ความสุขที่แท้จริง ความสุข ๑๐ ขั้น, ความสุขที่ประณีต, สุขเหนือเวทนา

ความสุขที่แท้จริง ความสุข ๑๐ ขั้น, ความสุขที่ประณีต, สุขเหนือเวทนา

ปริยัติธรรม

พุทธธรรม ฉบับปรับขยาย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ลักษณะสําคัญของนิพพาน ที่สืบเนื่องมาจากความหมายว่า “ดับ” ซึ่งนับว่าเด่นน่าสนใจ มีอยู่ ๓ อย่าง คือ

  1. ดับอวิชชา หมายถึง การเกิดญาณทัศนะอันสูงสุด หยังรู้สัจธรรม
  2. ดับกิเลส หมายถึง กําจัดความชั่วร้าย และของเสียต่างๆ ภายในจิตใจ หมดเหตุที่จะก่อปัญหา ความเดือดร้อนวุ่นวายต่างๆ แก่ชีวิตและสังคม
  3. ดับทุกข์ หมายถึง หมดความทุกข์ บรรลุความสุขอันสูงสุด

ความสุขมีความสําคัญมากในการปฏิบัติธรรมตามหลักพระพุทธศาสนา กล่าวได้ว่า พุทธจริยธรรมไม่ แยกต่างหากจากความสุข

เริ่มแต่ขั้นต้น ในการทําความดีหรือกรรมดีทั่วๆ ไป ที่เรียกว่าบุญ ก็มีพุทธพจน์ตรัสว่า “บุญเป็นชื่อของความสุข

ในการเจริญภาวนา บําเพ็ญเพียรทางจิต ความสุขก็เป็นปัจจัยสําคัญที่จะให้เกิดสมาธิ ดังพุทธพจน์ว่า “ผู้มีสุข จิตย่อมตั้งมั่น (เป็นสมาธิ)” และถือเป็นหลักว่า สมาธิมีสุขเป็นปทัฏฐาน ครั้นเมื่อจิตเป็นสมาธิ บรรลุฌานแล้ว ความสุขก็เป็นองค์ประกอบของฌาน ดังที่เรียกว่าเป็นองค์ฌาน ต่อไปจนถึงฌานที่ ๓ ฌานสมาบัติ ที่สูงกว่านั้นขึ้นไป แม้จะไม่มีสุขเป็นองค์ฌาน แต่ก็กลับเป็นความสุขที่ประณีตยิ่งขึ้นไปอีก

จุดหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา คือ นิพพาน ก็เป็นความสุข และเป็นบรมสุข คือสุขสูงสุดด้วย

นอกจากนั้น จุดหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา ที่เป็นบรมสุขหรือโพธินั้น ก็พึงบรรลุได้ด้วยความสุข หรือด้วยข้อปฏิบัติที่มีความสุข มิใช่บรรลุด้วยความทุกข์ หรือด้วยข้อปฏิบัติที่เป็นทุกข์

รู้จักกามสุข และเสพบริโภคอย่างมีปัญญา ที่ทําให้เป็นอิสระเสรี ความสุขมีหลากหลาย สูงขึ้นไปตามลําดับขั้น

พระพุทธเจ้าตรัสว่า "พระองค์ได้ทรงบรรลุถึงความสุขที่ไม่ต้องอาศัยกาม และความสุขอย่างอื่นที่ประณีต ยิ่งไปกว่านั้นแล้ว จึงทรงยืนยันได้ว่าจะไม่ทรงเวียนกลับมาหากามอีก แต่ถ้าพระองค์ยังไม่ทรงประสบความสุขที่ ประณีตเช่นนั้นแล้ว ก็จะไม่ทรงสามารถยืนยันได้ว่า พระองค์จะไม่ทรงเวียนกลับมาหากามอีก"

พร้อมกันนั้นก็ได้ตรัสทํานองเตือนผู้ปฏิบัติธรรมให้ระลึกไว้ว่า ถึงหากอริยสาวกจะมองเห็นอย่างชัดเจน ตามความเป็นจริงด้วยสัมมาปัญญาว่า "กามทั้งหลายมีความหวานชื่นน้อย มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก โทษ ในกามนี้มากยิ่งนัก แต่ถ้าอริยสาวกนั้นยังไม่ประสบ ยังไม่รู้จักปีติและความสุขที่ไม่ต้องอาศัยกาม หรือความสุขที่ ประณีตยิ่งไปกว่านั้น ก็ยังวางใจไม่ได้ว่าเธอจะไม่วกเวียนกลับมาหากามอีก"

ในทํานองเดียวกันนั้น ได้ตรัสเตือนภิกษุทั้งหลายไว้โดยจําเพาะว่า "ถ้าผู้บวชแล้ว ยังมิได้ประสบปีติและ ความสุขที่ไม่ต้องอาศัยกาม หรือความสุขที่ลึกซึ้งยิ่งกว่านั้น กิเลสทั้งหลาย เช่น อภิชฌา พยาบาท ความฟุ้งซ่าน เกียจคร้าน เบื่อหน่าย ก็จะเข้าครอบงําจิตได้ หมายความว่า ก็จะไม่ยินดีประพฤติพรหมจรรย์ หรือทน ประพฤติพรหมจรรย์อยู่ไม่ได้"

ความที่ยกมาอ้างเหล่านี้ นอกจากจะแสดงให้เห็นว่า พระพุทธศาสนาถือความสุขเป็นเรื่องสําคัญแล้ว ยังให้ข้อสังเกตต่อไปอีกว่า การที่อริยสาวกละกามนั้น มิใช่เป็นเพราะกามไม่มีความสุข หรือเพราะ พระพุทธศาสนาสอนให้ละเว้นความสุข พระพุทธศาสนายอมรับความสุขตามที่เป็นจริง สอนให้ปฏิบัติเพื่อบรรลุ ความสุข และยอมรับว่ากามมีความสุข แต่อริยสาวกละกาม เพราะเห็นว่า กามมีความสุขก็จริง แต่ยังปะปนด้วยทุกข์ มาก และข้อสําคัญก็คือ ยังมีความสุขอย่างอื่นที่สุขกว่า ลึกซึ้งประณีตกว่าสุขที่เกิดจากกาม หรือความสุขที่เกิดจากการ เสพเสวยรสอร่อยของโลกอย่างสามัญชน อริยสาวกละกาม ก็เพราะได้ประสบความสุขที่ประณีตกว่านั้น

ความข้อนี้แสดงว่า ความสุขมีแตกต่างกัน เป็นขั้น เป็นระดับ สิ่งที่ควรศึกษาในตอนนี้ก็คือว่า พระพุทธศาสนาจัดแบ่งความสุขออกเป็นขั้น หรือระดับ อย่างไร

ในคัมภีร์อังคุตตรนิกาย ทุกนิบาต ทรงจําแนกความสุขออกไปทั้งโดยประเภท และโดยระดับ เป็นคู่ๆ มากมายหลายคู่ เช่น สุขของคฤหัสถ์กับสุขของบรรพชิต กามสุขกับเนกขัมมสุข โลกยสุขกับโลกุตรสุข สุขของ พระอริยะกับสุขของปุถุชน เป็นต้น

แต่วิธีแบ่งที่เป็นลําดับขั้นชัดเจน ละเอียด และดูง่าย ไม่ซับซ้อน น่าจะได้แก่วิธีแบ่งเป็น ๑๐ ขั้น หรือ ความสุข ๑๐ ขั้น ซึ่งมีในที่มาหลายแห่ง แบ่งดังนี้

