ปริยัติธรรม
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๕ พระอภิธรรมปิฎก เล่มที่ ๒ วิภังคปกรณ์ โพชฌงควิภังค์ สุตตันตภาชนีย์ 84000.org
โพธิยาองฺโค โพชฺฌงฺโค ฯ องค์ที่เป็นเครื่องให้ตรัสรู้ (อริยสัจจ ๔) นั้นชื่อ ว่า โพชฌงค์ โพธิ เป็นตัวรู้ โพชฌงค์ เป็นส่วนที่ให้เกิดตัวรู้ สิ่งที่รู้อริยสัจจ ๔ นั้นคือ มัคคจิต สิ่งที่เป็นผลแห่งการรู้อริยสัจจ ๔ นั้นคือ ผลจิต องค์ที่เป็นเครื่องให้รู้อริยสัจจ ๔ ที่มีชื่อว่า โพชฌงค์นี้มี ๗ ประการ
โพชฌงค์ ๗ นัยที่ ๑[๕๔๒] โพชฌงค์ ๗ คือ
๑. สติสัมโพชฌงค์
๒. ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์
๓. วิริยสัมโพชฌงค์
๔. ปีติสัมโพชฌงค์
๕. ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์
๖. สมาธิสัมโพชฌงค์
๗. อุเบกขาสัมโพชฌงค์
[๕๔๓] ในโพชฌงค์ ๗ นั้น สติสัมโพชฌงค์ เป็นไฉน
ภิกษุในศาสนานี้ เป็นผู้มีสติ ประกอบด้วยสติและปัญญาอันยิ่ง ระลึกได้ ระลึกได้ย่อยๆ ซึ่งกิจที่ทำไว้นานๆ หรือวาจาที่กล่าวไว้นานๆ นี้เรียกว่า สติสัมโพชฌงค์
ภิกษุนั้น มีสติอย่างนั้นอยู่ วิจัย เลือกสรร พิจารณา ซึ่งธรรมนั้น ด้วยปัญญา นี้เรียกว่า ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์
ความเพียร ความไม่ย่อหย่อน อันภิกษุนั้นผู้วิจัย เลือกสรร พิจารณา ซึ่งธรรมนั้น ด้วยปัญญา ปรารภแล้ว นี้เรียกว่า วิริยสัมโพชฌงค์
ปีติ อันปราศจากอามิส เกิดขึ้นแก่พระภิกษุผู้มีความเพียรอันปรารภแล้ว นี้เรียกว่า ปีติสัมโพชฌงค์
กายก็ดี จิตก็ดี ของภิกษุผู้มีใจปีติ ย่อมสงบระงับ นี้เรียกว่า ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์
จิตของภิกษุผู้มีกายสงบระงับแล้ว มีความสุขสบาย ย่อมตั้งมั่น นี้เรียกว่า สมาธิสัมโพชฌงค์
ภิกษุนั้น เป็นผู้เพ่งเล็งอยู่ด้วยดี ซึ่งจิตที่ตั้งมั่นอย่างนั้น นี้เรียกว่า อุเบกขาสัมโพชฌงค์
โพชฌงค์ ๗ นัยที่ ๒
[๕๔๔] โพชฌงค์ ๗ คือ
๑. สติสัมโพชฌงค์
๒. ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์
๓. วิริยสัมโพชฌงค์
๔. ปีติสัมโพชฌงค์
๕. ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์
๖. สมาธิสัมโพชฌงค์
๗. อุเบกขาสัมโพชฌงค์
[๕๔๕] ในโพชฌงค์ ๗ นั้น สติสัมโพชฌงค์ เป็นไฉน สติในธรรมภายใน มีอยู่ สติในธรรมภายนอก มีอยู่ สติในธรรมภายในแม้ใด สติในธรรมภายในแม้นั้น ก็ชื่อว่า สติสัมโพชฌงค์ ย่อมเป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน สติในธรรมภายนอกแม้ใด สติในธรรมภายนอกแม้นั้น ก็ชื่อว่าสติสัมโพชฌงค์ ย่อมเป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน
