เนกขัมมานิสังสกถา - การออกจากกาม

เนกขัมมานิสังสกถา - การออกจากกาม

ปริยัติธรรม

หนังสือ ตามรอยพระธรรม ของ พระบรมศาสดา ผู้เขียน สุรีย์ มีผลกิจ

อนุปุพพิกถา อันดับที่ ๕ คือ เนกขัมมานิสังสกถา เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงให้เห็นโทษของกาม คือความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัสโดยประการต่างๆ แล้ว ต่อจากนั้น ทรงแสดงอานิสงส์แห่งการออกจากกาม กล่าวถึงผลดีของการไม่หมกมุ่นเพลิด เพลินติดอยู่ในกาม มีฉันทะที่จะแสวงหาความดีงาม และความสุขสงบ ที่ประณีตยิ่งขึ้น ชี้แจงให้เห็นคุณของ กายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต การออกบวชเป็นบรรพชิต และการพ้นจากทุกข์ในอบาย


** ขุททกนิกาย จริยาปิฎก เล่ม ๙/๓ ปกิณณกกถา หน้า ๕๙๕ กล่าวถึงอัธยาศัยในเนกขัมมะ ของพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย ๖ ประการ ได้แก่

  1. เห็นโทษในกาม และในการครองเรือน
  2. เห็นโทษในการคลุกคลี
  3. เห็นโทษในโลภะ
  4. เห็นโทษในโทสะ
  5. เห็นโทษในโมหะ
  6. เห็นโทษในการออกจากทุกข์

อัธยาศัย ๖ ประการนี้ พึงทราบว่าเป็นปัจจัยแห่งบารมีทั้งหลาย ได้แก่ ทานบารมี ศีลบารมี เนกขัมมบารมี ปัญญาบารมี วิริยบารมี ขันติบารมี สัจบารมี อธิษฐานบารมี เมตตาบารมี และอุเบกขาบารมี

บุคคลผู้บําเพ็ญบารมี ๑๐ ประการนี้ ย่อมเป็นทางไปสู่พระนิพพานอันประเสริฐสุด และพึงทราบว่าเป็น พุทธการกธรรม คือธรรมที่ ทําให้เป็นพระพุทธเจ้า



เนกขัมมะของพระโพธิสัตว์

พระชาติสุดท้าย

** ขุททกนิกายอปทาน เล่ม ๘/๑ อวิทูเรนิทานกถา หน้า ๑๐๐ ๑๕๒ ครั้งที่พระโพธิสัตว์ประสูติ พระเจ้าสุทโธทนะและพระประยูรญาติเฉลิมพระนามแด่พระราชโอรส ให้เชิญพราหมณ์บัณฑิตผู้ตรวจ ลักษณะมาทํานายพราหมณ์ ๗ คนพยากรณ์เป็นสองส่วนว่าผู้ประกอบด้วยพระลักษณะเช่นนี้ หากอยู่ครองฆราวาสจักได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ หากผนวชจักได้เป็น พระพุทธเจ้า แต่โกณฑัญญะพราหมณ์ซึ่งมีอายุน้อยกว่าทุกคน ได้พยากรณ์เป็นส่วนเดียวว่า ท่านผู้นี้ไม่มีเหตุที่จะดํารงอยู่ในฆราวาสวิสัย จักเป็นพระพุทธเจ้าโดยส่วนเดียว

พระราชาสดับพยากรณ์ของพราหมณ์เหล่านั้นแล้ว ตรัสถามว่า บุตรของเราเห็นอะไรจึงจะผนวช พราหมณ์เหล่านั้นทูลว่า ทรงเห็นนิมิต ๔ คือ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และนักบวช พระราชาจึงรับสั่งว่าจําเดิมแต่นี้ไป พวกท่านอย่าให้นิมิตเหล่านี้เข้าไปยังสํานักแห่งบุตรเรา เราไม่ต้องการให้บุตรเราเป็นพระพุทธเจ้า เราต้องการเห็นบุตรเราครอบครองราชสมบัติ ตรัสดังนี้แล้ว รับสั่งให้วางอารักขาไว้ในที่ทุกคาวุตโดยรอบ เพื่อป้องกันมิให้นิมิตเหล่านั้นเข้ามาปรากฏในสายตาของพระกุมาร

ต่อมา พระโพธิสัตว์มีพระชันษา ๑๖ พระราชาโปรดให้สร้างปราสาท ๓ หลัง ๓ ฤดู แล้วสถาปนาพระโพธิสัตว์ไว้ในสิริราชสมบททรงอภิเษกพระนางยโสธรา พระราชธิดาของพระเจ้าสุปปพุทธะแห่งเทวทหนครให้เป็นอัครมเหสี มีสตรีสี่หมื่นนางเป็นนางสนม เสวยมา สมบัติประทับอยู่ในปราสาท ๓ หลังนั้น เปลี่ยนไปตามฤดู

วันหนึ่ง พระโพธิสัตว์ประสงค์จะไปประพาสอุทยาน ทรงพบ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย อันเทวดาเนรมิตในระหว่างทางโดยลําดับ ทรงสลดพระทัยดําริว่าความเกิดนี้น่าติเตียนจริงหนอ เพราะความแก่ และ ความตายจักต้องปรากฏแก่สัตว์ผู้เกิดแล้ว แน่นอน อีกวันหนึ่งเสด็จไป อุทยานอีก ได้พบบรรพชิตนุ่งห่มเรียบร้อยที่เทวดาเนรมิตเช่นกัน พระโพธิสัตว์ถามสารถี สารถีแม้จะไม่รู้จักบรรพชิต เพราะพระพุทธเจ้ายังไม่อุบัติก็จริง แต่สารถีก็ตอบไปด้วยอํานาจเทวดา แล้วพรรณนาคุณแห่งการบวช พระโพธิสัตว์บังเกิด ความพอพระทัยในการบรรพชา

พระโพธิสัตว์เมื่อเสด็จกลับขึ้นปราสาทแล้ว เสด็จบรรทมบน พระแท่นไสยาสน์ เหล่าสตรีงามเลิศด้วยรูปโฉมประดุจเทพกัญญาแวดล้อมพระโพธิสัตว์ ให้อภิรมย์ยินดีด้วยดนตรีนานาชนิด แต่พระโพธิสัตว์ มีพระทัยเบื่อหน่ายในกาม ครู่เดียวก็หลับไป สตรีเหล่านั้นเมื่อเห็นพระโพธิสัตว์บรรทมหลับ ต่างก็วางเครื่องดนตรีแล้วนอนหลับเช่นเดียวกัน

เมื่อตื่นจากบรรทม พระโพธิสัตว์ทอดพระเนตรเห็นสตรีเหล่านั้นนอนหลับทับเครื่องดนตรี ทอดพระเนตรเห็นอาการแปลก ๆ ของ สตรีเหล่านั้นในเวลาหลับ ก็ยิ่งเพิ่มความเบื่อหน่ายในกามสุดประมาณ ทรงเปล่งอุทานว่า วุ่นวายจริงหนอ ขัดข้องจริงหนอ พระทัยก็น้อมไปใน การบรรพชายิ่งขึ้น ดําริว่า วันนี้เราจักออกมหาภิเนษกรมณ์