  1. กามสุข สุขเนื่องด้วยกาม ได้แก่ ความสุขโสมนัสที่เกิดขึ้นด้วยอาศัยกามคุณ ๕
  2. ปฐมฌานสุข สุขเนื่องด้วยปฐมฌาน ซึ่งสงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลาย ประกอบด้วย วิตก วิจาร ปีติ สุข และเอกัคคตา
  3. ทุติยฌานสุข สุขเนื่องด้วยทุติฌาน ซึ่งประกอบด้วย ปีติ สุข และเอกัคคตา
  4. ตติยฌานสุข สุขเนื่องด้วยตติยฌาน ซึ่งประกอบด้วย สุข และเอกัคคตา
  5. จตุตถฌานสุข สุขเนื่องด้วยจตุตถฌาน ซึ่งประกอบด้วย อุเบกขา และเอกัคคตา
  6. อากาสานัญจายตนสมาปัตติสุข สุขเนื่องด้วยอากาสานัญจายตนสมาบัติ ซึ่งล่วงพ้นรูปสัญญาได้สิ้นเชิง ปฏิฆสัญญาล่วงไปหมด ไม่มนสิการนานัตตสัญญา นึกถึงแต่อากาศอันอนันต์เป็นอารมณ์
  7. วิญญาณัญจายตนสมาปัตติสุข สุขเนื่องด้วยวิญญาณัญจายตนสมาบัติ ซึ่งคํานึงวิญญาณอันอนันต์ เป็นอารมณ์
  8. อากิญจัญญายตนสมาปัตติสุข สุขเนื่องด้วยอากิญจัญญายตนสมาบัติ ซึ่งคํานึงภาวะที่ไม่มีอะไร เลยเป็นอารมณ์
  9. เนวสัญญานาสัญญายตนสมาปัตติสุข สุขเนื่องด้วยเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ อันถึงภาวะที่มีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่
  10. สัญญาเวทยิตนิโรธสมาปัตติสุข สุขเนื่องด้วยสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ อันถึงภาวะที่ดับสัญญาและเวทนาทั้งหมด

ถ้าจะจัดให้ย่อเข้า สุข ๑๐ ข้อนี้ รวมเข้าได้เป็น ๓ ระดับ คือ

  1. กามสุข สุขเนื่องด้วยกาม
  2. ฌานสุข หรือ (อัฏฐ) สมาปัตติสุข สุขเนื่องด้วยฌาน หรือสุขเนื่องด้วยสมาบัติ ๔ แยกเป็น ๒ ระดับย่อย
    1. สุขในรูปฌาน หรือสุขเนื่องด้วยรูปฌาน ๔
    2. สุขในอรูปฌาน หรือสุขเนื่องด้วยอรูปฌาน ๔
  3. นิโรธสมาปัตติสุข สุขเนื่องด้วยนิโรธสมาบัติ

สุขทั้ง ๑๐ ขั้นนี้ ท่านยอมรับว่าเป็นความสุขทั้งนั้น หากแต่เป็นความสุขที่ดีกว่า ประณีตลึกซึ้งยิ่งกว่ากัน ขึ้นไปตามลําดับขั้น เพราะความสุขขั้นต้นๆ มีส่วนเสีย หรือแง่ที่เป็นทุกข์แทรกอยู่ด้วยมาก เมื่อเป็นสุขขั้นสูงขึ้นไป ก็ยิ่งประณีตบริสุทธิ์มากขึ้น

ท่านสอนให้มองความสุขเหล่านั้นตามความเป็นจริง ทั้งด้านที่เป็นสุข และด้านที่มีทุกข์เข้ามาปน คือมอง ทั้งส่วนดีและส่วนเสีย หรือทั้งแง่ที่เป็นคุณและแง่ที่เป็นโทษ (เรียกเป็นคําศัพท์ว่า ทั้ง อัสสาทะ และ อาทีนวะ) นอกจากนั้น ยังให้รู้จักทางออก ทางรอดพ้น หรือภาวะเป็นอิสระที่ดีกว่า ซึ่งไม่ขึ้นต่อส่วนดีส่วนเสียนั้นด้วย (เรียก เป็นศัพท์ว่า นิสสรณะ)

เมื่อเห็นโทษของสุขที่หยาบ ก็จะหน่ายหายติด และโน้มใจไปหาสุขที่ประณีตยิ่งกว่า เมื่อรู้จักและได้ ประสบความสุขที่ประณีตประจักษ์กับตัวแล้ว ก็จะละความสุขที่หยาบกว่าเสียได้ มุ่งบรรลุสุขที่ประณีตยิ่งขึ้นไป ตามลําดับ อย่างน้อยก็จะไม่มัวเมาหมกมุ่นในสุขที่หยาบนั้นจนเกินไป

เมื่อใด จิตหลุดพ้นเด็ดขาดแล้ว ตัดเยื่อใยได้สิ้น ก็จะไม่วกเวียนกลับมาหาความสุขที่หยาบอีกต่อไป คงเสวยแต่สุขที่ประณีตสําหรับจิตที่เป็นอิสระอย่างเดียว

สุขใน สุขประณีต จนถึงสุขสูงสุด - ก้าวสู่ความสุขที่ประณีตสูงขึ้นไป

ก่อนจะกล่าวถึงความสุขที่ประณีต เห็นควรแสดงความหมายทั่วไปของความสุข และความทุกข์ ชนิดที่มี เป็นพื้นอยู่ในจิตใจ ซึ่งสัมพันธ์กับความสุขอย่างอื่นๆ ทั้งหมด กล่าวคือ ครั้งหนึ่ง มีปริพาชกถามพระสารีบุตรว่า อะไรคือความสุข อะไรคือความทุกข์ ในธรรมวินัยนี้ พระสารีบุตรได้ตอบว่า

“ความไม่ยินดี นั่นแลท่าน เป็นทุกข์ในธรรมวินัยนี้, ความยินดี จึงเป็นสุข

“เมื่อมีความไม่ยินดี (อนภิรดี) ก็เป็นอันหวังทุกข์นี้ได้ คือ แม้เดินอยู่ ก็ไม่ประสบความสุข ความสําราญ แม้ยืนอยู่ แม้นั่งอยู่ แม้นอนอยู่ แม้อยู่ในบ้าน แม้อยู่ในป่า แม้อยู่ที่โคนไม้ แม้อยู่ในเรือนว่าง..แม้อยู่ในที่แจ้ง...แม้อยู่ท่ามกลางหมู่ภิกษุ ก็ไม่ประสบความสุขความสําราญ, เมื่อมีความไม่ยินดี ย่อมเป็นอันหวังทุกข์นี้ได้,

* (แต่) เมื่อมีความยินดี (อภิรดี) ก็เป็นขันหวังความสุขนี้ได้ คือ แม้เดินอยู่ ก็ประสบ ความสุขความสําราญ แม้ยืนอยู่ แม้นั่งอยู่ แม้นอนอยู่ แม้อยู่ในบ้าน... แม้อยู่ในป่า แม้อยู่ที่ โคนไม้แม้อยู่ในเรือนว่าง...แม้อยู่ในที่แจ้ง แม้อยู่ท่ามกลางหมู่ภิกษุ ก็ย่อมประสบความสุข ความสําราญ, เมื่อมีความยินดี ก็เป็นอันหวังความสุขนี้ได้”

