สกทาคามี

สกทาคามี

ปริยัติธรรม

มหาลิสูตร, พระไตรปิฎก เล่มที่ ๙ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑ ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค
นาทิกาคามคมนวณฺณนา, อรรถกถา ทีฆนิกาย มหาวรรค มหาปรินิพพานสูตร
พระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต), สกทาคามี, พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม

สกทาคามี หรือ สกิทาคามี แปลว่า ผู้จะมาสู่โลกนี้เพียงอีกครั้งเดียว เป็นชื่อเรียกพระอริยบุคคลลำดับที่ ๒ ใน ๔ ประเภท

คัมภีร์สุมังคลวิลาสินีอธิบายว่าคำว่า "โลกนี้" หมายถึงกามาวจรโลก กล่าวคือ ผู้บรรลุสกทาคามีในมนุษยโลกแล้วไปเกิดในเทวโลก สามารถบรรลุเป็นพระอรหันต์ในเทวโลกนั้นได้ หากไม่ได้อรหัตตผล จะมาเกิดเป็นมนุษย์แล้วบรรลุอรหัตตผลอย่างแน่นอน ฝ่ายผู้บรรลุสกทาคามีในเทวโลกแล้วมาเกิดในมนุษยโลก สามารถบรรลุอรหัตตผลในมนุษยโลกนั้นได้ หากไม่ได้ จะกลับไปเกิดในเทวโลกแล้วบรรลุอรหัตตผลอย่างแน่นอน

การละสังโยชน์

เมื่อละสังโยชน์เบื้องต่ำ ๓ ประการ เป็นพระโสดาบันได้แล้ว และทำสังโยชน์เบื้องต่ำอีกสองประการที่เหลือให้เบาบางลงด้วย จึงเป็นพระสกทาคามี ได้แก่

  • กามราคะ หมายถึง ความพอใจในกาม คือ การความเพลินในการได้เสพ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ธรรมารมณ์ ที่น่า
  • พอใจปฏิฆะ หมายถึง ความกระทบกระทั่งในใจ คล้ายความพยาบาทอย่างละเอียด

หากสังโยชน์เบื้องต่ำทั้งสองประการนี้หมดไปก็จะเป็นพระอนาคามี

ประเภท

ในพระไตรปิฎกภาษาบาลี ไม่ได้ระบุประเภทของพระสกทาคามีไว้ มีเพียงคัมภีร์ชั้นหลัง เช่น

คัมภีร์ปรมัตถโชติกา แบ่งไว้ ๓ ประเภท คือ สกทาคามีในกามภพ ๑ ในรูปภพ ๑ และในอรูปภพ ๑

คัมภีร์ปรมัตถมัญชุสา แบ่งไว้ ๕ ประเภท คือ ผู้บรรลุใน (มนุษย) โลกนี้แล้วปรินิพพานในโลกนี้เอง ๑ ผู้บรรลุในโลกนี้แล้ว ปรินิพพานในเทวโลก ๑ ผู้บรรลุในเทวโลกแล้ว ปรินิพพานในเทวโลกนั้นเอง ๑ ผู้บรรลุในเทวโลกแล้ว เกิดในโลกนี้จึงปรินิพพาน ๑ ผู้บรรลุในโลกนี้แล้ว ไปเกิดในเทวโลกหมดอายุแล้ว กลับมาเกิดในโลกนี้จึงปรินิพพาน ๑ ทั้งนี้ พระสกทาคามีที่กล่าวถึงในพระไตรปิฎกภาษาบาลีหมายเอาประเภทที่ ๕ อย่างเดียว

