คำสอนพระอริยเจ้า
หนังสือ พ่อแม่ครูอาจารย์บัว ญาณสัมปันโน
ท่านพระอาจารย์หลวงตาได้เมตตาเล่าว่า หลังกลับจากการถวายเพลิงสรีระสังขารของท่านพระอาจารย์มั่น ณ วัดป่าสุทธาวาท จังหวัดสกลนครแล้ว ท่านได้ขึ้นไปภาวนาบนหลังเขา วัดดอยธรรมเจดีย์ จังหวัดสกลนคร จิตเกิดความสว่างไสวจ้า ทะลุทลวงไปหมด เกิดอัศจรรย์ในความสว่างไสวภายในจิตของตนเอง
พอรู้ว่าจิตอัศจรรย์นักหนาอย่างนี้ ขณะจิตหนึ่งผุดขึ้นมาอย่างไม่คาดฝันว่า “ถ้ามีจุดมีต่อมของผู้รู้อยู่ที่ไหน นั่นแลคือภพ” ทำให้ท่านงงเป็นไก่ตาแตก แทนที่จะได้อุบายนั้นแก้ปัญหา กลับเพิ่มความสงสัยขึ้นมาอีก แบกปัญหานั้นอยู่ในจิต ปล่อยวางไม่ได้
จุดสว่างในจิตนั้น ก็คือจุดคือต่อมแห่งผู้รู้นั่นเอง ดวงจิตรู้ๆ นั่นแลคือตัวภพ เมื่อพิจารณารู้ทีหลังว่า อุบายนี้เป็นอุบายที่ถูกต้องจริงๆ แต่เพราะขาดปัญญาจึงไม่รู้ทันอุบายที่ผุดขึ้นมาบอกนี้
เมื่อถึงเวลาที่จะรู้ มันรู้หมด รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ทั่วโลกธาตุ มันรู้หมด เข้าใจหมด และปล่อยวางได้หมด มันไม่สนใจพิจารณา แม้แต่รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มันไม่สนใจพิจารณาอะไรเลย มันสนใจเฉพาะความรู้ที่เด่นดวง กับเวทนาส่วนละเอียดภายในจิตเท่านั้น สติปัญญาสัมผัสสัมพันธ์อยู่กับอันนี้ พิจารณาไป พิจารณามา ก็ทราบว่า จุดที่ว่านี้ มันก็ยังเป็นสมมุติ
มันจะสง่าผ่าเผยขนาดไหน ก็อยู่ในวงของสมมุติ จะสว่างกระจ่างแจ้งขนาดไหน ก็สว่างกระจ่างแจ้งอยู่ในวงของสมมุติ เพราะอวิชชายังมีอยู่ในนั้น ได้แบกปัญหานี้อยู่เป็นเวลานานถึง ๘ เดือน (เพราะไม่มีครูบาอาจารย์ให้คำแนะนำสั่งสอน เหมือนกับท่านพระอาจารย์มั่นยังมีชีวิตอยู่)
ท่านเล่าว่า อวิชชานั้นมันละเอียดมาก มันอยู่กับจิต เหมือนโจรที่แฝงตัวอยู่ในบ้าน สิ่งที่มีคุณค่ามันอยู่ใต้อำนาจของอวิชชา อวิชชามันครอบไว้หมด ตัวผ่องใส สง่า ผ่าเผย องอาจกล้าหาญ มันก็เป็นตัวอวิชชา ต้องนำสติปัญญามาใช้ ให้อวิชชาแตกกระจายลงไป
“อวิชชานั่นแล ! คือตัวสมมุติ” จุดแห่งความเด่นดวง ภายในจิต ก็แสดงอาการลุ่มๆ ดอนๆ ตามขั้นแห่งความละเอียดของจิต เศร้าหมองบ้าง ผ่องใสบ้าง ทุกข์บ้าง สุขบ้าง ตามขั้นแห่งความละเอียดของภูมิจิต มีลักษณะปรากฏพอจับพิรุธได้อยู่นั่นเอง
ต้องใช้สติปัญญา จ่อต่อเนื่องอยู่ตลอดเวลา ไม่ลดละความพยายาม เพราะอวิชชามันหลอกให้หลง มันแหลมคมมาก และแล้วก็มีความรู้ชนิดหนึ่งที่ไม่คาดไม่ฝัน ผุดขึ้นในใจว่า “ความเศร้าหมองก็ดี ผ่องใสก็ดี ทุกข์ก็ดี สุขก็ดี เหล่านี้เป็นสมมุติทั้งสิ้น และเป็นอนัตตาทั้งมวล” พอธรรมเหล่านี้เป็นอนัตตาผุดขึ้นมา จับได้ปุบทันที มันก็ผึง ! เลย คือ “อนัตตาผุด วิมุตติเกิด” จากนั้นอวิชชาก็ม้วนไปเลย ก่อนนั้นไม่รู้วิธี จับไม่ได้