ในคืนนั้นเอง พระโพธิสัตว์เสด็จออกจากพระนครกับนายฉันนะและม้ากัณฐกะ เสด็จถึงฝั่งน้ำอโนมา ทรงตัด พระเกศาด้วยพระองค์เอง อธิษฐานว่า ถ้าเราจักได้เป็นพระพุทธเจ้าให้พระเกศานี้ตั้งอยู่ในอากาศ ถ้าไม่ได้เป็นจักตกลงบนพื้นดิน แล้วทรงเหวี่ยงกําพระเกศานั้นขึ้นไปในอากาศ ขณะนั้นท้าวสักกเทวราชรับกําพระจุฬานั้นไว้ นําไป ประดิษฐานไว้ในพระจุฬามณีเจดีย์ในดาวดึงสพิภพ

พระโพธิสัตว์ดําริว่า ผ้ากาสิกพัสตร์ที่สวมใส่อยู่นี้ไม่สมควรแก่สมณะ ขณะนั้นฆฏิการมหาพรหม ผู้เป็นสหายเก่าของพระโพธิสัตว์ ในครั้งพระกัสสปพุทธเจ้า นําบริขาร ๘ มาถวาย พระโพธิสัตว์ทรงครองผ้าถือเพศบรรพชิตอันอุดม แล้วทรงเหวี่ยงผ้ากาสิกพัสตร์ไปในอากาศ ท้าวมหาพรหมรับผ้าคู่นั้นแล้วนําไปยังพรหมโลก สร้างเจดีย์บรรจุไว้



เนกขัมมะของคู่อัครสาวก

** ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑/๖ หน้า ๒๖๒-๒๗๒ อุปติสสะ เป็นบุตรของนางพราหมณีชื่อ รูปสารี ในอุปติสสคาม โกลิตะ เป็นบุตรของนางพราหมณีชื่อ โมคคัลลานี ในโกลิตคาม ไม่ไกลจาก กรุงราชคฤห์ ทั้งสองตระกูลเป็นสหายติดต่อกันมาช้านาน และทั้งคู่ก็ เกิดในวันเดียวกัน เด็กทั้งสองจึงเป็นสหายวิ่งเล่นมาด้วยกัน เมื่อจะไปเที่ยวในสถานที่ใด อุปติสสะจะไปด้วยวอทอง โกลิตะจะไปด้วยรถ เทียมม้าอาชาไนยพร้อมด้วยบริวารเสมอ

ครั้งหนึ่งในกรุงราชคฤห์มีมหรสพบนยอดเขา ในงานประจําปี พวกชาวแคว้นอังคะและแคว้นมคธะต่างพากันไปชมมหรสพ สหายทั้งสองพร้อมกับบริวารไปเที่ยวชมงานนั้นเป็นประจํา ได้หัวเราะในเรื่องที่ควรชวนให้หัวเราะ เศร้าสลดใจในเรื่องที่ชวนให้เศร้าสลด ให้รางวัลในตอนที่ควรให้รางวัลแก่ผู้แสดง ด้วยความสนุกสนานเพลิดเพลิน

ในวันนั้นขณะที่กําลังชมการแสดงต่างๆ อยู่ทั้งสองคนต่างมีความคิดว่า ชนเหล่านี้พากันรื่นเริง อยู่ไปไม่ถึงร้อยปีก็จักตาย บังเกิดความเบื่อหน่าย เกิดความสังเวชจิตใจของสหายทั้งสองมิได้สนใจที่จะดูการละเล่นนั้น เมื่อมหรสพเลิก ชนทั้งหลายกลับไปหมดแล้ว ต่างทราบ ความคิดของกันและกันแล้ว ชวนกันว่าเราจักไปบวชแล้วแสวงหาอมตธรรมกันเถิด นี้เป็นเนกขัมมะของคู่อัครสาวก

ต่อจากนั้น สหายทั้งสองสละสมบัติแล้วเดินทางกลับมายังกรุงราชคฤห์อีก ได้เข้าบวชในสํานักของสัญชัยปริพาชก เรียนจบไตรเพท และลัทธิของปริพาชกในเวลาเพียง ๒-๓ วัน ก็ยังมิอาจจะพบกับอมตธรรม ในระหว่างที่แสวงหาอยู่อย่างนี้ ทราบข่าวว่าพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงอุบัติขึ้นแล้วในโลก จึงลาอาจารย์ออกแสวงหาต่อไป ได้พบกับพระอัสสชิขณะกําลังออกบิณฑบาต ฟังธรรมจากท่านแล้วเกิดความเลื่อมใส ทูลขอบรรพชาอุปสมบท ในสํานักของพระบรมศาสดา

หลังจากอุปสมบทแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าให้นามอุปติสสะ ตามนามของมารดาว่า สารีบุตร ให้นามโกลิตะว่า โมคคัลลานะ

พระมหาโมคคัลลานะอุปสมบทแล้ว หลีกไปบําเพ็ญเพียรอยู่ ณ กัลลวาลมุตตคาม พระบรมศาสดาประทานโอวาท และตรัสธาตุกัมมัฏฐาน ได้บรรลุอรหัตตผลในวันที่ ๗ หลังจากวันอุปสมบท

พระสารีบุตร หลังจากอุปสมบท ๑๕ วัน จึงบรรลุพระอรหัต ในขณะที่พระบรมศาสดาทรงแสดงธรรมแก่ ทีฆนขปริพพาชกผู้หลานชาย ณ ถ้ำสุกรขาตา บนภูเขาคิชฌกูฏ กรุงราชคฤห์ทั้งสองได้เป็น คู่อัครสาวก ของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นี้



เนกขัมมะของคู่อัครสาวิกา

** ขุททกนิกาย อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต หน้า ๘-๒๘ เนกขัมมะของพระเขมาเถรี และพระอุบลวรรณาเถรี คู่อัครสาวิกา สมัยพระพุทธเจ้าพระนามปทุมุตตระนางเขมาเกิดมาในกรุงหังสวดี วันหนึ่ง นางได้พบพระสุชาตเถระ ผู้เป็นอัครสาวก กําลังเที่ยวบิณฑบาต นางได้ถวายขนมต้ม ๓ ก้อน ตั้งความปรารถนาว่า ขอดิฉันพึงมีปัญญามากเหมือนท่าน ในกาลของพระพุทธเจ้าในอนาคตเถิด นางเป็นผู้ไม่ประมาทในกุศล ท่องเที่ยวอยู่ในเทวดาและมนุษย์แสนกัป

ในสมัยของพระพุทธเจ้าพระองค์นี้นางถือปฏิสนธิในราชสกุล กรุงสาคละ แคว้นมัททะ พอเจริญพระชันษา ได้เป็นพระเทวีของพระเจ้าพิมพิสาร แห่งกรุงราชคฤห์ ขณะที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่พระเวฬุวันวิหาร พระนางสดับว่า พระศาสดาทรงแสดงโทษของความมัวเมาในรูป จึงมิกล้าไปเฝ้าพระทศพล ด้วยเกรงจะถูกตําหนิ พระราชาทรงดําริว่า เราเป็นอัครอุปัฏฐากของพระบรมศาสดา แต่อัครมเหสีของอริยสาวกเช่นเรา ยังมิได้เคยเข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดาเลย

พระราชาจึงรับสั่งให้เหล่าราชกวี ประพันธ์คุณสมบัติของพระเวฬุวันราชอุทยาน แล้วขับร้องให้พระนางเขมาทรงได้ยิน เมื่อทรงสดับคําพรรณนาแล้วมีพระประสงค์จะเสด็จไป พระราชาทรงอนุญาตแต่ตรัสว่าไปถึงราชอุทยานแล้ว ให้เข้าเฝ้าพระบรมศาสดา ตรัสกับราชบุรุษว่า ถ้าพระเทวีไม่เฝ้าพระบรมศาสดา จงใช้พระราชอํานาจแสดงแก่พระนา

พระบรมศาสดาทรงเห็นพระนางเสด็จมา จึงทรงเนรมิตเทพอัปสรนางหนึ่ง กําลังถือพัดใบตาลถวายงานพัดอยู่ พระนางเขมาเทวีเทพอัปสรนั้น ถือเอานิมิตนั้นยืนทอดพระเนตรสตรีนั้นอยู่ ด้วยกําลังอธิษฐานของพระบรมศาสดา สตรีนั้นล่วงปฐมวัย ล่วงมัชฌิมวัย ตั้งอยู่ในปัจฉิมวัย เป็นผู้ที่มีหนังเหี่ยวย่น ผมหงอก ฟันหัก เมื่อพระนางกําลังทอดพระเนตรอยู่นั้นเอง สตรีนั้นล้มกลิ้งลงพร้อมกับพัดใบตาล

พระนางเขมาเทวี เป็นผู้ที่สมบูรณ์พร้อมด้วยเหตุที่สั่งสมมานานในเนกขัมมะ ทรงพระดําริว่า สรีระที่มีคความงดงามเพียงนี้ ยังถึงความวิบัติอย่างนี้ได้ แม้สรีระของเรา ก็จักมีคติ (ที่ไป) อย่างนี้เช่นกัน ในขณะที่พระนางมีพระดําริอย่างนี้ พระบรมศาสดาจึงตรัสว่าชนเหล่าใด


ถูกราคะย้อมแล้ว ย่อมตกไปตามกระแส
เหมือนแมงมุมตกไปตามใยข่าย ที่ตนเองทําไว้
ชนเหล่านั้น ตัดกระแสนั้นได้แล้ว
ไม่เยื่อใย ละกามสุขเสีย ย่อมบวช

จบพระคาถา ทั้งที่กําลังประทับยืนอยู่นั้น พระนางเขมาเทวีบรรลุพระอรหัต พร้อมด้วยปฏิสัมภิทา ธรรมดาว่า ผู้อยู่ครองเรือนบรรลุพระอรหัต จําต้องปรินิพพานหรือบวชในวันนั้น แต่พระนางทรงทราบว่า อายุสังขารของพระนางยังเป็นไปได้ ทรงพระดําริว่า จักให้พระราชาทรงอนุญาตการบวช จึงเสด็จกลับพระราชนิเวศน์กราบทูลพระราชาว่า ขอได้โปรดทรงอนุญาตการบรรพชาให้แก่หม่อมฉันเถิด

พระราชาทรงนําพระนางเขมา ไปยังสํานักภิกษุณีด้วยวอทองให้ทรงผนวช ความที่พระนางมีปัญญามาก ได้บรรลุพระอรหัตทั้งที่อยู่ในเพศคฤหัสถ์ ภายหลังพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสถาปนาพระเขมาเถรี ไว้ในตําแหน่งที่เป็นเลิศกว่าภิกษุณีสาวิกา ผู้มีปัญญามาก

ในสมัยของพระปทุมุตตรพุทธเจ้าเช่นกัน พระอุบลวรรณาเถรี เห็นพระบรมศาสดาทรงสถาปนาภิกษุณีรูปหนึ่ง ไว้ในตําแหน่งภิกษุ สาวิกาผู้มีฤทธิ์ จึงถวายมหาทานแด่พระภิกษุมีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน ๗ วัน ปรารถนาตําแหน่งนั้น เวียนว่ายอยู่ในเทวดาและมนุษย์

ในสมัยของพระปทุมุตตรพุทธเจ้าเช่นกัน พระอุบลวรรณาเถรี เห็นพระบรมศาสดาทรงสถาปนาภิกษุณีรูปหนึ่งไว้ในตําแหน่งภิกษุณีสาวิกาผู้มีฤทธิ์ จึงถวายมหาทานแด่พระภิกษุมีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน ๗ วัน ปรารถนาตําแหน่งนั้น เวียนว่ายอยู่ในเทวดาและมนุษย์

ในสมัยของพระกัสสปพุทธเจ้า นางถือปฏิสนธิในพระราชนิเวศน์ เป็นธิดาของพระราชาในกรุงพาราณสี ประพฤติพรหมจรรย์ ทําบริเวณถวายภิกษุสงฆ์ ได้ไปบังเกิดในเทวโลก จุติจากเทวโลกมาสู่โลกมนุษย์ บังเกิดในหมู่บ้านชาวนา วันหนึ่งนางไปยังกระท่อมในนาระหว่างทางเห็นดอกบัวบานแต่เช้าตรู่ในสระ นางลงไปเก็บดอกและใบ แล้วเด็ดรวงข้าวใกล้คันนา นํามาคั่วข้าวตอกนับได้ ๕๐๐ ดอก

ขณะนั้น พระปัจเจกพุทธเจ้าองค์หนึ่งออกจากนิโรธสมาบัติ นางได้ใส่ข้าวตอกลงในบาตรของพระเถระวางดอกบัวลงบนฝาบาตร ตั้งความปรารถนาว่า ด้วยผลานิสงส์ของการถวายข้าวตอกนี้ ขอจงมีบุตรเท่าจํานวนข้าวตอก และขอดอกบัวจงผุดทุกย่างก้าวของดิฉันด้วย ผลของทานนั้นนางถือปฏิสนธิในเทวโลก จําเดิมแต่เวลาที่นางเกิด ดอกบัวขนาดใหญ่ก็ผุดขึ้นรองรับทุกย่างก้าวของนาง

ครั้นจุติจากเทวโลกมาบังเกิดในดอกบัวในสระแห่งหนึ่งใกล้เชิงเขาที่ดาบสองค์หนึ่งอาศัยอยู่ ดาบสนั้นไปสระแต่เช้าตรู่เพื่อล้างหน้า เห็นดอกบัวดอกหนึ่งยังตูมซึ่งดอกอื่นบานหมดแล้ว พอดาบสลงไปจับดอกบัวนก็บาน ดาบสเห็นเด็กหญิงนอนอยู่ในดอกบัว ก็เก็บขึ้นมาบนบรรณศาลา ด้วยบุญญานุภาพของเด็กหญิงนั้น น้ำนมบังเกิดขึ้นที่ผิวหัวแม่มือ เมื่อดอกบัวดอกนั้นเที่ยว ดาบสก็นําดอกอื่นมาแทนให้เป็นที่หลับนอน นับแต่เด็กหญิงนั้นเจริญวัย สามารถวิ่งเล่นไปมาได้ ดอกบัวก็ผุดขึ้นรองรับทุกย่างก้าว ดาบสจึงให้ชื่อว่าปทุมวดี เมื่อดาบสออกไป แสวงหาผลาผลก็ทิ้งไว้ที่บรรณศาลาแต่ลําพัง