ตัวอย่างบุคคลผู้บรรลุสกทาคามิผลในพุทธกาล

นางสุมนาเทวี ธิดาของอนาถบิณฑิกเศรษฐี

คำสอนพระอริยเจ้า

พระราชพรหมยาน หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ

พระสกิทาคามีมรรค ก็หมายความถึงว่า ผู้ปฏิบัติเพื่อความเป็นพระสกิทาคามีผล อันนี้อารมณ์จะต้องเลยพระโสดาบันมาแล้ว เพราะว่าพระโสดาบันทรงคุณธรรม ๔ ประการ คือ นึกถึงพระพุทธเจ้า เคารพพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ และมีศีลบริสุทธิ์ ส่วนแถมที่เกินก็คือ มีพระนิพพานเป็นอารมณ์ นี่หมายถึงว่ามีความมั่นคงจริง ๆ คำว่านับถือพระพุทธ พระธรรม พระอริยสงฆ์ ก็หมายถึง ว่าเป็นบุคคลที่ไม่ละเมิดคำสั่ง หมายถึงศีล สิ่งใดที่พระองค์ทรงสั่งห้ามตามพระวินัย สิ่งนั้นท่านที่เป็นพระโสดาบันย่อมไม่ปฏิบัติ สิ่งใดที่องค์สมเด็จพระทรงสวัสดิ์ทรงแนะนำให้ปฏิบัตินั่นเป็นทางของพระโสดาบัน คือ ความไม่ยาก เฉพาะอาศัยที่มีความเคารพพระพุทธเจ้าจริง ๆ จึงทรงศีลบริสุทธิ์ คำว่าศีลของพระโสดาบันก็ต้องหมายเอาถึงกรรมบถ ๑๐ ด้วย คำว่ากรรมบถ ๑๐ เป็นทั้งศีล เป็นทั้งธรรม และมีพระนิพพานเป็นอารมณ์ อยู่ในขอบเขตของศีลในวงจำกัด

พระสกิทาคามี ถ้าจะกล่าวกันไปก็เป็นแต่เพียงว่า จริยาทั้งหมดเหมือนพระโสดาบัน แต่ว่าระงับความโลภ ระงับความโกรธ ระงับความหลงให้เบาบางลงกว่าพระโสดาบัน ทีนี้เราก็ย้อนไปดูพระโสดาบันว่า มีกรรมฐานอะไรบ้างเป็นอารมณ์ พระโสดาบันมีมรณานุสสติกรรมฐานเป็นอารมณ์ นึกถึงความตายเป็นปกติ เมื่อรู้ตัวว่าจะตายก็ไม่ยอมตายเลว จะตายอย่างดี ทีนี้ก่อนที่จะตายดี หรือเป็นผีดี ก็ต้องเป็นคนดีก่อน คนจะเป็นคนดีได้ก็ต้องอาศัยพุทธานุสสติกรรมฐาน ธัมมานุสสติกรมมฐาน สังฆานุสสติกรรมฐาน สีลานุสสติกรรมฐาน พรหมวิหาร และอุปสมานุสสติกรรมฐาน ยิ่งกว่านั้นก็มีหิริและโอตตัปปะประจำใจอย่างนี้เป็นพระโสดาบัน นี่พระโสดาบันทรงคุณธรรมได้อย่างนี้

สำหรับพระสกิทาคามีก็ทรงคุณธรรมเหมือนกัน แต่ว่าสำหรับพระอนาคามีมรรคเบื้องต้น ก็เพิ่ม อภัยทาน ตามที่กล่าวมาแล้วเมื่อคืนนี้ คือ รวบรวมกำลังใจของพรหมวิหาร ๔ ให้หนักขึ้น มีความเข้มข้นยิ่งขึ้น เมื่อกระทบกระทั่งกับอารมณ์ที่บุคคลทำให้เราไม่ถูกใจ เราให้อภัย ไม่ถือโทษโกรธคนนั้น ถ้าอารมณ์ทรงอยู่ได้อย่างนี้จริง ๆ  ก็จัดว่าเป็น พระสกิทาคามิมรรคอย่างหยาบ ยังไม่ถึงสกิทาคามีผล