พอรู้ว่าธรรมเหล่านี้เป็นสมมุติ เป็นอนัตตาเท่านั้นแล สติปัญญาก็หยั่งทราบจิตที่ถูกอวิชชาครอบงำอยู่นั้นว่า เป็นสมมุติที่ควรปล่อยวาง โดยถ่ายเดียว ไม่ควรยึดถือไว้
“ขณะจิต สติ ปัญญาทั้งสามเป็นอุเบกขามัธยัสถ์นั้นแล เป็นขณะที่โลกธาตุภายในจิต อันมีอวิชชาเป็นผู้เรืองอำนาจ ได้กระเทือน และขาดสะบั้นบรรลัยจากบัลลังก์คือใจ กลาย เป็นวิสุทธิจิตขึ้นมาแทนที่”
ในขณะเดียวกันกับอวิชชาขาดสะบั้นหั่นแหลก แตกกระจัดกระจายหายจากลงไป ด้วยอำนาจสติปัญญาอันเกรียงไกร ตัดสินความบนศาลสถิตยุติธรรม โดยวิมุตติญาณทัสนะเป็นผู้ตัดสิน
มัชฌิมาปฏิปทามรรคอริยสัจ เป็นฝ่ายชนะโดยสิ้นเชิง สมุทัยอริยสัจเป็นฝ่ายแพ้น็อกแบบหามลงเปล ไม่มีทางฟื้นตัวตลอดอนันตกาลสิ้นสุดลงแล้ว
เกิดความอัศจรรย์ล้นโลก อุทานออกมาว่า “โอ้โหๆ ! อัศจรรย์หนอๆ” แต่ก่อนนี้พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์สาวกอยู่ที่ไหนหนอ ? บัดนี้ ธรรมแท้ ธรรมอัศจรรย์เกินคาดนี้ องค์สรณะอันแสนอัศจรรย์นี้ มาอยู่ที่จิต เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับจิต ได้อย่างไร
โอ้โห ! ธรรมะแท้ พุทธะแท้ สังฆะแท้ เป็นอย่างนี้หรือ ไม่อยู่กับความคาดหมายด้นเดาใดๆ ทั้งสิ้น แต่เป็นความจริงล้วนๆ อยู่กับความจริงล้วนๆ อย่างเดียว
หลังชุลมุนวุ่นวายกับกิเลสอย่างเอาจริงเอาจัง อย่างถึงใจ เอาเป็นเอาตายเข้าว่า อยู่ถึง ๙ ปี ตั้งแต่พรรษาที่ ๗ ถึงพรรษาที่ ๑๖ จนธรรมประจักษ์ใจ หายสงสัย เรื่องภพชาติเกิดแก่เจ็บตาย กิเลสตัณหาอาสวะทุกประเภท ได้ขาดกระเด็นจากใจ ในคืนแรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๖ (๑๕ พฤษภาคม ๒๔๙๓) เวลา ๕ ทุ่มเป๋ง
ใจได้เปิดเผยโลกธาตุให้เห็นอย่างชัดเจน เกิดความสลดสังเวชใจ ในความเป็นมาของตน น้ำตาร่วงตลอดทั้งคืน ที่แบกหามกองทุกข์ ไม่มีเวลาปล่อยวาง ตายไปแล้ว ก็แบกอีกๆ คืนนั้นไม่ได้หลับ ไม่ได้นอน ได้เห็นคุณค่าของจิตใจ ซึ่งแต่ก่อนไม่เคยคิดว่า จิตใจจะมีคุณค่ามหัศจรรย์ถึงขนาดนี้ ซึ่งเหลือแต่ธรรมล้วนๆ จิตล้วนๆ ที่เป็นจิตบริสุทธิ์ หมื่นโลกธาตุหวั่นไหว ใจที่เคยมืดบอดสว่างจ้าครอบโลกธาตุ หายสงสัยในธรรมของพระพุทธเจ้า
การปฏิบัติธรรมจนปล่อยวางได้หมดโดยสิ้นเชิงแล้ว ไม่ต้องพึ่งใครแล้ว แม้แต่พระพุทธเจ้า ท่านก็หมดภาระรับผิดชอบเราแล้ว เพราะเราพึ่งตนเอง คือพึ่งธรรมได้แล้ว