ครั้นนางเจริญวัย พรานป่ามาพบนางได้นำความไปกราบทูล พระราชาแห่งกรุงพาราณสี พระราชาจึงเสด็จมาขอต่อดาบส แต่งตั้งให้เป็นพระเทวี ไม่นานนักพระนางปทุมวดีก็ประสูติพระโอรส มหาปทุมอยู่ในพระครรภ์พระองค์เดียว อีก ๔๙๙ องค์บังเกิดเป็นสังเสทชะ

เมื่อพระราชกุมารเหล่านั้นมีพระชันษา ๑๖ พรรษา ทุกพระองค์ก็พร้อมกันลงเล่นในสระ ในพระราชอุทยาน ทรงเห็นดอกบัวดอกใหม่บาน ดอกเก่ากําลังหล่นจากขั้ว ก็พิจารณาเห็นว่าดอกบัวนี้ไม่มีใจครอง ยังประสบกับความร่วงโรยเห็นปานนี้ แม้สรีระของพวกเราก็จักคง มีคติอย่างนี้เหมือนกัน แล้วทรงยึดเป็นอารมณ์ ทุกพระองค์เกิดปัจเจกพุทธญาณ พากันประทับนั่งขัดสมาธิบนกลีบดอกบัว

พวกราชบุรุษเห็นว่า สายมากแล้ว ทูลเชิญให้ขึ้นจากสระก็นิ่ง เฉย ให้ความอารักขาจนรุ่งเช้า พวกราชบุรุษทูลเชิญอีกว่า ขอเทวะทั้งหลายโปรดทราบเวลาเถิดทุกพระองค์ตรัสว่า เราไม่ใช่เทวะ พวกเราชื่อว่าพระปัจเจกพุทธะ พวกราชบุรุษกราบทูลอีกว่า พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายต้องมี เกศายาว ๒ องคุลี มีบริขาร ๘ สวมพระกาย พระเจ้าข้า พระราชกุมารเหล่านั้น เอาพระหัตถ์ขวาลูบพระเศียร ทันใดนั้นเอง เพศคฤหัสถ์ ก็อันตรธานไป ทุกพระองค์เป็นผู้มีบริขาร ๘ สวมพระวรกาย แล้วเสด็จไปยังเงื้อมเขานันทมูลกะ ทั้ง ๆ ที่มหาชนกําลังมองดูอยู่นั้นเอง

ครั้นมาในสมัยพระพุทธเจ้าพระองค์นี้นางถือปฏิสนธิในครอบครัวเศรษฐี เพราะนางมีผิวพรรณเสมอด้วยดอกอุบล บิดามารดาจึงขนานนามว่า อุบลวรรณา เมื่อนางเจริญวัย พระราชาทั่วชมพูทวีปส่งคนไปสู่ขอ แต่นางก็มิได้ยินยอม เศรษฐีผู้เป็นบิดา คิดด้วยความเป็นห่วงใยในธิดาว่า เมื่อนาง ไม่ประสงค์ที่จะครองเรือน เราจําจักหาอุบายสักอย่างหนึ่ง จึงเรียกธิดา มาถามว่า เจ้าบวชได้ไหมลูก

เพราะความที่สั่งสมเนกขัมมะมานาน จนถึงในภพสุดท้ายนี้ คําถามของบิดาจึงเป็นถ้อยคํา ที่ทําให้นางเกิดปิติปราโมทย์สุดประมาณ รับปากกับบิดาในทันทีว่า บวชได้จะพ่อ เศรษฐีจึงพาธิดาไปยังสํานักภิกษุณี ให้นางบรรพชาอุปสมบท เมื่อบวชใหม่ๆ นางมีเวรในโรงอุโบสถ ได้ตามประทีป กวาดโรงอุโบสถ ถือเอานิมิตที่เปลวประทีป มีเตโชกสิณเป็นอารมณ์ ยังให้ฌานบังเกิด แล้วทําฌานนั้นให้เป็นบาทบรรลุพระอรหัต พร้อมด้วยอภิญญา เป็นผู้ชํานาญในการแสดงฤทธิ์ต่าง ๆ

ต่อมา ในวันที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงกระทํายมกปาฏิหาริย์ ที่กรุงสาวัตถี อุบลวรรณาเถรีและบรรดาสาวิกา แม้สามเณรีอายุ ๗ ขวบ ต่างรับอาสาขอแสดงปาฏิหาริย์แทน แต่พระบรมศาสดาตรัสว่า เราทราบอานุภาพของพวกเธอ แต่กิจนี้มิได้เป็นประโยชน์แก่พวกเธอ เพราะยมกปาฏิหาริย์นี้เป็นการแสดงของพระพุทธเจ้าเท่านั้น

ภายหลังพระบรมศาสดาทรงสถาปนาพระอุบลวรรณาเถรี ไว้ในตําแหน่งเอตทัคคะว่า เป็นเลิศกว่าสาวิกาผู้มีฤทธิ์



แสวงหาสิ่งที่ไม่ประเสริฐ และแสวงหาสิ่งที่ประเสริฐ

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดีละ ภิกษุทั้งหลาย การสนทนาธรรมีกถาเป็นสิ่งสมควร พวกเธอเมื่อประชุมกัน ควรทํากิจ ๒ อย่างคือ สนทนาธรรม หรือนั่งนิ่งตามแบบพระอริยะ ภิกษุทั้งหลาย การแสวงหา มี ๒ อย่าง คือ แสวงหาสิ่งที่ไม่ประเสริฐ และแสวงหาสิ่งที่ประเสริฐ

การแสวงหาสิ่งที่ไม่ประเสริฐ ได้แก่ ตนเองเป็นผู้มีความเกิดเป็นธรรมดา ก็ยังแสวงหาสิ่งที่มีความเกิดเป็นธรรมดาอยู่อีก ตนเองเป็นผู้มีความแก่เป็นธรรมดา ก็ยังแสวงหาสิ่งมีความแก่เป็นธรรมดาอีก ตนเองเป็นผู้มีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา ก็ยังแสวงหาสิ่งที่มีความเจ็บไข้เป็นธรรมดาอีก ตนเองเป็นผู้มีความตายเป็นธรรมดา ก็ยังแสวงหาสิ่งที่มีความตายเป็นธรรมดาอีก ตนเองเป็นผู้มีโศกเศร้าเป็นธรรมดา ก็ยังแสวงหาสิ่งที่โศกเศร้าเป็นธรรมดาอีก มิได้รู้ชัดในโทษ และไม่สามารถ บอกได้ว่า สิ่งไรเป็นเหตุแห่งการเกิดสิ่งเหล่านั้น ภิกษุทั้งหลาย นี้คือการแสวงหาที่ไม่ประเสริฐ

การแสวงหาที่ประเสริฐ ได้แก่ ตนเองเป็นผู้มีความเกิดเป็นธรรมดา ย่อมทราบชัดโทษในสิ่งมีความเกิดเป็นธรรมดา ย่อมแสวงหาพระนิพพาน ตนเองเป็นผู้มีความแก่ ความเจ็บไข้...ความตาย..ความโศกเศร้าเป็นธรรมดา ย่อมทราบชัดโทษในสิ่งมีความแก่ความเจ็บไข้ ความตาย..ความโศกเศร้า ย่อมแสวงหาพระนิพพาน ภิกษุทั้งหลาย นี้คือการแสวงหาที่ประเสริฐ

