารถคลาย หรือบรรเทาให้เบาบางได้ ก็ทําให้หมักหมมความฟุ้งซ่าน จนบางคนกลายเป็นคนบ้าเสียสติ หรือจิตวิปปลาสไปก็มี

๒. อปริปุจฉตา เป็นผู้ที่ไม่ชอบสอบสวนทวนถามท่านผู้รู้ หมายความว่า เมื่อตนเอง ไม่มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ก็มักเก็บกดความไม่รู้ไม่เข้าใจนั้นไว้ ไม่กล้าซักถามท่านผู้รู้ หรือ ชอบถามแต่ผู้ไม่รู้จริง ยิ่งสะสมความไม่รู้ให้เพิ่มพูนขึ้นไปอีก เพราะไม่ได้รับรู้ข้อมูลที่ ถูกต้องตามความเป็นจริง ทําให้คิดคาดคะเนฟุ้งซ่านหนักขึ้นไปอีก

๓. วินเย อปกตัญญุตา เป็นผู้ที่ไม่รอบรู้ในระเบียบวินัย หมายความว่า เป็นบุคคลที่ ไม่ค่อยมีระเบียบวินัย และไม่ได้ศึกษาเรียนรู้เรื่องระเบียบวินัยให้ถูกต้อง เป็นเหตุให้เป็นคน ขาดระเบียบวินัยกับตนเองและในสังคมอื่นๆ ทําให้คนอื่นไม่ปรารถนาจะคบหาสมาคมด้วย และไม่ได้รับความเชื่อถือไว้วางใจจากบุคคลในสังคม ทําให้เกิดปมด้อยของชีวิต และบาง คนก็ไม่รู้สึกตัวว่า ตนเองทําอะไรผิดไปหรือ สังคมจึงไม่ให้ความสําคัญ หรือทั้งที่รู้อยู่ แต่ ด้วยอํานาจมานะทิฏฐิจึงไม่ยอมปรับปรุงตัวเอง มักปล่อยตัวปล่อยใจไปตามอํานาจกิเลสประพฤติผิดศีลธรรมของศาสนาและขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของสังคม จนทําให้ เป็นที่รังเกียจของสังคม เมื่อหมักหมมนานเข้า ก็ทําให้เกิดความคิดฟุ้งซ่านไปในหนทางชีวิต ที่ผิดพลาดของตนเองที่ดําเนินผ่านมาแล้ว และที่จะก้าวต่อไปข้างหน้าว่า ควรจะทําอย่างไร ดี ที่เคยดําเนินมานั้นถูกหรือผิด ดังนี้เป็นต้น จึงทําให้ขาดความมั่นใจในหนทางชีวิตและ เกิดความท้อแท้เบื่อหน่าย ไม่ขวนขวายในการแสวงหาความรู้และการสร้างคุณงามความดี ต่อไป ได้แต่ครุ่นคิดฟุ้งซ่านอยู่ร่ําไป จนบางครั้งต้องคิดสร้างวิมานในอากาศ เช่น คิดให้ตน เป็นวีรบุรุษ ผู้ประสบผลสําเร็จทุกอย่าง เป็นต้น เพื่อเป็นการกลบเกลื่อนความรู้สึก ผิดพลาดในชีวิตจริง กลายเป็นบุคคลผู้มีปมด้อยในชีวิต จนยากที่จะแก้ไขได้

๔. พุทธอเสริตา ไม่ได้ฟังธรรมของพระพุทธเจ้า หมายความว่า เป็นบุคคลที่ไม่ได้ฟัง หรือไม่ค่อยได้ฟังสัทธรรมคําสั่งสอนของพระพุทธเจ้า จากกัลยาณมิตร หรือจากการอ่าน หนังสือตํารับตําราต่างๆ ที่ถูกต้อง แต่มักได้ฟังเรื่องราวต่างๆ ที่ไร้สาระไม่เป็นแก่นสาร จึง ไม่ได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง ทําให้เกิดความคิดฟุ้งซ่าน ไม่มั่นใจในเรื่องราวที่ตนเองรู้มา ถ้ายัง ไม่ได้แก้ไขให้ถูกต้อง ก็มีจะความเก็บสะสมอย่างพอกพูนยิ่งขึ้น กลายเป็นปมด้อยของชีวิตไป

๕. ปาปมิตตตา การคบคนชั่วเป็นมิตร หมายความว่า เป็นบุคคลที่ชอบคบหา สมาคมกับบุคคลผู้มีความคิดความเห็นที่ไม่ถูกต้องตามทํานองคลองธรรมและมีพฤติกรรม ไปในทางที่ไม่ดี ทั้งชอบแนะนําบุคคลอื่นไปในทางที่เสื่อมเสีย ก่อทุจริตต่างๆ อยู่เป็นนิตย์ เมื่อบุคคลเข้าไปคบหาสมาคมอยู่เสมอๆ ย่อมชักนําไปในทางฉิบหาย ชวนให้กระทําทุจริต กรรมต่างๆ เมื่อได้ทําทุจริตลงไปแล้ว เกิดสํานึกได้ในภายหลัง บางทีบางอย่างก็เป็นการ สายเกินไปที่จะแก้ไขได้ ทําให้หนทางชีวิตมืดมนลง เป็นเหตุให้เกิดความคิดฟุ้งซ่านไปใน เหตุการณ์ที่ผ่านมาแล้วและความผิดพลาดที่ก่อขึ้น จนทําให้ไม่มั่นใจในการที่จะตัดสินใจทํา อะไรลงไป โดยคิดว่า ตนเองจะสามารถสร้างคุณงามความดีได้อีกหรือไม่หนอ หรือว่า หนทางไหนเป็นหนทางผิด หนทางไหนเป็นหนทางที่ถูกต้องกันหนอ ดังนี้เป็นต้น เพราะ ขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องนั่นเอง

๖. อสัปปายตา การไม่ได้สิ่งที่เป็นสัปปายะ หมายความว่า เป็นผู้ที่ไม่เคยได้รับฟัง ข้อมูลที่ถูกต้องให้คลายความฟุ้งซ่าน ได้ฟังแต่ข้อมูลที่ทําให้เกิดความฟุ้งซ่านหมักหมมอยู่ ในใจ เนื่องจากขาดเหตุปัจจัย คือ ไม่ได้คบหาสมาคมกับสัตบุรุษ และไม่ได้ฟังธรรมคําสอน จากสัตบุรุษ จึงทําให้เก็บกดความไม่รู้นั้นไว้ จนกลายเป็นความมืดมิด จิตใจไม่ปลอดโปร่ง ทําให้เกิดความฟุ้งซ่านอยู่เรื่อยไป

๗. อาสาสมุปปาโท การหมักหมมเรื่องอาสวะ หมายความว่า เป็นบุคคลที่ถูกกิเลส รุมเร้า หรือชอบหมักหมมในกองกิเลส จนปิดกั้นใจไม่ให้รู้ไม่ให้เข้าใจอย่างถูกต้องตามความ เป็นจริง ทําให้เกิดความคิดฟุ้งซ่าน เพราะความไม่รู้ไม่เข้าใจในสิ่งต่างๆ ที่ประสบพบเห็น จึงคิดคาดคะเนเดาเอาตามความคิดความเห็นของตน เป็นเหตุให้หมักหมมความไม่รู้อัน เป็นเหตุให้ฟุ้งซ่านหนักขึ้นไปอีก

อวิชชา ๘ ประการ

อวิชชา หมายถึง ความไม่รู้ ความโง่ ความหลง หรือ ความไม่เข้าใจในสภาพธรรม ต่างๆ ตามที่เป็นจริง ทําให้เกิดความงมงายในสิ่งต่างๆ มี ๘ ประการ คือ

๑. ทุกเข อญาณัง ความไม่รู้ในทุกข์ หมายความว่า ความไม่รู้ไม่เข้าใจในอัตภาพ ร่างกาย ชีวิตความเป็นไป วิบากที่ประสบพบเห็นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ใน ชีวิตประจําวัน ซึ่งสักแต่ว่า เป็นสภาพที่เกิดขึ้นเพราะมีเหตุปัจจัยทําให้เกิดขึ้นมา เป็นผลที่ สําเร็จอันสุกงอมแล้ว ไม่สามารถขวนขวายให้เป็นอย่างอื่นไปได้ เป็นสิ่งที่ควรกําหนดรู้ตาม ความเป็นจริงว่า สิ่งนี้เกิดขึ้นแล้ว เพราะมีเหตุมีปัจจัยให้เกิดขึ้น เปลี่ยนแปลงไปเพราะเหตุ ปัจจัยแปรเปลี่ยนไปและดับไปเพราะหมดเหตุหมดปัจจัย ล้วนตกอยู่ใต้กฎเกณฑ์แห่งไตร ลักษณ์ทั้งสิ้น ดังนี้เป็นต้น แต่เพราะอํานาจอวิชชาปกปิดไว้ จึงทําให้สัตว์ บุคคลทั้งหลาย ดิ้นรนขวนขวายแสวงหาสิ่งที่น่าปรารถนาน่าชอบใจ และสลัดสิ่งที่ไม่น่าปรารถนาไม่น่า ชอบใจออกไปจากชีวิตจากจิตใจ ต้องเศร้าโศกเสียใจ เมื่อพลัดพรากจากสิ่งที่รักที่ปรารถนา และชอกช้ํากล้ํากลืน เมื่อประสบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจ ต้องฝืนทนเก็บกด ทํา ให้เป็นทุกข์อยู่ร่ําไป เพราะความไม่รู้ไม่เข้าใจตามความเป็นจริง จึงวางใจไม่ถูกต้อง

๒. ทุกขสมุทเย อญาณัง ความไม่รู้ในเหตุให้เกิดทุกข์ หมายความว่า อัตภาพ ร่างกาย และวิบากสมบัติ ที่สัตว์ทั้งหลายได้รับอยู่นั้น มีต้นเหตุมาจากสมุทัย คือ ตัวตัณหา ความทะยานอยาก ความกระหาย ความดิ้นรนทะเยอทะยานต่างๆ ได้แก่
  • ๑. กามตัณหา ความยินดีติดใจหลงใหลในกามคุณอารมณ์ คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส อันน่าใคร่น่าปรารถนา น่าชอบใจ และความนึกคิดถึงอารมณ์ ๕ อย่างเหล่านั้น ด้วย ความก๋าหนัดยินดี
  • ๒. ภวตัณหา ความยินดีติดใจในภพภูมิต่าง ๆ หรือในภาวะความมีความเป็น คือ ยศถาบรรดาศักดิ์ต่างๆ คิดว่า เป็นสาระแก่นสาร ด้วยอํานาจสัสสตทิฏฐิ คือ ความเห็นว่า สิ่งทั้งหลายเป็นของเที่ยงแท้มั่นคง ยั่งยืน หรือมีสาระแก่นสาร ควรยึดถือไว้เป็นของตน
  • ๓. วิภวตัณหา ความทะยานอยากดิ้นรนให้พ้นจากสภาพที่ตนไม่ปรารถนาไม่ชอบ ใจ หรือเพราะประสบความผิดหวังในสิ่งที่เคยหวังไว้ ไม่เป็นไปดังที่คาดคิดไว้ จึงอยากสลัด อยากหนีให้พ้นจากสภาพเช่นนั้น หรือเกิดความทะยานอยากให้เข้าถึงสภาพสูญเปล่า ไม่มี รูปนามขันธ์ ๕ อยู่เลย เพราะความยึดมั่นที่ผิดๆ ด้วยอํานาจอุจเฉททิฏฐิ ความเห็นว่า โลก และสิ่งทั้งปวงขาดสูญ สัตว์ทั้งหลายตายแล้วก็สูญไม่มีเกิดอีกต่อไป
เมื่อมีความคิดความเห็นเช่นนี้แล้ว ย่อมทําให้ดิ้นรนขวนขวายในการสร้างกรรมต่าง ๆ ที่เป็นไปตามอํานาจของตัณหานั้น ๆ ทั้งกรรมดีบ้าง กรรมชั่วบ้าง อันเป็นปัจจัยส่งผล เป็นวิบาก ให้เกิดเป็นตัวทุกข์ คือ อัตภาพร่างกาย และความรับรู้ทางทวาร ๖ อีกต่อไป ที่เป็นดังนี้ ก็เพราะอํานาจแห่งอวิชชาปกปิดความจริงไว้ จึงทําให้สัตว์ทั้งหลาย ไม่รู้เท่าทัน ความเป็นจริง ตกอยู่ใต้อํานาจแห่งตัณหาอยู่ร่ําไป

๓. ทุกขนิโรโธ อญาณัง ความไม่รู้ในความดับแห่งทุกข์ หมายความว่า ความทุกข์ ความทรมานต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนั้น มีการดับสนิทได้โดยไม่เหลือเชื้อไว้ ได้แก่ พระนิพพาน ซึ่ง แปลว่า สภาพที่พ้นจากตัณหาเครื่องร้อยรัดทั้งปวง หรือสภาพที่ดับไม่เหลือเชื้อแห่งทุกข์ทั้ง ปวง เป็นสภาพที่สงบจากกิเลสและขันธ์ ๕ ไม่มีความทุกข์ ไม่มีความแปรปรวน เปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด มีสภาพคงที่ สงบเยือกเย็น เป็นบรมสุข สูญสิ้นจากตัณหาและกอง ทุกข์ทั้งปวง เป็นแต่เพียงสภาพอารมณ์ที่สามารถรับรู้ได้ทางมโนวิญญาณที่พัฒนาศักยภาพ ทางด้านสติปัญญาจนถึงที่แล้วเท่านั้น จึงจะสามารถรับรู้ได้ แต่ไม่ใช่ภพภูมิใด ๆ ไม่ใช่ สถานที่ไหน ๆ ไม่มีรูปร่างสัณฐาน ไม่มีสีสันวรรณะ ที่จะกระทบสัมผัสได้โดยตา หู จมูก ลิ้น กาย เพราะสิ่งเหล่านี้ล้วนตกอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์แห่งอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทั้งสิ้น ส่วน สภาพของพระนิพพานนั้น มีเพียงสภาพความเป็นอนัตตา คือ สภาวะที่ไม่มีรูปร่างสัณฐาน ไม่มีสีสันวรรณะ เท่านั้น แต่เป็นสภาพที่เที่ยง มีความคงที่ เป็นบรมสุขอย่างแท้จริง แต่ เพราะความไม่รู้ด้วยอํานาจอวิชชา จึงทําให้สัตว์ทั้งหลายไม่รู้ว่า มีสภาวะอย่างนั้นอยู่ หรือ มีความเห็นในสภาพของพระนิพพานว่า เป็นภพภูมิหรือดินแดนสุขาวดี มีชีวิตนิรันดร ไม่มี ความแก่ ความเจ็บ ความตาย แล้วก็ปรารถนาไปเกิด ณ ที่นั้น ด้วยอํานาจภวตัณหา อย่าง หนึ่ง หรือ มีความเห็นว่า ความว่างเปล่าไม่มีอะไรเลย เป็นสภาพของพระนิพพาน แล้วก็ ปรารถนาให้ถึงสภาพเช่นนั้น ด้วยอํานาจแห่งวิภวตัณหา อย่างหนึ่ง

๔. ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาย อญาณัง ความไม่รู้ในข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่ง ทุกข์ หมายความว่า พระนิพพานนั้นไม่สามารถไปถึงด้วยยานพาหนะใด ๆ หรือไม่สามารถ รับรู้ได้ด้วยการตรึกนึกคิด การคาดคะเนเอาแต่อย่างใด หนทางที่จะสามารถเข้าถึงหรือรับรู้ สภาพของพระนิพพานอย่างแท้จริงได้นั้น ต้องประพฤติปฏิบัติในแนวทางที่จะนําให้ถึงพระนิพพาน ซึ่งประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ คือ

  • ๑. สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ ได้แก่ การมีความเห็นชอบตามทํานองคลองธรรม หรือ ตามหลักคําสอนของพระพุทธศาสนาที่ถูกต้อง เช่น เห็นว่าทําดีได้ดี ทําชั่วได้ชั่ว บาป บุญ มีจริง โลกนี้ โลกหน้ามีจริง เป็นต้น
  • ๒. สัมมาสังกัปปะ ความดําริชอบ เช่น ดําริในการหลีกออกจากกาม แสวงหา ความหลุดพ้น ดําริในความไม่พยาบาท ดําริในความไม่คิดเบียดเบียน ดําริในทางให้เกิด สันติภาพ สันติสุข เป็นต้น
  • ๓. สัมมาวาจา การพูดชอบ คือ การเว้นจากวจีทุจริต ๔ ได้แก่ การเว้นจากการพูด เท็จ พูดส่อเสียด พูดคําหยาบ พูดเพ้อเจ้อเหลวไหล และประพฤติอยู่ในวจีสุจริตอันตรงกัน ข้ามกับวจีทุจริตนั้น เช่น พูดแต่สิ่งที่เป็นความจริง พูดให้เกิดความรักความสามัคคี ปรองดองกัน พูดแต่วาจาที่อ่อนหวานผูกไมตรีจิต พูดแต่สิ่งที่เป็นสาระแก่นสาร เป็นต้น เพื่อมิให้เกิดโทษทางวาจา อันจะก่อให้เกิดความวุ่นวายเดือดร้อนไม่มีที่สิ้นสุด เพราะวาจา เป็นเหตุ
  • ๔. สัมมากัมมันตะ การทําการงานชอบ คือ การเว้นกายทุจริต ๓ ได้แก่ เว้นจาก การฆ่าสัตว์เบียดเบียนสัตว์ [รวมทั้งมนุษย์ด้วย] เว้นจากการลักทรัพย์ที่เจ้าของหวงแหน เว้นจากการประพฤติผิดในกาม แล้วกระทําแต่กรรมที่ดี ไม่ทํากรรมชั่ว ทําแต่สิ่งที่ไม่เป็น โทษ หรือสร้างแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ตนเองและสังคมรอบข้าง
  • ๕. สัมมาอาชีวะ การหาเลี้ยงชีพชอบ ได้แก่ การหาเลี้ยงชีพในทางที่ชอบ ด้วยการ เว้นจากการหาเลี้ยงชีพด้วยกายทุจริต ๓ และวจีทุจริต ๔ ประกอบแต่สัมมาอาชีวะ ที่ไม่ทํา ตนและบุคคลอื่นให้เดือดร้อน ดําเนินชีวิตอยู่ภายใต้กรอบแห่งศีลธรรม และวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของศาสนาและของสังคมประเทศชาติ
  • ๖. สัมมาวายามะ ความเพียรพยายามชอบ ได้แก่ ความเพียรในสถานทั้ง ๔ คือ เพียรละอกุศลที่เกิดขึ้นแล้วให้หมดไป เรียกว่า ปหานปธาน เพียรระวังอกุศลใหม่ไม่ให้ เกิดขึ้น เรียกว่า สังวรปธาน เพียรทํากุศลความดีที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น เรียกว่า ภาวนา ปธาน และเพียรรักษากุศลความดีที่เคยเกิดขึ้นแล้วให้คงอยู่และเจริญงอกงามยิ่งขึ้นไป เรียกว่า อนุรักขนาปธาน
  • ๗. สัมมาสติ ความระลึกชอบ ได้แก่ การระลึกรู้เท่าทันไม่ให้อกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ได้เกิดขึ้น หรือทําอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วให้หดหายไป กุศลธรรมใดที่ยังไม่เกิดก็ทําให้ เกิดขึ้นและกุศลธรรมใดที่เกิดขึ้นแล้ว ก็ให้เจริญงอกงามยิ่งขึ้นไป หรือระลึกไปในสติปัฏฐานทั้ง ๔ คือ กาย เวทนา จิต ธรรม ให้เห็นสักแต่ว่า รูปนามขันธ์ ๕ ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา เพื่อทําลายอภิชฌา คือ ความยินดีด้วยอํานาจแห่งโลภะ และทําลายโทมนัส คือ ยินร้ายด้วยอํานาจแห่งโทสะให้หมดไป แล้วปลูกสติปัญญาให้แก่กล้า เพื่อทําลายอนุสัย กิเลสให้หมดไปในทีสุด
  • ๘. สัมมาสมาธิ ความตั้งใจมั่นชอบ ได้แก่ การฝึกฝนพัฒนาทางจิตให้มีกําลังเข้มแข็ง มีกําลังเด็ดเดี่ยวไม่หวั่นไหวต่อกระแสกิเลสที่หลั่งไหลเข้ามา ทําให้มีภูมิต้านทานกระแสกิเลสได้เป็นอย่างดี และประคับประคองตนให้อยู่ในหนทางแห่งสัมมาทิฏฐิ ไม่ตกไปเป็นมิจฉาสมาธิอันจะเป็นกําลังในการต่อต้านและประหาณอนุสัยกิเลสได้

ข้อวัตรปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งทุกข์ด้วยมรรคมีองค์ ๘ เหล่านี้ เป็นหนทางหรือ เป็นเครื่องมือในการพัฒนาศักยภาพทางด้านสติปัญญาให้แก่กล้า เพื่อให้เข้าถึงหรือให้ สามารถรับรู้สภาพของพระนิพพานได้อย่างถูกต้อง แต่เพราะสัตว์ทั้งหลายไม่รู้ไม่เข้าใจ จึงหันเหชีวิตหรือดําเนินชีวิตไปในหนทางอื่น อันรกชัฏและมืดมิด ทําให้หลงติดอยู่ในทาง กันดาร คือ สังสารวัฏฏ์อันยาวไกลต่อไป

๕. ปุพพันเต อญาณัง ความไม่รู้ในขันธ์อายตนะธาตุที่เกิดแล้ว หมายความว่า เป็นผู้ที่ไม่มีความรู้ความเข้าใจว่า ในอดีตชาติ ตนเองและสัตว์ทั้งหลาย ก็เคยเกิดมาแล้วนับภพ นับชาติไม่ถ้วน มีอัตภาพที่แตกต่างกันออกไปมากมาย เป็นสัตว์นรก เปรต อสุรกาย เดรัจฉานบ้าง เพราะอํานาจแห่งอกุศลกรรม หรือมีอัตภาพ เป็นมนุษย์ เทวดา หรือพรหม บ้าง เพราะอํานาจแห่งกุศลกรรมแต่ละอย่าง แต่เพราะมีความเห็นว่า มนุษย์และสัตว์ ทั้งหลายเกิดมาจากพ่อแม่ มีแต่พ่อแม่เท่านั้นที่ทําให้เกิด ไม่เห็นมีใครรู้เลยว่าตนเองเกิดมา จากไหน จากภพภูมิใด จึงทําให้ไม่รู้ความเป็นไปของรูปนามขันธ์ ๕ ในอดีตที่ล่วงมาแล้ว เนื่องจากระลึกชาติไม่ได้ หรือขาดสติปัญญาในการพิจารณาเหตุผลในความวนเวียนแห่งวัฏฏจักร เพราะถูกอวิชชาปิดบังไว้นั่นเอง

๖. อปรันเต อญาณัง ความไม่รู้ในขันธ์ อายตนะ ธาตุ ที่จะเกิดข้างหน้า หมายความว่า เป็นผู้ที่ไม่รู้ว่า ในอนาคตชาติข้างหน้าตนเองและสัตว์ทั้งหลายจะต้องเกิดอีก เพราะยังมีกิเลสอยู่ ยังไม่สามารถหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดไปได้ อัตภาพที่จะ ปรากฏเกิดขึ้นในภพหน้าเมื่อตายแล้ว ก็จะมีอีกแน่นอน แต่เพราะมีความเห็นว่า อัตภาพ ร่างกายเกิดจากพ่อแม่ พ่อแม่ทําให้เกิดขึ้นมา เมื่อตายแล้ว ก็เอาไปเผาไฟ หรือฝังดินสูญ สลายไปกลายเป็นธาตุดิน น้ํา ลม ไฟ ไม่เห็นมีใครกลับมาบอกว่าไปเกิดที่ไหนเลย ดังนี้ เพราะไม่มีอนาคตังสญาณ คือ ความรู้เหตุในอนาคต หรือขาดสติปัญญาในการพิจารณา เหตุผลในความวนเวียนแห่งวัฏฏจักร จึงไม่เชื่อในเรื่องภพภูมิข้างหน้าว่าจะมีอีก จึงทําให้ไม่ สนใจที่จะทําความดี เพื่อภพภูมิข้างหน้าจะได้ไปสู่สถานที่ดี ทั้งนี้ เพราะถูกอวิชชา ความไม่ รู้ปกปิดไว้ ไม่ให้รู้ความจริงของสังสารวัฏฏ์นั่นเอง

๗. ปุพพันตาปรันเต อญาณัง ความไม่รู้ในขันธ์ อายตนะ ธาตุ ที่เกิดแล้วและจักเกิด ต่อไปข้างหน้า กับทั้งที่กําลังเกิดอยู่ด้วย หมายความว่า เป็นผู้ที่ไม่รู้ในความเป็นไปของ อัตภาพร่างกายที่เป็นอดีต อนาคต และที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน คือ ไม่รู้ว่า อดีตก็เคยเกิดมาแล้ว และอนาคตข้างหน้าย่อมจะต้องเกิดอีก เนื่องจากยังมีกิเลสอยู่ แม้อัตภาพที่เป็นอยู่ ในปัจจุบันซึ่งสืบเนื่องมาจากผลกรรมในอดีตส่งผลมาให้เช่นเดียวกัน จึงทําให้หลงใหลใน อัตภาพ ในชีวิตความเป็นอยู่ ยศถาบรรดาศักดิ์ กระทํากรรมต่าง ๆ โดยไม่คํานึงถึงภพภูมิ ข้างหน้าว่าจะเป็นอย่างไร และไม่คิดว่า ความเกิดเป็นทุกข์ร่ําไป ด้วยอํานาจแห่งอวิชชา คือ ความไม่รู้ปกปิดไว้นั่นเอง

๘. อิทัปปัจจยตา ปฏิจจสมุปปั้นเนส ธัมเมสุ อญาณัง ความไม่รู้ในปฏิจจสมุปบาท คือ ธรรมที่เป็นเหตุเป็นผลอาศัยกันและกันเกิดขึ้น เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงได้เกิดขึ้น ประดุจ ลูกโซ่คล้องติดกัน หมายความว่า เป็นผู้ที่ไม่มีความรู้ในความเป็นไปแห่งสังขารทั้งปวง ที่ เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย จึงหลงใหลยึดติดอยู่ในความคิดความเห็นว่า เป็นสัตว์บุคคล เป็นเรา เป็นของเรา เป็นตัวเป็นตนของเรา เป็นต้น ด้วยอํานาจสัสสตทิฏฐิ หรืออุจเฉททิฏฐิ โดยไม่รู้เท่าทันสภาพธรรมที่มีความเป็นไปตามกฎเกณฑ์ของแต่ละสิ่งแต่ละอย่างว่า เมื่อสิ่ง นี้มี สิ่งนี้จึงได้เกิดขึ้น หรือเพราะสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้จึงได้ดับไป ตามเหตุตามผลของกันและกัน ซึ่งเป็นความรู้อันละเอียดลึกซึ้ง ต้องอาศัยสุตมยปัญญา จินตามยปัญญา และภาวนามย ปัญญา อย่างลึกซึ้งจึงจะสามารถรู้และเข้าใจได้ แต่เพราะอวิชชาปิดบังไว้ จึงทําให้สัตว์ ทั้งหลายไม่รู้ตามความเป็นจริง

ความไม่รู้ทั้ง ๘ ประการนี้ อย่างใดอย่างหนึ่ง ทําให้โมหะ คือ อวิชชาเกิดขึ้น ครอบงําสัตว์ทั้งหลาย ให้หลงมัวเมาอยู่ในสภาพอันไม่เป็นความจริง ยึดถือในสิ่งที่ไม่ใช่ สาระว่าเป็นสาระ มองเห็นสิ่งที่เป็นสาระว่าไม่เป็นสาระ ทําให้เวียนว่ายตายเกิดใน สังสารวัฏฏ์อันยาวนาน จนหาเบื้องต้นและที่สุดไม่พบว่าจะจบสิ้นลงเมื่อใด

วิจิกิจฉา ๘ ประการ

วิจิกิจฉา หมายถึง ความลังเลสงสัย ตัดสินใจไม่เด็ดขาดในเมื่อปรารภถึงสิ่งที่เป็น สาระแก่นสาร อันเป็นทางดําเนินไปสู่ความดีงาม หรือเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลและ ความสุข แต่เพราะบุคคลนั้นขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง จึงทําให้เกิดความลังเลสงสัย ในวัตถุ ๘ ประการเหล่านี้อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่าง กล่าวคือ

๑. พุทเธ กังขา ความสงสัยในคุณของพระพุทธเจ้า หมายความว่า เป็นผู้ที่ยังไม่มั่นใจในองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า พระองค์จะมีจริงหรือไม่ พระองค์จะได้ตรัสรู้ธรรมทั้ง ปวงจริงหรือเปล่า หรือสงสัยในพระพุทธคุณทั้งหลาย ได้แก่ พุทธคุณ ๙ ประการ คือ

  • ๑] อะระหัง เป็นผู้ไกลจากกิเลสทั้งปวง เพราะหักแห่งกิเลส ตัดวงล้อแห่ง สังสารวัฏฏ์ได้แล้วโดยสิ้นเชิง ไม่มีกิเลสไหน ๆ มาพัวพันในพระทัยของพระองค์อีกต่อไป

  • ๒] สัมมาสัมพุทโธ เป็นผู้ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง คือ ตรัสรู้เญยยธรรมทั้งปวง ด้วยอํานาจพระสัพพัญญุตญาณ ทําให้พระองค์ทรงรู้สิ่งทั้งปวง ทั้งที่เป็นของมนุษย์ ทั้งที่ เป็นของทิพย์ ทั้งมนุษยโลก เทวโลก พรหมโลก มารโลก อบายภูมิทั้งปวง ตลอดอนันต จักรวาลไม่มีสิ้นสุด

  • ๓] วิชชาจะระณะสัมปันโน เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชา ๘ และจรณะ ๑๕ ทําให้ พระองค์ทรงสมบูรณ์ด้วยพระปัญญาอันรู้ยิ่ง และพระจริยาวัตรอันงดงาม หาบุคคลเปรียบ ปานมิได้ ทําให้ทรงอาจหาญด้วยเวสารัชชญาณ ๔ ที่ทําให้พระองค์ทรงมีความแกล้วกล้า อันใคร ๆ ไม่สามารถมาทักท้วงว่า พระองค์ไม่ใช่สัพพัญญุตญาณ อย่างแท้จริง คือ
    • [๑] สัมมาสัมพุทธปฏิญญา บุคคลที่จะกล่าวคัดค้านพระองค์ว่า ท่านปฏิญญาว่า เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ธรรมเหล่านี้ท่านยังไม่รู้เลย ดังนี้ ไม่มี
    • [๒] ขีณาสวปฏิญญา บุคคลที่จะกล่าวคัดค้านพระองค์ว่า ท่านปฏิญญาว่า เป็นพระ ขีณาสพ แต่ว่า อาสวะเหล่านี้ของท่านยังไม่สิ้นไป ดังนี้ ไม่มี
    • [๓] อันตรายิกธัมมวาทะ บุคคลที่จะกล่าวคัดค้านพระองค์ว่า ท่านกล่าวธรรมใดว่า เป็นเครื่องทําอันตรายแก่ผู้ร้องเสพ แต่ธรรมเหล่านั้น ไม่สามารถทําอันตรายแก่ผู้ร้องเสพ ได้อย่างแท้จริง ดังนี้ ไม่มี
    • [๔] นิยยานิกธัมมเทสนา บุคคลที่จะกล่าวคัดค้านพระองค์ว่า ท่านแสดงธรรมเพื่อ ประโยชน์อย่างใด แต่ธรรมนั้นไม่สามารถอํานวยประโยชน์แก่ผู้ปฏิบัติได้อย่างแท้จริง ดังนี้ ไม่มี

    เวสารัชชญาณ ๔ นี้ เป็นพระปรีชาญาณอันเป็นคุณสมบัติพิเศษของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทําให้พระองค์ทรงแกล้วกล้าในการประกาศตนท่ามกลางประชุมชนและสังคมโลก ว่าพระองค์ทรงเป็นพระสัพพัญญูอย่างแท้จริง เพราะไม่ทรงเล็งเห็นใครคนใดคนหนึ่งที่จะ คัดค้านพระองค์โดยเหตุผลที่เป็นจริงได้ว่า พระองค์ไม่ทรงเป็นสัพพัญญูอย่างแท้จริงเลย ที่เป็นเช่นนี้ เพราะว่าพระองค์ทรงสมบูรณ์ด้วยเวสารัชชกรณธรรม คือ ธรรมที่เป็นเหตุให้ พระองค์ทรงได้บรรลุถึงเวสารัชชญาณ มี ๕ ประการ คือ

    • [๑] สัทธาสัมปทา พระองค์ทรงเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยศรัทธาในหนทางแห่งสัมมา สัมโพธิญาณอย่างไม่หวั่นไหว มุ่งมั่นในการบําเพ็ญบารมีจนได้สําเร็จเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
    • [๒] สีลสัมปทา พระองค์ทรงสมบูรณ์ด้วยอธิศีล อันยิ่งยวด ยากที่จะหาผู้ใดเสมอเหมือนได้
    • [๓] พาหุสัจจสัมปทา พระองค์ทรงสมบูรณ์ด้วยพาหุสัจจะ คือ ความรอบรู้ในสรรพ สิ่งอย่างทั่วถึงและถูกต้อง ไม่มีสิ่งใดขวางกั้น จนได้นามว่า พระสัพพัญญู
    • [๔] วิริยารัมภสัมปทา พระองค์ทรงสมบูรณ์ด้วยพระวิริยะอุตสาหะ มุ่งมั่นในการ ชําระสันดานของพระองค์ให้บริสุทธิ์หมดจดจากกิเลสและวาสนาทั้งปวง แล้วจาริกแสดง ธรรมโปรดสัตว์ให้ได้ตรัสรู้ตาม โดยไม่ทรงเห็นแก่ความเหนื่อยยาก
    • [๕] ปัญญาสัมปทา พระองค์ทรงสมบูรณ์ด้วยพระอธิปัญญาอันยิ่งใหญ่ ยากที่จะหา ผู้ใดเสมอเหมือนได้ จนได้รับพระสมญานามว่า พระสัพพัญญูพุทธเจ้า
  • ๔] สุคะโต เป็นผู้เสด็จไปแล้วด้วยดี คือ เสด็จไปสู่ความประเสริฐ อันได้แก่ พระอม ตมหานิพพาน อันไม่มีความเกิด ความแก่ ความเจ็บ และความตาย ไม่มีกิเลสและกองทุกข์ ใด ๆ เจือปน เป็นความสุขอันประณีตเยือกเย็น เป็นสันติภาพอย่างแท้จริง อนึ่ง พระองค์ เสด็จไป ณ สถานที่ใด ก็เป็นสิริมงคลแก่สถานที่นั้น ทําให้มนุษย์และเทวดา ตลอดถึงเหล่า สัตว์ทั้งปวง ได้รับประโยชน์จากการเสด็จไปของพระองค์แต่ละครั้ง เหมือนกับการนําขุมทรัพย์ไปประทานให้

  • ๕] โลกะวิทู ทรงรู้แจ้งโลกทั้ง ๓ คือ
    • [๑] สังขารโลก โลกคือสังขาร อันเป็นสรรพสิ่งที่ปัจจัยปรุงแต่งขึ้นทั้งที่มีใจครอง และไม่มีใจครอง
    • [๒] โอกาสโลก โลกคือแผ่นดินอันเป็นที่อยู่ของสัตว์ทั้งหลาย ทั้งมนุษย์โลก มารโลก เทวโลก พรหมโลก และภพภูมิต่าง ๆ ใน ๓๑ ภูมิ
    • [๓] สัตวโลก โลกคือหมู่สัตว์ทั้งปวงที่เวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏฏ พระองค์ทรงทราบโลกทั้งปวงว่า เกิดขึ้นได้อย่างไร มีความเป็นไปอย่างไร และจะสิ้นสุดลงเมื่อใด

  • ๖] อะนุตตะโร ปุริสะทัมมะสาระถิ ทรงเป็นสารถีผู้สามารถฝึกบุรุษที่สมควรฝึกได้ อย่างยอดเยี่ยม ไม่มีศาสดาใดเสมอเหมือน ด้วยเครื่องฝึกคือธรรมอาชญา ทําให้บุคคลผู้ ได้รับการฝึกฝนนั้น เข้าถึงความประเสริฐ เจริญรอยตามพระองค์ เป็นพระอริยสาวก ๔ คู่ ๘ บุคคล

  • ๗] สัตถา เทวะมะนุสสานัง ทรงเป็นศาสดาของเหล่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย พระองค์มิใช่จะทรงสั่งสอนแต่มนุษย์เท่านั้น แม้แต่เทวดา มาร และพรหมทั้งหลาย ตลอดถึงเหล่าสัตว์ทุกจําพวก ก็ได้รับประโยชน์จากพระสัทธรรมคําสอนของพระองค์ด้วย ตาม สมควรแก่อุปนิสัยของตน พระองค์จึงทรงเป็นครูผู้วิเศษ ที่สามารถสั่งสอนให้สําเร็จ ประโยชน์ได้ทั้ง ๓ ประการ กล่าวคือ
    • [๑] ทิฏฐธัมมิกัตถะ ประโยชน์ในโลกปัจจุบัน
    • [๒] สัมปรายิกัตถะ ประโยชน์ในโลกหน้า หรือ ภายภาคหน้า
    • [๓] ปรมัตถะ ประโยชน์อย่างยิ่ง คือ พระนิพพาน ซึ่งไม่มีศาสดาใดเสมอเหมือนได้

  • ๘] พุทโธ ทรงเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานด้วยธรรม พระองค์ทรงเป็นผู้ยอดเยี่ยมด้วย พระปัญญาอันยิ่ง ทรงรู้ทุกสิ่งตามความเป็นจริง ทรงดําเนินชีวิตด้วยพระปัญญานั้น โดยไม่ หลับใหลด้วยอํานาจกิเลสเหมือนดังสัตว์ทั้งหลาย ทรงปลอดโปร่งโล่งพระทัยและเป็นอิสระ แก่ตนเอง เพราะไม่มีอวิชชามาปิดกั้นไว้ให้มืดมิดอีกต่อไป

  • ๙] ภะคะวา ทรงเป็นผู้มีความจําเริญจําแนกธรรมสั่งสอนเวไนยสัตว์ได้อย่างถูกต้อง ตามอุปนิสัยที่สั่งสมมา ดุจหมอผู้วิเศษ สามารถวางยาให้เหมาะกับโรคได้อย่างยอดเยี่ยม ไม่มีผลเสียข้างเคียงเกิดขึ้นในภายหลัง ฉะนั้น บุคคลที่พระองค์แสดงธรรมโปรด จึง สามารถหายขาดจากโรค คือ กิเลสทั้งปวง ที่เสียดแทงมาหลายภพชาติ กลายเป็นบุคคลผู้ ไม่มีโรคคือกิเลสเสียดแทงอีกต่อไป อนึ่ง พระองค์ทรงได้พระนามว่า ภควา แปลว่า ทรง เป็นผู้มีโชคลาภ กล่าวคือ
    • [๑] โชคลาภในชาติกําเนิด ทรงเกิดเป็นพระโอรสแห่งพระเจ้าสุทโธทนะและพระ นางสิริมหามายาผู้มีบุญญาธิการได้สั่งสมมาดีแล้ว เป็นองค์รัชทายาทแห่งนครกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ ทรงเพียบพร้อมไปด้วยพระรูปสมบัติอันงดงาม สมบูรณ์ด้วยความสุขนานัป ปการ ยากที่จะหาบุคคลเสมอเหมือน ทรงเพียบพร้อมด้วยศิลปะวิทยาการต่าง ๆ ในโลกถึง ๑๘ ศาสตร์สาขา
    • [๒] โชคลาภในทางธรรม ทรงได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณอันยอดเยี่ยม ไม่มีสมบัติใด ๆ ที่จะเทียมเท่าได้
    • [๓] โชคลาภในทางบริวาร ทรงมีพระสาวกที่สมบูรณ์ด้วยศีลาทิคุณห้อมล้อม ช่วยเหลือในกิจการพระศาสนาให้แผ่ไพศาลทั่วชมพูทวีป


    พระพุทธคุณทั้ง ๔ ประการดังกล่าวมานี้เมื่อสรุปย่อลงแล้ว มี ๓ ประการคือ

    • ๑] พระบริสุทธิคุณ หมายความว่า พระองค์ทรงชําระสะสางพระอุปนิสัยสันดาน ของพระองค์เองให้บริสุทธิ์หมดจดจากกิเลสและเครื่องเศร้าหมองทั้งปวง
    • ๒] พระปัญญาคุณ หมายความว่า พระองค์ทรงสมบูรณ์ด้วยพระสัพพัญญุตญาณ อันไม่มีใครสามารถจะรู้เทียมเท่าได้
    • ๓] พระมหากรุณาธิคุณ หมายความว่า พระองค์ทรงเปี่ยมล้นด้วยพระกรุณาอันยิ่ง ในสรรพสัตว์ ทรงมีพระทัยมุ่งมั่นที่จะรื้อสัตว์ขนสัตว์ออกจากสังสารทุกข์ทั้งปวง ทรงหวัง ประโยชน์ ๓ ประการแก่สัตว์ทั้งหลาย โดยไม่เลือกชาติชั้นวรรณะแต่อย่างใด

๒. ธัมเม กังขา ความสงสัยในคุณของพระธรรม หมายความว่า บุคคลที่ยังไม่เชื่อมั่นในพระสัทธรรมคําสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เป็นสวากขาตธรรม ๑๐ได้แก่ พระปริยัติธรรมคือพระไตรปิฎก ๑ มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ หรือย่อลงเป็น ๓ คือ พระ ปริยัติสัทธรรม ๑ พระปฏิบัติสัทธรรม ๑ พระปฏิเวธสัทธรรม ๑ ว่าธรรมเหล่านี้จะเป็น ตามที่ปรากฏอยู่ทั่วไปจริงหรือไม่ หรือว่ามีคนหัวโจก อุปโลกน์แต่งขึ้นเพื่อหลอกให้คน เชื่อถือศรัทธา แล้วประพฤติปฏิบัติตาม เพื่อหวังประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือสงสัยว่า พระปริยัติสัทธรรมจะสามารถเป็นแนวทางในการปฏิบัติที่ถูกต้องได้หรือไม่ พระปฏิบัติสัทธรรม จะเป็นหนทางให้ถึงความดับทุกข์ได้จริงหรือไม่ หรือพระปฏิเวธสัทธรรม คือ การ บรรลุมรรค ผล จะมีจริงหรือไม่

๓. สังเฆ กังขา ความสงสัยในคุณของพระสงฆ์ หมายความว่า บุคคลที่ยังไม่เชื่อมั่น ในพระสงฆ์สาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ย่อมเกิดความสงสัยว่า พระสงฆ์สาวกจะเป็นผู้ ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติเพื่อรู้ธรรมเป็นเครื่องออกจากทุกข์ ปฏิบัติสมควรแก่ธรรมแล้ว เป็นผู้ควรแก่ของต้อนรับ เป็นผู้ควรแก่ของที่เขานํามาบูชา เป็นผู้ควรแก่ทักษิณาทาน เป็นผู้ ควรแก่การกราบไหว้ เป็นเนื้อนาบุญของโลก ดังที่สวดพรรณนากันนั้นจะมีจริงเป็นจริง หรือไม่ เพราะสัตว์โลกทั้งปวงเต็มไปด้วยกองกิเลสกลุ้มรุมอยู่ในจิตใจ เต็มไปด้วยมายา ความหลอกลวง จะมีผู้ฝึกหัดปฏิบัติตนให้หลุดพ้นจากกิเลสเหล่านี้ได้จริงหรือ หรือว่าเป็น แต่เพียงอุปโลกน์ตั้งขึ้นมาเพื่อหลอกให้คนเคารพเชื่อถือ เพื่อหวังผลประโยชน์บางประการเท่านั้น

๔. สิกขาย กังขา ความสงสัยในเรื่องไตรสิกขา หมายความว่า บุคคลที่ยังไม่มี ความรู้ความเข้าใจในหลักของไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ที่เป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ย่อมเกิดความสงสัยว่า ไตรสิกขาที่กล่าวถึงหรือที่ปฏิบัติกันอยู่นี้ จะเป็นแนวทางให้ถึงความดับทุกข์ บรรลุถึงพระนิพพาน บริสุทธิ์หมดจดจากกองกิเลสได้จริงหรือไม่ หรือ ว่า ยังมีแนวทางอื่นอยู่อีก ดังนี้เป็นต้น

๕. ปุพพันเต กังขติ ความสงสัยในขันธ์ อายตนะ ธาตุ ที่ล่วงไปแล้ว หมาย ความว่า บุคคลที่ไม่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องอดีตชาติของตนเองและของสัตว์ทั้งหลาย ว่าเคยเกิด มาแล้วนับภพนับชาติไม่ถ้วน มีอัตภาพที่แตกต่างออกไปมากมาย เป็นสัตว์นรก เปรต อสุรกาย เดรัจฉานบ้าง เพราะอํานาจแห่งอกุศลกรรม หรือมีอัตภาพ เป็นมนุษย์ เทวดา หรือพรหมบ้าง เพราะอํานาจแห่งกุศลกรรมแต่ละอย่าง แต่เพราะมีความเห็นว่า มนุษย์ และสัตว์ทั้งหลายเกิดมาจากพ่อแม่ มีแต่พ่อแม่เท่านั้นที่ทําให้เกิด ไม่เห็นมีใครรู้ว่าตนเอง เกิดมาจากไหน จากภพภูมิใด จึงทําให้เกิดความสงสัยในความเป็นไปของรูปนามขันธ์ ๕ ใน อดีตที่ล่วงมาแล้ว เนื่องจากระลึกชาติไม่ได้ หรือขาดสติปัญญาในการพิจารณาเหตุผลใน ความวนเวียนแห่งวัฏฏจักร จึงทําให้เกิดความสงสัยในอัตภาพที่เกิดแล้วในอดีต

๖. อปรันเต กังขติ ความสงสัยในขันธ์ อายตนะ ธาตุที่เป็นอนาคต หมาย ความว่า บุคคลผู้ที่ไม่มีความรู้ในความเป็นไปของอนาคตชาติข้างหน้าทั้งของตนเองและของสัตว์ ทั้งหลายว่าจะต้องเกิดอีก เพราะยังมีกิเลสอยู่ ยังไม่สามารถหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตาย เกิดไปได้ อัตภาพที่จะปรากฏเกิดขึ้นในภพชาติหน้าเมื่อตายไปแล้ว ย่อมมีอีกแน่นอน แต่ เพราะมีความคิดความเห็นว่า อัตภาพร่างกายเกิดจากพ่อแม่ พ่อแม่ทําให้เกิดขึ้นมา เมื่อ ตายแล้ว ก็เอาไปเผาไฟ หรือฝังดินสูญสลายไปกลายเป็นธาตุดิน น้ํา ลม ไฟไม่เห็นมีใคร กลับมาบอกว่าไปเกิดที่ไหนเลย ดังนี้เป็นต้น เพราะไม่มีอนาคตังสญาณ คือ ความรู้เหตุใน อนาคต หรือขาดสติปัญญาในการพิจารณาเหตุผลในความวนเวียนแห่งวัฏฏจักร ทําให้ไม่มีความมั่นใจในเรื่องภพภูมิข้างหน้าว่าจะมีอีกหรือไม่ จึงเกิดความรวนเรลังเลสงสัยในอัตภาพ ที่จะปรากฏเกิดขึ้นในภพหน้าว่าจะมีอีกหรือเปล่า

๗. ปุพพันตาปรันเต ทั้งชติ ความสงสัยในขันธ์ อายตนะ ธาตุ ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน หมายความว่า เป็นผู้ที่ไม่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องความเป็นไป ของอัตภาพร่างกายที่เป็นอดีต อนาคต และที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน อย่างถูกต้อง คือ ไม่รู้ว่าอดีตก็เคยเกิดมาแล้ว และอนาคตข้างหน้าย่อมจะต้องเกิดอีก เนื่องจากยังมีกิเลสอยู่ แม้ อัตภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ก็สืบเนื่องมาจากผลกรรมในอดีตส่งผลมาให้เช่นเดียวกัน ดังนี้ เป็นต้น จึงทําให้เกิดความสงสัยไม่มั่นใจในความรู้หรือความเชื่อนั้น

๘. อิทัปปัจจะยะตา ปะฏิจจะสะมุปปันเนส ธัมเมสุ กังขะติ ความสงสัยในธรรมที่ เป็นเหตุเป็นผลอาศัยซึ่งกันและกันเกิดขึ้น หมายความว่า เป็นผู้ที่ไม่มีความรู้ความเข้าใจใน ความเป็นไปแห่งสังขารทั้งปวง ที่เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย ที่เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท อย่างแท้จริงว่า เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงได้เกิดมีขึ้น หรือเพราะสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้จึงดับไปด้วย ดังนี้ เป็นต้น เนื่องจากขาดการศึกษาธรรมะที่ถูกต้องและละเอียดลึกซึ้งดีพอ จึงทําให้เกิดความสงสัยว่าจะเป็นไปได้จริงหรือไม่

ปฏิจจสมุปบาท

ปฏิจจสมุปบาท หมายถึง ธรรมที่เป็นเหตุเป็นผลอาศัยซึ่งกันและกันเกิดขึ้นอย่าง ต่อเนื่องประดุจลูกโซ่ หรือประดุจตาข่าย ซึ่งเป็นธรรมที่ละเอียดลึกซึ้ง ยากแก่การที่จะทําการพิจารณาให้เข้าใจโดยละเอียดครบถ้วนได้นอกจากพระปัญญาของพระสัมมาสัมพุทธ เจ้าเท่านั้น ที่จะพิจารณาให้เข้าใจโดยละเอียดทุกอย่างได้ “ ฉะนั้น เมื่อบุคคลไม่เข้าใจใน หลักความเป็นไปของปฏิจจสมุปบาทดังกล่าวนี้แล้ว ก็ทําให้เกิดความสงสัยว่า จะเป็นไป เช่นนี้จริงหรือไม่ จะมีความลึกซึ้งเช่นนั้นจริงหรือเปล่า ควรจะนํามาศึกษาพิจารณาได้หรือ ไม่เป็นสิ่งที่เกินวิสัยของมนุษย์ไปหรือ ดังนี้ เป็นต้น ทําให้บุคคลนั้นไม่ตัดสินใจที่จะ ทําการศึกษาเรียนรู้ ไม่กําหนดพิจารณาให้เข้าใจอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้นไปโดยลําดับ เมื่อเป็น เช่นนี้ ปัญญาบารมีที่จะพึงเกิดขึ้นจากการกําหนดพิจารณาข้ออรรถข้อธรรมในปฏิจจสมุป บาทนั้นก็เกิดขึ้นไม่ได้ ฉะนั้น จึงเรียกว่า วิจิกิจฉานิวรณ์ เพราะเป็นเครื่องขัดขวางจิตไม่ให้ น้อมไปในธรรมเหล่านั้นและขัดขวางปัญญาไม่ให้พิจารณาให้เกิดความรู้ความเข้าใจใน เนื้อความแห่งปฏิจจสมุปบาทอย่างละเอียดถี่ถ้วน จึงชื่อว่า เป็นเครื่องขัดขวางไม่ให้บุคคล นั้นได้บรรลุถึงคุณความดียิ่ง ๆ ขึ้นไป

ผลของอกุศลจิต

ดังที่กล่าวมาแล้วตั้งแต่ต้นว่า อกุศลจิต เป็นจิตที่มีสภาพเศร้าหมองและกระด้าง ทําให้บุคคลผู้เกิดอกุศลจิตนั้นพลอยเป็นผู้เศร้าหมองและกระด้างตามไปด้วย อนึ่ง อกุศล จิตนี้ ย่อมให้ผลเป็นความทุกข์โดยส่วนเดียว ทั้งในชาตินี้และชาติหน้า ดังมีรายละเอียด ต่อไปนี้

๑. ผลของโลภมูลจิต ในยุคใด สมัยใด ที่บุคคลทั่วไปมีอุปนิสัยสันดานเต็มไปด้วย โลภมูลจิต ในยุคนั้นสมัยนั้น ย่อมเกิดทุพภิกขภัย กล่าวคือ ภัยที่เกิดจากความฝืดเคือง อด อยาก ข้าวยากหมากแพง คนจะแย่งกันกิน แย่งกันอยู่ แย่งกันกอบโกยทรัพยากรมา ครอบครองโดยไม่รู้จักพอ ทําลายทรัพยากรธรรมชาติให้หมดไป ทําให้เกิดความแห้งแล้ง กันดาร อดอยาก ผลในสัมปรายภพ ทําให้เกิดเป็นเปรตและอสุรกาย ผู้โหยหิวตลอดเวลา

๒. ผลของโทสมูลจิต ในยุคใด สมัยใด ที่บุคคลทั่วไป มีอุปนิสัยสันดานเต็มไปด้วย โทสมูลจิต ในยุคนั้นสมัยนั้น จะเกิด สัตถิกภัย คือ ภัยสงคราม การรบราฆ่าฟัน ทําร้าย ซึ่ง กันและกัน ทําให้เกิดความวุ่นวายเดือดร้อนในสังคม ผลในอนาคตทําให้เกิดในนรกภูมิ เต็มไปด้วยความเร่าร้อนทุกข์ทรมานอยู่เสมอ

๓. ผลของโมหมูลจิต ในยุคใด สมัยใด ที่บุคคลทั่วไป มีอุปนิสัยสันดานเต็มไปด้วย โมหมูลจิต ในยุคนั้นสมัยนั้น จะเกิด พยาธิกภัย คือ ภัยที่เกิดจากโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียนเช่น โรคเอดส์ โรคอหิวาต์ เป็นต้น เพราะความประมาทมัวเมา ขาดความระมัดระวัง ขาด ระเบียบวินัย ผลในอนาคต ทําให้เกิดเป็น สัตว์เดรัจฉาน ผู้มากไปด้วยความหลง ความไม่รู้ ถูกอวิชชาครอบงําอย่างหนาแน่นติดเป็นอุปนิสัยในสันดานโดยมาก [ยกเว้นพระโพธิสัตว์ ทั้งหลายและสัตว์ผู้มีอุปนิสัยแห่งคุณความดีติดตัวมา ถึงแม้จะเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน แต่ก็ มีธัมมสัญญา คือ ความระลึกรู้สึกผิดชอบชั่วดีได้

การประหาณอกุศลจิต

การประหาณอกุศลจิตนั้น ย่อมมีวิธีในการประหาณได้เป็น ๓ ระดับ กล่าวคือ

๑. ประหาณโดยตทั้งคปหาน ละได้ชั่วคราว ด้วยอํานาจมหากุศลหรือศีลกุศล
๒. ประหาณโดยวิกขัมภนปหาน ละได้ด้วยการข่มไว้ ด้วยอํานาจฌานกุศล
๓. ประหาณโดยสมุจเฉทปหาน ละได้โดยเด็ดขาด ด้วยอํานาจมรรคกุศล

ภูมิที่อกุศลจิตสามารถเกิดได้

ในกามภูมิ ๑๑ อกุศลจิต ย่อมเกิดได้ทั้งหมด ๑๒ ดวง
ในรูปภูมิ ๑๕ [เว้นอสัญญสัตตภูมิ] และอรูปภูมิ ๔ รวม ๑๙ ภูมินี้ อกุศลจิตย่อม เกิดได้ ๑๐ ดวง [เว้นโทสมูลจิต ๒ ดวง ที่ถูกข่มทับไว้ด้วยอํานาจแห่งฌาน]

จําแนกอกุศลจิตโดยบุคคล ๘

ปุถุชน ๔ คือ ทุคติบุคคล สุคติอเหตุกบุคคล ทวิเหตุกบุคคล และติเหตุกปุถุชนนั้น อกุศลจิตย่อมสามารถเกิดได้ทั้งหมด พระโสดาบันบุคคล และพระสกิทาคามี ย่อมมีอกุศลจิต เกิดได้อย่างมาก ๗ ดวง คือ ทิฏฐิคตวิปปยุตตจิต ๔ โทสมูลจิต ๒ อุทธัจจสัมปยุตตจิต ๑ โยกเว้นผู้ได้ฌาน โทสมูล จิตเกิดไม่ได้ เนื่องจากข่มทับไว้ด้วยอํานาจแห่งฌาน พระอนาคามีบุคคลนั้น ย่อมมีอกุศลจิต เกิดได้อย่างมาก ๕ ดวง คือ ทิฏฐิคตวิปป ยุตตจิต ๔ อุทธัจจสัมปยุตตจิต ๑ พระอรหันตบุคคลนั้น ไม่มีอกุศลจิตเกิดได้เลยแม้แต่ดวงเดียว เพราะได้ประหาณอกุศลธรรมทั้งหมดโดยเด็ดขาด เป็นสมุจเฉทปหานแล้ว

หน้าที่ของอกุศลจิต

อกุศลจิตทั้ง ๑๒ ดวงนี้ ทําหน้าที่อย่างเดียวกัน คือ ชวนกิจ หมายถึง การเสพอารมณ์โดยความเป็นอกุศล ทางทวาร ๖ ในขณะที่เห็นรูป ได้ยินเสียง รู้กลิ่น รู้รส รู้กระทบ สัมผัส รู้ธัมมารมณ์ ทางทวารใดทวารหนึ่ง หากขาดโยนิโสมนสิการแล้ว ถ้าเกิดความชอบ ใจโลภมูลจิตย่อมเกิดขึ้น ถ้าเกิดความไม่ชอบใจ โทสมูลจิตก็ย่อมเกิดขึ้น ถ้าเกิดความลังเลสงสัย หรือฟุ้งซ่านจับอารมณ์ไม่มั่น โมหมูลจิตย่อมเกิดขึ้นได้

อเหตุกจิต

อเหตุกจิต หมายถึง จิตที่เกิดขึ้นโดยไม่มีเหตุ ๖ อย่าง คือ โลภเหตุ โทสเหตุ โมห เหตุ อโลกเหตุ อโทสเหตุ และอโมหเหตุ อย่างใดอย่างหนึ่งประกอบร่วมด้วยเลย เนื่องจากเป็นจิตที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยการประชุมพร้อมกันของปัจจัยโดยเฉพาะของตน ๆ เรียกว่า อุปัตติเหตุ โดยไม่เกี่ยวข้องกับเหตุ ๖ อย่างนั้นเลย มี ๑๘ ดวง คือ อกุศลวิบากจิต ๒ อเหตุก กุศลวิบากจิต ๔ อเหตุกกิริยาจิต ๓

ความหมายของอเหตุกจิต

๑. อกุศลวิบากจิต หมายถึง จิตที่เป็นผลของอกุศลจิต ๑๒ ดวง แต่เป็นจิตที่ไม่ ประกอบด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะอกุศลจิต ๑๒ ดวงเป็นจิตที่มีกําลังแห่งความ แนบแน่นในอารมณ์น้อย เนื่องจากอํานาจของอุทธัจจเจตสิกที่เข้าไปประกอบร่วมอยู่ด้วย ทุกดวงนั้นเข้าไปบั่นทอนกําลัง ทําให้กําลังของเอกัคคตาเจตสิกที่ประกอบร่วมด้วยนั้นลด น้อยลงไป และทําให้กําลังของเหตุถูกทําลายไปด้วย ด้วยเหตุนี้ อกุศลจิต ๑๒ ดวงนั้น เมื่อ ส่งผลเป็นวิบาก จึงไม่ประกอบด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งเลย