จากนี้ พึงทราบความสุขประณีต ในระดับตั้งแต่ฌานสุขขึ้นไป ว่ามีเค้าความรู้สึกอย่างไร ดังที่ท่านแสดง ไว้โดยอุปมา สรุปมาพิจารณากันดูต่อไปนี้

ก้าวสุดท้ายก่อนจะบรรลุฌาน ก็คือการละ นิวรณ์ ๕ (กามฉันท์ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ และวิจิกิจฉา) ได้ ผู้ละนิวรณ์ได้แล้ว จะมีความรู้สึกปลอดโปร่งโล่งเบาสบายและอิ่มใจเกิดขึ้น เป็นพื้นนําของการ จะได้ความสุขในฌานต่อไป ดังที่ท่านอุปมาไว้ ๕ ประการ

  1. เปรียบเหมือนการเกิดความปราโมทย์ มีโสมนัสชื่นฉ่ำใจ ของคนที่เคยกู้ยืมเงินคนอื่นมาประกอบการ งานแล้ว ประสบความสําเร็จ ใช้หนี้สินได้หมดแล้ว และยังมีเงินเหลือไว้เลี้ยงครอบครัว
  2. เปรียบเหมือนการเกิดปราโมทย์ มีโสมนัสชื่นใจ ของคนที่ฟื้นหายจากความเจ็บป่วยเป็นไข้หนัก กลับกินข้าวกินปลาได้ มีกําลังกายแข็งแรง
  3. เปรียบเหมือนการเกิดปราโมทย์ มีโสมนัสชุ่มชื่นใจ ของคนที่พ้นจากการถูกจองจํา ไปได้โดยสวัสดี ไม่มีภัย และไม่ต้องเสียทรัพย์สิน
  4. เปรียบเหมือนการเกิดปราโมทย์ มีโสมนัสชุ่มชื่นใจ ของคนที่หลุดพ้นจากความเป็นทาส อาศัย ตนเองได้ ไม่ขึ้นกับคนอื่น เป็นไทแก่ตัว จะไปไหนก็ไปได้ตามใจปรารถนา
  5. เปรียบเหมือนการเกิดปราโมทย์ มีโสมนัสชุ่มชื่นใจ ของคนมั่งมีทรัพย์ ผู้เดินทางข้ามพ้นหนทางไกล กันดาร ที่หาอาหารได้ยาก และเต็มไปด้วยภยันตราย มาถึงถิ่นบ้านอันเกษมปลอดภัยโดยสวัสดี

ต่อแต่นั้น ก็จะได้ประสบความสุขใน ฌาน ๔ ที่ประณีตดียิ่งกว่านั้นขึ้นไปอีกตามลําดับ กล่าวคือ

  1. ใน ฌานที่ ๑ ซึ่งประกอบด้วย วิตก วิจาร ปีติ สุข และเอกัคคตา ผู้ปฏิบัติ ทํากายของตนให้ชุ่มชื่นเอิบอาบ ซาบซ่านด้วยปีติและความสุข ไม่มีส่วนใดของกายทั่วทั้งตัว ที่ปีติและความสุขจะไม่ถูกต้อง เปรียบเหมือนแป้งสีกายที่ เขาเทใส่ภาชนะสําริด เอาน้ําพรมปล่อยไว้ พอถึงเวลาเย็น ก็มียางซึมไปจับติดถึงกันทั่วทั้งหมด ไม่กระจายออก
  2. ใน ฌานที่ ๒ ซึ่งประกอบด้วยปีติ สุข และเอกัคคตา ผู้ปฏิบัติ ทํากายให้ชุ่มชื่นเอิบอาบซาบซ่านด้วยปีติ และความสุข ที่เกิดจากสมาธิ ทั่วไปหมดทั้งตัว เปรียบเหมือนห้วงน้ําลึก ที่น้ําผุดขึ้นภายใน ไม่มีน้ําไหลจากที่อื่น หรือแม้แต่น้ําฝนไหลเข้ามาปน กระแสน้ําเย็นผุดพุขึ้นจากห้วงน้ํานั้น ทําให้ห้วงน้ํานั้นเองชุ่มชื่นเอิบอาบซาบซึม เยือกเย็นทั่วไปหมดทุกส่วน
  3. ใน ฌานที่ ๓ ซึ่งประกอบด้วยสุข และเอกัคคตา ผู้ปฏิบัติ ทํากายให้ชุ่มชื่นเอิบอาบซาบซ่านด้วยความสุข ที่ปราศจากปีติ ทั่วไปหมดทุกส่วน เปรียบเหมือนกอบัวเหล่าต่างๆ ที่เติบโตขึ้นมาในน้ํา แช่อยู่ในน้ํา และน้ําหล่อ เลี้ยงไว้ ย่อมชุ่มชื่นเอิบอาบซาบซึมด้วยน้ําเย็นทั่วไปหมดทุกส่วน ตั้งแต่ยอดตลอดเหง้า
  4. ใน ฌานที่ ๔ ซึ่งประกอบด้วยอุเบกขา และเอกัคคตา ผู้ปฏิบัติ แผ่จิตใจอันบริสุทธิ์ผ่องแผ้วไปทั่วทั้ง กาย เหมือนเอาผ้าขาวล้วนบริสุทธิ์ มานุ่งห่มตัวตลอดหมดทั้งศีรษะ

ต่อจากความสุขในฌาน ๔ นี้ไป ก็มีความสุขในอรูปฌานอีก ๔ ขั้น ซึ่งประณีตยิ่งขึ้นไปตามแนวเดียวกัน นี้โดยลําดับ

แม้ว่าฌานสุขทั้งหลายจะประณีตลึกซึ้ง ดีเยี่ยมกว่ากามสุข แต่ก็ยังมีข้อบกพร่องหลายอย่าง มิใช่ ความสุขที่สมบูรณ์

มีพุทธพจน์ตรัสว่า "ในอริยวินัย (ระบบอริยะ หรือแบบแผนของอารยชน) เรียก กามคุณ ๕ ว่าเป็นโลก หรือว่า โลกก็คือกามคุณ ๕ นั่นเอง ผู้ยังติดอยู่ในกามสุข ก็คือติดข้องอยู่ในโลก

ผู้ใดเข้าถึงฌาน จะเป็นรูปฌาน หรืออรูปฌานก็ตาม ท่านเรียกผู้นั้นว่า ได้มาถึงที่สุดของโลกแล้ว และ อยู่ ณ ที่สุดแห่งโลก แต่ก็ยังเป็นผู้เนื่องอยู่ในโลก ยังสลัดตัวไม่พ้นจากโลก

ส่วนผู้ใดก้าวล่วงอรูปฌานขั้นสุดท้ายไปได้แล้ว เข้าถึงสัญญาเวทยิตนิโรธ และเป็นผู้หมดอาสวะเพราะ เห็น (สัจธรรม) ด้วยปัญญา ผู้นี้จึงจะเรียกได้ว่า ได้มาถึงที่สุดแห่งโลกแล้ว อยู่ ณ ที่สุดแห่งโลก และทั้งได้ข้าม พ้นโยงใยที่เหนี่ยวพันให้ติดอยู่ในโลกไปได้แล้ว"

นี้คือการมาถึงความสุขขั้นสุดท้าย หรือสุขที่สมบูรณ์ ของผู้มีจิตใจเป็นอิสระ ได้แก่สุขของผู้บรรลุ นิพพานแล้ว ซึ่งรวมถึงสุขเนื่องด้วยสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ อันเป็นสุขขั้นที่ ๑๐ ในบรรดาสุข ๑๐ ขั้น ที่ กล่าวถึงมาโดยลําดับ

