ปริยัติธรรม
หนังสือ พระพุทธวจนะ คาถาธรรมบท จาก...พระไตรปิฎก
คตทฺธิโน วิโสกสฺส วิปฺปมุตฺตสฺส สพฺพธิ สพฺพคนฺถปฺปหีนสฺส ปริฬาโห น วิชฺชติ.
ความเร่าร้อนย่อมไม่มีแก่ผู้ถึงปลายทางแล้ว ความโศกหมดไปแล้ว หลุดพ้นแล้วจากธรรมทั้งปวง เพราะละกิเลสเครื่องร้อยรัดได้หมดแล้ว
พระพุทธเจ้าทรงห้อพระโลหิต..หมอชีวกถวายการรักษา
พระเทวทัตคบคิดกับอชาตศัตรูราชกุมารแล้ว (อชาตศัตรูปลงพระชนม์พระราชบิดา) พระเทวทัตแอบซ่อนตัวอยู่บนเขาคิชฌกูฏ มีจิตคิดร้ายว่า “เราจะทําหินให้กลิ้งตกใส่พระศาสดา” เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดําเนินมาถึงจุดนั้น พระเทวทัตก็กลิ้งหิน (สิลํ ปวิชุฌิ) ก้อนหินร่วงลงผิดเป้าหมาย จึงปะทะเข้ากับก้อนหินใหญ่ ๒ ก้อน มีสะเก็ดหินชิ้นหนึ่งพุ่งกระทบกับพระบาทของพระพุทธเจ้า จนห้อพระโลหิต ทรงเกิดทุกขเวทนาแรงกล้า ภิกษุทั้งหลายนำพระองค์ไปที่ สวนมัททกุจฉิ แล้วตรัสให้นำไปยังสวนมะม่วงของหมอชีวกโกมารภัจจ์...หมอชีวกได้ทำการผ่าตัดนำเลือดเสียออกแล้ว ถวายเภสัชอย่างแรงให้เสวยเพื่อระงับทุกขเวทนา และสมานบาดแผลให้หายเร็ว จากนั้นใช้ผ้าพันบาดแผลไว้ เสร็จแล้วทูลขออนุญาตไปรักษาคนป่วยในพระนครราชคฤห์...หมอกลับออกมาไม่ทัน ประตูพระนครปิดแล้ว เขาเกิดความคิดว่า “เราทํากรรมหนักเสียแล้ว เราให้ยาอย่างแรง และพันแผลให้พระองค์เหมือนอย่างที่ทำแก่คนไข้อื่นๆ ค่ำนี้เราต้องแก้ผ้าพันแผล ถ้าเรายังไม่แก้ออกก็จะทรงเกิดความเร่าร้อนตลอดคืนที่เดียว” ขณะที่หมอชีวกคิดอยู่นั้น บาดแผลของพระศาสดาก็หายสนิท พระองค์ทรงรู้ความคิดของหมอแล้วตรัสให้พระอานนท์แก้ผ้าพันแผลออก, ตอนใกล้รุ่ง ประตูพระนครเปิดแล้ว หมอชีวกมาเข้าเฝ้าทูลถามว่า ทรงเกิดความเร่าร้อนในพระวรกายหรือไม่? พระศาสดาตรัสว่า “ความเร่าร้อนทั้งปวงของตถาคต สงบสิ้นเชิงแล้วที่โพธิมัณฑ์” และตรัสภาษิตนี้
อธิบายพุทธภาษิต : การเดินทางไกล (คตทฺธิโน) มีอยู่ ๒ คือ ๑. ทางไกล คือ หนทางกันดาร ถ้ายังไม่ถึงที่หมายก็ต้องเดินทางเรื่อยไป เมื่อถึงแล้วก็ชื่อว่าถึงปลายทางแล้ว ๒. ทางไกล คือ วัฏฏะ ถ้ายังมีวัฏฏะ (กิเลส-กรรม-วิบาก) ก็ยังอยู่ในวัฏฏะเรื่อยไป เพราะยังทำวัฏฏะนั้น ให้สิ้นไปไม่ได้, พระอริยบุคคลทั้งหลาย เช่น พระโสดาบัน เป็นต้น ก็ยังชื่อว่า ผู้ยังไม่ถึงปลายทาง, ส่วนพระขีณาสพทำวัฏฏะให้สิ้นไปแล้ว ก็ชื่อว่า ผู้ถึงปลายทางแล้ว จึงไม่มีความโศกที่มีวัฏฏะเป็นเหตุอีก, หลุดพ้นจากธรรมทั้งปวง คือ พ้นจากธรรมทั้งหลาย เช่น ขันธ์ ๕ เป็นต้น, คันถะ คือ กิเลส เครื่องร้อยรัดมี ๔ เช่น อภิชฌากายคันถะ เป็นต้น, ผู้ไม่มีความเร่าร้อนทางกายและทางจิต คือ พระอรหันต์ เป็นการตรัสถึงเนื้อความอย่างยิ่งว่า “พระขีณาสพเป็นผู้มีคุณสมบัติดังกล่าวนี้ ท่านจึงไม่มีความเร่าร้อน” (ดู ธ.อ.๒/๓๐๓-๓๐๕)
คติธรรมความรู้ คนนอกพระพุทธศาสนา ใช้วาจาด่าว่าพระพุทธเจ้า แต่คนในอย่างพระเทวทัต กลับมุ่งปลิดพระชนม์ชีพ