๒. อเหตุกกุศลวิบากจิต หมายถึง จิตที่เป็นผลของมหากุศลจิต ๘ ดวง แต่ ไม่มีเหตุ ประกอบ เพราะในขณะทํากุศลนั้น บกพร่องด้วยเจตนา ๓ อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือทั้ง ๓ อย่าง คือ บุพพเจตนา ก่อนทํา มุญจนเจตนา ขณะทํา อปรเจตนา หลังทําเสร็จแล้ว เมื่อ เจตนาอ่อนกําลังลง กําลังของเหตุก็ถูกทําลายไปด้วย ด้วยเหตุนี้ เมื่อเกิดเป็นวิบาก จึงไม่ ประกอบด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งเลย อีกนัยหนึ่ง อเหตุกกุศลวิบากจิต ๔ นั้น เป็นจิตที่ เป็นผลพลอยได้จากมหากุศลจิตอีกส่วนหนึ่ง เพราะมหากุศลจิตนั้นนอกจากส่งผลเป็นมหาวิบากโดยตรงแล้ว ยังส่งผลเป็นอเหตุกกุศลวิบากจิตอีก ๘ ดวงด้วย ฉะนั้น เมื่อเป็นผลโดยอ้อม จึงไม่มีเหตุประกอบ

๓. อเหตุกกิริยาจิต หมายถึง จิตที่เกิดขึ้น สักแต่ว่าทําหน้าที่ของตน ๆ โดยไม่ต้อง อาศัยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง เนื่องจากหน้าที่นั้นเป็นหน้าที่ที่เกิดขึ้นจําเพาะหน้าไม่ต้อง อาศัยความพยายามมาก หรือเป็นหน้าที่ที่ใกล้จะสําเร็จแล้ว เพียงแต่ทําการลงไปนิดหน่อยก็สําเร็จลงแล้ว ฉะนั้นจึงไม่ประกอบด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งเช่นเดียวกัน

ความหมายของวิถีจิต

ตี = อตีตภวังค์ หมายถึง ภวังค์เดิม คือ ภวังคจิตที่มีอารมณ์มาปรากฏทางทวาร นั้นๆ เป็นครั้งแรก
น = ภวังคจลนะ หมายถึง ภวังค์เดิมที่แปรสภาพเป็นความไหวตัวตอบสนองต่อ อารมณ์ที่มาปรากฏทางทวารนั้น ๆ
ท = ภวังคุปัจเฉทะ หมายถึง ภวังค์ที่ทําหน้าที่สลัดตัว คือ ตัดกระแสภวังค์ให้ขาด ลง เพื่อให้วิถีจิตสามารถเกิดขึ้นรับรู้อารมณ์ใหม่ต่อไปได้
ป - ปัญจทวาราวัชชนจิต หมายถึง จิตที่ขึ้นสู่วิถีรับรู้อารมณ์เป็นดวงแรกทางปัญจ ทวาร เป็นเหมือนผู้เปิดประตูให้จิตดวงอื่น ๆ ได้รับรู้อารมณ์นั้นด้วย หรือเป็นจิตที่หน่วง เหนี่ยวอารมณ์มาสู่วิถีจิตทางปัญจทวาร
ม = มโนทวาราวัชชนจิต หมายถึง จิตที่ขึ้นสู่วิถีรับพิจารณาอารมณ์เป็นดวงแรก ทางมโนทวาร เป็นเหมือนกับผู้เปิดประตูให้จิตดวงอื่นได้รับรู้อารมณ์นั้นด้วย หรือ เป็นจิตที่ หน่วงเหนี่ยวอารมณ์มาสู่วิถีจิตทางมโนทวาร พร้อมกับตัดสินอารมณ์ให้ชวนะได้เสพพร้อมกันไปด้วย
ทวิ = ทวิปัญจวิญญาณจิต หมายถึง จิต ๑๐ ดวง ที่รับรู้อารมณ์ ๕ อย่าง อย่างใด อย่างหนึ่ง ตามสมควรแก่สภาพของตน คือ ถ้าเป็นจักขุวิญญาณจิตก็รับรู้ รูปารมณ์ ถ้าเป็นโสตวิญญาณจิตก็รับรู้สัททารมณ์ ดังนี้เป็นต้น
จัก = จักขุวิญญาณจิต หมายถึง จิตที่ทําหน้าที่ ทัสสนกิจ คือ รับรู้รูปารมณ์ ทาง จักขุทวาร ได้แก่ จักขุวิญญาณจิต ๒ ดวง
โส = โสตวิญญาณจิต หมายถึง จิตที่ทําหน้าที่สวนกิจ คือ รับรู้เสียง ทางโสตทวาร ได้แก่ โสตวิญญาณจิต ๒ ดวง
ฆา = ฆานวิญญาณจิต หมายถึง จิตที่ทําหน้าที่ ขายนกิจ คือ รับรู้กลิ่น ทางฆาน ทวาร ได้แก่ ฆานวิญญาณจิต ๒ ดวง
ชิว - ชิวหาวิญญาณจิต หมายถึง จิตที่ทําหน้าที่สายนกิจ คือ รับรู้รส ทางชิวหา ทวาร ได้แก่ ชิวหาวิญญาณจิต ๒ ดวง
กา = กายวิญญาณจิต หมายถึง จิตที่ทําหน้าที่ ผุสสนกิจ คือ รับรู้การกระทบ ถูกต้องโผฏฐัพพารมณ์ทางกายทวาร ได้แก่ กายวิญญาณจิต ๒ ดวง
ส = สัมปฏิจฉนจิต หมายถึง จิตที่รับอารมณ์ต่อจากทวิปัญจวิญญาณจิต เพื่อส่งต่อ ให้สันตีรณจิตไต่สวนพิจารณาต่อไป ได้แก่ สัมปฏิจฉนจิต ๒ ดวง
ณ = สันตีรณจิต หมายถึง จิตที่ไต่สวนอารมณ์ที่สัมปฏิจฉนจิตส่งมาให้เพื่อส่งให้ โวฏฐัพพนจิตตัดสินต่อไป ได้แก่ สันตีรณจิต ๓ ดวง
โว = โวฏฐัพพนจิต หมายถึง จิตที่ทําหน้าที่ตัดสินอารมณ์ว่า ดีหรือไม่ดี แล้วส่งให้ ชวนจิตเสพต่อไป ได้แก่ มโนทวาราวัชชนจิต ๑
ช = ชวนจิต หมายถึง จิตที่ทําหน้าที่เสพอารมณ์โดยความเป็นกุศล อกุศลหรือ กิริยา ขึ้นอยู่กับสภาพของอารมณ์และสภาพบุคคล ได้แก่ อกุศลจิต ๑๒ หสิตุปปาทจิต ๑ มหากุศลจิต ๘ มหากิริยาจิต ๘ รวม ๒๙ ดวงนี้ เรียกว่า กามชวนะ ๒๙
ต = ตทาลัมพนจิต หมายถึง จิตที่ทําหน้าที่หน่วงเหนี่ยว หรือ เสพอารมณ์ที่เหลือ จากชวนะได้เสพเสร็จแล้ว ได้แก่ สันติรณจิต ๓ มหาวิบากจิต ๘ ดวง ตทาลัมพนะ ๑๑ ซึ่งเป็นจิตที่เกิดได้เฉพาะในกามบุคคล และรับกามอารมณ์ในกามวิถี อย่างเดียวเท่านั้น
ภ = ภวังคจิต หมายถึง จิตที่ทําหน้าที่รักษาภพชาติ คือ รักษาสภาพของบุคคล นั้นๆ ไว้ ตั้งแต่เกิดจนถึงตาย ได้แก่ อุเบกขาสันตีรณจิต ๒ มหาวิบากจิต ๘ รวม ๑๐ ดวงนี้ เรียกว่า กามภวังค์ ๑๐ รูปาวจรวิบากจิต ๕ เรียกว่า รูปภวังค์ ๕ และอรูปาวจรวิบากจิต ๔ เรียกว่า อรูปภวังค์ ๔ รวม ๑๙ ดวงนี้ เรียกว่า ภวังคจิต ๑๙ อนึ่ง ปฏิสนธิจิต และจุติ จิต ก็เป็นอันเดียวกันกับภวังคจิตเหล่านี้ จึงมีชื่อเรียกว่า ปฏิสนธิจิต ๑๙ และ จุติจิต ๑๙

ในกระบวนการการรับรู้อารมณ์ของจิตนี้ เปรียบเหมือนหน่วยงานองค์กรหรือ บริษัทห้างร้านที่เปิดกิจการดําเนินงานเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสาร ซึ่งมีพนักงานหลายแผนกร่วมกันทํางาน คือ มีคนเฝ้ายามคอยเปิดปิดประตูและรับจดหมายจากภายนอก มีพนักงาน ประจําเคาน์เตอร์รับข้อมูลข่าวสาร มีพนักงานรับส่งเอกสารภายใน มีพนักงานกลั่นกรอง ข้อมูลข่าวสาร และพนักงานผู้อนุมัติข้อมูลข่าวสาร มีคณะกรรมการผู้บริหารองค์การ และ กรรมการที่ปรึกษา ในกระบวนการนี้ อาวัชชนจิต [ปัญจทวาราวัชชนจิตหรือมโนทวาราวัช ชนจิต] เปรียบเหมือนคนเฝ้ายามผู้คอยเปิดปิดประตูให้คนเข้าออกและรับจดหมายจากภายนอกแล้วนํามาส่งให้พนักงานที่เคาน์เตอร์หน้าสํานักงาน ปัญจวิญญาณจิต เปรียบ เหมือนพนักงานประจําเคาน์เตอร์คอยรับข้อมูลข่าวสาร สัมปฏิจฉนจิต เปรียบเหมือน พนักงานส่งเอกสารภายใน เมื่อพนักงานที่เคาน์เตอร์รับข้อมูลข่าวสารแล้ว ก็ส่งให้พนักงาน ส่งเอาสารภายในนําส่งต่อไปให้พนักงานฝ่ายกลั่นกรองข้อมูลข่าวสาร สันตีรณจิต เปรียบ เหมือนพนักงานฝ่ายกลั่นกรองข้อมูลข่าวสาร ทําการกลั่นกรองข้อมูลข่าวสารที่พนักงานนําส่งเอกสารภายในส่งมาให้แล้วก็ส่งให้พนักงานฝ่ายอนุมัติข้อมูลข่าวสารพิจารณาอนุมัติ ต่อไป โวฏฐัพพนจิต เปรียบเหมือนพนักงานผู้อนุมัติข้อมูลข่าวสาร เมื่ออนุมัติแล้ว ก็ส่งให้ คณะกรรมการผู้บริหารองค์กรรับรู้ข้อมูลข้าวสาร ชวนจิต เปรียบเหมือนคณะกรรมการ ผู้บริหารองค์กร เมื่อได้รับข้อมูลข่าวสารแล้ว ก็จัดดําเนินการตามนโยบายขององค์กรต่อไป ถ้าเหลือบ่ากว่าแรง ก็มอบหมายให้คณะกรรมาการที่ปรึกษาช่วยดําเนินการต่อเล็กน้อย ตทาลัมพนจิต เปรียบเหมือนคณะกรรมการที่ปรึกษาองค์กร ซึ่งมีหน้าที่ช่วยเหลือกิจการ ขององค์กรบ้างเล็กน้อย ที่เหลือกําลังของคณะกรรมการบริหารองค์กร

อาภัพพบุคคล ๓ จำพวก

อภัพพบุคคล หมายถึง บุคคลผู้ไม่คู่ควรแก่มรรค ผล นิพพาน ฌาน อภิญญา หมายความว่า เป็นผู้ที่ไม่สามารถทําฌาน อภิญญา มรรค ผล ให้เกิดได้ ในภพชาตินั้น เพราะมีเหตุปัจจัยบางอย่างมาปิดกั้นไว้ มี ๔ จําพวก ได้แก่

๑. กามาวรณ์ ถูกการครอบงํา หมายความว่า เป็นบุคคลผู้หมักหมมกิเลสกาม คือ การสั่งสมกิเลสกามไว้ในขันธสันดานให้มีความยินดีพอใจติดใจในกามคุณอารมณ์ จึงทําให้ เป็นผู้ที่หมกมุ่นอยู่ในกามคุณทั้ง ๕ มากเกินไป จนไม่รู้จักสร่างซา ไม่มีความคิดที่จะ แสวงหาคุณธรรมหรือโมกขธรรม คือ มรรค ผล นิพพาน ฌาน อภิญญาได้ ใจไม่สามารถ น้อมไปในเนกขัมมะได้ มีแต่ตกอยู่ภายใต้อํานาจของกิเลสกาม จึงไม่สามารถที่จะบรรลุ คุณวิเศษได้ หรือบางคนได้คุณวิเศษที่เป็นโลกียธรรม คือ ฌาน อภิญญาแล้ว เมื่อเป็นผู้ที่ หมกมุ่นอยู่ในกาม คุณวิเศษนั้นก็มีแต่จะเสื่อมสูญไปได้ ส่วนมรรค ผล นิพพานนั้นไม่ต้องกล่าวถึง เพราะไม่สามารถจะก้าวขึ้นไปได้ เนื่องจากกิเลสกามพัวพันและฉุดคร่าไว้ในกาม คุณอารมณ์ ไม่ให้โงศีรษะขึ้นมามองหาทางหลุดพ้นได้ เรียกว่า ถูกกามขัดขวาง

๒. กิเลสาวรณ์ ถูกกิเลสพัวพัน หมายความว่า เป็นผู้ไหลไปตามกระแสกิเลสโดยไม่ ลืมหูลืมตา หรือเป็นผู้ยึดมั่นในมิจฉาทิฏฐิ ทั้ง ๒ อย่าง คือ สัสสตทิฏฐิ และอุจเฉททิฏฐิ อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือทั้ง ๒ อย่างเหนียวแน่น ไม่ยอมคลายออก ทําให้จิตใจมืดมนปกคลุม ด้วยอํานาจความเห็นผิด ไม่สามารถใช้ปัญญาพิจารณาให้รู้แจ้งตามความเป็นจริงได้ จึงไม่ สามารถที่จะประพฤติพรหมจรรย์ให้บรรลุถึงมรรค ผล นิพพาน หรือ แม้แต่ฌานอภิญญาก็ ไม่สามารถจะบรรลุได้ หรือฌานอภิญญาที่เคยได้บรรลุแล้ว ก็มีแต่จะเสื่อมสิ้นไป เรียกว่า ถูกกิเลสขัดขวาง

๓. กัมมาวรณ์ กรรมขวางกั้น หมายความว่า บุคคลที่กระทําอกุศลกรรมอย่าง ร้ายแรงบางอย่าง เช่น อนันตริยกรรม ๕ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว ย่อมไม่สามารถทํา คุณวิเศษให้เกิดขึ้นได้ หรือแม้แต่คุณวิเศษที่เป็นโลกียธรรม คือ ฌาน อภิญญาที่ตนเองได้ แล้วก็เสื่อมสิ้นไปโดยไม่สามารถทําให้เกิดขึ้นใหม่ได้อีก เรียกว่า ถูกกรรมขัดขวาง ส่วน กรรมหนักที่ไม่ถึงกับเป็นอนันตริยกรรม เช่น การด่าหรือการคิดร้ายต่อพระอริยเจ้า เป็นต้น นั้น ถ้าได้ขอขมาต่อพระอริยเจ้าแล้ว อาจทําคุณวิเศษให้เกิดขึ้นได้

๔. วิปากาวรณ์ วิบากขวางกั้น หมายความว่า เป็นผู้ถูกวิบากของกรรมขัดขวาง ไม่ให้บรรลุคุณความดี แบ่งเป็น ๒ จําพวก ได้แก่ บุคคลที่เกิดเป็นทุคติบุคคล สุคติอเหตุก บุคคล และทวิเหตุกบุคคล ซึ่งไม่สามารถที่จะบรรลุคุณวิเศษ คือ ฌาน อภิญญา มรรค ผลได้เลยในภพชาตินั้น จัดเป็นอภัพพบุคคลโดยตรง ส่วนอีกประเภทหนึ่ง เป็นผู้ถูกวิบาก กรรมอย่างใดย่างหนึ่งขัดขวางอยู่ ไม่สามารถบรรลุคุณวิเศษได้ ต้องรอให้วิบากกรรมนั้น หมดกําลังลงก่อน หรือพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นต้น ช่วยหาอุบายแก้วิบากกรรมนั้นให้ ก่อนแล้ว จึงจะสามารถบรรลุคุณวิเศษได้ เช่น พระจุฬบันถูก เป็นต้น ในชาติปางก่อน เคย ดูหมิ่นภิกษุที่มีสติปัญญาโง่เขลารูปหนึ่งไว้ เมื่อมาเกิดในชาตินี้ พอท่านเข้ามาบวชใน พระพุทธศาสนาแล้วก็กลายเป็นคนสมองทึบ ท่องอะไรไม่จําเลย พระพี่ชายคือพระมหาปัน ถูก ให้ท่องจําคาถาพรรณนาพระพุทธคุณเพียง ๔ บาทถาคา ใช้เวลาอยู่ถึง ๔ เดือน ท่านก็ ท่องจําไม่ได้เลย พระมหาปันถูกจึงไล่ให้ไปสึกเสีย พระพุทธเจ้าทรงทราบอุปนิสัยที่ได้สั่งสม ไว้ในชาติปางก่อน แล้วประทานผ้าขาวให้ลูบคลํา ไม่นานท่านก็ได้บรรลุคุณวิเศษเป็นพระ อรหันต์ พร้อมด้วยปฏิสัมภิทา ๔ ดังนี้เป็นตัวอย่าง

การรู้อารมณ์ของวิญญาณธาตุทั้ง ๗

๑. ปัญจวิญญาณธาตุ ๑๐ รู้อารมณ์ได้เฉพาะของตน ๆ จึงชื่อว่า รู้ได้ปานกลาง เพราะวัตถุที่อาศัยเกิดนั้นมีกําลังอ่อน และยังไม่ได้ปัจจัยสนับสนุนจากจิตที่มีกําลัง หมายความว่า ทวิปัญจวิญญาณจิต ๑๐ นั้น เป็นจิตที่อาศัยวัตถุรูป ๕ เกิด ได้แก่ จักขุ วิญญาณจิต ๒ อาศัยจักขุวัตถุเกิด โสตวิญญาณจิต ๒ อาศัยโสตวัตถุเกิด ฆานวิญญาณจิต ๒ อาศัยฆานวัตถุเกิด ชิวหาวิญญาณจิต ๒ อาศัยชิวหาวัตถุเกิด และกายวิญญาณจิต ๒ อาศัยกายวัตถุเกิด ซึ่งวัตถุรูปทั้ง ๕ นี้ เป็นรูปที่มีกําลังอ่อนกว่าหทยวัตถุ และทวิปัญจ วิญญาณจิต ๑๐ ดวงนี้ เป็นจิตที่เกิดขึ้นเพียงเพื่อทําการรับรู้อารมณ์โดยเฉพาะของตน ๆ ที่ปัญจทวาราวัชชนจิตรับพิจารณาส่งมาให้พร้อมแล้วเท่านั้น ทวิปัญจวิญญาณจิต ๑๐ ดวง ใดดวงหนึ่งนี้ เพียงแต่ทําการรับรู้อารมณ์นั้นเท่านั้น แล้วสัมปฏิจฉนจิต ย่อมรับต่อไปส่งให้ สันตีรณจิตไต่สวนพิจารณา อนึ่ง ปัญจทวาราวัชชนจิตนั้น ก็เป็นอเหตุกจิต และเป็นจิตที่ เกิดขึ้นเป็นดวงแรกในทวารวิถี ซึ่งยังไม่ได้ปัจจัยสนับสนุนจากจิตดวงอื่น ๆ จึงเป็นจิตที่มี กําลังน้อยอยู่แล้ว ฉะนั้น จึงไม่สามารถเป็นปัจจัยสนับสนุนแก่ทวิปัญจวิญญาณจิตได้ ด้วย เหตุนี้ จึงทําให้ทวิปัญจวิญญาณจิต ๑๐ ดวงนั้น รับรู้อารมณ์ได้เฉพาะของตน ๆ กล่าวคือ จักขุวิญญาณจิต ๒ รับรู้รูปารมณ์ได้อย่างเดียว โสตวิญญาณจิต ๒ รับรู้สัททารมณ์ได้อย่าง เดียว ฆานวิญญาณจิต ๒ รับรู้คันธารมณ์ได้อย่างเดียว ชิวหาวิญญาณจิต ๒ รับรู้รสารมณ์ ได้อย่างเดียว และกายวิญญาณจิต ๒ รับรู้โผฏฐัพพารมณ์ได้อย่างเดียว และเป็นจิตที่รับรู้อารมณ์ในขณะปัจจุบันเท่านั้น แต่เป็นจิตที่อาศัยวัตถุรูปนั้นเกิด และอาศัยวัตถุรูปนั้นเป็น ทวารในการรับรู้อารมณ์นั้นด้วย จึงสามารถรับรู้อารมณ์ได้ด้วยกําลังระดับปานกลาง เปรียบเหมือนคนชราทุพพลภาพมากแล้ว ไม่สามารถเดินทางไปไหนมาไหนได้ คอยรับแต่ อาหารที่เขานํามาให้ถึงที่อยู่เท่านั้น คนชรานั้นจึงสามารถบริโภคได้เพียงอาหารที่เขานํามา ให้ถึงที่อยู่เท่านั้น จะไปแสวงหาอาหารอื่นตามที่ตนต้องการก็ไม่ได้อีก ข้อนี้ฉันใด ทวิปัญจ วิญญาณจิต ๑๐ นี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน อาศัยเกิดอยู่ที่วัตถุรูปของตนและคอยรับอารมณ์อยู่ ที่วัตถุรูปของตนนั่นเอง ที่ปัญจทวาราวัชชนจิตส่งมาให้พร้อมแล้ว ไม่ได้ขวนขวายไปรับรู้ อารมณ์อื่นๆ เลย จึงชื่อว่า รับรู้อารมณ์ได้ระดับปานกลาง

๒. มโนธาตุ ๓ รู้ปัญจารมณ์ได้ แต่รู้อารมณ์ได้น้อยที่สุด หมายความว่า มโนธาตุจิต ๓ คือ ปัญจทวาราวัชชนจิต ๑ สัมปฏิจฉนจิต ๒ นั้น เป็นจิตที่มีกําลังอ่อนมาก ทั้งนี้ เป็น เพราะปัญจทวาราวัชชนจิตนั้น เป็นจิตดวงแรกที่เกิดขึ้นในวิถีทางปัญจทวาร ยังไม่ได้รับ ปัจจัยสนับสนุนจากจิตดวงอื่น ๆ ในวิถีจิตด้วยกัน จึงทําให้มีกําลังน้อย ส่วนสัมปฏิจฉนจิต ๒ ดวงนั้น เป็นจิตที่มีหน้าที่ในการรับรู้อารมณ์น้อย เพราะเพียงแต่รับอารมณ์จากปัญจ วิญญาณจิตแล้วส่งให้สันตีรณจิตไต่สวนต่อไปเท่านั้น ไม่ได้ทําการขวนขวายอย่างอื่นเลย และมโนธาตุจิตทั้ง ๓ ดวงนั้น อาศัยวัตถุเกิดอีกที่หนึ่ง แต่ไปรับอารมณ์อีกที่หนึ่ง กล่าวคือ อาศัยหทยวัตถุเกิด แต่ไปรับรู้อารมณ์ที่ปัญจทวาร จึงทําให้กําลังในการรับอารมณ์มีลด น้อยลงไป เปรียบเหมือนบุคคลที่อาศัยอยู่อีกที่หนึ่ง แต่ไปทํางานอีกที่หนึ่ง ทําให้เหน็ด เหนื่อยในการเดินทาง ประสิทธิภาพในการทํางานก็ลดน้อยลงไปด้วย

๓. มโนวิญญาณธาตุ ๗๖ [คือจิตที่เหลือทั้งหมด เว้นทวิปัญจวิญญาณจิต ๑๐ มโน ธาตุ ๓] เป็นจิตที่สามารถรู้อารมณ์ได้มากที่สุด เพราะได้ปัจจัยสนับสนุนจากจิตดวงก่อน ๆ หมายความว่า มโนวิญญาณธาตุทั้งหลาย ที่เกิดขึ้นทางทวาร ๖ นั้น เป็นจิตที่ทําหน้าที่อยู่ ในระหว่างกึ่งกลางของวิถีจิต จึงทําให้ได้ปัจจัยสนับสนุนจากจิตดวงก่อน ๆ ในวิถีเดียวกันนั้น คือ ในทางปัญจทวารนั้น สันตีรณจิตได้รับปัจจัยสนับสนุนจากปัญจวิญญาณธาตุและ มโนธาตุ โวฏฐัพพนจิตได้รับปัจจัยสนับสนุนจากสันตีรณจิตและจิตดวงก่อน ๆ นั้นมา ตามลําดับ ส่วนชวนจิตนั้น เป็นจิตที่เกิดขึ้นเพื่อทําหน้าที่ในการเสพอารมณ์อย่างเต็มที่ จึงทําให้มีกําลังมากเป็นพิเศษกว่าจิตที่ทําหน้าที่อย่างอื่น ส่วนทาลัมพนจิตนั้น แม้จะเป็นจิต ที่ทําการเสพอารมณ์เหมือนกับชวนจิตก็ตาม แต่เป็นเพียงการเสพเศษเดนอารมณ์ที่เหลือ จากชวนจิตเท่านั้น ซึ่งกําลังของอารมณ์เหลือน้อยลงแล้ว จึงเป็นจิตที่มีกําลังอ่อนลง อนึ่ง จิตที่จะมีกําลังมากเป็นพิเศษนั้น ต้องเป็นชวนจิตที่มีชาติเดียวกันเป็นปัจจัยสนับสนุนซึ่งกันและกัน ที่เรียกว่า อาเสวนปัจจัย จึงจะเป็นจิตที่มีกําลังมากเป็นพิเศษได้ กล่าวคือ เป็นกุศล ชาติอย่างเดียวกัน เป็นอกุศลชาติอย่างเดียวกัน หรือเป็นกิริยาชาติอย่างเดียวกันเท่านั้น ส่วนที่เหลือนอกนั้น กําลังก็น้อยไปตามสภาพของตน อนึ่ง มโนวิญญาณธาตุทั้งหมดนี้ เป็น จิตที่อาศัยหทยวัตถุเกิด [ยกเว้นอรูปวิบากจิต ๔ และจิตของบุคคลที่เกิดอยู่ในอรูปภูมิ ๔ ที่ ไม่ต้องอาศัยหทยวัตถุรูปเกิด แต่อาศัยมโนทวารเกิดอย่างเดียว] และเป็นจิตที่เกิดทางมโน ทวาร คือ อาศัยภวังคจิตเป็นช่องทางในการรับรู้อารมณ์ หทยวัตถุรูปนั้น เป็นกัมมชรูปที่มี กําลังมากเป็นพิเศษกว่ากัมมชรูปอื่น ๆ จึงสามารถเป็นที่อาศัยเกิดที่มีกําลังมากได้ และ ภวังคจิตนั้น เป็นนามทวาร ซึ่งเป็นทวารที่มีกําลังมากเป็นพิเศษ เนื่องจากมีสภาพเดียวกัน กับวิถีจิต คือ เป็นนามธรรมด้วยกัน ย่อมมีกําลังมากกว่านามธรรมที่อาศัยรูปธรรมเกิด ฉะนั้น จิตที่เกิดทางมโนทวารย่อมมีกําลังมากเป็นพิเศษกว่าจิตที่เกิดทางปัญจทวาร ด้วย เหตุผลดังกล่าวมานี้ จึงสรุปได้ว่า มโนวิญญาณธาตุทั้งหลาย ย่อมเป็นจิตที่มีกําลังในการ รับรู้อารมณ์ได้มากที่สุด กว่าวิญญาณธาตุที่เหลือทั้ง ๖ อย่างนั้น

โสภณจิตและอโสภณจิต

จิตทั้งหมดจําแนกโดยโสภณเภทนัย เป็น ๒ ประเภท คือ

๑. อโสภณจิต หมายถึง จิตที่นอกเหนือจากโสภณจิต หมายความว่า อโสภณจิต เป็นจิตที่ไม่ใช่เป็นโสภณจิต หรือเป็นจิตที่ไม่ได้เกิดพร้อมด้วยโสภณเจตสิก มีจํานวน ๓๐ ดวง ได้แก่ อกุศลจิต ๑๒ อเหตุกจิต ๑๘ เรียกว่า อโสภณจิต ๓๐

๒. โสภณจิต หมายถึง จิตที่มีสภาพสวยงาม หรือเป็นจิตที่เกิดพร้อมด้วยโสภณ เจตสิก หมายความว่า โสภณจิตนี้ล้วนเป็นจิตที่มีสภาพที่ดีงามเพราะประกอบด้วยโสภณ เจตสิกอันเป็นธรรมที่มีสภาพดีงามทั้งสิ้น มี ๕๙ หรือ ๙๑ ดวง ได้แก่ กามาวจรโสภณจิต ๒๔ รูปาวจรจิต ๑๕ อรูปาวจรจิต ๑๒ โลกุตตรจิต ๘ หรือ ๔๐ เรียกว่า โสภณจิต ๕๙ หรือ

กามาวจรโสภณจิต

กามาวจรโสภณจิต หมายถึง จิตที่ท่องเที่ยวเกิดอยู่ในกามภูมิ คือ ภูมิอันเป็นแดน เกิดแห่งกิเลสกามและวัตถุกามโดยมาก แต่เป็นจิตที่ดีงาม เพราะประกอบด้วยโสภณ เจตสิก ซึ่งปรุงแต่งจิตให้ประพฤติเป็นไปเพื่อให้เกิดประโยชน์เกื้อกูลและความสุข โดย ปราศจากโทษทุกข์ภัยพิบัติทั้งปวง กามาวจรโสภณจิต นี้ จําแนกเป็น ๓ ประเภท คือ

๑. มหากุศลจิต หมายถึง จิตที่ประกอบด้วยเจตนาที่ดีงาม เป็นจิตที่ไม่มีโทษและ ให้ผลเป็นความสุข ทั้งยังสามารถให้ผลเกิดขึ้นได้มากกว่าตน และเป็นกุศลที่เป็นบาท เบื้องต้นแห่งมรรค ผล ฌาน อภิญญา อีกด้วย หมายความว่า มหากุศลจิตนี้เป็นพื้นฐาน ของความดีงามทุกอย่าง ทั้งความดีในระดับเบื้องต้น คือ ทาน ศีล ภาวนา เป็นต้น และ ความดีในระดับปานกลาง คือ ฌาน อภิญญา จนถึงความดีในระดับสูงสุด คือ มรรค ผล นิพพาน อนึ่ง ฌานกุศล และโลกุตตรกุศล จะเกิดขึ้นได้นั้น ต้องมีมหากุศลจิตเกิดขึ้นเป็น บาทฐานเสมอ โดยเริ่มต้นตั้งแต่การฝึกฝนเจริญสมถกรรมฐานหรือวิปัสสนากรรมฐาน ตั้งแต่บริกรรมภาวนา จนถึงอุปจารภาวนานั้น ชวนจิตที่เป็นมหากุศลจิต ย่อมเกิดขึ้น สืบเนื่องกันไป และสั่งสมเป็นพลวะปัจจัยจนมีกําลังมากขึ้นโดยลําดับจนถึงอัปปนาภาวนา ในอัปปนาวิถีแล้วจึงจะเปลี่ยนจากมหากุศลจิตมาเป็นโลกุตตรกุศลจิตหรือฌานกุศลจิต กล่าวคือ ในฝ่ายสมถกรรมฐานนั้น สภาพของกุศลจิตจะเปลี่ยนไปเป็นฌานกุศลจิตหรือ อภิญญากุศลจิต ในฝ่ายวิปัสสนาภาวนานั้น สภาพของกุศลจิตจะเปลี่ยนไปเป็นโลกุตตร กุศลจิตหรือมรรคจิต อนึ่ง แม้ในขณะแห่งอัปปนาวิถี มีฌานวิถี มรรควิถี อภิญญาวิถี ของ ติเหตุกปุถุชนหรือพระเสกขบุคคล ๓ ต้องมีมหากุศลญาณสัมปยุตตจิตเกิดขึ้นก่อน โดยทําหน้าที่อุปจาร อนุโลม และโคตรภู หรือโวทาน ต่อจากนั้น ฌานกุศลจิต มรรคจิต หรือ อภิญญากุศลจิต เป็นต้น จึงจะเกิดขึ้นต่อไปได้ ด้วยเหตุนี้ มหากุศลจิต จึงได้ชื่อว่า เป็นบาท เบื้องต้นแห่งมรรค ผล ฌาน อภิญญา ดังกล่าวแล้ว

๒. มหาวิบากจิต หมายถึง จิตที่เป็นผลของมหากุศลจิตโดยตรง เพราะเมื่อว่าโดย เวทนา สัมปโยคะและสังขาร แล้วเหมือนกันทุกประการ หมายความว่า มหากุศลจิตที่ บริบูรณ์ด้วยเจตนาทั้ง ๓ กาล คือ บุพพเจตนา บุญจนเจตนาและอปรเจตนา ย่อมให้ผล เป็นมหาวิบากดวงต่อดวงโดยตรง เช่น มหากุศลจิตดวงที่ ๑ ย่อมให้ผลเป็นมหาวิบากจิต ดวงที่ ๑ ดังนี้เป็นต้น ฉะนั้น จึงมีชื่อบาลีและคําแปลเหมือนกัน มีสภาพที่คล้ายกัน แต่ หน้าที่การงานของจิตทั้ง ๒ ประเภทนี้ มีความต่างกัน คือ มหากุศลจิตนั้น ทําหน้าที่เป็นชวนกิจ คือ เสพอารมณ์โดยความเป็นกุศล ส่วนมหาวิบากจิตนั้น ทําหน้าที่เป็นปฏิสนธิกิจ ภวังคกิจ ตทาลัมพนกิจ จุติกิจ ตามสภาพของวิบาก

๓. มหากิริยาจิต หมายถึง จิตที่เป็นมหากุศลนั่นแหละ แต่เกิดขึ้นในสันดานของพระอรหันต์ หมายความว่า มหากิริยาจิตนี้ ได้แก่ มหากุศลจิตนั่นเอง เพราะเมื่อว่าโดยชื่อและสภาพแล้ว เหมือนมหากุศลจิตทุกประการ แต่เป็นจิตของพระอรหันต์ ซึ่งเป็นผู้หมดจด จากมลทินคือกิเลสแล้ว ฉะนั้น การทํา การพูด การคิด ของท่านเหล่านั้น จึงไม่เป็นเหตุที่ จะส่งผลเป็นวิบากให้เกิดในภพใหม่ต่อไป แต่เป็นไปเพื่อกระทําหน้าที่นั้น ๆ เท่านั้น ไม่มี ผลที่จะเกิดจากการกระทํานั้น ๆ แต่อย่างใด เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว จิตประเภทนี้ ถ้าเกิด กับบุคคลที่ยังมีกิเลสอยู่ เรียกว่า มหากุศลจิต แต่ถ้าเกิดกับพระอรหันต์ ซึ่งหมดกิเลสแล้วเรียกว่า มหากิริยาจิต ๓ ชาติ คือ กุศลชาติ ได้แก่ มหากุศลจิต ๘ วิบากชาติ ได้แก่ มหาวิบากจิต ๘ และกิริยา ชาติ ได้แก่ มหากิริยาจิต ๘ ด้วยเหตุนี้ จึงทําให้กามาวจรโสภณจิตนี้มีจํานวนถึง ๒๔ ดวง

มหากุศลจิต

มหากุศลจิต หมายถึง จิตที่เป็นกุศลที่มีความกว้างขวาง หมายความว่า เป็นจิตที่มีสภาพกว้างขวางโดยอาการ ๗ อย่าง คือ

๑. กว้างขวางในเรื่องอารมณ์ สามารถรับอารมณ์ได้ทั้ง ๖ หมายความว่า มหากุศล จิตนี้ เป็นจิตที่สามารถรับรู้อารมณ์ได้ทั้ง ๖ อารมณ์ กล่าวคือ รูปารมณ์ สัททารมณ์ คัน ธารมณ์ รสารมณ์ โผฏฐัพพารมณ์ และธัมมารมณ์ รับได้ทั้งอารมณ์ที่เป็นปัจจุบัน อดีต อนาคต และกาลวิมุตติ [คือนิพพานและบัญญัติ] ตามสมควรแก่สภาพของบุคคล กล่าวคือ ถ้าบุคคลนั้น เป็นผู้มีสมรรถภาพในการรับรู้อารมณ์ได้มากและกว้างขวาง มหากุศลจิตของ บุคคลนั้น ย่อมสามารถรับรู้อารมณ์ได้มากและกว้างขวาง ถ้าบุคคลนั้น เป็นผู้มีสมรรถภาพ ในการรับรู้อารมณ์ได้น้อย มหากุศลจิตของบุคคลนั้น ก็มีขอบเขตในการรับรู้อารมณ์น้อย ตามไปด้วย

๒. กว้างขวางในเรื่องเวลา หมายความว่า มหากุศลจิตนี้ เป็นจิตที่สามารถเกิดขึ้นได้ บ่อยครั้ง มหากุศลชวนวิถี คือ วิถีจิตที่มีมหากุศลชวนะเกิดในทวารทั้ง ๖ นั้น สามารถเกิด ติดต่อกันได้เป็นเวลานาน ทั้งเกิดได้ไม่จํากัด แม้เพียงแต่นึกถึงสิ่งที่เป็นกุศล หรือนึกถึงกุศล ที่ได้เคยทําไปแล้ว ถ้าในขณะนั้น จิตมีความผ่องใส เจตนามีความบริสุทธิ์แล้ว มหากุศลจิต ย่อมเกิดขึ้นได้อยู่เสมอๆ เท่าที่เหตุปัจจัยแห่งกุศลนั้นยังมีอยู่ ซึ่งต่างจากฌานกุศล อภิญญา กุศล และโลกุตตรกุศล เพราะฌานกุศลนั้น เกิดได้ในครั้งแรกเพียง ๑ ขณะเท่านั้น ในครั้ง ต่อๆ ไป ต้องฝึกฝนทําให้เกิดขึ้นอีกจนเป็นวสีจึงจะเกิดขึ้นได้เสมอ แต่ต้องใช้ความเพียร พยายามมาก จึงจะทําให้เกิดขึ้นได้ อภิญญากุศลนั้น ย่อมเกิดได้ครั้งละ ๑ ขณะจิตเท่านั้น และต้องใช้ความพยายามเป็นอย่างมากจึงจะทําให้เกิดขึ้นได้เช่นเดียวกัน ส่วนโลกุตตรกุศล หรือมรรคจิตนั้น มรรคหนึ่ง ๆ เกิดได้เพียงขณะจิตเดียวเท่านั้น สําหรับบุคคลหนึ่ง ๆ ไม่ สามารถทํามรรคนั้นให้เกิดขึ้นมาอีกได้ จนกว่าจะทํามรรคจิตที่สูงขึ้นไปให้เกิดขึ้นอีก เป็น เช่น นี้ทุกมรรค ฉะนั้น มหากุศลจิตอย่างเดียวเท่านั้นที่ได้ชื่อว่า กว้างขวางในเรื่องเวลา

๓. กว้างขวางในเรื่องเหตุ สามารถเกิดได้กับบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ และกุศลกรรมบถ ๑๐ หรือสุจริต ๑๐ ประการทั้งหมด หมายความว่า มหากุศลจิตนี้ เป็นจิตที่สามารถปรารภ ถึงบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ กุศลกรรมบถ ๑๐ หรือสุจริต ๑๐ อย่างใดอย่างหนึ่งแล้วเกิดขึ้นได้ หรือเป็นจิตที่เป็นเหตุให้สัตว์ทั้งหลายกระทําบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ และกุศลกรรมบถ ๑๐ หรือ สุจริต ๑๐ อย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งหมดก็ได้ แม้เพียงแต่ปรารภถึงสิ่งเหล่านี้ ด้วยเจตนาที่ บริสุทธิ์แล้ว มหากุศลจิตนี้ย่อมเกิดขึ้นได้

๔. กว้างขวางในเรื่องบุคคล เป็นจิตที่สามารถเกิดได้ในบุคคลทุกจําพวกที่มีจิตเกิด [ยกเว้นพระอรหันต์ที่จิตนั้นมีสภาพเป็นมหากิริยาจิต] หมายความว่า มหากุศลจิตนี้เป็นจิต ที่เกิดได้กับบุคคลทั่วไปตั้งแต่ปุถุชน จนถึงพระอนาคามี เมื่อเป็นพระอรหันต์แล้วเท่านั้น จึง จะเปลี่ยนจากมหากุศลจิตเป็นมหากิริยาจิต

๕. กว้างขวางในเรื่องภูมิ สามารถเกิดได้ถึง ๓๐ ภูมิ เว้นอสัญญสัตตภูมิ ๑ เท่านั้น [ซึ่งไม่มีจิตเกิดเลย] หมายความว่า สัตว์ทั้งหลายที่เกิดอยู่ในภพภูมิต่าง ๆ ทั้งสัตว์นรก เปรต อสุรกาย เดรัจฉาน มนุษย์ เทวดา มาร พรหม และสรรพสัตว์ทุกหมู่เหล่าที่มีจิตเกิดได้นั้น มหากุศลจิตนี้ย่อมสามารถเกิดได้กับสัตว์หรือบุคคลนั้นๆ ยกเว้นอสัญญสัตตพรหมจําพวก เดียว ที่ไม่มีจิตเกิดเลย มหากุศลจิตนี้จึงเกิดไม่ได้ และยกเว้นพระอรหันต์ทั้งหลาย ที่จิต นั้นมีสภาพเป็นมหากิริยาจิตไปแล้วเท่านั้น

๖. กว้างขวางในเรื่องการให้ผล เป็นจิตที่ให้ผลได้กว้างขวาง หมายความว่า มหา กุศลจิตที่บริบูรณ์ด้วยเจตนาทั้ง ๓ กาล คือ บุพเจตนา บุญจนเจตนา และอปรเจตนาแล้ว ย่อมให้ผลเป็นมหาวิบากโดยตรง ดวงต่อดวง คือ มหากุศลจิตดวงที่ ๑ ก็ให้ผลเป็นมหา วิบากจิตดวงที่ ๑ ดังนี้เป็นต้น นอกจากให้ผลเป็นมหาวิบากโดยตรงแล้ว ยังให้ผลเป็นอ เหตุกวิบาก ได้แก่ อเหตุกกุศลวิบากจิต ๘ อีกด้วย ฉะนั้น มหากุศลจิตแต่ละดวงนั้น ย่อม ให้ผลเป็นวิบากได้ ๔ ดวง คือ มหาวิบากจิตโดยเฉพาะของตนเอง และอเหตุกกุศลวิบากจิต อีก ๘ ดวง

๗. กว้างขวางในเรื่องอานุภาพ เป็นกุศลจิตที่สามารถเป็นบาทเบื้องต้นแห่ง มรรค ผล ฌาน อภิญญาได้ หมายความว่า ก่อนที่ มรรค ผล ฌาน อภิญญา จะเกิดขึ้นนั้น มหา กุศลจิต [หรือมหากิริยาจิตสําหรับของพระอรหันต์] ต้องเกิดขึ้นก่อนเสมอ ในวิถีนั้น ๆ แม้ ในขณะที่เริ่มเจริญภาวนา ไม่ว่าจะเป็นสมถภาวนาหรือวิปัสสนาภาวนาก็ตาม ตั้งแต่ บริกรรมภาวนาและอุปจารภาวนานั้น ในระยะนี้ มหากุศลจิต ย่อมเกิดขึ้นอยู่เสมอ และมี กําลังแก่กล้าขึ้นตามลําดับ เมื่อได้บรรลุถึงอัปปนาภาวนาแล้วเท่านั้น มหากุศลจิตนี้จึงแปร สภาพเป็นฌานกุศลจิต สําหรับผู้เจริญสมถภาวนา หรือแปรสภาพเป็นโลกุตตรกุศลหรือ มรรคจิต สําหรับผู้เจริญวิปัสสนาภาวนา

เหตุปัจจัยแห่งมหากุศลจิต

มหากุศลจิตอาศัยธรรม ๓ ประการ เป็นตัวจําแนก ด้วยเหตุนี้ จึงทําให้มีสภาพที่แตกต่างกันออกไป เป็น ๘ ดวง หรือ ๘ สภาวะ กล่าวคือ

๑. จําแนกโดยเวทนา มี ๒ อย่าง คือ
๑] เป็นโสมนัสสเวทนา เรียกว่า โสมนัสสสหดตัง แปลว่า จิตที่สหรคตด้วยโสมนัสส เวทนา จึงชื่อว่า โสมนัสสสหคตจิต มี ๔ ดวง
๒] เป็นอุเบกขาเวทนา เรียกว่า อุเปกขาสหคทั้ง แปลว่า จิตที่สหรคต ด้วย อุเบกขาเวทนา จึงชื่อว่า อุเบกขาสหคตจิต มี ๔ ดวง
๒. จําแนกโดยสัมปโยคะ มี ๒ อย่าง คือ
๑] เป็นญาณสัมปยุตต์ เรียกว่า ญาณสัมปยุตตัง แปลว่า จิตที่ประกอบด้วยปัญญา จึงชื่อว่า ญาณสัมปยุตตจิต มี ๔ ดวง
๒] เป็นญาณวิปปยุตต์ เรียกว่า ญาณวิปปยุตตัง แปลว่า จิตที่ไม่ประกอบด้วย ปัญญา จึงชื่อว่า ญาณวิปปยุตตจิต มี ๔ ดวง
๓. จําแนกโดยสังขาร มี ๒ อย่าง คือ
๑] เป็นอสังขาริก เรียกว่า อสังขาริกัง แปลว่า จิตที่เกิดขึ้นโดยไม่มีการชักชวน จึง ชื่อว่า อสังขาริกจิต มี ๔ ดวง
๒] เป็นสสังขาริก เรียกว่า สสังขาริกัง แปลว่า จิตที่เกิดขึ้นโดยมีการชักชวน จึงชื่อ ว่า สสังขาริกจิต มี ๔ ดวง

ตัวอย่างมหากุศลจิต

มหากุศลจิต ดวงที่ ๑ โสมนัสสสหคตั้ง ญาณสัมปยุตตัง อสังขาริกัง แปลความว่า จิตที่เกิดขึ้นโดยไม่มีการชักชวน พร้อมด้วยความดีใจ ประกอบด้วยปัญญา ซึ่ง เป็นจิตที่เกิดขึ้นในขณะที่รับรู้อารมณ์ ๖ ทางทวาร ๖ อย่างใดอย่างหนึ่ง ที่มีสภาพเป็นบุญ กิริยาวัตถุ ๑๐ ก็ดี กุศลกรรมบถ ๑๐ ก็ดี อย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เรียกว่า มหากุศลวัตถุ ในขณะที่รับอารมณ์อยู่นั้นย่อมเกิดความปลาบปลื้มยินดี พร้อมทั้งมีความรู้ความเข้าใจใน สภาพของอารมณ์นั้น ๆ อย่างถูกต้องตามที่เป็นจริง ซึ่งสภาพความรู้สึกที่เป็นองค์รวม เหล่านี้เกิดขึ้นมาเองโดยไม่ต้องมีการกระตุ้นเตือนหรือชักชวน เนื่องจากเป็นผู้มี ประสบการณ์ หรือมีความถนัดเจนจัดและชํานาญในวิธีการนั้น ๆ เป็นอย่างดี ตัวอย่างเช่น นายปัญญา เป็นคนฉลาดและอารมณ์ดี เป็นคนมีความรู้ในเรื่องธรรมะเป็นอย่างดี วันหนึ่ง นายปัญญาได้เดินผ่านวัดไป พอมองเห็นพระพุทธรูปในพระวิหาร ก็ยกมือไหว้ ด้วยจิตที่ เลื่อมใสในพระพุทธคุณ และมีความปลาบปลื้มยินดี น้อมนึกถึงพระพุทธคุณทั้ง ๔ ประการ ด้วยอาศัยประสบการณ์ความรู้ที่ได้ยินได้ฟังและได้เรียนมาเป็นอย่างดีแล้วนั้น ดังนี้เป็น ตัวอย่าง หรืออีกกรณีหนึ่ง เป็นจิตที่เกิดขึ้นในขณะที่พระเสกขบุคคลทั้งหลาย กระทํากิจที่ เป็นกุศลต่าง ๆ ที่ต้องใช้ปัญญาในการพิจารณาใคร่ครวญ เช่น การแสดงธรรม การบอก ธรรม เป็นต้น ที่เป็นการปรารภขึ้นมาเอง เมื่อเห็นบุคคลผู้สามารถที่จะรับฟังธรรมได้มา ปรากฏอยู่เฉพาะหน้า หรือตนเองปรารภเดินเข้าไปหาบุคคลนั้น เพื่อต้องการที่จะบอก ธรรมแสดงธรรมให้ฟัง ในขณะที่แสดงธรรมหรือบอกธรรมอยู่นั้น ก็มีความปลาบปลื้มยินดี เพราะมีศรัทธาที่มั่นคงในพระพุทธศาสนาอย่างไม่หวั่นไหว และมีความพึงพอใจในการทํา หน้าที่ของตน พร้อมด้วยสติปัญญาที่ตนมีอยู่ จึงสามารถแสดงธรรมได้อย่างละเอียดลึกซึ้ง อีกกรณีหนึ่ง เป็นจิตที่เกิดกับอบายสัตว์ คือ สัตว์นรก เปรต อสุรกาย หรือเดรัจฉาน บาง จําพวก ที่มีอุปนิสัยในกุศลบารมีมาแต่ชาติปางก่อน มีพระโพธิสัตว์ เป็นต้น เมื่อได้ประสบ กับอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง อันเป็นมหากุศลวัตถุนั้น ซึ่งตนเองมีความคุ้นเคย หรือจํา ความหลังในชาติปางก่อนได้ ก็ทําให้เกิดมหากุศลจิตขึ้นมา หรือทํามหากุศลเช่นนั้นลงไปพร้อมด้วยความปลาบปลื้มยินดี และมีความรู้ความเข้าใจในอารมณ์อันเป็นมหากุศลวัตถุ นั้น ด้วยอดีตสัญญาที่เคยสั่งสมมานั่นเอง

มหากุศลจิต ดวงที่ ๒ โสมนัสสสหคตั้ง ญาณสัมปยุตตัง สสังขาริกัง แปลความว่า จิตที่เกิดขึ้นโดยมีการชักชวน พร้อมด้วยความดีใจ ประกอบด้วยปัญญา ซึ่งเป็นจิตที่เกิดขึ้น ในขณะที่รับรู้อารมณ์ ๖ ทางทวาร ๖ อย่างใดอย่างหนึ่ง ที่มีสภาพเป็นบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ก็ ดี กุศลกรรมบถ ๑๐ ก็ดี อย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เรียกว่า มหากุศลวัตถุ โดยอาศัยการกระตุ้น เตือนหรือชักชวนให้เกิดการรับรู้และตอบสนองต่ออารมณ์นั้น แต่ในขณะที่รับรู้อารมณ์นั้น อยู่ก็มีความปลาบปลื้มยินดี พร้อมกับมีความรู้ความเข้าใจในสภาพของอารมณ์นั้น ๆ อย่าง ถูกต้องตามที่เป็นจริง ฉะนั้น จิตดวงนี้จึงต่างจากมหากุศลจิตดวงที่ ๑ ตรงที่ต้องอาศัยการ กระตุ้นเตือนหรือชักชวนก่อนแล้ว จึงเกิดความรู้สึกที่เป็นองค์รวมทั้งหมดได้ ตัวอย่างเช่น นายเฉลียว เป็นคนอารมณ์ดี มีความฉลาด แต่เนื่องจากเป็นคนไม่ค่อยเข้าวัดฟังธรรม ไม่ ค่อยมีความรู้เรื่องธรรมะสักเท่าใดนัก วันหนึ่ง เพื่อนได้ชักชวนนายเฉลียวให้ร่วมทําบุญ ทอดกฐิน โดยการพรรณนาอานิสงส์แห่งการทอดกฐินว่า มีมากมายมหาศาล และถือว่า เป็นการรักษาสืบทอดวัฒนธรรมอันเป็นแบบแผนที่ดีงามของพระพุทธ ศาสนาไว้ด้วย เมื่อ นายเฉลียวได้ฟังอานิสงส์ของการทอดกฐินแล้ว ย่อมเกิดความรู้ความเข้าใจและเกิดความ เลื่อมใสศรัทธา จึงได้ร่วมบริจาคทรัพย์ในการทอดกฐินครั้งนั้น ด้วยความปลาบปลื้มยินดี ดังนี้เป็นตัวอย่าง หรืออีกกรณีหนึ่ง เป็นจิตที่เกิดขึ้นในขณะที่พระเสกขบุคคลทั้งหลาย คือ พระโสดาบัน พระสกทาคามี และพระอนาคามี ถูกเชื้อเชิญให้ทํากิจที่เป็นกุศลบางอย่าง เช่น ให้แสดงธรรม ให้สอนธรรม ให้บอกธรรม ให้อธิบายชี้แจงข้ออรรถข้อธรรม เป็นต้น ซึ่ง ท่านก็ได้ทํากิจที่ได้รับอาราธนาหรือเชื้อเชิญนั้น ด้วยความปลาบปลื้มยินดี พร้อมด้วย ความรู้ความเข้าใจในข้ออรรถข้อธรรมที่แสดงนั้นเป็นอย่างดี เนื่องจากเป็นพระอริยบุคคล ซึ่งเป็นผู้สามารถชําระทิฏฐิคือความเห็นผิดและวิจิกิจฉาคือลังเลสงสัยให้หมดไปจากขันธ สันดานได้แล้วนั่นเอง อีกกรณีหนึ่ง เป็นจิตที่เกิดกับอบายสัตว์ คือ สัตว์นรก เปรต อสุรกาย หรือเดรัจฉาน บางจําพวก ที่มีอุปนิสัยในกุศลบารมีมาแต่ชาติปางก่อน มีพระโพธิสัตว์ เป็น ต้น เมื่อถูกกระตุ้นเตือนหรือชักชวนให้เกิดการรับรู้และตอบสนองต่ออารมณ์ในทางที่เป็น กุศล และชี้แนะให้เกิดความรู้ความเข้าใจในอารมณ์อันเป็นมหากุศลวัตถุนั้นอย่างถูกต้อง หรือขณะที่ได้ประสบกับอารมณ์อันเป็นมหากุศลวัตถุนั้นอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งตนเองมี ความคุ้นเคย หรือจําชาติก่อนได้ ก็คิดกระตุ้นเตือนตนเองให้เกิดมหากุศลจิตขึ้นมา หรือทํา กุศลเช่นนั้นลงไป พร้อมด้วยความปลาบปลื้มยินดี

มหากุศลจิต ดวงที่ ๓ โสมนัสสสหคตั้ง ญาณวิปปยุตตัง อสังขาริกัง แปลความว่า จิตที่เกิดขึ้นโดยไม่มีการชักชวน พร้อมด้วยความดีใจ ไม่ประกอบด้วยปัญญา ซึ่งเป็นจิตที่ เกิดขึ้นในขณะที่รับรู้อารมณ์ ๖ ทางทวาร ๖ อย่างใดอย่างหนึ่ง ที่มีสภาพเป็นบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ก็ดี กุศลกรรมบถ ๑๐ ก็ดี อย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เรียกว่า มหากุศลวัตถุ ซึ่งเกิดขึ้นมาเอง โดยไม่ต้องมีการกระตุ้นเตือนหรือชักชวน เนื่องจากมีความถนัดเจนจัดและชํานาญต่อ อารมณ์นั้น หรือในกิจการงานอันเป็นบุญกุศลที่จะทํานั้นเป็นอย่างดีแล้ว แต่ไม่มีความรู้ ความเข้าใจในสภาพของอารมณ์นั้นอย่างถูกต้องตามที่เป็นจริงนัก เนื่องจากขาด ประสบการณ์ความรู้ความเข้าใจในสภาพของอารมณ์นั้น หรือกิจการงานอันเป็นบุญกุศลที่ ทํานั้นไม่ต้องใช้ปัญญาในการพิจารณา เพราะมีความถนัดและคุ้นเคยเป็นอย่างดีแล้ว แต่ ในขณะที่เกิดความรู้สึกหรือทําบุญกุศลนั้นอยู่ ก็มีความปลาบปลื้มยินดี ฉะนั้น มหากุศลจิต ดวงที่ ๓ นี้จึงต่างจากมหากุศลจิตดวงที่ ๑ ตรงที่ไม่มีปัญญาประกอบร่วมด้วย และต่างจาก มหากุศลจิตดวงที่ ๒ ตรงที่เป็นอสังขาริกคือ ปรารภขึ้นมาเองโดยไม่ต้องมีการกระตุ้นเตือน หรือชักชวน จึงเกิดความรู้สึกที่เป็นองค์รวมทั้งหมดได้ ตัวอย่างเช่น นางสาวสมฤทัย เป็น คนอารมณ์ดี แต่ไม่ฉลาด ทั้งไม่มีความรู้เรื่องธรรมะ วันหนึ่ง เพื่อนชวนไปเที่ยววัดพระแก้ว เมื่อไปเห็นพระแก้วมรกตแล้ว นางสาวสมฤทัยก็เกิดความเลื่อมใสศรัทธา มีความรู้สึกปลาบ ปลื้มยินดี ขนลุกซู่ซ่าขึ้นมาทันที ด้วยอุปนิสัยที่เป็นคนเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเป็น ทุนเดิมอยู่แล้ว นางสาวสมฤทัยจึงได้ยกมือประนมไหว้พระแก้วมรกตทันที หรืออีกกรณี หนึ่ง เป็นจิตที่เกิดขึ้นกับพระเสกขบุคคลทั้งหลาย ในขณะที่กระทํากิจต่าง ๆ มีการปัด กวาดวิหารลานพระเจดีย์ ซึ่งเป็นกิจวัตรประจําวัน ที่ตนมีความถนัดเจนจัด และทําเป็น ประจําอยู่แล้ว จึงไม่ต้องใช้ปัญญาพิจารณาว่าจะทําอย่างไร ดังนี้เป็นต้น อีกกรณีหนึ่ง เป็น จิตที่เกิดกับอบายสัตว์ คือ สัตว์นรก เปรต อสุรกาย หรือเดรัจฉาน บางจําพวก ที่มีอุปนิสัย ในกุศลบารมีมาแต่ชาติปางก่อน มีพระโพธิสัตว์ เป็นต้น เมื่อได้ประสบกับอารมณ์อันเป็น มหากุศลวัตถุนั้นอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งตนเองมีความถนัดหรือคุ้นเคยเป็นอย่างดี แต่ว่าไม่มี ความรู้ความเข้าใจในสิ่งที่ทํานั้น เนื่องจากขอบเขตจํากัดในประสิทธิภาพการรับรู้ของตน แล้วก็เกิดมหากุศลจิตขึ้นมา หรือทํากุศลนั้น ๆ ลงไป พร้อมด้วยความปลาบปลื้มยินดี เช่น สุนัขที่ไร้เดียงสา มีความกตัญญูต่อเจ้าของ เมื่อเหลือบเห็นเจ้าของเดินมาแต่ไกล ก็มีความ ปลาบปลื้มยินดี กระดิกหางวิ่งเข้าไปต้อนรับด้วยความรักและกตัญญู ดังนี้เป็นต้น