ข้อบกพร่องซึ่งทําให้ฌานสุขไม่สมบูรณ์ เฉพาะที่สําคัญ คือ ภาวะในฌานยังไม่โปร่งโล่งเต็มที่ ยังถูกจํากัด มี ความคับแคบด้วยสัญญาและองค์ธรรมอื่นๆ ที่เนื่องอยู่ในฌานนั้นๆ ยังมีความคํานึงนึกด้วยสัญญาเกี่ยวกับฌาน ชั้นต่ํากว่าฟังขึ้นมาในใจได้ จึงยังนับว่ามีสิ่งรบกวนหรือมีความบีบเบียน ถึงแม้จะจัดเป็นนิรามิสสุข แต่ก็ยัง เป็นเหตุให้ติดให้ยึดเกิดความถือมั่น คืออุปาทานได้ อาจกลายเป็นเครื่องขัดขวางการบรรลุนิพพาน หรือขัดขวาง ความสุขสมบูรณ์ที่สูงขึ้นไป จึงยังเป็นสิ่งที่ไม่เพียงพอ ยังต้องก้าวข้ามหรือละไปเสียให้ได้ เป็นภาวะปรุง แต่งถูกปัจจัยทางจิตสรรค์สร้างขึ้นมา ไม่เที่ยงแท้ จะต้องดับไปตามสภาวะ และเป็นภาวะเสื่อมถอยได้

ลักษณะสําคัญอีกอย่างหนึ่งของฌานสุข คือ ยังเป็นสุขระดับเวทนา หมายความว่า เป็นสุขที่เกิดจากการเสวย อารมณ์ หรือเสพรสอารมณ์ ถ้ามองในแง่นี้ ฌานสุขก็ยังมีลักษณะร่วมอย่างหนึ่งกับกามสุข คือเป็นสุขเวทนา

โดยนัยนี้ สุข ชั้นต้น จึงอาจจัดเข้าเป็นประเภทเดียวกัน คือ สุขอาศัยการเสพรสอารมณ์

สุขเหนือเวทนา

เป็นอันว่า เหลือแต่สุขขั้นสุดท้าย คือข้อที่ ๑๐ อย่างเดียว ที่ต่างออกไป โดยเป็นสุข แต่ไม่เป็นเวทนา หรือเป็นสุขได้โดยไม่ต้องมีการเสวยอารมณ์ จะเรียกว่า สุขเหนือเวทนา ก็ได้ ตามที่ท่านแสดงไว้ มุ่งเอาสุขเนื่อง ด้วยสัญญาเวทยิตนิโรธ สัญญาเวทยิตนิโรธนี้ เป็นสมาบัติที่ดับสัญญาและเวทนา จึงเป็นธรรมดาที่จะไม่มีเวทนา

อาจมีผู้สงสัยว่า ถ้าไม่มีเวทนา จะเป็นสุขได้อย่างไร เพราะความสุขเป็นเวทนาอย่างหนึ่ง แต่ตามความเป็นจริง ความสุขที่ไม่เป็นเวทนา ก็มี ดังพุทธพจน์ที่ตรัสในเรื่องนี้ว่า

“อานนท์ ภิกษุก้าวล่วงเนวสัญญานาสัญญายตนะโดยประการทั้งปวงแล้ว เข้าถึงสัญญา เวทยิตนิโรธอยู่ นี้แล คือความสุขอื่น ที่ดีเยี่ยมกว่า และประณีตกว่าความสุข (ในเนวสัญญานาสัญญายตนะ) นั้น”

“อาจเป็นไปได้ ที่อัญเดียรถีย์ปริพาชกจะพึงกล่าวว่า พระสมณโคดมตรัสสัญญาเวทยิตนิโรธ ไว้ และทรงบัญญัติ (จัดเอา) สัญญาเวทยิตนิโรธนั้นเข้าในความสุขด้วย, ข้อนั้นคืออะไรกัน ข้อ นั้นเป็นได้อย่างไรกัน;

“เธอพึงกล่าวชี้แจงกะอัญเดียรถีย์ปริพาชกที่พูดอย่างนั้นว่า; นี่แน่ะท่าน พระผู้มีพระภาคจะ ทรงบัญญัติไว้ในความสุข หมายเอาเฉพาะสุขเวทนาอย่างเดียวเท่านั้น ก็หาไม่, ในที่ใดๆ พบ ความสุขได้ในภาวะใดๆ มีความสุข พระตถาคตย่อมทรงบัญญัติฐานะภาวะนั้นๆ ไว้ในความสุข (คือจัดเอาฐานะหรือภาวะนั้นๆ เข้าเป็นความสุข)

สัญญาเวทยิตนิโรธ เป็นภาวะเทียบคล้ายภาวะนิพพาน และสุขโดยไม่มีการเสวยอารมณ์ หรือสุขไม่เป็น เวทนา แห่งสัญญาเวทยิตนิโรธนี้ ก็เป็นประดุจนิพพานสุข

เรื่องนี้ พระสารีบุตรก็เคยอธิบายไว้ในนิพพานสูตร ความย่อว่า ครั้งหนึ่ง ท่านได้กล่าวกะภิกษุ ทั้งหลายว่า

“ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย นิพพานนี้เป็นสุข นิพพานนี้เป็นสุข”

พระอุทายีถามท่านว่า "จะมีความสุขได้อย่างไร ในภาวะที่ไม่มีการเสวยอารมณ์" พระสารีบุตรตอบว่า "นิพพานที่ไม่มีการเสวยอารมณ์ (ไม่มีเวทนา) นี่แหละเป็นสุข" จากนั้น ท่านได้อธิบายด้วยวิธียกตัวอย่างภาวะใน สมาบัติ เป็นเครื่องเทียบเคียงให้เข้าใจโดยนัยอ้อม

ตามคําอธิบายของพระสารีบุตรนั้น ท่านมิได้ใช้เฉพาะแต่สัญญาเวทยิตนิโรธอย่างเดียวเท่านั้นเป็นเครื่องเทียบ ท่านใช้ภาวะในฌานทุกชั้น ตั้งแต่ปฐมฌานขึ้นไปทีเดียว เป็นเครื่องแสดงให้เห็นแง่ที่จะเทียบเคียงเข้าใจ ความสุขแห่งภาวะนิพพานได้

สุขได้ไม่ต้องพึ่งเวทนา คืออิสรภาพ และเป็นสุขภาวะที่สมบูรณ์

เมื่อมองให้ถึงตัวสภาวะ สุขที่ยังเป็นเวทนา หรือสุขที่ยังอาศัย ยังขึ้นต่อการเสวยอารมณ์ ล้วนเป็นทุกข์ ทั้งสิ้น เพราะสุขเวทนาก็เช่นเดียวกับเวทนาอื่นๆ (คือทุกข์ และอทุกขมสุข) ล้วนเป็นสังขารธรรม (หมายถึง สังขารในความหมายของสังขตธรรม ที่คลุมขันธ์ ๕ ทั้งหมด ไม่ใช่สังขารที่เป็นข้อที่ ๔ ในขันธ์ ๕) จึงย่อมเป็น ทุกข์ทั้งสิ้น (หมายถึงทุกข์ในไตรลักษณ์) ดังพุทธพจน์ตรัสชี้แจงแก่ภิกษุรูปหนึ่ง ดังนี้

ภิกษุ: เมื่อข้าพระองค์หลีกเร้นอยู่ในที่ลับ ได้เกิดความครุ่นคิดในใจอย่างนี้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสเวทนาไว้ ๓ อย่าง คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา...แต่พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ได้ ตรัสข้อความนี้ไว้ด้วยว่า การเสวยอารมณ์ (เวทนา) ไม่ว่าอย่างหนึ่งอย่างใด ล้วนจัดเข้าในทุกข์; ข้อที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า การเสวยอารมณ์ไม่ว่าอย่างหนึ่งอย่างใด ล้วนจัดเข้าในทุกข์ดังนี้ พระองค์ตรัสหมายถึงอะไรหนอ?