จากนั้น ทรงยกพระองค์เองเป็นข้ออุปมา ตรัสว่า แม้เราก่อน แต่ตรัสรู้ยังไม่ได้ตรัสรู้ครั้งเป็นพระโพธิสัตว์อยู่ ก็ยังแสวงหาในสิ่งที่ไม่ประเสริฐ เราจึงคิดว่าเราผู้มีชาติ ชรา พยาธิ มรณะ เป็นธรรมดา เหตุไรจึงยังแสวงหาสิ่งนั้นอีก เราควรจะทราบชัดในโทษของการเกิด แล้วแสวงหาสิ่งที่ไม่เกิดดีกว่า

สมัยต่อมา เรากําลังรุ่นหนุ่ม เมื่อพระมารดาและพระบิดา ไม่ทรงปรารถนาจะให้บวช มีพระพักตร์อาบด้วยน้ำพระเนตร เราปลง ผมและหนวดนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกจากเรือน เมื่อบวชแล้วก็เสาะแสวงหาทางอันประเสริฐ ได้ทราบชัดถึงโทษในสิ่งมีสังกิเลสเป็นธรรมดา แสวงหาจนได้บรรลุนิพพาน ญาณทัสสนะได้เกิดแก่เราว่าชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย ไม่มีภพใหม่ต่อไปอีก พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเทศนานี้ เพื่อแสดงให้ภิกษุทราบว่า การสนทนาธรรมีกถานั้น เป็นการแสวงหาสิ่งประเสริฐของอริยะ ตรัสซ้ำ อีกว่า ภิกษุทั้งหลาย แม้เราก็เสาะแสวงหาสิ่งที่มิใช่อริยะมาก่อน แต่เราละจากการแสวงหาอันมิใช่อริยะนั้นแล้ว แสวงหาสิ่งที่เป็นอริยะ จึงได้บรรลุสัพพัญญุตญาณ

แม้พระปัญจวัคคีย์ ก็แสวงหาสิ่งที่ไม่เป็นอริยะมาก่อน แต่พวกเธอละจากการแสวงหาอันมิใช่อริยะนั้นแล้ว แสวงหาสิ่งที่เป็นอริยะ จึงได้ บรรลุขีณาสวภูมิ

แม้พวกท่านทั้งหลาย ก็กําลังดําเนินตามทางของเรา และของพระปัญจวัคคีย์ พวกเธอจึงชื่อว่ากําลังแสวงหาสิ่งอันเป็นอริยะ ซึ่งไม่มี ชาติ ชรา พยาธิ มรณะ และโสกะอีก พระสูตรนี้พระพุทธองค์ทรงชี้ให้เห็นคุณของการออกจากการแสวงหากาม ตรัสเตือนให้มีฉันทะที่จะแสวงหาความดีงาม และความสุข อันสงบที่ประณีตยิ่งขึ้น โดยแสวงหาสิ่งอันประเสริฐคือ พระนิพพาน

** อังคุตตรนิกาย เอกาทสกนิบาต ปฐมมหานามสูตร หน้า ๕๓๑-๕๓๖ เจ้าศากยะมหานามทูลถาม ถึงธรรมอันเป็นเครื่องอยู่ของอุบาสก ความย่อมีว่าสมัยหนึ่งขณะที่พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่นิโครธาราม เจ้าศากยะมหานามทรงทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าจักเสด็จออกจาริก จึงเสด็จไปเฝ้าแล้วตรัสว่า หม่อมฉันทราบว่าพระองค์จักเสด็จจาริกถึง ๓ เดือน หม่อมฉันมาขอทูลถามถึงธรรมอันเป็นเครื่องอยู่ พระเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า มหาบพิตร กุลบุตร


  • ผู้มีศรัทธา ย่อมเป็นผู้บริบูรณ์
  • ผู้ปรารภความเพียร ย่อมเป็นผู้บริบูรณ์
  • ผู้มีสติตั้งมั่น ย่อมเป็นผู้บริบูรณ์
  • ผู้มีจิตตั้งมั่น ย่อมเป็นผู้บริบูรณ์
  • ผู้มีปัญญา ย่อมเป็นผู้บริบูรณ์

มหาบพิตรทรงตั้งอยู่ในธรรม ๕ ประการนี้แล้ว พึงเจริญธรรม ๖ ประการให้ยิ่งขึ้นไปอีก ดังนี้ คือ

* มหาบพิตรพึงเจริญพุทธานสติ ทรงระลึกถึงพระตถาคตว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นเป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปแล้วด้วยดี ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถี ฝึกบุรุษ เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จําแนกธรรม

* มหาบพิตรพึงเจริญธัมมานสติ ทรงระลึกถึงพระธรรม พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว อันบุคคลพึงเห็นเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามาใส่ตน อันวิญญูชน พึงรู้เฉพาะตน

* มหาบพิตรพึงเจริญสังฆานุสติ ทรงระลึกถึงพระอริยสงฆ์ว่า พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นผู้ปฏิบัติดี เป็นผู้ปฏิบัติตรง ปฏิบัติเป็นธรรม ปฏิบัติชอบ คือคู่บุรุษ ๔ บุรุษบุคคล ๘ นี้คือพระสงฆ์ สาวกของพระพุทธเจ้า เป็นผู้ควรแก่การคํานับ ควรแก่การต้อนรับ ควรแก่การทําบุญ ควรทําอัญชลี เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า

* มหาบพิตรพึงระลึกถึงสีลานุสติ ระลึกถึงศีลของตนว่าไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย เป็นไท ไม่เป็นไปด้วยตัณหาและทิฏฐิ เป็นไปเพื่อสมาธิ อันวิญญูชนควรสรรเสริญ

* มหาบพิตรพึงระลึกถึงจาคานุสติ ระลึกถึงการบริจาคของตน ว่าเป็นลาภของเราหนอ ที่เรามีจิตปราศจากความตระหนี่ มีฝ่ามืออันชุ่มด้วยจาคะ ยินดีแล้วในการสละ ยินดีแล้วในการบริจาคทาน

* มหาบพิตรพึงระลึกถึงเทวตานุสติ ระลึกถึงเทวดาทั้งหลายว่า เทวดาชั้นจาตุมหาราชิกา ดาวดึงส์ ยามา ดุสิต นิมมานนรดี ปรนิมมิต วสวัตตี เป็นต้น เทวดาเหล่านั้นประกอบด้วย


  • ศรัทธาเช่นไร จุติจากโลกนี้ไปแล้ว จึงได้ไปบังเกิดใน เทวโลก ชั้นนั้น ๆ แม้เราก็มีศรัทธาเช่นนั้นอยู่
  • ศีลเช่นไร จุติจากโลกนี้ไปแล้ว จึงได้ไปบังเกิดในเทวโลก ชั้นนั้น ๆ แม้เราก็มีศีลเช่นนั้นอยู่
  • สุตะเช่นไร จุติจากโลกนี้ไปแล้ว จึงได้ไปบังเกิดในเทวโลก ชั้นนั้น ๆ แม้เราก็มีสุตะเช่นนั้นอยู่
  • จาคะเช่นไร จุติจากโลกนี้ไปแล้ว จึงได้ไปบังเกิดในเทวโลก ชั้นนั้น ๆ แม้เราก็มีจาคะเช่นนั้นอยู่