[๕๔๖] ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ เป็นไฉน
ความเลือกสรรในธรรมภายใน มีอยู่ ความเลือกสรรในธรรมภายนอกมีอยู่ ความเลือกสรรในธรรมภายในแม้ใด ความเลือกสรรในธรรมภายในแม้นั้นก็ชื่อว่า ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ ย่อมเป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน ความเลือกสรรในธรรมภายนอกแม้ใด ความเลือกสรรในธรรมภายนอก แม้นั้น ก็ชื่อว่า ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ ย่อมเป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้เพื่อนิพพาน
[๕๔๗] วิริยสัมโพชฌงค์ เป็นไฉน
ความเพียรทางกาย มีอยู่ ความเพียรทางใจ มีอยู่ ความเพียรทางกายแม้ใด ความเพียรทางกายแม้นั้น ก็ชื่อว่า วิริยสัมโพชฌงค์ ย่อมเป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน ความเพียรทางใจแม้ใด ความเพียรทางใจแม้นั้น ก็ชื่อว่าวิริยสัมโพชฌงค์ ย่อมเป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้เพื่อนิพพาน
[๕๔๘] ปีติสัมโพชฌงค์ เป็นไฉน
ปีติที่มีวิตก มีวิจาร มีอยู่ ปีติที่ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีอยู่ ปีติที่มีวิตก มีวิจารแม้ใด ปีติที่มีวิตก มีวิจารแม้นั้น ก็ชื่อว่า ปีติสัมโพชฌงค์ ย่อมเป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน ปีติที่ไม่มีวิตก ไม่มีวิจารแม้ใด ปีติที่ไม่มีวิตก ไม่มีวิจารแม้นั้น ก็ชื่อว่าปีติสัมโพชฌงค์ ย่อมเป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน
[๕๔๙] ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ เป็นไฉน
กายปัสสัทธิ มีอยู่ จิตตปัสสัทธิ มีอยู่ กายปัสสัทธิแม้ใด กายปัสสัทธิแม้นั้น ก็ชื่อว่า ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ย่อมเป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้เพื่อนิพพาน จิตตปัสสัทธิแม้ใด จิตตปัสสัทธิแม้นั้น ก็ชื่อว่า ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ย่อมเป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน
[๕๕๐] สมาธิสัมโพชฌงค์ เป็นไฉน
สมาธิที่มีวิตก มีวิจาร มีอยู่ สมาธิที่ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีอยู่ สมาธิ ที่มีวิตก มีวิจารแม้ใด สมาธิที่มีวิตก มีวิจารแม้นั้น ก็ชื่อว่า สมาธิสัมโพชฌงค์ ย่อมเป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน สมาธิที่ไม่มีวิตก ไม่มีวิจารแม้ใด สมาธิที่ไม่มีวิตก ไม่มีวิจารแม้นั้น ก็ชื่อว่าสมาธิสัมโพชฌงค์ ย่อมเป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน
[๕๕๑] อุเบกขาสัมโพชฌงค์ เป็นไฉน
อุเบกขาในธรรมภายใน มีอยู่ อุเบกขาในธรรมภายนอก มีอยู่ อุเบกขาในธรรมภายในแม้ใด อุเบกขาในธรรมภายในแม้นั้น ก็ชื่อว่า อุเบกขาสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน อุเบกขาในธรรมภายนอก
แม้ใด อุเบกขาในธรรมภายนอกแม้นั้น ก็ชื่อว่าอุเบกขาสัมโพชฌงค์ ย่อมเป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพานโพชฌงค์ ๗ นัยที่ ๓
[๕๕๒] โพชฌงค์ ๗ คือ
๑. สติสัมโพชฌงค์
๒. ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์
๓. วิริยสัมโพชฌงค์
๔. ปีติสัมโพชฌงค์
๕. ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์
๖. สมาธิสัมโพชฌงค์
๗. อุเบกขาสัมโพชฌงค์
ในโพชฌงค์ ๗ นั้น สติสัมโพชฌงค์ เป็นไฉน
ภิกษุในศาสนานี้ เจริญสติสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปเพื่อความสละ เจริญธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ เจริญวิริยสัมโพชฌงค์ เจริญปีติสัมโพชฌงค์ เจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ เจริญสมาธิสัมโพชฌงค์ เจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปเพื่อความสละ
คำสอนพระอริยเจ้า
หลักปฏิบัติในโพชฌงค์ทั้ง ๗ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงสติปัฏฐาน โดยเฉพาะในหมวดธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ ตั้งสติ หรือ สติตั้ง ตามดูธรรมะคือเรื่องในจิตใจ ได้ทรงแสดงนิวรณ์ ๕ ทรงแสดงขันธ์ ๕ ทรงแสดงอายตนะ ๖ และไม่ใช่ทรงแสดงจำเพาะ นิวรณ์ ขันธ์ อายตนะ ยังแสดงถึงวิธีปฏิบัติในการละนิวรณ์ ในการกำหนดรู้ขันธ์ ๕ ในการกำหนดรู้อายตนะภายนอกภายใน ภายในภายนอก และสังโยชน์ที่บังเกิดอาศัยอายตนะทั้ง ๒ มาประจวบกัน และการละสังโยชน์ จึงมีวิธีปฏิบัติธรรมะในข้อเหล่านั้น
ธรรมะอันแสดงถึงวิธีปฏิบัติธรรมฉะนั้น เพื่อจะทรงแสดงวิธีปฏิบัติธรรมะในข้อเหล่านั้น คือในการละนิวรณ์เป็นต้นดังกล่าว จึงได้ตรัสหมวดโพชฌงค์ต่อไป โพชฌงค์นี้จึงเป็นหมวดธรรมะสำคัญ อันแสดงถึงวิธีปฏิบัติธรรมะนั้นเอง ในการปฏิบัติธรรมะทั้งปวงที่จำแนกโดยปริยายคือทางแสดงต่างๆ ยกตัวอย่าง เช่น สมถกรรมฐาน กรรมฐานที่เป็นไปเพื่อสมถะคือความสงบใจ โดยวิธีทำสมาธิตั้งจิตมั่นให้เป็นอารมณ์อันเดียว วิปัสสนากรรมฐาน กรรมฐานที่เป็นไปเพื่อวิปัสสนาความเห็นแจ้งรู้จริง อันเป็นวิปัสสนาปัญญา วิธีปฏิบัติทั้ง ๒ นี้ ก็ต้องเป็นโพชฌงค์นั้นเอง คือเป็นวิธีปฏิบัติในโพชฌงค์ เพราะฉะนั้น โพชฌงค์จึงเป็นหลักธรรมะอันสำคัญ ที่ผู้ปฏิบัติธรรมะพึงใช้ปฏิบัติ ตามแนวโพชฌงค์นั้น ในธรรมปฏิบัติทั้งปวง