พระพุทธเจ้า: ถูกแล้ว ถูกแล้ว ภิกษุ เรากล่าวเวทนาไว้ ๓ อย่าง คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุก ขมสุขเวทนา แต่เราก็ได้กล่าวข้อความนี้ไว้ด้วยว่า การเสวยอารมณ์ไม่ว่าอย่างหนึ่งอย่างใด ล้วนจัดเข้าในทุกข์, ความข้อ (หลัง) นี้เรากล่าวหมายถึงภาวะที่สังขารทั้งหลายนั่นแล เป็นสิ่ง ไม่เที่ยง..เรากล่าวหมายถึงภาวะที่สังขารทั้งหลายนั่นแล มีความสิ้น ความสลาย ความจางหาย ความตับ ความแปรปรวนไปได้เป็นธรรมดา

เมื่อใด รู้เข้าใจตามเป็นจริงว่า เวทนาทั้ง ๓ คือ สุขก็ดี ทุกข์ก็ดี อทุกขมสุขก็ดี ล้วนไม่เที่ยง เป็นสิ่งที่ ปัจจัยต่างๆ ปรุงแต่งขึ้น เป็นของอาศัยกันๆ เกิดขึ้น มีอันจะต้องสิ้น ต้องสลาย ต้องจางหาย ต้องดับไปเป็น ธรรมดา แล้วหมดใคร่หายติดในเวทนาทั้ง ๓ นั้น จนจิตหลุดพ้นเป็นอิสระได้แล้ว เมื่อนั้น จึงจะประสบสุข เหนือเวทนา หรือสุขที่ไม่เป็นเวทนา ไม่พึ่งพาอาศัยขึ้นต่อการเสวยอารมณ์ ที่เป็นขั้นสูงสุด

เวทนาจะเกิดขึ้นได้ ต้องอาศัยผัสสะ คือการรับรู้ ที่เกิดจากอายตนะ มีตา เป็นต้น ประจวบกับอารมณ์ มีรูป เป็นต้น แล้วเกิดการเห็น การได้ยิน เป็นต้น พูดง่ายๆ แง่หนึ่งว่า เวทนาต้องอาศัยอารมณ์ ขึ้นต่ออารมณ์ ถ้าไม่มีอารมณ์ เวทนาก็เกิดไม่ได้ เวทนาจึงแปลว่า การเสวยอารมณ์ หรือเสพรสอารมณ์

เมื่อเวทนาอาศัยอารมณ์ สุขที่เป็นเวทนา ก็ต้องอาศัยอารมณ์ ฌานสุขอาศัยเฉพาะธรรมารมณ์อย่างเดียว แต่กามสุขต้องอาศัยอารมณ์ทุกอย่าง เฉพาะอย่างยิ่ง อารมณ์ ๕ อย่างต้น ที่เรียกว่ากามคุณ ซึ่งเป็นอามิส

โลกิยปุถุชนดําเนินชีวิต โดยมุ่งแสวงหากามสุข จึงเท่ากับฝากความสุขความทุกข์ ฝากชีวิตของตนไว้กับ อารมณ์เหล่านั้น คราวใดกามคุณารมณ์พรั่งพร้อมอํานวย ก็สนุกสนานร่าเริง คราวใด กามคุณารมณ์เหล่านั้นผัน ผวนปรวนแปรไป หรือขาดแคลน ไม่มีอารมณ์จะเสพเสวย ก็ซบเซาเศร้าสร้อยหงอยละเหี่ย

ต่างจากท่านผู้รู้จักความสุขที่ประณีตสูงขึ้นไป เฉพาะอย่างยิ่งสุขที่ไม่อาศัยเวทนา ซึ่งไม่ฝากชีวิตไว้กับ อารมณ์เหล่านั้น ถึงแม้กามคุณารมณ์จะเสื่อมสลายปรวนแปรไป ก็ยังคงเป็นสุขอยู่ได้ ดังพุทธพจน์ว่า

“เทพและมนุษย์ทั้งหลาย มีรูปเป็นที่ยินดี รื่นรมย์ด้วยรูป บันเทิงด้วยรูป...บันเทิงด้วยเสียง...บันเทิงด้วยกลิ่น...บันเทิงด้วยรส...บันเทิงด้วยสิ่งสัมผัสกาย...บันเทิงด้วยธรรมารมณ์;

“เพราะรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐพพะธรรมารมณ์ แปรปรวน เลือนหาย ดับสลายไป เทพและมนุษย์ทั้งหลาย ย่อมอยู่เป็นทุกข์;

“ส่วนตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธะ ทราบตามความเป็นจริงแล้ว ซึ่งความเกิดขึ้น ความ ตั้งอยู่ไม่ได้ คุณ โทษ ของรูป..เสียง...กลิ่น รส โผฏฐพพะธรรมารมณ์ พร้อมทั้งทางออก จึง ไม่เป็นผู้มีรูปเป็นที่ยินดี ไม่รื่นรมย์อยู่ด้วยรูป ไม่บันเทิงอยู่ด้วยรูป ฯลฯ ธรรมารมณ์, เพราะรูป ฯลฯ ธรรมารมณ์ ปรวนแปร เลือนหาย ดับสลายไป ตถาคตก็อยู่เป็นสุขได้”

ที่เป็นเช่นนี้ เพราะโลกิยปุถุชนมีประสบการณ์จํากัด คับแคบ รู้จักแต่เพียงกามสุขอย่างเดียว เวลา ประสบสุขเวทนาสมปรารถนา ก็เสวยสุขเวทนานั้นอย่างถูกมัดตัว ลุ่มหลงมัวเมาหมกมุ่นในกามสุข และในกาม คุณยิ่งขึ้น เวลาประสบทุกขเวทนา ก็โศกเศร้าหงอยเหงาหรือทุรนทุราย แล้วก็หันมาฝันใฝ่ครุ่นคํานึงฝาก ความหวังไว้กับกามสุขต่อไปอีก เพราะโลกิยปุถุชนนั้น ไม่รู้ทางออกจากทุกขเวทนานอกเหนือไปจากกามสุข

ส่วนอริยสาวก ผู้รู้จักสุขประณีตกว่าแล้ว เมื่อประสบสุขเวทนาจากกามคุณารมณ์ ก็เสวยสุขเวทนานั้น อย่างไม่ถูกมัดตัว ไม่ลุ่มหลงมัวเมาหมกมุ่นตกเป็นทาสของกามคุณนั้น ครั้นได้ประสบทุกขเวทนา ก็ไม่ซบเซาเศร้า ทุรนทุราย และก็ไม่หันไปรอหากามสุข เพราะรู้จัก นิสสรณะ คือทางออก หรือภาวะรอดพ้นเป็นอิสระที่ดีกว่า ซึ่ง ไม่ต้องอาศัยกามสุข คือมีประสบการณ์เกี่ยวกับความสุขที่กว้างขวางกว่า มีปัญญารู้เท่าทันสุขทุกข์ตามความเป็น จริง และรู้จักสุขอย่างอื่นที่ดีกว่า ความสุขของท่านไม่ขึ้นต่อเวทนา ไม่จําเป็นต้องอาศัยการเสพอารมณ์เสมอไป