มหากุศลจิต ดวงที่ ๔ โสมนัสสสหคตั้ง ญาณวิปปยุตตัง สสังขาริกัง แปลความว่า จิตที่เกิดขึ้นโดยมีการชักชวน พร้อมด้วยความดีใจ ไม่ประกอบด้วยปัญญา ซึ่งเป็นจิตที่เกิดขึ้นในขณะที่รับรู้อารมณ์ ๖ ทางทวาร ๖ อย่างใดอย่างหนึ่ง ที่มีสภาพเป็นบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ก็ดี กุศลกรรมบถ ๑๐ ก็ดี อย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เรียกว่า มหากุศลวัตถุ โดยต้องอาศัย การกระตุ้นเตือนหรือชักชวนให้เกิดการรับรู้และตอบสนองต่ออารมณ์นั้นหรือสิ่งที่เป็นมหา กุศลวัตถุนั้น เนื่องจากขาดประสบการณ์หรือขาดความถนัดคุ้นเคยในอารมณ์นั้น ๆ หรือ ความไม่พร้อมแห่งเหตุปัจจัยอื่น ๆ เช่น เป็นคนมีนิสัยเฉื่อยชา อืดอาด ขาดความ กระตือรือร้นในกิจการงานต่าง ๆ เป็นต้น แต่เมื่อถูกกระตุ้นเตือนหรือชักชวนแล้ว ก็เกิด ความเลื่อมใสศรัทธาในบุญกุศลนั้นและทําบุญกุศลนั้นลงไป ด้วยความปลาบปลื้มยินดี แต่ ไม่มีความรู้ความเข้าใจในสภาพอารมณ์หรือวัตถุประสงค์ของการกระทํานั้นอย่างถูกต้อง ตามที่เป็นจริง เนื่องจากเป็นคนไม่มีปัญญา หรือยังเล็กไร้เดียงสาอยู่ ฉะนั้น มหากุศลจิต ดวงที่ ๔ นี้จึงต่างจากมหากุศลจิตดวงที่ ๑ ตรงที่ไม่มีปัญญาประกอบร่วมด้วยและเป็น สสังขาริกคือเกิดขึ้นโดยต้องมีการชักชวน ต่างจากมหากุศลจิตดวงที่ ๒ ตรงที่ไม่ ประกอบด้วยปัญญา และต่างจากมหากุศลจิตดวงที่ ๓ ตรงที่เป็นสสังขาริกคือเกิดขึ้นโดย ต้องอาศัยการกระตุ้นเตือนหรือชักชวน จึงเกิดความรู้สึกที่เป็นองค์รวมทั้งหมดได้ ตัวอย่างเช่น เด็กชายเก็ง ยังเล็กไร้เดียงสา วันหนึ่ง แม่ชวนไปใส่บาตรพระหน้าบ้าน เด็กชายเก็ง เห็นพระก็ดีใจ แม่บอกให้เด็กชายเก๋งช่วยหยิบของใส่บาตรพระ เด็กชายเก็งก็ ทําตามที่แม่บอกอย่างสนุกสนานรื่นเริง เสร็จแล้วแม่บอกให้ประนมมือไหว้พระ เด็กชาย เก็งก็ทําตามทุกอย่าง ด้วยอาการยิ้มแย้มแจ่มใส ดังนี้เป็นตัวอย่าง อีกนัยหนึ่ง เป็นจิตที่เกิด ขึ้นกับพระเสกขบุคคลทั้งหลาย ที่มีความถนัดเจนจัดและชํานาญในการทํากิจที่เป็นกุศล บางอย่าง แต่เป็นผู้มีความขวนขวายน้อย ชอบความสงัดและสันโดษ จึงไม่ค่อย กระตือรือร้นในการทํากิจนั้น ๆ หรือมีปัญหาอุปสรรคทางด้านร่างกายหรือด้านจิตใจ บางอย่างมาบั่นทอน ทําให้ขาดความกระตือรือร้น แต่เมื่อถูกกระตุ้นเตือนหรือชักชวน เชื้อ เชิญแล้ว ก็มีความเต็มใจในการทํากิจนั้น ด้วยความปลาบปลื้มใจ แต่เนื่องจากกิจนั้น ๆ ท่านมีความถนัดคุ้นเคยอยู่แล้ว เช่น การซัก การเย็บ การย้อมจีวร การปัดกวาดวิหารลาน พระเจดีย์ เป็นต้น จึงไม่ต้องใช้ปัญญาในการพิจารณา หรืออีกกรณีหนึ่ง เป็นจิตที่เกิดกับ อบายสัตว์ คือ สัตว์นรก เปรต อสุรกาย หรือเดรัจฉาน บางจําพวก ที่มีอุปนิสัยในกุศล บารมีมาแต่ชาติปางก่อนบ้าง มีพระโพธิสัตว์ เป็นต้น เมื่อถูกกระตุ้นเตือนหรือชักชวนให้ เกิดการรับรู้และตอบสนองต่ออารมณ์ที่เป็นกุศล ในขณะที่ได้ประสบกับอารมณ์อันเป็น มหากุศลวัตถุนั้นอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งตนเองไม่ค่อยมีความถนัดหรือไม่ค่อยคุ้นเคย ทั้งไม่มีความรู้ความเข้าใจในสิ่งที่ทํานั้น เนื่องจากขอบเขตจํากัดในประสิทธิภาพการรับรู้ของตน แต่เมื่อถูกกระตุ้นเตือนหรือชักชวนแล้ว ก็ทําด้วยความปลาบปลื้มยินดี

มหากุศลจิต ดวงที่ ๕ อุเปกขาสหคทั้ง ญาณสัมปยุตตัง อสังขาริกัง แปลความว่า จิตที่เกิดขึ้นโดยไม่มีการชักชวน พร้อมด้วยความเฉย ๆ ประกอบด้วยปัญญา ซึ่งเป็นจิตที่ เกิดขึ้นในขณะที่รับรู้อารมณ์ ๖ ทางทวาร ๖ อย่างใดอย่างหนึ่ง ที่มีสภาพเป็นบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ก็ดี กุศลกรรมบถ ๑๐ ก็ดี อย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เรียกว่า มหากุศลวัตถุ แต่ด้วยอุปนิสัยที่ เป็นคนสุขุมหรือมีความวางเฉยเป็นปกติ หรือมีปัญหาอุปสรรคบางอย่างมาบั่นทอน ความรู้สึกให้เกิดอาการวางเฉย เช่น อกหัก หลักลอย คอยงาน สังขารเสื่อม เป็นต้น ฉะนั้น ในขณะที่รับอารมณ์อยู่นั้นก็มีอาการวางเฉย แต่เป็นผู้มีความรู้ความเข้าใจในสภาพของ อารมณ์นั้น ๆ อย่างถูกต้องตามที่เป็นจริง ซึ่งสภาพความรู้สึกที่เป็นองค์รวมเหล่านี้ เป็นการ ปรารภขึ้นมาเองโดยไม่ต้องมีการกระตุ้นเตือนหรือชักชวน เนื่องจากเป็นผู้มีประสบการณ์ หรือมีความถนัดเจนจัดและชํานาญในวิธีการนั้น ๆ เป็นอย่างดี ฉะนั้น มหากุศลจิตดวงที่ ๕ นี้จึงต่างจากมหากุศลจิตดวงที่ ๑ ตรงที่เป็นเป็นอุเบกขาเวทนาคือความวางเฉย ต่างจาก มหากุศลจิตดวงที่ ๒ ตรงที่เป็นอุเบกขาเวทนาและเป็นอสังขาริกคือเกิดขึ้นโดยไม่ต้อง ชักชวน ต่างจากมหากุศลจิตดวงที่ ๓ ตรงที่เป็นอุเบกขาเวทนาและเป็นญาณสัมปยุตต์คือ ประกอบด้วยปัญญา และต่างจากมหากุศลจิตดวงที่ ๔ โดยสิ้นเชิง คือ เป็นอุเบกขาเวทนา เป็นญาณสัมปยุตต์คือประกอบด้วยปัญญา และเป็นอสังขาริกคือเกิดขึ้นโดยไม่ต้องอาศัย การกระตุ้นเตือนหรือชักชวน จึงเกิดความรู้สึกที่เป็นองค์รวมทั้งหมดได้ ตัวอย่างเช่น นางสาวฉลาด เป็นคนมีนิสัยเฉย ๆ ไม่ค่อยยินดียินร้ายกับใครนัก แต่เป็นคนฉลาดและเป็น ผู้มีความรู้เรื่องธรรมะเป็นอย่างดี วันหนึ่ง นางสาวฉลาด เห็นพระสงฆ์เดินบิณฑบาตผ่าน หน้าบ้าน ด้วยอุปนิสัยที่เป็นคนชอบทําบุญ จึงพิจารณาเห็นว่า บุญนี้เป็นสิ่งดีงาม นําสัตว์ ให้พ้นทางกันดารคือความทุกข์ได้ ดังนี้เป็นต้นแล้ว ก็เดินไปตักข้าวใส่ภาชนะมาใส่บาตร พระทันที พร้อมกับตั้งจิตอธิษฐานอยู่ในใจว่า “ข้าวของข้าพเจ้า ขาวดังดอกบัว ยกขึ้น เหนือหัว ใส่บาตรพระสงฆ์ มีจิตจํานง มุ่งตรงต่อพระนิพพาน ขอให้ถึงเมืองแก้ว ขอให้ แคล้วบ่วงมาร ขอให้ได้พบพระศรีอาริย์ ในอนาคตกาล เบื้องหน้าโน้นเทอญ * ดังนี้เป็น ตัวอย่าง หรืออีกกรณีหนึ่ง เป็นจิตที่เกิดขึ้นกับพระเสกขบุคคลทั้งหลาย ในขณะที่กระทํา กิจที่เป็นกุศลต่าง ๆ ที่ต้องใช้ปัญญาในการพิจารณาใคร่ครวญ เช่น การแสดงธรรม การ บอกธรรม เป็นต้น ที่เป็นการปรารภขึ้นมาเอง เมื่อเห็นบุคคลผู้สามารถที่จะรับฟังธรรม ได้มาปรากฏอยู่เฉพาะหน้า หรือตนเองปรารภเดินเข้าไปหาบุคคลนั้น เพื่อต้องการที่จะบอกธรรมแสดงธรรมให้ฟัง แต่เนื่องจากอุปนิสัยเป็นคนสุขุมคัมภีรภาพ มีอาการวางเฉยอยู่ เป็นปกติ ฉะนั้น ในขณะที่แสดงธรรมหรือบอกธรรมอยู่นั้น ก็มีความรู้สึกเฉย ๆ เป็นผู้ ประกอบพร้อมด้วยสติปัญญาที่ตนมีอยู่ จึงสามารถแสดงธรรมได้อย่างละเอียดลึกซึ้ง อีก กรณีหนึ่ง เป็นจิตที่เกิดกับอบายสัตว์ คือ สัตว์นรก เปรต อสุรกาย หรือเดรัจฉาน บาง จําพวก ที่มีอุปนิสัยในกุศลบารมีมาแต่ชาติปางก่อน มีพระโพธิสัตว์ เป็นต้น เมื่อได้ประสบ กับอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง อันเป็นมหากุศลวัตถุซึ่งตนเองมีความคุ้นเคย หรือจํา ความหลังในชาติปางก่อนได้ ก็ทําให้เกิดมหากุศลจิตขึ้นมา หรือทํามหากุศลเช่นนั้นลงไป แต่เพราะอัธยาศัยส่วนตัวเป็นผู้วางเฉยอยู่เป็นปกติ ไม่ชอบคลุกคลีกับสัตว์อื่น หรือมีปัญหา อุปสรรคทางด้านร่างกายก็ดี ทางด้านจิตใจก็ดี เข้ามาบั่นทอนให้ต้องวางเฉย เช่น เอือมระอาหมู่คณะที่วุ่นวาย เป็นต้น จึงทําให้เกิดความรู้สึกต่ออารมณ์นั้นด้วยความวางเฉย แต่มีความรู้ความเข้าใจในอารมณ์อันเป็นกุศลวัตถุนั้น ด้วยอดีตสัญญาที่เคยสั่งสมมานั่นเอง ตัวอย่างเช่น พญาช้างปาลิเลยยกะ ที่เอือมระอาต่อกิริยาของพวกช้างที่เป็นบริวารของตน คือ ในเวลาออกไปหากิน เมื่อพญาช้างปาลิเลยยกะหักกิ่งไม้ลงมาจะกินใบไม้อ่อนก็ดี พวก ช้างพลาย ช้างพังและลูกช้าง ก็แย่งกินหมด เหลือไว้แต่ใบไม้แก่ๆ พญาช้างต้องกินเดินจาก พวกช้างเหล่านั้น ในเวลาลงไปกินน้ําที่ท่าน้ํา พวกช้างเหล่านั้นก็เดินเสียดสีพญาช้างทั้ง ด้านซ้ายด้านขวา แซงหน้าลงไปกินน้ําก่อน ทําให้น้ําขุ่น พญาช้างก็ต้องทนกินน้ําอุ่น ๆ นั้น จึงทําให้พญาช้างนั้นเกิดความเอือมระอา พอทราบข่าวว่า พระพุทธองค์เสด็จมาประทับอยู่ ณ ป่ารักขิตวันเพียงลําพังพระองค์เดียว พญาช้างนั้น จึงปลีกตัวออกจากโขลงแต่ผู้เดียว เข้าไปแสดงความเคารพและแสดงเจตนารมณ์ที่จะอยู่อุปัฏฐากพระพุทธองค์ตลอดไตรมาสนั้น ดังนี้เป็นต้น

มหากุศลจิต ดวงที่ ๖ อุเปกขาสหคตั้ง ญาณสัมปยุตตัง สสังขาริกัง แปลความว่า จิตที่เกิดขึ้นโดยมีการชักชวน พร้อมด้วยความเฉย ๆ ประกอบด้วยปัญญา ซึ่งเป็นจิตที่ เกิดขึ้นในขณะที่รับรู้อารมณ์ ๖ ทางทวาร ๖ อย่างใดอย่างหนึ่ง ที่มีสภาพเป็นบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ก็ดี กุศลกรรมบถ ๑๐ ก็ดี อย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เรียกว่า มหากุศลวัตถุ พร้อมด้วยความ วางเฉย และต้องอาศัยการกระตุ้นเตือนหรือชักชวนก่อนแล้ว จึงเกิดความรู้สึกหรือกระทํา สิ่งนั้นลงไป แต่เป็นผู้มีความรู้ความเข้าใจในอารมณ์นั้น ๆ อย่างถูกต้องตามที่เป็นจริง ฉะนั้น มหากุศลจิตดวงที่ ๖ นี้จึงต่างจากมหากุศลจิตดวงที่ ๑ ตรงที่เป็นเป็นอุเบกขาเวทนา คือความวางเฉยและเป็นสสังขาริกคือต้องอาศัยการกระตุ้นเตือนหรือชักชวน ต่างจากมหา กุศลจิตดวงที่ ๒ ตรงที่เป็นอุเบกขาเวทนา ต่างจากมหากุศลจิตดวงที่ ๓ โดยสิ้นเชิง คือ เป็นอุเบกขาเวทนาเป็นญาณสัมปยุตต์คือประกอบด้วยปัญญาและเป็นสสังขาริก ต่างจาก มหากุศลจิตดวงที่ ๔ ตรงที่เป็นอุเบกขาเวทนาและเป็นญาณสัมปยุตต์คือประกอบด้วย ปัญญา และต่างจากมหากุศลจิตดวงที่ ๕ ตรงที่เป็นสสังขาริกคือเกิดขึ้นโดยมีการชักชวน จึงเกิดความรู้สึกที่เป็นองค์รวมทั้งหมดได้ ตัวอย่างเช่น นางสาวแฉล้ม เป็นคนฉลาด แต่ กําลังอยู่ในภาวะที่เต็มไปด้วยอุปสรรคปัญหาที่ผ่านมาในชีวิต คือ คนรักก็ทิ้งห่างจากไป การงานก็ไม่มีทํา เงินทองก็ไม่ค่อยมีใช้ โรคภัยก็รุมเร้า ญาติมิตรก็ไม่มีที่จะพึ่งพิงอาศัยได้ จึงตกอยู่ในภาวะที่ว่า “อกหัก หลักลอย คอยงาน สังขารเสื่อม ” หรือ “บุญไม่พาวาสนา ไม่ช่วย ที่ป่วยก็หนัก ที่รักหน่าย " จึงคิดปลงไม่ตก มีความกลัดกลุ้มใจ เพื่อนเห็นว่า นางสาวแฉล้ม มีอาการซึมเซา และเก็บตัวเงียบ ไม่ค่อยไปมาหาสู่กัน วันหนึ่ง เพื่อนจึงไป เยี่ยมนางสาวแฉล้มด้วยความเป็นห่วง พร้อมกับชวนนางสาวแฉล้มว่า “พวกเราไปเที่ยววัด ระฆังโฆสิตารามกันเถอะ ไปกราบพระประธานในพระอุโบสถและสมเด็จพระพุฒาจารย์ [โต พฺรหฺมรํสี] ในพระวิหาร เห็นเขาบอกว่า ศักดิ์สิทธิ์ดีนักแล ใครไปกราบไปไหว้ แล้วขอ พรสิ่งใด ก็มักสําเร็จสมปรารถนาเสมอ ” นางสาวแฉล้ม ก็เห็นว่าดีเหมือนกัน เผื่ออะไร ๆ จะดีขึ้นมาบ้าง ก็เลยพากันเดินทางไปวัดระฆังโฆสิตาราม เพื่อนก็พรรณนาถึงพระพุทธคุณ และคุณธรรมของสมเด็จพระพุฒาจารย์ [โต] ให้ฟัง นางสาวแฉล้มรู้สึกโล่งใจสบายใจขึ้นมา บ้าง และเกิดความรู้ความเข้าใจในพระพุทธคุณและได้รู้ประวัติและคุณธรรมของเจ้า ประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ [โต] เป็นอย่างดี จึงเกิดความเลื่อมใสศรัทธาตาม และได้ กราบไหว้พระประธานในพระอุโบสถและรูปเหมือนเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ [โต] ในพระวิหารพร้อมกับเพื่อน ด้วยอาการอันสุขุมคัมภีรภาพ เพราะยังมีความรู้สึกเก็บกด ความทุกข์ไว้ในใจซึ่งยังไม่สามารถเยียวยาแก้ไขได้ หรืออีกกรณีหนึ่ง เป็นจิตที่เกิดขึ้นใน ขณะที่พระเสกขบุคคลทั้งหลาย ที่ถูกเชื้อเชิญให้กระทํากิจต่าง ๆ ที่เป็นกุศล เช่น การแสดง ธรรม การบอกธรรม เป็นต้น แต่เนื่องจากอุปนิสัยเป็นคนสุขุมคัมภีรภาพ มีอาการวางเฉย อยู่เป็นปกติและเป็นผู้มีความขวนขวายน้อย ต้องการที่จะอยู่เป็นสุขเพียงลําพัง ไม่ต้องการ ยุ่งเกี่ยวกับใครมากนัก ฉะนั้น ในขณะที่แสดงธรรมหรือบอกธรรมอยู่นั้น ก็มีความรู้สึกเฉย ๆ แต่เป็นผู้ประกอบพร้อมด้วยสติปัญญาที่ตนมีอยู่ จึงสามารถแสดงธรรมได้อย่างละเอียด ลึกซึ้ง อีกกรณีหนึ่ง เป็นจิตที่เกิดกับอบายสัตว์ คือ สัตว์นรก เปรต อสุรกาย หรือเดรัจฉาน บางจําพวก ที่มีอุปนิสัยในกุศลบารมีมาแต่ชาติปางก่อน มีพระโพธิสัตว์ เป็นต้น เมื่อได้ ประสบกับอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง อันเป็นมหากุศลวัตถุนั้น ซึ่งตนเองไม่มีความคุ้นเคย แต่เมื่อถูกกระตุ้นเตือนหรือชักชวน และชี้แนะให้เกิดความรู้ความใจในการกระทํานั้นอย่างถูกต้อง ก็ทําให้เกิดมหากุศลจิตขึ้นมา หรือทํามหากุศลเช่นนั้นลงไป แต่เพราะอัธยาศัย ส่วนตัวเป็นผู้มีอาการวางเฉยอยู่เป็นปกติ ไม่ชอบคลุกคลีกับสัตว์อื่น หรือมีปัญหาอุปสรรค ทางด้านร่างกายก็ดี ทางด้านจิตใจก็ดี เข้ามาบั่นทอนให้ต้องวางเฉย เช่น สัตว์นรกที่กําลัง ได้รับทุกขเวทนาอันแสนสาหัสจากการถูกทรมานด้วยวิธีการต่าง ๆ เมื่อมีพระสงฆ์ผู้มีฤทธิ์ เดช เช่น พระโมคคัลลานะ พระมาลัย เป็นต้นไปโปรดถึงที่ และช่วยให้ไฟนรกดับลง ชั่วคราวด้วยอานุภาพของตน แล้วชี้แจงแสดงธรรมให้ฟังในเรื่องกรรมและผลของกรรมที่ สัตว์เหล่านั้นได้กระทํามาแล้ว ตลอดถึงการทําบุญกุศลต่าง ๆ สัตว์นรกนั้น ก็เกิดความรู้ ความเข้าใจตามกระแสพระธรรมเทศนานั้น แต่ปรารภว่าตนเองจะต้องถูกทรมานในนรกไป อีกเป็นเวลานาน ก็ต้องวางอุเบกขายอมรับกับชะตากรรมนั้นต่อไป จึงเกิดอาการวางเฉยเสีย

มหากุศลจิต ดวงที่ ๗ อุเปกขาสหคตั้ง ญาณวิปปยุตตัง อสังขาริกัง แปลความว่า จิตที่เกิดขึ้นโดยไม่มีการชักชวน พร้อมด้วยความเฉย ๆ ไม่ประกอบด้วยปัญญา ซึ่งเกิดขึ้น ในขณะที่รับรู้อารมณ์ ๖ ทางทวาร ๖ อย่างใดอย่างหนึ่ง ที่มีสภาพเป็นบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ก็ ดี กุศลกรรมบถ ๑๐ ก็ดี อย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เรียกว่า มหากุศลวัตถุ พร้อมด้วยความวาง เฉย แต่เป็นการปรารภขึ้นมาเองและกระทํากุศลนั้นลงไป โดยไม่ต้องอาศัยการกระตุ้น เตือนหรือชักชวน แต่ไม่มีความรู้ความเข้าใจในอารมณ์นั้น ๆ อย่างถูกต้องตามที่เป็นจริง ฉะนั้น มหากุศลจิตดวงที่ ๗ นี้จึงต่างจากมหากุศลจิตดวงที่ ๑ ตรงที่เป็นเป็นอุเบกขาเวทนา และเป็นญาณวิปปยุตต์คือไม่ประกอบด้วยปัญญา ต่างจากมหากุศลจิตดวงที่ ๒ โดยสิ้นเชิง คือเป็นทั้งอุเบกขาเวทนา เป็นญาณวิปปยุตต์ และเป็นอสังขาริก ต่างจากมหากุศลจิตดวงที่ ๓ ตรงที่เป็นอุเบกขาเวทนา ต่างจากมหากุศลจิตดวงที่ ๔ ตรงที่เป็นอุเบกขาเวทนาและเป็น อสังขาริกคือเกิดขึ้นโดยไม่มีการชักชวน ต่างจากมหากุศลจิตดวงที่ ๕ ตรงที่เป็นญาณวิปป ยุตต์คือไม่ประกอบด้วยปัญญา และต่างจากมหากุศลจิตดวงที่ ๖ ตรงที่เป็นอสังขาริกคือ เกิดขึ้นโดยไม่มีการชักชวนและเป็นญาณวิปปยุตต์คือไม่ประกอบด้วยปัญญา จึงเกิด ความรู้สึกที่เป็นองค์รวมทั้งหมดได้ ตัวอย่างเช่น นางสาวเฉื่อย กําลังตกอยู่ในภาวะคล้าย กับนางสาวแฉล้ม แต่หนักกว่านางสาวแฉล้มเสียอีก เนื่องจากไม่มีเพื่อนฝูงมาเยี่ยมเยียน ปลอบใจเลย แต่เนื่องจากเป็นคนมีจิตใจเข้มแข็ง จึงสามารถอดทนต่อสู้กับปัญหาอุปสรรค เหล่านั้นได้ โดยไม่คิดสั้นตัดช่องน้อยเฉพาะตัวไป วันหนึ่ง นางสาวเฉื่อย ตื่นเช้ามาหุงหา อาหารเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็นั่งอยู่คนเดียว มองไปข้างหน้า หวังว่าจะมีใครสักคนหนึ่ง มาร่วมกินข้าวเช้าด้วย แต่มองไปก็ไร้วี่แวว นางสาวเฉื่อย ยังคงนั่งมองไปข้างหน้าบ้านนั้นไปอย่างไร้จุดหมายและความหวัง พอดีตาเหลือบมองไปเห็นพระสงฆ์กําลังเดินบิณฑบาต มาทางบ้านของตนเอง ด้วยอุปนิสัยที่เคยทําบุญมาบ้าง จึงคิดว่า “เราควรจะทําบุญกุศลไว้ บ้าง เพื่อชีวิตจะมีอะไรดีขึ้นมา ” เมื่อคิดดังนี้แล้ว จึงได้ไปตักข้าวใส่ภาชนะมารอใส่บาตร พระสงฆ์ เมื่อพระสงฆ์เดินมาถึงแล้ว จึงนิมนต์ให้หยุด แล้วบรรจงตักข้าวใส่บาตรพระสงฆ์ ด้วยคิดอธิษฐานในใจว่า “ด้วยอํานาจแห่งกุศลผลบุญนี้ ขอให้เราจงพ้นจากเคราะห์กรรม และความทุกข์ยากลําบากทั้งปวงนี้ โดยเร็วพลันเถิด” ดังนี้เป็นต้น อีกกรณีหนึ่ง เป็นจิตที่ เกิดขึ้นในขณะที่พระเสกขบุคคลทั้งหลาย ที่ถูกเชื้อเชิญให้กระทํากิจต่าง ๆ ที่เป็นกุศล เช่น การปัดกวาดวิหารลานพระเจดีย์ เป็นต้น ซึ่งเป็นกิจที่ตนทําอยู่เป็นประจํา มีความถนัดและ คุ้นเคยเป็นอย่างดีแล้ว จึงไม่ต้องใช้ปัญญาพิจารณาในการกระทํานั้นแต่อย่างใด แต่ เนื่องจากอุปนิสัยเป็นคนสุขุมคัมภีรภาพ มีอาการวางเฉยอยู่เป็นปกติ ฉะนั้น ในขณะที่ กระทําการปัดกวาดวิหารลานพระเจดีย์เป็นต้นอยู่นั้น จึงมีความรู้สึกเฉย ๆ อีกกรณีหนึ่ง เป็นจิตที่เกิดกับอบายสัตว์ คือ สัตว์นรก เปรต อสุรกาย หรือเดรัจฉาน บางจําพวก ที่มี อุปนิสัยในกุศลบารมีมาแต่ชาติปางก่อนบ้าง มีพระโพธิสัตว์ เป็นต้น เมื่อได้ประสบกับ อารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นมหากุศลวัตถุนั้น ที่ตนเองมีความคุ้นเคยมาเป็นอย่างดี ก็ ทําให้เกิดมหากุศลจิตเช่นนี้ขึ้นมา หรือทํามหากุศลเช่นนั้นลงไป แต่เพราะอัธยาศัยส่วนตัว เป็นผู้มีอาการวางเฉยอยู่เป็นปกติ ไม่ชอบคลุกคลีกับสัตว์อื่น หรือมีปัญหาอุปสรรคทางด้าน ร่างกายก็ดี ทางด้านจิตใจก็ดี เข้ามาบั่นทอน เช่น เจ็บไข้ได้ป่วย ไม่สบาย จึงทําให้เกิด ความรู้สึกเฉย ๆ ดังนี้เป็นต้น

มหากุศลจิต ดวงที่ ๘ อุเปกขาสหคตั้ง ญาณวิปปยุตตัง สสังขาริกัง แปลความว่า จิตที่เกิดขึ้นโดยมีการชักชวน พร้อมด้วยความเฉยๆ ไม่ประกอบด้วยปัญญา เป็นจิตที่ เกิดขึ้นในขณะที่รับรู้อารมณ์ ๖ ทางทวาร ๖ อย่างใดอย่างหนึ่ง ที่มีสภาพเป็นบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ก็ดี กุศลกรรมบถ ๑๐ ก็ดี อย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เรียกว่า มหากุศลวัตถุ เป็นจิตที่เกิด พร้อมด้วยความวางเฉย และไม่มีความรู้ความเข้าใจในสภาพอารมณ์นั้น ๆ อย่างถูกต้อง ตามที่เป็นจริง เนื่องจากเป็นคนไม่มีปัญญา หรือการกระทํากิจนั้น ๆ ไม่ต้องใช้ปัญญา และ เป็นจิตที่เกิดขึ้นโดยต้องอาศัยการกระตุ้นเตือนหรือชักชวน เนื่องจากขาดประสบการณ์ใน อารมณ์นั้น ๆ หรือเป็นเพราะความไม่พร้อมแห่งปัจจัยอื่น ๆ มาเป็นเครื่องปั่นทอนจิตใจให้ เกิดความรู้สึกเช่นนั้น ฉะนั้น มหากุศลจิตดวงที่ ๘ นี้จึงต่างจากมหากุศลจิตดวงที่ ๑ โดย สิ้นเชิง คือ เป็นอุเบกขาเวทนา เป็นญาณวิปปยุตต์ และเป็นสสังขาริกด้วย ต่างจากมหา กุศลจิตดวงที่ ๒ ตรงที่เป็นอุเบกขาเวทนาและเป็นญาณวิปปยุตต์ ต่างจากมหากุศลจิตดวงที่ ๓ ตรงที่เป็นอุเบกขาเวทนาและเป็นสสังขาริก ต่างจากมหากุศลจิตดวงที่ ๔ ตรงที่เป็น อุเบกขาเวทนา ต่างจากมหากุศลจิตดวงที่ ๕ ตรงที่เป็นญาณวิปปยุตต์และสสังขาริก ต่าง จากมหากุศลจิตดวงที่ ๖ ตรงที่เป็นญาณวิปปยุตต์คือไม่ประกอบด้วยปัญญา และต่างจาก มหากุศลจิตดวงที่ ๗ ตรงที่เป็นสสังขาริกคือเกิดขึ้นโดยมีการกระตุ้นเตือนหรือชักชวน จึง เกิดเป็นความรู้สึกที่เป็นองค์รวมทั้งหมดนี้ได้ ตัวอย่างเช่น คุณยายแสวงบุญ เป็นคนชอบ ทําบุญ แกจะใส่บาตรพระทุกวัน วันหนึ่ง แกได้เตรียมสํารับอาหารใส่บาตรเหมือนที่เคยทํา อยู่ทุกวัน แล้วก็ยืนรอพระอยู่หน้าบ้านตามปกติ บังเอิญได้เห็นพระภิกษุรูปหนึ่งที่ประพฤติ ตัวไม่ดี มีศีลวิบัติ ซึ่งแกเองก็รู้เรื่องนี้ดี แกจึงไม่ต้องการใส่บาตรพระรูปนั้น จึงทําเป็นหัน หน้าไปทางอื่น โดยหวังจะให้พระรูปนั้นเดินเลยไปก่อน แต่พระรูปนั้น เดินไปหยุดอยู่ตรง สํารับอาหารใส่บาตรของคุณยายแสวงบุญโดยไม่ยอมเดินเลยไป คุณยายแสวงบุญ ทําที่ไม่ ต้องการใส่บาตร แต่เมื่อพระรูปนั้นยังคงยืนอยู่อย่างนั้นไม่ยอมเดินเลยไป คุณยายแสวงบุญ จึงต้องทําใจใส่บาตรพระรูปนั้นไป โดยคิดว่า “ถือว่าให้ทานแก่นกกาไปก็แล้วกัน” อีกกรณี หนึ่ง เป็นจิตที่เกิดขึ้นแก่พระเสกขบุคคลทั้งหลาย ในขณะที่ถูกเชื้อเชิญให้กระทํากิจอย่างใด อย่างหนึ่งที่เป็นกุศล แต่เนื่องจากท่านไม่มีประสบการณ์หรือไม่คุ้นเคยกับกิจอย่างนั้น หรือ ท่านกําลังตกอยู่ในภาวะที่ไม่พร้อม เช่น เกิดอาการป่วยไข้ ร่างกายไม่สบาย หรือจิตใจมี ปัญหากระทบกระเทือนอย่างรุนแรง ที่ต้องทําใจอย่างหนัก เป็นต้น แต่เมื่อได้รับเชื้อเชิญ แล้วและเห็นว่ากิจโดยชอบที่สมควรทํา ท่านจึงต้องฝืนร่างกายหรือฝืนจิตใจกระทํากิจนั้น ๆ ลงไปเพื่อมิให้บกพร่อง แต่เนื่องจากกิจการงานนั้นเป็นสิ่งที่ท่านมีความถนัดเจนจัดและ ชํานาญเพราะทําเป็นประจําอยู่แล้วจึงไม่ต้องใช้ปัญญาคิดพิจารณาหาวิธีการที่จะทําให้ ถูกต้องแต่ประการใดเลย หรืออีกกรณีหนึ่ง เป็นจิตที่เกิดแก่อบายสัตว์ คือ สัตว์นรก เปรต อสุรกาย หรือเดรัจฉานบางจําพวก ซึ่งมีอุปนิสัยเคยสั่งสมบุญมาบ้าง มีพระโพธิสัตว์เป็นต้น แต่ว่าสัตว์นั้นตกอยู่ในภาวะความลําบาก มีปัญหาอุปสรรคบางอย่างเข้ามาบีบคั้นอย่างหนัก ที่ต้องฝืนทําใจให้กุศลความดีนั้นสําเร็จไปดังที่ตนเองมุ่งหวังตั้งใจไว้ ตัวอย่างเช่น แม่ นกตัวหนึ่ง มีลูกยังเล็กตัวแดง ๆ อยู่ วันหนึ่ง แม่นกนั้นก็ออกไปหากินและเพื่อหาเหยื่อมา ป้อนลูกน้อยตามปกติ แต่ว่าวันนั้น แม่นกโชคร้าย ถูกนายพรานยิงได้รับบาดเจ็บ เลือดไหล โทรมกาย แต่ด้วยความรักความเป็นห่วงลูกน้อยที่นอนคอยอยู่ในรัง แม่นกนั้นก็ต้อง กระเสือกกระสนฝืนใจโผผินไปสู่รัง เพื่อนําเหยื่อมาป้อนลูกน้อยให้ได้ และคิดว่า ถ้าตนเอง ตายก็จะได้เห็นหน้าลูกและสั่งเสียลูกเป็นครั้งสุดท้าย แม่นกนั้น จึงพยายามรวบรวมกําลัง เพื่อบินโซซัดโซเซไปหาลูกจนได้ ฉะนั้น การที่แม่นกนั้น มีความรักความเป็นห่วงลูกน้อยของตนเองนั้น ย่อมจัดเป็นมหากุศลจิต ที่เกิดพร้อมด้วยเมตตาและกรุณา [เกิดคนละขณะ กัน] แต่ว่าแม่นกนั้น ตกอยู่ในภาวะถูกความทุกข์บีบคั้น คือ ถูกยิงได้รับบาดเจ็บสาหัส จึง ต้องวางเฉยแข็งใจบินคาบเหยื่อไปให้ลูกน้อยของตนจนได้

เพราะฉะนั้น มหากุศลจิตทั้ง ๘ ดวงที่กล่าวมานี้ จึงสามารถเกิดได้กับบุคคลทุก ประเภท ที่มีจิตเกิดได้ ทั้งสัตว์นรก เปรต อสุรกาย เดรัจฉาน มนุษย์ เทวดา มาร พรหม หรือทั้งปุถุชน และพระเสกขบุคคล คือ พระโสดาบัน พระสกทาคามี และพระอนาคามี [ยกเว้นพระอรหันต์ ที่เปลี่ยนสภาพจิตจากมหากุศลจิตไปเป็นมหากิริยาจิตแล้วเท่านั้น ด้วยการปรารภบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ก็ดี กุศลกรรมบถ ๑๐ ก็ดี อย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เรียกว่า มหากุศลวัตถุ อันมีสภาพเป็นอารมณ์ ๖ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ เป็นรูปารมณ์ สัททา รมณ์ คันธารมณ์ รสารมณ์ โผฏฐัพพารมณ์ หรือธรรมารมณ์ ซึ่งในมหากุศลจิตแต่ละดวง นั้น อาจมีคุณภาพแตกต่างกันออกไปบ้าง ตามสมควรแก่อุปนิสัยบารมีและขอบเขตในการ รับรู้ของบุคคลนั้น ๆ ที่สามารถเกิดได้ หมายความว่า ในมหากุศลจิตดวงเดียวกันนั้น [หรือ ประเภทเดียวกันนั้น อาจมีคุณภาพหรือประสิทธิภาพในความรู้สึกที่แตกต่างกันได้ ตาม สมควรแก่สภาพบุคคล และสภาพจิตใจที่จะรับอารมณ์นั้น ๆ ได้นั่นเอง

อนึ่ง มหากุศลจิตนี้ ที่ยกตัวอย่างมานั้น เป็นแต่เพียงกิจการงานที่เป็นไปในสภาพ ของสัตว์ทั่วไป แต่ถ้าจะกล่าวถึงในฐานะที่เป็นบาทเบื้องต้นให้เกิดฌาน อภิญญา มรรค ผล แล้ว มหากุศลจิตทั้ง ๘ ดวง สามารถเกิดได้กับบุคคลที่เริ่มเจริญสมถะหรือวิปัสสนา ตั้งแต่ ในระดับเริ่มต้นที่เพ่งบริกรรมอารมณ์ของสมถะ หรือ การกําหนดพิจารณาสภาพธรรมทั้ง ปวงโดยความเป็นรูปนาม อาจเกิดพร้อมปัญญา หรือว่าทําไปตามอํานาจของสัญญาที่ครูบา อาจารย์บอกสอนให้ก็ได้ แต่เมื่อนิมิตของอารมณ์นั้นปรากฏถึงปฏิภาคนิมิต จิตเข้าไปสงบ ในอารมณ์ถึงขั้นอุปจารสมาธิ ปัญญาจะต้องเกิดขึ้นเพื่อรับรู้สภาพนิมิตอารมณ์และวิธีการจะสามารถกําหนดพิจารณาโดยสภาวะที่เป็นจริงได้โดยถูกต้อง ฉะนั้น จึงเรียกว่า ญาณ ซึ่งแปลว่า ความรู้หรือปัญญานั่นเอง

ด้วยเหตุนี้ มหากุศลจิต จึงเกิดขึ้นตั้งแต่เริ่มกําหนดเพ่งสมถะอารมณ์เป็นต้นไป จนกว่าจะถึงอัปปนาสมาธิเกิด แต่ในช่วงขณิกสมาธินั้น อาจมีการสลับสับเปลี่ยนสภาพของ จิตไปเป็นอกุศลจิตบ้าง เนื่องจากสมาธิจิตยังมีกําลังอ่อนอยู่ แต่เมื่อถึงอุปจารสมาธิแล้ว สมาธิจิตมีกําลังแก่กล้ามากขึ้น การที่จิตจะหลุดไปเป็นอกุศลนั้นมีน้อยเต็มที่ จนเมื่อ ถึงอัปปนาสมาธิแล้ว สภาพฌานกุศลจิตมีความแนบแน่นในอารมณ์เต็มที่แล้ว สมาธิจิตจึง ไม่มีการหลุดจากอารมณ์ จนกว่าจะออกจากฌาน ในส่วนของวิปัสสนานั้น ตั้งแต่เริ่ม กําหนดพิจารณาสภาพของรูปนาม โดยไม่ฟุ้งซ่านซัดส่ายไปในอารมณ์อื่น จิตก็เป็นมหา กุศลเรื่อยไป จนวิปัสสนาญาณเริ่มปรากฏเกิดขึ้นโดยลําดับ ตั้งแต่ญาณที่ ๑ คือ นามรูป ปริจเฉทญาณ จนถึงญาณที่ ๑๑ คือ สังขารุเปกขาญาณ นั้น วิถีจิตยังเป็นกามวิถีทั่วไปอยู่ ซึ่งชวนจิตมีแต่มหากุศลชวนะเท่านั้นเกิดขึ้น จนถึงญาณที่ ๑๒ คือ อนุโลมญาณ ญาณที่ ๑๓ คือ โคตรภูญาณ ซึ่งเป็นญาณที่อยู่ในอัปปนาวิถีคือมรรควิถีแล้ว แต่ว่าญาณทั้ง ๒ นี้ จัดเป็นปัญญาในมหากุศลญาณสัมปยุตตจิต เช่นเดียวกัน ต่อเมื่อมรรคญาณเกิดขึ้นต่อจาก โคตรภูญาณแล้ว จึงเปลี่ยนจากมหากุศลญาณสัมปยุตตจิต ไปเป็นมรรคจิต หรือ โลกุตตร กุศลจิต และผลญาณ คือโลกุตตรวิบากจิตต่อไป เมื่อสิ้นสุดมัคควิถีแล้ว ปัจจเวกขณวิถีที่ เกิดขึ้นทําการพิจารณากิเลสที่ละแล้ว กิเลสที่ยังเหลืออยู่ มรรค ผล นิพพาน ก็เป็นมหา กุศลญาณสัมปยุตตจิตอีก ส่วนพระอรหันต์นั้นเป็นมหากิริยาญาณสัมปยุตตจิต] ฉะนั้น จึง กล่าวว่า มหากุศลจิตนั้น เป็นกุศลจิตที่มีความกว้างขวางในฐานะเป็นบาทเบื้องต้นแห่ง ฌาน อภิญญา มรรค ผล นั่นเอง

กามาวจรกุศลกรรมวัตถุ ๒๐ ประการ

กามาวจรกุศลกรรมวัตถุ หมายถึง เหตุหรือที่ตั้งหรือปัจจัยที่เป็นเหตุให้เกิดการ กระทําที่เป็นกุศล มี ๒๐ ประการ คือ กุศลกรรมบถ หรือสุจริต ๑๐ และบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ดังมีรายละเอียดต่อไปนี้

กุศลกรรมบถ ๑๐ หรือ สุจริต ๑๐

กุศลกรรมบถ หมายถึง ช่องทางให้เกิดการกระทําที่เป็นกุศล
สุจริต หมายถึง ความประพฤติที่ทําให้เกิดความดีงาม
กุศลกรรมบถก็ดี สุจริตก็ดี มีแนวทางในการกระทําเป็นอันเดียวกัน ๑๐ ประการ คือ

กายกรรม ๓ ได้แก่

๑. ปาณาติปาตา เวรมณี การงดเว้นจากการฆ่า เว้นจากการทําร้าย หรือเว้นจากเบียดเบียนมนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย ด้วยวิธีการต่าง ๆ
๒. อทินนาทานา เวรมณี การงดเว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ ด้วยอาการแห่งขโมย โดยวิธีการต่าง ๆ เช่น ลักขโมย ฉก ชิง วิ่งราว ฉ้อโกง ปล้น เป็นต้น
๓. กาเมสุมิจฉาจารา เวรมณี การงดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม คือการไม่ล่วง ละเมิดทางประเวณีในบุตร ภรรยา สามี หรือคู่ครองของบุคคลอื่น ที่มีเจ้าของหวงแหน

วจีกรรม ๔ ได้แก่

๔. มุสาวาทา เวรมณี การเว้นจากการพูดเท็จ คือ การเว้นจากการพูดโกหก หลอกลวง หรือการไม่พูดให้ล่วงเลยความเป็นจริง
๕. ปิสุณายะ วาจายะ เวรมณี การเว้นจากการพูดส่อเสียด คือ การเว้นจากการ พูดยุยงให้เขาแตกกัน ไม่พูดใส่ร้ายป้ายสีให้บุคคลอื่นเสื่อมเสีย หรือทําให้ผู้อื่นสูญเสียผลประโยชน์
๖. ผรุสายะ วาจายะ เวรมณี การเว้นจากการพูดคําหยาบ คือ การเว้นจากการด่า ทอบริภาษด้วยคําหยาบคายให้บุคคลอื่นเจ็บใจ หรือให้เกิดความละอาย
๗. สัมผัปปลาปา เวรมณี การเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ คือ การเว้นจากการพูด เหลวไหลไร้สาระ อันไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์

มโนกรรม ๓ ได้แก่

๘. อนภิชฌา การไม่คิดละโมบโลภอยากได้ทรัพย์สมบัติของผู้อื่น
๙. อพยาบาท การไม่คิดพยาบาทปองร้าย จองเวรต่อบุคคลอื่น
๑๐. สัมมาทิฏฐิ การมีความเห็นชอบ ประกอบด้วยสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นถูกต้อง ตามทํานองคลองธรรม

เมื่อบุคคลทําการปฏิบัติงดเว้นจากอกุศลกรรมบถ ๑๐ อยู่ก็ได้ชื่อว่า เป็นผู้ปฏิบัติใน กุศลกรรมบถ ๑๐ นี้สําเร็จไปในตัวด้วย และเมื่อบุคคลตั้งใจงดเว้นด้วยเจตนาอันเป็นกุศล พร้อมด้วยสภาพธรรมที่เกิดร่วมกันนั้น มีความเป็นไปต่าง ๆ คือ พร้อมด้วยโสมนัสสเวทนา หรือ อุเบกขาเวทนาก็ดี พร้อมด้วยญาณสัมปยุตต์ หรือ ญาณวิปปยุตต์ก็ดี พร้อมด้วยอสังขาริกหรือสสังขาริกก็ดี มหากุศลจิตดวงใดดวงหนึ่ง ย่อมเกิดขึ้น ตามสภาพธรรมที่เกิดพร้อมนั้น อนึ่ง ในกุศลกรรมบถ ๑๐ หรือสุจริต ๑๐ ประการนี้ มหากุศลจิตสามารถเกิดได้ทั้ง ๘ ดวงไม่มียกเว้น

บุญกิริยาวัตถุ ๑๐

บุญกิริยาวัตถุ หมายถึง เรื่องราวหรือสิ่งที่ใช้ในการทําความดีให้เต็มบริบูรณ์ มี ๑๐ ประการ คือ

๑. ทานะ การให้สิ่งที่เป็นประโยชน์ต่างๆ เมื่อสรุปแล้ว ได้แก่ ปัจจัย ๔ คือ เครื่องนุ่งห่ม อาหาร ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค
๒. สีละ การสํารวมรักษาศีลด้วยกายและวาจา ไม่ให้ล่วงละเมิดเกิดวีติกกมโทษ ทางกายและทางวาจาขึ้น
๓. ภาวนา การเจริญภาวนา เพื่อทําให้จิตสงบ ให้มีกําลังหนักแน่น มีความมั่นคง และทําให้เกิดปัญญารู้เข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริง
๔. อปจายนะ การประพฤติอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้ใหญ่โดยชาติก็ดี โดยวัยก็ดี หรือ โดยคุณก็ดี ไม่มีความเย่อหยิ่งจองหอง
๕. เวยยาวัจจะ การช่วยขวนขวายในกิจที่ชอบ ที่เป็นประโยชน์เฉพาะตนก็ดี ที่เป็น ประโยชน์แก่พวกพ้องก็ดี ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมก็ดี ที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและ ศาสนาก็ดี
๖. ปัตติทานะ การให้ส่วนบุญ ได้แก่ การบอกบุญให้ผู้อื่นอนุโมทนาร่วมด้วยก็ดี การแผ่ส่วนบุญไปให้แก่สัตว์ที่สามารถจะรับส่วนบุญได้ก็ดี
๗. ปัตตานุโมทนา การอนุโมทนาส่วนบุญที่บุคคลอื่นกระทําก็ดี ที่บุคคลอื่นนํามา บอกก็ดี หรือเหล่าเทวดา เปรต อสุรกาย อนุโมทนาส่วนบุญที่บุคคลอื่นกระทําแล้วอุทิศให้ก็ดี
๘. ธัมมัสสวนะ การตั้งใจฟังพระสัทธรรม ด้วยเจตนาอันบริสุทธิ์ หรือฟังข้อมูล ข่าวสารที่เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขในโลกนี้และโลกหน้า อันนับเนื่องเข้าในพระสัทธรรมก็ดี
๙. ธัมมเทสนา การตั้งใจแสดงธรรมเทศนาให้แก่บุคคลอื่นได้รับรู้และเข้าใจ โดย ถูกต้อง หรือการชี้แจงแสดงเหตุผลความผิดชอบชั่วดี ให้บุคคลอื่นได้รู้ได้เข้าใจ โดยถูกต้อง สามารถนําไปประพฤติปฏิบัติให้เกิดประโยชน์ทั้งในชาตินี้และชาติหน้าได้ อันนับเนื่องเข้าในพระสัทธรรมก็ดี
๑๐. ทิฏฐชุกัมมะ การทําความเห็นให้ตรงและถูกต้องตามทํานองคลองธรรม เพื่อ บรรเทาความเห็นผิดให้เบาบาง และทําลายให้หมดไปในที่สุดในกุศลวัตถุทั้ง ๒๐ ประการนี้ สามารถทําให้เกิดมหากุศลจิตได้ทั้งที่เป็นโสมนัสส เวทนาและอุเบกขาเวทนา หมายความว่า ถ้าบุคคลใด กระทํากุศลอย่างใดอย่างหนึ่ง ด้วย ความปลาบปลื้มยินดี มีศรัทธาที่เต็มเปี่ยมบริบูรณ์แล้ว มหากุศลจิตที่เกิดขึ้นแก่บุคคลนั้น เรียกว่า มหากุศลโสมนัสสสหคตจิต แปลว่า มหากุศลจิตที่เกิดพร้อมด้วยความดีใจ แต่ถ้า บุคคลใด กระทํากุศลอย่างใดอย่างหนึ่งนั้น ด้วยความรู้สึกเฉย ๆ มหากุศลจิตที่เกิดแก่ บุคคลนั้น เรียกว่า มหากุศลอุเบกขาสหคตจิต แปลว่า มหากุศลจิตที่เกิดพร้อมด้วยความเฉย ๆ ในกุศลวัตถุทั้ง ๒๐ ประการนี้ บุคคลทําอย่างใดอย่างหนึ่ง ย่อมสามารถทําให้เกิด มหากุศลจิตทั้งที่เป็นทวิเหตุกกุศลจิตและติเหตุกกุศลจิตได้ หมายความว่า ถ้าบุคคลใด กระทําโดยใช้ปัญญาในการพิจารณาทั้งโดยกัมมัสสกตาปัญญาก็ดี สุตมยปัญญาก็ดี จินตามยปัญญาก็ดี หรือโดยภาวนามยปัญญาก็ดี มหากุศลจิตที่เกิดขึ้นแก่บุคคลนั้น เรียกว่า ติเหตุกกุศล แปลว่า มหากุศลจิตที่เกิดพร้อมด้วยเหตุ ๓ ได้แก่ อโลภเหตุ อโทสเหตุ และ อโมหเหตุ แต่ถ้าบุคคลใด กระทําโดยไม่ได้ใช้ปัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังกล่าวแล้ว แต่ กระทําโดยมีศรัทธาเป็นใหญ่เป็นประธานแล้ว มหากุศลจิตที่เกิดขึ้นแก่บุคคลนั้น เรียกว่า ทวิเหตุกกุศล แปลว่า มหากุศลจิตที่เกิดพร้อมด้วยเหตุ ๒ ได้แก่ อโลภเหตุ อโทสเหตุ ไม่มีอ โมหเหตุ คือไม่มีปัญญามาเกิดร่วมด้วย

ในกุศลวัตถุทั้ง ๒๐ ประการนี้ บุคคลทําอย่างใดอย่างหนึ่ง ย่อมสามารถทําให้เกิด มหากุศลจิตทั้งที่เป็นอสังขาริกจิตและสสังขาริกจิตได้ หมายความว่า ถ้าบุคคลใด กระทํา กุศลโดยการปรารภขึ้นมาด้วยตนเอง มหากุศลจิตที่เกิดขึ้นแก่บุคคลนั้น เรียกว่า มหากุศล อสังขาริกจิต แปลว่า มหากุศลจิตที่เกิดขึ้นโดยไม่มีการชักชวน แต่ถ้าบุคคลใด กระทําโดย อาศัยการชักชวนอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ ทางกาย ทางวาจา หรือทางใจ ทั้งโดยการกระตุ้น เตือนตนเองก็ดี หรือโดยการชักชวนจากบุคคลอื่นก็ดี มหากุศลจิตที่เกิดขึ้นแก่บุคคลนั้น เรียกว่า มหากุศลสสังขาริกจิต แปลว่า มหากุศลจิตที่เกิดขึ้นโดยมีการชักชวน อนึ่ง ในกุศลวัตถุทั้ง ๒๐ ประการนี้ บุคคลทําอย่างใดอย่างหนึ่งย่อมสามารถทําให้ เกิดมหากุศลจิตทั้งที่เป็นอุกกัฏฐกุศลและโอมกกุศลได้ หมายความว่า ถ้าบุคคลใด กระทํา กุศลอย่างใดอย่างหนึ่ง ด้วยเจตนาที่บริสุทธิ์ มีศรัทธาที่เต็มเปี่ยมบริบูรณ์แล้ว มหากุศลจิต ที่เกิดขึ้นแก่บุคคลนั้น เรียกว่า อุกกัฏฐกุศล แปลว่า กุศลชั้นสูง แต่ถ้าบุคคลใด กระทํากุศล อย่างใดอย่างหนึ่ง ด้วยเจตนาที่ไม่บริสุทธิ์ มีอกุศลเจตนาเข้ามาแปดเปื้อนหรือเบียนเบียด ทําให้กุศลเจตนาอ่อนกําลังลงแล้ว มหากุศลจิตที่เกิดแก่บุคคลนั้น เรียกว่า โอมกกุศล แปลว่า กุศลขั้นต่ํา

ญาณสัมปยุตต์ ๖ ประการ

จิตที่เป็นญาณสัมปยุตต์ หมายถึง จิตที่เกิดพร้อมด้วยปัญญามี ๖ ประการ คือ

๑. กัมมัสสกตาปัญญา หมายถึง ปัญญาที่รู้เห็นว่า สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของ ๆ ตน มีกรรมเป็นกําเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งที่อาศัย ตนเป็นทายาทผู้รับผล ของกรรมที่ตนได้กระทําไว้แล้ว จะดีหรือชั่วก็ตาม ดังนี้เป็นต้น ซึ่งเกิดได้ด้วยเหตุ ๕ ประการ คือ

  • ๑] ปุพเพ กตปุญญตา เคยทําบุญที่เกี่ยวกับปัญญาไว้ในชาติปางก่อน ทําให้เกิดมามี ปัญญา คือ มีความเข้าใจในความเป็นไปของสัตว์ทั้งหลายได้ด้วยตนเอง เรียกว่า สชาติกปัญญา ก็ได้
  • ๒] ปฏิรูปเทสวาโส การได้อยู่ในสังคมที่เหมาะสม ซึ่งบุคคลโดยมากเป็นสัมมาทิฏฐิ ทําให้ได้เห็นตัวอย่างหรือแบบแผนที่ดี ถือเป็นทิฏฐานุคตินําไปประพฤติปฏิบัติตามให้เกิดปัญญาได้
  • ๓] สัปปุริสปนิสสโย การได้คบหาสมาคมกับสัตบุรุษผู้มีปัญญา ทําให้ได้เห็น ตัวอย่างที่ดี ยึดถือเป็นแบบแผนประพฤติปฏิบัติให้เกิดปัญญาได้
  • ๔ สัทธัมมัสสวนัง การได้ฟังพระสัทธรรมของสัตบุรุษ ทําให้เกิดความรู้ความเข้าใจ ที่ถูกต้องในความเป็นไปของโลกและชีวิต ตลอดถึงสรรพสิ่งทั้งปวงได้
  • ๕] อัตตสัมมาปณิธิ การตั้งตนไว้ในทางที่ชอบ ประกอบด้วยสัมมาทิฏฐิ เป็นผู้เปิดใจ รองรับคุณงามความดีได้ง่าย เมื่อได้รับคําบอกคําสอนของสัตบุรุษแล้ว ย่อมรับรู้และเข้าใจได้โดยง่าย

๒. โยนิโสมนสิการ หมายถึง การคิดพิจารณาและทําไว้ในใจโดยอุบายอันแยบคาย ในสิ่งที่พบเห็นในชีวิตประจําวัน ทําให้มีความรู้ความเข้าใจในความเป็นไปของสัตว์ทั้งหลาย ได้อย่างถูกต้องและกว้างขวางยิ่งขึ้น

๓. ปรโตโฆสะ หมายถึง การได้รับการบอก การสอน การแนะนําสั่งสอนจากบุคคล ผู้เป็นกัลยาณมิตร เช่น บิดามารดา ปู่ย่า ตายาย ลุงป้า น้าอา ญาติมิตร ครูอุปัชฌาย์ อาจารย์ พระพุทธเจ้า พระสงฆ์ เป็นต้น ทําให้เกิดปัญญา มีความรู้ความเข้าใจ ในสิ่งต่าง ๆ มากขึ้นโดยลําาดับ

๔. วิปัสสนาปัญญา หมายถึง ปัญญาที่เข้าไปรู้เห็นรูปนามที่เป็นไปตามเหตุตาม ปัจจัย โดยสภาพความเป็นจริง คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ด้วยการเจริญวิปัสสนาภาวนา จนวิปัสสนาญาณเกิดขึ้นโดยลําดับ

๕. ฌานสัมมาทิฏฐิ หมายถึง เป็นผู้มีความรู้ความเข้าใจในวิธีการทําฌานได้อย่าง ถูกต้อง จนสามารถทําฌานจิตให้เกิดขึ้นได้ ฉะนั้น ฌานจิตทุกดวง จึงมีปัญญาประกอบร่วม ด้วยเสมอ จึงจัดเป็นญาณสัมปยุตตจิตทั้งหมด

๖. โลกุตตรปัญญา หมายถึง ปัญญาที่ประกอบในโลกุตตรจิต ๘ หรือ ๔๐ อันเป็น ตัวปัญญาสัมมาทิฏฐิที่เป็นองค์มรรคนั่นเอง ซึ่งในโลกุตตรจิตทั้งหมด ย่อมมีปัญญาเกิดพร้อมด้วยทุกดวงเช่นเดียวกัน จึงจัดเป็นญาณสัมปยุตตจิตทั้งหมด และโลกุตตรจิต ๔๐ นั้น นับเข้าในฌานจิตด้วยเช่นกัน

การเกิดขึ้นของปัญญา ๓ ประการ

๑. สุตมยปัญญา หมายถึง ปัญญาที่เกิดจากการศึกษาเล่าเรียน การฟัง การอ่าน การท่องบ่นสาธยาย การสอบสวนทวนถาม การบอกการสอน เป็นต้น

๒. จินตามยปัญญา หมายถึง ปัญญาที่เกิดจากการคิดพิจารณาให้เกิดองค์ความรู้ ขึ้นมา ตามที่ได้ยินได้ฟัง หรือ ได้ศึกษาเล่าเรียน ได้อ่าน ได้ท่องบ่นสาธยาย ได้สอบสวน ทวนถาม ได้บอกได้สอน เป็นต้น โดยอาศัยหลักการและเหตุผลแห่งธรรมนั้น ๆ เป็น มาตรฐานในการคิดพิจารณา หรือ อาศัยวิถีชีวิตความเป็นอยู่และความเป็นไปของสัตว์ ทั้งหลาย ที่มีความแตกต่างกันในด้านต่าง ๆ อันเนื่องมาจากกรรมของแต่ละบุคคล หรือ อนุมานเทียบเคียงตามเรื่องราวและเหตุการณ์ เป็นต้น ที่ประสบพบเห็นอยู่ในชีวิตประจําวัน

๓. ภาวนามยปัญญา หมายถึง ปัญญาที่เกิดจากการอบรมเจริญภาวนา ได้แก่ การ เจริญสมถภาวนาจนสามารถเห็นแนวทางดําเนินไปสู่สมาธิอันประณีตยิ่งขึ้นโดยลําดับและ สามารถทําฌานให้เกิดขึ้นได้ หรือด้วยการเจริญวิปัสสนาภาวนา จนเห็นความเป็นไปของ รูปนามขันธ์ ๕ ตามความเป็นจริง โดยความเป็นไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา สามารถทําลายกิเลสที่เป็นเหตุให้ยึดมั่นถือมั่นในความคิดความเห็นว่า เป็นตัว เป็นตน เสียได้