การปฏิบัติตนให้เข้าถึงพระสกิทาคามีผล ก็ต้องเพิ่มกรรมฐานหรือวิปัสสนาญาณบางอย่างเข้ามาควบคุม เพราะว่า สำหรับวิปัสสนาญาณในด้านของพระโสดาบันนั้น ในด้านสักกายทิฏฐิยังไม่มีการรังเกียจในร่างกาย อารมณ์ยังไม่ละในร่างกายเด็ดขาด เพียงแต่มีความรู้สึกว่าร่างกายมันจะต้องตาย ความพอใจในร่างกายว่าเป็นของสวยสดงดงามของน่ารักน่าชมยังมีอยู่ ทีนี้มาด้านพระสกิทาคามี เราก็มาเพ่งดูตามคำสอน ท่านบอกว่า พระสกิทาคามี บรรเทาความโลภ บรรเทาความโกรธ บรรเทาความหลง อาการที่จะบรรเทาความโลภเขาต้องทำยังไง ก็ต้องเพิ่มกรรมฐานเข้ามาอีกกองหนึ่ง นั่นก็คือ จาคานุสติกรรมฐาน จาคานุสตินี่หมายถึงว่า จิตคิดอยู่เสมอในการที่จะกำจัดความเหนียวแน่น ความตระหนี่หรือความโลภในทรัพย์สิน มีความรู้สึกด้วยอำนาจของปัญญา ว่าคนที่มีความตระหนี่เหนียวแน่น เกาะอยู่ในทรัพย์สินมากเกินไป จนกระทั่งไม่สามารถจะบริจาคทานการสงเคราะห์ ไม่มีการเกื้อกูลบุคคลอื่นให้มีความสุข ตามที่เราจะพึงช่วยได้ อย่างในสมัยปัจจุบันเขาเรียกว่า ไม่รู้จักลดช่องว่าง แต่ความจริงการลดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน มีการสงเคราะห์เกื้อกูลซึ่งกันและกันนี้ พระพุทธเจ้าทรงสอนมานานแล้ว แต่ชาวโลกไม่มีความสนใจ ไม่ปฏิบัติตาม ทีนี้การที่จะเป็นพระสกิทาคามีต้องมีจาคานุสติกรรมฐานเป็นอารมณ์ จาคานุสติกรรมฐานนี่ ความจริงก็มาจากพรหมวิหาร ๔ นั่นเอง การที่เราจะสละทรัพย์สินให้แก่บุคคลอื่นใด เพราะทรัพย์สินเราหามาได้โดยยาก เราก็จะให้ได้ด้วยอำนาจเมตตา ความรัก กรุณา ความสงสาร ถ้าเราเกลียด ไม่สงสาร เราก็ไม่ให้แน่ หรืออย่างดีที่สุดก็ให้ด้วยความไม่เต็มใจ ทีนี้สำหรับพระสกิทาคามีไม่ยังงั้น มีอารมณ์ใจคิดอยู่เสมอว่าทรัพย์สินเป็นของนอกกาย แม้แต่กายของเราเองเรายังควบคุมให้มันดีตลอดสมัยไม่ได้ ห้ามความตายไม่ได้ เราจะสงเคราะห์เพื่อนมนุษย์และสัตว์ ที่เรียกกันว่า เพื่อนเกิด แก่ เจ็บ ตาย ให้มีความสุขตามฐานะที่เราพึงจะทำได้ และจาคะตัวนี้เป็นการให้ตัดขาด ให้เพื่อสงเคราะห์จริง ๆ ไม่มีความหวังในผลตอบแทน แม้แต่คำสรรเสริญเยินยอจากบุคคลผู้รับก็ไม่ต้องการ ให้ด้วยการมีความหวังว่าคิดจะตัดโลภะ ความโลภในจิตให้มันขาดไป

แต่ว่าทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่ามีเท่าไหร่ให้หมดเท่านั้น การให้ต้องคิดพิจารณาดูก่อนว่าให้แล้วเราจะเดือดร้อนไหม ถ้าให้ถึงกับเราเดือดร้อน พระพุทธเจ้าทรงตำหนิ สำหรับท่านที่เป็นพระโสดาบันก็ดี พระสกิทาคามีก็ดี เป็นคนประกอบไปด้วยศรัทธา ฉะนั้นท่านพวกนี้องค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงห้ามรบกวน สำหรับบุคคลประเภทนี้ ถ้าขอเข้า ท่านนึกว่ามีความจำเป็นท่านก็ให้ แต่ขอบ่อย ๆ มันเกินวิสัยของสมณะ คนขอเลยไม่ใช่พระ กลายเป็นขอทานไป ฉะนั้นถ้าเราจะพึงรู้ว่าบุคคลใดเขามีศรัทธาก็อย่าอ้าปากขอ ถ้ากิจนั้นไม่จำเป็นถึงที่สุด เช่น ผ้ามันไม่ขาดจนกระทั่งนุ่งไม่ได้ก็อย่าไปขอเขา มันยังใช้ได้ก็จงอย่าขอ มันไม่อดถึงกับจะตาย ก็อย่าไปออกปากขอ อาการขอมันเป็นจริยาของคนเลว ไม่ใช่จริยาของคนดี เพราะว่า คนขอนี่ต้องตัดอารมณ์หน้าด้านออกไป การขอบ่อย ๆ หรือขอเกินจำเป็น ไม่ใช่สมณวิสัย ฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงทรงห้ามว่า ตระกูลใดถ้าเป็นพระเสขะห้ามการขอทุกอย่าง เว้นไว้แต่สิ่งนั้นมันถึงที่สุดที่เราไม่สามารถจะทรงตัวได้ จำเป็นที่จะต้องขอก็ขอในสิ่งที่จำเป็น มีค่าไม่สูงนัก ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะว่าอารมณ์ของพระโสดาบันสกิทาคา มีพรหมวิหาร ๔ ประจำ ย่อมเป็นคนมีใจดีเพราะเกื้อกูล

