ปริยัติธรรม
หนังสือ พระพุทธวจนะ คาถาธรรมบท จาก...พระไตรปิฎก
ยถาปิ รหโท คมฺภีโร วิปฺปสนฺโน อนาวิโล เอวํ ธมฺมานิ สุตฺวาน วิปฺปสีทนฺติ ปณฺฑิตา
ห้วงน้ำลึก ใสสะอาด นิ่งสนิท ฉันใด บัณฑิตทั้งหลายฟังธรรมแล้ว ย่อมผ่องใส ฉันนั้น
นางกาณาไม่ได้กลับไปหาสามี เพราะพวกภิกษุเป็นเหตุ.. พระพุทธเจ้าเสด็จโปรด...
นางกาณาเป็นชาวสาวัตถี แต่งงานแล้วไปอยู่กับสามีที่เมืองอื่น วันหนึ่งนางกลับมาเยี่ยม มารดา ได้เวลาจะกลับแล้ว มารดาจึงทอดขนม (ปูเว) หมายให้ลูกนำกลับไปฝากสามี ขนมสุกแล้ว ก็มีภิกษุมายังเรือน, มารดาจึงให้เธอถวายแก่ภิกษุรูปหนึ่ง แล้วลงมือทอดขนมใหม่ ภิกษุรูปนั้นได้ ไปบอกแก่ภิกษุรูปอื่นๆ ให้เข้ามารับจนขนมหมด มารดาจึงให้เธออยู่อีกวันหนึ่ง แม้วันต่อมาขนมสุกแล้วก็มีภิกษุเข้ามารับขนมไปจนหมดอีก
(ในพระวินัยว่า ทอดขนม ๓ ครั้ง ๓ วัน), ในอรรถกถาธรรมบทว่า ถวายแก่ภิกษุ ๔ รูป ทอด ๔ ครั้ง ๔ วัน ต่อมาก็มีเรื่องทํานองนี้เกิดขึ้นอีก คืออุบาสกคนหนึ่งชาวราชคฤห์จะเดินทาง ไปกับขบวนเกวียนของพ่อค้า เขารีบทำ “สัตตู” (ของกินอย่างใดอย่างหนึ่งที่เตรียมไว้กินเป็น เสบียง เรียกว่า มนุถํ เช่น สัตตูก้อน สัตตูผง งา ข้าวสาร เป็นต้น) ขณะกำลังจะออกจากบ้าน ก็มีภิกษุเข้ามารับบิณฑบาตและบอกต่อๆ กันแก่ภิกษุรูปอื่นๆ ให้เข้าไปรับ เขาจึงต้องขอร้องให้พ่อค้ารอก่อนเพื่อเตรียมเสบียงใหม่ พวกพ่อค้าไม่รอ เมื่ออุบาสกเดินทางตามไปทีหลังจึงถูกโจร ปล้น พระพุทธเจ้าจึง ทรงบัญญัติสิกขาบทให้ภิกษุรับได้เพียง ๒-๓ บาตร แล้วต้องนำมาแบ่งกัน ดู วินย.มหาวิ.ข้อ ๔๙๔-๔๔๖)
สามีของนางกาณาส่งข่าวมาขอให้นางกลับบ้าน แต่นางยังไม่กลับ เขาจึงนำหญิงอื่นมา เป็นภรรยา นางจึงด่าว่าพวกภิกษุว่า ทําลายครอบครัวของเรา, พระพุทธเจ้าทรงทราบแล้วเสด็จ จากพระเชตวันมาที่เรือนของนาง ตรัสถามว่า พวกสาวกของเรารับเอาขนมที่แม่ให้หรือว่าแม่ไม่ได้ให้? นางตอบว่า พวกท่านรับไปแต่ของที่แม่ให้, พระศาสดาทรงแสดงธรรม จบเทศนา นางกาณาบรรลุโสดาปัตติผล (อรรถกถาพระวินัยระบุว่า มารดาของนางกาณาเป็นพระอริยสาวิกา เห็นภิกษุแล้วไม่อาจที่จะไม่ถวาย, วินย.อ.๒/๒/๕๐๔).
