วีถิมุตตสังคหะ - ปฏิสนธิจตุกกะ

วีถิมุตตสังคหะ - ปฏิสนธิจตุกกะ

ปริยัติธรรม

ปรมัตถโชติกะ ปริจเฉทที่ ๕ เล่ม ๑ วีถิมุตตสังคหะ ภูมิจตุกกะและปฏิสนธิจตุกกะ รจนาโดย พระสัทธัมมโชติกะ ธัมมาจริยะ

ปฏิสนธิจตุกกะ


ปฏิสนธิ ๔ อย่าง

๑. ชื่อของปฏิสนธิมี ๔ ประการคือ อปายปฏิสนธิ ๑ กามสุคติปฏิสนธิ ๑ รูปาวจรปฏิสนธิ ๑ อรูปาวจรปฏิสนธิ ๑


กามปฏิสนธิ ๑๐



อปายปฏิสนธิ ๑


๒. ในปฏิสนธิ ๕ ประการนั้น อุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบากย่อมเกิดในอบายภูมิ ทั้ง ๔ ภูมิ โดยทําหน้าที่ปฏิสนธิในขณะปฏิสนธิกาล ต่อแต่นั้นทําหน้าที่ภวังค์ และในสุดท้ายของปัจจุบันภพ ทําหน้าที่จุติแล้วก็ขาดไป นี้ชื่อว่าอปายปฏิสนธิอย่าง ๑


กามสุคติปฏิสนธิ ๙

๓. ส่วนอุเบกขาสันติรณกุศลวิบากย่อมเกิดในกามสุคติภูมิโดยทําหน้าที่เป็นปฏิสนธิ ภวังค์ และจุติจิตของมนุษย์ที่พิการต่างๆ คือ

๑. ชจฺจนฺธ ผู้ตาบอดแต่กําเนิด
๒. ชจฺจพธิร ผู้หูหนวกแต่ก๋าเนิด
๓. ชจฺจมานก ผู้จมูกเสียแต่กําเนิด
๔. ชงฺจมูค ผู้เป็นใบ้แต่กําเนิด
๕. ชจฺจชฬ ผู้โง่เง่าแต่กําเนิด
๖. ชจฺจุมฺมตฺตก ผู้เป็นบ้าแต่กําเนิด
๗. ปณฺฑก พวกบัณเฑาะก์
๘. อุภโตพฺยญฺชนก ผู้ปรากฏเป็น ๒ เพศ
๙. นปุํสก ผู้ไม่ปรากฏเพศ
๑๐. มมฺม ผู้ติดอ่าง

และของ วินิปาติกอสูร อสูรที่อาศัยภุมมัฏฐเทวดา (เทวดาที่อาศัยอยู่ตามภูเขา ต้นไม้ และสถานที่ต่างๆ และรุกขเทวดา) ทั้งหลายอยู่

๔. ส่วนมหาวิปากจิต ๘ ย่อมเกิดในกามสุคติภูมิ ๗ แม้ทั้งหมด ด้วยอํานาจ ปฏิสนธิ ภวังค์ จุติ
๕. ปฏิสนธิจิตทั้ง ๙ ที่ได้กล่าวมาแล้วนี้ คืออุเบกขาสันติรณกุศลวิบาก ๑ มหาวิบาก ๘ ชื่อว่า กามสุคติปฏิสนธิ
๖. ก็ปฏิสนธิทั้ง ๑๐ ดังที่ได้กล่าวมาแล้วนี้ คืออุเบกขาสันตีรณจิต ๒ มหาวิปากจิต ๘ ย่อมนับว่า กามาวจรปฏิสนธิเหมือนกัน


อายุโดยประมาณของกามบุคคล

๗. ในบรรดากามปฏิสนธิบุคคลนั้น การกําหนดนับอายุของสัตว์ผู้เกิดในอบายภูมิ ๔ ของมนุษย์ และของวินิปาติกอสุรา ย่อมไม่มีกําหนดแน่นอน
๘. ประมาณอายุของเทวดาชั้นจาตุมหาราชิกานับได้ ๕๐๐ ปีทิพย์ ถ้านับโดยอายุของมนุษย์ประมาณ ๙ ล้านปี