โพชฌงค์ ๗คำว่า โพชฌงค์ นั้นตามศัพท์แปลว่าองค์คุณ หรือองค์สมบัติแห่งความตรัสรู้
พระพุทธเจ้าได้ตรัสอธิบายไว้ว่า เป็นไปเพื่อความตรัสรู้ คือธรรมะที่เป็นไปเพื่อความตรัสรู้ เรียกว่าโพชฌงค์ ซึ่งมี ๗ ประการ อันได้แก่
สติโพชฌงค์ หรือ สติสัมโพชฌงค์ โพชฌงค์ หรือ สัมโพชฌงค์คือสติ
ธัมมวิจยโพชฌงค์ หรือ ธัมมวิจยะสัมโพชฌงค์ โพชฌงค์ หรือ สัมโพชฌงค์คือธัมมวิจยะเลือกเฟ้นธรรม
วิริยะโพชฌงค์ หรือ วิริยะสัมโพชฌงค์ โพชฌงค์ หรือ สัมโพชฌงค์คือวิริยะความเพียร
ปีติโพชฌงค์ หรือ ปีติสัมโพชฌงค์ โพชฌงค์ หรือ สัมโพชฌงค์คือปีติความอิ่มเอิบใจ
ปัสสัทธิโพชฌงค์ หรือ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ โพชฌงค์ หรือ สัมโพชฌงค์คือปัสสัทธิความสงบรำงับ
สมาธิโพชฌงค์ หรือ สมาธิสัมโพชฌงค์ โพชฌงค์ หรือ สัมโพชฌงค์คือสมาธิความตั้งใจมั่น
อุเบกขาโพชฌงค์ หรือ อุเบกขาสัมโพชฌงค์ โพชฌงค์ หรือ สัมโพชฌงค์ คืออุเบกขาความเข้าไปเพ่งเฉยอยู่ สงบอยู่ในภายใน
รวมทั้ง ๗ ประการ
อาหารของโพชฌงค์ ๗
พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงอาหารของโพชฌงค์หรือสัมโพชฌงค์ทั้ง ๗ ประการนี้ไว้ ว่าเหมือนอย่างร่างกายต้องอาศัยอาหาร แม้โพชฌงค์ทั้ง ๗ นี้ก็ต้องอาศัยอาหาร จึงจะบังเกิดขึ้นเจริญขึ้น และอาหารของโพชฌงค์หรือสัมโพชฌงค์นี้ก็มี ๒ อย่าง คือ อาหารที่จำเพาะข้ออย่างหนึ่ง อาหารที่ทั่วไปแก่ทุกข้ออย่างหนึ่ง
สำหรับอาหารที่ทั่วไปทุกข้อนั้นได้แก่การทำไว้ในใจ การกระทำให้มากโดยแยบคาย เรียกตามศัพท์แสงว่า โยนิโสมนสิการ พหุลีการ
มนสิการ ก็คือทำไว้ในใจ พหุลีการ ก็คือการกระทำให้มาก โยนิโส ก็คือโดยแยบคาย ได้แก่โดยพิจารณาให้จับให้ได้ถึงต้นเหตุ อันหมายถึงว่าจับเหตุจับผล จับต้นจับปลายให้ถูกต้อง
ส่วนอาหารจำเพาะข้อนั้น
ข้อที่ ๑ คือ สติ ตรัสแสดงเป็นกลางๆ ว่า ธรรมะทั้งหลายที่เป็นที่ตั้งของสติ
ข้อที่ ๒ ธัมมวิจยะ หรือธรรมวิจัยเลือกเฟ้นธรรม ตรัสแสดงว่าคือธรรมะที่เป็นกุศลเป็นอกุศล ที่มีโทษไม่มีโทษ ที่เลวที่ประณีต และที่มีส่วนเทียบได้กับสีดำสีขาว
ข้อ ๓ วิริยะ ความเพียร ก็ได้แก่ อารัมภธาตุ ธาตุคือความริเริ่ม นิคมธาตุ ธาตุคือความเริ่ม ธาตุคือความดำเนินไป ปรักมธาตุ ธาตุคือความดำเนินให้ก้าวหน้าไปจนถึงที่สุด
ข้อ ๔ ปีติ ตรัสแสดงว่าได้แก่ธรรมะที่เป็นที่ตั้งของปีติ