มหาบพิตร เมื่อใดที่อุบาสกนั้นระลึกถึงธรรม ๖ ประการนี้อยู่ สมัยนั้นจิตย่อมไม่ถูกราคะ โทสะ โมหะกลุ้มรุม อุบาสกผู้ดําเนินไปตรงเพราะปรารภธรรมทั้ง ๖ ประการนี้แล้ว ย่อมได้ความรู้ธรรมย่อมได้ ความปราโมทย์อันประกอบด้วยธรรม ปีติย่อมเกิดแก่ผู้มีจิตปราโมทย์ กายของอุบาสกผู้ประกอบด้วยปีติย่อมสงบ ผู้มีกายสงบแล้วย่อมเสวยสุข จิตของอุบาสกผู้มีสุขย่อมตั้งมัน


มหาบพิตร อุบาสกผู้เจริญธรรม ๖ ประการนี้แล้ว อาตมภาพ กล่าวว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงพร้อมด้วยกระแสธรรมเจริญอนุสติ ๖ ดังนี้

ในอรรถกถาสามัญญผลสูตร หน้า ๔๙๐-๔๙๒ มีคําถามว่า ใครคือ อุบาสก เพราะเหตุไรจึงเรียกว่าอุบาสก เป็นต้น
ตอบว่า คฤหัสถ์คนใดคนหนึ่ง ที่ถือพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งคฤหัสถ์นั้นชื่อว่าอุบาสก
ถามว่า เพราะเหตุไร จึงเรียกว่าอุบาสก
ตอบว่า เพราะเหตุที่นั่งใกล้พระรัตนตรัยจึงเรียกว่าอุบาสก
ถามว่า อะไรคือศีลของอุบาสก
ตอบว่า เวรมณี ๕ ข้อ เป็นศีลของอุบาสก
ถามว่า อุบาสกไม่พึงประกอบอาชีพเช่นไร
ตอบว่า อุบาสกไม่พึงประกอบอาชีพที่ผิดศีลธรรม ๕ อย่าง คือ การค้าขายมนุษย์ การค้าขายศาสตราวุธ การค้าขายสัตว์ที่มีชีวิต การค้าขายน้ำเมาคือสุราเมรัย และการค้าขายยาพิษ
ถามว่า อะไรเป็นสมบัติของอุบาสก
ตอบว่า ศีล และสัมมาอาชีวะเป็นสมบัติของอุบาสก

อุบาสกผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ คือ เป็นผู้มีศรัทธา เป็นผู้มีศีล ไม่เป็นผู้ถือมงคลตื่นข่าว เป็นผู้เชื่อกรรม ไม่แสวงหา ทักขิไณยบุคคลนอกพระพุทธศาสนา ทําบุญในพระศาสนานี้ อุบาสกนั้น ชื่อว่า อุบาสกรัตนะ อุบาสกบุณฑริก พระสูตรนี้ก็นับว่า เป็นการแสวงหาสิ่งอันประเสริฐของอุบาสก อุบาสิกาเช่นกัน เพราะเป็นแนวทางเบื้องต้นที่เริ่มเข้าสู่การแสวงหาที่ถูก ต้องในพระธรรมวินัยนี้ต่อไป

** สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ อุปนิสสูตร หน้า ๑๒๐-๑๓๐ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงพระสูตรนี้ แก่ภิกษุทั้งหลาย ณ พระเชตวันวิหาร ทรงชี้ให้เห็นแนวทางของการเจริญเนกขัมมะโดยลําดับ

เริ่มตั้งแต่บุคคลผู้มีจิตเลื่อมใส มีศรัทธาในพระรัตนตรัย เข้ามาบวช ในพระพุทธศาสนาแล้ว ประพฤติปฏิบัติตนตามพระธรรมวินัย ย่อมถึงความสิ้นไปแห่งอาสวะ คือพระนิพพานในที่สุด ตรัสว่า ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย ความรู้มีมากอย่าง ภิกษุบางรูปรู้จักทําร่ม ภิกษุบางรูปรู้จักทําจีวร เป็นต้น แต่ความรู้เหล่านั้นมิได้ทําให้อาสวะ ทั้งหลายสิ้นไป ไม่เป็นทางไปสู่สวรรค์หรือมรรคผลนิพพาน ส่วนผู้ที่รู้เห็นความเกิดขึ้นแห่งขันธ์ และอาสวะทั้งหลาย ผู้ที่ปฏิบัติให้ถึงความสิ้นไปแห่งขันธ์ และอาสวะทั้งหลาย ได้บรรลุเป็นพระขีณาสพ จึงชื่อว่าเป็นผู้มีความรู้ในพระศาสนานี้ พระธรรมเทศนาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงบุคคลผู้มี อุปนิสัยที่สั่งสมมา เมื่อได้ฟังแล้วย่อมมีความเข้าใจว่า


  • ชาติ คือการเกิดมาในภพนี้ ย่อมเป็นปัจจัยแก่ทุกข์ในวัฏฏะ เพราะเกิดมาแล้วย่อมมีชรามรณะ โสกะปริเทวะทุกข์โทมนัส อุปายาส ตามมา ย่อมเป็นปัจจัยให้เกิดในภพต่าง ๆ อีก
  • ภพ ได้แก่ กามภพ รูปภพ และอรูปภพ บุคคลนั้นย่อมรู้การ เกิดขึ้นในภพทั้งหลายว่า เพราะมีอุปาทานเป็นปัจจัยจึงเกิดภพ
  • อุปาทาน ได้แก่ กามุปาทาน ทิฏฐปาทาน สีลัพพตุปาทาน และ อัตตวาทุปาทาน บุคคลนั้นย่อมรู้การเกิดขึ้นของอุปาทานว่า เพราะมี ตัณหาเป็นปัจจัยจึงเกิดอุปาทาน
  • ตัณหา ได้แก่ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา บุคคลนั้นย่อม รู้การเกิดขึ้นแห่งตัณหาว่า เพราะมีเวทนาเป็นปัจจัยจึงเกิดตัณหา
  • เวทนา ได้แก่ สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนาบุคคล นั้นย่อมรู้การเกิดขึ้นของเวทนาว่า เพราะมีผัสสะเป็นปัจจัยจึงเกิดเวทนา
  • ผัสสะ ได้แก่จักขุสัมผัสสะ โสตสัมผัสสะ ฆานสัมผัสสะ ชิวหาสัมผัสสะ กายสัมผัสสะ และมโนสัมผัสสะ บุคคลนั้นย่อมรู้การเกิดขึ้นของผัสสะว่า เพราะมีสฬายตนะเป็นปัจจัยจึงเกิดผัสสะ
  • สฬายตนะภายใน ได้แก่ จักขุ โสตะ ฆานะ ชิวหา กาย ใจ ภายนอก ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐพพะ และธรรมารมณ์ บุคคล นั้นย่อมรู้การเกิดขึ้นแห่งสฬายตนะ ทั้งภายในและภายนอกว่า เพราะมี นามรูปเป็นปัจจัย จึงเกิดสฬายตนะ
  • นามรูป ได้แก่ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ และวิญญาณขันธ์ บุคคลนั้นย่อมรู้การเกิดขึ้นของนามรูปเพราะมีวิญญาณเป็นปัจจัยจึงเกิดนามรูปวิญญาณ
  • วิญญาณ ได้แก่ จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ และมโนวิญญาณ บุคคลนั้นย่อมรู้การ เกิดขึ้นของวิญญาณว่า เพราะมีสังขารเป็นปัจจัยจึงเกิดวิญญาณ
  • สังขาร ได้แก่ ปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร อเนญชาภิสังขาร บุคคลนั้นย่อมรู้การเกิดขึ้นของสังขารว่า เพราะมีอวิชชาเป็น ปัจจัยจึงเกิดสังขาร
  • เมื่อรู้ว่าอวิชชาคือต้นตอแห่งความทุกข์ ที่ทําให้สัตว์ทั้งหลาย ต้องวนเวียนอยู่ในวัฏฏะอย่างมิรู้จบสิ้น ย่อมเห็นภัยในวัฏฏะ บุคคลนั้น ย่อมคิดหาทางที่จะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต บําเพ็ญวัตรปฎิบัติ ถือเอากรรมฐานไปอยู่ป่า เมื่อบวชแล้ว ภิกษุนั้นอาศัยกรรมฐานปฏิบัติ ตามสิกขาบท และพระโอวาทของพระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ประจักษ์ชัดใน สภาพธรรมตามที่พระองค์ทรงแสดงไว้ ที่ตนไม่เคยรู้เคยเห็นมาก่อน ภิกษุนั้นย่อมเกิดความปีติปราโมทย์