ในสมัยพระพุทธเจ้าก็มีผู้ขอในสำนักของพระโสดาสกิทาคามีจนเกินพอดี มีเยอะแยะไป เมื่อเหตุนี้ปรากฏขึ้น องค์สมเด็จพระจอมไตรจึงห้ามขอ นี่สำหรับพระเราต้องมีความสำรวมในด้านนี้ให้มาก ถึงแม้ว่าท่านจะไม่เป็นพระโสดาบัน ก็จงอย่าเอ่ยปากขอ ถ้าไม่มีความจำเป็นจริง ๆ ขอเขามากเกินไป ให้เขามากเกินไป มันจะเป็นการรุ่มร่าม ไม่ใช่วิสัยของพระ จงมัธยัสถ์อาการทุกอย่าง อย่าคิดว่าขอเขาให้ก็ได้ใจ ขอกันหนัก

นี่สำหรับพระสกิทาคามี มีอารมณ์ในการให้ ไม่มีอารมณ์ในการขอ หรือพระโสดาบันก็เหมือนกัน มีอารมณ์ในการให้ ไม่ใช่มีอารมณ์ในการขอ นี่วัดกำลังใจของเราไว้ การปฏิบัติของเราเข้าถึงพระโสดาปัตติมรรคหรือสกิทาคามีมรรคแล้วหรือยัง เป็นอันว่ามีอารมณ์ที่จะให้อยู่เป็นปกติ อาการความโลภมันก็บรรเทาลง การที่จะคิดโกงเขาก็ไม่คิดอยู่แล้ว การตะเกียกตะกายแสวงหาทรัพย์เกินพอดีย่อมไม่มีกับพระสกิทาคามี เพราะจิตเริ่มเป็นสุข มีเท่าไหร่ก็เป็นสุข แต่การหากินต้องหา แต่หาแบบสบาย ๆ อย่างอารมณ์ที่มีความสุข ไม่เบียดเบียนตนจนเกินไป นี่เป็นอันว่าพระสกิทาคามีมรรคเพิ่มจาคานุสติกรรมฐานเข้ามาอีกบทหนึ่ง ทำเป็นฌานสมาบัติให้อารมณ์ทรงตัว คิดไว้เสมอ การคิดไว้เสมอ มีความรู้สึกไว้เสมอ นี่ชื่อว่าเป็นอาการทรงฌาน ถ้าท่านนั่งภาวนาตามปกติ โดยเวลาเลิกแล้วจิตไม่ได้คิด จิตมีความเลว อันนี้ไม่ใช่พระสกิทาคามี หรืออนาคามี มันเป็นของสัตว์ในอบายภูมิ จงใคร่ครวญคิดไว้ อย่าไปนั่งภาวนาเฉย ๆ นั่งภาวนาเฉย ๆ นี่อารมณ์ใจมันไม่ดี มันก็ดีอยู่แค่ภาวนา บางทีก็ภาวนากันไปเป็นปกติ แต่เวลาภาวนาจิตก็ซ่านไปโน่นไปนี่ มันใช้ไม่ได้ มันต้องมีปัญญาใคร่ครวญ มีความรู้สึกอยู่ตลอดเวลา ถ้าอาการอย่างนี้มีอยู่ละก็ แดนไหนก็แดนนั้นมีแต่ความสุข ไม่มีความทุกข์ ไม่มีความเร่าร้อน