ความสุขที่ไม่เป็นเวทนา ไม่พึ่งพา ไม่ขึ้นต่ออารมณ์นี้ เป็นเรื่องยากที่คนทั่วไปจะเข้าใจได้ เพราะไม่เคย ประสบ ตัวอย่างที่จะเทียบก็ไม่มี แต่กระนั้นก็อาจพูดให้เห็นเค้าว่า ตามปกติ คนทั่วไปก็มีความสุขพื้นฐานอยู่ อย่างหนึ่ง ซึ่งต่างจากความสุขจากการเสพรสอารมณ์

ความสุขพื้นฐานที่ว่านี้ เป็นทั้งความสุขโดยตัวของมันเอง และเป็นฐานรองรับที่ช่วยให้ได้รับความสุขจาก การเสพรสอารมณ์ต่างๆ ความสุขพื้นฐานนี้ ได้แก่ภาวะที่จิตใจปลอดโปร่งผ่องใสเบิกบาน ไม่มีความมัวหมอง วุ่นวาย หรือเรื่องติดค้างกังวลใจใดๆ จะเรียกว่าจิตว่าง หรือมีความสะอาดสว่างสงบ หรืออย่างไรก็ตามที่ ผู้ที่มี ภาวะจิตเช่นนี้ ย่อมเรียกได้ว่าเป็นผู้มีความสุข นี้เป็นขั้นที่หนึ่ง

ขั้นต่อไป ผู้ที่มีภาวะจิตใจเช่นนี้ ถ้าจะไปเสพเสวยอารมณ์ใดก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐพพะ ก็ตาม ก็จะได้รับความสุขจากการเสพเสวยอารมณ์นั้นๆ เต็มที่

เรื่องนี้จะเห็นได้ชัดในทางตรงข้าม เช่น คนผู้หนึ่งกําลังจะรับประทานอาหาร ถ้าเวลานั้น จิตใจของเขาไม่ ปลอดโปร่งผ่องใส มีเรื่องโศกเศร้า หรือขุ่นมัว หรือกําลังกลุ้มกังวลวุ่นวายใจอย่างใดอย่างหนึ่ง แม้ว่าอาหารนั้นจะ เป็นอย่างอร่อยที่เขาเคยชอบ แต่คราวนี้เขาอาจจะไม่รู้สึกอร่อยเลย อาจฝืนกิน หรือถึงกับกินไม่ลงก็ได้ แต่ถ้า จิตใจของเขาเบิกบานผ่องใส เขาจะรู้สึกรสอาหารเต็มที่ แม้บางที่อาหารไม่ดีนัก แต่เขาก็รับประทานได้อย่างอร่อย

ตัวอย่างเทียบในทางร่างกายก็มี นอกจากเรื่องร่างกายมีสุขภาพดีแข็งแรงอย่างที่กล่าวแล้ว พึงเห็นได้เช่น คนมีร่างกายเปรอะเปื้อนฝุ่นหรือสิ่งสกปรก ตัวเหนอะหนะด้วยเหงื่อ หรือเจ็บโน่นเจ็บนี่ยุบยิบไป เขาจะลงนั่งฟัง เพลงก็ไม่สบาย หรือจะลงมือทํางานอะไรที่ละเอียด ก็ไม่ได้ผลดี แต่ถ้าเขาได้ชําระล้างร่างกายให้สะอาดปลอด โปร่งโล่งเบาแล้ว จะเสพเสวยอารมณ์ใด ก็ได้สุขเต็มที่ จะลงมือทํางานที่ต้องการความประณีตใดๆ ก็จะทําได้ดี

ถึงวิมุตติ สุขเต็มสุดแล้ว จะเลือกสุขอย่างไหนก็ได้ ทําไมมองลงมาไม่ถึงกามสุข

บางคนเป็นห่วงกามสุข กลัวว่าถ้าไปนิพพานเสียแล้ว เขาจะไม่ได้เสวยกามสุข อาจบอกเขาได้ว่า อย่า กลัวเลย ถ้าท่านไปทางนิพพาน ท่านจะได้รู้จักความสุขมากอย่างยิ่งขึ้น มีความสุขที่ดีกว่า เยี่ยมกว่าอีกด้วย ท่าน จะมีความสุขให้เลือกเสพได้มากขึ้น และเมื่อถึงเวลานั้น ถ้าท่านยังอยากเสพกามสุข ท่านก็เสพได้ และจะเสพได้ดี ยิ่งกว่าเดี๋ยวนี้ เพราะจะไม่มีอะไรรบกวนให้เสียรสเลย

เมื่อว่าอย่างนี้ บางคนอาจค้านขึ้นโดยเป็นห่วงในทางตรงข้ามว่า จะให้คนบรรลุนิพพานแล้วเสพกามสุข ได้อย่างไรกัน

พึงตอบว่า เรื่องอย่างนี้ไม่ต้องเป็นห่วง เป็นเรื่องธรรมดาที่จะเป็นไปเอง ไม่ต้องไปกังวล คนที่ถึงนิพพาน แล้ว เป็นผู้มีสิทธิ และเป็นผู้พร้อมดีที่สุด ที่จะเสวยความสุขได้ทุกอย่าง การที่เขาจะเสพความสุขอย่างใดหรือไม่ เสพ ก็เป็นเรื่องสุดแต่ความพอใจของเขาเอง

แต่ที่นี้ ธรรมดาปรากฏเป็นของมันเองว่า ผู้ที่บรรลุนิพพานแล้วไม่เสพกามสุข ที่เขาไม่เสพ มิใช่เพราะ เขาเสพไม่ได้ แต่เป็นเพราะเขาไม่นึกอยากจะเสพ คือกิเลสที่เป็นเหตุให้อยากเสพไม่มี เขาได้ประสบสิ่งอื่นที่ดีกว่า จนไม่เห็นกามคุณนั้นมีคุณค่าที่เขาจะเกี่ยวข้องเสพเสวยเสียแล้ว

เรื่องนี้ก็คล้ายกันกับความคิดที่ว่า พระอรหันต์บรรลุญาณทัสสนะ มองเห็นตามเป็นจริงว่า สิ่งทั้งหลาย เป็นอนัตตา ไม่มีตัวตน คนเป็นเพียงส่วนประกอบต่างๆ มีธาตุ ๔ เป็นต้น มาประชุมกันเข้า ไม่มีนาย ก. นาง ข. เป็นต้น เมื่อเห็นอย่างนี้แล้ว ก็คงฆ่าคนได้ไม่บาป แต่ความจริง เมื่อมองเห็นอนัตตาเช่นนั้น กิเลสคือโทสะที่จะ เป็นเหตุให้ทําการฆ่า ก็หมดไปเสียแล้ว การฆ่าก็เลยไม่มีทางที่จะเกิดมีขึ้นมาได้

ความเป็นจริงในเรื่องนี้ปรากฏว่า ผู้ได้นิพพานสุขแล้ว จะเสวยความสุขลงมาถึงชั้นฌานสุข ดังที่กล่าวว่า ใช้ฌาน ๔ เป็นทิฏฐธรรมสุขวิหาร คือเป็นเครื่องพักผ่อนอยู่สบายในปัจจุบัน

