ปริยัติธรรม
หนังสือ พระพุทธวจนะ คาถาธรรมบท จาก...พระไตรปิฎก
นิธีนํว ปวตฺตารํ, ยํ ปสฺเส วชฺชทสฺสินํ นิคฺคยฺหวาทิํ เมธาวิํ, ตาทิสํ ปณฺฑิตํ ภเช ตาทิสํ ภชมานสฺส, เสยฺโย โหติ น ปาปิโย ฯ
พึงเห็นผู้มีปัญญาคนใดที่ช่วยชี้โทษ, กล่าวห้ามปรามเรา, ให้เหมือนเขา กําลังชี้บอกขุมทรัพย์,
พึ่งคบคนที่เป็นบัณฑิตเช่นนั้น เพราะเมื่อคบคน อย่างนั้น ย่อมมีแต่ความเจริญ ไม่มีความเสื่อมเลย
พระราธเถระ..ต้นแบบของคนว่าง่าย พระสารีบุตรต้นแบบของคนกตัญญูกตเวที
ราธพราหมณ์ เป็นคนยากจนอยู่ใน กรุงสาวัตถี เขาดํารงชีพด้วยอาหารเหลือจากภิกษุทั้งหลาย โดยตอบแทนด้วยการตัดหญ้า กวาดบริเวณ และจัดตั้งน้ำใช้น้ำฉัน เป็นต้น เขาปรารถนาจะบวช แต่พวกภิกษุไม่บวชให้ เขาจึงผ่ายผอมลง (อรรถกถาเอตทัคคะกล่าวว่า ราธพราหมณ์เป็นชาวราชคฤห์ มีบุตรและภรรยา เมื่อเขาแก่เฒ่าลง บุตรและภรรยาไม่ให้ความเคารพนับถือ เขาจึงไปขอบวช แต่พระเถระบางพวกไม่บวชให้, ต่อมาเขามาเข้าเฝ้าพระศาสดาๆ ทรงเห็นอุปนิสัย แห่งพระอรหัตของเขาแล้ว ตรัสถามว่า บุตรและภรรยายังปรนนิบัติท่านดีไหม? เขาทูลว่า พวกนางขับไล่ เพราะเห็นว่าข้าพระองค์แก่แล้ว, ตรัสถามว่า ท่านบวชเสียไม่ดีกว่าหรือ? เขาทูลว่า ไม่มีใครบวชให้คนแก่หรอก, พระศาสดาจึงทรงประทานนัยให้พระสารีบุตร, พระเถระจึงทูลว่า ข้าพระองค์ระลึกถึงคุณของพราหมณ์นี้ได้ ข้าพระองค์จะบวชให้เขา ดู อง.อ.๑/๑/๔๑๔)
ใกล้รุ่งวันหนึ่ง พระพุทธเจ้าทรงเห็นเขามีอุปนิสัยเป็นพระอรหันต์ได้ เวลาเย็นจึงเสด็จดําเนินไปตามพระวิหารเชตวัน พบเขาแล้วตรัสถามว่า “ท่านเที่ยวทำอะไรอยู่?” เขาทูลว่า “ข้าพระองค์ทําวัตร (กิจวัตร เช่น กวาดลาน) และปฏิวัตร (วัตรตอบแทนภิกษุทั้งหลาย ตามที่ท่านใช้ให้ทำ) แก่ภิกษุทั้งหลายอยู่ ข้าพระองค์อยากบวช แต่ไม่มีใครบวชให้ พวกท่านให้แต่อาหาร, ตรัสถามว่า มีใครนึกถึงคุณของพราหมณ์นี้ได้บ้างไหม?
พระสารีบุตรเถระ ทูลว่า “ข้าพระองค์ระลึกได้ ตอนอยู่ที่ กรุงราชคฤห์ ราธะเคยบอกให้ คนถวายข้าวแก่ข้าพระองค์ทัพพีหนึ่ง (ข้าวที่เขานำมาให้ท่านราธะ)” ตรัสว่า “เธอช่วยปลดเปลื้องทุกข์ให้เขาไม่ควรหรือ?” ทูลว่า “ดีละ ข้าพระองค์จะให้เขาบวช”
ราธพราหมณ์ได้บวชเป็นพระราธะแล้ว พระสารีบุตรให้ติดตามไปสู่ที่จาริก ท่านเป็นคนว่าง่าย รับฟังโอวาทโดยเคารพ ปฏิบัติอยู่ไม่นานก็บรรลุพระอรหัต เป็นพระอรหันต์แล้ว พระเถระพาท่านเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าตรัสถามว่า ราธภิกษุเป็นอย่างไรบ้าง?, ท่านทูลว่า เธอเป็นผู้ว่าง่าย พร่ำสอนก็ไม่โกรธต่อมา ภิกษุทั้งหลายชื่นชมพระสารีบุตรว่าเป็นคนกตัญญูกตเวที พระราธะ เป็นคนอดทนต่อการพร่ำสอน
พระศาสดาตรัสเล่าอลีนจิตตชาดก (ขุ.ชา ข้อ ๑๖๑-๑๖๒, ชา.อ.๑/๓/๒๘-๓๔) ว่าด้วย เรื่องพระสารีบุตรเคยเป็นช้างกตัญญูกตเวทีต่อพวกนายช่างไม้ที่ช่วยนำตอออกจากเท้า, แล้ว ตรัสสอนว่า “ภิกษุทั้งหลาย ควรเป็นอย่างราธะ, ควรเห็นคนผู้พร่ำสอนว่าเป็นผู้บอกขุมทรัพย์ให้” และตรัสภาษิตนี้
อธิบายพุทธภาษิต : ผู้ชี้โทษ (วชุุชทสสินํ) มี 2 ประเภท คือ- คอยจับผิดผู้อื่นแล้วพูดข่มเขาในท่ามกลางที่ประชุม
- ผู้สังเกตผู้อื่นตามปกติ มีเจตนาประโยชน์ให้รู้สิ่งที่ยังไม่รู้ เพื่อให้ปฏิบัติตามสิ่งที่ผู้นั้น รู้แล้ว เพราะความที่ตนปรารถนาให้ผู้ถูกชี้โทษมีความเจริญด้วยคุณทั้งหลาย มีศีล เป็นต้น
พระศาสดาทรงหมายเอาผู้ชี้โทษประเภทที่ ๒ ว่า เป็น ผู้ชี้บอกขุมทรัพย์, ผู้รับการชี้โทษ จึงไม่ควรโกรธ ควรปวารณาให้สั่งสอนยิ่งๆ ขึ้น
ผู้กล่าวห้ามปราม ในที่นี้หมายถึง อาจารย์ผู้เห็นโทษของศิษย์แล้ว กล้าคุกคาม ประณาม ลงทัณฑกรรม..ตามสมควรแก่โทษ ให้ศึกษาอยู่ (ในความประพฤติที่สมควร), เมธาวี (ผู้มีปัญญา) คือปัญญาที่เกิดจากการลิ้มรสธรรม จึงเข้าไปนั่งใกล้บัณฑิตผู้มีปัญญาอย่างนั้น เมื่อนั้นคุณอย่างประเสริฐย่อมมี บาปย่อมไม่มี (ดู ธ.อ.๒/๒๓๘-๒๔๒)
คติธรรมความรู้ พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญ ผู้ที่ชี้โทษของผู้อื่น เพราะมุ่งหวังความเจริญให้แก่เขา