ข้อที่ ๕ ปัสสัทธิ ตรัสแสดงว่าได้แก่กายปัสสัทธิสงบกาย ปัสสัทธิสงบใจ
ข้อที่ ๖ สมาธิ ตรัสแสดงว่าได้แก่สมาธินิมิต นิมิตคือเครื่องกำหนดหมายแห่งสมาธิ และ อัพยฆะ อันได้แก่ความที่จิตไม่แตกแยกแบ่งแยก แต่มียอดเป็นอันเดียวไม่หลายยอด คือไม่แตกยอดมาก ก็คือจิตที่รวมเป็นหนึ่ง
ข้อที่ ๗ อุเบกขา ตรัสแสดงว่าธรรมะที่เป็นที่ตั้งของอุเบกขา
หลักโพชฌงค์ในหมวดนิวรณ์
คราวนี้มาข้อที่ ๑ อาหารจำเพาะข้อ ได้แก่ธรรมะที่เป็นที่ตั้งของสติ ก็คือว่าสุดแต่จะปฏิบัติในข้อไหน ก็ต้องตั้งสติในข้อนั้น เช่นว่า จะปฏิบัติในข้อนิวรณ์ ก็ต้องตั้งสติกำหนดนิวรณ์ คือต้องตั้งสติกำหนดกามฉันท์ ความพอใจรักใคร่ในกาม คือความชอบในจิตใจที่บังเกิดขึ้น ตั้งสติกำหนดพยาบาท คือความกระทบกระทั่ง หงุดหงิดโกรธแค้นขัดเคือง มุ่งร้ายหมายขวัญ ที่บังเกิดขึ้นในจิตใจ ตั้งสติกำหนดให้รู้จักถีนมิทธะความง่วงงุนเคลิบเคลิ้มที่บังเกิดขึ้นในจิตใจ ตั้งสติกำหนดให้รู้จักอุทธัจจะกุกกุจจะความฟุ้งซ่านรำคาญใจที่บังเกิดขึ้นในจิตใจ ตั้งสติกำหนดให้รู้จักวิจิกิจฉาความเคลือบแคลงสงสัยต่างๆ ที่บังเกิดขึ้นในจิตใจ คือให้รู้จักว่าข้อไหนบังเกิดขึ้นอย่างไรในจิตใจ นี่เป็นสติสถานด้วย เป็นสติปัฏฐานด้วย และสืบต่อเป็นสติสัมโพชฌงค์ด้วย อันนับว่าเป็นข้อแรก
ธรรมวิจยะ เลือกเฟ้นธรรม
จึงมาถึงข้อที่ ๒ วิจัยคือเลือกเฟ้นธรรม ก็คือเลือกเฟ้นธรรมอันได้แก่นิวรณ์ทั้ง ๕ ข้อนี้ทุกข้อ ให้รู้จักว่านิวรณ์ทั้ง ๕ ข้อนี้ เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล มีโทษหรือไม่มีโทษ เลวหรือประณีต เป็นสิ่งที่มีส่วนเทียบด้วยสีดำหรือสีขาว เมื่อเลือกเฟ้นดูที่จิตแล้วก็ให้รู้ว่านิวรณ์ทั้ง๕ นี้เป็นอกุศลมีโทษ เลวมีส่วนเทียบด้วยสีดำ ดั่งนี้เป็นธัมมวิจัยคือเลือกเฟ้นธรรม
วิริยะ ความเพียร
จึงมาถึงข้อ ๓ วิริยะคือความเพียร
อันความเพียรนั้นกล่าวโดยย่อ ก็คือ ปหานะ เพียรละอย่างหนึ่ง ภาวนา เพียรอบรมให้มีขึ้นเป็นขึ้นอีกอย่างหนึ่ง ถ้าหากว่าเป็นอกุศล มีโทษ เลว มีส่วนเทียบด้วยสีดำ ก็ควรละ ไม่ควรเก็บไว้ แต่ถ้าเป็นกุศล ไม่มีโทษ ดี ประณีต มีส่วนเทียบด้วยสีขาว ก็อบรมให้มีขึ้นให้เป็นขึ้น คือรักษาไว้ และอบรมให้มีขึ้นให้เป็นขึ้น ให้เจริญขึ้น นิวรณ์นั้นเป็นอกุศล มีโทษ ดำ มีเป็นอกุศล มีโทษ เลว มีส่วนเทียบกับสีดำ จึงควรละ จึงปฏิบัติละเสีย ดั่งนี้ก็เป็นวิริยะโพชฌงค์หรือสัมโพชฌงค์
ปีติ ปัสสัทธิ สมาธิ อุเบกขา