อันดับที่สอง พระสกิทาคามีระงับความโกรธลงไปได้มากตัวนี้ก็ไม่จำเป็นแล้ว เพราะมีพรหมวิหาร ๔ เป็นประจำ แต่ทว่าพระสกิทาคามีก็เพิ่มอารมณ์ที่กล่าวมาแล้ว คือ ให้อภัยทาน นอกจากจะระงับความโกรธ ยับยั้งความโกรธ แต่ความโกรธมันยังมีอยู่ อย่างพระโสดาบันยังมีความโกรธ แต่ทว่าไม่ทำร้ายเขา คือ โกรธแล้วยังจะพยาบาท คือ อาจจะคิดว่า แหม ไอ้เจ้านี่มันเลวจริง ๆ ไม่คิดจะฆ่า ไม่คิดจะทำร้าย แต่คิดว่ามันเลว ยังเจ็บใจแต่ไม่คิดจะฆ่า ไม่คิดจะทำร้าย แต่ว่าไม่อยากสังคมสมาคมด้วย ยังมีอาการใบหน้าเครียด แต่มาถึงพระสกิทาคามี อาการเครียดของใบหน้าไม่มี โกรธยังมีความโกรธ ไม่ชอบใจ คิดไว้ว่าไม่ชอบใจยังมีอยู่ แต่อารมณ์จิตอีกส่วนหนึ่งก็พยายามหักห้ามความโกรธ หักห้ามความพยาบาท คิดให้อภัยกับบุคคลผู้กระทำความผิด โดยมีความรู้สึกว่าจิตของบุคคลผู้นี้เป็นจิตของสัตว์ในอบายภูมิ ซึ่งเป็นทาสของ กิเลส ตัณหา อุปาทาน และอกุศลกรรม เราไม่ควรจะตอบแทนอาการลักษณะเช่นเดียวกัน เมื่อเขาจะเป็นสัตว์นรก เป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉาน เป็นเรื่องของเขา เราไม่สนใจให้อภัยกับความผิดของเขา นี่เป็นอารมณ์ของพระสกิทาคามีมรรค ทีนี้ มาด้านความหลง ตัวนี้ก็มาจับสักกายทิฏฐิเพิ่มขึ้น เพิ่มขึ้นที่ว่ามาพิจารณาถึงร่างกายของเรา นอกจากจะตายแล้วก็มามองร่างกายว่ามันเป็นของไม่เที่ยง เป็นอันว่าเพิ่มกายคตานุสสติกับอสุภกรรมฐานหนักขึ้น โดยมาพิจารณาว่า ร่างกายนี้มันไม่ใช่เรา มันไม่ใช่ของเรา มันตาย ตายแน่ มาเป็นพระโสดาบันติดอยู่แค่ตาย แต่ยังมีความพอใจในลักษณะของร่างกายและผิวพรรณของร่างกาย ความสวยสดงดงาม การตบแต่งของร่างกาย แต่มาในด้านของพระสกิทาคามีนี่ เพิ่มอารมณ์ที่มีความรู้สึกว่าร่างกายนี้มันเป็นแต่เพียงธาตุ ๔ เข้ามาประชุมกัน แล้วก็มีความสกปรกทุกด้าน เสลดน้ำลายสกปรก เหงื่อไคลสกปรกเลือดและเนื้อสกปรก น้ำเหลืองน้ำหนองสกปรก อุจจาระปัสสาวะสกปรก รวมความว่าทุกส่วนของร่างกายนี่มันสกปรกจริง ๆ เมื่อสกปรก ก็รู้สึกว่าเป็นของน่าเบื่อ ไม่น่ารัก แต่ก็ยัง ยังไม่หมด แต่อารมณ์ในการพิจารณาเห็นว่าร่างกายของคนและสัตว์และของตัวเองมันก็เกิดอาการสลด ว่าร่างกายนี้มีสภาพไม่ต่างอะไรกับส้วมเคลื่อนที่ เพราะจะมองไปดูทุกจุดทุกประการ มันก็เต็มไปด้วยความสกปรกโสโครก ผิวนิดเดียวที่เรามองเห็นกันว่าสวย แต่ทั้ง ๆ ผิวเห็นว่าสวยนั่นแหละ ต้องชำระล้างกันทุกวัน ถ้าปล่อยเกรอะกรัง ไม่อาบน้ำไม่อาบท่า ไม่ชำระล้างกันทุกวัน ถ้าปล่อยเกรอะกรัง ไม่อาบน้ำไม่อาบท่า ไม่ชำระล้างสัก ๗ วัน มันก็ทนไม่ไหว ก็แสดงว่าแม้แต่ผิวกายที่เราเห็นว่าสวยมันก็สกปรก ส่วนที่อยู่ในผิวกายลงไปข้างใน ถ้าลอกหนังออกไปนิดเดียวเลือดไหลซึมออกมา เห็นเลือด มีกลิ่นเลือดเหม็นคาว เราก็พากันสะอิดสะเอียนว่าเลือดสกปรก ทีนี้ลอกเนื้อเข้าไปภายใน เห็น ตับ ไต ไส้ ปอด อาหารใหม่ อาหารเก่า อุจจาระ ปัสสาวะ น้ำเลือด น้ำเหลือง น้ำหนอง เต็มไปหมด ตอนนี้ดูไม่ได้ มันสกปรกจริง ๆ อารมณ์เบื่อจากร่างกายที่เห็นว่าสวยสดงดงามเป็นของน่ารัก มันก็เริ่มคลายตัวลงไป ยังไม่หมด กำหนดจิตเป็นเอกัคคตารมณ์เป็นฌาน ไม่มีความรู้สึกเมามันในร่างกายแต่บางขณะย่อมปรากฎ ทีนี้อาการของสักกายทิฏฐิตัวนี้ มันก็เข้าไปพิจารณาด้วย กายคตานุสสติกับ อสุภกรรมฐาน เพื่อตัดความหลงในร่างกาย เห็นว่าร่างกายสกปรกแล้ว ยังเห็นว่าร่างกายมีสภาพจะต้องสลายตัว ยึดถือดึงมันไว้ไม่อยู่ นี่เป็นอารมณ์จิตตรงนี้