กัมมัสสกตาสัมมาทิฏฐิ ๑๐ ประการ

กัมมัสสกตาสัมมาทิฏฐิ หมายถึง ปัญญาที่รู้ความเป็นไปของสัตว์ทั้งหลายว่าเป็นไปตามกฎแห่งกรรม ใครทํากรรมอันใดไว้ ผู้นั้น ต้องรับผลของกรรมนั้น ทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม มี ๑๐ ประการ คือ

๑. อัตถิ ทินนัง เห็นว่า การทําบุญให้ทานย่อมได้รับผลดีมีประโยชน์ หมายความว่า เมื่อบุคคลพิจารณาโดยอุบายอันแยบคายแล้ว ย่อมมีความเห็นว่า สัตว์ทั้งหลายย่อม เป็นไปตามกรรมของตน ฉะนั้น การให้ทาน ถือว่าเป็นกรรมดีอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นการ อนุเคราะห์สงเคราะห์แสดงความเอื้อเฟื้อต่อกันในสังคม เป็นสิ่งที่จะส่งผลให้ได้รับผลดีมีประโยชน์อย่างแน่นอน ไม่ใช่เป็นกิริยาที่สูญเปล่าแต่ประการใด

๒. อัตถิ ยิฏฐิง เห็นว่า การบูชากราบไหว้ ย่อมได้รับผลดีมีประโยชน์ หมาย ความ ว่า เมื่อบุคคลพิจารณาโดยอุบายอันแยบคายแล้ว ย่อมมีความเห็นว่า สัตว์ทั้งหลายย่อม เป็นไปตามกรรมของตน ฉะนั้น การบูชากราบไหว้ หรือการบวงสรวงโดยวิธีการที่ถูกต้อง ตามหลักทํานองคลองธรรม ถือว่าเป็นกรรมดีอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นการอ่อนน้อมถ่อมตนต่อ ผู้ใหญ่กว่า โดยชาติก็ดี โดยวัยก็ดี หรือโดยคุณก็ดี เป็นสิ่งที่จะส่งผลให้ได้รับผลดีมี ประโยชน์อย่างแน่นอน ไม่ใช่เป็นกิริยาที่สูญเปล่าแต่ประการใด

๓. อัตถิ หุตัง เห็นว่า การต้อนรับเชื้อเชิญ ย่อมได้รับผลดีมีประโยชน์ หมาย ความ ว่า เมื่อบุคคลพิจารณาโดยอุบายอันแยบคายแล้ว ย่อมมีความเห็นว่า สัตว์ทั้งหลายย่อม เป็นไปตามกรรมของตน ฉะนั้น การต้อนรับ การเชื้อเชิญโดยวิธีการที่ถูกต้องตามทํานอง คลองธรรม ถือว่าเป็นกรรมดีอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นการแสดงน้ําใจมีไมตรีจิตต่อกันในสังคม เป็นสิ่งที่จะส่งผลให้ได้รับผลดีมีประโยชน์อย่างแน่นอน ไม่ใช่เป็นกิริยาที่สูญเปล่าแต่อย่างใด

๔. อัตถิ สุกะตะทุกกะตานัง กัมมานั่ง ผะลัง วิปาโก เห็นว่า การทําดีและทําชั่ว ย่อมได้รับผลดีทั้งทางตรงและทางอ้อม หมายความว่า เมื่อบุคคลพิจารณาโดยอุบายอัน แยบคายแล้ว ย่อมมีความเห็นว่า สัตว์ทั้งหลายย่อมเป็นไปตามกรรมของตน ฉะนั้น การทําดีหรือการทําชั่วของสัตว์ทั้งหลาย ย่อมส่งผลให้ได้รับ ทั้งในชาตินี้และชาติหน้า ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ไม่ใช่เป็นกิริยาที่สูญเปล่าแต่อย่างใด

๕. อัตถิ อะยัง โลโก เห็นว่า โลกนี้มีอยู่ หมายความว่า เมื่อบุคคลพิจารณาโดย อุบายอันแยบคายแล้ว ย่อมมีความเห็นว่า สัตว์ทั้งหลายที่เกิดขึ้นและเป็นไปอยู่นี้ เป็น สภาพที่มีอยู่ในโลกจริงโดยสมมติบัญญัติ ส่วนในความเป็นปรมัตถ์นั้น มีเพียงสภาพของ รูปธรรมนามธรรมเท่านั้น อนึ่งในเมื่อโลกยังดํารงอยู่และเป็นไปอยู่ อย่างนี้ สัตว์โลกที่จะ มาเกิดในโลกนี้อีก ย่อมมีแน่นอน ฉะนั้น จึงสรุปได้ว่า บุคคลผู้มีความเห็นชอบ ย่อมเห็นว่า สภาพของสัตว์ก็ดี สภาพของปรมัตถ์ก็ดี ยังมีอยู่และเป็นไปในสังสารวัฏฏ์นี้เรื่อยไป จนกว่า จะถึงนิพพานกันหมด สภาพเหล่านี้จึงจะไม่มีอยู่อีกต่อไป

๖. อัตถิ ปะโร โลโก เห็นว่า ภพหน้ามีอยู่ หมายความว่า สัตว์ผู้ที่ตายจากโลกนี้ไป แล้ว ในเมื่อยังมีกิเลสและกรรมหรือมีเชื้อแห่งกรรมนั้นอยู่ จะต้องเกิดขึ้นในภพหน้าอีกแน่นอน

๗. อัตถิ มาตา เห็นว่า มารดามีคุณต่อบุตรธิดาจริง และการทําดีทําชั่วต่อมารดา นั้นมีผลทั้งทางตรงและทางอ้อม หมายความว่า มารดาเป็นผู้มีคุณต่อบุตรธิดาทั้งหลายเป็นพระพรหมผู้ทําให้ลูกเกิดมา เป็นบูรพาจารย์ผู้สอนลูกเป็นคนแรก ควรเพื่อการบูชาของลูก เป็นทักขิไณยบุคคลผู้ควรรับทักษิณาทานของลูก ฉะนั้น การทําดี ต่อมารดาย่อมได้รับผลดีมีประโยชน์ ทั้งทางตรงและทางอ้อม ในทางตรงกันข้าม การทําชั่ว ต่อมารดา ย่อมได้รับผลชั่ว ทั้งทางตรงและทางอ้อมเช่นเดียวกัน

๘. อัตถิ ปิตา เห็นว่า บิดามีคุณต่อบุตรธิดาจริงและการทําดีทําชั่วต่อบิดานั้น ย่อม มีผลทั้งทางตรงและทางอ้อม หมายความว่า บิดานั้น ก็เป็นไปเช่นเดียวกันกับมารดา เพราะเป็นผู้มีบทบาทสําคัญเคียงคู่กับมารดา ฉะนั้น การทําดีต่อบิดาย่อมได้รับผลดีมี ประโยชน์ ทั้งทางตรงและทางอ้อม ในทางตรงกันข้าม การทําชั่วต่อบิดา ย่อมได้รับผลชั่ว ทั้งทางตรงและทางอ้อมเช่นเดียวกัน

๙. อัตถ์ สัตตา โอปะปาติกา เห็นว่า สัตว์ที่เกิดผุดขึ้นเติบโตทันทีมีอยู่ หมายความ ว่า สัตว์ที่เกิดขึ้นมาโดยไม่ต้องอาศัยครรภ์มารดา หรือเกิดโดยไม่ต้องอาศัยมารดาบิดาเลย แต่เกิดผุดขึ้นทันทีด้วยอํานาจแห่งกรรมนั้นมีอยู่จริง ได้แก่ สัตว์นรกทั้งหมด เปรต อสุรกาย เทวดา บางจําพวก และพรหมทุกชั้น

๑๐. อัตถิ โลเก สะมะณะพราหมะณา สะมัคคะตา สัมมาปะฏิปันนา อิมัง โลกัง วิภาเวตวา ปะเรสัง ปะเวเทนตา เห็นว่า สมณะพราหมณ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ รู้ ประจักษ์แจ้งโลกนี้และโลกหน้าด้วยตนเอง และประกาศให้ผู้อื่นรู้ได้นั้น มีอยู่ หมายความ ว่า บุคคลที่ขวนขวายบําเพ็ญบารมี และสั่งสมมาจนเต็มเปี่ยมบริบูรณ์แล้ว สามารถรู้แจ้ง แทงตลอดสรรพสิ่งทั้งปวงโดยตนเอง ทําโลกนี้ให้สว่างด้วยแสงแห่งปัญญา และประกาศ บอกแก่บุคคลทั้งหลาย ให้สว่างไสวตามนั้นมีอยู่จริง ได้แก่ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระ ปัจเจกพุทธเจ้า นั่นเอง

เหตุให้เกิดมหากุศลญาณสัมปยุตตจิต ๔ ประการ

มหากุศลจิตที่เป็นญาณสัมปยุตต์ ๔ ดวง ย่อมเกิดขึ้นด้วยเหตุปัจจัย ๔ ประการ อย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้

๑. ปัญญาสังวัตตะนิกะกัมมูปะนิสสะยะตา เป็นผู้ปฏิสนธิมาด้วยกุศลวิบากจิตที่ ประกอบด้วยปัญญา หมายความว่า บุคคลนั้น เป็นผู้เกิดมาด้วยปฏิสนธิจิตที่ประกอบด้วย ปัญญา คือ มหาวิบากญาณสัมปยุตตจิต ๔ รูปาวจรวิบากจิต ๔ อรูปาวจรวิบากจิต ๔ ดวง ใดดวงหนึ่ง เป็นมนุษย์ เป็นเทวดา รูปพรหม อรูปพรหม บุคคลใดบุคคลหนึ่ง ตามสมควร แก่ปฏิสนธิจิตทําให้บุคคลนั้นเกิดมา ซึ่งเป็นผู้มีปัญญาติดตัวมาแต่กําเนิด เรียกว่า สชาติก ปัญญา ฉะนั้น เมื่อบุคคลนั้นได้ประสบพบเห็นเหตุปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับกุศลธรรม บางอย่างที่ตนคุ้นเคย หรือมีความถนัดเจนจัดชํานาญ ก็สามารถพินิจพิจารณาให้เกิด ปัญญาได้ แม้ไม่มีใครบอกหรือไม่มีใครแนะนําก็ตาม เช่น เด็กตัวเล็ก ๆ ที่เกิดมาพร้อมด้วย ปัญญา ถึงแม้พ่อแม่หรือญาติพี่น้อง จะไม่เคยบอกเคยสอน ในเรื่องของบุญกุศลก็ตาม แต่เมื่อเด็กน้อยนั้นได้ประสบพบเห็นเหตุปัจจัยต่าง ๆ ที่ให้เกิดกุศล ซึ่งตนมีความคุ้นเคยมาแต่ ชาติปางก่อน ก็สามารถทําจิตให้เป็นมหากุศลที่ประกอบด้วยปัญญาได้ หรืออบายสัตว์บาง ตนที่ได้เคยสั่งสมบุญกุศลที่ประกอบด้วยปัญญาไว้ในชาติปางก่อนอันใกล้กับปัจจุบันชาตินี้ ซึ่งสัญญาเก่ายังเก็บจําไว้ได้อยู่ ฉะนั้น เมื่อได้ประสบพบเห็นเหตุปัจจัยนั้น ๆ ที่ตนคุ้นเคย หรือระลึกนึกถึงเหตุปัจจัยนั้น ๆ ได้ ก็สามารถทําจิตให้เกิดเป็นมหากุศลที่ประกอบด้วย ปัญญาได้ หรือพวกรูปพรหม อรูปพรหม ที่ระลึกชาติได้ เมื่อพิจารณาถึงบุญกุศลที่ ประกอบด้วยปัญญา ซึ่งตนได้เคยทําไว้แต่ชาติปางก่อนในคราวที่เป็นมนุษย์หรือเทวดา ก็สามารถทําจิตให้เป็นมหากุศลที่ประกอบด้วยปัญญาได้ ดังนี้เป็นตัวอย่าง

๒. อัพยาปัชฌะโลกปะปัตติกะตา เป็นผู้ที่ได้เกิดในชาติที่หมดความกังวลห่วงใย ปราศจากความพยาบาทปองร้ายซึ่งกันและกัน หมายความว่า บุคคลนั้น เป็นผู้ที่ได้เกิด หรือมีโอกาสได้เข้าไปอยู่ ณ สถานที่ที่มีความสงบร่มเย็น สภาพแวดล้อมสภาพสังคม โดยทั่วไปมีความเป็นสัปปายะ บุคคลโดยมากเป็นกัลยาณชน มีสัมมาทิฏฐิ มีอัธยาศัยดีงาม เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ซึ่งกันและกัน มีความสนใจในการแสวงหาความรู้ แสวงหาคุณธรรม จริยธรรม ไม่มีภัยสงคราม ไม่มีการก่อจลาจล ทะเลาะวิวาทบาดหมางกัน เป็นต้น เมื่อ บุคคลนั้นได้เกิดหรือได้อยู่ ณ สถานที่เช่นนั้นแล้ว ย่อมทําให้มีโอกาสได้ศึกษาหาความรู้ได้ เข้าวัดฟังธรรม ได้ขวนขวายศึกษาธรรมอย่างสม่ําเสมอ และไม่มีความกังวลห่วงใย ไม่ต้อง หวาดระแวงสะดุ้งกลัวต่อภัยอันตรายต่าง ๆ สามารถวางใจได้เป็นสุข มีสมาธิจิตที่จะคิด อ่านพิจารณาเหตุผลในสิ่งต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี ทําให้มีสติปัญญาใคร่ครวญสิ่งต่าง ๆ ได้ละเอียดรอบคอบและลึกซึ้งยิ่งขึ้นโดยลําดับ ฉะนั้น ในขณะที่บุคคลนั้นทํากุศลต่าง ๆ ที่ ตนเองมีความรู้ความเข้าใจเป็นอย่างดี มหากุศลจิตที่เกิดแก่บุคคลนั้น จึงเกิดพร้อมด้วยปัญญาได้

๓. กิเลสะทูระตา เป็นผู้ห่างไกลจากกิเลส หมายความว่า เป็นบุคคลผู้ไม่ตกอยู่ ภายใต้อํานาจกิเลส ไม่สนใจในการแสวงหากิเลสกาม ไม่หมกมุ่นในกามคุณอารมณ์และไม่ ค่อยสนใจในเรื่องกาม เรื่องกิน เรื่องเกียรติ แต่ใฝ่ใจในเรื่องคุณธรรมจริยธรรมโดยมาก ทํา ให้บุคคลนั้นเป็นผู้มีจิตใจปลอดโปร่งจากอํานาจกิเลสตัณหา ไม่มีกิเลสตัณหามารุมเร้าใจให้ เศร้าหมองหรือห่อเหี่ยว ทําให้มีแต่ความแช่มชื่นเบิกบานใจอยู่เป็นนิตย์ สามารถที่จะคิด แสวงหาวิชาความรู้ ตลอดถึงการประพฤติปฏิบัติธรรมได้อย่างอิสระแก่ตนเอง ทําให้เป็นผู้ มีความคิดอ่านที่ละเอียดลึกซึ้ง ก่อให้เกิดปัญญาความรู้ความเข้าใจที่ละเอียดลึกซึ้งโดยลําดับ ฉะนั้น เมื่อบุคคลนั้นกระทํากุศลใด ๆ ที่ตนเองมีความรู้ความเข้าใจในเหตุผลเป็น อย่างดีแล้ว มหากุศลจิตที่เกิดแก่บุคคลนั้น ย่อมเกิดพร้อมด้วยปัญญาได้

๔. อินทริยะปะริปากะตา เป็นผู้มีปัญญินทรีย์แก่กล้า หมายความว่า บุคคลนั้นเป็น ผู้อยู่ในวัยที่มีอินทรีย์แก่กล้า มีอายุระหว่าง ๔๐-๕๐ ปี เรียกว่า ปัญญาสทสกวัย ซึ่งเป็นวัย ที่ได้สั่งสมประสบการณ์ในชีวิตมาพอสมควรแล้ว ได้เคยผ่านพ้นอุปสรรคปัญหา ผ่านความ ยากลําบากมามาก สามารถใช้ประสบการณ์ความรู้ความเข้าใจในการพินิจพิจารณาเหตุผล ของสิ่งต่าง ๆ ที่ได้ประสบพบเห็นนั้นให้เกิดความรู้ความเข้าใจได้อย่างรอบคอบและ ละเอียดลึกซึ้งตามสมควรแก่สติปัญญาของตนได้ ทําให้มีความเข้าใจในเหตุผลของกุศลต่าง ๆ ที่ตนเองกระทําอยู่นั้นได้เป็นอย่างดี ฉะนั้น มหากุศลจิตที่เกิดขึ้นแก่บุคคลนั้น จึงเกิด พร้อมด้วยปัญญาได้ นี้เป็นการกล่าวมุ่งหมายเอาเฉพาะบุคคลที่สนใจในการขวนขวายสั่ง สมประสบการณ์อยู่เสมอเท่านั้น ส่วนบุคคลที่ไม่สนใจในการขวนขวายสั่งสมประสบการณ์ โดยมักปล่อยวันเวลาและชีวิตให้ล่วงเลยไปโดยเปล่าประโยชน์นั้น แม้จะมีอายุตั้งร้อยปี ก็ ไม่ชื่อว่า มีอินทรีย์แก่กล้า คือ ยังอ่อนปวกเปียกอยู่นั่นเอง

เหตุให้เกิดมหากุศลญาณวิปปยุตตจิต ๔ ประการ

มหากุศลจิตที่เป็นญาณวิปปยุตต์ ๔ ดวงนั้น ย่อมเกิดขึ้นด้วยเหตุปัจจัย ๔ ประการ อย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้

๑. ปัญญาอะสังวัตตะนิกะกัมมูปะนิสสะยะตา เป็นผู้ปฏิสนธิมาโดยอาศัยกรรมที่ไม่ได้ประกอบด้วยปัญญา หมายความว่า เป็นผู้เกิดมาด้วยอุเบกขาสันติรณอกุศลวิบากจิต ๑ เป็นพวกอบายสัตว์ทั้ง ๔ เรียกว่า ทุคติบุคคล หรือ เป็นผู้เกิดมาด้วยอุเบกขาสันตีรณ กุศลวิบากจิต ๑ เป็นมนุษย์ผู้ไม่สมประกอบทางด้านจิตใจหรือร่างกายบกพร่องด้วย หรือ เป็นเทวดาชั้นจาตุมหาราชิกาที่เป็นพวกเทวดาชั้นต่ําต้อยไร้รัศมีและความรุ่งเรือง เรียกว่า สุคติอเหตุกบุคคล หรือเป็นผู้ที่เกิดมาด้วยมหาวิบากญาณวิปปยุตตจิต ๔ ดวงใดดวงหนึ่ง เป็นมนุษย์หรือเทวดาผู้มีสติปัญญาระดับปานกลาง แต่ไม่มีปัญญาเกิดมาพร้อมด้วยปฏิสนธิ จิต เรียกว่า ทวิเหตุกบุคคล ฉะนั้น บุคคลเหล่านี้ ถ้าไม่มีเหตุปัจจัยอย่างอื่นที่เกี่ยวเนื่องด้วย ปัญญาหรือเป็นผู้ไม่ได้ขวนขวายแสวงหาทางปัญญาในภพชาติปัจจุบัน มักปล่อยตัวปล่อย ใจไปตามกระแสกิเลสกระแสโลกกระแสสังคมแล้ว ย่อมทําให้เป็นบุคคลผู้ไม่มีปัญญา ฉะนั้น ในขณะที่บุคคลนั้นกระทํากุศลต่าง ๆ ซึ่งตนเองไม่มีความรู้ความเข้าใจในเหตุผลและวิธีการของกุศลนั้น ๆ อย่างถูกแล้ว หรือไม่มีประสบการณ์ในการกระทํากุศลนั้น ๆ มหา กุศลจิตที่เกิดขึ้นแก่บุคคลนั้น จึงไม่ประกอบด้วยปัญญา

๒. สัพยาปัชฌะโลกปะปัตติกะตา เป็นผู้ที่เกิดในชาติที่มีความกังวลห่วงใย มีความอาฆาตพยาบาทจองเวรกันอยู่เป็นนิตย์ หมายความว่า บุคคลนั้นเป็นผู้ที่ได้เกิดหรือได้เข้า ไปอาศัยอยู่ในถิ่นที่ไม่มีความสงบร่มเย็น มักสร้างความบาดหมาง ก่อการวิวาททะเลาะเบาะแว้ง อาฆาตพยาบาทจองเวรกัน มีการประทุษร้ายรบราฆ่าฟันกันอยู่เสมอ หรือเป็น สังคมที่มีแต่การแสวงหาช่องทางเอารัดเอาเปรียบซึ่งกันและกันทุกวิถีทาง ไว้วางใจกันไม่ได้ หรือเป็นสังคมที่เต็มไปด้วยทุจริตกรรม บุคคลโดยทั่วไป เป็นพวกอันธพาล เป็นปาปมิตร ทําให้ต้องหวาดระแวงภัยอยู่เสมอ ไม่ค่อยมีโอกาสได้ศึกษาเล่าเรียนหรือแสวงหาความรู้ แสวงหาธรรมเลย ไม่มีจิตใจที่จะคิดพิจารณาข้ออรรถข้อธรรมให้ละเอียดลึกซึ้ง ด้วยเหตุนี้ จึงทําให้บุคคลนั้นไม่เกิดสติปัญญาขึ้นมา หรือสติปัญญาที่เคยมีเคยเกิดแล้ว ก็หดหายเสื่อม เสียไป ฉะนั้น ในเวลาที่บุคคลนั้นกระทําบุญกุศลต่าง ๆ ที่ตนเองไม่มีความรู้ความเข้าใจ อย่างถูกต้อง หรือ ไม่มีประสบการณ์ในการกระทํากุศลนั้น ๆ มหากุศลจิตที่เกิดแก่บุคคล นั้น จึงไม่ประกอบด้วยปัญญา

๓. กิเลสาทระตา เป็นผู้ที่ไม่ห่างไกลจากกิเลส หมายความว่า บุคคลนั้น เป็นผู้ที่หมกมุ่นอยู่ในการแสวงหาอารมณ์ของกิเลสมาเป็นเครื่องกังวลใจอยู่เสมอ เช่น เป็นผู้ให้ ความสําคัญแต่ในเรื่องกาม เรื่องกิน เรื่องเกียรติยศ สนใจแต่ในเรื่องชื่อเสียงความมีหน้ามีตาในสังคมแบบจอมปลอม โดยไม่ใส่ใจในเรื่องคุณธรรมจริยธรรมเลย หรือเป็นผู้มุ่งหน้าไป ในทางแสวงหาลาภ ยศ สุข สรรเสริญ โดยไม่สนใจในเรื่องธรรมะ เป็นผู้มืดบอดทางปัญญา เต็มไปด้วยความเจ้าเล่ห์มารยาสาไถย หลงใหลไปตามกระแสกิเลสกระแสโลกกระแสสังคมอยู่เป็นนิตย์ ด้วยเหตุนี้ จึงทําให้บุคคลนั้น เป็นผู้ไม่มีสติปัญญาที่จะคิดอ่านข้ออรรถข้อ ธรรมให้มีความรู้ความเข้าใจที่ละเอียดลึกซึ้งได้ หรือสติปัญญาที่มีอยู่แล้ว ก็พลอยเสื่อมสูญ หดหายไป ฉะนั้น ในเวลาที่บุคคลนั้นกระทําบุญกุศลต่าง ๆ ที่ตนเองไม่มีความรู้ความเข้าใจ อย่างถูกต้อง หรือไม่มีประสบการณ์ในการกระทํากุศลนั้น ๆ มหากุศลจิตที่เกิดแก่บุคคล นั้น จึงไม่ประกอบด้วยปัญญา

๔. อินทริยะอะปะริปากะตา เป็นผู้มีปัญญินทรีย์อ่อน หมายความว่า บุคคลนั้นเป็นผู้มีสติปัญญายังอ่อนอยู่ อันเนื่องมาจากยังอยู่ในวัยเด็กเล็ก คือ มีอายุระหว่าง ๑-๑๐ ปี เรียกว่า มัณฑทสกวัย อันเป็นวัยอ่อน ยังไม่มีประสบการณ์ในชีวิต จึงยังไม่มีปัญญาที่จะพิจารณาเหตุผลได้อย่างรอบคอบ [ยกเว้นบุคคลผู้มีบุญญาธิการเป็นพิเศษมาแต่ชาติปางก่อน ที่มีปัญญาติดตัวมาแต่กําเนิด 1 หรือเป็นบุคคลที่ขาดการสั่งสมความรู้ ขาด ประสบการณ์ในชีวิต ไม่สนใจในการแสวงหาวิชาความรู้ ไม่ใส่ใจในการแสวงคุณธรรม จริยธรรม มักปล่อยตัวปล่อยใจไปตามกระแสโลกกระแสสังคมหรือกระแสกิเลส หมกมุ่น อยู่ในโลกแห่งกามอารมณ์ มักปล่อยวันเวลาและชีวิตให้ล่วงเลยไปโดยเปล่าประโยชน์ ซึ่ง บุคคลเช่นนั้นแม้จะมีอายุตั้งร้อยปี แต่สติปัญญาก็ยังอ่อนปวกเปียกอยู่นั่นเอง ฉะนั้น ใน เวลาที่บุคคลนั้น กระทําบุญกุศลต่าง ๆ ที่ตนเองไม่มีความรู้ความเข้าใจอย่างถูกต้อง หรือไม่มีประสบการณ์ในการกระทํากุศลนั้น ๆ มหากุศลจิตที่เกิดแก่บุคคลนั้น จึงไม่ประกอบด้วยปัญญา

ทานวัตถุ

ทานวัตถุ หมายถึง สิ่งของที่ใช้สําหรับการให้ทาน เพื่อเป็นปัจจัยทําให้เกิดมหากุศล จิตขึ้น เพื่อยังประโยชน์เกื้อกูลและความสุขให้เกิดขึ้นแก่บุคคลผู้รับ ซึ่งมีตามวัตถุประสงค์ ที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ตามนัยแห่งพระไตรปิฎก ดังต่อไปนี้
ทานวัตถุตามนัยแห่งพระวินัยปิฎก มี ๔ ประการ คือ

๑. จีวรทาน หมายถึง การให้เสื้อผ้าอาภรณ์ จีวรเครื่องนุ่งห่มทุกชนิด ที่เหมาะสมกับภาวะของบุคคลนั้น ๆ ได้แก่ การถวายผ้าไตรจีวรแก่พระภิกษุสามเณร การถวายผ้าขาวแก่แม่ชี การให้เสื้อผ้าอาภรณ์แก่ฆราวาสผู้ครองเรือนทั่วไป หรือการให้ผ้านุ่งผ้าห่มแก่คนอนาถา คนพิการ หรือการให้ผ้าห่มแก่สัตว์เดรัจฉานบางจําพวกในยามหนาวเหน็บ การทําบุญด้วยผ้าไตรจีวรเพื่ออุทิศไปให้เปตชนทั้งหลาย บุคคลผู้ล่วงลับไปแล้ว เป็นต้น

๒. บิณฑบาตทาน หมายถึง การให้ข้าวปลาอาหารเครื่องดื่มที่เป็นประโยชน์และเหมาะสมกับภาวะของบุคคลนั้น ๆ ได้แก่ การถวายอาหารบิณฑบาตแก่พระภิกษุสามเณร การให้อาหารและน้ําดื่มที่เป็นประโยชน์แก่บุคคลทั่วไป หรือการให้อาหารแก่สัตว์เดรัจฉาน การทําบุญอุทิศไปให้แก่เปตชนทั้งหลาย เป็นต้น

๓. เสนาสนทาน หมายถึง การให้ที่อยู่ที่อาศัยแก่บุคคลทั้งหลาย ตามสมควรแก่ภาวะของบุคคลนั้น ๆ ได้แก่ การถวายกุฏิวิหารหรือวัดแก่พระสงฆ์สามเณรและแม่ชี การให้ที่พักอาศัยแก่ญาติผู้ไม่มีที่พึ่ง การสร้างที่พักระหว่างทางแก่คนกําพร้า คนอนาถา คน เดินทางไกล หรือ การสร้างที่อยู่อาศัยให้แก่สัตว์เดรัจฉานบางจําพวก การถวายเสนาสนะ แล้วอุทิศส่วนบุญไปให้แก่เปตชนทั้งหลาย เป็นต้น

๔. คิลานเภสัชชทาน หมายถึง การให้ยารักษาโรคเป็นทาน ได้แก่ การถวายยารักษาโรคหรือถวายการรักษาพยาบาลแก่ภิกษุสามเณรหรือนักบวชทั่วไปผู้ป่วยไข้ การให้ยาหรือให้การรักษาพยาบาลแก่ญาติมิตรทั้งหลายและบุคคลทั่วไปผู้ป่วยไข้ หรือการป้อนยา การฉีดยา หรือให้การรักษาพยาบาลแก่สัตว์เดรัจฉานที่ป่วยไข้การทําบุญด้วยเภสัชแล้ว อุทิศส่วนบุญไปให้แก่เปตชนทั้งหลายผู้ล่วงลับไปแล้ว เป็นต้น

มหาวิบากจิต

มหาวิบากจิต หมายถึง จิตที่เป็นผลของมหากุศลจิตโดยตรง เพราะเมื่อว่าโดย เวทนา สัมปโยคะและสังขารแล้วเหมือนกันทุกประการ หมายความว่า มหาวิบากจิตแต่ละ ดวงนั้น มีชื่อและความหมายเหมือนกับมหากุศลจิตตรงกันดวงต่อดวง เช่น มหาวิบากจิต ดวงที่ ๑ มีชื่อและความหมายเหมือนกับมหากุศลจิตดวงที่ ๑ มหาวิบากจิตดวงที่ ๒ มีชื่อ และความหมายเหมือนกับมหากุศลจิตดวงที่ ๒ ดังนี้เป็นต้น แต่สภาวะนั้นมีความแตกต่าง กัน เนื่องจากมหากุศลจิตเป็นจิตที่ต้องขวนขวายให้มีให้เกิดขึ้น ส่วนมหาวิบากจิต เป็นจิตที่เป็นผลอันสุกแล้ว ไม่ต้องขวนขวายให้มีให้เกิดขึ้นแต่อย่างใด เมื่อได้เหตุปัจจัยครบบริบูรณ์ แล้วก็สามารถส่งผลให้ได้รับทันที

คุณสมบัติของมหาวิบากจิต
การอํานวยผลของมหาวิบาก มี ๔ ฐานะ คือ

๑. ในฐานะปฏิสนธิกิจ หมายถึง การเกิดขึ้นในภพชาติใหม่แห่งรูปนามขันธ์ ๕ ได้แก่ ปฏิสนธิจิตพร้อมด้วยเจตสิกที่ประกอบและกัมมชรูป ซึ่งให้เกิดเป็นมนุษย์หรือเทวดา ในกามสุคติภูมิ ๗ ตามสมควรแก่มหาวิบากจิตดวงนั้น ๆ หมายความว่า ถ้ามหาวิบากญาณ สัมปยุตตจิต เกิด ก็เกิดเป็นติเหตุกบุคคล เป็นผู้มีไตรเหตุ ถ้ามหาวิบากญาณวิปปยุตตจิต นําเกิด ก็เกิดเป็นทวิเหตุกบุคคล ผู้มี ๒ เหตุ

๒. ในฐานะภวังคกิจ หมายถึง การรักษาภพชาติให้ดํารงอยู่จนหมดอายุขัย หมายความว่า เมื่อมหาวิบากจิตนําเกิดเป็นบุคคลนั้น ๆ เสร็จแล้ว มหาวิบากจิตดวงนั้น แหละ จะทําหน้าที่รักษาสถานภาพของบุคคลนั้นไว้ จนกว่าจะหมดกําลัง ไม่ให้ตายก่อนกําหนด และไม่ให้เปลี่ยนสถานภาพไปเป็นอย่างอื่น เช่น ผู้ที่เกิดเป็นทวิเหตุกบุคคล ก็รักษา สถานภาพความเป็นทวิเหตุกบุคคลนั้นไว้ ผู้ที่เป็นติเหตุกบุคคล ก็รักษาสถานภาพความเป็น ติเหตุกบุคคลนั้น จนกว่าจะตาย นอกจากมีเหตุปัจจัยบางอย่าง มาขัดขวางให้สถานภาพ นั้นเลือนหายไป เช่น ประสบอุบัติเหตุอย่างสาหัสทําให้ความรู้สึกนึกคิดหายไป หรือเกิดเป็นบ้าเสียสติขึ้นมา เป็นต้น ทําให้ภาวะความรู้สึกนึกคิดของบุคคลนั้นสูญเสียไปชั่วคราวก็ ดี หรือจนตลอดชีวิตก็ดี ตามแต่กําลังของกรรมที่มาเบียดเบียนนั้นจะมีกําลังมากหรือน้อย เท่านั้น

๓. ในฐานะจุติกิจ หมายถึง การเคลื่อนไปจากภพชาติที่เกิดอยู่นั้น เมื่อ มหาวิบากจิตนั้นหมดกําลังลง ได้แก่ การตายนั่นเอง หมายความว่า เมื่อบุคคลนั้นหมดอายุ ขัยลง ถึงเวลาตาย มหาวิบากจิตที่นําบุคคลนั้นมาเกิดในภพชาตินั้น จะทําหน้าที่เป็นจิตดวงสุดท้ายในภพชาตินั้น คือ การเคลื่อนจากภพชาตินั้น เป็นอันสิ้นสุดสถานภาพของบุคคลนั้น ลง ด้วยการตายนั่นเอง

๔. ในฐานะตทาลัมพนกิจ หมายถึง การหน่วงเหนี่ยวอารมณ์ที่กามชวนจิตได้เสพ เสร็จเรียบร้อยแล้ว ถึง ๗ ขณะ [ในเวลาปกติ] หรือ ๕ ขณะ [ในเวลาใกล้ตาย] มาเสพต่อ อีก ๒ ขณะก็ดับไป คือ ถ้าอารมณ์นั้นเป็นอิฏฐมัชฌัตตารมณ์ มหาวิบากจิตที่เกิดพร้อมด้วย อุเบกขาเวทนา ย่อมทําหน้าที่เป็นตทาลัมพนะ [ถ้าอารมณ์นั้นเป็นอติอิฏฐารมณ์ มหาวิบากจิตที่เกิดพร้อมด้วยโสมนัสสเวทนา ย่อมทําหน้าที่เป็น ตทาลัมพนะ ถ้าอารมณ์นั้น เป็น อนิฏฐารมณ์ อุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบากจิต ย่อมทําหน้าที่เป็นตทาลัมพนะ ดังกล่าวแล้ว ในเรื่องอเหตุกจิต] ตามสภาพของอารมณ์

การเกิดขึ้นของมหาวิบากจิต

มหาวิบากจิต ดวงที่ ๑ โสมนัสสสหคตั้ง ญาณสัมปยุตตัง อสังขาริกัง แปลความว่า จิตที่เกิดขึ้นโดยไม่มีการชักชวน พร้อมด้วยความดีใจ ประกอบด้วยปัญญา เป็นจิตที่ทําให้ เกิดเป็นบุคคลที่อารมณ์ดี ยิ้มแย้มแจ่มใส มีความคิดอ่านเป็นของตนเอง [หมายเอา บุคลิกภาพโดยกําเนิด แต่ถ้ามีเหตุปัจจัยบางอย่างเข้ามาบั่นทอน ก็อาจทําให้เป็นผู้ไม่มี ความคิดเป็นของตนเองก็ได้ หมายความว่า เป็นผู้มีความริเริ่มด้วยตนเองในกิจการงานต่าง ๆ ที่ตนเองได้สั่งสมมาจนมีความถนัดเจนจัดและชํานาญแล้วนั้น และมีปัญญาในการ พิจารณาและรับรู้อารมณ์ต่าง ๆ ได้อย่างละเอียดลึกซึ้ง เป็นผู้เกิดมาพร้อมด้วยเหตุ ๓ ได้แก่ อโลภเหตุ อโทสเหตุ อโมหเหตุ เรียกว่า ติเหตุกบุคคล เป็นผู้มีปัญญาเกิดมาพร้อมกับ ปฏิสนธิจิต เรียกว่า สชาติกปัญญา ถ้ามีบุญบารมีมาพร้อมแล้วในด้านฌาน อภิญญา มรรค ผล ก็สามารถทําฌาน อภิญญา มรรค ผล ให้สําเร็จได้ในปัจจุบันชาตินั้น ตามสมควรแก่ ปัญญาบารมีของตน เช่น พระบรมโพธิสัตว์ พระปัจเจกโพธิสัตว์บางท่าน พระสาวก โพธิสัตว์บางท่าน หรือฌานลาภีบุคคล อภิญญาลา บุคคลบางท่าน เป็นต้น

มหาวิบากจิต ดวงที่ ๒ โสมนัสสสหคตั้ง ญาณสัมปยุตตัง สสังขาริกัง แปลความว่า จิตที่เกิดขึ้นโดยมีการชักชวน พร้อมด้วยความดีใจ ประกอบด้วยปัญญา เป็นจิตที่ทําให้เกิด เป็นบุคคลที่มีอารมณ์ดี ยิ้มแย้มแจ่มใส แต่ไม่ค่อยมีความคิดอ่านเป็นของตนเอง [หมายเอา บุคลิกภาพโดยกําเนิด แต่ถ้ามีเหตุปัจจัยอย่างอื่นเข้ามาสนับสนุนก็อาจทําให้เป็นผู้มี ความคิดอ่านเป็นของตนเองได้ หมายความว่า ถ้ากิจการงานบางอย่างที่ตนเองไม่เคยสั่ง สมมา หรือไม่มีความถนัดเจนจัดและชํานาญในการงานหรืออารมณ์นั้น อาจทําให้ไม่มี ความริเริ่มด้วยตนเอง ต้องอาศัยการกระตุ้นเตือนหรือชักชวน จึงจะมีการลงมือทํากิจการ นั้นหรือมีการตอบสนองต่ออารมณ์นั้นได้ แต่เป็นผู้มีปัญญาในการพิจารณาและรับรู้อารมณ์ ต่าง ๆ ได้อย่างละเอียดลึกซึ้ง (ยกเว้นบุคคลที่มีเหตุปัจจัยบางอย่างเข้ามาบั่นทอน อาจทํา ให้เป็นผู้ไม่มีปัญญาก็ได้ เป็นผู้เกิดมาพร้อมด้วยเหตุ ๓ ได้แก่ อโลภเหตุ อโทสเหตุ อโมห เหตุ เรียกว่า ติเหตุกบุคคล และเป็นผู้มีปัญญาเกิดมาพร้อมกับปฏิสนธิจิต เรียกว่า สชาติก ปัญญา ถ้ามีบุญบารมีมาพร้อมแล้วในด้านฌาน อภิญญา มรรค ผล ก็สามารถทําฌานอภิญญา มรรค ผล ให้สําเร็จได้ในปัจจุบันชาตินั้น ตามสมควรแก่ปัญญาบารมีของตน เช่น พระปัจเจกพุทธเจ้าบางองค์ พระสาวกบางรูป หรือ ฌานลาภีบุคคล อภิญญาลามีบุคคล บางท่าน เป็นต้น

มหาวิบากจิต ดวงที่ ๓ โสมนัสสสหคตั้ง ญาณวิปปยุตตัง อสังขาริกัง แปลความว่า จิตที่เกิดขึ้นโดยไม่มีการชักชวน พร้อมด้วยความดีใจ ไม่ประกอบด้วยปัญญา เป็นจิตที่ทํา ให้เกิดเป็นบุคคลที่มีอารมณ์ดี ยิ้มแย้มแจ่มใส มีความคิดอ่านเป็นของตนเอง [หมายเอา บุคลิกภาพโดยกําเนิด แต่ถ้ามีเหตุปัจจัยอย่างอื่นเข้ามาบั่นทอนก็อาจทําให้เป็นผู้ที่ไม่ค่อยมี ความคิดอ่านเป็นของตนเองก็ได้ หมายความว่า ถ้ากิจการงานหรืออารมณ์บางอย่างที่ ตนเองได้เคยสั่งสมมาจนมีความถนัดเจนจัดและชํานาญแล้ว ก็ทําให้มีความริเริ่มด้วยตนเอง ที่จะลงมือทํากิจการงานนั้นหรือมีการตอบสนองต่ออารมณ์นั้นได้ด้วยตนเอง เป็นผู้เกิดมา พร้อมด้วยเหตุ ๒ ได้แก่ อโลภเหตุ อโทสเหตุ เรียกว่า ทวิเหตุกบุคคล ไม่สามารถทําฌาน อภิญญา มรรค ผล ให้เกิดได้ในปัจจุบันชาตินั้นได้

มหาวิบากจิต ดวงที่ ๔ โสมนัสสสหคตั้ง ญาณวิปปยุตตัง สสังขาริกัง แปลความว่า จิตที่เกิดขึ้นโดยมีการชักชวน พร้อมด้วยความดีใจ ไม่ประกอบด้วยปัญญา เป็นจิตที่ทําให้ เกิดเป็นบุคคลที่มีอารมณ์ดี ยิ้มแย้มแจ่มใส แต่ไม่ค่อยมีความคิดอ่านเป็นของตนเอง [หมาย เอาบุคลิกภาพที่เป็นมาแต่กําเนิด แต่ถ้ามีเหตุปัจจัยอย่างอื่นเข้ามาสนับสนุนก็อาจทําให้ เป็นผู้มีความคิดอ่านเป็นของตนเองได้ หมายความว่า ถ้ากิจการงานบางอย่างที่ตนเองไม่ เคยสั่งสมมา ไม่มีความถนัดเจนจัดและชํานาญในการงานหรืออารมณ์นั้น อาจทําให้ไม่มี ความริเริ่มด้วยตนเอง ต้องอาศัยการกระตุ้นเตือนหรือชักชวน จึงจะมีการลงมือทํากิจการ นั้นหรือมีการตอบสนองต่ออารมณ์นั้น อนึ่ง เนื่องจากเป็นผู้ไม่มีปัญญาในการพิจารณาและ รับรู้อารมณ์ต่าง ๆ ได้อย่างละเอียดลึกซึ้งเท่าใดนัก (ยกเว้นผู้ที่มีการสั่งสมประสบการณ์ เพิ่มขึ้นในปัจจุบันชาตินั้น อาจทําให้เป็นผู้มีความรู้ความสามารถเป็นพิเศษในเรื่องปริยัติ ขึ้นมาก็ได้ เป็นผู้เกิดมาพร้อมด้วยเหตุ ๒ ได้แก่ อโลภเหตุ อโทสเหตุ เรียกว่า ทวิเหตุก บุคคล เป็นผู้ที่ไม่สามารถทําฌาน อภิญญา มรรค ผล ให้เกิดขึ้นได้ในปัจจุบันชาตินั้น

มหาวิบากจิต ดวงที่ ๕ อุเปกขาสหคตั้ง ญาณสัมปยุตตัง อสังขาริกัง แปลความว่า จิตที่เกิดขึ้นโดยไม่มีการชักชวน พร้อมด้วยความเฉย ๆ ประกอบด้วยปัญญา ซึ่งเป็นจิตที่ นําให้เกิดเป็นบุคคลที่มีอุปนิสัยสุขุมหนักแน่น หรือเป็นคนเฉยๆ ไม่ค่อยยิ้มแย้มแจ่มใส ไม่ ค่อยยินดียินร้ายกับใคร ๆ หรือสิ่งใดมากนัก แต่มีความคิดอ่านเป็นของตนเอง [หมายเอา บุคลิกภาพที่เป็นมาแต่กําเนิด ยกเว้นมีเหตุปัจจัยอย่างอื่นเข้ามาบั่นทอน อาจทําให้เป็นผู้ไม่มีความคิดอ่านเป็นของตนเองได้ หมายความว่า ถ้าเป็นกิจการงานหรืออารมณ์บางอย่างที่ ตนเองได้เคยสั่งสมมาจนมีความถนัดเจนจัดและชํานาญแล้ว ก็ทําให้มีความริเริ่มในกิจการ งานหรือตอบสนองต่ออารมณ์นั้นด้วยตนเอง และเป็นคนมีปัญญาสามารถพิจารณาและ รับรู้สิ่งต่าง ๆ ได้อย่างละเอียดลึกซึ้ง (ยกเว้นกิจการงานหรืออารมณ์บางอย่างที่ตนเองไม่มี ความถนัดเจนจัดหรือชํานาญ หรือมีเหตุปัจจัยอย่างอื่นเข้ามาบั่นทอนทําให้เป็นผู้ไม่มี ความคิดอ่านเป็นของตนเองก็ได้ เป็นผู้เกิดมาพร้อมด้วยเหตุ ๓ ได้แก่ อโลภเหตุ อโทสเหตุ อโมหเหตุ เรียกว่า ติเหตุกบุคคล เป็นผู้มีปัญญาเกิดมาพร้อมกับปฏิสนธิจิต เรียกว่า สชาติก ปัญญา ถ้ามีบุญบารมีมาพร้อมแล้วในด้านฌาน อภิญญา มรรค ผล ก็สามารถทําฌาน อภิญญา มรรค ผล ให้สําเร็จได้ในปัจจุบันชาตินั้น ตามสมควรแก่ปัญญาบารมีของตน เช่น พระปัจเจกโพธิสัตว์ พระสาวกโพธิสัตว์ หรือฌานลาภีบุคคล อภิญญาลาภีบุคคลบางท่าน เป็นต้น

มหาวิบากจิต ดวงที่ ๖ อุเปกขาสหคทั้ง ญาณสัมปยุตตัง สสังขาริกัง แปลความว่า จิตที่เกิดขึ้นโดยมีการชักชวน พร้อมด้วยความเฉย ๆ ประกอบด้วยปัญญา เป็นจิตที่นําให้เกิดเป็นบุคคลที่มีอุปนิสัยสุขุมหนักแน่น หรือเป็นคนเฉย ๆ ไม่ค่อยยิ้มแย้ม แจ่มใส ไม่ค่อยยินดียินร้ายกับใคร ๆ หรือสิ่งใดมากนัก ทั้งไม่ค่อยมีความคิดอ่านเป็นของ ตนเอง [หมายเอาบุคลิกภาพโดยกําเนิด แต่ถ้ามีเหตุปัจจัยอย่างอื่นเข้ามาสนับสนุนก็อาจ ทําให้เป็นผู้มีความคิดอ่านเป็นของตนเองได้ หมายความว่า ถ้ากิจการงานหรืออารมณ์ บางอย่างที่ตนเองไม่เคยสั่งสมมา ไม่มีความถนัดเจนจัดและชํานาญในการงานหรืออารมณ์ นั้น อาจทําให้ไม่มีความริเริ่มด้วยตนเอง ต้องอาศัยการกระตุ้นเตือนหรือชักชวน จึงจะมี การลงมือทํากิจการนั้นหรือมีการตอบสนองต่ออารมณ์นั้น แต่เป็นผู้มีปัญญาในการ พิจารณาและรับรู้อารมณ์ต่าง ๆ ได้อย่างละเอียดลึกซึ้ง เป็นผู้เกิดมาพร้อมด้วยเหตุ ๓ ได้แก่ อโลภเหตุ อโทสเหตุ อโมหเหตุ เรียกว่า ติเหตุกบุคคล และเป็นผู้มีปัญญาเกิดมา พร้อมกับปฏิสนธิจิต เรียกว่า สชาติกปัญญา ถ้ามีบุญบารมีมาพร้อมแล้วในด้านฌาน อภิญญา มรรค ผล ก็สามารถทําฌาน อภิญญา มรรค ผล ให้สําเร็จได้ในปัจจุบันชาตินั้น ตามสมควรแก่ปัญญาบารมีของตน เช่น พระปัจเจกพุทธเจ้า พระสาวกบางรูป หรือ ฌาน ลาภีบุคคล อภิญญาลาภีบุคคลบางท่าน เป็นต้น

มหาวิบากจิต ดวงที่ ๗ อุเปกขาสหคตั้ง ญาณวิปปยุตตัง อสังขาริกัง แปลความว่า จิตที่เกิดขึ้นโดยไม่มีการชักชวน พร้อมด้วยความเฉย ๆ ไม่ประกอบด้วย ปัญญา เป็นจิตที่นําให้เกิดเป็นบุคคลที่มีนิสัยสุขุมหนักแน่น หรือเป็นคนเฉย ๆ ไม่ค่อยยิ้มแย้มแจ่มใส ไม่ค่อยยินดียินร้ายกับใครหรือสิ่งใดมากนัก แต่มีความคิดอ่านเป็นของตนเอง [หมายเอาบุคลิกภาพโดยกําเนิด แต่ถ้ามีเหตุปัจจัยอย่างอื่นเข้ามาบั่นทอน ก็อาจทําให้เป็น ผู้ที่ไม่ค่อยมีความคิดอ่านเป็นของตนเองก็ได้) หมายความว่า ถ้ากิจการงานหรืออารมณ์ บางอย่างที่ตนเองได้เคยสั่งสมมาจนมีความถนัดเจนจัดและชํานาญแล้ว ก็ทําให้มีความ ริเริ่มด้วยตนเองที่จะลงมือทํากิจการงานนั้นหรือมีการตอบสนองต่ออารมณ์นั้นด้วยตนเองทันที เป็นผู้เกิดมาพร้อมด้วยเหตุ ๒ ได้แก่ อโลภเหตุ อโทสเหตุ เรียกว่า ทวิเหตุกบุคคล ไม่ สามารถทําฌาน อภิญญา มรรค ผล ให้เกิดได้ในปัจจุบันชาตินั้นได้ๆ

มหาวิบากจิต ดวงที่ ๘ อุเปกขาสหคตั้ง ญาณวิปปยุตตัง สสังขาริกัง แปลความว่า จิตที่เกิดขึ้นโดยมีการชักชวน พร้อมด้วยความเฉย ๆ ไม่ประกอบด้วยปัญญา เป็นจิตที่นําให้เกิดเป็นบุคคลที่มีนิสัยสุขุมหนักแน่น หรือเป็นคนเฉย ๆ ไม่ค่อยยิ้มแย้ม แจ่มใส ไม่ค่อยยินดียินร้ายกับใครหรือสิ่งใดมากนัก และไม่ค่อยมีความคิดอ่านเป็นของ ตนเอง [หมายเอาบุคลิกภาพโดยกําเนิด แต่ถ้ามีเหตุปัจจัยอย่างอื่นเข้ามาสนับสนุน ก็อาจ ทําให้เป็นผู้ที่มีความคิดอ่านเป็นของตนเองได้ หมายความว่า ถ้ากิจการงานหรืออารมณ์ บางอย่างที่ตนเองไม่เคยสั่งสมมา ย่อมไม่มีความถนัดเจนจัดและชํานาญในกิจการงานหรือ อารมณ์นั้น อาจทําให้ไม่มีความริเริ่มด้วยตนเอง ต้องอาศัยการกระตุ้นเตือนหรือชักชวน ก่อนแล้วจึงจะลงมือทํากิจการงานนั้นหรือมีการตอบสนองต่ออารมณ์นั้น เป็นผู้เกิดมา พร้อมด้วยเหตุ ๒ ได้แก่ อโลภเหตุ อโทสเหตุ เรียกว่า ทวิเหตุกบุคคล ไม่สามารถทําฌาน อภิญญา มรรค ผล ให้เกิดได้ในปัจจุบันชาตินั้นได้

ผลของมหาวิบากจิตที่เป็นโสมนัส ๕ ประการ

ผลของมหาวิบากจิตที่เป็นโสมนัสสเวทนา ย่อมให้ผลเป็นบุคคลที่มีลักษณะและ อุปนิสัยดังต่อไปนี้ อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือ หลายอย่างรวมกัน คือ

๑. ทําให้ปฏิสนธิเป็นโสมนัสสสหคตบุคคล คือ บุคคลที่เกิดด้วยจิตที่สหรคตด้วย โสมนัส มีบุคลิกลักษณะเป็นคนยิ้มแย้มแจ่มใส
๒. เป็นผู้มีนิสัยร่าเริงสนุกสนาน มีอารมณ์ขัน ชอบความสนุกสนานรื่นเริง
๓. เป็นผู้มีความยินดีต่ออารมณ์ที่พบเห็นได้ง่าย คือ ตอบสนองต่ออารมณ์ต่าง ๆ ด้วยความยินดี
๔. เป็นผู้ไม่ค่อยมีความสุขุมคัมภีรภาพ [นอกจากได้ฝึกฝนตนเองใหม่ หรือ ประสบ กับอนิฏฐารมณ์อย่างหนัก ทําให้เป็นคนซึมเซา หรือเคร่งครึมขึ้นมาก็ได้]
๕. เป็นผู้ที่ชอบคลุกคลีกับหมู่คณะ มีเพื่อนฝูงมาก ผลของมหาวิบากจิตที่เป็นอุเบกขา ๕ ประการ

ผลของมหาวิบากจิตที่เป็นอุเบกขาเวทนา ย่อมให้ผลเป็นบุคคลที่มีลักษณะและ อุปนิสัยดังต่อไปนี้ อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือ หลายอย่างรวมกัน คือ

๑. ทําให้ปฏิสนธิเป็นอุเบกขาสหคตบุคคล คือ บุคคลที่มีปฏิสนธิจิตที่สหรคตด้วย อุเบกขา เป็นคนเฉย ๆ ไม่ค่อยยิ้มแย้มแจ่มใส
๒. เป็นผู้มีอุปนิสัยเย็นชาไม่ค่อยร่าเริงสนุกสนาน
๓. เป็นผู้วางเฉยต่ออารมณ์ที่ได้ประสบพบเห็นนั้นโดยมาก
๔. เป็นผู้ที่มีความสุขุมคัมภีรภาพ นอกจากได้ประสบกับอารมณ์ที่ดีอยู่เสมอ อาจ ทําให้เป็นคนอารมณ์ดี มีความรื่นเริงสนุกสนานขึ้นมาก็ได้
๕. เป็นผู้มีสันดานคล้ายคนใบ้ ชอบอยู่สงัดตามลําพัง ไม่ชอบคลุกคลีกับหมู่คณะ มีเพื่อนฝูงน้อย ไม่ค่อยพูดจาสนทนากับใคร ถามหลายคํา แต่ตอบเพียงคําสองคําแล้วก็เงียบครึม นอกจากได้รับเหตุปัจจัยแวดล้อมใหม่ อาจกลายเป็นคนชอบเจรจาพูดคุยขึ้นมาก็ได้

ผลของมหาวิบากจิตที่เป็นญาณสัมปยุตต์ ๖ ประการ

ผลของมหาวิบากจิตที่เป็นญาณสัมปยุตต์ ย่อมให้ผลเป็นบุคคลที่มีลักษณะและ อุปนิสัยดังต่อไปนี้ อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือ หลายอย่างรวมกัน คือ

๑. ทําให้ปฏิสนธิเป็นติเหตุกบุคคล คือ เกิดเป็นมนุษย์ในมนุษยภูมิ หรือเกิดเป็น เทวดาในเทวโลก ๖ ชั้น ชั้นใดชั้นหนึ่ง ซึ่งมีปัญญาเกิดมาพร้อมกับปฏิสนธิจิต ที่เรียกว่า สชาติกปัญญา
๒. เป็นผู้มีความคิดอ่านสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างรอบคอบและเข้าใจสิ่งต่าง ๆ ได้อย่าง ละเอียดลึกซึ้ง
๓. มักมีความคิดอ่านเป็นจุดยืนของตนเอง และมีความคิดเห็นอยู่บนพื้นฐานของ เหตุผลที่ถูกต้อง ไม่ไหลไปตามกระแสโลกกระแสสังคม
๔. ถ้ามีอุปนิสัย ในทางฌาน อภิญญา ก็สามารถทําฌาน อภิญญา ให้เกิดได้
๕. ถ้ามีอุปนิสัยในทางมรรคผล ก็สามารถทํามรรคผลให้เกิดขึ้นได้
๖. สามารถบรรลุเป็นพระอริยบุคคลได้ทั้ง ๔ จําพวก

ผลของมหาวิบากที่เป็นญาณวิปปยุตต์ ๕ ประการ

ผลของมหาวิบากจิตที่เป็นญาณวิปปยุตต์ ย่อมให้ผลเป็นบุคคลที่มีลักษณะและ อุปนิสัยดังต่อไปนี้ อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือ หลายอย่างรวมกัน คือ

๑. ทําให้ปฏิสนธิเป็นทวิเหตุกบุคคล คือ เกิดเป็นมนุษย์ในมนุษยภูมิ หรือเกิดเป็น เทวดาในเทวภูมิ ๖ ชั้นใดชั้นหนึ่ง ซึ่งไม่มีปัญญาเกิดมาพร้อมกับปฏิสนธิจิต
๒. ไม่ค่อยมีความคิดอ่านสิ่งต่าง ๆ ให้รอบคอบและเข้าใจสิ่งต่าง ๆ ได้ไม่ค่อย ละเอียดลึกซึ้งนัก นอกจากได้ทําการสั่งสมประสบการณ์เพิ่มเติมในปัจจุบันชาตินั้นเท่านั้น
๓. เป็นผู้ที่ไม่ค่อยมีความคิดเห็นอยู่บนพื้นฐานของเหตุผลที่ถูกต้องนัก มักปล่อยใจ ให้ไหลไปตามกระแสโลกกระแสสังคม [นอกจากได้ทําการฝึกฝนศึกษาเรียนรู้ให้เกิดความรู้ ความเข้าใจอย่างถูกต้อง เพิ่มเติมขึ้นในภพปัจจุบันนั้นเท่านั้น]
๔. ไม่สามารถทําฌาน อภิญญา ให้เกิดได้ในชาติปัจจุบัน เนื่องจากวิบากปฏิสนธิ ขาดปัญญา
๕. ไม่สามารถทํามรรค ผล ให้เกิดขึ้นได้ ในชาติปัจจุบันนั้น เนื่องจากวิบากปฏิสนธิ ขาดปัญญา

ผลของมหาวิบากจิตที่เป็นอสังขาริก ๕ ประการ

ผลของมหาวิบากจิตที่เป็นอสังขาริก ย่อมให้ผลเป็นบุคคลที่มีลักษณะและอุปนิสัย ดังต่อไปนี้ อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือ หลายอย่างรวมกัน คือ

๑. ทําให้ปฏิสนธิเป็นอสังขาริกบุคคล มีอุปนิสัยที่มักกระตือรือร้นริเริ่มทําอะไรด้วย ตนเอง หรือตอบสนองต่ออารมณ์ที่พบเห็นได้ด้วยตนเอง ไม่ต้องให้กระตุ้นเตือนหรือ ชักชวน มักได้เป็นผู้นํา หรือ หัวหน้าหมู่คณะ [นอกจากจะมีเหตุปัจจัยอย่างอื่นมาบั่นทอน ทําให้ขาดความมั่นใจในตนเองไปกลายเป็นคนรวนเรได้
๒. เป็นผู้มีการตัดสินใจทําอะไรเองที่เด็ดขาด (เฉพาะในบางเรื่อง ที่เคยได้สั่งสมมา จนมีความถนัดเจนจัดและชํานาญ
๓. เป็นผู้มีความอดทนต่อความลําบาก คือ ความหนาวและความร้อน เป็นต้นได้ดี (ยกเว้นบุคคลที่เกิดมาแล้วมีวิถีชีวิตที่สุขสบายมากเกินไป ทําให้เป็นผู้อดทนต่อ ความยากลําบากไม่ค่อยได้
๔. เป็นผู้มีอุปนิสัยคล่องแคล่วถนัดชํานาญในกิจการหรือในการรับรู้อารมณ์ต่าง ๆ ได้ดี [เฉพาะกิจการงานหรืออารมณ์ที่ตนเองคุ้นเคยหรือชํานาญเท่านั้น
๕. เป็นผู้มีไหวพริบตอบสนองต่ออารมณ์ต่าง ๆ ได้เร็ว