เรื่องผู้บรรลุนิพพานไม่เสพโลกามิส ไม่แสวงกามสุขนี้ เปรียบอย่างหนึ่ง เหมือนคนเคยอยู่ในที่คุมขัง เขา ได้อาศัยบางสิ่งบางอย่างในที่นั้น ช่วยทําให้เกิดความสนุกสนานเพลิดเพลิน เสมือนกลบหรือทําให้ลืมความคับ แคบอึดอัดไปได้บ้าง ต่อมา เมื่อมีโอกาสหลุดออกไปจากสถานที่นั้น บางคนอาจติดใจสิ่งที่เคยให้ความสนุกสนาน เพลิดเพลินจนไม่ยอมออกไป บางคนพะว้าพะวังลังเลอยู่ แต่คนที่ได้รู้จักอิสรภาพอย่างแท้จริงแล้ว จะค่อยๆ ตัด ใจได้ และไม่ช้า ก็จะไม่ห่วงอาลัยที่คุมขังนั้นอีกต่อไป

ท่านที่แนะนําชักชวนทั้งหลาย เช่นพระพุทธเจ้า ได้เคยเริงรมย์ในกามสุขมาก่อนแล้ว และต่อมาได้รู้จัก สุขที่ประณีตขึ้นไป ทั้งฌานสุข และนิพพานสุข เป็นอันว่าได้รู้จักความสุขทุกประเภท การที่มาแนะนําชักชวนนั้น ก็ย่อมเป็นไปด้วยความรู้จริง โดยได้ผ่านประสบการณ์จริง เป็นเครื่องยืนยันอย่างแน่นแฟ้นว่า สุขใดที่ท่านว่าดี หรือไม่ดี หรือว่าอย่างไหนดีกว่า ก็ควรจะเป็นเช่นนั้นจริง

เมื่อเปรียบเทียบกับสุขที่ประณีต โดยเฉพาะนิพพานสุข กามสุขมีส่วนเสียหรือข้อบกพร่องดังที่ควร กล่าวถึงนอกเหนือจากที่กล่าวมาแล้ว หรือที่ควรไว้อีก ดังนี้

๑. ทําให้ชีวิตขึ้นกับสิ่งภายนอก ไม่อิสระ ไม่เป็นตัวของตัวเอง แม้กระทั่งเป็นทาสของวัตถุ ซึ่งมักหลอก ให้นึกว่าเราเป็นเจ้าของบังคับมันได้ แต่ยิ่งเข้ายึดถือครอบครองมันจริงจังมากเท่าใด เราก็ยิ่งหมดอํานาจในตัว กลายเป็นทาสของมันมากขึ้นเท่านั้น

ความเป็นทาส หรือขึ้นต่อกามคุณนั้น เป็นไปทั้ง ๒ ขั้นตอน คือ

ก่อนจะได้รับได้เสพ มันก็เป็นตัวบังคับและกําหนดทิศทางให้เราวิ่งแล่นไปทําการต่างๆ เพื่อหาเอาเวทนา ที่ชอบมาเสพเสวย ถ้าเป็นไปอย่างรุนแรงก็คือ มีชีวิตอยู่เพื่อมันเท่านั้น

ครั้นได้รับเอามาเสพแล้ว มันก็ปรุงแต่งบังคับเราให้วุ่นไปตามมันอีก โดยให้เกิดตัณหา ตามด้วยรัก โกรธ เกลียด โลภ หลง แล้วแสดงอาการต่างๆ ออกมาตามอํานาจกิเลสเหล่านั้น เป็นไปตามกระบวนการที่ว่า ตัณหาปรุงให้หาเวทนา พอได้เวทนาแล้ว เวทนาก็ทําให้เราปรุงแต่งตัณหาอีก วนเวียนเรื่อยไป

แล้วลงท้าย ความเปลี่ยนแปลงผันผวนปรวนแปรไปของสิ่งเหล่านั้น ทั้งที่มันก็เป็นไปตามธรรมดาของ ธรรมชาตินั่นเอง ก็มีอิทธิพลบีบคั้นเข้ามาถึงชีวิตจิตใจของเรา ทําให้โศกเศร้าขุ่นหมองทุกข์ระทมคับแค้นไปตาม

ส่วนสุขที่ประณีตชั้นใน เป็นนิรามิส คือไม่ต้องขึ้นต่อวัตถุภายนอก จึงเป็นอิสระ เป็นตัวของตัวเอง นอกจากนั้น ยังเป็นหลักประกันที่ช่วยรักษาไม่ให้ลุ่มหลงหมกมุ่นในกามสุข ช่วยคุ้มครองให้เกี่ยวข้องกับกามสุข ในทางที่ไม่เกิดโทษพิษภัย และไม่ให้เกิดความทุกข์เพราะความบีบคั้นที่เกิดจากความผันผวนปรวนแปรของวัตถุ

๒. ในเมื่อกามสุขต้องอาศัยกามคุณ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐพพะ ซึ่งอยู่ภายนอก คนที่อยู่ด้วย กามสุข จึงเท่ากับเอาความสุข รวมทั้งโชคชะตาของตนทั้งหมด ไปฝากไว้กับสิ่งอื่นที่อยู่ภายนอก และสิ่งภายนอก เหล่านั้น ก็ขึ้นต่อเหตุปัจจัยหลากหลายที่เป็นไปตามวิถีของมัน ซึ่งผู้แสวงกามสุขนั้นบังคับ ควบคุมไม่ได้ จึงเป็น ธรรมดาที่ว่า ผู้ที่เอาความสุขของตนไปฝากไว้กับสิ่งอื่น ซึ่งไม่แน่นอนเช่นนั้น จะต้องเต็มไปด้วยโอกาสที่จะพบกับ ความผิดหวัง และความยุ่งยากวุ่นวายนานัปการ ยิ่งอยู่อย่างไม่รู้เท่าทันมากเท่าใด ก็ยิ่งประสบทุกข์ได้มากเท่านั้น

๓. ทําให้ชีวิตหมุนวนอยู่แค่กระบวนการรับรู้ คืออินทรีย์ หรืออายตนะ ที่ติดต่อสื่อสารกับโลกภายนอก อันนับได้ว่าเป็นกิจกรรมชั้นนอกของชีวิต และเป็นระดับที่ผิวเผิน นอกจากนั้น การหมุนเวียนวิ่งตามมันไปนี้ ก็ เป็นเรื่องที่น่าเหน็ดเหนื่อยเบื่อหน่ายไม่น้อย ส่วนสุขชั้นในอันประณีต ช่วยให้มนุษย์เป็นอิสระจากกระบวนการ รับรู้นั้นได้บ้าง ทําให้รู้จักที่จะเป็นอยู่ได้โดยไม่ต้องขึ้นต่ออินทรีย์เหล่านั้นสิ้นเชิง ไม่ต้องอาศัยมันเกินสมควร อย่างน้อยก็ได้พักผ่อน และหันมาพบกับส่วนที่ลึกซึ้งลงไปอยู่ชั้นในของชีวิตบ้าง