  • ปีติ ที่มีกําลังก็เป็นปัจจัยแก่ ปัสสัทธิ
  • ปัสสัทธิ ก็เป็นปัจจัยแก่ สุขอันเป็นเบื้องต้นแห่งอัปปนาสมาธิ
  • สุข ก็เป็นปัจจัยแก่ สมาธิที่มีฌานเป็นบาท
  • สมาธิ ที่มีฌานเป็นบาท ก็เป็นปัจจัยแก่ วิปัสสนา
  • วิปัสสนา ที่มีกําลังก็เป็นปัจจัยแก่ มรรคญาณ
  • มรรคญาณ ก็เป็นปัจจัยแก่ ผลญาณ
  • ผลญาณ ก็เป็นปัจจัยแก่ ปัจจเวกขณญาณ

ความหมายของมรรคญาณ ผลญาณ และปัจจเวกขณญาณ
ญาณความรู้อันดับแรกในความสิ้นไป มีแก่พระเสขะผู้กําลังศึกษา ผู้ดําเนินตรงไปตามมรรค อันดับต่อไปก็มีอัญญาคือความรู้ทั่วถึงอาสวะสิ้นไป มรรค ผล นิพพาน ท่านจึงเรียกว่า อาสวักขัย

พระบรมศาสดา ทรงยกข้อเปรียบเทียบในธรรมที่อิงอาศัยกัน เกิดขึ้นและเป็นไปอีกว่า ภิกษุทั้งหลาย

  • สังขารทั้งหลาย มีอวิชชา เป็นที่อิงอาศัย
  • วิญญาณทั้งหลาย มีสังขาร เป็นที่อิงอาศัย
  • นามรูปทั้งหลาย มีวิญญาณ เป็นที่อิงอาศัย
  • สฬายตนะทั้งหลาย มีนามรูป เป็นที่อิงอาศัย
  • ผัสสะทั้งหลาย มีสฬายตนะ เป็นที่อิงอาศัย
  • เวทนาทั้งหลาย มีผัสสะ เป็นที่อิงอาศัย
  • ตัณหาทั้งหลาย มีเวทนา เป็นที่อิงอาศัย
  • อุปาทานทั้งหลาย มีตัณหา เป็นที่อิงอาศัย
  • ภพทั้งหลาย มีอุปาทาน เป็นที่อิงอาศัย
  • ชาติทั้งหลาย มีภพทั้งหลายเป็นที่อิงอาศัย

ทุกข์ทั้งหลาย คือ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส เป็นต้น ก็มี ชาติ เป็นที่อิงอาศัย เช่นนี้ เปรียบดุจเมล็ดฝนที่ตกจากยอดภูเขา น้ำฝนนั้นย่อมไหลไปตามที่ลุ่ม ยังให้ซอกเขา รอยแยกแห่งภูเขา ห้วยและบึงทั้งหลายให้เต็ม


เมื่อห้วยทั้งหลายเต็มเปี่ยมแล้ว ย่อมยังบึงทั้งหลายให้เต็ม
เมื่อวิ่งทั้งหลายเต็มเปี่ยมแล้ว ย่อมยังแม่น้ำน้อยให้เต็ม
เมื่อแม่น้ำน้อยเต็มเปี่ยมแล้ว ย่อมยังแม่น้ำใหญ่ให้เต็ม
เมื่อแม่น้ำใหญ่เต็มเปี่ยมแล้ว ย่อมยังมหาสมุทรให้เต็ม

ฉันใด ภิกษุทั้งหลาย สังขารทั้งหลายที่มีอวิชชาเป็นที่อิงอาศัย ฯลฯ ญาณในธรรมเป็นที่สิ้นไป ก็มีวิมุตติเป็นที่อิงอาศัย ฉันนั้นเหมือนกัน ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย


  • ศรัทธา มีทุกข์เป็นที่อิงอาศัย
  • ความปราโมทย์ มีศรัทธาเป็นที่อิงอาศัย
  • ปีติ มีปราโมทย์เป็นที่อิงอาศัย
  • ปัสสัทธิ มีปิติเป็นที่อิงอาศัย
  • สุข มีปัสสัทธิเป็นที่อิงอาศัย
  • สมาธิ มีสุขเป็นที่อิงอาศัย
  • ยถาภูตญาณทัสสนะ มีสมาธิเป็นที่อิงอาศัย
  • นิพพิทา มียถาภูตญาณทัสสนะเป็นที่อิงอาศัย
  • วิราคะ มีนิพพิทาเป็นที่อิงอาศัย
  • วิมุตติ มีวิราคะเป็นที่อิงอาศัย
  • ญาณในธรรมอันเป็นที่สิ้นไป มีวิมุตติเป็นที่อิงอาศัย ฉันนั้น

ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย ทุกข์ทั้งหลายในวัฏฏะที่เกิดขึ้น เพราะมีธรรมเป็นที่อิงอาศัยกัน เกิดขึ้นเป็นวงเวียนชีวิต ทําให้เกิด กิเลสวัฏ กัมมวัฏ และวิปากวัฏ หมุนเวียนอยู่เช่นนี้ไม่รู้จบสิ้น ตราบเท่าที่อวิชชา คือความไม่รู้ยังปิดบังอยู่

** สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ ปริวิมังสนสูตร หน้า ๒๔๑-๒๕๓ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่พระเชตวันวิหาร ภิกษุทั้งหลายทูลขอให้ตรัสวิธีการพิจารณาธรรม เพื่อให้ถึงความสิ้น ทุกข์โดยชอบ พระองค์จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เมื่อพิจารณาว่าทุกข์ คือชรา และมรณะมีประการต่าง ๆ มากมายที่เกิดขึ้นในโลกนั้น