ผลของมหาวิบากจิตที่เป็นสสังขาริก ๕ ประการ

ผลของมหาวิบากจิตที่เป็นสสังขาริก ย่อมให้ผลเป็นบุคคลที่มีลักษณะและอุปนิสัย ดังต่อไปนี้ อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือ หลายอย่างรวมกัน คือ

๑. ทําให้ปฏิสนธิเป็นสสังขาริกบุคคล คือ บุคคลที่ไม่ค่อยมีการริเริ่มทํากิจการงาน ด้วยตนเอง ต้องอาศัยการกระตุ้นเตือนหรือชักชวนก่อนแล้วจึงทํา มักเป็นผู้ตาม มากกว่า เป็นผู้นํา แม้ในบางเรื่องหรือบางอารมณ์ที่ตนเองมีความชํานาญแล้วก็ตาม แต่ก็ต้องอาศัย การกระตุ้นเตือนหรือชักชวนก่อนแล้วจึงลงมือทําหรือตอบสนองต่ออารมณ์นั้นได้ [ยกเว้นมีเหตุปัจจัยอย่างอื่นเข้ามาสนับสนุน อาจทําให้เป็นผู้มีความคิดริเริ่มด้วยตนเองได้]
๒. เป็นผู้มีการตัดสินใจทําอะไรไม่ค่อยเด็ดขาด [เฉพาะบางเรื่องที่ตนเองไม่ถนัด ไม่ เจนจัด หรือไม่ชํานาญ ยกเว้นบางเรื่องที่ได้สั่งสมมาจนมีความถนัดเจนจัดและชํานาญแล้ว อาจมีการตัดสินใจที่เด็ดขาดด้วยตนเองได้]
๓. มักมีอุปนิสัยเฉื่อยชา อืดอาด จับจด [นอกจากได้ฝึกฝนตนเองเสียใหม่ ทําให้ เป็นผู้มีความกระตือรือร้นขึ้นมาก็ได้]
๔. เป็นผู้ที่ไม่ค่อยมีความอดทนต่อความลําบาก มีความหนาวและความร้อน เป็น ต้น นอกจากได้ฝึกฝนตนเองเสียใหม่ หรือได้ประสบกับสถานการณ์ที่ต้องทําใจอดทนอยู่ เสมอ อาจทําให้เป็นคนเข้มแข็งขึ้นมาได้
๕. เป็นผู้ไม่ค่อยมีไหวพริบ ตอบสนองต่ออารมณ์ได้ช้า [นอกจากได้ฝึกฝนในบาง เรื่องหรือบางอารมณ์จนชํานาญแล้ว อาจมีไหวพริบและตอบสนองต่ออารมณ์นั้น ๆ ได้เร็วขึ้น]

ฉะนั้น ในมหาวิบากจิตแต่ละดวง จะให้ผลเป็นองค์รวม คือ เป็นบุคคลที่มี บุคลิกลักษณะและอุปนิสัยที่เด่นชัด ๓ ประการ ได้แก่ โดยเวทนา เป็นคนร่าเริงสนุกสนาน หรือเฉยเมยสุขุมเคร่งครึม โดยสัมปโยคะ เป็นคนมีปัญญาหรือว่าไม่มีปัญญา และโดย สังขาร คือ เป็นคนมีความริเริ่มด้วยตนเอง หรือต้องอาศัยการกระตุ้นเตือนชักชวนในเวลา ประกอบกิจต่าง ๆ หรือการตอบสนองต่ออารมณ์ต่าง ๆ ซึ่งขึ้นอยู่กับสภาพของมหาวิบาก จิตดวงนั้น ๆ ฉะนั้น ผู้ศึกษาจึงนําเหตุปัจจัยที่ทําให้เกิดมหาวิบากจิตดวงนั้น ๆ ได้แก่ เหตุ ปัจจัยของเวทนา เหตุปัจจัยของสัมปโยคะ และเหตุปัจจัยของสังขาร แต่ละอย่างนั้นมาจับ เข้าด้วยกันเป็นเครื่องมืออธิบายหรือทําความเข้าใจ จะได้คําอธิบาย หรือความเข้าใจว่า เพราะมีเหตุปัจจัยเหล่านี้ จึงทําให้บุคคลแต่ละคน มีลักษณะและอุปนิสัยที่แตกต่างกันออกไป

มหากิริยาจิต

มหากิริยาจิต เป็นจิตของพระอรหันต์ที่เกิดขึ้นกระทํากิจการงานอันเป็นกุศลนั่นเอง แต่ว่าการงานอันเป็นกุศลนั้นย่อมให้ผลเป็นความสุขต่อไปในภพหน้าอีก ส่วนพระอรหันต์ นั้นท่านไม่มีการเกิดในภพหน้าอีกต่อไปแล้วและการทํากิจทุกอย่างของท่านย่อมไม่ต้องการ ผลใด ๆ แม้จะเป็นความสุขต่อไปอีกก็ตาม จึงเรียกกิริยานั้นว่า สักแต่ว่าทํา พูด คิด ด้วย มหากิริยาจิตเท่านั้นเอง

ที่กล่าวว่า เป็นการงานอันเป็นกุศลนั้น หมายความว่า การงานที่พระอรหันต์ทํานั้น ถ้าเป็นปุถุชนหรือพระเสกขบุคคลทําแล้ว ล้วนแต่เป็นกุศลคือความดีงามและจะส่งผลเป็น ความสุขให้ทั้งสิ้น แต่กุศลจิตของพระอรหันต์นั้นเป็นกิริยาจิต เพราะไม่มีการส่งผลให้อีก ต่อไป ส่วนในการงานที่เป็นอกุศลนั้น แม้เพียงแต่คิดด้วยจิตอันเป็นอกุศล ก็ไม่มีแล้วใน จิตใจพระอรหันต์ทั้งหลาย ฉะนั้น พระอรหันต์ทั้งหลาย จึงชื่อว่า เป็นผู้ละบุญและบาปได้ แล้ว จึงไม่ต้องเกิดมาเพื่อรับผลของบุญและบาปอีกต่อไปแล้ว

อนึ่ง เหตุปัจจัยที่ทําให้เกิดมหากิริยาจิตนั้น คล้ายกับเหตุปัจจัยที่ทําให้เกิดมหากุศล จิตนั่นเอง เพราะเมื่อว่า โดยเวทนาก็ดี โดยสัมปโยคะก็ดี หรือโดยสังขารก็ดี ย่อม เหมือนกันกับมหากุศลจิตทุกประการ ต่างกันแต่ว่า พระอรหันต์นั้นท่านมีสันดานอัน บริสุทธิ์หมดจดจากกิเลสเครื่องเศร้าหมองทั้งปวงแล้ว ไม่มีกิเลสเข้ามาบงการหรือปิดกั้น ความรู้สึกที่ดีงามได้ ฉะนั้น จิตใจของท่านนั้น จึงมีความสะอาดบริสุทธิ์และซื่อตรงต่อ สภาพธรรมนั้น ๆ เสมอ ซึ่งต่างจากปุถุชนและพระเสกขบุคคลที่ยังมีกิเลสเข้ามาบงการหรือ ปิดกั้นความรู้สึกที่ดีงามมากบ้างน้อยบ้าง ตามสมควรแก่บุคคล จึงทําให้ยังมีวิปลาสต่อ อารมณ์ต่าง ๆ อยู่ ยังไม่ซื่อตรงต่อสภาพของอารมณ์ต่าง ๆ อย่างสิ้นเชิงเหมือนกับพระ อรหันต์ ด้วยเหตุนี้ การตอบสนองต่ออารมณ์ของปุถุชนและพระเสกขบุคคลนั้น จึงยังไม่ ตรงกับสภาพของอารมณ์นั้น ๆ โดยสิ้นเชิง คือ ยังมีผิดเพี้ยนหรือวิปลาสคลาดเคลื่อนไป บ้าง ตามสมควรแก่กิเลสของบุคคลนั้นๆ ว่าจะมีหนาแน่นหรือเบาบางเท่านั้นเอง ส่วนพระ อรหันต์ทั้งหลายนั้น ท่านย่อมมีความซื่อตรงต่อสภาพของอารมณ์ทั้งหลาย โดยไม่มีความ วิปลาสคลาดเคลื่อนแต่อย่างใด ฉะนั้น ท่านจึงตอบสนองต่ออารมณ์ตามสมควรแก่สภาพของอารมณ์อย่างแท้จริง จึงสรุปได้ว่า มหากิริยาจิตนั้น เมื่อว่าโดยเวทนา สัมปโยคะและ สังขารแล้ว เหมือนกันกับมหากุศลจิตทุกประการ

มหากิริยาจิต ดวงที่ ๑ โสมนัสสสหคตั้ง ญาณสัมปยุตตัง อสังขาริกัง แปลความว่า จิตที่เกิดขึ้นโดยไม่มีการชักชวน พร้อมด้วยความดีใจ ประกอบด้วยปัญญา เป็นจิตที่เกิดขึ้นในขณะที่พระอรหันต์รับรู้อารมณ์ ๖ ทางทวาร ๖ หรือกระทํากิจการงาน อย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เกี่ยวเนื่องกับบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ประการ เป็นจิตที่เกิดพร้อมด้วยความ ปลาบปลื้มยินดี ทั้งมีความรู้ความเข้าใจในอารมณ์นั้น ๆ อย่างถูกต้องตามที่เป็นจริง เกิด ขึ้นมาเองโดยไม่ต้องมีการกระตุ้นเตือนหรือชักชวน เนื่องจากมีประสบการณ์ในอารมณ์นั้น ๆ เป็นอย่างดี ตัวอย่างเช่น พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ทรงแสดงธรรมแก่บุคคลทั้งหลาย ด้วย อํานาจสัพพัญญุตญาณ โดยอาศัยความกรุณาที่มีต่อสรรพสัตว์เป็นที่ตั้ง ย่อมทรงทํากิจนั้น ด้วยความริเริ่มด้วยพระองค์เองและทรงกระทําด้วยความโสมนัสยินดี พร้อมทั้งทรงใช้พระ ปัญญาอันละเอียดลึกซึ้ง ตามสมควรแก่อุปนิสัยบารมีของบุคคลนั้น ๆ ดังนี้เป็นต้น

มหากิริยาจิต ดวงที่ ๒ โสมนัสสสหคตั้ง ญาณสัมปยุตตัง สสังขาริกัง แปลความว่า จิตที่เกิดขึ้นโดยมีการชักชวน พร้อมด้วยความดีใจ ประกอบด้วยปัญญา ซึ่ง เป็นจิตที่เกิดขึ้นในขณะที่พระอรหันต์รับรู้อารมณ์ ๖ ทางทวาร ๖ หรือกระทํากิจการงาน อย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เกี่ยวเนื่องกับบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ประการ เป็นจิตที่เกิดพร้อมด้วยความ ปลาบปลื้มยินดี และมีความรู้ความเข้าใจในอารมณ์นั้น ๆ อย่างถูกต้องตามที่เป็นจริง ซึ่งเกิดขึ้นโดยต้องมีการกระตุ้นเตือนหรือชักชวน เนื่องจากไม่ค่อยได้สั่งสมอุปนิสัยมาใน กิจการงานด้านนั้น จึงไม่ค่อยมีความถนัดเจนจัดและชํานาญ หรือเป็นผู้มีความขวนขวาย น้อยต้องการอยู่สําราญในทิฏฐธรรม เช่น พระอรหันต์บางท่าน ที่ต้องมีการอาราธนาเชื้อ เชิญก่อนแล้ว จึงจะแสดงธรรมให้ฟัง หรือต้องสอบสวนทวนถามข้ออรรถข้อธรรมก่อนแล้ว ท่านจึงจะชี้แจงแสดงให้ฟังหรือบอกสอนข้ออรรถข้อธรรมนั้นให้ ดังนี้เป็นต้น แต่เมื่อได้รับ การอาราธนาเชื้อเชิญแล้ว ท่านก็กระทํากิจนั้น ๆ ด้วยความปลาบปลื้มยินดี พร้อมทั้งใช้ วิจารณญาณในการทํากิจนั้น ๆ ให้ถูกต้อง และให้สําเร็จลุล่วงไปด้วยดี โดยมุ่งหวัง ประโยชน์แก่ผู้รับหรือประโยชน์แก่พระศาสนาเป็นใหญ่ ด้วยความปรารถนาดีเป็นเบื้อง หน้า เป็นต้น

มหากิริยาจิต ดวงที่ ๓ โสมนัสสสหคตั้ง ญาณวิปปยุตตัง อสังขาริกัง แปลความว่า จิตที่เกิดขึ้นโดยไม่มีการชักชวน พร้อมด้วยความดีใจ ไม่ประกอบด้วยปัญญา เป็นจิตที่เกิดขึ้นในขณะที่พระอรหันต์รับรู้อารมณ์ ๖ ทางทวาร ๖ หรือกระทํากิจการงาน อย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เกี่ยวเนื่องกับบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ประการ ที่ไม่ต้องใช้ปัญญา เป็นจิตที่ เกิดขึ้นพร้อมด้วยความปลาบปลื้มยินดี และเกิดขึ้นมาเองโดยไม่ต้องมีการกระตุ้นเตือน หรือชักชวน เนื่องจากมีประสบการณ์ในอารมณ์นั้นๆ หรือได้สั่งสมอุปนิสัยในการทํากิจการ งานนั้น ๆ มาเป็นอย่างดี เช่น พระอรหันต์ที่บําเพ็ญกิจวัตรประจําวันอยู่เสมอ ได้แก่ การ สรงน้ํา การซักผ้า การปัดกวาดวิหารลานพระเจดีย์ เป็นต้น ด้วยอุปนิสัยที่เป็นผู้ริเริ่ม ขวนขวาย และทําด้วยความปลาบปลื้มยินดี แต่เนื่องจากเป็นกิจการงานที่ทําอยู่เป็น ประจําจนชํานาญแล้ว จึงไม่ต้องใช้ปัญญาในการพิจารณาหาเหตุผลของกิจการงานนั้น ๆ แต่อย่างใด

มหากิริยาจิต ดวงที่ ๔ โสมนัสสสหคตั้ง ญาณวิปปยุตตัง สสังขาริกัง แปลความว่า จิตที่เกิดขึ้นโดยมีการชักชวน พร้อมด้วยความดีใจ ไม่ประกอบด้วยปัญญา เป็นจิตที่เกิดขึ้นในขณะที่พระอรหันต์รับรู้อารมณ์ ๖ ทางทวาร ๖ หรือกระทํากิจการงาน อย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เกี่ยวเนื่องกับบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ประการ ที่ไม่ต้องใช้ปัญญา แต่ว่า กิจการงานนั้น ๆ หรืออารมณ์นั้น ๆ ท่านไม่ค่อยมีประสบการณ์ หรือไม่ค่อยได้สั่งสม อุปนิสัยมาในทางนี้ จึงต้องอาศัยการกระตุ้นเตือนหรือชักชวน แต่เมื่อกระทําหรือ ตอบสนองต่ออารมณ์นั้น ก็ทําด้วยความปลาบปลื้มยินดี เช่น พระอรหันต์บางรูป เป็นผู้มี ความขวนขวายน้อยในกิจการงานต่าง ๆ ต้องการที่จะอยู่เป็นสุขในทิฏฐธรรม จึงวางเฉยต่อกิจการงานต่าง ๆ แต่เมื่อได้รับการกระตุ้นเตือนชักชวนหรือเชื้อเชิญแล้ว ท่านก็ทําด้วย ความปีติยินดี

มหากิริยาจิต ดวงที่ ๕ อุเปกขาสหคตั้ง ญาณสัมปยุตตัง อสังขาริกัง แปลความว่า จิตที่เกิดขึ้นโดยไม่มีการชักชวน พร้อมด้วยความเฉย ๆ ประกอบด้วยปัญญา เป็นจิตที่เกิดขึ้นในขณะที่พระอรหันต์รับรู้อารมณ์ ๖ ทางทวาร ๖ หรือกระทํากิจการงาน อย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เกี่ยวเนื่องกับบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ประการ เป็นจิตที่เกิดพร้อมด้วยความ วางเฉย และต้องใช้ปัญญาในการพิจารณาอารมณ์นั้น ๆ หรือในการทํากิจการงานนั้น ๆ อย่างถูกต้องตามที่เป็นจริง ซึ่งเกิดขึ้นด้วยการปรารภขึ้นมาเองโดยไม่ต้องมีการกระตุ้น เตือนหรือชักชวน เนื่องจากมีประสบการณ์ในอารมณ์นั้น ๆ หรือได้สั่งสมอุปนิสัยในกิจการ งานนั้น ๆ มาเป็นอย่างดี เช่น องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ทรงแสดงธรรมแก่บุคคล ทั้งหลาย ด้วยอํานาจสัพพัญญุตญาณ โดยอาศัยความกรุณาที่มีต่อสรรพสัตว์ทั้งหลายเป็น ที่ตั้ง ในขณะที่ทรงวางเฉยต่อบุคคลที่ประพฤติไม่ดี เช่น ให้โอวาทแก่ภิกษุที่ประพฤติตนไม่ ดีไม่งาม เพื่อทรงสอนให้มีจิตสํานึกที่ดีสมกับความเป็นสมณะศากยบุตรพุทธชิโนรสต่อไป เป็นต้น

มหากิริยาจิต ดวงที่ ๖ อุเปกขาสหคตั้ง ญาณสัมปยุตตัง สสังขาริกัง แปลความว่า จิตที่เกิดขึ้นโดยมีการชักชวน พร้อมด้วยความเฉย ๆ ประกอบด้วยปัญญา เป็นจิตที่เกิดขึ้นในขณะที่พระอรหันต์รับรู้อารมณ์ ๖ ทางทวาร ๖ หรือกระทํากิจการงาน อย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เกี่ยวเนื่องกับบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ประการ ที่ต้องใช้ปัญญาในการ พิจารณา เป็นจิตที่เกิดพร้อมด้วยความวางเฉย และต้องใช้ปัญญาในการพิจารณาอารมณ์ นั้น ๆ หรือในการทํากิจการงานนั้น ๆ อย่างถูกต้องตามที่เป็นจริง แต่เกิดขึ้นโดยต้องมีการ กระตุ้นเตือนหรือชักชวน เนื่องจากขาดประสบการณ์ในอารมณ์นั้น ๆ หรือไม่ค่อยได้สั่งสม อุปนิสัยมาในกิจการงานนั้น ๆ เช่น พระอรหันต์บางท่านเป็นผู้มีความขวนขวายน้อย มีพระ มหากัสสปะ เป็นต้น ชอบปลีกวิเวก ถือธุดงค์ ท่านจึงไม่ค่อยเข้ามาเกี่ยวข้องกับงานของหมู่ คณะมากนัก แม้แต่ในเรื่องการแสดงธรรม หรือการบอกสอนธรรม จึงต้องมีการนิมนต์หรือ เชื้อเชิญ หรือต้องเข้าไปสอบถามก่อนแล้ว ท่านจึงจะรับชี้แจงแสดงธรรม หรือบอกสอน แนะนําให้ และในขณะที่กระทํากิจนั้น ๆ อยู่ท่านก็มีอาการวางเฉยต่อบุคคลและกิจการ งานนั้นโดยไม่ต้องการเอาตัวท่านไปผูกพันกับบุคคลหรือกิจการงานนั้น ๆ แต่อย่างใด เพียงแต่ทําการอนุเคราะห์ให้ตามสมควรแก่บุคคลและโอกาสเท่านั้น

มหากิริยาจิต ดวงที่ ๗ อุเปกขาสหคตั้ง ญาณวิปปยุตตัง อสังขาริกัง แปลความว่า จิตที่เกิดขึ้นโดยไม่มีการชักชวน พร้อมด้วยความเฉย ๆ ไม่ประกอบด้วย ปัญญา เป็นจิตที่เกิดขึ้นในขณะที่พระอรหันต์รับรู้อารมณ์ ๖ ทางทวาร ๖ หรือกระทํา กิจการงาน อย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นจิตที่เกิดพร้อมด้วยความวางเฉย และไม่ต้องใช้ปัญญาใน การพิจารณาอารมณ์นั้น ๆ หรือกิจการงานนั้น ๆ เนื่องจากเป็นกิจที่ไม่ต้องใช้ปัญญา หรือ บางท่านไม่มีประสบการณ์ด้านปริยัติในเรื่องนั้น ๆ ท่านจึงไม่สามารถพิจารณาทําความ เข้าใจให้ถูกต้องตามหลักที่เป็นจริงในเรื่องนั้นได้ แต่เป็นจิตที่เกิดขึ้นโดยปรารภขึ้นมาเอง ไม่ต้องมีการกระตุ้นเตือนหรือชักชวน เนื่องจากได้สั่งสมอุปนิสัยของผู้ขวนขวายในกิจการ งานนั้น ๆ มาบ้าง เช่น พระอรหันต์บางรูป ที่เกิดอาพาธหนัก ร่างกายไม่พร้อมที่จะ ประกอบกิจการงาน แต่เนื่องจากท่านมีความขวนขวายในการทํากิจวัตรอยู่เป็นประจํา ด้วยเหตุนี้ จึงทําให้ท่านต้องฝืนสังขารร่างกาย และฝืนใจอุตสาหะทํากิจวัตรที่ทําอยู่เป็น ประจํานั้นให้สําเร็จเรียบร้อยไป เป็นต้น

มหากิริยาจิต ดวงที่ ๘ อุเปกขาสหคตั้ง ญาณวิปปยุตตัง สสังขาริกัง แปลความว่า จิตที่เกิดขึ้นโดยมีการชักชวน พร้อมด้วยความเฉย ๆ ไม่ประกอบด้วยปัญญา เป็นจิตที่เกิดขึ้นในขณะที่พระอรหันต์รับรู้อารมณ์ ๖ ทางทวาร ๖ หรือกระทํากิจการงาน อย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เกี่ยวเนื่องกับบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ประการ เป็นจิตที่เกิดพร้อมด้วยความ วางเฉย และไม่ต้องใช้ปัญญาในการพิจารณาอารมณ์นั้น ๆ หรือกิจการงานนั้น ๆ เนื่องจาก เป็นกิจที่ไม่ต้องใช้ปัญญา หรือบางท่านที่ไม่มีประสบการณ์ด้านปริยัติในเรื่องนั้น ๆ มา ท่านจึงไม่สามารถพิจารณาทําความเข้าใจให้ถูกต้องตามหลักที่เป็นจริงในเรื่องนั้นได้ และ เกิดขึ้นโดยต้องมีการกระตุ้นเตือนหรือชักชวน เนื่องจากท่านไม่ได้สั่งสมอุปนิสัยของความ เป็นผู้ขวนขวายในกิจการงานนั้น ๆ มา หรือมีอุปสรรคต่าง ๆ เข้ามาขัดขวาง เช่น พระ อรหันต์บางรูป ซึ่งเป็นผู้มีความขวนขวายน้อย แต่ถูกกระตุ้นเตือนหรือเชื้อเชิญให้ศึกษาเล่า เรียนพระปริยัติ เพื่อจะได้รักษาสืบทอดแก่อนุชนคนหลังต่อไป ท่านจึงต้องฝืนใจในการ ขวนขวายศึกษาเล่าเรียนปริยัติธรรมนั้น ด้วยอาการที่วางเฉย และเนื่องจากท่านไม่ค่อยได้ สั่งสมบุญบารมีมาในด้านปริยัติธรรม ท่านจึงไม่สามารถใช้ปัญญาในการพิจารณาให้รู้นัย ต่าง ๆ แห่งข้ออรรถข้อธรรมนั้นโดยทั่วถึงได้ ดังนี้เป็นต้น

ภูมิที่กามาวจรโสภณจิตเกิดได้

มหากุศลจิต ๘ ดวง เกิดได้ใน ๓๐ ภูมิ [เว้นอสัญญสัตตภูมิ] หมายความว่า ภูมิใดที่สัตว์มีจิตเกิดได้ มหากุศลจิตย่อมเกิดในบุคคลเหล่านั้นในภูมินั้นได้ [เฉพาะที่เป็น ปุถุชนและพระเสกขบุคคล ๓ ส่วนพระอรหันต์นั้นเป็นมหากิริยาจิต]

มหาวิบากจิต ๘ ดวง เกิดได้เฉพาะในกามสุคติภูมิ ๗ เท่านั้น โดยทําหน้าที่ปฏิสนธิ ภวังค์ จุติและตทาลัมพนะ ในกามบุคคลตามสมควร หมายความว่า บุคคลใดเกิดด้วยมหา วิบากจิตดวงใด จิตดวงนั้น ก็จะทําหน้าที่ปฏิสนธิ ภวังค์และจุติของบุคคลนั้น ส่วนตทาลัม พนจิตนั้น ถ้าเป็นสุคติอเหตุกบุคคลกับทวิเหตุกบุคคล ตทาลัมพนะที่เป็นมหาวิบากญาณ วิปปยุตตจิต ๔ ดวง ย่อมเกิดได้ ถ้าเป็นติเหตุกบุคคลที่เกิดด้วยมหาวิบากญาณสัมปยุตตจิต ตทาลัมพนะที่เป็นมหาวิบากจิตทั้ง ๘ ดวงย่อมเกิดได้กับบุคคลนั้น

มหากิริยาจิต ๘ ดวง เกิดได้เฉพาะใน ๒๖ ภูมิเท่านั้น คือ กามสุคติภูมิ ๗ รูปภูมิ ๑๕ [เว้นอสัญญสัตตภูมิ] อรูปภูมิ ๔ และเกิดได้เฉพาะกับพระอรหันต์เท่านั้น

จําแนกกามาวจรโสภณจิตโดยบุคคล

มหากุศลจิต ๘ ย่อมเกิดได้ในปุถุชน ๔ คือ ทุคติบุคคล สุคติอเหตุกบุคคล ทวิเหตุก บุคคลและติเหตุกปุถุชน และพระเสกขบุคคล ๓ (พระโสดาบัน พระสกทาคามีและพระ อนาคามี) หมายความว่า มหากุศลจิต ๘ นี้ สามารถเกิดได้กับปุถุชนทั้งหลาย ทั้งที่เป็น อบายสัตว์ ๔ (คือ สัตว์นรก เปรต อสุรกาย เดรัจฉาน เรียกว่า ทุคติบุคคล] และสุคติอ เหตุกบุคคลในกามภูมิ ทวิเหตุกบุคคลในกามภูมิ ติเหตุกปุถุชนและพระเสกขบุคคล ๓ ใน ทุกภูมิที่มีบุคคลเหล่านี้เกิดอยู่

มหาวิบากญาณวิปปยุตตจิต ๔ ดวง ย่อมเกิดได้เฉพาะกับสุคติอเหตุกบุคคล ขณะ ทําหน้าที่ตทาลัมพนะเท่านั้น] และในทวิเหตุกบุคคล (ขณะทําหน้าที่ปฏิสนธิ ภวังค์ จุติ และตทาลัมพนะตามสมควร) หมายความว่า มหาวิบากจิตที่เป็นญาณวิปปยุตตจิต ๔ ดวง นี้ ทําหน้าที่ปฏิสนธิ ภวังค์และจุติของพวกทวิเหตุกบุคคลในกามสุคติภูมิ ๗ และทําหน้าที่ต ทาลัมพนะของสุคติอเหตุกบุคคล ทวิเหตุกบุคคล ติเหตุกบุคคลและอริยบุคคล ๔ ได้ทั้ง ๗ บุคคล ในกามสุคติภูมิ ๗

มหาวิบากญาณสัมปยุตตจิต ๔ ดวง ย่อมเกิดได้กับติเหตุกปุถุชน ๑ และพระ อริยบุคคล ๔ (พระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์] เฉพาะในกาม สุคติภูมิ ๗ เท่านั้นโดยทําหน้าที่ปฏิสนธิ ภวังค์ จุติ และตทาลัมพนะตามสมควร หมายความว่า มหาวิบากญาณสัมปยุตตจิต ๔ ดวงนี้ ย่อมเกิดได้กับบุคคลที่เป็นเหตุก ปุถุชน และพระอริยบุคคล ๔ ที่เกิดอยู่ในกามสุคติภูมิ ๗ เท่านั้น โดยทําหน้าที่ในฐานะปฏิสนธิ ภวังค์ จุติ เพียงบุคคลละ ๑ ดวงเท่านั้น ส่วนที่ทําหน้าที่ ตทาลัมพนะนั้น สามารถ เกิดได้แก่บุคคลเหล่านั้นทั้ง ๔ ดวง

มหากิริยาจิต ๘ เกิดได้กับพระอรหันต์ ใน ๒๖ ภูมิ คือ กามสุคติภูมิ ๗ รูปภูมิ ๑๕ (เว้นอสัญญสัตตภูมิ] และอรูปภูมิ ๔ หมายความว่า มหากิริยาจิต ๘ ดวงนี้ ย่อมเกิดได้กับ พระอรหันต์ที่อยู่ในทุกภพภูมิ

หน้าที่ของกามาวจรโสภณจิต

มหากุศลจิต ๘ ทําหน้าที่อย่างเดียว คือ ชวนกิจ หมายถึง การเสพอารมณ์โดย ความเป็นมหากุศล อันจะส่งผลให้เป็นมหาวิบากจิตและอเหตุกกุศลวิบากจิต

มหาวิบากจิต ๘ ทําหน้าที่ ๔ อย่าง คือ

๑) ปฏิสนธิกิจ หมายถึง นําเกิดในภพภูมิใหม่ ในกามสุคติภูมิ ๗ คือ มนุษย์ภูมิ ๑ เทวภูมิ ๖ ภูมิใดภูมิหนึ่ง
๒] ภวังคกิจ หมายถึง การรักษาสถานภาพของบุคคลนั้นที่ปฏิสนธิจิตได้นําเกิดแล้ว ไว้จนกว่าวิบากจิตนั้นจะหมดกําลังลง เรียกว่า เป็นองค์แห่งภพ และทําหน้าที่เป็นมโนทวาร ให้มโนวิญญาณจิตเกิดขึ้นรับรู้ธัมมารมณ์ด้วย ๓] ตทาลัมพนกิจ หมายถึง การหน่วงเหนี่ยวหรือเสพกามอารมณ์ที่เหลือจากกาม ชวนจิตได้เสพผ่านไปแล้ว ถ้าอารมณ์นั้นยังเหลืออยู่อีก ๒ ขณะจิต ยังไม่ดับไป ตทาลัมพนะ ย่อมเกิดขึ้นเสพอารมณ์นั้นต่ออีก ๒ ขณะ แล้วอารมณ์นั้นก็หมดกําลังลงพอดี [หมายเอา เฉพาะกามอารมณ์ และกามบุคคล ในกามวิถีเท่านั้น
๔ จุติกิจ หมายถึง การเคลื่อนจากภพชาติ หมายถึง การสิ้นไปจากภพชาติที่เกิด อยู่ คือ พาตายจากภพชาติที่ตนเองเกิดอยู่ในกามสุคติภูมินั้น ซึ่งเป็นวาระสุดท้ายของชีวิต ในภพชาตินั้น ๆ เป็นอันสิ้นสุดสภาพของบุคคลนั้นไป


มหากิริยาจิต ๘ ทําหน้าที่อย่างเดียว คือ ชวนกิจ เหมือนกับมหากุศลจิต

รูปาวจรจิต

รูปาวจรจิต เป็นจิตที่เกี่ยวข้องกับการรับรูปวัตถุ คือ อารมณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับรูป ฌานและความเป็นรูปภพ รูปพรหม ตลอดถึงบัญญัติอารมณ์ทั้งหลาย ซึ่งเป็นจิตที่เกิดขึ้น โดยการเจริญสมถกรรมฐานที่มีรูปบัญญัติเป็นอารมณ์ มีกสิณเป็นต้น จนเข้าถึงความแนบแน่นในอารมณ์เป็นอัปปนาสมาธิ จึงจัดเป็นจําพวกอัปปนาจิตหรือฌานจิต มี ๑๕ ดวง คือ รูปาวจรกุศลจิต ๕ รูปาวจรวิบากจิต ๕ รูปาวจรกิริยาจิต ๕

ปัญจะธา ฌานะเภเทนะ
รูปาวะจะระมานะสัง
ปุญญะปากักกริยาเภทา
ตัง ปัญจะทะสะธา ภะเว


แปลความว่า รูปาวจรจิต ว่าโดยประเภทแห่งฌานแล้ว มี ๕ ประการ เมื่อจําแนก โดย กุศล วิบาก กิริยาแล้ว มี ๑๕ ประการ คาถานี้ แสดงการรวบรวมจิตที่เป็นรูปาวจรทั้งหมด ทั้งได้แสดงการจําแนกชาติของ จิตเหล่านี้ด้วย

รูปาวจรจิต หมายถึง จิตที่เข้าถึงความเป็นรูปฌาน หรือหมายถึง จิตที่ท่องเที่ยว เกิดอยู่ในภูมิอันเป็นที่เกิดแห่งรูปวัตถุและรูปกิเลสโดยมาก รูปวัตถุ หมายถึง อารมณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับรูปาวจรจิต ๑๕ เจตสิก ๓๕ อันเป็นวัตถุ ธรรม คือ สภาพที่เป็นอารมณ์ให้จิตรับรู้ได้ รูปกิเลส หมายถึง โลภเจตสิกที่เกี่ยวเนื่องด้วยรูปตัณหาซึ่งเกิดความยินดีพอใจใน รูปฌาน อภิญญาและรูปภพ รูปภพ คือ การเกิดเป็นรูปพรหม

อรรถแห่งฌาน

ในอัฏฐสาลินีอรรถกถาท่านแสดงว่า “อารัมมะณูปะนิชฌานะโต วา ปัจจะนิ กะฌาปะนะโต วา ฌานัง” แปลความว่า ธรรมชาติที่เพ่งอารมณ์ก็ดี หรือ ธรรมชาติที่แผด เผาธรรมอันเป็นข้าศึกของตนก็ดี ธรรมชาตินั้น ชื่อว่า ฌาน คําว่า ฌาน ตามนัยแห่งคัมภีร์อัฏฐสาลินีอรรถกถานี้ มุ่งหมายเอา อารัมมณูปนิช ฌาน คือ การเพ่งนิมิตของอารมณ์ เพื่อให้จิตสงบแนบแน่นอยู่ในอารมณ์นั้นเพียงอย่าง เดียว พร้อมทั้งทําการแผดเผาธรรมที่เป็นข้าศึกต่อฌานนั้นด้วย

ฌาน หมายถึง การเพ่ง หรือ การเผา

การเพ่ง หมายถึง การเพ่งอารมณ์เพื่อให้จิตสงบอยู่ในอารมณ์นั้นเพียงอย่างเดียวไม่ซัดส่ายไปในอารมณ์อื่นและพร้อมทั้งมีความสงบแนบแน่นโดยลําดับจนถึงความเป็นอัปปนาสมาธิ องค์ฌานทั้งหลายปรากฏเด่นชัด

การเผา หมายถึง ธรรมชาติที่เป็นเครื่องแผดเผาธรรมที่เป็นข้าศึกต่อองค์ฌานและ ฌานจิต เพื่อให้ฌานจิตนั้นมีความประณีตยิ่งขึ้น อีกทั้งเพื่อก้าวขึ้นไปสู่ฌานเบื้องสูงขึ้นไปตามลําาดับด้วย

สมถอารมณ์ หมายถึง อารมณ์ที่ใช้เพ่งหรือบริกรรม เพื่อให้จิตสงบ มี ๔๐ อารมณ์ คือ กสิณ ๑๐ อสุภะ ๑๐ อนุสสติ ๑๐ อัปปมัญญา ๔ อาหาเรปฏิกูลสัญญา ๑ จตุธาตุววัต ถาน ๑ และอรูปกรรมฐาน ๔ ซึ่งอารมณ์บางอย่างก็ทําให้จิตสงบถึงเพียงขั้นอุปจารสมาธิ บางอย่างก็ทําให้จิตสงบจนถึงขั้นอัปปนาสมาธิ คือ เข้าถึงขั้นฌานจิตปรากฏเกิดขึ้นพร้อม ด้วยองค์ฌาน กล่าวคือ อนุสสติ ๘ (เว้นกายคตาสติและอานาปานสติ อาหาเรปฏิกูล สัญญา ๑ จตุธาตุววัตถาน ๑ รวม ๑๐ อย่างนี้ ให้ถึงเพียงขั้นอุปจารสมาธิ ส่วนที่เหลืออีก ๓๐ อย่าง ได้แก่ กสิณ ๑๐ อสุภะ ๑๐ กายคตาสติ ๑ อานาปานสติ ๑ อัปปมัญญา ๔ อรูป กรรมฐาน ๔ ให้ถึงขั้นอัปปนาสมาธิ

ฌาน ๒

คําว่า ฌาน ที่มีสภาพเพ่งอารมณ์นั้น แบ่งเป็น ๒ อย่าง กล่าวคือ

๑. อารัมมณูปนิชฌาน หมายถึง การเพ่งอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง ในการเจริญสม ถกรรมฐาน เพื่อให้จิตแนบแน่นอยู่กับอารมณ์นั้นเพียงอย่างเดียวไม่ให้ซัดส่ายไปในอารมณ์ อื่น เรียกว่า การเพ่งนิมิตของอารมณ์ องค์ธรรมได้แก่ มหัคคตกุศลจิต ๔ และมหัคคตกิริยา จิต ๔ หมายความว่า การเจริญสมถะนั้น เป็นการเพ่งหรือบริกรรมอารมณ์ของสมถะอย่าง ใดอย่างหนึ่ง ตามสมควรแก่ฌานจิตชั้นนั้น ๆ เพื่อให้จิตสงบอยู่ในอารมณ์นั้น ๆ เพียง อารมณ์เดียวโดยลําดับ ตั้งแต่ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ จนถึงอัปปนาสมาธิ เมื่อจิตแนบ แน่นอยู่ในอารมณ์นั้นอย่างเดียวแล้ว ฌานจิตก็ปรากฏเกิดขึ้นพร้อมด้วยองค์ฌานที่ทําการ ข่มกิเลสนิวรณ์ให้สงบราบคาบไป เป็นวิกขัมภนปหาน [หมายเอาเฉพาะปุถุชนและพระ เสกขบุคคลบางท่านที่ยังละกิเลสนิวรณ์นั้นไม่ได้เด็ดขาด ถ้าเป็นพระอรหันต์หรือพระเสกข บุคคลที่ละกิเลสนิวรณ์นั้น ๆ ได้เด็ดขาดแล้ว ไม่ต้องทําการข่มกิเลสนิวรณ์นั้นอีก เพียงแต่ ทําให้จิตสงบจากอารมณ์ต่าง ๆ แล้วให้ตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์สมถะนั้นเพียงอย่างเดียวเท่านั้น จนฌานกิริยาจิตเกิดขึ้น) แล้วเลื่อนขึ้นสู่ฌานเบื้องสูง ด้วยการฝึกฝนให้เกิดวสีทั้ง ๕ และทํา การกําหนดละองค์ฌานที่หยาบกว่าโดยลําดับจนถึงฌานขั้นสูงสุดคือ เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน เรียกว่า ฌานสมาบัติ ๘

๒. ลักขณูปนิชฌาน หมายถึง การเพ่งสภาวลักษณะของอารมณ์ ในการเจริญ วิปัสสนากรรมฐาน เพื่อให้เกิดปัญญารู้ปรมัตถ์อารมณ์โดยความเป็นไตรลักษณ์ เรียกว่า การเพ่งลักษณะของอารมณ์ องค์ธรรมได้แก่ มหากุศลญาณสัมปยุตตจิต ๔ โลกุตตรจิต ๘ หมายความว่า การเจริญวิปัสสนากรรมฐานนั้น เป็นการเพ่งพิจารณาสภาวะของอารมณ์รูป นามอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่าง ในบรรดาวิปัสสนาภูมิ ๖ หมวด ซึ่งมีธรรม ๗๓ หรือ ๗๙ ประการ ได้แก่ ขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘ อินทรีย์ ๒๒ อริยสัจ ๔ ปฏิจจสมุปบาท ๑๒ หรือ ๑๘ จนเห็นความเป็นไปของอารมณ์นั้น ๆ ตามความเป็นจริง คือ การเห็นโดยเป็นเพียงสภาพรูปธรรมนามธรรมเท่านั้น ไม่ใช่สัตว์บุคคล ไม่ใช่ตัวตนเราเขาไม่ใช่สิ่งที่เป็นสาระแก่นสารแต่อย่างใด แล้วกําหนดพิจารณาสภาพของรูปธรรมนามธรรม นั้นต่อไปจนเห็นความเป็นไตรลักษณ์ด้วยปัญญาอันแจ้งชัด คือ มีการเกิดขึ้นแล้ว ย่อม เปลี่ยนแปลงไป สลายไป และดับไปอย่างรวดเร็วโดยไม่ตั้งอยู่นาน ทําให้เกิดความเบื่อ หน่าย คลายความกําหนัดยินดีในรูปธรรมนามธรรมนั้น เห็นรูปนามนั้นโดยสภาพที่เป็น โทษ ต้องการที่จะหนีให้พ้นไปจากรูปนามนั้น ดังนี้เป็นต้น วิปัสสนาญาณที่ประกอบด้วย มหากุศลญาณสัมปยุตตจิตเกิดขึ้น และมีความแก่กล้าขึ้นโดยลําดับ จนถึงสังขารุเปกขา ญาณ แล้วขึ้นสู่โสดาปัตติมรรควิถีเป็นอนุโลมญาณ โคตรภูญาณ และโสดาปัตติมัคคญาณ โสดาปัตติผลญาณย่อมเกิดขึ้นได้ประจักษ์แจ้งชัดในอารมณ์พระนิพพาน พร้อมกับการ ประหาณอนุสัยกิเลส ๒ อย่าง คือ ทิฏฐานุสัย และวิจิกิจฉานุสัย ด้วยการตัดขาดจากขันธ สันดาน เรียกว่า สมุจเฉทปหาน และทําอนุสัยกิเลสที่เหลือให้เบาบางลง จนไม่สามารถ นําไปสู่อบายได้อีก แล้วปัจจเวกขณญาณวิถีก็เกิดขึ้นพิจารณาสภาพของโสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล นิพพาน กิเลสที่ละแล้ว และกิเลสที่ยังเหลืออยู่ บุคคลนั้นได้สําเร็จเป็นพระ อริยบุคคลขั้นแรก เรียกว่า พระโสดาบัน แปลว่า ผู้ถึงกระแสแห่งพระนิพพานเป็นครั้งแรก

ต่อจากนั้น จึงกําหนดพิจารณาความเกิดดับของนามรูปตั้งแต่อุทยัพพยญาณเป็น ต้นไป จนถึงสังขารุเปกขาญาณตามลําดับ แล้วเข้าสู่สกิทาคามิมรรควิถีอีก เป็นอนุโลม ญาณ โวทานญาณ และสกิทาคามิมรรคญาณ สกิทาคามิผลญาณ ตามลําดับ แล้วปัจจ เวกขณญาณวิถีก็เกิดขึ้นพิจารณาสภาพของสกิทาคามิมรรค สกิทาคามิผล นิพพาน กิเลสที่ ละแล้ว และกิเลสที่ยังเหลืออยู่ บุคคลนั้นได้สําเร็จเป็นพระอริยบุคคลขั้นที่ ๒ เรียกว่า พระ สกิทาคามี แปลว่า ผู้จะกลับมาสู่กามโลกอีกเพียงครั้งเดียว พร้อมกับการทําอนุสัยกิเลสที่ เหลือจากโสดาปัตติมรรคได้ประหาณแล้ว โดยการทําให้เบาบางลงไปอีก เรียกว่า ตนุกร ปหาน ต่อจากนั้น จึงกําหนดพิจารณาความเกิดดับของนามรูปตั้งแต่อุทยัพพยญาณเป็นต้น ไปจนถึงสังขารุเปกขาญาณ ตามลําดับ แล้วเข้าสู่อนาคามิมรรควิถีอีก เป็นอนุโลมญาณ โวทานญาณ และอนาคามิมรรคญาณ อนาคามิผลญาณ ตามลําดับ แล้วปัจจเวกขณญาณ วิถีก็เกิดขึ้นพิจารณาสภาพของอนาคามิมรรค อนาคามิผล นิพพาน กิเลสที่ละแล้ว และ กิเลสที่ยังเหลืออยู่ บุคคลนั้นได้สําเร็จเป็นพระอริยบุคคลขั้นที่ ๓ เรียกว่า พระอนาคามี แปลว่า ผู้ไม่กลับมาสู่กามโลกอีกแล้ว พร้อมกับการประหาณอนุสัยกิเลสอีก ๒ อย่าง คือ กามราคานุสัย และปฏิฆานุสัย ด้วยการตัดขาดจากขันธสันดาน เรียกว่า สมุจเฉทปหาน ต่อจากนั้น จึงกําหนดพิจารณาความเกิดดับของนามรูปตั้งแต่อุทยัพพยญาณเป็นต้นไป จนถึงสังขารุเปกขาญาณ ตามลําดับเช่นเดียวกัน แล้วเข้าสู่อรหัตตมัคคควิถีอีกเป็นครั้งที่ ๔ เป็นอนุโลมญาณ โวทานญาณ และอรหัตตมรรคญาณ อรหัตตผลญาณ ตามลําดับ แล้ว ปัจจเวกขณญาณวิถีก็เกิดขึ้นพิจารณาสภาพของอรหัตตมรรค อรหัตตผล นิพพานและ กิเลสที่ละหมดสิ้นแล้ว บุคคลนั้นได้สําเร็จเป็นพระอริยบุคคลขั้นที่ ๔ เรียกว่า พระอรหันต์ แปลว่า ผู้ควรบูชาอย่างยิ่ง พร้อมกับการประหาณอนุสัยกิเลสที่อีก ๓ อย่าง คือ ภวราคา นุสัย มานานุสัย และอวิชชานุสัย ด้วยการตัดขาดจากขันธสันดาน เรียกว่า สมุจเฉทปหาน เป็นการตัดอาสวกิเลสทั้งปวงให้สูญสิ้นจากขันธสันดานโดยสิ้นเชิง เรียกว่า พระขีณาสพ เป็นผู้ถึงที่สุดแห่งพรหมจรรย์ เรียกว่า วุสิตพรหมจริยบุคคล ในบรรดาฌาน ๒ อย่างนั้น อารัมมณูปนิชฌาน เป็นไปเพื่อวัฏฏะ คือ การเวียนว่าย ตายเกิดในสังสารวัฏฏ์ [หมายเอาเฉพาะปุถุชนและพระเสกขบุคคล] ส่วน ลักขณูปนิชฌาน นั้น เป็นไปเพื่อวิวัฏฏะ คือ การหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏฏ เป็น จุดหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนา แต่ฌานทั้ง ๒ ประการนี้ ย่อมเป็นปัจจัยเอื้ออํานวยซึ่ง กันและกันได้ หมายความว่า สามารถเวียนมาบรรจบกันได้ กล่าวคือ บุคคลที่เจริญ อารัมมณูปนิชฌาน จนได้บรรลุถึงฌานแล้ว สามารถกําหนดพิจารณาองค์ฌานและสภาพ ของฌานนั้นให้เห็นโดยความเป็นไตรลักษณ์แล้วยังวิปัสสนาญาณให้เกิดขึ้นจนสามารถ บรรลุมรรคญาณ ผลญาณได้ เรียกว่า สมถยานิก แปลว่า มีสมถะเป็นยานพาหนะนําไปสู่ วิปัสสนา อนึ่ง บุคคลผู้เจริญวิปัสสนาจนได้บรรลุถึงมรรคญาณ ผลญาณแล้ว ย่อมสามารถ เป็นอุปการะต่อการทําฌานได้เช่นเดียวกัน เพราะเป็นผู้ละกิเลสนิวรณ์ได้แล้วตามสมควร แก่กําลังแห่งมรรคญาณของตน ถึงแม้พระเสกขบุคคล จะยังมีกิเลสนิวรณ์เหลืออยู่บ้าง แต่ กิเลสนิวรณ์เหล่านั้น ย่อมมีกําลังไม่เพียงพอที่จะขัดขวางสมาธิจิตให้กําเริบหรือแตกทําลาย ได้ เมื่อพระอริยบุคคลท่านนั้น ต้องการที่จะทําฌานสมาบัติให้เกิดขึ้น เพื่อใช้กําลังฌานเป็น ปัจจัยในการอยู่เป็นสุขในภพชาติปัจจุบัน ก็สามารถทําฌานให้เกิดขึ้นได้ง่ายกว่าปุถุชนที่ยัง มีกิเลสหนาอยู่ เรียกว่า วิปัสสนายานิก แปลว่า มีวิปัสสนาเป็นยานพาหนะนําไปสู่สมถะ แต่ที่กล่าวนี้ มุ่งหมายเอาเฉพาะพระอริยบุคคลบางท่านที่ได้สั่งสมบารมีในเรื่องของฌาน สมาบัติมาแล้วในอดีตชาติเท่านั้น ส่วนท่านใดที่ไม่เคยได้สั่งสมบารมีในเรื่องของฌาน สมาบัติมาเลย ก็ไม่สามารถที่จะทําฌานให้เกิดขึ้นได้ หรือใจของท่านไม่น้อมไปในการที่จะ ทําฌานให้เกิดขึ้น ดังจะเห็นปรากฏจากหลักฐานในคัมภีร์พระพุทธศาสนาว่า พระ อริยบุคคลที่ได้ฌานนั้น มีจํานวนน้อยกว่าพระอริยบุคคลที่ไม่ได้ฌานหลายเท่านัก ซึ่งเป็น เครื่องยืนยันได้ว่า การที่บุคคลจะได้ฌานสมาบัติ หรือ อารัมมณูปนิชฌาน นั้น ย่อมขึ้นอยู่ กับบุญบารมีในชาติปางก่อนเช่นเดียวกันกับ วิปัสสนาญาณ หรือ ลักขณูปนิชฌาน นั่นเอง ด้วยเหตุนี้ พระพุทธองค์จึงตรัสว่า ฌาน อภิญญา สมาบัติ มรรค ผล นั้น เรียกว่า อุตตริมนุสสธรรม แปลว่า ธรรมอันยิ่งยวดของมนุษย์ เพราะยากที่บุคคลจะทําให้เกิดขึ้นได้ ถ้าไม่มีบุญบารมีที่ได้สั่งสมมาแต่ชาติปางก่อน ดังกล่าวแล้ว

ประเภทแห่งฌานตามนัยแหํงพระสูตรหรือสุตตันตนัย

๑. ปฐมฌาน มีองค์ฌาน ๕ คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา
๒. ทุติยฌาน มีองค์ฌาน ๓ คือ ปีติ สุข เอกัคคตา
๓. ตติยฌาน มีองค์ฌาน ๒ คือ สุข เอกัคคตา
๔. จตุตถฌาน มีองค์ฌาน ๒ คือ อุเบกขา เอกัคคตา


ประเภทแห่งฌาน ๔ นี้ เรียกว่า จตุกนัย แปลว่า นัยแห่งฌาน ๔ เป็นนัยที่พระพุทธองค์ทรงแสดงตามนัยแห่งติกขบุคคล คือ บุคคลผู้มีกําลังบารมีแก่กล้า สามารถละองค์ฌานในทุติยฌานได้พร้อมกัน ๒ องค์ คือ วิตก วิจาร ด้วยเหตุนี้ ฌานของติกขบุคคลนี้ จึงมีเพียง ๔ ประเภท หรือ ๔ ขั้น ดังกล่าวแล้ว

รูปฌานกุศลจิต

รูปาวจรกุศลจิต เป็นจิตที่เกิดขึ้นโดยการเจริญสมถภาวนาโดยอาศัยบัญญัติของ รูปธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นอารมณ์ จิตที่เริ่มเพ่งจับบัญญัติอารมณ์ในตอนแรกนั้น ย่อม เป็นมหากุศลจิต สมาธิที่ประกอบกับมหากุศลจิตนั้นยังอยู่ในขั้นขณิกสมาธิและอุปจารสมาธิตามลําดับ เมื่อเจริญภาวนาเรื่อยไปจนสมาธินั้นแนบแน่นในอารมณ์ เดียวเข้าถึงอัปปนาสมาธิแล้ว จิตจึงจะเปลี่ยนจากมหากุศลจิต เป็นรูปาวจรกุศลจิต ซึ่งเกิด พร้อมด้วยองค์ฌาน พร้อมกับการประหาณธรรมที่เป็นปฏิปักษ์ของตนโดยวิกขัมภนปหานเป็นกุศลจิตชนิดที่จะส่งผลให้ปฏิสนธิเป็นรูปพรหมในภูมิต่าง ๆได้ตามสมควรแก่ฌานจิตนั้น ๆ กล่าวคือ ปฐมฌานกุศลจิต ย่อมส่งผลเป็นปฐมฌานวิบากจิต ให้ปฏิสนธิในปฐมฌานภูมิ ๓ ดังนี้เป็นต้น

รูปฌานกุศลจิต มี ๕ ดวง คือ

รูปฌานกุศลจิต ดวงที่ ๑ วิตักกวิจารปีติสุขเอกัคคตาสหิตัง ปฐมัชฌานกุศลจิตตัง แปลความว่า ปฐมฌานกุศลจิต ๑ เกิดพร้อมด้วยองค์ฌาน ๕ คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา เป็นฌานจิตที่เกิดขึ้นเป็นลําดับแรกของติเหตุกปุถุชนหรือพระเสกขบุคคล ๓ นั้น ด้วยการเจริญสมถภาวนา โดยการกําหนดเพ่งอารมณ์ ๒๕ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ กสิณ ๑๐ อสุภะ ๑๐ กายคตาสติ ๑ อานาปานสติ ๑ อัปปมัญญา ๓ เว้นอุเบกขาอัปป มัญญา ๑] ตามสมควรแก่จริตของบุคคลนั้น จนจิตแนบแน่นในอารมณ์โดยลําดับ ถึงอัปป นาสมาธิ องค์ฌานทั้ง ๕ ปรากฏเด่นชัดและมีกําลังมากสามารถข่มกิเลสนิวรณ์ ๕ คือ กาม ฉันทะ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจะ กุกกุจจะและวิจิกิจฉาให้สงบราบคาบลงได้โดย วิกขัมภนปหาน

รูปฌานกุศลจิต ดวงที่ ๒ วิจารปีติสุขเอกัคคตาสติตั้ง ทุติยัชฌานกุสลจิตตัง แปลความว่า ทุติยฌานกุศลจิต ๑ เกิดพร้อมด้วยองค์ฌาน ๔ คือ วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา เป็นฌานจิตที่เกิดขึ้นเป็นลําดับที่ ๒ ของบุคคลนั้น ด้วยการเจริญสมถภาวนา โดยกําหนด เพ่งอารมณ์ ๑๔ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ กสิณ ๑๐ อานาปานสติ ๑ อัปปมัญญา ๓ [เว้นอุเบกขาอัปปมัญญา ๑] ตามสมควรแก่จริตของบุคคลนั้น หมายความว่า พระโยคี บุคคลนั้น หลังจากได้ปฐมฌานกุศลจิตและฝึกฝนให้เป็นวสีทั้ง ๕ แล้ว จึงกําหนดเพ่ง อารมณ์กรรมฐาน ๑๔ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่งนั้นต่อไป พร้อมกับทําการกําหนดละวิตกซึ่ง เป็นองค์ฌานที่หยาบกว่าองค์ฌานอื่นในปฐมฌานจิตนั้น ซึ่งจะทําให้สมาธิจิตไม่แนบแน่น อยู่ได้นาน เมื่อละวิตกได้แล้ว ทุติยฌานกุศลจิตก็เกิดขึ้นพร้อมด้วยองค์ฌาน ๔ คือ วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา

รูปฌานกุศลจิต ดวงที่ ๓ ปีติสุขเอกัคคตาสติตัง ตติยัชฌานกุศลจิตตัง แปลความ ว่า ตติยฌานกุศลจิต ๑ เกิดพร้อมด้วยองค์ฌาน ๓ คือ ปีติ สุข เอกัคคตา เป็นฌานจิตที่ เกิดขึ้นเป็นลําดับที่ ๓ ของบุคคลนั้น ด้วยการเจริญสมถภาวนาโดยกําหนดเพ่งอารมณ์ ๑๔ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ กสิณ ๑๐ อานาปานสติ ๑ อัปปมัญญา ๓ เว้นอุเบกขาอัปป มัญญา ๑] ตามสมควรแก่จริตของบุคคลนั้น หมายความว่า พระโยคีบุคคลนั้น หลังจากได้ ทุติยฌานกุศลจิตและฝึกฝนให้เป็นวสีทั้ง ๕ แล้ว จึงกําหนดเพ่งอารมณ์กรรมฐาน ๑๔ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่งนั้นต่อไป พร้อมกับทําการกําหนดละวิจารซึ่งเป็นองค์ฌานที่หยาบ กว่าองค์ฌานอื่นในทุติยฌานจิตนั้น ซึ่งจะทําให้สมาธิจิตไม่แนบแน่นอยู่นาน เมื่อละวิจารได้ แล้ว ตติยฌานกุศลจิตก็เกิดขึ้นพร้อมด้วยองค์ฌาน ๓ คือ ปีติ สุข เอกัคคตา

รูปฌานกุศลจิต ดวงที่ ๔ สุขเอกัคคตาสติตัง จตุตถัชฌานกุศลจิตตัง แปลความว่า จตุตถฌานกุศลจิต ๑ เกิดพร้อมด้วยองค์ฌาน ๒ คือ สุข เอกัคคตา เป็นฌาน จิตที่เกิดขึ้นเป็นลําดับที่ ๔ ของบุคคลนั้น ด้วยการเจริญสมถภาวนาโดยการกําหนดเพ่ง อารมณ์ ๑๔ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ กสิณ ๑๐ อานาปานสติ ๑ อัปปมัญญา ๓ (เว้น อุเบกขาอัปปมัญญา ๑] ตามสมควรแก่จริตของบุคคลนั้น หมายความว่า พระโยคีบุคคลนั้น หลังจากได้ตติยฌานกุศลจิตและฝึกฝนให้เป็นวสีทั้ง ๕ แล้ว จึงกําหนดเพ่งอารมณ์ กรรมฐาน ๑๔ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่งนั้นต่อไป พร้อมกับทําการกําหนดละปีติซึ่งเป็นองค์ ฌานที่หยาบกว่าองค์ฌานอื่นในตติยฌานนั้น ซึ่งจะทําให้สมาธิจิตไม่แนบแน่นอยู่ได้นาน เมื่อละปีติได้แล้ว จตุตถฌานกุศลจิตก็เกิดขึ้นพร้อมด้วยองค์ฌาน ๒ คือ สุข เอกัคคตา