ถ้าเราจะเข้าไปพิจารณาว่า จุดไหนหนอเราจะเป็นพระอนาคามี แต่ว่าเป็นพระสกิทาคามีผล มันมีอารมณ์พอที่จะยังพิจารณาไว้ นั่นก็คืออามรณ์ความรู้สึกกับเพศตรงข้าม คือ เรื่องของเพศมันเริ่มสลายตัวไป ความรู้สึกในใจเรื่องของระหว่างเพศมันมีเหมือนกัน แต่ทว่าน้อยเต็มที ยามปกติมันจะไม่มีความรู้สึกกระสันในเรื่องระหว่างเพศ แต่บางครั้งเห็นคนเดินผ่านไปผ่านมาก็มีความรู้สึกขึ้นมาบ้าง แต่ทว่าด้วยฉับพลันนั้นเอง ในขณะเดียวจิตก็จะสลายซึ่งความพอใจ เพราะอะไร เพราะอารมณ์เห็นว่าร่างกายเต็มไปด้วยความสกปรก เห็นผ้าตาทะลุไปถึงหนัง ทะลุหนังเข้าไปถึงเนื้อ ทะลุจากเนื้อถึง ตับ ไต ไส้ ปอด มองเห็นทะลุปรุโปร่งว่าทุกส่วนของร่างกายทั้งคนและสัตว์มันเต็มไปด้วยความสกปรกโสโครก และมีความเสื่อมโทรมเป็นปกติ อาการของคนเต็มไปด้วยความทุกข์ เพราะการต้องบริหารร่างกาย ไม่ให้ร่างกายทรุดโทรมด้วยกฎของธรรมดา และในที่สุดมันก็สลายไป

ตัวนี้จะทำให้คลายความพอใจในร่างกายของบุคคลอื่นเสีย แม้แต่ร่างกายของตัวเองก็มีความเบื่อหน่าย ไม่พึงปรารภนา แต่ทว่าอารมณ์ความพอใจในร่างกายยังไม่หมด ยังเหลือบ้าง ทีนี้มาด้านความโกรธ ก็ยังมีอยู่ แต่มีเบา ๆ กระทบปัง โกรธปัง เมื่อโกรธแล้วระงับความโกรธด้วยการให้อภัย ใช้เวลาไม่เกิน ๕ นาที อารมณ์ก็คลายไป และก็ไม่ติดใจในความผิดของบุคคลอื่น

มาด้านของความโลภ มีอารมณ์จิตสบาย พอใจตามฐานะที่ทรงอยู่ ยังไง ๆ ก็คิดว่าถ้าเลี้ยงตัวเองรอดเป็นพอ นี่ถ้าอารมณ์จิตของบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายมีอารมณ์เบาในด้านโลภ มีความพอปรากฏขึ้นในจิต คิดว่ามีมากมันก็พอ มีน้อยก็พอ ปีหน้าได้น้อยพอ คือ จิตไม่ดิ้นรนโดยการยอมรับนับถือว่าเหตุที่ได้มามันก็ปรากฏ ตามความสามารถตามกาลสมัย ความโกรธระงับเสียได้โดยฉับไว ไม่มีการผูกพันในการพยาบาท อาการของทางกายที่มีความพอใจในระหว่างเพศหรือวัตถุต่าง ๆ ความสวยสดงดงามของวัตถุก็ดี ความสวยสดงดงามของร่างกายของบุคคลอื่นก็ดี มันไหลไปจากใจเกือบหมดสิ้น ถ้ามีอารมณ์อย่างนี้องค์สมเด็จพระมหามุนีทรงตรัสว่าท่านผู้นั้นเป็น พระสกิทาคามี


พิมพ์