๙.
ประมาณอายุของเทวดาชั้นดาวดึงสา มี ๔ เท่าประมาณอายุของเทวดาชั้นจาตุมหาราชิกา
ประมาณอายุของเทวดาชั้นยามา มี ๔ เท่าประมาณอายุของเทวดาชั้นดาวดึงสา
ประมาณอายุของเทวดาชั้นดุสิต มี ๔ เท่าประมาณอายุของเทวดาชั้นยามา
ประมาณอายุของเทวดาชั้นนิมมานรดี มี ๔ เท่าประมาณอายุของเทวดาชั้นดุสิต
ประมาณอายุของเทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัตตี มี ๔ เท่าประมาณอายุของเทวดาชั้นนิมมานรดี


อายุของปรนิมมิตวสวัตตีเทวดาเทียบกับอายุของมนุษย์

๑๐. ประมาณอายุของเทวดาในชั้นปรนิมมิตวสวัตตี ถ้านับโดยปีของมนุษย์ก็เป็น ๙๒๑ โกฏิ ๖ ล้านปี


รูปปฏิสนธิ ๖ ประการ

๑๑. ปฐมฌานวิปากจิตย่อมเกิดในปฐมฌานภูมิ โดยความเป็นปฏิสนธิ ภวังค์ และจุติ
๑๒. ทุติยฌานวิปากจิต และตติยฌานวิปากจิต ย่อมเกิดในทุติยฌานภูมิโดยความเป็นปฏิสนธิ จิต ภวังคจิต และจุติจิตเหมือนกัน
๑๓. จตุตถฌานวิปากจิต ย่อมเกิดใน ตติยฌานภูมิ โดยความเป็นปฏิสนธิจิต ภวังคจิต และจุติจิตเหมือนกัน
๑๔. ปัญจมฌานวิปากจิต ย่อมเกิด ในจตุตถฌานภูมิ โดยความเป็นปฏิสนธิจิต ภวังคจิต และจุติจิตเหมือนกัน
๑๕. แต่รูปอย่างเดียวเท่านั้นเป็นปฏิสนธิของอสัญญสัตตพรหมทั้งหลาย ในปวัตติกาลที่ต่อจากปฏิสนธิขณะ รูปอย่างเดียวเท่านั้นที่เกิดอยู่ และในจุติขณะ รูปอย่างเดียวเท่านั้นก็ดับลงเช่นเดียวกัน
๑๖. ปฏิสนธิทั้ง ๖ นี้ คือ รูปวิปากจิต ๕ กัมมชรูป ๑ ชื่อว่า รูปาวจรปฏิสนธิ


อายุโดยประมาณของรูปบุคคล

๑๗. ในรูปปฏิสนธิบุคคล เหล่านั้น ส่วน ๑ ใน ๓ ของวิวัฏฏฐายีอสงไขยกัป เป็นประมาณอายุของพวกพรหมปุโรหิตา วิวัฏฏฐายีอสงไขยกัปหนึ่ง เป็นประมาณอายุของมหาพรหม

๑๘.
๒ มหากัป เป็นประมาณอายุ ของ ปริตตาพรหม
๔ มหากัป เป็นประมาณอายุ ของ อัปปมาณาภพรหม
๘ มหากัป เป็นประมาณอายุ ของ อาภัสสรพรหม

๑๙.
๑๖ มหากัป เป็นประมาณอายุ ของ ปริตตสุภพรหม
๓๒ มหากัป เป็นประมาณอายุ ของ อัปปมาณสุภพรหม
๖๔ มหากัป เป็นประมาณอายุ ของ สุภกิณหพรหม

๒๐. ๕๐๐ มหากัปเป็นประมาณอายุของเวหัปผลพรหมและอสัญญสัตตพรหม

๒๑.
๑ พันมหากัป เป็นประมาณอายุ ของ อวิหพรหม
๒ พันมหากัป เป็นประมาณอายุ ของ อตัปปพรหม
๔ พันมหากัป เป็นประมาณอายุ ของ สุทัสสพรหม
๘ พันมหากัป เป็นประมาณอายุ ของ สุทัสสีพรหม
๑ หมื่น ๖ พันมหากัป เป็นประมาณอายุ ของ อกนิฏฐพรหม