ภิกษุย่อมพิจารณาว่า ทุกข์ มีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นสมุทัย มีอะไรเป็นกําเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด เมื่ออะไรมีชราและมรณะจึงมี เมื่ออะไรไม่มี ชราและมรณะจึงไม่มี

เมื่อภิกษุพิจารณาอย่างนี้ ย่อมรู้ประจักษ์ว่า ทุกข์มีชาติเป็นเหตุ มีชาติเป็นสมุทัย มีชาติเป็นกําเนิด มีชาติเป็นแดนเกิด เมื่อชาติมี ชราและมรณะจึงมี เมื่อชาติไม่มี ชราและมรณะจึงไม่มี ภิกษุนั้นย่อมรู้ประจักษ์ เหตุเกิดแห่งชราและมรณะ ย่อมรู้ ประจักษ์ความดับแห่งชราและมรณะ ย่อมรู้ประจักษ์ปฏิปทาอันสมควร ที่ให้ถึงความดับแห่งชราและมรณะ และย่อมปฏิบัติตามปฏิปทานั้น ภิกษุนี้ ชื่อว่า เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบ



ภิกษุย่อมพิจารณาต่อไปอีกว่า

  • ชาติ มีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นสมุทัย ฯลฯ
  • ภพ มีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นสมุทัย ฯลฯ
  • อุปาทาน มีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นสมุทัย ฯลฯ
  • ตัณหา มีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นสมุทัย ฯลฯ
  • เวทนา มีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นสมุทัย ฯลฯ
  • ผัสสะ มีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นสมุทัย ฯลฯ
  • สฬายตนะ มีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นสมุทัย ฯลฯ
  • วิญญาณ มีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นสมุทัย ฯลฯ
  • สังขาร มีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นสมทัย มีอะไรเป็นกําเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด เมื่ออะไรมี สังขารจึงมี เมื่ออะไรไม่มี สังขารจึงไม่มี

เมื่อภิกษุพิจารณาอย่างนี้ ย่อมรู้ประจักษ์ว่า สังขารมี อวิชชา เป็นเหตุ มีอวิชชาเป็นสมุทัย มีอวิชชาเป็นกําเนิด มีอวิชชาเป็นแดนเกิด เมื่ออวิชชา สังขารจึงมี เมื่ออวิชชาไม่มี สังขารจึงไม่มี

ภิกษุนั้นย่อมรู้ประจักษ์สังขาร ย่อมรู้ประจักษ์เหตุเกิดแห่งสังขาร ย่อมรู้ประจักษ์ความดับแห่งสังขาร ย่อมรู้ประจักษ์ปฏิปทาอัน สมควรที่ให้ถึงความดับแห่งสังขาร และย่อมปฏิบัติตามปฏิปทานั้น ภิกษุนี้ ชื่อว่า เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบ

ภิกษุทั้งหลาย บุคคลที่ตกอยู่ในอวิชชา ถ้าสังขารที่เป็นบุญปรงแต่ง วิญญาณก็เข้าถึงบุญ คือ ปุญญาภิสังขาร ถ้าสังขารที่เป็นบาป ปรงแต่ง วิญญาณก็เข้าถึงบาป คือ อปุญญาภิสังขาร ถ้าสังขารที่เป็น อเนญชาปรุงแต่ง วิญญาณก็เข้าถึงอเนญชา คือ อเนญชาภิสังขาร

ภิกษุนั้นเมื่อ เสวยสุขเวทนา ก็รู้ชัดว่า สุขเวทนาก็ไม่เที่ยง อันตนไม่ยึดถือ ไม่เพลิดเพลินแล้วด้วยตัณหา

ภิกษุนั้นเมื่อ เสวยทุกขเวทนา ก็รู้ชัดว่า ทุกขเวทนาก็ไม่เที่ยง อันตนไม่ยึดถือ ไม่เพลิดเพลินแล้วด้วยตัณหา

ภิกษุนั้นเมื่อ เสวยอทุกขมสุขเวทนา ก็รู้ชัดว่า อทุกขมสุขเวทนาก็ไม่เที่ยง อันตนไม่ยึดถือ ไม่เพลิดเพลินแล้วด้วยตัณหา

เมื่อรู้ชัดว่าเวทนาทั้งปวงอันตัณหาไม่เพลิดเพลินแล้ว จักพ้นจากความดิ้นรนและกระวนกระวาย พระบรมศาสดาทรงยกข้ออุปมาว่า บุรุษยกหม้อที่ยังร้อนออกจากเตาเผา วางไว้บนพื้นดินอันเรียบไออุ่นที่ หม้อจะพึงหายไป เหลือแต่ภาชนะที่อยู่บนพื้นดิน ฉันใด

ภิกษุทั้งหลาย ที่เสวยเวทนาทางกาย ก็รู้ชัดว่า เราเสวยเวทนา ทางกาย เมื่อเสวยเวทนาทางใจ ก็รู้ชัดว่า เราเสวยเวทนาทางใจ และรู้ชัดว่าเวทนาทั้งปวงอันตัณหา ไม่เพลิดเพลินแล้ว จักเป็นของเย็น ภิกษุนั้น เมื่อละจากโลกนี้ไป จะเหลือแต่เพียงสรีรธาตุอยู่ในโลกนี้ ฉันนั้น

 

อรรถกถา เปรียบด้วยข้ออุปมาว่า ภพทั้ง ๓ พึงเห็นเหมือน เตาเผาหม้อที่ไฟติดทั่วแล้ว ผู้ปฏิบัติเหมือนช่างหม้อ อรหัตมรรคญาณ เหมือนไม้ขอที่ใช้เกี่ยวภาชนะของช่างหม้อออกมาจากเตา พื้นดินที่ราบเรียบ เปรียบเหมือนพระนิพพานที่ไม่มีปัจจัยปรุงแต่งในเวลาที่ภิกษุ เห็นแจ้งรูปนาม เจริญวิปัสสนา ย่อมบรรลุอรหัตอันเป็นผลเลิศ ยกตนพ้นจากอบาย ๔ แล้วดํารงอยู่ในพระนิพพานอันเป็นอมตะ

 

พระบรมศาสดาตรัสว่า เธอจงละอวิชชาให้ได้ก่อน วิชชา จึงเกิด เสมือนหนึ่งจะละความมืดได้ ก็ด้วยการจุดประทีปให้ลุกโชติช่วง ฉันใด เมื่อวิชชาเกิด ก็พึงทราบว่าเป็นอันละอวิชชาได้ ฉันนั้น

ภิกษุนั้น อาศัยการศึกษาข้อปฏิบัติของพระบรมศาสดาทําให้ อวิชชาสิ้นไป มีปฏิปทาดําเนินไปตามมรรคที่พระผู้มีพระภาคเจ้าสั่งสอน มีความรู้ทั่วถึงภิกษุนั้นย่อมประจักษ์ชัดในธรรมทั้งหลาย ด้วยปัญญา อันอบรมแล้ว ย่อมพ้นจากอาสวะทั้งหลาย กิเลสไม่เกิดขึ้นอีก บรรลุถึงความสิ้นไปแห่งอาสวะคือ พระนิพพาน อันเป็นอานิสงส์แห่งเนกขัมมะ


พิมพ์