จึงมาถึงข้อ ๔ คือปีติ คือความอิ่มเอิบใจ คือเมื่อละนิวรณ์ได้ก็ย่อมจะมีปีติคือความอิ่มเอิบใจ เพราะว่าจิตใจที่มีนิวรณ์นั้น เป็นจิตใจที่เศร้าหมองไม่ผ่องใส เป็นจิตใจที่เครียด เป็นจิตใจที่มัวซัวไม่แจ่มใส เป็นจิตใจที่ไม่ตั้งมั่น ไม่แน่นอน กลับกลอกคลอนแคลน เพราะฉะนั้น จึงไม่มีปีติคือความอิ่มเอิบใจ แต่ว่าจิตใจที่ละนิวรณ์ได้ ที่พ้นนิวรณ์ได้แล้ว ย่อมเป็นจิตใจที่ใสสะอาด ที่ผุดผ่อง ผ่องใส จึงบังเกิดปีติคือความอิ่มเอิบใจ ดูดดื่มใจ
จึงส่งถึงข้อที่ ๕ ปัสสัทธิ ความสงบกายความสงบใจ เมื่อกายใจสงบมีสุข ก็ส่งถึงข้อที่ ๖ คือสมาธิ จิตใจก็ตั้งมั่น ไม่ฟุ้งซ่านกระสับกระส่าย แน่วแน่ เมื่อได้ข้อนี้ซึ่งเป็นข้อที่ ๖ ก็ส่งถึงข้อ ๗ คืออุเบกขา คือความที่จิตเข้าไปเพ่งเฉยอยู่ในภายในด้วยปัญญา ที่ละยินดีละยินร้ายได้ สงบอยู่ในภายในเป็นอุเบกขา อันเป็นข้อที่ครบ ๗
เพราะฉะนั้น แม้ในข้อนิวรณ์นี้ ก็ต้องอาศัยปฏิบัติตามหลักของโพชฌงค์ทั้ง ๗ ประการนี้ จึงจะเป็นไปในการละนิวรณ์ได้ และได้ผลจากการละนิวรณ์ ตามหลักของโพชฌงค์ดังกล่าว
หลักโพชฌงค์ในหมวดขันธ์ ๕
แม้ในหมวดที่แสดงขันธ์ ๕ ก็เช่นเดียวกัน พระพุทธเจ้าก็ตรัสสอนให้กำหนดสติ พร้อมทั้งสติสัมโพชฌงค์ในขันธ์ ๕ ให้รู้จักว่าอย่างนี้รูป อย่างนี้เวทนา อย่างนี้สัญญา อย่างนี้สังขาร อย่างนี้วิญญาณ (เริ่ม ๑๗๕/๒) ก็เป็นสติสัมโพชฌงค์ ต่อไปก็ให้มีธรรมวิจัยเลือกเฟ้นธรรม ว่าขันธ์ ๕ นี้เป็นธรรมะที่เป็นกลางๆ คือไม่ใช่กุศลไม่ใช่อกุศล ไม่ใช่มีคุณไม่ใช่มีโทษ ไม่ใช่เลวไม่ใช่ประณีต และไม่ใช่มีส่วนเทียบด้วยสีดำหรือสีขาว แต่เป็นกลางๆ
เพราะเป็นวิบากขันธ์ คือขันธ์ที่เป็นวิบาก ซึ่งทุกๆ คนได้ขันธ์ ๕ นี่มาตั้งแต่เกิด ก็อาศัยขันธ์ ๕ นี้เอง ทำดีบ้าง ทำชั่วบ้าง เพราะถ้าไม่มีขันธ์ ๕ แล้ว ทุกคนก็ไม่สามารถจะทำดีทำชั่วได้ ต้องอาศัยขันธ์ ๕ จึงทำดีทำชั่วได้ กรรมที่กระทำไปนั้น มีเป็นดี มีเป็นชั่ว แต่ว่าตัวขันธ์ ๕ เองเป็นเครื่องมือ ไม่ดี ไม่ชั่ว เช่นเดียวกับเครื่องมือทั้งหลาย เช่นว่ามีดพร้าซึ่งเป็นเครื่องมือนั้น สุดแต่คนจะใช้ให้เป็นคุณ หรือให้เป็นโทษ เมื่อใช้ในการหัตถกรรมต่างๆ เพื่อประโยชน์ในการก่อสร้าง หรือในทางอื่นให้เกิดเป็นประโยชน์นั้นๆ ก็เป็นการดี แต่เมื่อใช้ในทางทำร้ายซึ่งกันและกัน ก็เป็นความชั่ว อยู่ที่กรรมที่คนใช้เครื่องมือนี้กระทำขึ้นมา แต่ตัวมีดพร้าที่เป็นเครื่องมือเองนั้นเป็นกลางๆ ไม่ใช่เป็นของดีไม่ใช่เป็นของชั่วดังที่กล่าวแล้ว ฉันใดก็ดี ขันธ์ ๕ ก็ฉันนั้น เป็นกลางๆ