พระเจ้าปเสนทิโกศลทอดพระเนตรเห็นพระศาสดาเสด็จดําเนินอยู่ที่พระลานหลวง ก็เสด็จเข้าเฝ้าทูลสอบถาม..ทรงทราบเรื่องที่นางด่าภิกษุ และพระพุทธเจ้าทรงทำให้นางเป็นเจ้าของโลกุตตรทรัพย์ (= บรรลุมรรคผลนิพพาน) แล้วทรงแต่งตั้งให้นางกาณาเป็น “เชฏฐธิดา” (พระธิดาองค์โต) ให้มหาอำมาตย์คนหนึ่งเลี้ยงดูดุจเลี้ยงดูลูกสาวของพระราชา เขาได้มอบความเป็นใหญ่ ในเรือนทั้งหมดให้แก่นาง ให้นางทำบุญตามชอบใจ นางจึงให้คนไปคอยนิมนต์ภิกษุและภิกษุณี ที่ผ่านเข้ามาในประตูกรุงทั้ง ๔ ให้มารับไทยธรรมที่จัดเตรียมไว้ทุกวัน ปรากฏว่าก็ยังไม่ได้ภิกษุ และภิกษุณีมากพอที่จะรับไทยธรรมที่เตรียมไว้มาก ภิกษุทั้งหลายสนทนากันว่า เมื่อก่อนนางเดือดร้อนเพราะภิกษุ ๔ รูป พระศาสดาทำให้นางมีศรัทธา เปิดบ้านต้อนรับหมู่ภิกษุได้อีก,ตอนนี้ นางแสวงหาพวกภิกษุและภิกษุณีก็ยังไม่ได้พอแก่ความประสงค์...,พระพุทธเจ้าตรัสว่า ในอดีตชาติ พระองค์ทรงทำให้นางกาณาเชื่อฟังถ้อยคำ และตรัสเล่า “พัพพุชาดก” (ชู.ชา.ข้อ ๑๓๗), ชา.อ, ๑/๒/๔๐๑)..., “นางได้มีจิตผ่องใสเหมือนห้วงน้ำใส เพราะฟังคำของเรา” แล้วตรัสภาษิตนี้
อธิบายพุทธภาษิต ห้วงน้ำ (รหโท) ได้แก่ ลำน้ำที่กองทัพมีองค์ ๔ เช่น เหล่าม้า เป็นต้น กําลังข้ามอยู่ ก็ไม่ทําให้ลําน้ำนั้นกระเพื่อมได้ อย่างนี้แหละ ชื่อว่า ห้วงน้ำ, ส่วน ห้วงน้ำลึก (รหโทคมฺภิโร) หมายถึง น้ำในมหาสมุทรที่มีความลึกประมาณ 4 หมื่นโยชน์, ธรรม ได้แก่ พระธรรม เทศนาทั้งหลาย บัณฑิตฟังแล้วมีจิตปราศจากอุปกิเลส ด้วยอำนาจของการบรรลุโสดาปัตติมรรค เป็นต้น จึงชื่อว่า (จิต) ย่อมผ่องใส, ส่วนพระอรหันต์ทั้งหลายย่อมเป็นผู้ผ่องใสโดยส่วนเดียว (ไม่มีความไม่ผ่องใสเหลืออยู่แล้ว) ดู ธ.อ.๒/๒๘๔-๒๘๘, อรรถกถาพระวินัยว่า เมื่อสามีรู้ว่าพระพุทธเจ้า เสด็จไปยังบ้านแม่ของนางกาณา เขาจึงรับนางกลับไปเป็นภรรยาดังเดิม วินย.อ.๒/๒/๕๐๔
คติธรรมความรู้ ผู้รับทาน ก็ควรรับแต่พอประมาณ ผู้ให้ทาน ก็ไม่ควรให้จนครอบครัวเดือดร้อน