รูปฌานกุศลจิต ดวงที่ ๕ อุเปกขาเอกัคคตาสติตัง ปัญจมัชฌานกุศลจิตตัง แปล ความว่า ปัญจมฌานกุศลจิต ๑ เกิดพร้อมด้วยองค์ฌาน ๒ คือ อุเบกขา เอกัคคตา เป็น ฌานจิตที่เกิดขึ้นเป็นลําดับที่ ๕ ของบุคคลนั้น ด้วยการเจริญสมถภาวนาโดยการกําหนด เพ่งอารมณ์ ๑๒ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ กสิณ ๑๐ อานาปานสติ ๑ มัชฌัตตสัตว บัญญัติ ๑ [สําหรับมัชฌัตตสัตวบัญญัตินี้เป็นการเปลี่ยนอารมณ์ของอัปปมัญญา ๓ อย่าง ข้างต้น อย่างใดอย่างหนึ่งมาเป็นมัชฌัตตสัตวบัญญัติซึ่งเป็นอารมณ์ของอุเบกขาอัปป มัญญา] ตามสมควรแก่จริตของบุคคลนั้น หมายความว่า พระโยคีบุคคลนั้น หลังจากได้ จตุตถฌานกุศลจิตและฝึกฝนให้เป็นวสีทั้ง ๕ แล้ว จึงกําหนดเพ่งอารมณ์กรรมฐาน ๑๒ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่งนั้นต่อไป พร้อมกับทําการกําหนดเปลี่ยนสภาพของสุขเวทนาให้ เป็นอุเบกขาเวทนา เนื่องจากสุขเวทนาหรือโสมนัสสเวทนานั้นมีสภาพใกล้เคียงกับปีติและ มักตกไปตามสภาพของปีติเสมอ ทําให้ฌานจิตเลื่อนลงไปสู่ปีติในตติยฌานได้ง่าย ซึ่งจะทํา ให้สมาธิจิตไม่แนบแน่นอยู่ได้นาน เมื่อเปลี่ยนสุขเวทนาให้เป็นอุเบกขาเวทนาได้แล้ว ปัญจมฌานกุศลจิตก็เกิดขึ้นพร้อมด้วยองค์ฌาน ๒ คือ อุเบกขา เอกัคคตา อนึ่ง รูปฌาน ๕ เหล่านี้ เกิดขึ้นในขณะที่รูปฌานลาภีบุคคล ฝึกฝนให้ชํานาญเป็น วสีทั้ง ๕ แล้ว สามารถใช้กําหนดเข้าฌานสมาบัติได้ ตามขั้นฌานที่ตนเองได้ เช่น ผู้ได้ ปฐมฌาน ย่อมสามารถเข้าได้เฉพาะปฐมฌานเท่านั้น ผู้ได้ถึงทุติยฌาน สามารถเข้าได้ตั้งแต่ ปฐมฌาน ถึงทุติยฌาน ดังนี้เป็นต้น

สรุปความว่า รูปฌานกุศลจิตนี้ ย่อมเกิดขึ้นในฐานะ ๔ ประการ คือ

๑. ในขณะที่พระโยคีบุคคลเจริญสมถภาวนาให้ฌานจิตนั้น ๆ เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก เรียกว่า อาทิกัมมิกฌาน
๒. ในขณะที่ฌานลาภีบุคคลนั้นกําหนดเข้าสมาบัติ เรียกว่า ฌานสมาบัติ
๓. ในขณะที่ฌานลาภีบุคคลนั้นฝึกฝนทําให้เกิดอภิญญา เรียกว่า อภิญญาสมาบัติ [เฉพาะปัญจมฌานจิตเท่านั้น
๔. ในขณะที่ฌานลาบุคคลนั้นเข้าฌานสมาบัติ เพื่อใช้เป็นบาทในการเจริญวิปัสสนา เรียกว่า ปาทกฌาน

รูปฌานวิบากจิต

รูปาวจรวิบากจิต คือ จิตที่เป็นผลของรูปาวจรกุศลจิต ซึ่งเกิดขึ้นเพื่อทําหน้าที่ ปฏิสนธิ ภวังค์และจุติ ของรูปพรหมในรูปภูมิ ๑๕ [เว้นอสัญญสัตตภูมิ ซึ่งเป็นภูมิที่เกิดด้วย รูปอย่างเดียว] มี ๕ ดวง เท่ากับรูปาวจรกุศลจิต เพราะรูปาวจรกุศลจิตแต่ละดวง จะให้ผล เป็นรูปาวจรวิบากจิตเพียง ๑ ดวง ตรงกันดวงต่อดวงเท่านั้น คือ รูปาวจรกุศลจิตดวงที่ ๑ ก็ให้ผลเป็นวิบากดวงที่ ๑ ดังนี้เป็นต้น ดังต่อไปนี้

รูปฌานวิบากจิต ดวงที่ ๑ วิตักกวิจารปีติสุขเอกัคคตาสติตัง ปฐมัชฌาน วิปากจิตตัง แปลความว่า ปฐมฌานวิบากจิต ๑ เกิดพร้อมด้วยองค์ฌาน ๕ คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา ทําให้ปฐมฌานลาที่บุคคลนั้นไปเกิดในปฐมฌานภูมิ ๓ คือ พรหมปาริสัช ชาภูมิ พรหมปุโรหิตาภูมิและมหาพรหมาภูมิ ภูมิใดภูมิหนึ่ง เป็นติเหตุกบุคคล [ตามความ เป็นจริงแล้ว ภูมิทั้ง ๓ นี้อยู่ในชั้นเดียวกัน ต่างกันแต่เพียงตําแหน่งเท่านั้น กล่าวคือ มหา พรหมานั้น เป็นเจ้าปกครอง พรหมปุโรหิตา เป็นปุโรหิตหรือขุนนาง และพรหมปาริสัชชา เป็นพรหมบริษัทหรือราษฎรทั่วไป] รูปาวจรวิบากปฐมฌานจิตนี้ทําหน้าที่ปฏิสนธิ ภวังค์ จุติ ในปฐมฌานภูมินั้น ตามสมควรแก่อินทรีย์ หมายความว่า ถ้าเจริญฌานด้วยอินทรีย์ที่ แก่กล้า ย่อมนําให้เกิดในมหาพรหมาภูมิ ถ้าเจริญฌานด้วยอินทรีย์ระดับปานกลาง ย่อมนํา ให้เกิดในพรหมปุโรหิตาภูมิ ถ้าเจริญฌานด้วยอินทรีย์อย่างอ่อน ย่อมทําให้เกิดในพรหมปา ริสัชชาภูมิ โดยเป็นจิตที่รับกรรมอารมณ์ที่เป็นบัญญัติอารมณ์ของฌานที่ตนใช้เจริญ ปฐมฌาน (ในชาติก่อน] นั้น เช่น ถ้าใช้ปฐวีกสิณเจริญฌาน ปฐมฌานวิบากจิตนี้ ย่อมมี ปฏิภาคนิมิตของปฐวีกสิณนั้นเป็นอารมณ์ ดังนี้เป็นต้น หลังจากนําให้ปฏิสนธิแล้ว ก็ทํา หน้าที่เป็นภวังคจิตของรูปพรหมนั้น สลับกันไปกับวิถีจิตต่าง ๆ เรื่อยไปจนหมดอายุขัย จึงทําหน้าที่จุติจิต คือ พาตายจากปฐมฌานภูมิ เป็นอันสิ้นสุดสถานภาพของบุคคลใน ปฐมฌานภูมินั้น

รูปฌานวิบากจิต ดวงที่ ๒ วิจารปีติสุขเอกัคคตาสติตั้ง ทุติยัชฌานวิปากจิตตั้งแปล ความว่า ทุติยฌานวิบากจิต ๑ เกิดพร้อมด้วยองค์ฌาน ๔ คือ วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา นํา ให้ทุติยฌานลาภีบุคคลนั้นเกิดในทุติยฌานภูมิ ๓ คือ ปริตตาภาภูมิ อัปปมาณาภาภูมิและ อาภัสสราภูมิ ภูมิใดภูมิหนึ่ง (ซึ่งภูมิทั้ง ๓ นี้เป็นไปในทํานองเดียวกันกับปฐมฌานภูมิ ๓ นั่นเอง] เป็นติเหตุกบุคคลโดยทําหน้าที่ปฏิสนธิ ภวังค์ จุติในทุติยฌานภูมินั้น ตามสมควร แก่อินทรีย์ หมายความว่า ถ้าเจริญฌานด้วยอินทรีย์ที่แก่กล้า ย่อมนําให้เกิดในอาภัสสรา ภูมิ เป็นเจ้าผู้ปกครอง] ถ้าเจริญฌานด้วยอินทรีย์ระดับปานกลาง ย่อมนําให้เกิดในอัปป มาณาภาภูมิ [เป็นปุโรหิตหรือขุนนาง) ถ้าเจริญฌานด้วยอินทรีย์อย่างอ่อน ย่อมนําให้เกิด ในปริตตาภาภูมิ เป็นพรหมบริษัทหรือราษฎรทั่วไป โดยเป็นจิตที่รับกรรมอารมณ์ที่เป็น บัญญัติอารมณ์ของฌานที่ตนใช้เจริญทุติยฌานกุศลจิต (ในชาติก่อน] นั้น เช่น ถ้าใช้ปฐวี กสิณเจริญทุติยฌานกุศลจิต ทุติยฌานวิบากจิตนี้ ก็จะมีปฏิภาคนิมิตของปฐวีกสิณนั้นเป็น อารมณ์ ดังนี้เป็นต้น หลังจากนําให้ปฏิสนธิแล้ว ก็ทําหน้าที่เป็นภวังคจิตของ รูปพรหมนั้น สลับกันไปกับวิถีจิตต่าง ๆ เรื่อยไปจนหมดอายุขัย จึงทําหน้าที่จุติจิต คือ พา ตายจากทุติยฌานภูมิ เป็นอันสิ้นสุดสถานภาพของบุคคลในทุติยฌานภูมินั้น

รูปฌานวิบากจิต ดวงที่ ๓ ปีติสุขเอกัคคตาสติตัง ตติยัชฌานวิปากจิตตั้ง ความว่า ตติยฌานวิบากจิต ๑ เกิดพร้อมด้วยองค์ฌาน ๓ คือ ปีติ สุข เอกัคคตา ทําให้ตาย ฌานลาภีบุคคลนั้น ไปเกิดในทุติยฌานภูมิ ๓ คือ ปริตตาภาภูมิ อัปปมาณาภาภูมิและอา ภัสสราภูมิ ภูมิใดภูมิหนึ่ง เป็นเหตุกบุคคล (ซึ่งภูมิทั้ง ๓ นี้เป็นไปในทํานองเดียวกันกับ ปฐมฌานภูมิ ๓ นั่นเอง โดยทําหน้าที่ปฏิสนธิ ภวังค์ จุติ ในทุติยฌานภูมินั้น ตามสมควรแก่ อินทรีย์ หมายความว่า ถ้าเจริญฌานด้วยอินทรีย์ที่แก่กล้า ย่อมนําให้เกิดในอาภัสสราภูมิ [เป็นเจ้าผู้ปกครอง] ถ้าเจริญฌานด้วยอินทรีย์ระดับปานกลาง ย่อมนําให้เกิดในอัปปมาณา ภาภูมิ [เป็นปุโรหิตหรือขุนนาง] ถ้าเจริญฌานด้วยอินทรีย์อย่างอ่อน ย่อมนําให้เกิดในปริต ตาภาภูมิ เป็นพรหมราษฎรทั่วไป โดยเป็นจิตที่รับกรรมอารมณ์ที่เป็นบัญญัติอารมณ์ของ ฌานที่ตนใช้เจริญตติยฌานกุศลจิต (ในชาติก่อน] นั้น เช่น ถ้าใช้ปฐวีกสิณเจริญตติยฌาน กุศลจิต ตติยฌานวิบากจิตนี้ ก็จะมีปฏิภาคนิมิตของปฐวีกสิณนั้นเป็นอารมณ์ ดังนี้เป็นต้น หลังจากนําให้ปฏิสนธิแล้ว ก็ทําหน้าที่เป็นภวังคจิตของรูปพรหมนั้น สลับกันไปกับวิถีจิตต่าง ๆ เรื่อยไปจนหมดอายุขัย จึงทําหน้าที่จุติจิต คือ พาตายจากทุติยฌานภูมิ เป็นอัน สิ้นสุดสถานภาพของบุคคลในทุติยฌานภูมินั้น ตติยฌานวิบากจิตนี้ นําเกิดในทุติยฌานภูมิ ๓ เหมือนกับทุติยฌานวิบากจิต เพราะ สภาพของวิตกกับวิจารนั้นมีสภาพใกล้เคียงกัน คือ ตรึกอารมณ์ กับ ตรองอารมณ์ ด้วยเหตุ นี้ ฌานลาภีบุคคล ที่เป็นตึกขบุคคล คือ บุคคลที่มีกําลังบารมีแก่กล้ามาก ขณะที่เจริญทุติย ฌานนั้น ย่อมสามารถละวิตกและวิจารได้พร้อมกันเลย ฉะนั้น ตกขบุคคลจึงมีรูปฌานเพียง ๔ เท่านั้น แต่ที่แสดงในอภิธรรมนี้ เป็นการแสดงโดยอุปนิสัยของมันทบุคคล คือ บุคคลที่มี กําลังบารมีอ่อนไปหน่อยหนึ่ง จึงไม่สามารถละวิตกและวิจารในทุติยฌานพร้อมกันได้ จึง ต้องละทีละอย่าง คือ ทุติยฌานละวิตกตติยฌานจึงละวิจาร ด้วยเหตุนี้ มันทบุคคลจึงมีรูป ฌาน ๕ ดังแสดงมาแล้ว

รูปฌานวิบากจิต ดวงที่ ๔ สุขเอกัคคตาสติตัง จตุตถัชฌานวิปากจิตตัง แปลความ ว่า จตุตถฌานวิบากจิต ๑ เกิดพร้อมด้วยองค์ฌาน ๒ คือ สุข เอกัคคตา ทําให้จตุตถฌาน ลามีบุคคลนั้น ไปเกิดในตติยฌานภูมิ ๓ คือ ปริตตสุภาภูมิ อัปปมาณสุภาภูมิ และสุภกิณ หาภูมิ ภูมิใดภูมิหนึ่ง เป็นติเหตุกบุคคล (ซึ่งภูมิทั้ง ๓ นี้เป็นไปในทํานองเดียวกันกับ ปฐมฌานภูมิ ๓ นั่นเอง โดยทําหน้าที่ปฏิสนธิ ภวังค์ จุติในตติยฌานภูมินั้น ตามสมควรแก่ อินทรีย์ หมายความว่า ถ้าเจริญฌานด้วยอินทรีย์ที่แก่กล้า ย่อมนําให้เกิดในสุภกิณหาภูมิ (เป็นเจ้าผู้ปกครอง] ถ้าเจริญฌานด้วยอินทรีย์ระดับปานกลาง ย่อมนําให้เกิดในอัปปมาณ สุภาภูมิ [เป็นปุโรหิตหรือขุนนาง] ถ้าเจริญฌานด้วยอินทรีย์อย่างอ่อน ย่อมนําให้เกิดใน ปริตตสุภาภูมิ [เป็นพรหมราษฎร] โดยเป็นจิตที่รับกรรมอารมณ์ที่เป็นบัญญัติอารมณ์ของ ฌานที่ตนใช้เจริญจตุตถฌานนั้น เช่น ถ้าใช้ปฐวีกสิณเจริญจตุตถฌานกุศล จตุตถฌานวิบาก จิตนี้ ย่อมมีปฏิภาคนิมิตของปฐวีกสิณนั้นเป็นอารมณ์ ดังนี้เป็นต้น หลังจากนําให้ปฏิสนธิ แล้ว ก็ทําหน้าที่เป็นภวังคจิตของรูปพรหมนั้น สลับกันไปกับวิถีจิตต่าง ๆ เรื่อยไปจน หมดอายุขัย จึงทําหน้าที่จุติจิต คือ พาตายจากตติยฌานภูมิ เป็นอันสิ้นสุดสถานภาพของ บุคคลในตติยฌานภูมินั้น

รูปฌานวิบากจิต ดวงที่ ๕ อุเปกขาเอกัคคตาสหิตัง ปัญจมัชฌานวิปากจิตตัง แปล ความว่า ปัญจมฌานวิบากจิต ๑ เกิดพร้อมด้วยองค์ฌาน ๒ คือ อุเบกขา เอกัคคตา นํา ให้ปัญจมฌานลาภีบุคคลที่เป็นปุถุชน พระโสดาบัน และพระสกิทาคามีไปเกิดในเวหัปผลา ภูมิ ถ้าเป็นพระอนาคามี ย่อมนําเกิดในสุทธาวาสภูมิ ๕ คือ อวิหาภูมิ อตัปปาภูมิ สุทัสสีภูมิ สุทัสสาภูมิและอกนิฏฐาภูมิ ภูมิใดภูมิหนึ่ง เป็นติเหตุกบุคคล โดยทําหน้าที่ปฏิสนธิ ภวังค์ จุติ ในจตุตถฌานภูมิ ๖ นั้นภูมิใดภูมิหนึ่ง ตามสมควรแก่บุคคลนั้น ๆ สําหรับพระอนาคามี ที่จะเกิดในสุทธาวาส ๕ ภูมิใดนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับความแก่กล้าของอินทรีย์ที่ใช้ในการเจริญ ภาวนา หมายความว่า ถ้าเจริญภาวนามาด้วยปัญญินทรีย์ที่แก่กล้า ย่อมนําให้เกิดในอก นิฏฐาภูมิ ถ้าเจริญภาวนามาด้วยสมาธินทรีย์ที่แก่กล้า ย่อมนําให้เกิดในสุทัสสาภูมิ ถ้าเจริญ ภาวนามาด้วยสตินทรีย์ที่แก่กล้า ย่อมนําให้เกิดในสุทัสสีภูมิ ถ้าเจริญภาวนามาด้วยวิริยินท รีย์ที่แก่กล้า ย่อมนําให้เกิดในอตัปปาภูมิ ถ้าเจริญภาวนามาด้วยสัทธินทรีย์ที่แก่กล้า ย่อม นําให้เกิดในอวิหาภูมิ โดยเป็นจิตที่รับกรรมอารมณ์ที่เป็นบัญญัติอารมณ์ที่ตนใช้เจริญรูปาว จรปัญจมฌานกุศลจิตนั้น เช่น ถ้าใช้ปฐวีกสิณเจริญรูปาวจรปัญจมฌานกุศลจิต รูปาว จรปัญจมฌานวิบากจิตนี้ ย่อมมีปฏิภาคนิมิตของปฐวีกสิณเป็นอารมณ์ ดังนี้เป็นต้น หลังจากนําให้ปฏิสนธิแล้ว ก็ทําหน้าที่เป็นภวังคจิตของรูปพรหมนั้น สลับกันไปกับวิถีจิต ต่าง ๆ เรื่อยไปจนหมดอายุขัย จึงทําหน้าที่จุติจิต คือ พาตายจากจตุตถฌานภูมิ เป็นอัน สิ้นสุดสถานภาพของบุคคลในจตุตถฌานฌานภูมิที่ตนเกิดอยู่นั้น

สําหรับอสัญญสัตตภูมินั้น จัดอยู่ในจตุตถฌานภูมิเช่นเดียวกัน แต่เป็นภูมิที่ไม่มีจิต เกิดเลย มีแต่รูปเกิดอย่างเดียว ฉะนั้น ปฏิสนธิจิตก็ดี ภวังคจิตก็ดี จุติจิตก็ดีของอสัญญสัตต พรหมนั้นจึงไม่มี มีแต่ปฏิสนธิกัมมชรูปเกิดขึ้น ๑ กลาปเท่านั้น คือ ชีวิตนวกกลาป และรูป นั้นทําหน้าที่เป็นภวังค์ไม่ได้ ฉะนั้น พวกอสัญญสัตตพรหมจึงไม่มีภวังค์เกิด เมื่อหมด อายุขัย ๕๐๐ มหากัปป์แล้ว ชีวิตนวกกลาปนั้น ก็จะทําหน้าที่จุติ เรียกว่า จุติกัมมชรูป เป็น การสิ้นสุดสถานภาพของบุคคลนั้นในอสัญญสัตตภูมิ และต้องมาเกิดในกามสุคติภูมิ ๗ ภูมิ ใดภูมิหนึ่งก่อนแล้ว จึงจะเวียนไปสู่ภพอื่นต่อไป เนื่องจากในขณะที่เจริญสมถภาวนาอยู่นั้น ก่อนที่ฌานจิตจะเกิดขึ้น ย่อมมีมหากุศลจิตเกิดขึ้นมากมายตั้งแต่ขณิกสมาธิจนถึงอุปจาร สมาธิ โดยเฉพาะมหากุศลจิตในขณะแห่งอุปจารสมาธินั้น เป็นมหากุศลจิตที่มีกําลังแรง กล้ากว่ามหากุศลจิตในขณะอื่น ๆ และเป็นมหากุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญา เรียกว่า มหากุศลญาณสัมปยุตตจิต ทั้งสิ้น ด้วยเหตุนี้ บรรดาพรหมปุถุชนทั้งหลายใน ๑๕ ภูมิ คือ รูปภูมิ ๑๑ [เว้นสุทธาวาสภูมิ ๕] อรูปภูมิ ๔ เมื่อหมดอายุขัยจากพรหมโลกแล้ว ถ้าไม่ได้ทํา ฌานขึ้นมาใหม่ จะต้องมาเกิดในกามสุคติภูมิ ๗ ภูมิใดภูมิหนึ่งก่อนเสมอ และต้องเป็นติ เหตุกบุคคลด้วย

การให้ผลของรูปาวจรวิบากจิต

ปฐมฌานรูปาวจรวิบากจิต ๑ ให้ผลเป็นปฏิสนธิในปฐมฌานภูมิ ๓ คือ พรัหมปาริสัชชาภูมิ ๑ พรหมปุโรหิตาภูมิ ๑ มหาพรหมาภูมิ ๑

ทุติยฌานและตติยฌานรูปาวจรวิบากจิต ๒ ดวงนี้ ให้ผลเป็นปฏิสนธิใน ทุติยฌานภูมิ ๓ คือ ปริตตาภาภูมิ ๑ อัปปมาณาภาภูมิ ๑ อาภัสสราภูมิ ๑ จตุตถฌานรูปาวจรวิบากจิต ๑ ให้ผลเป็นปฏิสนธิในตติยฌานภูมิ ๓ คือ ปริตตสุภา ภูมิ ๑ อัปปมาณสุภาภูมิ ๑ สุภกิณหาภูมิ ๑

ปัญจมฌานรูปาวจรวิบากจิต ๑ ให้ผลเป็นปฏิสนธิในจตุตถฌานภูมิ ๑ คือ เวหัป ผลาภูมิ [สําหรับปุถุชนและพระโสดาบันและพระสกิทาคามี ผู้ได้รูปาวจรปัญจมฌาน]

ส่วนสุทธาวาสภูมิ ๕ คือ อวิหาภูมิ อตัปปาภูมิ สุทัสสาภูมิ สุทัสสีภูมิ และอกนิฏฐา ภูมินั้น เป็นที่เกิดของพระอนาคามีโดยเฉพาะพระอนาคามีทั้งหลาย ถึงแม้ว่า จะไม่ได้เจริญสมถภาวนาให้เกิดฌานเลยก็ตาม แต่ เป็นผู้ที่สามารถประหาณกิเลสนิวรณ์ที่หยาบ ๆ ได้หมดแล้ว กล่าวคือ กุกกุจจนิวรณ์กับ วิจิกิจฉานิวรณ์นั้น ได้ประหาณโดยเด็ดขาดแล้วตั้งแต่โสดาปัตติมรรค ส่วนกามฉันทนิวรณ์ และพยาบาทนิวรณ์ ได้ประหาณโดยเด็ดขาดแล้วด้วยอํานาจแห่งอนาคามิมรรค เหลืออยู่ก็ เพียงถิ่นนิวรณ์ มิทธนิวรณ์ อุทธัจจนิวรณ์ [และอวิชชานิวรณ์ ถ้านับเป็นนิวรณ์ ๖] ซึ่ง นิวรณ์ที่เหลืออยู่นี้ย่อมถูกมรรคทั้ง ๓ ขัดเกลาทําให้เบาบางลงจนไม่สามารถแสดงปฏิกิริยา อย่างหยาบออกมาได้อีกแล้ว ฉะนั้น บุคคลผู้เป็นพระอนาคามี ถึงแม้จะไม่ได้ปัญจมฌาน แต่ก็เรียกได้ว่า เทียบเท่าปัญจมฌาน เนื่องจากมีคุณสมบัติเทียบเท่ากับปัญจมฌาน คือ ไม่ มีกามฉันทนิวรณ์และพยาบาทนิวรณ์อยู่ในจิตใจเหมือนกัน ต่างกันแต่ว่า พระอนาคามีนั้น ประหาณโดยเด็ดขาดแล้ว ส่วนปัญจมฌานลาภีบุคคลที่เป็นปุถุชนก็ดี โสดาบันก็ดี สกิทาคามีก็ดี ประหาณได้เพียงวิกขัมภนปหาน คือ ข่มทับไว้ด้วยอํานาจแห่งฌานเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ พระอนาคามีบุคคลทั้งหลายที่ไม่ได้ฌานเมื่อตายแล้ว จะต้องไปเกิดในสุทธาวาส ภูมิ ๕ ภูมิใดภูมิหนึ่งแน่นอน ตามสมควรแก่อินทรีย์ของตนดังกล่าวมาแล้ว

รูปาวจรกิริยาจิต

รูปฌานกิริยาจิต เป็นจิตของพระอรหันต์ที่เข้าถึงฌานโดยนัยเดียวกันกับ รูปาวจรกุศลจิตของปุถุชนและพระเสกขบุคคล ๓ ที่แสดงไปแล้ว ฉะนั้น จึงกล่าวได้ว่า รู ปาวจรกิริยาจิตนี้ ก็คือ รูปาวจรกุศลจิต นั่นเอง แต่เกิดขึ้นในสันดานของพระอรหันต์ โดยเฉพาะเท่านั้น การเจริญฌานของพระอรหันต์นั้น ต่างจากปุถุชนและพระเสกขบุคคล ตรงที่องค์ฌานไม่ต้องทําหน้าที่ข่มนิวรณ์ เพราะพระอรหันต์ทั้งหลายท่านละกิเลสได้หมดสิ้นแล้ว เพียงแต่ทําการเพ่งอารมณ์เพื่อให้จิตสงบแนบแน่นอยู่ในอารมณ์เดียวจนได้ ปฐมฌานกิริยาจิตแล้วทําการพิจารณากําหนดละองค์ฌานที่หยาบกว่า ถือเอาองค์ฌานที่ ประณีตกว่า เลื่อนขั้นฌานขึ้นไปตามลําดับ โดยทํานองเดียวกันกับรูปฌานกุศลจิตที่กล่าว แล้ว อนึ่ง การแสดงรูปาวจรกิริยาจิตนี้ เป็นการแสดงโดยสภาวะของสัมปยุตตธรรมที่เพ่ง อารมณ์ ตามความเป็นไปของสภาวธรรม ที่เรียกว่า ธรรมนิยาม เท่านั้น เพื่อจําแนกให้รู้ว่า พระอรหันต์ผู้เจริญฌานนั้น ท่านได้เข้าถึงฌานขั้นไหนแล้วเท่านั้น มิฉะนั้นแล้ว จะไม่ สามารถกําหนดรู้ฌานจิตของพระอรหันต์ได้เลย แต่มิได้แสดงในฐานะการเพ่งอารมณ์เพื่อละธรรมที่เป็นปฏิปักษ์ต่อองค์ฌานเหมือนกับของปุถุชนหรือพระเสกขบุคคล แต่ประการ ใด รูปฌานกิริยาจิตนี้ มี ๕ ดวง เหมือนกันกับรูปฌานกุศลจิต ดังกล่าวแล้ว คือ

รูปฌานกิริยาจิต ดวงที่ ๑ วิตักกวิจารปีติสุขเอกัคคตาสติตั้ง ปฐมัชฌานกริยาจิตตัง แปลความว่า ปฐมฌานกิริยาจิต ๑ เกิดพร้อมด้วยองค์ฌาน ๕ คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา เป็นฌานจิตที่เกิดขึ้นเป็นลําดับแรกของพระอรหันต์นั้น ด้วยการเจริญสมถ ภาวนา การเพ่งอารมณ์ ๒๕ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ กสิณ ๑๐ อสุภะ ๑๐ กายคตา สติ ๑ อานาปานสติ ๑ อัปปมัญญา ๓ เว้นอุเบกขาอัปปมัญญา ๑] ตามสมควรแก่จริตของ ตน จนจิตแนบแน่นในอารมณ์นั้นโดยลําดับถึงอัปปนาสมาธิ องค์ฌาน ๕ ปรากฏเด่นชัด ชื่อว่า ปฐมฌานกิริยาจิตได้เกิดขึ้นแก่พระอรหันต์นั้นแล้ว

รูปฌานกิริยาจิต ดวงที่ ๒ วิจารปีติสุขเอกัคคตาสติตั้ง ทุติยัชฌานก็ริยจิตตัง แปล ความว่า ทุติยฌานกิริยาจิต ๑ เกิดพร้อมด้วยองค์ฌาน ๔ คือ วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา เป็น ฌานจิตที่เกิดขึ้นเป็นลําดับที่ ๒ ของพระอรหันต์นั้น ด้วยการเจริญสมถภาวนา เพ่งอารมณ์ ๑๔ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ กสิณ ๑๐ อานาปานสติ ๑ อัปปมัญญา ๓ เว้นอุเบกขา อัปปมัญญา ๑ ตามสมควรแก่จริตของตน หมายความว่า พระอรหันต์นั้น หลังจากได้ ปฐมฌานกิริยาจิตและฝึกฝนให้เป็นวสี ๕ แล้ว จึงเพ่งอารมณ์กรรมฐาน ๑๔ อย่าง อย่างใด อย่างหนึ่งนั้นต่อไป พร้อมกับทําการกําหนดละวิตกซึ่งเป็นองค์ฌานที่หยาบกว่าองค์ฌาน อื่นในปฐมฌานกิริยาจิตนั้น อันจะทําให้สมาธิจิตไม่แนบแน่นอยู่ได้นาน เมื่อละวิตกได้แล้ว ทุติยฌานกิริยาจิตก็เกิดขึ้นพร้อมด้วยองค์ฌาน ๔ คือ วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา

รูปฌานกิริยาจิต ดวงที่ ๓ ปีติสุขเอกัคคตาสติตัง ตติยัชฌานก็ริยจิตตัง แปลความ ว่า ตติยฌานกิริยาจิต ๑ เกิดพร้อมด้วยองค์ฌาน ๓ คือ ปีติ สุข เอกัคคตา เป็นฌานจิตที่ เกิดขึ้นเป็นลําดับที่ ๓ ของพระอรหันต์นั้น ด้วยการเจริญสมถภาวนา เพ่งอารมณ์ ๑๔ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ กสิณ ๑๐ อานาปานสติ ๑ อัปปมัญญา ๓ เว้นอุเบกขาอัปป มัญญา ๑] ตามสมควรแก่จริตของตน หมายความว่า พระอรหันต์นั้น หลังจากได้ทุติยฌาน กิริยาจิตและฝึกฝนให้เป็นวสี ๕ แล้ว จึงเพ่งอารมณ์กรรมฐาน ๑๔ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง นั้นต่อไป พร้อมกับทําการกําหนดละวิจารซึ่งเป็นองค์ฌานที่หยาบกว่าองค์ฌานอื่นในทุติย ฌานกิริยาจิตนั้น อันจะทําให้สมาธิจิตไม่แนบแน่นอยู่ในอารมณ์นั้นได้นาน เมื่อละวิจารได้ แล้ว ตติยฌานกิริยาจิต ก็เกิดขึ้นพร้อมด้วยองค์ฌาน ๓ คือ ปีติ สุข เอกัคคตา

รูปฌานกิริยาจิต ดวงที่ ๔ สุขเอกัคคตาสหิตัง จตุตถัชฌานก็ริยจิตตัง แปลความว่า จตุตถฌานกิริยาจิต ๑ เกิดพร้อมด้วยองค์ฌาน ๒ คือ สุข เอกัคคตา เป็นฌานจิตที่เกิดขึ้น เป็นลําดับที่ ๔ ของพระอรหันต์นั้น ด้วยการเจริญสมถภาวนา เพ่งอารมณ์ ๑๔ อย่าง อย่าง ใดอย่างหนึ่ง คือ กสิณ ๑๐ อานาปานสติ ๑ อัปปมัญญา ๓ เว้นอุเบกขาอัปปมัญญา ๑ ตามสมควรแก่จริตของตน หมายความว่า พระอรหันต์นั้น หลังจากได้ตติยฌานกิริยาจิต และฝึกฝนให้เป็นวสี ๕ แล้ว จึงเพ่งอารมณ์กรรมฐาน ๑๔ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่งนั้น ต่อไป พร้อมกับทําการกําหนดละปีติซึ่งเป็นองค์ฌานที่หยาบกว่าองค์ฌานอื่นในตติยฌาน กิริยาจิตนั้น อันจะทําให้สมาธิจิตไม่แนบแน่นอยู่ในอารมณ์นั้นได้นาน เมื่อละปีติได้แล้ว จตุตถฌานกิริยาจิต ก็เกิดขึ้นพร้อมด้วยองค์ฌาน ๒ คือ สุข และ เอกัคคตา

รูปฌานกิริยาจิต ดวงที่ ๕ อุเปกขาเอกัคคตาสติตัง ปัญจมัชฌานก็ริยจิตตัง ปัญจม ฌานกิริยาจิต ๑ เกิดพร้อมด้วยองค์ฌาน ๒ คือ อุเบกขา เอกัคคตา เป็นฌานที่เกิดขึ้นเป็น ลําดับที่ ๕ ของพระอรหันต์นั้น ด้วยการเจริญสมถภาวนา เพ่งอารมณ์ ๑๒ อย่าง อย่างใด อย่างหนึ่ง คือ กสิณ ๑๐ อานาปานสติ ๑ มัชฌัตตสัตวบัญญัติ ๑ ตามสมควรแก่จริตของ ตน หมายความว่า พระอรหันต์นั้น หลังจากได้จตุตถฌานกิริยาจิตและฝึกฝนให้เป็นวสี ๕ แล้ว จึงเพ่งอารมณ์กรรมฐาน ๑๒ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่งนั้นต่อไป พร้อมกับทําการ กําหนดเปลี่ยนสภาพของสุขเวทนาให้เป็นอุเบกขาเวทนา เนื่องจากสุขเวทนาหรือโสมนัสส เวทนานั้นมีสภาพใกล้เคียงกับปีติ ทําให้ฌานเลื่อนลงไปสู่สภาพของปีติในตติยฌานได้ง่าย ซึ่งจะทําให้สมาธิจิตไม่แนบแน่นอยู่ในอารมณ์นั้นได้นาน เมื่อเปลี่ยนสุขเวทนาให้เป็น อุเบกขาเวทนาได้แล้ว ปัญจมฌานกิริยาจิต ก็เกิดขึ้นพร้อมด้วยองค์ฌาน ๒ คือ อุเบกขา และ เอกัคคตา อนึ่ง รูปฌานกิริยาจิต ๕ ดวงนี้เกิดขึ้นในขณะที่พระอรหันต์ผู้เป็นรูปฌานลามีบุคคล ฝึกฝนให้ชํานาญเป็นวสีทั้ง ๕ แล้วย่อมสามารถใช้กําหนดเข้าฌานสมาบัติได้ ตามขั้นฌานที่ตนเองได้ เช่นผู้ได้ปฐมฌานย่อมสามารถเข้าได้เฉพาะปฐมฌานเท่านั้น ผู้ได้ถึงทุติยฌานย่อมสามารถเข้าได้ตั้งแต่ปฐมฌานถึงทุติยฌานดังนี้เป็นต้น

สรุปความว่า รูปฌานกิริยาจิตนี้ ย่อมเกิดขึ้นในฐานะ ๔ ประการ คือ

๑. ในขณะที่พระอรหันต์เจริญสมถภาวนาทําให้รูปฌานกิริยาจิตนั้น ๆ เกิดขึ้นเป็น ครั้งแรก เรียกว่า อาทิกัมมิกฌาน
๒. ในขณะที่พระอรหันต์รูปฌานลาภีบุคคลนั้นกําหนดเข้าสมาบัติ เรียกว่า ฌานสมาบัติ
๓. ในขณะที่พระอรหันต์รูปฌานลาภีบุคคลนั้นฝึกฝนเป็นบาททําให้เกิดอภิญญา เรียกว่า อภิญญาสมาบัติ [เฉพาะปัญจมฌานกิริยาจิตเท่านั้น]
๔. ในขณะที่พระอรหันต์รูปฌานลาภีบุคคลนั้นเข้าฌานสมาบัติ เพื่อใช้เป็นบาทในการเข้านิโรธสมาบัติ เรียกว่า ปาทกฌาน

อภิญญาจิต

อภิญญาจิต เป็นจิตพิเศษที่เกิดขึ้นด้วยอํานาจของรูปาวจรปัญจมฌานกุศลจิต ๑ และรูปาวจรปัญจมฌานกิริยาจิต ๑ ที่มีกําลังแก่กล้า ทําให้มีความสามารถรู้สิ่งต่างๆ ได้ เป็นพิเศษ แต่ไม่มีจิตอื่นอีกต่างหากออกไปจากจิต ๘๙ หรือ ๑๒๑ ดวงนั้น ซึ่งองค์ธรรม ได้แก่ รูปาวจรปัญจมฌานกุศลจิต ๑ และรูปาวจรปัญจมฌานกิริยาจิต ๑ นั่นเอง เรียกว่า อภิญญาจิต ๒

รูปาวจรปัญจมฌานกุศลจิต เรียกว่า อภิญญากุศลจิต เป็นจิตที่เกิดขึ้นเป็นพิเศษ สําหรับติเหตุกปุถุชนและพระเสกขบุคคล ๓ [คือ พระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระ อนาคามี] ผู้ได้อภิญญาในขณะที่ทําอภิญญาสมาบัติ รูปาวจรปัญจมฌานกิริยาจิต เรียกว่า อภิญญากิริยาจิต เป็นจิตที่เกิดขึ้นเป็นพิเศษ สําหรับพระอรหันต์ผู้ได้อภิญญาในขณะที่ทําอภิญญาสมาบัติ

อรูปาวจรจิต

อรูปาวจรจิต เป็นจิตที่เกี่ยวข้องกับการรับอรูปวัตถุ คือ อารมณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับ สภาพที่ไม่มีรูป หรืออรูปฌานและอรูปภพคือความเป็นอรูปพรหม เป็นจิตที่เกิดขึ้นโดยการ เจริญสมถกรรมฐานที่มีอรูปกรรมฐาน มีกสินคฆาฏิมากาสบัญญัติเป็นต้นเป็นอารมณ์ จน เข้าถึงความแนบแน่นในอารมณ์อย่างยิ่งเป็นอัปปนาสมาธิ จึงจัดเป็นจําพวกอัปปนาจิตหรือ ฌานจิต แต่มีสภาพหนักแน่นกว่ารูปาวจรจิต จึงเรียกว่า อาเนญชาจิต แปลว่า จิตที่มีกําลัง หนักแน่นไม่หวั่นไหว มี ๑๒ ดวง คือ อรูปาวจรกุศลจิต ๔ อรูปาวจรวิบากจิต ๔ อรูปาวจร กิริยาจิต ๔ ดังที่ท่านพระอนุรุทธาจารย์เถระเจ้าได้แสดงคาถาสังคหะไว้ดังต่อไปนี้

อาลัมพะนัปปะเภเทนะ
จะตุธารุปปะมานะสัง
ปุญญะปากักกริยาเภทา
ปุนะ ทวาทะสะธา ฐิตัง ฯ


แปลความว่า อรูปาวจรจิต ว่าโดยประเภทแห่งอารมณ์มี ๔ อย่าง เมื่อจําแนกโดย กุศล วิบาก กิริยาแล้ว มี ๑๒ ดวง
คาถานี้ เป็นการแสดงการรวบรวมจิตที่เป็นอรูปาวจรทั้งหมด ทั้งได้แสดงการ จําแนกชาติของจิตเหล่านั้นด้วย

ความหมายของอรูปาวจรจิต

อรูปาวจรจิต หมายถึง จิตที่เกิดขึ้นโดยการเจริญสมถภาวนาของผู้ที่ได้ รูปาวจรปัญจมฌานมาแล้ว เมื่อได้เจริญฌานให้ยิ่งขึ้นไป ย่อมเข้าถึงอรูปฌานได้ ฉะนั้น อรู ปาวจรจิต จึงเป็นจิตที่ท่องเที่ยว คือ รับอารมณ์ที่เกี่ยวเนื่องอยู่ในภูมิอันเป็นที่เกิดแห่งอรูป วัตถุและอรูปกิเลสเป็นส่วนมาก

อรูปวัตถุ หมายถึง สภาพอารมณ์ที่ไม่เกี่ยวเนื่องด้วยรูป อันเป็นที่น่ายินดีพอใจของ กิเลสทั้งหลายที่มีความยินดีพอใจในสภาพธรรมที่ไม่มีรูป อรูปวัตถุนี้จึงได้แก่ อรูปาวจรจิต ๑๒ เจตสิก ๓๐ เพราะสภาพของจิตเจตสิกเหล่านี้ ย่อมเป็นที่ยินดีพอใจของโลภะ ที่ เรียกว่า อรูปตัณหา หมายความว่า อรูปาวจรจิต ๑๒ เจตสิก ๓๐ เหล่านี้เป็นอารมณ์ สําหรับยึดหน่วงและผูกพันของบุคคลผู้ยินดีพอใจในอรูปฌาน และอรูปภพ [ความเกิดเป็นอรูปพรหม]

อรูปกิเลส หมายถึง กิเลสที่เกิดความยินดีพอใจในสภาพของอารมณ์ที่ไม่เกี่ยวเนื่อง ด้วยรูป เรียกว่า อรูปตัณหา ได้แก่ ความยินดีติดใจในอรูปฌาน อรูปภพ [ความเกิดเป็น อรูปพรหม]

อรูปาวจรจิตทั้ง ๑๒ ดวงนี้ นับเป็นปัญจมฌานจิตทั้งหมด เพราะอรูปฌานทั้งหมด นั้น ประกอบด้วยองค์ฌาน ๒ คือ อุเบกขา เอกัคคตา เหมือนกัน แต่ความแตกต่างกันขอ งอรูปาวจรจิตนี้ ต่างกันที่อารมณ์เท่านั้น มิใช่ต่างกันที่องค์ฌาน กล่าวคือ อากาสานัญจาย ตนฌานจิต ๓ มีอารมณ์เป็นกสินคฆาฏิมากาสบัญญัติ วิญญาณัญจายตนฌานจิต ๓ มี อารมณ์เป็นอากาสานัญจายตนนิมิต อากิญจัญญายตนฌานจิต ๓ มีอารมณ์เป็นนัตถิภาว บัญญัติ และเนวสัญญานาสัญญายตนฌานจิต ๓ มีอารมณ์เป็นอากิญจัญญายตนนิมิต

อากาสานัญจายตนฌาน หมายถึง ฌานจิตที่ยึดหน่วงเอาอากาศที่เลิกปฏิภาคนิมิต ของกสิณ ๔ อย่าง [เว้นอากาสกสิณ] มีปฐวีกสิณเป็นต้นออกหมดแล้วมาเป็นอารมณ์ หรือ ฌานจิตที่ยึดหน่วงเอาอากาศที่ว่างเปล่าซึ่งมีสภาพกว้างขวางหาที่สุดมิได้ในขอบเขตแห่งวงกสิณที่เลิกนิมิตของกสิณเดิมออกไปหมดแล้วมาเป็นอารมณ์ อุปมาเหมือนโรงพระอุโบสถหลังใหญ่ ซึ่งมีพระภิกษุสงฆ์มานั่งประชุมทําสังฆกรรมกันเต็มพื้นที่บริเวณภายในโรงพระ อุโบสถนั้น การเพิกปฏิภาคนิมิตของกสิณนั้น เปรียบเหมือนการให้ภิกษุสงฆ์ออกไปจาก บริเวณภายในโรงอุโบสถให้หมด เหลือแต่บริเวณภายในโรงพระอุโบสถที่ว่างเปล่า แล้วจึง หมายความว่า พระโยคี เพ่งอยู่ที่ความว่างเปล่าภายในขอบเขตของโรงพระอุโบสถนั้น บุคคลนั้นจึงทํามนสิการในใจนึกให้ภาพภิกษุสงฆ์เหล่านั้นหายไปจากจิตใจ ให้เห็นว่า ใน บริเวณภายในโรงพระอุโบสถนั้นไม่มีภิกษุเหลืออยู่เลยแม้แต่รูปเดียว มีแต่สภาพว่างเปล่า ไม่มีอะไรอยู่เลย แม้จะมีภิกษุนั่งกันอยู่เต็มไปหมดก็ตาม ก็ไม่ได้ใส่ใจในหมู่ภิกษุเหล่านั้น ใส่ ใจแต่เฉพาะความว่างเปล่าของขอบเขตบริเวณภายในโรงพระอุโบสถเท่านั้น ซึ่งตรงกับ สภาพที่พระโยคีบุคคลพยายามเพิกใจออกจากปฏิภาคนิมิตแห่งกสิณ ๔ อย่าง [เว้นอากา สกสิณ] อย่างใดอย่างหนึ่ง ให้เห็นว่า มีแต่อากาศที่ว่างเปล่าเวิ้งว้างหาที่สุดมิได้ในวงรอบ ขอบเขตแห่งดวงกสิณนั้น ๆ โดยมนสิการว่า ไม่มีปฏิภาคนิมิตแห่งกสิณนั้นอยู่อีกแล้ว โดย ภาวนาว่า “อากาโส อะนั้นโต ๆ หรือ อากาศไม่มีที่สิ้นสุด ๆ ” เช่นนี้เรื่อยไป จนกว่าอา กาสานัญจายตนฌานจะเกิดขึ้นยึดหน่วงเอาอากาศที่ว่างเปล่ากว้างขวางนั้นมาเป็นอารมณ์ ได้อย่างแนบแน่น

วิญญาณัญจายตนฌาน หมายถึง ฌานจิตที่ยึดหน่วงเอาอากาสานัญจายตนฌานจิต ที่ตนได้ ซึ่งดับไปแล้วมาเป็นอารมณ์ โดยภาวนาว่า “วิญญาณัง อะนันตัง ๆ หรือ วิญญาณ ไม่มีที่สิ้นสุด ๆ ” ดังนี้เรื่อยไป จนกว่าวิญญาณัญจายตนฌานจิตจะเกิดขึ้นพร้อมกับยึด หน่วงเอาอากาสานัญจายตนนิมิตนั้นมาเป็นอารมณ์ได้อย่างแนบแน่น หมายความว่า วิญญาณัญจายตนฌานจิตนี้ เป็นจิตที่ยึดหน่วงเอาจิตด้วยกันเองมาเป็นอารมณ์ เรียกว่า มี อารมณ์เป็นปรมัตถ์ แต่เป็นอดีตอารมณ์และเป็นอัชฌัตตอารมณ์ อย่างเดียว กล่าวคือ พระ โยคีบุคคลสามารถยึดเอาเฉพาะอากาสานัญจายตนฌานจิตที่ตนได้แล้วเท่านั้นมาเป็น อารมณ์ ไม่สามารถไปนึกหน่วงเอาฌานจิตของบุคคลอื่นมาเป็นอารมณ์ได้ อนึ่ง วิญญาณัญ จายตนฌานจิตนี้ ย่อมยึดหน่วงเอาความรู้สึกแห่งอากาสานัญจายตนฌานจิตซึ่งดับไปแล้ว มาเป็นอารมณ์ อุปมาเหมือนโรงพระอุโบสถหลังใหญ่ที่ว่างเปล่าอยู่นั้น บัดนี้ ได้ให้พระสงฆ์ เข้ามานั่งประชุมทําสังฆกรรมกันอยู่เต็มบริเวณภายในโรงพระอุโบสถนั้นอย่างเดิม พระโยคี บุคคลนั้นย่อมหันมาใส่ใจเพ่งอยู่เฉพาะภาพพระสงฆ์ที่นั่งประชุมกันอยู่เท่านั้น โดยมิได้ใส่ใจ เมื่อได้นึกให้ถึงขอบเขตบริเวณภายในของโรงพระอุโบสถนั้นเลย หรือพระโยคีบุคคลนั้น ภาพของพระสงฆ์ที่นั่งประชุมกันทําสังฆกรรมเต็มบริเวณพื้นที่ภายในโรงพระอุโบสถ เหล่านั้นให้หายไปจากจิตใจจนเห็นเหลืออยู่แต่ความว่างเปล่าแล้ว ต่อมาพระโยคีบุคคลนั้น กลับเปลี่ยนอารมณ์เสียใหม่ โดยการนึกให้ภาพพระสงฆ์มาปรากฏแทนที่สภาพที่ว่างเปล่า นั้นจนเต็มบริเวณภายในโรงพระอุโบสถเหมือนเดิม โดยไม่ใส่ใจถึงขอบเขตภายในโรงพระ อุโบสถนั้นอีกเลย ด้วยการภาวนาว่า “วิญญาณัง อะนันตัง ๆ หรือ วิญญาณไม่มีที่สิ้นสุด ๆ” ดังนี้เรื่อยไป จนกว่าวิญญาณัญจายตนฌานจิตจะเกิดขึ้นพร้อมกับยึดหน่วงเอาอากาสานัญจายตนนิมิตนั้นมาเป็นอารมณ์ได้อย่างแนบแน่น

อากิญจัญญายตนฌาน หมายถึง ฌานจิตที่ยึดหน่วงเอาสภาพความไม่มีอยู่แห่งอา กาสานัญจายตนนิมิตนั้นมาเป็นอารมณ์ หรือการมนสิการถึงความไม่มีอยู่แห่งอากาสานัญ จายตนนิมิตนั้นมาเป็นอารมณ์ โดยภาวนาว่า “นัตถิ กิญจิ ๆ หรือ นิดหนึ่งก็ไม่มี น้อยหนึ่ง ก็ไม่มี” ดังนี้เรื่อยไปจนกว่าอากิญจัญญายตนฌานจิตจะเกิดขึ้นพร้อมกับยึดหน่วงเอาความไม่มีอยู่แห่งอากาสานัญจายตนนิมิตนั้นมาเป็นอารมณ์ได้อย่างแนบแน่น หมายความว่า อา กิญจัญญายตนฌานจิตนี้ เป็นฌานจิตที่มีอารมณ์เป็นบัญญัติ เรียกว่า นัตถิภาวบัญญัติ กล่าวคือ พระโยคีบุคคลนั้นทําการนึกหน่วงเอาสภาพความไม่มีอยู่แห่งอากาสานัญจายตน นิมิตนั้นมาเป็นอารมณ์แทนที่อารมณ์ของวิญญาณัญจายตนฌานนั้น หรือนึกให้สภาพ ความรู้สึกแห่งอากาสานัญจายตนนิมิตนั้นให้หายไปจากจิตใจ แล้วหันมาใส่ใจถึงสภาพ ความไม่มีแห่งอากาสานัญจายตนนิมิตนั้นเหลืออยู่อีกแล้ว อุปมาเหมือนโรงพระอุโบสถหลัง ใหญ่ที่พระสงฆ์ประชุมทําสังฆกรรมกันอยู่นั้น บัดนี้พระสงฆ์ได้ออกไปกันหมดแล้ว ไม่มีเหลืออยู่แม้แต่รูปเดียว พระโยคีบุคคลจึงใส่ใจเพ่งอยู่ที่ความไม่มีแห่งพระสงฆ์นั้น เท่านั้น โดยไม่ใส่ใจในขอบเขตบริเวณภายในโรงพระอุโบสถนั้นเลย อีกนัยหนึ่ง แม้พระสงฆ์ จะยังคงนั่งประชุมกันอยู่เต็มบริเวณภายในโรงพระอุโบสถนั้นก็ตาม แต่พระโยคีบุคคลนั้น กลับกําหนดนึกให้เห็นว่า พระสงฆ์ไม่มีอยู่แล้ว ทั้งไม่ได้ใส่ใจในขอบเขตบริเวณภายในโรง พระอุโบสถนั้นด้วย กําหนดใส่ใจแต่เพียงความไม่มีอะไรอยู่เลยในบริเวณภายในโรงพระ อุโบสถนั้น ด้วยการภาวนาว่า “นัตถิ กิญจิ หรือ นิดหนึ่งก็ไม่มี น้อยหนึ่งก็ไม่มี ” ดังนี้ เรื่อยไปจนกว่าอากิญจัญญายตนฌานจิตจะเกิดขึ้นพร้อมกับยึดหน่วงเอาความไม่มีอยู่แห่ง อากาสานัญจายตนนิมิตนั้นมาเป็นอารมณ์ได้อย่างแนบแน่น

เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน หมายถึง ฌานจิตที่ยึดหน่วงเอาสภาพความประณีต ละเอียดอ่อนของอากิญจัญญายตนฌานที่ดับไปแล้วมาเป็นอารมณ์ โดยภาวนาว่า “เอตัง สันตัง เอตัง ปะณีตัง หรือ อากิญจัญญายตนฌานนี้ละเอียดหนอ อากิญจัญญายตนฌานนี้ ประณีตหนอ ” เช่นนี้เรื่อยไปจนกว่าเนวสัญญานาสัญญายตนฌานจิตนั้นจะปรากฏขึ้น พร้อมกับการยึดหน่วงเอาสภาพความประณีตและละเอียดอ่อนของอากิญจัญญายตนนิมิต นั้นมาเป็นอารมณ์ได้อย่างแนบแน่น หมายความว่า เนวสัญญานาสัญญายตนฌานจิตนี้ เป็นจิตที่ยึดหน่วงเอาจิตด้วยกันเองมาเป็นอารมณ์ เรียกว่า มีอารมณ์เป็นปรมัตถ์ แต่เป็น อดีตอารมณ์ และเป็นอัชฌัตตอารมณ์ อย่างเดียว กล่าวคือ พระโยคีบุคคลสามารถยึดเอา เฉพาะอากิญจัญญายตนฌานจิตที่ตนได้แล้วเท่านั้นมาเป็นอารมณ์ ไม่สามารถไปนึกหน่วง เอาฌานจิตของบุคคลอื่นมาเป็นอารมณ์ได้ เปรียบเหมือนพระโยคีบุคคลนั้นละจากการกําหนดเอาความไม่มีแห่งพระสงฆ์เหลืออยู่เลยในบริเวณภายในโรงพระอุโบสถนั้น แล้วหัน มากําหนดนักหน่วงเอาความรู้สึกที่ไปรับรู้ความไม่มีพระสงฆ์เหลืออยู่เลยซึ่งได้ดับไปแล้ว นั้นมาเป็นอารมณ์แทน หรือเปรียบเหมือนโรงพระอุโบสถนั้นได้ถูกรื้อถอนขนทัพสัมภาระ ทิ้งไปหมดแล้ว พระโยคีบุคคลนั้นย่อมกําหนดนักหน่วงเอาภาพของโรงพระอุโบสถที่เคยมี อยู่และภาพที่เคยมีพระสงฆ์มานั่งประชุมกันทําสังฆกรรมอยู่เต็มบริเวณภายในโรงพระ อุโบสถนั้น ซึ่งบัดนี้เหลืออยู่เพียงร่องรอยภาพในอดีต อันเป็นความทรงจําที่อยู่ภายในส่วน ลึกของจิตใจเท่านั้น ฉะนั้น อากิญจัญญายตนนิมิตนี้จึงปรากฏในความรู้สึกของพระโยคี บุคคลนั้นเป็นสภาพที่ประณีตและละเอียดอ่อน อันมีอยู่เพียงความรู้สึกลึก ๆ เท่านั้น โดย ภาวนาว่า “เอตัง สันตัง เอตัง ปะณีตัง ” แปลว่า “อากิญจัญญายตนนิมิตนี้ละเอียดหนอ อากิญจัญญายตนนิมิตนี้ประณีตหนอ” เช่นนี้เรื่อยไป จนจิตนั้นเข้าถึงสภาพที่ละเอียดอ่อน ไปตามสภาพของอารมณ์ที่ไปยึดหน่วงนั้นด้วย เมื่อเข้าถึงสภาพเช่นนั้น เนวสัญญานาสัญญายตนฌานจิตก็ปรากฏเกิดขึ้นพร้อมกับยึดหน่วงเอาอากิญจัญญายตนนิมิตนั้นมาเป็น อารมณ์ได้อย่างแนบแน่น อนึ่ง เนวสัญญานาสัญญายตนฌานจิตนี้ มีสภาพประณีตและ ละเอียดอ่อนจนถึงขั้นที่ว่า “จะว่ามีความรู้สึกอยู่ก็ไม่ใช่ จะว่าไม่มีความรู้สึกอยู่เลยก็ไม่ เชิง” ซึ่งมีเพียงความรู้สึกภายในลึก ๆ เท่านั้น แต่ไม่มีความรู้สึกปรากฏออกมาภายนอก เลย อุปมาเหมือนสามเณรเอาน้ํามันทาบาตรไว้เพื่อกันสนิม พระเถระเรียกเอาบาตรจาก สามเณรเพื่อใส่อาหาร สามเณรกราบเรียนว่า “บาตรติดน้ํามันอยู่ ขอรับ” พระเถระก็บอก ว่า “ยกเอามาเถิด เราจะเทไว้ในกระบอกน้ํามัน” สามเณรกราบเรียนว่า “น้ํามันนั้นทาติด กับบาตรไว้หมดแล้ว ไม่สามารถจะเทใส่กระบอกได้แล้ว ขอรับ” ดังนี้เป็นตัวอย่าง สภาพ ของเนวสัญญานาสัญญายตนฌานจิตนี้ ก็เช่นเดียวกัน ย่อมระงับสัญญาความรู้สึกที่หยาบ ๆ ได้หมดแล้ว เหลืออยู่แต่สัญญาความรู้สึกที่ละเอียดอ่อน มีความประณีตและมั่นคงอยู่ใน อารมณ์อย่างแนบแน่น ไม่มีความหวั่นไหวต่ออารมณ์ภายนอก หรือไม่มีความรู้สึก ตอบสนองต่ออารมณ์ภายนอกเลย ฉะนั้น เนวสัญญานาสัญญายตนฌานจิตนี้ จึงเป็น สภาพจิตที่มีกําลังสมาธิหนักแน่นมาก สามารถที่จะเป็นบาทแก่อภิญญา และเป็นฐานใน การเข้านิโรธสมาบัติ หรือสัญญาเวทยิตนิโรธได้ [สําหรับพระอนาคามีและพระอรหันต์]

อรูปาวจรกุศลจิต

อรูปฌานกุศลจิต หมายถึง ฌานจิตที่เกิดขึ้นโดยการเจริญสมถภาวนาต่อจากรูปาวจรปัญมฌานกุศลจิตจนถึงอรูปาวจรกุศลจิตเกิดขึ้นและเป็นไปพร้อมด้วยการปรุงแต่ งอรูปาวจรกุศลเจตนาไว้ให้ได้รับสมบัติความเป็นอรูปพรหมในอรูปภูมิในภพชาติหน้าและ ให้ได้เสวยสุขในอรูปฌานหรืออรูปสมาบัติในปัจจุบันภพนี้ด้วย ตราบเท่าระยะเวลาที่ฌาน นั้นยังไม่เสื่อม อรูปฌานกุศลจิตนี้ มี ๔ ดวง คือ

อรูปฌานกุศลจิต ดวงที่ ๑ อุเปกขาเอกัคคตาสติตัง อากาสานัญจายตนกุศลจิตตั้ง แปลความว่า อากาสานัญจายตนกุศลจิต ๑ ที่เกิดพร้อมด้วยองค์ฌาน ๒ คือ อุเบกขา เอกัคคตา เป็นฌานจิตที่เกิดขึ้นในขณะที่รูปาวจรปัญจมฌานลาภีบุคคลที่เป็นติเหตุกปุถุชน ก็ดี หรือที่เป็นพระเสกขบุคคลก็ดี ใช้รูปาวจรปัญจมฌานกุศลจิตเป็นบาทแล้วทําการเจริญ อากาสานัญจายตนฌานต่อไป โดยการเพ่งปฏิภาคนิมิตของกสิณบัญญัติอย่างใดอย่างหนึ่ง มีปฐวีกสิณเป็นต้น แล้วกําหนดเพิกปฏิภาคนิมิตของกสิณบัญญัติ [เว้นอากาสกสิณ] นั้น ออกไปเสียจากจิตใจ ให้เหลืออยู่แต่เพียงสภาพอากาศที่ว่างเปล่าในวงรอบขอบเขตแห่ง ปฏิภาคนิมิตของกสิณนั้น โดยภาวนาว่า “อากาโส อะนั้นโต ๆ แปลว่า อากาศไม่มีที่สุด” เรียกว่า กสิณคฆาฏิมากาสบัญญัติ เมื่อภาวนาเช่นนี้เรื่อยไป จนสภาพของกสิณคฆาฏิ มากาสนิมิตนั้นปรากฏเด่นชัดขึ้นในใจแล้ว เมื่อนั้น อากาสานัญจายตนกุศลจิตย่อมเกิดขึ้น พร้อมกับยึดหน่วงเอากสินุคฆาฏิมากาสนิมิตนั้นมาเป็นอารมณ์อย่างแนบแน่น หรือเกิดขึ้น ในขณะที่อากาสานัญจายตนฌานลาภีบุคคล ที่เป็นปุถุชนหรือพระเสกขบุคคลเข้า อากาสานัญจายตนฌานสมาบัติ