อรูปปฏิสนธิ ๔

๒๒. อากาสานัญจายตนวิปากจิตเป็นต้น ย่อมเกิดในอากาสานัญจายตนภูมิเป็นต้นตามลําดับ โดยความเป็นปฏิสนธิ ภวังค์ และจุติ
๒๓. ปฏิสนธิทั้ง ๔ นี้ ชื่อว่า อรูปาวจร ปฏิสนธิอายุโดยประมาณของอรูปบุคคล
๒๔. ในอรูปปฏิสนธิบุคคลเหล่านั้น ๒ หมื่นมหากัปเป็นประมาณอายุพรหม ที่เกิดอยู่ในอากาสานัญจายตนภูมิ
๒๕. ๔ หมื่น มหากัปเป็นประมาณอายุของพรหมที่เกิดอยู่ในวิญญานัญจายตนภูมิ
๒๖. ๖ หมื่นมหากัป เป็นประมาณอายุของพรหมที่เกิดอยู่ในอากิญจัญญายตนภูมิ
๒๗. ๘ หมื่น ๔ พันมหากัป เป็นประมาณอายุของพรหมที่เกิดอยู่ในเนวสัญญานาสัญญายตนภูมิ


จิต ๓ อย่าง

ที่มีองค์ธรรมและอารมณ์อย่างเดียวกัน เฉพาะชาติเดียว

ปฏิสนฺธิ ภวงฺคณฺจ ตถา จวนมานสํ
เอกเมว ตเถเวก วิสยญฺเจกชาติยํ.

ในชาติหนึ่งนั้น ปฏิสนธิจิต ภวังคจิต และจุติจิต รวม ๓ อย่างนี้ เป็นจิตอย่างเดียวกัน และอารมณ์ของปฏิสนธิจิต ภวังคจิต และจุติจิต ก็ต้องเป็นอย่างเดียวกัน อิทเมตฺถ ปฏิสนฺธิจตุกฺกํ คําอธิบายที่ได้กล่าวมาแล้วนี้ เรียกว่าปฏิสนธิจตุกกะ ในวิถีมุตตสังคหะนี้


เวลาที่พระศรีอาริยเมตไตรยอุบัติขึ้นในมนุษยโลก

เมื่อมนุษย์ทั้งหลายมีอายุยืนถึงอสงไขยปีแล้ว การรู้จักความแก่ ความเจ็บ ความตาย ก็ค่อยๆ หายไป เพราะการมีอายุยืนมากนั้นเองทําให้เกิดมีความประมาทขึ้น เมื่อมีความประมาทแล้ว ทิฏฐิต่างๆ และมานะก็เกิดขึ้น เมื่อเกิดมีทิฏฐิมานะ มากขึ้นแล้ว กิเลสต่างๆ ก็เกิดขึ้น อกุศลกรรมต่างๆ ก็เกิดมีขึ้นเป็นลําดับ เมื่อกิเลสต่างๆ และอกุศลกรรมต่างๆ เกิดมีเป็นขึ้นเช่นนี้ อายุของมนุษย์ก็ค่อยๆ ลดลงจาก อสงไขยปีลงมาเป็นลําดับ จนกระทั่งเหลือแปดหมื่นปี ในเวลานี้แหละพระศรีอาริยเมตไตรยจะได้มาอุบัติขึ้นในมนุษยโลก ดังมีพุทธภาษิตแสดงไว้ในจักกวัตติสูตรใน สุตตันตปาฏิกวรรคว่า

อสีติวสฺสสหสฺสายเกสุ ภิกขเว มนุสเสส เมตเตยโย นาม ภควา โลเก อุปฺปชฺชิสฺสติ
แปลความว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในยุคที่มนุษย์มีอายุแปดหมื่นปี พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า เมตเตยะ เป็นผู้มีโชค จะ อุบัติขึ้นในโลกฉะนั้น

[จบโดยอธิบายขยายความ]

ภาษาบาลี อาจจะมีผิดพลาดบ้าง เนื่องจากใช้การสแกนเนื้อหา ในส่วนเนื้อหาภาษาไทยตรวจสอบความถูกต้องแล้ว


พิมพ์