๔. เพราะเป็นสุขที่ขึ้นต่อวัตถุภายนอก กามสุขจึงต้องอาศัยอารมณ์ที่จะเข้ามาป้อนให้แก่ตัณหา ผ่านทาง อินทรีย์ต่างๆ ถ้าไม่มีอารมณ์ที่ต้องการป้อนเข้ามา ก็จะอยู่เป็นทุกข์ ส่วนสุขประณีตภายใน ไม่ต้องอาศัยอารมณ์ที่ จะต้องถูกป้อนเข้ามา ผู้มีความสุขประเภทนี้ แม้จะขาดอารมณ์สนองอินทรีย์ ก็สามารถอยู่เป็นสุขได้

นอกจากนี้ เพราะเหตุที่กามสุขต้องขึ้นต่ออารมณ์จากภายนอกนี้เอง กามสุขจึงเป็นสุขชนิดที่อยู่กับตัวเอง ไม่ได้ ถ้าอยู่นิ่ง ก็จะกระสับกระส่าย ต้องร่านรนไปหาสิ่งที่จะเสพ ซึ่งว่าตามความเป็นจริงแล้ว อาการร่านรน กระสับกระส่ายเช่นนั้น ล้วนเป็นความทุกข์ทั้งสิ้น แต่คนที่ร่านรนนั้น มักจะพยายามหลอกตัวเองให้มองข้าม หรือไม่มองเสีย โดยมองแต่ส่วนที่ตนประสบได้เสพสม

ยิ่งกว่านั้น ครั้นได้เสพอารมณ์นั้นสมปรารถนา แม้จะเป็นอารมณ์ที่ชอบใจถูกใจ ผู้เสพก็ไม่สามารถเสวย อารมณ์นั้นอยู่ได้นาน ถ้าเสพอยู่นาน ก็จะกลายเป็นทนเสพ แล้วที่สุขก็จะกลายเป็นทุกข์ สุขจากกามจึงอาศัยการ เปลี่ยนอารมณ์อยู่เรื่อยๆ และท่านจึงแสดงหลักไว้ว่า อิริยาบถบังทุกข์ ๑๕ ส่วนผู้รู้จักสุขลึกซึ้งด้านในแล้ว ย่อมไม่ ถูกทรมานด้วยความร่านรนกระสับกระส่าย สามารถเสวยสุขอยู่ในอาการอย่างใดอย่างหนึ่งได้นานๆ ตามใจ ปรารถนา เช่น กรณีของพระพุทธเจ้า กับพระเจ้าพิมพิสาร เป็นต้น

๕. กามสุข เป็นสุขที่ถูกตัณหาปรุงแต่ง อยู่ใต้อิทธิพลของตัณหา คือเนื่องด้วยความชอบใจ-ไม่ชอบใจ ที่ สั่งสมเป็นความเคยชินไว้ ดังนั้น ผลจะปรากฏว่า อาการและลักษณะที่ชอบใจและไม่ชอบใจนั้น ผันแปรไม่ แน่นอน ของอย่างเดียวกัน การแสดงออกกิริยาท่าทางรูปลักษณะเดียวกัน คนหนึ่งชอบ คนหนึ่งไม่ชอบ คนหนึ่ง เห็นเป็นสุข (ได้สุขเวทนา) อีกคนหนึ่งเห็นเป็นทุกข์ (เกิดทุกขเวทนา)

แม้แต่บุคคลเดียวกัน คราวหนึ่งเห็นหรือได้ยินแล้ว พอใจ อีกคราวหนึ่งเห็นหรือได้ยินแล้ว ขัดใจ หรือ ในกรณีที่ต่างบุคคลรับรู้อารมณ์เดียวกันแล้ว ต่างก็ชอบใจ ก็อาจกลายเป็นเหตุให้ต่างบุคคลนั้นเอง กลับขัดใจซึ่ง กันและกัน เพราะต่างก็ปรารถนาสิ่งเดียวกัน ภาวะเช่นนี้นําไปสู่ปัญหาต่างๆ เช่น ความขัดแย้งภายในจิตใจบุคคล ความกระทบกระทั่งระหว่างบุคคล เป็นต้น เป็นต้นตอของความยุ่งยากเดือดร้อนวุ่นวายเป็นอันมาก ซึ่งทุกคน พอจะคาดคิดเห็นได้

โดยนัยนี้ กามสุขหรืออามิสสุขนี้ จึงตรงข้ามกับความสุขด้านใน ไร้อามิส ซึ่งเกิดแก่ใครเมื่อใด ก็มีแต่ เป็นคุณ ให้ความสบาย เป็นที่พอใจแก่ผู้นั้นทันที และเกื้อกูลแก่ผู้อื่นทุกคนที่เกี่ยวข้อง ยิ่งเป็นสุขกันได้มากคน ออกไปก็ยิ่งดี มีแต่ส่งเสริมกันให้เป็นสุขยิ่งขึ้น เพราะไม่มีอะไรที่จะต้องแก่งแย่งช่วงชิงกัน ต่างก็สุขเหมือนกัน จึง มีแต่จะนําไปสู่การระงับปัญหาและความสงบสุข

๖. โดยเหตุที่กามสุขเกิดจากการสนองระงับตัณหา ถ้าตัณหาเกิดขึ้นแล้ว ไม่ได้รับการสนอง ตัณหานั้นไม่ ระงับไป ปมปัญหาที่เกิดขึ้นทันที ปมปัญหาหรือภาวะติดขัดบีบคั้นนั้น ท่านเรียกว่า “ทุกข์

พอทุกข์เกิดขึ้น ผลเสียก็ตามมา ผลเสียนี้ ถ้าไม่ขังอยู่ภายใน ก็ต้องหาทางระบายออกข้างนอก หรือไม่ก็ ทั้งสองอย่าง

ผลเสียที่ยังอยู่ข้างใน ได้แก่อาการกลัดกลุ้มกระวนกระวายคับแค้นเศร้าหมองและทุกข์ใจต่างๆ รวม เรียกว่า ความหลงใหลฟันเฟือน

ผลเสียที่หาทางออกข้างนอก อาจระบายทางเบา เช่น เที่ยวขอคําแนะนําความช่วยเหลือในรูปต่างๆ อาจ เป็นความช่วยเหลือแนะนําทางปัญญาและคุณธรรม หรืออาจไปแสวงหาความช่วยเหลือจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์อํานาจ ลึกลับดลบันดาลต่างๆ บ้างก็พยายามกลบเกลื่อนทุกข์ ด้วยกามสุขชนิดที่หยาบและร้อนแรงยิ่งๆ ขึ้นไป หรืออาจ ระบายออกทางรุนแรงต่อผู้อื่น เช่น ก่อเหตุขัดแย้งรุกรานผู้อื่น หรือทําการในทางทําลายไปรอบตัว เท่าที่ตนจะ เกี่ยวข้องไปถึง เกิดพฤติกรรมที่เป็นภัยมากมาย หรือไม่ก็หันกลับเข้ามาเกลียดชังตัวเอง ทําการเข้มงวดบีบรัด ต่างๆ แม้กระทั่งทําลายตนเอง

ในเรื่องนี้ มีพุทธพจน์ที่พึงสังเกตแห่งหนึ่งว่า

“ภิกษุทั้งหลาย เหตุก่อกําเนิดแห่งทุกข์เป็นไฉน? ตัณหาเป็นเหตุก่อกําเนิด (นิทานสมภพ) แห่งทุกข์

“วิบากแห่งทุกข์เป็นไฉน?...เรากล่าวว่า ทุกข์มีความหลงฟันเฟือน เป็นวิบาก หรือมีการ หาทางปลดเปลื้องภายนอก เป็นวิบาก


พิมพ์