อรูปฌานกุศลจิต ดวงที่ ๒ อุเปกขาเอกัคคตาสติตัง วิญญาณัญจายตนกุศลจิตตั้ง แปลความว่า วิญญาณัญจายตนกุศลจิต ๑ ที่เกิดพร้อมด้วยองค์ฌาน ๒ คือ อุเบกขา เอกัคคตา เป็นฌานจิตที่เกิดขึ้นในขณะที่อากาสานัญจายตนฌานลาบุคคล ที่เป็นปุถุชน หรือพระเสกขบุคคล ใช้อากาสานัญจายตนกุศลจิตเป็นบาท แล้วทําการเจริญวิญญาณัญ จายตนฌานกุศลต่อไป โดยการนึกหน่วงเอาสภาพของอากาสานัญจายตนกุศลจิตที่ตนได้ มาแล้วนั้นมาเป็นอารมณ์ เรียกว่า อากาสานัญจายตนนิมิต หรือเรียกว่า วิญญาณานันต นิมิต แปลว่า นิมิตแห่งวิญญาณไม่มีที่สุด โดยภาวนาว่า “วิญญาณัง อนันตัง ๆ แปลว่า วิญญาณไม่มีที่สุด ๆ ” เมื่อภาวนาเช่นนี้เรื่อยไป จนสภาพของอากาสานัญจายตนนิมิตนั้น ปรากฏเด่นชัดอยู่ภายในใจแทนที่สภาพของกสิณคฆาฏิมากาสนิมิตแล้ว เมื่อนั้น วิญญาณัญ จายตนกุศลจิตย่อมปรากฏเกิดขึ้นพร้อมกับยึดหน่วงเอาสภาพของอากาสานัญจายตนนิมิต นั้นมาเป็นอารมณ์อย่างแนบแน่น หรือ เกิดขึ้นในขณะที่วิญญาณัญจายตนฌานลาภีบุคคล ที่เป็นปุถุชนหรือพระเสกขบุคคลเข้าวิญญาณัญจายตนฌานสมาบัติ

อรูปฌานกุศลจิต ดวงที่ ๓ อุเปกขาเอกัคคตาสติตัง อากิญจัญญายตนกุศลจิตตัง แปลความว่า อากิญจัญญายตนกุศลจิต ๑ ที่เกิดพร้อมด้วยองค์ฌาน ๒ คือ อุเบกขา เอกัคคตา เป็นฌานจิตที่เกิดขึ้นในขณะที่วิญญาณัญจายตนฌานลาภีบุคคลที่เป็นปุถุชน หรือพระเสกขบุคคลใช้วิญญาณัญจายตนฌานกุศลจิตที่ตนได้มาแล้วนั้นเป็นบาทแล้วทําการเจริญอากิญจัญญายตนฌานกุศลต่อไป โดยการกําหนดนึกให้สภาพของอากาสานัญจายตนฌานกุศลจิตที่ตนได้นึกหน่วงมาเป็นอารมณ์ของวิญญาณัญจายตนฌานนั้นให้หาย หมดสิ้นไปจากจิตใจ ไม่มีเหลืออยู่เลยแม้แต่น้อยหนึ่ง เรียกว่า นัตถิภาวบัญญัติ แปลว่า ความสมมติว่าไม่มีอะไรเหลืออยู่เลย โดยภาวนาว่า “นัตถิ กิญจิ ๆ แปลว่า น้อยหนึ่งก็ไม่มี นิดหนึ่งก็ไม่มี” เมื่อภาวนาเช่นนี้เรื่อยไป จนสภาพของอากาสานัญจายตนนิมิตนั้นหายไป จากจิตใจแล้ว และสภาพของนัตถิภาวบัญญัตินิมิตนั้นมาปรากฏเด่นชัดในใจแทนที่ เมื่อนั้น อากิญจัญญายตนกุศลจิตย่อมปรากฏเกิดขึ้นพร้อมกับยึดหน่วงเอานัตถิภาวบัญญัตินิมิตนั้น มาเป็นอารมณ์อย่างแนบแน่น หรือเกิดขึ้นในขณะที่อากิญจัญญายตนฌานลาภีบุคคล ที่เป็นปุถุชนหรือพระเสกขบุคคลเข้าอากิญจัญญายตนฌานสมาบัติ

อรูปฌานกุศลจิต ดวงที่ ๔ อุเปกขาเอกัคคตาสติตัง เนวสัญญานาสัญญา ยตนกุศลจิตตัง แปลความว่า เนวสัญญานาสัญญายตนกุศลจิต ๑ ที่เกิดพร้อมด้วยองค์ฌาน ๒ คือ อุเบกขา เอกัคคตา เป็นจิตที่เกิดขึ้นในขณะที่อากิญจัญญายตนฌานลาภีบุคคล ที่ เป็นปุถุชนหรือพระเสกขบุคคลใช้อากิญจัญญายตนฌานกุศลจิตที่ตนได้มาแล้วนั้นเป็นบาท แล้วทําการเจริญเนวสัญญานาสัญญายตนฌานกุศลต่อไป โดยการนึกหน่วงเอาสภาพของ อากิญจัญญายตนฌานกุศลจิตที่ดับไปแล้วนั้นมาเป็นอารมณ์ เรียกว่า อากิญจัญญายตน นิมิต แปลว่า นิมิตแห่งความรู้สึกที่ประณีตและละเอียดอ่อน หรือเรียกว่า เอตสันตนิมิต หรือ เอตปณีตนิมิต แปลว่า นิมิตแห่งความ รู้สึกอันละเอียดอ่อน หรือนิมิตแห่งความรู้สึก อันประณีตของอากิญจัญญายตนฌานกุศลจิตนั้น โดยการภาวนาว่า “เอตัง สันตัง เอตัง ปะณีตัง แปลว่า อากิญจัญญายตนกุศลจิตนี้ละเอียดอ่อนหนอ อากิญจัญญายตนกุศลจิตนี้ ประณีตหนอ” เมื่อภาวนาเช่นนี้เรื่อยไป จนสภาพของอากิญจัญญายตนนิมิตนั้นมาปรากฏ เด่นชัดในใจแทนที่สภาพของนัตถิภาวบัญญัตินิมิตแล้ว เมื่อนั้น เนวสัญญานาสัญญายตนกุศลจิตย่อมปรากฏเกิดขึ้นพร้อมกับยึดหน่วงเอาอากิญจัญญายตนนิมิตนั้นมาเป็นอารมณ์ อย่างแนบแน่น หรือเกิดขึ้นในขณะที่เนวสัญญานาสัญญายตนฌานลาภีบุคคลที่เป็นปุถุชน หรือพระเสกขบุคคลเข้าเนวสัญญานาสัญญายตนฌานสมาบัติ

อรูปาวจรวิบากจิต

อรูปาวจรวิบากจิต หมายถึง จิตที่เป็นผลของอรูปาวจรกุศลจิต กล่าวคือ อรูปาวจร กุศลจิตเป็นเหตุ อรูปาวจรวิบากจิตเป็นผล ให้ได้เสวยสมบัติความเป็นอรูปพรหม ในอรูป ภูมิ ๔ ตามฌานที่ตนเองได้ ซึ่งให้ผลเป็นปฏิสนธิ ภวังค์ และจุติ ในอรูปภูมิชั้นนั้น ๆ มี ๔ ดวง คือ

อรูปฌานวิบากจิต ดวงที่ ๑ อุเปกขาเอกัคคตาสติตัง อากาสานัญจายตน วิปากจิตตัง แปลความว่า อากาสานัญจายตนวิบากจิต ๑ ที่เกิดพร้อมด้วยองค์ฌาน ๒ คือ อุเบกขา เอกัคคตา เป็นจิตที่นําอากาสานัญจายตนฌานลาภีบุคคลที่เป็นปุถุชน หรือพระ เสกขบุคคล ๓ ให้เกิดในอากาสานัญจายตนภูมิ อันเป็นอรูปภูมิขั้นที่ ๑ โดยทําหน้าที่ ปฏิสนธิเป็นอากาสานัญจายตนพรหม ทําหน้าที่ภวังค์คือเป็นองค์แห่งภพของอากาสานัญ จายตนพรหม และทําหน้าที่จุติคือตายจากสภาพของอากาสานัญจายตนพรหมนั้น เมื่อหมดอายุขัยลงแล้ว อากาสานัญจายตนวิบากจิตนี้ มีอารมณ์เป็นกสินคฆาฏิมากาสบัญญัติ นิมิต เหมือนกันกับอากาสานัญจายตนกุศลจิตที่เป็นเหตุนั่นเอง

อรูปฌานวิบากจิต ดวงที่ ๒ อุเปกขาเอกัคคตาสติตัง วิญญาณัญจายตน วิปากจิตตัง แปลความว่า วิญญาณัญจายตนวิบากจิต ๑ ที่เกิดพร้อมด้วยองค์ฌาน ๒ คือ อุเบกขา เอกัคคตา เป็นจิตที่นําวิญญาณัญจายตนฌานลาภีบุคคลที่เป็นปุถุชน หรือพระ เสกขบุคคล ๓ ให้เกิดในวิญญาณัญจายตนภูมิ อันเป็นอรูปภูมิชั้นที่ ๒ โดยทําหน้าที่ปฏิสนธิ เป็นวิญญาณัญจายตนพรหม ทําหน้าที่ภวังค์คือเป็นองค์แห่งภพของวิญญาณัญจายตน พรหม และทําหน้าที่จุติคือตายจากสภาพของวิญญาณัญจายตนพรหมนั้นเมื่อหมดอายุขัย ลงแล้ว วิญญาณัญจายตนวิบากจิตนี้ มีอารมณ์เป็นวิญญาณานันตนิมิต ได้แก่ อากาสานัญ จายตนกุศลจิตนั่นเอง เหมือนกันกับวิญญาณัญจายตนกุศลจิตที่เป็นเหตุนั่นเอง

อรูปฌานวิบากจิต ดวงที่ ๓ อุเปกขาเอกัคคตาสติตัง อากิญจัญญายตนวิปากจิตตัง แปลความว่า อากิญจัญญายตนวิบากจิต ๑ ที่เกิดพร้อมด้วยองค์ฌาน ๒ คือ อุเบกขา เอกัคคตา เป็นจิตที่นําอากิญจัญญายตนฌานลาภีบุคคลที่เป็นปุถุชน หรือพระเสขบุคคล ๓ ให้เกิดในอากิญจัญญายตนภูมิ อันเป็นอรูปภูมิชั้นที่ ๓ โดยทําหน้าที่ปฏิสนธิเป็นอา กิญจัญญายตนพรหม ทําหน้าที่ภวังค์คือเป็นองค์แห่งภพของอากิญจัญญายตนพรหม และ ทําหน้าที่จุติคือตายจากสภาพของอากิญจัญญายตนพรหมนั้น เมื่อหมดอายุขัยลงแล้ว อา กิญจัญญายตนวิบากจิตนี้ มีอารมณ์เป็น กิญจัญญายตนกุศลจิตที่เป็นเหตุนั่นเอง นัตถิภาวบัญญัตินิมิต เหมือนกันกับอากิญจัญญายตนกุศลจิตที่เป็นเหตุนั่นเอง

อรูปฌานวิบากจิต ดวงที่ ๔ อุเปกขาเอกัคคตาสติตัง เนวสัญญานาสัญญา ยตนวิปากจิตตัง แปลความว่า เนวสัญญานาสัญญายตนวิบากจิต ๑ ที่เกิดพร้อมด้วยองค์ ฌาน ๒ คือ อุเบกขา เอกัคคตา เป็นจิตที่นําเนวสัญญานาสัญญายตนฌานลาภีบุคคลที่เป็น ปุถุชน หรือพระเสกขบุคคล ๓ ให้เกิดในเนวสัญญานาสัญญายตนภูมิ อันเป็นอรูปภูมิชั้นที่ ๔ โดยทําหน้าที่ปฏิสนธิเป็นเนวสัญญานาสัญญายตนพรหม ทําหน้าที่ภวังค์คือเป็นองค์แห่ง ภพของเนวสัญญานาสัญญายตนพรหม และทําหน้าที่จุติคือตายจากสภาพของเนวสัญญา นาสัญญายตนพรหมนั้น เมื่อหมดอายุขัยลงแล้ว เนวสัญญานาสัญญายตนวิบากจิตนี้ มี อารมณ์เป็นเอตสันตนิมิต หรือ เอตปณีตนิมิต คือ ความละเอียดอ่อนหรือความประณีตของอากิญจัญญายตนฌานกุศลจิต เหมือนกันกับเนวสัญญานาสัญญายตนกุศลจิตที่เป็น เหตุนั่นเอง

อรูปาวจรกิริยาจิต

อรูปาวจรกิริยาจิต หมายถึง จิตของพระอรหันต์ที่เข้าถึงอรูปฌานโดยนัยเดียวกัน กับอรูปาวจรกุศลจิตของปุถุชนและพระเสกขบุคคล ๓ ที่แสดงไปแล้ว ฉะนั้น จึงกล่าวได้ว่า อรูปาวจรกิริยาจิตนี้ ก็คือ อรูปาวจรกุศลจิต นั่นเอง แต่เกิดขึ้นในสันดานของพระอรหันต์ โดยเฉพาะเท่านั้น อนึ่ง พระอรหันต์นั้นท่านเป็นผู้ละบุญและบาปได้แล้ว ฉะนั้น ฌานของ จึงชื่อว่า ฌานกิริยา ด้วยเหตุนี้ วิธีการในการเจริญอรูปฌานกิริยาของพระอรหันต์นั้น ก็เป็นไปในทํานองเดียวกันกับการ เจริญอรูปฌานกุศลของปุถุชนและพระเสกขบุคคลดังกล่าวแล้ว คือ ท่านจึงไม่เป็นปัจจัยส่งผลให้ได้รับในภพชาติต่อไปอีก

อรูปฌานกิริยาจิต ดวงที่ ๑ อุเปกขาเอกัคคตาสติตัง อากาสานัญจายตนก็ริยจิตตัง แปลความว่า อากาสานัญจายตนกิริยาจิต ๑ ที่เกิดพร้อมด้วยองค์ฌาน ๒ คือ อุเบกขา เอกัคคตา เป็นฌานจิตที่เกิดขึ้นในขณะที่พระอรหันต์ผู้เป็นรูปาวจรปัญจมฌานลาภีบุคคล ใช้รูปาวจรปัญจมฌานกุศลจิต [สําหรับผู้ที่ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์หลังจากได้รูปาวจรปัญ จมฌาน หรือใช้รูปาวจรกิริยาจิต (สําหรับผู้ที่ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ก่อนได้รูปาวจรปัญ จมฌาน) เป็นบาทแล้วทําการเจริญอากาสานัญจายตนฌานกิริยาต่อไป โดยการเพ่ง ปฏิภาคนิมิตของกสิณบัญญัติอย่างใดอย่างหนึ่ง มีปฐวีกสิณเป็นต้น แล้วกําหนดเพิก ปฏิภาคนิมิตของกสิณบัญญัตินั้นออกไปเสียจากจิตใจ ให้เหลืออยู่แต่เพียงสภาพอากาศ ที่ว่างเปล่าในวงรอบขอบเขตแห่งปฏิภาคนิมิตของกสิณนั้น โดยภาวนาว่า “อากาโส อะนัน โต ๆ แปลว่า อากาศไม่มีที่สุด ” เรียกว่า กสินคฆาฏิมากาสบัญญัติ เมื่อภาวนาเช่นนี้ เรื่อยไป จนสภาพของกสิณคฆาฏิมากาสนิมิตนั้นปรากฏเด่นชัดขึ้นในใจแล้ว เมื่อนั้น อา กาสานัญจายตนกิริยาจิตย่อมเกิดขึ้นพร้อมกับยึดหน่วงเอากสิณคฆาฏิมากาสนิมิตนั้นมาเป็นอารมณ์อย่างแนบแน่น หรือเกิดขึ้นในขณะที่พระอรหันต์ที่เป็นอากาสานัญจายตนฌาน ลามีบุคคลเข้าอากาสานัญจายตนฌานสมาบัติ

อรูปฌานกุศลจิต ดวงที่ ๒ อุเปกขาเอกัคคตาสติตัง วิญญาณัญจายตนก็ริยจิตตัง แปลความว่า วิญญาณัญจายตนกิริยาจิต ๑ ที่เกิดพร้อมด้วยองค์ฌาน ๒ คือ อุเบกขา เอกัคคตา เป็นฌานจิตที่เกิดขึ้นในขณะที่พระอรหันต์ผู้เป็นอากาสานัญจายตนฌานลาภี บุคคลใช้อากาสานัญจายตนฌานกุศลจิต (สําหรับผู้ที่ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์หลังจากได้ อากาสานัญจายตนฌาน หรือใช้อากาสานัญจายตนกิริยาจิต [สําหรับผู้ที่ได้บรรลุเป็นพระ อรหันต์ก่อนได้อากาสานัญจายตนฌาน] แล้วทําการเจริญวิญญาณัญจายตนฌานกิริยา ต่อไป โดยการนึกหน่วงเอาสภาพของอากาสานัญจายตนฌานที่ตนได้มาแล้วนั้นมาเป็น อารมณ์ เรียกว่า อากาสานัญจายตนนิมิต หรือเรียกว่า วิญญาณานันตนิมิต แปลว่า นิมิต แห่งวิญญาณไม่มีที่สุด โดยภาวนาว่า “วิญญาณัง อนันตัง ๆ แปลว่า วิญญาณไม่มีที่สุด ๆ เมื่อภาวนาเช่นนี้เรื่อยไป จนสภาพของอากาสานัญจายตนนิมิตนั้นปรากฏเด่นชัดอยู่ภายใน ใจแทนที่สภาพของกสิณุคฆาฏิมากาสนิมิตแล้ว เมื่อนั้น วิญญาณัญจายตนกิริยาจิตย่อม ปรากฏเกิดขึ้นพร้อมกับยึดหน่วงเอาสภาพของอากาสานัญจายตนนิมิตนั้นมาเป็นอารมณ์ อย่างแนบแน่น หรือ เกิดขึ้นในขณะที่พระอรหันต์ผู้เป็นวิญญาณัญจายตนฌานลาภีบุคคล เข้าวิญญาณัญจายตนฌานสมาบัติ

อรูปฌานกุศลจิต ดวงที่ ๓ อุเปกขาเอกัคคตาสหิตัง อากิญจัญญายตนก็ริยจิตตัง แปลความว่า อากิญจัญญายตนกิริยาจิต ๑ ที่เกิดพร้อมด้วยองค์ฌาน ๒ คือ อุเบกขา เอกัคคตา เป็นฌานจิตที่เกิดขึ้นในขณะที่พระอรหันต์ผู้เป็นวิญญาณัญจายตนฌานลา บุคคลใช้วิญญาณัญจายตนกุศลจิต (สําหรับผู้ที่ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์หลังจากได้ วิญญาณัญจายตนฌาน หรือใช้วิญญาณัญจายตนกิริยาจิต (สําหรับผู้ที่ได้บรรลุเป็นพระ อรหันต์ก่อนได้วิญญาณัญจายตนฌาน) ที่ตนได้มาแล้วนั้นเป็นบาทแล้วทําการเจริญอา กิญจัญญายตนฌานกิริยาต่อไป โดยการกําหนดนึกให้สภาพของอากาสานัญจายตนฌานที่ ตนได้นึกหน่วงมาเป็นอารมณ์ของวิญญาณัญจายตนฌานนั้นให้หายหมดสิ้นไปจากจิตใจ ไม่ มีเหลืออยู่เลยแม้แต่น้อยหนึ่ง เรียกว่า นัตถิภาวบัญญัติ แปลว่า ความสมมติว่าไม่มีอะไร เหลืออยู่เลย โดยภาวนาว่า “นัตถิ กิญจิ ๆ แปลว่า น้อยหนึ่งก็ไม่มี นิดหนึ่งก็ไม่มี ” เมื่อ ภาวนาเช่นนี้เรื่อยไป จนสภาพของอากาสานัญจายตนนิมิตนั้นหายไปจากจิตใจแล้ว และ สภาพของนัตถิภาวบัญญัตินิมิตนั้นมาปรากฏเด่นชัดในใจแทนที่ เมื่อนั้น อากิญจัญญา ยตนกิริยาจิตย่อมปรากฏเกิดขึ้นพร้อมกับยึดหน่วงเอานัตถิภาวบัญญัตินิมิตนั้นมาเป็น อารมณ์อย่างแนบแน่น หรือเกิดขึ้นในขณะที่พระอรหันต์ผู้เป็นอากิญจัญญายตนฌานลาภ บุคคลเข้าอากิญจัญญายตนฌานสมาบัติ

อรูปฌานกุศลจิต ดวงที่ ๔ อุเปกขาเอกัคคตาสติตัง เนวสัญญานาสัญญา ยตนก็ริยจิตตัง แปลความว่า เนวสัญญานาสัญญายตนกิริยาจิต ๑ ที่เกิดพร้อมด้วยองค์ ฌาน ๒ คือ อุเบกขา เอกัคคตา เป็นฌานจิตที่เกิดขึ้นในขณะที่พระอรหันต์ผู้เป็นอา กิญจัญญายตนฌานลาภีบุคคลใช้อากิญจัญญายตนกุศลจิต [สําหรับผู้ที่ได้บรรลุเป็นพระ อรหันต์หลังจากได้อากิญจัญญายตนฌาน] หรือใช้อากิญจัญญายตนกิริยาจิต [สําหรับผู้ที่ได้ บรรลุเป็นพระอรหันต์ก่อนได้อากิญจัญญายตนฌาน] ที่ตนได้มาแล้วนั้นเป็นบาท แล้วทําการเจริญเนวสัญญานาสัญญายตนฌานกิริยาต่อไป โดยการนึกหน่วงเอาสภาพของอา กิญจัญญายตนฌานที่ดับไปแล้วนั้นมาเป็นอารมณ์ เรียกว่า อากิญจัญญายตนนิมิต แปลว่า นิมิตแห่งความรู้สึกที่ประณีตและละเอียดอ่อน หรือเรียกว่า เอตสันตนิมิต หรือ เอตปณีต นิมิต แปลว่า นิมิตแห่งความ รู้สึกอันละเอียดอ่อน หรือนิมิตแห่งความรู้สึกอันประณีตของ อากิญจัญญายตนฌานนั้น โดยการภาวนาว่า “เอตัง สันตัง เอตัง ปะณีตัง แปลว่า อา กิญจัญญายตนฌานนี้ละเอียดอ่อนหนอ อากิญจัญญายตนฌานนี้ประณีตหนอ ” เมื่อ ภาวนาเช่นนี้เรื่อยไป จนสภาพของอากิญจัญญายตนนิมิตนั้นมาปรากฏเด่นชัดในใจแทนที่ สภาพของนัตถิภาวบัญญัตินิมิตแล้ว เมื่อนั้น เนวสัญญานาสัญญายตนกิริยาจิตย่อมปรากฏ เกิดขึ้นพร้อมกับยึดหน่วงเอาอากิญจัญญายตนนิมิตนั้นมาเป็นอารมณ์อย่างแนบแน่น หรือ เกิดขึ้นในขณะที่พระอรหันต์ผู้เป็นเนวสัญญานาสัญญายตนฌานลาภีบุคคลเข้าเนวสัญญานาสัญญายตนฌานสมาบัติ

อนึ่ง ความแตกต่างกันระหว่างสภาพจิตของพระอรหันต์กับปุถุชนนั้น คือ พระ อรหันต์นั้นมีสภาพจิตที่บริสุทธิ์หมดจดจากอาสวกิเลสโดยสิ้นเชิงแล้ว ฉะนั้น อันตรายแห่ง ฌาน กล่าวคือ กิเลสที่จะประทุษร้ายให้ฌานเสื่อมนั้นจึงไม่มี จะมีก็แต่ว่า พระอรหันต์นั้น ท่านละเลิกจากการรักษาฌานสมาบัติ โดยการไม่หมั่นเข้าฌานสมาบัติหรือไม่ฝึกฝนให้เป็น วสีทั้ง ๕ เท่านั้นเอง ฌานนั้น ก็จะเสื่อมไปเอง ส่วนสภาพจิตของพระเสกขบุคคล ๓ นั้น ย่อมมีความแตกต่างจากสภาพจิตของพระอรหันต์ ในเรื่องความประณีต ความ ละเอียดอ่อน และความบริสุทธิ์หมดจด แตกต่างกันออกไปบ้าง ตามสมควรแก่บุคคลนั้น ๆ ว่าจะมีอนุสัยกิเลสเหลืออยู่มากหรือน้อยเท่านั้น

มหัคคตจิต

มหัคคตจิต หมายถึง จิตที่เข้าถึงความเป็นใหญ่และประเสริฐ ดังในอัฏฐสาลินีอรรถ กถาแสดงวจนัตถะไว้ว่า “มะหันตะภาวัง คะตาติ = มะหัคคะตัง” (วา] “มะหันตัง คะโตติ - มะหัคคะโต” แปลความว่า ธรรมชาติที่เข้าถึงความเป็นใหญ่ ชื่อว่า มหัคคตะ หรือ จิตที่ เข้าถึงความเป็นใหญ่ ชื่อว่า มหัคคตจิต มี ๒๗ คือ รูปาวจรจิต ๑๕ อรูปาวจรจิต ๑๒

ความหมายของมหัคคตจิต
จิตที่เข้าถึงความเป็นใหญ่นั้น หมายถึง จิตที่มีกําลังแก่กล้าสามารถกระทําให้สําเร็จ กิจต่าง ๆ ได้ ดังนี้

๑. ข่มกิเลสนิวรณ์โดยวิกขัมภนปหาน หมายความว่า มหัคคตกุศลจิตนั้น สามารถ ข่มกิเลสนิวรณ์ไว้ได้นานตราบเท่าที่กําลังฌานนั้นยังมีอยู่ ที่เรียกว่า วิกขัมภนปหาน หรือม หัคคตวิบากจิตนั้นสามารถทําให้เป็นผู้ปราศจากกิเลสนิวรณ์ กล่าวคือ ผู้ที่เกิดเป็นพรหม ทั้งหลาย ย่อมไม่มีกิเลสนิวรณ์รบกวนจิตใจให้เกิดความเดือดร้อนใด ๆ เลย ย่อมเป็นผู้สงบ เย็นใจ มีความสุขอยู่ด้วยพรหมวิหารธรรมตลอดอายุขัยที่เกิดเป็นพรหมนั้น

๒. ย่อมให้ผลอันไพบูลย์ หมายความว่า มหัคคตกุศลจิตและมหัคคตกิริยาจิตนั้น ย่อมให้ผลอันไพบูลย์ กล่าวคือ ให้ได้เสวยความสุขในปัจจุบันภพอยู่ด้วยพรหมวิหารธรรม และกําลังฌานสมาบัติ ย่อมไม่มีความเดือดร้อนกายใจ และมหัคคตกุศลจิตนั้นย่อมส่งผล เป็นมหัคคตวิบากจิตนําให้เกิดในพรหมโลก ให้ได้เสวยทิพยสมบัติในพรหมโลก อนึ่ง สมบัติ ในพรหมโลกนั้น ย่อมมีความประณีตและยิ่งใหญ่กว่าสมบัติในมนุษย์โลก และเทวโลก หลายเท่านัก ยิ่งใหญ่กว่าสมบัติแห่งพระราชามหาจักรพรรดิหลายเท่า ทั้งอายุขัยของ พรหมทั้งหลาย ก็ยืนยาวนานกว่าในมนุษยโลกและเทวโลกอีกหลายเท่า ตามลําดับชั้นที่ สูงขึ้นไป โดยเฉพาะชั้นเนวสัญญานาสัญญายตนภูมิ ซึ่งเป็นภูมิที่สูงที่สุดในสังสารวัฏฏนั้น มีอายุขัยถึง ๘๔,๐๐๐ มหากัปป์ ถ้านับเวลาเป็นปีในมนุษย์โลกนั้น ก็ยากที่จะนับให้ถ้วนได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนแต่อาศัยมหัคคตปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นทั้งสิ้น

๓. เป็นเหตุให้ชวนจิตแล่นไปได้ไม่มีกําหนด หมายความว่า มหัคคตชวนจิตนั้น มี การเกิดขึ้นสืบเนื่องกันไปได้เป็นเวลานานเป็นพิเศษ ซึ่งได้แก่ ชวนจิตในฌานสมาบัติ ในขณะที่ฌานลาภีบุคคลเข้าฌานสมาบัตินั้น มหัคคตชวนจิตย่อมเกิดขึ้นติดต่อกันไปไม่ขาด สาย ตราบเท่าที่ยังอยู่ในฌานสมาบัตินั้น อาจใช้เวลาเป็นชั่วโมง เป็นวัน หรือหลายวันก็ได้

จิตที่เข้าถึงความประเสริฐนั้น หมายถึง จิตที่ใช้เป็นบาทฐานให้เกิดคุณวิเศษต่าง ๆ มีอภิญญา สมาบัติ วิชชา ญาณ เป็นต้น หมายความว่า มหัคคตกุศลจิตและมหัคคตกิริยา จิตนั้น เมื่อฌานลาภีบุคคลฝึกฝนให้ชํานาญดีแล้ว ย่อมเป็นบาทให้เกิดอภิญญา สมาบัติ วิชชา ญาณต่างๆ กล่าวคือ

๑. อภิญญา หมายถึง ความรู้พิเศษต่าง ๆ ได้แก่ ระลึกชาติปางก่อนได้ มีหูทิพย์ ตา ทิพย์ แสดงฤทธิ์เดชต่าง ๆ ได้ รู้วาระจิตของบุคคลอื่นได้ รู้การตายการเกิดของสัตว์ ทั้งหลายได้ เป็นต้น ตามสมควรแก่กําลังแห่งอภิญญาของแต่ละบุคคล

๒. วิชชา หมายถึง ความรู้แจ้งชัดในสิ่งทั้งปวง เช่น รู้ความเป็นไปในอดีตชาติของตน และของบุคคลอื่น รู้เห็นสิ่งต่าง ๆ ด้วยตาทิพย์ หูทิพย์ เป็นต้น ตามสมควรแก่กําลังแห่ง วิชชาของแต่ละบุคคล

๓. สมาบัติ หมายถึง การเข้าอยู่ ได้แก่ การเข้าอยู่ในฌาน เรียกว่า ฌานสมาบัติ การเข้าอยู่ในผล เรียกว่า ผลสมาบัติ การเข้าไปดับจิตเจตสิก เรียกว่า นิโรธสมาบัติ ตาม สมควรแก่คุณวิเศษที่ตนได้ ซึ่งล้วนแต่มีมหัคคตจิตเป็นบาทฐานทั้งสิ้น

๔. วิปัสสนาญาณ หมายถึง ความรู้แจ้งรูปนามตามความเป็นจริงโดยความเป็นไตร ลักษณ์ สามารถใช้ฌานกุศลเป็นบาทเจริญวิปัสสนาให้วิปัสสนาญาณเกิดขึ้นได้ตามลําดับ ตั้งแต่นามรูปปริจเฉทญาณจนถึงมรรคญาณผลญาณเกิดขึ้น

โลกุตตรจิต

โลกุตตรจิต หมายถึง จิตที่มีอารมณ์เหนือโลกหรือเหนือสภาวธรรมที่มีอยู่ในโลกทั้ง ๓ คือ กามโลก รูปโลก อรูปโลก หรือเป็นจิตที่มีความสามารถรับอารมณ์พิเศษที่เหนือโลก ได้แก่ พระนิพพาน โลกุตตรจิตโดยย่อ มี ๔ คือ มรรคจิต ๔ ผลจิต ๔ เมื่อว่าโดยพิสดารมี ๔๐ นับตามฌานที่ใช้เป็นบาทในการเจริญวิปัสสนาจนมรรคจิตนั้นเกิดขึ้น คือ มรรคจิต ๒๐ ผลจิต ๒๐ ดังที่ท่านพระอนุรุทธาจารย์เถระเจ้าได้แสดงคาถาสังคหะไว้ดังนี้

จะตุมัคคัปปะเภเทนะ จะตุธา กุสะลัง ตะถา ปากัง ตัสสะ ผะลัตตาติ อัฎฐะธานุตตะรัง มะตัง ฯ

ฌานังคะโยคะเภเทนะ กะเต๎วเกกันตุ ปัญจะธา วุจจะตานุตตะรัง จิตตัง จัตตาฬีสะวิธันติ จะ ฯ


แปลความว่า
๑. นักศีกษาทั้งหลายพึงทราบโลกุตตรจิตโดยย่อว่ามี ๘ คือ กุศลจิตว่าโดยประเภท แห่งมรรคมี ๔ วิบากจิตก็มี ๔ เพราะเป็นผลของมรรคทั้ง ๔
๒.โลกุตตรจิต ๘ เมื่อแสดงโดยพิสดารแล้ว มีถึง ๔๐ นั้น เพราะเมื่อว่าโดยประเภท แห่งการประกอบขององค์ฌานแล้ว โลกุตตรจิตดวงหนึ่ง ๆ ย่อมมี ๕ ฉะนั้น โลกุตตรจิต ๘ จีงเป็น ๔๐ ดวง

คาถานี้ เป็นการแสดงการนับโลกุตตรจิตโดยย่อและโดยพิสดาร คือ การที่นับโล กุตตรจิตโดยย่อเป็น ๔ ดวงนั้น เพราะนับโดยการเกิดขึ้นของมรรคและผลแบบธรรมดาของ สุกขวิปัสสกบุคคล โดยไม่มีองค์ฌานเข้ามาเป็นตัวจําแนก เรียกว่า นับโดยองค์มรรค จึงได้ ๘ ดวง แต่ที่นับโดยพิสดารได้ ๔๐ ดวงนั้น เพราะเป็นมรรคจิตผลจิตที่มีองค์ฌานเข้ามาเป็น ตัวจําแนก คือ เกิดพร้อมด้วยองค์ฌานของผู้ที่เป็นฌานลาภีบุคคลซึ่งใช้ฌานนั้น ๆ เป็น บาทแล้วเจริญวิปัสสนาจนได้บรรลุมรรคผล จึงเรียกมรรคผลนั้น ๆ ตามฌานที่ใช้เป็นบาท นั่นเอง เช่น ปฐมฌานโสดาปัตติมรรค ปฐมฌานโสดาปัตติผล เป็นต้น ฉะนั้น มรรคจิตผล จิตดวงหนึ่ง ๆ จึงจําแนกไปตามอํานาจแห่งฌานจิต ๕ มีปฐมฌาน เป็นต้น จึงเป็นโลกุตต รจิตโดยพิสดาร ๔๐ ดวง เรียกว่า นับโดยองค์ฌาน ได้แก่ ปฐมฌานจิต ๘ ทุติยฌานจิต ๘ ตติยฌานจิต ๔ จตุตถฌานจิต ๘ และปัญจมฌานจิต ๘ รวมเป็น ๔๐ ดวง

โลก มี ๓ ความหมาย

๑. สังขารโลก หมายถึง สภาพที่ประชุมปรุงแต่งสิ่งต่าง ๆ ให้เกิดขึ้น ที่มีอยู่ในโลก ทั้ง ๓ คือ กามโลก รูปโลก อรูปโลก ได้แก่ ธาตุดิน ธาตุน้ํา ธาตุลม ธาตุไฟ อากาศธาตุ วิญญาณธาตุ และธัมมธาตุ หรือวัตถุสิ่งของที่เกิดขึ้นจากการประชุมปรุงแต่งของปัจจัยต่าง ๆ ได้แก่ สัตว์ วัตถุสิ่งของ ต้นไม้ ภูเขา รถ เรือ บ้านเรือน เป็นต้น ๒. โอกาสโลก หมายถึง โลกอันเป็นที่อาศัยอยู่ของหมู่สัตว์ มี ๓ อย่าง คือ กามโลก รูปโลก อรูปโลก รวมทั้งแผ่นดิน ภูเขา ท้องฟ้า มหาสมุทร เป็นต้น อันเป็นส่วนหนึ่งของสังขารโลกด้วย ๓. สัตวโลก หมายถึง โลกคือหมู่สัตว์อันอาศัยอยู่ในโอกาสโลก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสังขารโลกด้วยเช่นเดียวกัน

อารมณ์ของโลกุตตรจิต

โลกุตตรจิต เป็นจิตที่รับอารมณ์ที่พ้นจากโลกทั้ง ๓ คือ กามโลก รูปโลก อรูปโลก ดังกล่าวแล้ว ซึ่งได้แก่ นิพพานอารมณ์ นั่นเอง เพราะพระนิพพานนั้น มีสภาพที่พ้นไปจาก โลกทั้ง ๓ หรือมีสภาพที่นอกเหนือจากสภาพของโลกทั้ง ๓ นั้น หมายความว่า สิ่งที่โลกทั้ง 1 นี้มีอยู่ สภาพของพระนิพพานไม่มีอย่างนั้น เนื่องจากพระนิพพานนั้นมีสภาพเป็น ๓ ประการ คือ

๑. สุญญตะ หมายความว่า พระนิพพานนั้นมีสภาพที่ว่างเปล่าจากความ หมาย แห่งความเป็นตัวตนหรือวัตถุสิ่งของ นิพพานนั้นไม่เข้าถึงการนับสงเคราะห์เข้าในขันธ์ ๕ เพราะพระนิพพานนั้นไม่มีความเป็นไปในกาลทั้ง ๓ คือ อดีต อนาคต ปัจจุบัน เป็นแต่กาล วิมุตติ [พ้นจากกาลทั้ง ๓] อย่างเดียว นิพพานเป็นสภาพที่มีอยู่ภายนอกจากสัตว์ บุคคล สิ่งของ เป็นธรรมชาติที่มีความละเอียดประณีตโดยส่วนเดียว ทั้งเป็นธรรมชาติอยู่ไกลจาก ความเป็นกิเลสและขันธ์ ๕ กล่าวคือ ไม่จัดเข้าในขันธ์ ๕ อันเป็นอารมณ์ของกิเลสทั้งหลาย ที่จะไปเกาะเกี่ยวอยู่แต่ประการใด

๒. อนิมิตตะ หมายความว่า พระนิพพานนั้น เป็นธรรมชาติที่ไม่มีนิมิตเครื่องหมาย ไม่มีรูปร่างสัณฐาน ไม่มีสีสันวรรณะ ไม่สามารถกระทบสัมผัสรับรู้ได้โดยประสาทสัมผัสทั้ง ๕ กล่าวคือ ไม่สามารถเห็นนิพพานทางตาได้ ไม่สามารถได้ยินนิพพานทางหูได้ ไม่สามารถ ดมกลิ่นนิพพานทางจมูกได้ ไม่สามารถลิ้มรสนิพพานทางลิ้นได้ และไม่สามารถกระทบ สัมผัสนิพพานทางกายได้ หรือแม้แต่จะคิดคาดคะเนเอาว่า นิพพานมีลักษณะอย่างนั้น อย่างนี้ มีขนาดเท่านั้นเท่านี้ เป็นต้นก็ไม่ได้เช่นเดียวกัน เพราะพระนิพพานนั้นเป็นแต่เพียง สภาวะอันสงบประณีตละเอียดอ่อน ซึ่งจะเข้าถึงได้หรือรับรู้ได้โดยทางมโนวิญญาณอันอาศัยมโนทวารอย่างเดียวด้วยการเจริญวิปัสสนากรรมฐานจนถึงโคตรภูญาณ และมรรคญาณ ผลญาณเกิดขึ้นเท่านั้น จึงจะสามารถรับรู้สภาวะของพระนิพพานได้

๓. อัปปณิหิตะ หมายความว่า พระนิพพานนั้น เป็นธรรมชาติที่อิสระไม่ถูกปรุงแต่ง ด้วยปัจจัยใด ๆ ทั้งไม่เป็นอารมณ์ของกิเลสตัณหาทั้งปวง เพราะกิเลสตัณหาทั้งหลาย ไม่ สามารถเข้าไปยึดหน่วงพระนิพพานนั้นมาเป็นอารมณ์ได้และไม่สามารถประทุษร้ายพระ นิพพานนั้นให้เกิดความเศร้าหมองได้ แต่กิเลสตัณหาทั้งปวงนั้น เมื่อบุคคลเข้าถึงพระ นิพพานแล้ว ย่อมถูกกําจัดให้สูญสิ้นไปโดยเด็ดขาดเป็นสมุจเฉทปหาน ด้วยเหตุนี้ พระ นิพพานจึงเป็นปฏิปักษ์ต่อกิเลสตัณหาทั้งปวงโดยสิ้นเชิง ฉะนั้น นิพพานจึงเป็นธรรมชาติที่ มีสภาพพ้นจากการปรุงแต่งด้วยปัจจัยต่าง ๆ และพระนิพพานนั้นไม่ใช่เป็นสภาพที่จะไป ปรุงแต่งสิ่งใด ๆ ให้เกิดขึ้นแต่อย่างใด จึงมีสภาพคงที่ ไม่มีการเกิด ไม่มีการเปลี่ยนแปลง และไม่มีการดับ ซึ่งต่างจากจิต เจตสิกและรูป ซึ่งมีสภาพความเป็นไตรลักษณ์ครบทั้ง ๓ ส่วนนิพพานนั้นมีสภาพเป็นนิจจังคือเที่ยง สุขังคือเป็นบรมสุข แต่มีสภาพเป็นอนัตตา เพราะพระนิพพานนั้นไม่มีรูปร่างสัณฐานไม่มีสีสันวรรณะ ที่จะสามารถรับรู้ได้โดยประสาท สัมผัสทั้ง ๕ หรือแม้แต่จะคิดคาดคะเนเอาว่า มีลักษณะสัณฐานอย่างนั้นอย่างนี้ก็ไม่ได้เช่นเดียวกัน

โลกุตตรจิต มี ๒ ประเภท คือ โกลตตรกุศลจิต หรือ มรรคจิต อย่างหนึ่ง โลกุตตร วิบากจิต หรือ ผลจิต อีกอย่าหนึ่ง

โลกุตตรกุศล หรือ มรรคจิต
โลกุตตรกุศล มีความหมาย เป็น ๔ นัย คือ

๑. โลกุตตรกุศล หมายความว่า เป็นกุศลที่ทําให้ข้ามพ้นจากวัฏฏะ กล่าวคือ การ หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในโลกทั้ง ๓ ได้แก่ กามโลก รูปโลก อรูปโลก เรียกว่า วิวัฏฏคามินีกุศล แปลว่า กุศลที่ทําให้พ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏสงสาร หรือ เรียกว่า อปจยคามินีกุศล แปลว่า กุศลที่ทําให้หลุดพ้นจากจุติและปฏิสนธิในภพภูมิ ทั้งหลาย
๒. โลกุตตรกุศล หมายความว่า เป็นกุศลที่ทําให้ข้ามพ้นจากความเป็นปุถุชนสู่ ความเป็นพระอริยบุคคลและจากความเป็นพระอริยบุคคลเบื้องต่ําสู่ความเป็นพระ อริยบุคคลเบื้องสูงตามลําดับ จนถึงความเป็นพระอรหันต์ในที่สุด
๓. โลกุตตรกุศล หมายความว่า เป็นกุศลจิตที่เกิดขึ้นรับรู้โลกุตตรอารมณ์ คือ พระนิพพานโดยส่วนเดียว
๔. โลกุตตรกุศล หมายความว่า เป็นกุศลที่มีอํานาจเหนือโลกยกุศลทั้งปวง กล่าวคือ เป็นกุศลที่สามารถประหาณอนุสัยกิเลสได้เป็นสมุจเฉทปหาน ด้วยการทําลาย
รากเหง้าแห่งอกุศลมูลทั้งปวงโดยสิ้นเชิง [ยกเว้นสกิทาคามิมรรคที่ประหาณอนุสัยกิเลสได้ เพียงการทําให้เบาบางลง เรียกว่า ตนุกรปหาน เท่านั้น]

โลกุตตรวิบาก หรือ ผลจิต

โลกุตตรวิบาก หรือ ผลจิต หมายถึง จิตที่เป็นผลของโลกุตตรกุศลจิตหรือมรรคจิต ซึ่งเกิดขึ้นติดต่อกันกับมรรคจิต เมื่อมรรคจิตดับลงแล้ว ผลจิตก็เกิดขึ้นทันที โดยไม่มีจิตดวง อื่นมาเกิดคั่นระหว่างเลยในมัคควิถีนั้น ฉะนั้น ผลจิตนี้ จึงเรียกว่า อกาลิกธรรม หรือ อกาลิ โก แปลว่า เป็นผลธรรมที่ไม่ต้องรอกาลเวลาและทําให้บุคคลสําเร็จเป็นพระอริยบุคคลชั้น นั้น ๆ อย่างสมบูรณ์ หรือเป็นจิตที่เกิดขึ้นในขณะที่พระอริยบุคคลนั้น ๆ เข้าผลสมาบัติ ใน ผลที่ตนเองได้ถึงแล้วในปัจจุบันนั้น

โลกุตตรจิต มี ๒ นัย

๑. . โลกุตตรจิตโดยย่อ เป็นการนับตามองค์มรรค คือ มรรคจิต ผลจิต แบบธรรมดา ของสุกขวิปัสสกบุคคล มี ๘ ดวง เรียกว่า โลกุตตรจิตโดยองค์มรรค
๒. โลกุตตรจิตโดยพิสดาร เป็นการนับตามองค์ฌานที่ใช้เป็นบาทในการเจริญ วิปัสสนาของฌานลาภีบุคคล จนได้บรรลุโลกุตตรจิตแล้ว มี ๔๐ ดวง เรียกว่า โลกุตตรจิต โดยองค์ฌาน

โลกุตตรจิตโดยย่อ

โลกุตตรจิตโดยย่อ เป็นการนับตามองค์มรรค คือ มรรคจิต ผลจิต แบบธรรมดา ของสุกขวิปัสสกบุคคล มี ๘ ดวง คือ มรรคจิต ๔ ผลจิต ๔

มรรคจิต ๔

มรรคจิต ๔ เป็นการนับตามอํานาจแห่งมรรคที่พระโยคีบุคคลนั้นเจริญวิปัสสนาอย่างเดียวจนได้บรรลุมรรคนั้นแบบธรรมดาไม่มีฌานเกิดร่วมด้วย เรียกว่า สุกขวิปัสสก แปลว่า ผู้เห็นแจ้งแบบแห้งแล้ง ฉะนั้น มรรคจิตแต่ละชั้นนั้น จึงมีเพียงดวงเดียวตามลําดับแห่งมรรค คือ โสดาปัตติมรรคจิต ๑ สกิทาคามิมรรคจิต ๑ อนาคามิมรรคจิต ๑ อรหัตตมรรคจิต ๑ รวมเป็นมรรคจิต ๔ ดวง ดังนี้

มรรคจิต ดวงที่ ๑ โสตาปัตติมัคคจิตตัง แปลความว่า จิตที่เข้าถึงกระแสแห่ง พระนิพพานเป็นครั้งแรก หมายความว่า โสดาปัตติมรรคจิตนี้เกิดขึ้นในขณะที่ โสดาปัตติมรรคญาณของติเหตุกบุคคลที่ได้มรรคเป็นครั้งแรกในสังสารวัฏฏ์นี้ เป็นจิตที่ เกิดขึ้นในมัคควิถี ซึ่งเกิดขึ้นเพียง ๑ ขณะเท่านั้นแล้วก็ดับลง ทําให้บุคคลนั้น เปลี่ยนจาก สภาพความเป็นปุถุชนไปเป็นพระอริยบุคคล นอกจากนี้แล้ว โสดาปัตติมรรคจิตนี้ยังทําการ ประหาณอนุสัยกิเลส ๒ อย่าง ได้แก่ ทิฏฐานุสัย ความเห็นผิด และ วิจิกิจฉานุสัย ความ ลังเลสงสัยให้หมดสิ้นไปจากขันธสันดาน เรียกว่า สมุจเฉทปหาน และทําอนุสัยกิเลสที่ เหลืออีก ๕ อย่าง คือ กามราคานุสัย ภวราคานุสัย ปฏิฆานุสัย มานานุสัย และอวิชชา นุสัย ที่เป็นชนิดอปายคามินิยะ คือ มีสภาพหยาบสามารถนําไปสู่อบายภูมิได้นั้นให้เบา บางลง เรียกว่า ตนุกรปทาน จนไม่สามารถแสดงปฏิกิริยาอย่างหยาบออกมาอันจะเป็นเหตุ นําไปสู่อบายภูมิได้อีกต่อไป ฉะนั้น โสดาปัตติมรรคจิตนี้ แม้จะเกิดขึ้นเพียงขณะเดียวก็ตาม แต่ก็สามารถทํากิจอันยิ่งใหญ่ให้สําเร็จได้ เปรียบเหมือนสายฟ้าแลบในเวลากลางคืนอันมืด มิด แม้จะแลบเพียงครั้งเดียว ก็ทําให้บุคคลที่กําลังเดินไปในท่ามกลางความมืดนั้นสามารถ มองเห็นสิ่งต่าง ๆ รอบข้างได้และสามารถที่จะมองเห็นแนวทางที่จะคลําเดินต่อไปข้างหน้า ได้ ข้อนี้ฉันใด โสดาปัตติมรรคจิตนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน แม้จะเกิดขึ้นเพียงขณะเดียวก็ตาม ก็ทําให้บุคคลนั้นได้รู้เห็นสัจธรรมทั้งหลายตามความเป็นจริงโดยไม่ต้องเชื่อตามบุคคลอื่น อีกต่อไป บุคคลผู้เป็นพระโสดาบันนั้นสามารถเป็นที่พึ่งแก่ตนเองได้ในหนทางแห่งพระ นิพพานจนถึงจุดหมายสูงสุด คือ ความเป็นพระอรหันต์และเข้าสู่อนุปาทิเสสนิพพาน ด้วย เหตุนี้ โสดาปัตติมรรคจิต จึงชื่อว่า วิชรูปมาธรรม แปลว่า ธรรมที่เปรียบประดุจดังสายฟ้า แลบ อนึ่ง พระพุทธองค์ตรัสว่า “โสดาปัตติมรรคนี้ ประเสริฐกว่าการได้เป็นพระเจ้า จักรพรรดิหรือกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ในแผ่นดิน ” เพราะผู้ที่ได้บรรลุโสดาปัตติมรรคแล้ว จะไม่ ต้องเวียนว่ายไปเกิดในอบายภูมิอีกต่อไป เป็นผู้ปิดประตูอบายภูมิได้อย่างเด็ดขาดแล้ว ซึ่งจะเกิดอีกอย่างมากเพียง ๗ ชาติเท่านั้น ก็จะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์และเข้าสู่ปรินิพพาน ไป ส่วนผู้ที่เป็นพระเจ้าจักรพรรดิหรือกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ในแผ่นดินนั้น เป็นใหญ่ได้เฉพาะใน ชาตินั้นเท่านั้น แต่ชาติต่อไปอาจจะไปเกิดในอบายภูมิก็เป็นได้ ทั้งยังต้องเวียนว่ายตายเกิด ในสังสารวัฏฏอีกยาวนานยังกําหนดที่สิ้นสุดไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ ความเป็นพระโสดาบันนั้นจึงมี ความยิ่งใหญ่ดังกล่าวมาแล้ว

มรรคจิต ดวงที่ ๒ สกิทาคามิมัคคจิตตัง แปลความว่า จิตที่เข้าถึงสภาพของพระ นิพพานเป็นครั้งที่ ๒ ทําบุคคลให้เข้าถึงความเป็นผู้ที่จะเวียนมาสู่กามสุคติภูมิอีกเพียงครั้ง เดียว หมายความว่า สกิทาคามิมรรคจิตนี้ เกิดขึ้นในขณะที่พระโสดาบันเจริญวิปัสสนาโดย ยกรูปนามขึ้นสู่ไตรลักษณ์ หยั่งลงสู่อุทยัพพยญาณ พิจารณาความเกิดขึ้นและความดับไป ของรูปนามโดยความเป็นไตรลักษณ์เป็นเบื้องต้น จนวิปัสสนาญาณเกิดขึ้นตามลําดับ คือ อุทยัพพยญาณ ภังคญาณ ภยตูปัฏฐานญาณ อาทีนวญาณ นิพพิทาญาณ มุญจิตุกัมยตา ญาณ ปฏิสังขาญาณ สังขารุเปกขาญาณ อนุโลมญาณ โคตรภูญาณหรือโวทานญาณ ต่อจากนั้น สกิทาคามิมรรคญาณก็เกิดขึ้น ๑ ขณะ พร้อมกับการทําลายอํานาจของอนุสัย กิเลสที่เหลือจากโสดาปัตติมรรคญาณได้ประหาณไปแล้วนั้นให้เบาบางลงไปอีก แต่ไม่มีการ ประหาณโดยสมุจเฉท เพียงแต่ประหาณโดยการทําให้เบาบางลงไปอีก เรียกว่า ตนุกรปทาน เท่านั้น และอํานาจแห่งสกิทาคามิมรรคจิตนี้ ย่อมขัดเกลาสภาพของกาม ธรรมให้เบาบางเหลือน้อยลง จนทําให้บุคคลนั้นจะกลับมาเกิดในกามสุคติภูมิได้อีกเพียง ชาติเดียวเท่านั้น ก็จะได้บรรลุพระอนาคามีไปสู่พรหมโลก หรือได้บรรลุเป็นพระอนาคามี และพระอรหันต์แล้วเข้าสู่ปรินิพพานในกามโลกนั้นเลย จึงได้ชื่อว่า สกิทาคามิมรรค

มรรคจิต ดวงที่ ๓ อนาคามิมัคคจิตตัง แปลความว่า จิตที่เข้าถึงสภาพของพระ นิพพานเป็นครั้งที่ ๓ ทําบุคคลให้เข้าถึงความเป็นผู้ที่ไม่ต้องเวียนกลับมาสู่กามโลกอีกแล้ว หมายความว่า อนาคามิมรรคจิตนี้ เกิดขึ้นในขณะที่พระสกิทาคามีบุคคลเจริญวิปัสสนาโดย ยกรูปนามขึ้นสู่ไตรลักษณ์ หยั่งลงสู่อุทยัพพยญาณเป็นต้นไปตามลําดับ ดังกล่าวแล้วในสกิ ทาคามิมรรคจิต] จนถึงอนาคามิมรรคญาณเกิดขึ้น ๑ ขณะ พร้อมกับการประหาณอนุสัย กิเลสอีก ๒ อย่าง คือ กามราคานุสัย ความกําหนัดในกาม และ ปฏิฆานุสัย ความ ประทุษร้าย ให้หมดไปจากขันธสันดานโดยสิ้นเชิง เรียกว่า สมุจเฉทปหาน เมื่อหมดกาม ราคานุสัยแล้ว จึงทําให้บุคคลนั้น หมดความเยื่อใยในเรื่องของกามหรือเรื่องครอบครัว เป็น ผู้มีวิถีชีวิตอยู่ด้วยความเป็นอิสระจากกาม มีชีวิตที่เบาสบาย ไม่หมกมุ่นในเรื่องของกาม และเมื่อหมดปฏิฆานุสัยแล้ว ก็ทําให้บุคคลนั้นเป็นผู้ไม่มีความกระทบกระทั่งขัดเคืองกับบุคคลอื่น ไม่มีความขัดเคืองในใจตนเองและไม่มีความขัดเคืองต่ออารมณ์ใด ๆ ทําให้เป็นผู้ สงบเยือกเย็นไม่ต้องก่อเวรก่อภัยใด ๆ และเป็นผู้ไม่หมกมุ่นอยู่ในเรื่องของสังคม มีอิสระอยู่ ผู้เดียว ด้วยเหตุนี้ เมื่อบุคคลนั้นตายแล้ว ถึงแม้จะไม่ได้รูปาวจรปัญจมฌานก็ตาม แต่ก็จะ ได้ไปเกิดในสุทธาวาสภูมิ ๕ ภูมิใดภูมิหนึ่งแน่นอน เนื่องจากคุณธรรมของความเป็นพระ อนาคามีในเรื่องการประหาณกามราคานุสัยและปฏิฆานุสัยนั้นเทียมเท่ากับรูปาวจรปัญจม ฌาน เพราะผู้ที่ได้ฌานย่อมข่มกามราคะและปฏิฆะหรือโทสะได้โดยวิกขัมภนปหาน ต่างกันแต่ว่า อนาคามิมรรคนั้น เป็นการละโดยสมุจเฉทปหาน ไม่มีเกิดขึ้นในสันดานอีก แล้ว ส่วนปุถุชนที่ได้ฌานนั้น อนุสัยกิเลส ๒ ตัวนี้ ยังสามารถกําเริบเกิดขึ้นมาได้อีกและยัง ไม่พ้นจากกามโลกโดยเด็ดขาดเหมือนพระอนาคามี ด้วยเหตุนี้ มรรคจิตนี้ จึงชื่อว่า อนาคามิมรรค

มรรคจิต ดวงที่ ๔ อรหัตตมัคคจิตตัง แปลความว่า จิตที่เข้าถึงสภาพของพระ นิพพาน เป็นครั้งที่ ๔ ทําให้บุคคลนั้นเข้าถึงความเป็นผู้มีอาสวะหมดสิ้นไปจากขันธสันดาน แล้ว เรียกว่า พระขีณาสพ เป็นผู้ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิใด ๆ อีกต่อไปแล้ว เรียกว่า วิวัฏฏคามินีบุคคล หรือเป็นผู้พ้นขาดแล้วจากจุติและปฏิสนธิ เรียกว่า อปายคามี บุคคล เป็นผู้อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว เรียกว่า วุสิตพรหมจริยบุคคล เป็นบุคคลผู้ควรเพื่อการ บูชาอย่างสูงสุด เรียกว่า พระอรหันต์ หมายความว่า อรหัตตมรรคจิตนี้ เกิดขึ้นในขณะที่ พระอนาคามีบุคคลเจริญวิปัสสนาโดยยกรูปนามขึ้นสู่ไตรลักษณ์ แล้วหยั่งลงสู่อุทยัพพย ญาณเป็นเบื้องต้นและเลื่อนขึ้นไปตามลําดับ จนถึงอรหัตตมรรคญาณเกิดขึ้น พร้อมกับการ ประหาณอนุสัยกิเลสที่เหลืออีก ๓ อย่าง คือ ภวราคานุสัย ความยินดีในภพ มานานุสัย ความถือตัวถือตน และอวิชชานุสัย ความไม่รู้ให้หมดสิ้นไปจากขันธสันดาน เป็นอันหมดสิ้น จากอนุสัยกิเลสทั้งปวง กิเลสอื่น ๆ ก็พลอยหมดสิ้นไปด้วย เพราะอนุสัยกิเลสเป็นต้นตอ หรือรากเหง้าของกิเลสทั้งปวง เมื่อต้นตอถูกถอนทิ้งเสียแล้ว ลําต้นและกิ่งก้านสาขาใบดอก ผล ก็เป็นอันถูกทําลายไปพร้อมกันด้วย ทําให้บุคคลนั้นไม่ต้องเกิดในภพใหม่อีกต่อไป สังสารวัฏฏ์จึงเป็นอันสิ้นสุดลง เมื่อตายไปแล้ว ก็เข้าสู่อนุปาทิเสส นิพพาน คือ นิพพานที่ ไม่มีวิบากและกัมมชรูปเหลืออยู่หรือติดตามไปอีก ได้แก่ การดับสิ้นของรูปนามขันธ์ ๕ อย่างแท้จริงนั่นเอง เพราะไม่มีการเกิดใหม่อีกแล้ว แต่ถ้าเป็นพระโสดาบัน พระสกิทาคามี และพระอนาคามีนั้นยังต้องเกิดในภพใหม่อีก ก็ต้องมีวิบากนามขันธ์และกัมมชรูปเกิด ติดตามมาอีก เรียกว่า สอุปาทิเสสนิพพาน จนกว่าจะบรรลุเป็นพระอรหันต์และปรินิพพานไปแล้ว จึงเรียกว่า อนุปาทิเสสนิพพาน ฉะนั้น มรรคจิตนี้ จึงได้ชื่อว่า อรหัตตมรรค