เพราะฉะนั้น หน้าที่ซึ่งพึงปฏิบัติในขันธ์ ๕ นั้น ซึ่งเป็นความเพียร จึงไม่ใช่เป็นความเพียรเพื่อที่จะละ หรือความเพียรที่จะอบรม แต่ว่าเป็นความเพียรที่กำหนดรู้ กำหนดรู้ให้รู้จักว่า ความเกิดขึ้นของขันธ์ ๕ เป็นอย่างนี้ ความดับไปของขันธ์ ๕ เป็นอย่างนี้ คือให้รู้จักธรรมดา อันได้แก่ความเกิดความดับของขันธ์ ๕ นี้เป็นความเพียรอันเป็นวิริยสัมโพชฌงค์
และเมื่อได้ปฏิบัติด้วยความเพียรอันเป็นวิริยสัมโพชฌงค์ดั่งนี้ ก็ย่อมจะได้ปีติ เป็นปีติสัมโพชฌงค์ และก็จะได้ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ สมาธิสัมโพชฌงค์ อุเบกขาสัมโพชฌงค์ไปโดยลำดับ ฉะนั้นแม้ในหมวดขันธ์ ๕ นี้ วิธีปฏิบัตินั้นก็ต้องใช้วิธีปฏิบัติในโพชฌงค์ ๗ นี้นั้นเอง
หลักโพชฌงค์ในหมวดอายตนะ
และมาถึงหมวดอายตนะก็เช่นเดียวกัน ก็ต้องใช้สติ เป็นสติปัฏฐาน เป็นสติสัมโพชฌงค์ กำหนดให้รู้จักว่านี่อายตนะภายใน นี่อายตนะภายนอก แล้วก็นี่อาศัยอายตนะภายในอายตนะภายนอกเกิดสัญโญชน์ขึ้นมา นี้เป็น สติสัมโพชฌงค์ ต่อไปก็ให้มี ธัมมวิจย เลือกเฟ้นธรรม หรือวิจัยธรรม เป็นข้อที่ ๒ คือให้รู้จักว่าสำหรับตัวอายตนะเองนั้นก็เป็นธรรมะที่เป็นกลางๆ ไม่ดีไม่ชั่ว เหมือนอย่างขันธ์ ๕ เพราะเป็นวิบากอายตนะ เช่นเดียวกับเป็นวิบากขันธ์ที่ทุกคนได้มาตั้งแต่เกิด แต่ว่าตัวสัญโญชน์นั้นคือความผูกใจ มีลักษณะเป็นความติดใจยินดี เป็นอกุศลธรรม มีโทษ เลว และมีส่วนเทียบด้วยสีดำ เพราะฉะนั้น จึงเป็นข้อที่ควรละ ดั่งนี้ก็เป็นธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ จึงมาถึงวิริยสัมโพชฌงค์ ก็เพียรละสัญโญชน์เสีย และเมื่อเพียรละก็ย่อมจะละได้ และเมื่อละได้ก็ย่อมได้ปีติ ได้ปัสสัทธิ ได้สมาธิ ได้อุเบกขา ไปโดยลำดับ เพราะฉะนั้น แม้ในข้ออายตนะ ๖ นั้น ก็ต้องอาศัยวิธีปฏิบัติคือโพชฌงค์ทั้ง ๗ ดังกล่าวมานี้
ฉะนั้น โพชฌงค์ ๗ จึงเป็นหลักธรรมสำคัญ ซึ่งต้องใช้ปฏิบัติมาตั้งแต่ในเบื้องต้น คือในหมวดสติปัฏฐาน ๔ นี้เอง ที่เป็นมหาสติปัฏฐานสูตร จำแนกแสดงหมวดกายไว้เป็นอันมาก หมวดจิต หมวดเวทนา และในหมวดธรรมะข้อ ๔ นี้เอง เป็นอันมาก ทุกข้อนั้นก็ตั้งต้นด้วยสติปัฏฐาน คือตั้งสติกำหนด และก็เลื่อนขึ้นเป็นสติสัมโพชฌงค์ ต้องใช้โพชฌงค์ทั้ง ๗ ข้อนี้ในทางปฏิบัติสติปัฏฐานทั้ง ๔ นี้ทุกข้อมา ตั้งแต่ต้นมาทีเดียว
คือตั้งแต่หมวดอานาปานสติ สติกำหนดลมหายใจเข้าออกมาทีเดียว ต้องอาศัยหลักปฏิบัติในโพชฌงค์ทั้ง ๗ ประการนี้มาทุกข้อในเบื้องต้น และก็ต้องอาศัยโพชฌงค์ทั้ง ๗ นี้ เป็นหลักปฏิบัติต่อไปในข้อปลายต่อไปคืออริยสัจจ์ทั้ง ๔ โพชฌงค์จึงเป็นธรรมะ เป็นๆ หมวดธรรมที่เป็นหลักสำคัญ ดั่งนี้