ผลจิต ๔

ผลจิต ๔ เป็นการนับตามอํานาจแห่งมรรคที่พระโยคีบุคคลนั้นเจริญวิปัสสนาอย่างเดียวจนได้บรรลุมรรคแบบธรรมดาโดยไม่มีฌานเกิดร่วมด้วย เมื่อมรรคนั้น ๆ ดับลงแล้ว ผลจิตของมรรคนั้น ก็เกิดขึ้นติดต่อกันทันทีโดยไม่มีจิตดวงอื่นมาเกิดคั่นระหว่างเลย ฉะนั้น ผลจิตแต่ละชั้นนั้น จึงมีเพียงดวงเดียว เช่นกันกับมรรคจิต ซึ่งมีตามลําดับแห่งผล คือ โสดา ปัตติผลจิต ๑ สกิทาคามิผลจิต ๑ อนาคามิผลจิต ๑ อรหัตตผลจิต ๑ รวมเป็นผลจิต ๔ ดวง ดังนี้

ผลจิต ดวงที่ ๑ โสตาปัตติผลจิตตัง แปลความว่า จิตที่เป็นผลแห่งมรรคที่เข้าถึง กระแสแห่งพระนิพพานเป็นครั้งแรกในลําดับแห่งโสดาปัตติมรรคจิต หมายความว่า เมื่อ โสดาปัตติมรรคจิตเกิดขึ้นกระทํากิจของตนเสร็จเรียบร้อยและดับลงแล้ว โสดาปัตติผลจิตนี้ ก็เกิดขึ้นติดต่อกันทันทีโดยไม่มีจิตดวงอื่นมาเกิดคั่นระหว่างเลยในโสดาปัตติมรรควิถีนั้น เป็นจิตที่เกิดขึ้นเพื่อเสวยรสแห่งพระนิพพานที่โสดาปัตติมรรคญาณได้ทําการประหาณทิฏฐานุสัยและวิจิกิจฉานุสัยให้หมดสิ้นไปจากขันธสันดานแล้ว หรือเกิดขึ้นในขณะที่พระโสดาบันเข้าผลสมาบัติ เพื่อเสวยความสุขในสภาพของพระนิพพานที่ปราศจากกิเลสตัณหา และขันธ์ทั้งปวง เรียกว่า เสวยวิมุตติสุข ชั่วระยะเวลาหนึ่ง ฉะนั้น โสดาปัตติผลจิตนี้ จึงเกิด ได้กับพระโสดาบันบุคคลเท่านั้น

ผลจิต ดวงที่ ๒ สกิทาคามิผลจิตตัง แปลความว่า จิตที่เป็นผลแห่งมรรคที่เข้าถึง สภาพของพระนิพพานเป็นครั้งที่ ๒ ในลําดับแห่งสกิทาคามิมรรคจิต หมายความว่า เมื่อสกิ ทาคามิมรรคจิตเกิดขึ้นทํากิจของตนเสร็จเรียบร้อยและดับลงแล้ว สกิทาคามิผลจิตนี้ ก็ เกิดขึ้นติดต่อกันทันทีโดยไม่มีจิตดวงอื่นมาเกิดคั่นระหว่างเลยในสกิทาคามิมรรควิถีนั้น เป็นจิตที่เกิดขึ้นเพื่อเสวยรสแห่งพระนิพพานที่สกิทาคามิมรรคญาณได้ทําลายอํานาจของ อนุสัยกิเลส ๕ อย่างซึ่งเหลือจากที่โสดาปัตติมรรคญาณได้ประหาณไปแล้วให้อ่อนกําลังลง ไปอีก หรือเป็นจิตที่เกิดขึ้นในขณะที่พระสกิทาคามีเข้าผลสมาบัติ เพื่อเสวยความสุขใน สภาพของพระนิพพานที่ปราศจากกิเลสตัณหาและขันธ์ทั้งปวง เรียกว่า เสวยวิมุตติสุข ชั่ว ระยะเวลาหนึ่ง ฉะนั้น สกิทาคามิผลจิตนี้ จึงเกิดได้กับพระสกทาคามีบุคคลเท่านั้น

ผลจิต ดวงที่ ๓ อนาคามิผลจิตตัง แปลความว่า จิตที่เป็นผลแห่งมรรคที่เข้าถึง กระแสแห่งพระนิพพานเป็นครั้งที่ ๓ ในลําดับแห่งอนาคามิมรรคจิต หมายความว่า เมื่อ อนาคามิมรรคจิตเกิดขึ้นทํากิจของตนเสร็จเรียบร้อยและดับลงแล้ว อนาคามิผลจิตนี้ ก็ เกิดขึ้นติดต่อกันทันทีโดยไม่มีจิตดวงอื่นมาเกิดคั่นระหว่างเลยในอนาคามิมรรควิถีนั้น เพื่อ เสวยรสแห่งพระนิพพานที่อนาคามิมรรคญาณได้ทําการประหาณกามราคานุสัยและปฏิฆานุสัยให้หมดสิ้นไปจากขันธสันดานแล้ว หรือเกิดขึ้นในขณะที่พระอนาคามีเข้าผลสมาบัติ เพื่อเสวยความสุขในสภาพของพระนิพพานที่ปราศจากกิเลสตัณหาและขันธ์ทั้งปวง เรียกว่า เสวยวิมุตติสุข ชั่วระยะเวลาหนึ่ง หรือเกิดขึ้นในขณะที่พระอนาคามีที่ได้สมาบัติ ๘ ใช้เป็นบาทในการเข้านิโรธสมาบัติ ฉะนั้น อนาคามิผลจิตนี้ จึงเกิดได้กับพระอนาคามีบุคคลเท่านั้น

ผลจิต ดวงที่ ๔ อรหัตตผลจิตตัง แปลความว่า จิตที่เป็นผลแห่งมรรคที่เข้าถึง กระแสแห่งพระนิพพานเป็นครั้งที่ ๔ ในลําดับแห่งอรหัตตมรรคจิต หมายความว่า เมื่อ อรหัตตมรรคจิตเกิดขึ้นทํากิจของตนเสร็จเรียบร้อยและดับลงแล้ว อรหัตตผลจิตนี้ ก็ เกิดขึ้นติดต่อกันทันทีโดยไม่มีจิตดวงอื่นมาเกิดคั่นระหว่างเลยในอรหัตตมรรควิถีนั้น เพื่อ เสวยรสแห่งพระนิพพานที่อรหัตตมรรคญาณได้ทําการประหาณภวราคานุสัย มานานุสัยและอวิชชานุสัยให้หมดสิ้นไป เป็นอันหมดสิ้นอนุสัยกิเลสและกองกิเลสทั้งปวงจากขันธ สันดานแล้ว หรือเป็นจิตที่เกิดขึ้นในขณะที่พระอรหันต์เข้าผลสมาบัติ เพื่อเสวยความสุขใน สภาพของพระนิพพานที่ปราศจากกิเลสตัณหาและขันธ์ทั้งปวง เรียกว่า เสวยวิมุตติสุข ชั่ว ระยะเวลาหนึ่ง หรือเป็นจิตที่เกิดขึ้นในขณะที่พระอรหันต์ที่ได้สมาบัติ ๘ ใช้เป็นบาทในการ เข้านิโรธสมาบัติ ฉะนั้น อรหัตตผลจิตนี้ จึงเกิดได้กับพระอรหันตบุคคลเท่านั้น

การเกิดขึ้นของโลกุตตรจิต

โลกุตตรจิต เป็นจิตที่เกิดสืบเนื่องมาจากมหากุศลจิต ที่เกิดจากการเจริญวิปัสสนาภาวนา ซึ่งมีสภาวะของรูปนามเป็นอารมณ์ จนเกิดความเห็นแจ้งในสภาพแห่งรูปนามนั้น อันมีความเป็นไปตามกฎแห่งไตรลักษณ์ คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา มีการเกิดขึ้น มี การเปลี่ยนแปลงไปอยู่เสมอ ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ ทั้งไม่สามารถบังคับบัญชาให้อยู่ใน อํานาจได้ หรือไม่อยู่ในความบงการของใครหรือสิ่งใด ๆ ทั้งสิ้น ย่อมเป็นไปตามเหตุตาม ปัจจัยของตนอยู่เนืองนิตย์ เมื่อเห็นแจ้งอย่างนี้แล้ว จึงเกิดความเบื่อหน่าย เมื่อเบื่อหน่าย แล้ว ย่อมคลายความกําหนัดยินดีในรูปนามนั้น เมื่อคลายกําหนัดได้แล้ว ย่อมปรารถนา ความหลุดพ้นจากสภาพของรูปนามนั้น ย่อมแสวงหาวิธีการหลุดพ้นจากรูปนาม ด้วยการ ฝึกฝนพัฒนาสติปัญญาของตนให้แก่กล้ายิ่งขึ้นโดยลําดับ จนสามารถเข้าถึงสภาพที่สามารถประหาณอนุสัยกิเลสและรับรู้พระนิพพานเป็นอารมณ์ได้โดยลําดับ ในเวลานั้น จึงเปลี่ยนสภาพจากมหากุศลจิตมาเป็นสภาพของโลกุตตรจิต

วิปัสสนาภูมิ

วิปัสสนาภูมิ คือ อารมณ์ที่ใช้ในการเจริญวิปัสสนาภาวนา มี ๖ หมวด ได้แก่
๑. ขันธ์ ๕
๒. อายตนะ ๑๒
๓. ธาตุ ๑๘
๔. อินทรีย์ ๒๒
๕. อริยสัจ ๔
๖. ปฏิจจสมุปบาท ๑๒

วิปัสสนาญาณ ๑๖

วิปัสสนาญาณ หมายถึง ปัญญาที่กําหนดรู้เห็นรูปนามขันธ์ ๕ โดยความเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา กล่าวคือ การเห็นประจักษ์แจ้งซึ่งไตรลักษณ์แห่งรูปนาม เรียกว่า ปัจจักขสิทธิญาณ ซึ่งเกิดขึ้นตามลําดับ อ่านต่อ "วิปัสสนาญาณ ๑๖"

โสดาปัตติมรรคจิต

โสดาปัตติมรรคจิต หมายถึง จิตที่ประกอบด้วยองค์มรรค ๘ ซึ่งมีสภาพเหมือน กระแสน้ําที่ไหลเข้าไปสู่อริยมรรค หรือจิตที่เข้าถึงพระนิพพานเป็นครั้งแรก หมายความว่า โสดาปัตติมรรคจิตนี้ เป็นจิตที่เข้าถึงกระแสคือสภาวะแห่งพระนิพพานด้วยการได้เสพ สภาพของพระนิพพานอย่างเต็มที่เป็นครั้งแรกของบุคคลนั้น ซึ่งยังไม่เคยได้เสพมาก่อนเลย ในขณะที่เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสังสารวัฏฏ์นี้

คําว่า โสดาปัตติมรรค มาจากค้าว่า โสต+อาปัตติ+มรรค
โสต แปลว่า กระแส หมายถึง กระแสแห่งพระนิพพาน
อาปัตติ แปลว่า ถึง หรือ บรรลุ
มรรค แปลว่า หนทาง หรือการประหาณกิเลสเป็นเหตุ [ให้]

เมื่อรวมกันแล้วเป็น โสตาปัตติมรรค แปลว่า หนทางให้ถึงกระแสแห่งพระนิพพาน หรือการประหาณกิเลสเป็นเหตุให้ถึงกระแสแห่งพระนิพพาน หมายความว่า เมื่อบุคคล ประหาณอนุสัยกิเลสได้แล้ว ย่อมให้ได้รับรู้อารมณ์พระนิพพานอย่างแจ่มแจ้งด้วยการเสวยรสแห่งพระนิพพานนั่นเอง

โสดาปัตติมรรคจิตนี้เกิดขึ้นแล้วย่อมให้สําเร็จกิจ ๓ ประการ คือ

๑. ทําให้บุคคลนั้น ได้ชื่อว่า โสดาปัตติมรรคบุคคล
๒. ทําให้บุคคลนั้น พ้นจากอบายภูมิทั้ง ๔ โดยเด็ดขาด เรียกว่า ปิดประตูอบาย ได้อย่างถาวร
๓. โสดาปัตติมรรคจิตเกิดขึ้นพร้อมกับการประหาณอนุสัยกิเลส ๒ อย่าง คือ ทิฏฐา นุสัยและวิจิกิจฉานุสัย หรือทําลายอกุศลจิต ๕ ดวง คือ ทิฏฐิคตสัมปยุตตจิต ๔ และ วิจิกิจฉาสัมปยุตตจิต ๑ โดยเด็ดขาด เป็นสมุจเฉทปหาน นอกจากนี้ ยังทํากิเลสที่ประกอบ ในทิฏฐิคตวิปปยุตตจิต ๔ โทสมูลจิต ๒ ให้เบาบางลง [เป็นตนุกรปหาน] จนไม่สามารถ แสดงอาการอย่างหยาบที่จะเป็นเหตุให้นําไปสู่อบายภูมิได้อีกต่อไป

โสดาปัตติผลจิต

โสดาปัตติผลจิต หมายถึง จิตที่เกิดขึ้นเพื่อเสวยวิมุตติสุข คือ ความสุขที่เกิดจาก ความหลุดพ้น หลังจากที่โสดาปัตติมรรคจิตได้ทําการประหาณทิฏฐานุสัยและวิจิกิจฉานุสัย โดยสมุจเฉทปหาน พร้อมกับทําอนุสัยกิเลสที่เหลือให้เบาบางลงไปเสร็จเรียบร้อยแล้ว หมายความว่า เมื่อโสดาปัตติมรรคจิตดับลงแล้ว โสดาปัตติผลจิตนี้ ก็เกิดขึ้นติดต่อกันทันที โดยไม่มีจิตดวงอื่นมาเกิดคั่นระหว่างเลยในโสดาปัตติมรรควิถีนั้น หรือเป็นจิตที่เกิดขึ้นใน ขณะที่พระโสดาบันเข้าผลสมาบัติ เพื่อเสวยทิฏฐิสุขนิพพาน คือ ความสุขในพระนิพพาน อันจะพึงเสวยได้ในปัจจุบันภพ

โสดาปัตติผลจิตเกิดขึ้น ย่อมให้สําเร็จกิจ ๓ ประการ คือ

๑. ทําให้บุคคลนั้น ได้ชื่อว่า โสดาปัตติผลบุคคล หรือ พระโสดาบัน
๒. ทําให้เข้าถึงความเป็นบุคคลผู้พ้นจากอบายภูมิโดยเด็ดขาด เพราะโสดาปัตติ มรรคจิตได้ทําลายอกุศลกรรมที่เป็นตัวการนําไปสู่อบายภูมิได้อย่างเด็ดขาด
๓. โสดาปัตติผลจิต ย่อมเกิดขึ้น เพื่อเสวยวิมุตติสุข หลังจากที่โสดาปัตติมรรคจิตได้ ทําการประหาณทิฏฐานุสัยและวิจิกิจฉานุสัยได้โดยเด็ดขาดแล้ว

สกิทาคามิผลจิต

สกิทาคามิผลจิต หมายถึง จิตที่เกิดขึ้นทันทีที่สกิทาคามิมรรคจิตดับลงแล้ว
หรือ เป็นจิตที่เกิดขึ้นในขณะที่พระสกิทาคามีบุคคลผู้เข้าผลสมาบัติ [เหมือนนัยที่กล่าวแล้ว ในโสดาปัตติผลจิต]

สกิทาคามิผลจิต เกิดขึ้นย่อมให้สําเร็จกิจ ๒ ประการ คือ

๑. ทําให้บุคคลนั้น ได้ชื่อวาา สกิทาคามิผลบุคคล หรือ พระสกิทาคามี
๒. สกิทาคามิผลจิต เกิดขึ้นเพื่อเสวยผลที่สกิทาคามิมรรคจิตได้ประหาณอนุสัยกิเลสโดยตนุกรปหานเสร็จแล้ว หรือเพื่อเสวยวิมุตติสุขในขณะเข้าผลสมาบัติ

อนาคามิมรรคจิต

อนาคามิมรรคจิต หมายถึง จิตที่ทําบุคคลให้เข้าถึงความเป็นผู้ที่ไม่ต้องกลับมา ปฏิสนธิในกามโลกอีกแล้ว จึงชื่อว่า อนาคามี
คําว่า อนาคามิมรรค มาจากคําว่า น+อาคามี+มรรค
น แปลว่า ไม่
อาคามี แปลว่า ผู้กลับมา
มรรค แปลว่า หนทาง หรือการประหาณกิเลสเป็นเหตุ [ให้]

เมื่อรวมกันแล้วเป็น อนาคามิมรรค แปลว่า หนทางของบุคคลผู้ไม่กลับมาสู่กาม โลกอีกแล้ว หรือการประหาณกิเลสเป็นเหตุให้บุคคลนั้นเป็นผู้ไม่ต้องกลับมาสู่กามโลกอีก แล้ว หมายความว่า เป็นผู้ที่จะไปเกิดในสุทธาวาสภูมิ จนกว่าจะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ แล้วปรินิพพานในสุทธาวาสภูมินั้นเลย

อนาคามิมรรคจิต เมื่อเกิดขึ้นย่อมให้สําเร็จกิจ ๓ ประการ คือ
๑. ทําให้บุคคลนั้น ได้ชื่อว่า อนาคามิมรรคบุคคล
๒. อนาคามิมรรคจิต เกิดขึ้นเพื่อทําบุคคลให้ข้ามพ้นจากการต้องกลับมาเกิดใน กามโลก หมายความว่า เป็นผู้ไม่ต้องกลับมาเกิดในกามโลกอีกอย่างแน่นอน แต่จะไปเกิดในพรหมโลก [สุทธาวาสภูมิ ๕ ตามสมควร] และจะได้บรรลุอรหัตตมรรคอรหัตตผลใน พรหมโลกนั้น แล้วเข้าสู่ปรินิพพาน

๓. อนาคามิมรรคจิต เกิดขึ้นเพื่อประหาณกามราคานุสัยและปฏิฆานุสัยโดยเด็ดขาด เรียกว่า สมุจเฉทปหาน

อนาคามิผลจิต

อนาคามิผลจิต หมายถึง จิตที่เกิดขึ้นในลําดับแห่งอนาคามิมรรคจิตโดยทันที ไม่มี จิตดวงอื่นมาเกิดคั่นระหว่างเป็น อกาลิโก เกิดขึ้นเพื่อเสวยวิมุตติสุขที่อนาคามิมรรคจิตได้ ทําการประหาณกามราคานุสัยและปฏิฆานุสัยเป็นสมุจเฉทปหานแล้ว หรือเป็นจิตที่เกิดขึ้น ในขณะที่พระอนาคามีบุคคลเข้าผลสมาบัติ และพระอนาคามีผู้ได้ฌานสมาบัติ ๘ ใช้เป็น บาทในเข้านิโรธสมาบัติ และเกิดขึ้นหลังจากออกนิโรธสมาบัติแล้ว อนาคามิผลจิต เมื่อเกิดขึ้นย่อมให้สําเร็จกิจ ๓ ประการ คือ

๑. ทําให้บุคคลนั้น ได้ชื่อว่า อนาคามิผลบุคคล หรือ พระอนาคามี
๒. อนาคามิผลจิตเกิดขึ้น เพื่อเสวยวิมุตติสุขที่เกิดจากการที่อนาคามิมรรคจิตได้ ประหาณกามราคานุสัยและปฏิฆานุสัย โดยสมุจเฉทปหานเสร็จเรียบร้อยแล้ว
๓. อนาคามิผลจิต เกิดขึ้นเพื่อนําบุคคลให้ข้ามพ้นจากกามโลกโดยเด็ดขาด หมายความว่า พระอนาคามีบุคคลทั้งหลาย ย่อมไม่กลับมาปฏิสนธิในกามโลกอีกต่อไปแล้ว แต่จะเกิดในสุทธาวาสภูมิ ๕ หรือถ้าได้อรูปฌานก็ไปเกิดในอรูปภูมิ ตามสมควรแก่ฌานที่ ตนเองได้ แล้วจะได้บรรลุอรหัตตมรรคอรหัตตผลและเข้าสู่ปรินิพพานไปในนพรหมโลกนั้น

อรหัตตมรรคจิต

อรหัตตมรรคจิต หมายถึง จิตที่ทําให้บุคคลเข้าถึงความเป็นผู้ควรแก่การ สักการบูชาอย่างยิ่งของเหล่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นจิตที่เกิดขึ้นเพื่อประหาณภว ราคานุสัย มานานุสัยและอวิชชานุสัย หรือ ประหาณโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ อย่าง ได้แก่ รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะและอวิชชา ไม่ให้เหลืออยู่อีกเลยโดยสมุจเฉทปหาน

อรหัตตมรรค มาจากคําว่า อร+หน+ภาว+มรรค
อร แปลว่า กรรมแห่งสังสารวัฏฏ
หน แปลว่า ฆ่าทําลาย
ภาว แปลว่า ความเป็น
มรรค แปลว่า หนทาง หรือการประหาณกิเลสเป็นเหตุ ให้

เมื่อรวมกันแล้วเป็น อรหัตตมรรค แปลว่า หนทางแห่งบุคคลผู้ถึงสภาพการฆ่า ทําลายซี่กรรมแห่งสังสารวัฏฏได้หมดสิ้นแล้ว หรือการประหาณกิเลสเป็นเหตุให้ถึงสภาพ การทําลายซี่กรรมแห่งสังสารวัฏฏโดยหมดสิ้นแล้ว จึงเป็นผู้ไม่ต้องเกิดในภพใหม่อีกต่อไป ด้วยเหตุนี้ จึงได้ชื่อว่า เป็นพระอรหันต์ แปลว่า ผู้ควรเพื่อการบูชาอย่างสูงสุด คือ เป็น ทักขิไณยบุคคลอันเลิศ เป็นเนื้อนาบุญของโลก

อรหัตตมรรคจิต เมื่อเกิดขึ้นย่อมให้สําเร็จกิจ ๓ ประการ คือ

๑. ทําให้บุคคลนั้น ชื่อว่า อรหัตตมรรคบุคคล
๒. อรหัตตมรรคจิต เป็นจิตที่ทําให้บุคคลข้ามพ้นจากโลกทั้ง ๓ คือ กามโลก รูป โลก อรูปโลก โดยเด็ดขาด คือ ไม่ต้องเกิดใหม่ในภพภูมิใดอีกต่อไปแล้ว
๓. อรหัตตมรรคจิต เป็นจิตที่ทําการประหาณอนุสัยกิเลสที่เหลือจากมรรคจิตอื่น ๆ ได้ประหาณไปแล้วทั้งหมดโดยสมุจเฉทปหาน หมายความว่า กิเลสที่อรหัตตมรรคจิตต้อง ทําการประหารโดยเด็ดขาดนั้น เมื่อกล่าวโดยจิต ได้แก่ อกุศลจิตที่เหลือ ๕ ดวง คือ ทิฏ ฐิคตวิปปยุตตจิต ๔ ที่เกี่ยวกับรูปราคะ อรูปราคะ] และอุทธัจจสัมปยุตตจิต ๑ เมื่อกล่าว โดยกรรมบถ ได้แก่ อกุศลกรรมบถที่เหลือ ๒ คือ สัมผัปปลาปะและอภิชฌา

อรหัตตผลจิต

อรหัตตผลจิต หมายถึง จิตที่เกิดขึ้นติดต่อกันทันทีหลังจากอรหัตตมรรคจิตดับไป แล้ว โดยไม่มีจิตอื่นมาเกิดคั่นระหว่าง เป็นอกาลิโก หรือเป็นจิตที่เกิดขึ้นในขณะที่พระอรหันต์เข้าผลสมาบัติ หรือพระอรหันต์ผู้ได้ฌานสมาบัติ ๘ ใช้เป็นบาทในการเข้านิโรธ สมาบัติ

อรหัตตผลจิต เมื่อเกิดขึ้นย่อมให้สําเร็จกิจ ๓ ประการ คือ

๑. ทําให้บุคคลนั้น ได้ชื่อว่า อรหัตตผลบุคคล หรือ พระอรหันต์
๒. ทําให้บุคคลข้ามพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏฏโดยเด็ดขาด
๓. อรหัตตผลจิต เกิดขึ้นเพื่อเสวยวิมุตติสุข หลังจากอรหัตตมรรคจิตได้ทําการ ประหาณอนุสัยกิเลสและอกุศลกรรมบถที่เหลือจากมรรคเบื้องต่ําได้ประหาณไปแล้วทั้งหมดโดยสมุจเฉทปหาน

หน้าที่ของโลกุตตรจิต

โลกุตตรจิต ๘ หรือ ๔๐ ดวงทั้งหมด ทําหน้าที่อย่างเดียวกัน คือ ชวนกิจ ได้แก่ การเสพอารมณ์พระนิพพาน
มรรคจิต ๔ หรือ ๒๐ เสพพระนิพพานโดยความเป็นกุศล พร้อมกับการประหาณ อนุสัยกิเลสให้หมดไปจากขันธสันดาน ตามสมควรแก่กําลังอํานาจของตนที่สามารถจะประหาณได้ [ยกเว้นสกิทาคามิมรรคที่สามารถประหาณได้เพียงทําให้เบาบางลง เรียกว่า ตนุกรปหาน เท่านั้น]
ผลจิต ๔ หรือ ๒๐ เสพพระนิพพานโดยความเป็นวิบาก เพื่อเสวยสุขในอารมณ์ พระนิพพาน หลังจากมรรคจิตได้ประหาณอนุสัยกิเลสเสร็จเรียบร้อยแล้ว เรียกว่า เสวยวิมุตติสุข

ปรมัตถโชติกะ ปริจเฉทที่ ๑-๒-๖ รจนาโดย พระสัทธัมมโชติกะ ธัมมาจริยะ

จิต เป็นธรรมชาติรู้อารมณ์ (อารมฺมณวิซานนลกฺขณํ) คือได้รับอารมณ์อยู่เสมอนั้นเอง จึงเรียกว่ารู้อารมณ์ ดังแสดงวจนัตถะว่า อารมฺมณํ จินฺเตตีติ = จิตฺตํ ธรรมชาติใด ย่อมรู้อารมณ์ คือได้รับอารมณ์อยู่เสมอ ฉะนั้นธรรมชาตินั้นชื่อว่า จิต, หรืออีกนัยหนึ่ง จินฺเตนติ สมฺปยุตฺตธมฺมา เอเตนาติ = จิตฺตํ สัมปยุตตธรรม คือ เจตสิกทั้งหลาย ย่อมรู้อารมณ์ โดยอาศัยธรรมชาตินั้น ฉะนั้น ธรรมชาติที่เป็นเหตุแห่งการรู้อารมณ์ของเจตสิกเหล่านั้น ชื่อว่า จิต, หรืออีกนัยหนึ่ง จินฺตนมตฺตํ = จิตฺตํ ธรรมชาติที่รู้อารมณ์ ได้รับอารมณ์นั้น แหละชื่อว่า จิต, หรืออีกนัยหนึ่ง จิตฺดี กโรตีติ = จิตฺตํ ธรรมชาติใดทําความเป็นอยู่ของสัตว์ ทั้งหลายให้วิจิตร ฉะนั้น ธรรมชาตินั้นชื่อว่า จิต

สิ่งที่ไม่มีชีวิตทั้งหมดที่วิจิตรพิสดารนั้น ก็เพราะอํานาจแห่งจิต คือจิตเป็นผู้ทําให้วิจิตรพิสดารขึ้น สัตว์ทั้งหลายที่วิจิตรนั้นก็เพราะกําเนิดวิจิตร, กําเนิดวิจิตรเพราะการกระทําทางกาย วาจา ใจ วิจิตร, การกระทําทางกาย วาจา ใจ ที่วิจิตรนั้นเพราะตัณหา คือ ความพอใจ วิจิตร, ตัณหาวิจิตรก็เพราะสัญญา คือ ความจําเรื่องราวต่างๆ วิจิตร, สัญญาวิจิตรก็เพราะจิต วิจิตร ดังมีบาลีแสดงไว้ในปรมัตถทีปนี ว่า จิตฺตวิจิตฺตตาย สญฺญา วิจิตฺตา, สญฺญา วิจิตฺตตาย ตณฺหาวิจิตฺตา, ตณฺหาวิจิตฺตตาย กมฺมานิ วิจิตฺตานิ, กมุมวิจิตฺตตาย โยนิโย วิจิตฺตา, โยนิวิจิตฺตตาย เตสํ ติรจุฉานคตานํ วิจิตุตตา เวทิตพุพา

นักศึกษาทั้งหลายพึงทราบความวิจิตรของสัตว์ดิรัจฉานทั้งหลายนั้น เพราะกําเนิดวิจิตร, กําเนิดวิจิตรเพราะการกระทําทางกาย วาจา ใจ วิจิตร, การกระทําทางกาย วาจา ใจ

ที่วิจิตรนั้น เพราะตัณหาคือความพอใจวิจิตร, ตัณหาวิจิตร ก็เพราะสัญญา คือความจําเรื่องราวต่างๆ วิจิตร, สัญญาวิจิตร ก็เพราะจิตวิจิตร

สรุปความว่า ธรรมชาติของจิตนั้น มีอยู่ ๓ ประการ คือ

๑. มีการรับอารมณ์อยู่เสมอ
๒. เป็นเหตุให้เจตสิกทั้งหลายรู้อารมณ์ได้คล้ายๆ กับผู้นํา
๓. ทําให้สิ่งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิตวิจิตรพิสดาร


ฉะนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พร้อมด้วยท่านอรรถกถาจารย์ และท่านฎีกาจารย์ ทั้งหลาย จึงได้แสดงความมหัศจรรย์ และความสําคัญของจิตไว้มากมายแต่เฉพาะในปกรณ์นี้ จะยกขึ้นมาแสดงแต่พอสังเขปดังต่อไปนี้

ทิฏฐํ โว ภิกฺขเว จรณํ นาม จิตฺตนฺติ? เอวํ ภนุเต ตมฺปิโข ภิกฺขเว จรณํ นาม จิตฺตํ จิตุเตเนว จิตฺติตํ เตนปี โข ภิกฺขเว จรเณน จิตฺเตน จิตฺตญเญว จิตฺตตรนฺติ

นาหํ ภิกฺขเว อณุญํ เอกนิกายมฺปิ สมนุปสฺสามิ เอวํ จตฺตํ , ยถยิทํ ภิกฺขเว ติรุจฉานคตา ปาณา, เตปิ โข ภิกฺขเว ติรจฺฉานคตา ปาณา จิตุเตเนว จิตฺติตา, เตหิปิ โข ภิกฺขเว ติรจฺฉานคเตหิ ปาเณหิ จิตฺตญเญว จิตุตตรํ

แปลความว่า สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงถามว่า ภิกษุทั้งหลาย รูปภาพอันวิจิตร ชื่อว่าจรณะที่มีเผยแพร่อยู่ทั่วไปนั้น พวกเธอเห็นแล้วหรือ ? เห็นแล้วพระเจ้าข้า ภิกษุทั้ง หลายแม้รูปภาพที่วิจิตรถึงอย่างนั้น ก็เพราะจิตนั่นเองคิดขึ้น ภิกษุทั้งหลาย จิตนั้นเป็นธรรมชาติที่วิจิตรยิ่งกว่ารูปภาพอันวิจิตรนี้ ภิกษุทั้งหลายบรรดาจําพวกสัตว์ดิรัจฉานเหล่าใด มีอยู่ในโลก ตถาคตไม่เคยเห็นว่า สัตว์เหล่าอื่นเหล่าใดที่จะวิจิตรเหมือนกับพวกเหล่าสัตว์ดิรัจฉานนี้เลย ภิกษุทั้งหลาย บรรดาจําพวกดิรัจฉานที่วิจิตรถึงเพียงนี้ ก็เพราะจิตนี้เองเป็นผู้กระทําให้วิจิตร ภิกษุทั้งหลายจิตนี้แหละวิจิตรยิ่งกว่าพวกดิรัจฉาน

จิตุเตน นียติ โลโก จิตุเตน ปริกสุสติ จิตฺตสุส เอกธมุมสุส สพฺเพว วสมนฺวดู

กุศลจิตย่อมนําสัตวโลกไปสู่สุคติภูมิ อกุศลจิตย่อมฉุดคร่าสัตวโลกให้ไปสู่อบายภูมิ, สัตว์ทั้งหลายย่อมมีปกติเป็นไปตามอํานาจแห่งจิต

จิตฺตนานตฺตมาคมุม นานตฺตํ โหติ วายุโน วายุนานตุตโต นานา โหติ กายสุส อิญชนา

จิตตชวาโยที่สามารถทําให้การยืน, เดิน, นั่ง, นอน, เกิดขึ้นได้ ก็เพราะอาศัยความประสงค์ของจิตที่เป็นไปต่างๆ เป็นเหตุ ร่างกายที่กําลังเคลื่อนไหวเป็นไปต่างๆ ปรากฏขึ้นได้เหมือนกับรูปหุ่นที่เขากําลังเชิดอยู่นั้น ก็เพราะอาศัยความเป็นไปต่างๆ แห่งจิตตชวาโย เป็นเหตุ

วิจิตฺตกรณา จิตฺตํ อตฺตโน จิตฺตตาย วา จิตํ กมุมกิเลเสหิ จิตํ ตายติ วา ตถา จิโนติ อตุตสนุตานํ วิจิตฺตารมุมณนุติ จาติ

ชื่อว่า จิต เพราะทําให้กิริยาอาการวิจิตร (มุ่งหมายเฉพาะจิต ๓๒ ควง) หรือชื่อว่า จิต เพราะสภาพของตนเป็นวิจิตร (มุ่งหมายเอาจิตทั้งหมด ๘๕ ควง) วิปากจิตชื่อว่า จิต เพราะกุศลกรรม อกุศลกรรมและกิเลสเหล่านี้เป็นผู้สั่งสม หรือวิปากจิตชื่อว่า จิต เพราะย่อมรักษาไว้ซึ่งร่างกาย ที่เกิดจากกุศลกรรม อกุศลกรรมและกิเลส วิญญาณใดย่อมทําให้ขันธสันดาน เกิดขึ้นติดต่อกันโดยไม่ขาดสาย ฉะนั้น วิญญาณนั้นชื่อว่า จิต (มุ่งหมายเอาอกุศล และโลกียกุศลชวนะ) (แปลอีกนัยหนึ่ง) วิญญาณใดย่อมทําให้สันดานตนเกิดขึ้นสืบต่อกัน โดยไม่ขาดสาย (มุ่งหมายเอาโลกียชวนะ ๔๗ ที่เป็นอาเสวนปัจจัยได้) วิญญาณใด มีอารมณ์ วิจิตรพิสดาร ฉะนั้นวิญญาณนั้นชื่อว่า จิต (มุ่งหมายเอาจิตทั้งหมด ๘๙ ควง)

ความดับของจิตนี้ย่อมเป็นไปอย่างรวดเร็ว ยากที่จะหาอะไรมาเปรียบเทียบได้ ฉะนั้นสมเด็จพระผู้มีพระภาคจึงทรงเทศนาไว้ในอังคุตตรพระบาลี ว่า
ยาวญฺจิทํ ภิกฺขเว อุปมาปิ น สุกรา ยาวลหุปริวตฺตํ จิตฺตนุติ

ภิกษุทั้งหลาย จิตนี้เกิดดับอย่างรวดเร็ว ด้วยเหตุนี้จึงหาข้ออุปมาที่จะยกขึ้นมาเปรียบเทียบได้โดยยากยิ่ง

จำแนกจิตโดยภูมิ

จิตมี ๔ ประเภท คือ

๑. กามาวจรจิต ๕๔
๒. รูปาวจรจิต ๑๕
๓. อรูปาวจรจิต ๑๒
๔. โลกุตตรจิต ๘ หรือ ๔๐

รวมเป็นจิต ๘๙ หรือ ๑๒๑

อธิบายความหมายชื่อจิตตามลําดับ

อกุศลจิต ๑๒

อฏฐธา โลภมูลานิ โทสมูลานิ จ ทวิธา
โมหมูลานิ จ เทวุติ ทวาทสากุสลา สียุํ

โลกมูลจิต ๘ โทสมูลจิต ๒ โมหมูลจิต ๒ รวมจิต ๑๒ ดวงนี้ เป็นอกุศลจิต
โลภมูลจิต หมายความว่า จิตที่เกิดขึ้นโดยมีโลภเจตสิกเป็นมูลเป็นประธาน
โทสมูลจิต หมายความว่า จิตที่เกิดขึ้น โดยมีโทสเจตสิกเป็นมูลเป็นประธาน
โมหมูลจิต หมายความว่า จิตที่เกิดขึ้น โดยมีโมหเจตสิกเป็นมูลเป็นประธาน
อกุศลจิต หมายความว่า จิตที่มีโทษและให้ผลตรงกันข้ามกับกุศลจิต หรือเป็น จิตที่ประกอบกับอกุศลเจตสิก

อเหตุกจิต ๑๘

สตุตากุสลปากาน ปุญญปากาน อฏฐธา
กริยจิตตานี ตีณีติ อฏฐารส อเหตุกา

อกุศลวิปากจิต ๗ อเหตุกกุศลวิปากจิต ๘ อเหตุกกริยาจิต ๓ รวมจิต ๑๘ ดวง นี้เป็น อเหตุกจิต

อกุศลวิปากจิต หมายความว่า วิบากที่เกิดจากอกุศลกรรม ๑๒ มีการเห็น การได้ยิน การ ได้กลิ่น ที่ไม่ดี เป็นต้น

อเหตุกกุศลวิปากจิต หมายความว่า วิบากที่เกิดจากมหากุศลกรรม ๘ มีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น ที่ดี เป็นต้น แต่เป็นอเหตุกะ

อเหตุกกริยาจิต หมายความว่า จิตที่เกิดขึ้นโดยลําพัง ไม่ได้อาศัยกรรมแต่อย่างใด และไม่เป็นบุญเป็นบาป แต่เป็นอเหตุกะ

อเหตุกจิต หมายความว่า จิตที่ไม่มีเหตุ ๖ ประกอบ จิตที่เหลือจากอเหตุกจิต ๑๘ มีจํานวน ๗๑ หรือ ๑๐๓ เป็นสเหตุกจิตทั้งสิ้น

อโสภณจิต ๓๐ และโสภณจิต ๕๙ หรือ ๙๑

ปาปาเหตุกมุตตานี โสภณานีติ วุจจเร
เอกนสฏฐิ จิตตาน อเถูกนวุติปิ วา

จิต ๕๙ หรือ ๙๑ ที่นอกจากอกุศลจิต อเหตุกจิตนั้น เรียกว่า โสภณจิต ในคาถาบทนี้แสดงให้ทราบถึงชื่อของจิตได้เป็น ๒ ประการ คือ จิต ๕๙ หรือ ๙๑ ชื่อว่า โสภณจิต อกุศลจิต ๑๒ อเหตุกจิต ๑๘ ชื่อว่าอโสภณจิต การแสดงว่าโสภณจิตนั้น เป็นการแสดงโดยตรง ส่วนการแสดงว่าอโสภณจิตนั้น ไม่ได้แสดงโดยตรง

อโสภณจิต หมายความว่า จิตที่นอกจากโสภณจิตที่เป็นจิตสวยงาม หรือเป็นจิตที่ ไม่ได้เกิดพร้อมกันกับโสภณเจตสิกโสภณจิต หมายความว่า จิตที่เกิดพร้อมกันกับโสภณเจตสิก หรือเป็นจิตที่สวยงาม

กามาวจรโสภณจิต ๒๔

มหากุศลจิต หมายความว่า จิตที่ไม่มีโทษและให้ผลเป็นความสุข ฉะนั้นชื่อว่า กุศล และสามารถให้ผลเกิดขึ้นมากกว่าตน ทั้งเป็นเบื้องต้นของฌาน อภิญญา มรรค ผล ฉะนั้น จึงชื่อว่า มหา เมื่อรวบรวมบททั้งสองนี้แล้วชื่อว่า มหากุศลจิต

มหาวิปากจิต หมายความว่า จิตที่เป็นผลของมหากุศล เพราะว่า เมื่อว่าโดยเวทนา สัมปโยคะ สังขาร แล้ว ก็เหมือนกันกับมหากุศลทุกประการ ฉะนั้นชื่อว่า มหาวิปากจิต

มหากริยาจิต หมายความว่า จิตที่ชื่อว่ามหากุศลนั้นแหละ เกิดขึ้นในสันดานของ พระอรหันต์ ฉะนั้น ชื่อว่า มหากริยาจิต

กามาวจรจิต ๕๔

กาเม เตรีส ปากาน ปุญญาปุญญานิ วีสติ
เอกาทส กริยา เจต จตุปญญาส สพุพถา

จิตที่ท่องเที่ยวในกามภูมิ ๑๑ เป็นส่วนมากนี้ เมื่อรวบรวมทั้งหมดแล้ว มีจํานวน ๕๔ คือ วิปากจิต ๒๓ กุศลจิต อกุศลจิต รวม ๒๐ กริยาจิต ๑๑

คาถานี้แสดงการรวบรวมจิตที่เป็นกามาวจรทั้งหมด ทั้งได้แสดงการจํานเนกชาติ ของจิตเหล่านี้ด้วย ที่ชื่อว่ากามาวจรจิตนั้น เพราะจิตทั้ง ๕๔ ควงนี้ท่องเที่ยวเกิดอยู่ในภูมิอัน เป็นที่เกิดแห่งวัตถุกามและกิเลสกามเป็นส่วนมาก ดังแสดงวจนัตถะว่า

กาเมตีติ = กาโม (วา) กามียตีติ = กาโม ธรรมชาติใด ย่อมมีความต้องการกามอารมณ์ ฉะนั้น ธรรมชาตินั้น ชื่อว่า กามะ ได้แก่ กิเลสกาม คือ กามตัณหา หรือธรรมใด เป็นที่ชอบใจของกามตัณหา ฉะนั้น ธรรมนั้น ชื่อว่า กามะ ได้แก่ วัตถุกาม คือ กามจิต, เจตสิก,

กามสุส ภูโวติ = กาโม ภูมิใด เป็นที่เกิดแห่งกิเลสกามและวัตถุกาม ฉะนั้น ภูมิ นั้นชื่อว่า กามะ ได้แก่ กามภูมิ ๑๑

กาเม อวจรตีติ = กามาวจรํ จิตใด ย่อมท่องเที่ยวเกิดอยู่ในภูมิอันเป็นที่เกิด แห่งกิเลสกามและวัตถุกาม ฉะนั้น จิตนั้น ชื่อว่า กามาวจร

รูปาวจรจิต ๑๕

ปญจธา ฌานเภเทน รูปาวจรมานส์
ปุญญปากกริยาเภทา ต ปญจทสธา ภเว

รูปาวจรจิต ว่าโดยประเภทแห่งฌานแล้ว มี ๕ ประการ เมื่อจําแนกโดย กุศล วิบาก กริยา แล้วมี ๑๕ ประการ

คาถานี้แสดงการรวบรวมจิตที่เป็นรูปาวจรทั้งหมด ทั้งได้แสดงการจําแนกชาติของ จิตเหล่านี้ด้วย ที่ชื่อว่ารูปาวจรจิตนั้น เพราะจิตทั้ง ๑๕ ดวงนี้ท่องเที่ยวเกิดอยู่ในภูมิอันเป็น ที่เกิดแห่งวัตถุรูปและกิเลสรูปเป็นส่วนมาก วัตถุรูปนั้นได้แก่ รูปาวจรจิต ๑๕ เจตสิก ๓๕ กิเลสรูปนั้นได้แก่ รูปตัณหา คือความพอใจในฌาน, อภิญญา, รูปภพ ดังแสดงวจนัตถะว่า

รูปสุส ภโวติ = รูปํ ภูมิใดเป็นที่เกิดแห่งวัตถุรูปและกิเลสรูป ฉะนั้นภูมินั้น ชื่อว่า รูป ได้แก่ รูปภูมิ ๑๖
รูเป อวจรตีติ = รูปาวจรํ จิตใดย่อมท่องเที่ยวเกิดอยู่ในภูมิอันเป็นที่เกิดแห่งกิเลส รูปและวัตถุรูป ฉะนั้น จิตนั้น ชื่อว่า รูปาวจร

อรูปาวจรจิต ๑๒

อาลมพนรูปเภเทน จตุธารุปปมานสํ
ปุญญปากกริยาเภทา ปูน ทวาทสธา ฐิติ

อรูปาวจรจิตว่าโดยประเภทแห่งอารมณ์ มี ๔ อย่าง เมื่อจําแนกโดยกุศลวิบาก กริยา แล้วมี ๑๒

คาถานี้แสดงการรวบรวมจิตที่เป็นอรูปาวจรทั้งหมด ทั้งได้แสดงการจําแนกชาติของ จิตเหล่านี้ด้วย ที่ชื่อว่าอรูปาวจรจิตนั้น เพราะจิตทั้ง ๑๒ ควงนี้ ท่องเที่ยวเกิดอยู่ในภูมิอัน เป็นที่เกิดแห่งวัตถุอรูปและกิเลสอรูปเป็นส่วนมาก วัตถุอรูปนั้น ได้แก่ อรูปาวจรจิต ๑๒ เจตสิก ๓๐ กิเลสอรูปนั้น ได้แก่ อรูปตัณหา คือความพอใจในอรูปฌานและอรูปภพ ดัง แสดงวจนัตถะว่า

อรูปสุส ภูโวติ = อรูปํ ภูมิใด เป็นที่เกิดแห่งวัตถุอรูปและกิเลสอรูป ฉะนั้น ภูมิ นั้นชื่อว่า อรูป ได้แก่ อรูปภูมิ ๔

อรูเป อวจรตีติ = อรูปาวจรํ จิตใด ย่อมท่องเที่ยวเกิดอยู่ในภูมิอันเป็นที่เกิด แห่งกิเลสอรูปและวัตถุอรูป ฉะนั้น จิตนั้น ชื่อว่า อรูปาวจร

มหัคคตจิต ๒๗

รูปาวจรจิต ๑๕ อรูปาวจรจิต ๑๒ รวมเป็น ๒๗ ชื่อว่า มหัคคตจิต ที่ชื่อว่า มหัคคตจิต นั้น เพราะจิตเหล่านี้เข้าถึงความเป็นใหญ่และประเสริฐ ดังแสดงวงนัตถะว่า

มหนุตํ คโตติ = มหยุคโต จิตใด ย่อมเข้าถึงความเป็นใหญ่และประเสริฐ ฉะนั้น จิตนั้น ชื่อว่า มหัคคตะ

โลกียจิต ๘๑

กามาวจรจิต ๕๔ มหัคคตจิต ๒๗ รวมเป็น ๘๑ ชื่อว่า โลกียจิต ที่ชื่อว่าโลกียจิต นั้น เพราะจิตเหล่านี้ย่อมเกิดอยู่ในโลกทั้ง ๓ คือ กามโลก รูปโลก อรูปโลก ดังมีวจนัตถะว่า

โลเกนิยุตตาติ = โลกิยา ธรรมเหล่าใด ประกอบอยู่ในโลกทั้ง ๓ เป็นนิตย์ ฉะนั้น ธรรมเหล่านั้น ชื่อว่า โลกียะ

นับจํานวนจิต ๘๙ โดยสัญชาติทั้ง ๔

ทวาทสากุสลาเนว กุสลาเนกวีสติ ฉตุติเสว วิปากานิ กริยจิตตาน วีสติ

นับจํานวนจิต ๘๙ โดยประเภทแห่งสัญชาติ ทั้งนี้คือ อกุศลจิตมี ๑๒ กุศลจิตมี ๒๑ วิปากจิตมี ๓๖ กริยาจิตมี ๒๐

นับจํานวนจิต ๘๙ โดยภูมิ

จตุปญญาสธา กาเม รูเป ปนนรสีรเย จิตตาน ทวาทสารเป อฏรธานุตตเร ตถา

นักศึกษาทั้งหลายพึงนับจํานวนจิต ๘๙ โคยประเภทแห่งภูมิทั้ง ๔ ดังนี้คือ จิตที่ สงเคราะห์เข้าในกามภูมิ ๕๔ จิตที่สงเคราะห์เข้าในรูปภูมิ ๑๕ จิตที่สงเคราะห์เข้าในอรูปภูมิ ๑๒ จิตที่สงเคราะห์เข้าในโลกุตตรภูมิ ๘

ภูมิมี ๒ อย่าง คือ
๑. ฐานภูมิ = เป็นที่อยู่ของสัตว์ทั้งหลาย ได้แก่ ภูมี ๓๑ ภูมิ
๒. อวัตถาภูมิ = ธรรมทั้งหลายที่ถูกกําหนดเขตโดยตัณหาทั้ง ๓

อวัตถาภูมิ มี ๔ อย่าง คือ
๑. กามอวัตถาภูมิ = ธรรมที่ถูกกําหนดเขตโดยกามตัณหา ได้แก่ กามจิต ๕๔ เจตสิก ๕๒ รูป ๒๘
๒. รูปอวัตถาภูมิ = ธรรมที่ถูกกําหนดเขต โคยรูปตัณหา ได้แก่ รูปาวจรจิต ๑๕ เขตสึก ๒๕
๓. อรูปอวัตถาภูมิ = ธรรมที่ถูกกําหนดเขตโดยอรูปตัณหา ได้แก่ อรูปาวจรจิต ๑๒ เจตสิก ๓๐
๔. โลกุตตรอวัตถาภูมิ = ธรรมที่พ้นจากการถูกกําหนดเขตโดยตัณหาทั้ง ๓ ได้แก่ โลกุตตรจิต ๘ เจตสิก ๓๖ นิพพาน

ฉะนั้น ที่เรียกว่ากามภูมิ รูปภูมิ อรูปภูมิ นั้น มีได้ทั้งสองภูมิ ส่วนโลกุตตรภูมินั้น มีแต่อวัตถาภูมิอย่างเดียว

โลกุตตรจิต โดยย่อ และโดยพิสดาร

๑. จตุมคุคปปเกเทน จตุธา กุสล ตถา
ปาก ตสุส ผลตตาติ อฎรธานุตตร์ มติ

๒. ฌานงคโยคเกเทน กเตวเกกนุตุ ปญจธา
วุจจตานุตตร์ จิตต์ จัตตาฬิสวีธนุติ จ

๑. นักศึกษาทั้งหลายพึงทราบโลกุตตรจิตโดยย่อมี ๘ คือ กุศลจิต ว่าโดยประเภท แห่งมรรคมี ๔ วิปากจิตก็มี ๔ เพราะเป็นผลของมรรคทั้ง ๔
๒. โลกุตตรจิต ๘ เมื่อแสดงโดยพิสดารมีถึง ๔๐ นั้น เพราะว่า โดยประเภทแห่ง การประกอบขององค์ฌานแล้ว โลกุตตรจิตดวงหนึ่งๆ มี ๕ ฉะนั้น โลกุตตรจิต ๘ จึงเป็น ๔๐

ฌานจิต ๖๗

๑. ยถา จรูปาวจร คยุหตานุตตร์ ตถา
ปรมาที่ซุณานเภเท อารุปปญจาปี ปญจเม
๒. เอกาทสวิธ ตุสุมา ปฐมาทิกมีริต
ฌานเมเกกมนุเต ตุ เตรีสติวิธี ภเว

๑. รูปาวจรจิตนับสงเคราะห์ในฌานทั้ง ๕ มีปฐมฌาน เป็นต้น ได้ฉันใด โลกุตตร จิตก็นับสงเคราะห์ในฌานทั้ง ๕ มีปฐมฌาน เป็นต้นได้ฉันนั้น ส่วนอรูปาวจรจิต ๑๒ นั้น นับสงเคราะห์ในปัญจมฌาน

๒. ฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ฌานจิตอันหนึ่งๆ มีปฐมฌานเป็นต้น มี ๑๑ ดวง สําหรับ ปัญจมฌานจิต มี ๒๓ ดวง

คาถานี้แสดงการรวบรวมฌานจิตที่เป็น โลกียะและโลกุตตระทั้งหมด คือ ปฐมฌาน จิตมี ๑๑ ได้แก่ โลกียปฐมฌานจิต ๓ โลกุตตรปฐมฌานจิต ๘ ทุติยฌานจิต ๑๑ ตติยฌานจิต ๑๑ จตุตถฌานจิต ๑๑ ก็เหมือนกัน สําหรับปัญจมฌานจิต ๒๓ นั้นคือ โลกียปัญจมฌานจิต ๑๕ ได้แก่ รูปาวจรปัญจมฌานจิต ๓ อรูปาวจรจิต ๑๒ โลกุตตรปัญจมฌานจิต ๘

จิตเหล่านี้ที่เป็นฌานจิตได้นั้น เพราะประกอบด้วยองค์ฌานทั้ง ๕ มีวิตก เป็นต้น เป็นประธานเข้าไปเพ่งในกรรมฐานอารมณ์บ้าง นิพพานอารมณ์บ้าง ส่วนโลกุตตรจิต โดย ย่อนั้น ถึงแม้จะมีเจตสิกทั้ง ๕ ควงนี้ประกอบอยู่ด้วยก็จริง แต่เจตสิกเหล่านี้ไม่ถึงองค์ฌาน เพราะไม่มีการเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กันกับการเพ่งสมถอารมณ์แต่อย่างใด ทั้งในภพนี้และในภพ ก่อน เพราะเหตุนี้ โลกุตตรจิตโดยย่อจึงไม่เรียกว่าฌานจิต ยังมีวจนัตถะว่า

กสิณาที่อารมุมณ์ ณายติ อุปนิชฌายตีติ = ฌานํ เจตสิกทั้งหลายมี วิตก เป็นต้น ย่อมเข้าเพ่งอารมณ์ มี กสิณ เป็นต้น ฉะนั้น เจตสิกเหล่านั้นชื่อว่า ฌาน ได้แก่ องค์ฌานทั้ง ๕ มี วิตก เป็นต้น

วิตกกาทิณานงเคหิ สมปยุตต์ จิตตนุติ = ฌานจิตตํ จิตใดย่อมประกอบกับ องค์ฌาน ๕ มี วิตก เป็นต้น ฉะนั้น จิตนั้นชื่อว่า ฌานจิต

จําแนกจิต ๑๒๑ เป็นนัย ๆ มีอยู่ ๙ นัย

๑. ชาติเภทนัย = การแยกประเภทของจิตโดยชาติ มี ๔ ชาติ คือ อกุศลชาติ กุศลชาติ วิปากชาติ กริยาชาติ
๒. ภูมิเภทนัย = การแยกประเภทของจิตโดยภูมีทั้ง ๔ คือ กามภูมิ รูปภูมิ อรูปภูมิ โลกุตตรภูมิ
๓. โสภณเภทนัย = การแยกประเภทของจิตโดยอโสภณะ และโสภณะ
๔. โลกเภทนัย = การแยกประเภทของจิต โดย โลกียะ และโลกุตตระ
๕. เหตุเภทนัย = การแยกประเภทของจิต โดยอเหตุกะ และสเหตุกะ
๖. ฌานเภทนัย = การแยกประเภทของซิตโดยอฌาน และฌาน
๗. เวทนาเภทนัย = การแยกประเภทของจิตโดยเวทนา ๕ คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา โสมนัสเวทนา โทมนัสเวทนา อุเบกขาเวทนา
๘. สัมปโยคเภทนัย = การแยกประเภทของจิต โดยสัมปยุตต์ และวิปปยุตต์
๙. สังขารเภทนัย = การแยกประเภทของจิตโดยอสังขาริก และสสังขารึก

จําแนกจิต ๑๒๑ โดยชาติเภทนัย
จิตที่เป็นอกุศลชาติ หรืออกุศลจิต มี ๑๒ คือ ฯลฯ
จิตที่เป็นกุศลชาติ หรือกุศลจิต มี ๓๗ คือ ฯลฯ
จิตที่เป็นวิปากชาติ หรือวิปากจิต มี ๕๒ คือ ฯลฯ
จิตที่เป็นกริยาชาติ หรือกริยาจิต มี ๒๐ คือ ฯลฯ

จําแนกจิต ๑๒๑ โดยภูมิเภทนัย
จิตที่เป็นกาม หรือกามจิต มี ๕๔ คือ ฯลฯ
จิตที่เป็นรูป หรือรูปจิต มี ๑๕ คือ ฯลฯ
จิตที่เป็นอรูป หรืออรูปจิต มี ๑๒ คือ ฯลฯ
จิตที่เป็นโลกุตตระ หรือโลกุตตรจิต มี ๔๐ คือ ฯลฯ

จําแนกจิต ๑๒๑ โดยโสภณเภทนัย
จิตที่เป็นอโสภณะ หรืออโสภณจิต มี ๓๐ คือ ฯลฯ
จิตที่เป็นโสภณะ หรือโสภณจิต มี ๙๑ คือ ฯลฯ

จําแนกจิต ๑๒๑ โดยโลกเภทนัย
จิตที่เป็นโลกียะ หรือโลกียจิต มี ๘๑ คือ ฯลฯ
จิตที่เป็นโลกุตตระ หรือโลกุตตรจิต มี ๔๐ คือ ฯลฯ

จําแนกจิต ๑๒๑ โดยเหตุเภทนัย
จิตที่เป็นอเหตุกะ หรืออเหตุกจิต มี ๑๘ คือ ฯลฯ
จิตที่เป็นสเหตุกะ หรือสเหตุกจิต มี ๑๐๓ คือ ฯลฯ

จําแนกจิต ๑๒๑ โดยฌานเภทนัย
จิตที่ไม่ประกอบด้วยองค์ฌาน ชื่อว่า อฌานจิต มี ๕๔ คือ ฯลฯ
จิตที่ประกอบด้วยองค์ฌาน ชื่อว่า ฌานจิต มี ๖๗ คือ ฯลฯ

จําแนกจิต ๑๒๑ โดยเวทนาเภทนัย
สุขสหคตจิตมี ๑ คือ ฯลฯ
ทุกขสหคตจิตมี ๑ คือ ฯลฯ
โสมนัสสหคตจิต มี ๖๒ คือ ฯลฯ
โทมนัสสหคตจิตมี ๒ คือ ฯลฯ
อุเบกขาสหคตจิตมี ๕๕ คือ ฯลฯ

จําแนกจิต ๑๒๑ โดยสัมปโยคเภทนัย
จิตที่เป็นสัมปยุตต์ - มี ๘๗ คือ ฯลฯ
จิตที่เป็นวิปปยุตต์ - มี ๓๔ คือ ฯลฯ

จําแนกจิต ๑๒๑ โดยสังขารเภทนัย
จิตที่เป็นอสังขาริก หรืออสังขาริกจิต มี ๓๗ คือ ฯลฯ
จิตที่เป็นสสังขารึก หรือสสังขารึกจิต มี ๘๔ คือ ฯลฯ

หมายเหตุ
อเหตุกจิต ๑๘ สงเคราะห์เข้าในวิปปยุตต์
ฌานจิต ๖๗ สงเคราะห์เข้าในสัมปยุตต์
โมหมูลจิต ๒ อเหตุกจิต ๑๘ สงเคราะห์เข้าในอสังขาริก
ฌานจิต ๖๗ สงเคราะห์เข้าในสสังขาริก

ภาษาบาลี อาจจะมีผิดพลาดบ้าง เนื่องจากใช้การสแกนเนื้อหา ในส่วนเนื้อหาภาษาไทยตรวจสอบความถูกต้องแล้ว


พิมพ์