ปริยัติธรรม
หนังสือ พระพุทธวจนะ คาถาธรรมบท จาก...พระไตรปิฎก
ยงฺกิญฺจิ ยิฏฐํ ว หุตํ ว โลเก สํวจฺฉรํ ยเชถ ปุญฺญเปกฺโข สพุพํปิ ตํ น จตุภาคเมติ อภิวาทนา อุชุคเตสุ เสยุโย.
ผู้ปรารถนาบุญ พึงบูชายัญหรือเซ่นสรวงอย่างใดๆ ในโลกตลอดหนึ่งปี การบูชายัญหรือเซ่นสรวงแม้ทั้งหมดนั้น มีค่าไม่ถึงหนึ่งในสี่แห่งการกราบ ไหว้ท่านผู้ปฏิบัติตรง ซึ่งมีผลประเสริฐกว่า
สหายของพระสารีบุตรเชื่อว่า...การบริจาคใหญ่เป็นปฏิปทาของผู้จะเกิดในพรหมโลก
พระสารีบุตรเข้าไปหาพราหมณ์ผู้เป็นสหาย (เป็นเพื่อนกันมาตั้งแต่สมัยยังไม่บวชเป็นภิกษุ) แล้วถามเขาว่า “พราหมณ์ ท่านทำกุศลอะไรบ้างไหม?” เขาตอบว่า ข้าพเจ้าทำกุศลด้วยการบูชายัญอย่างที่คนส่วนมากบูชากัน, คือ สมัยนั้นคนทั้งหลายบูชายัญด้วยการ บริจาคใหญ่ (มหาปริจฺจาเคน) คือ บริจาควัตถุสิ่งของต่างๆ แก่มหาชน), พระเถระถามว่าท่านทําอย่างนั้นเพื่อประโยชน์อะไร? ตอบว่า ได้ยินเขาพูดกันว่านั้นเป็นทางไปสู่พรหมโลก, ถามว่าใครเป็นคนพูด อย่างนั้น? ตอบว่า พวกอาจารย์ของข้าพเจ้าเป็นคนพูด, พระสารีบุตรกล่าวว่า “ท่านไม่รู้ทางไปพรหมโลก แม้พวกอาจารย์ของท่านก็ไม่รู้มาเถอะ เราไปหาพระพุทธเจ้าด้วยกันเถิด” พระเถระนำ สหายเข้าเฝ้าในพระเวฬุวัน แล้วกราบทูลการกระทําของสหายให้ทรงทราบ และขอให้ทรงแสดงทางแห่งพรหมโลกแก่เขาด้วย, พระพุทธเจ้าตรัสถามเขาว่า “ท่านเป็นอย่างนั้นหรือ?” เขารับว่า “จริงอย่างนั้น ท่านพระโคดมผู้เจริญ” ก็ตรัสสอนว่า “ทานที่ท่านบูชายัญอย่างที่เขาบูชากัน อยู่นั้น คือการให้ (ทาน) แก่โลกียมหาชน (หมู่ชนที่ยังไม่บรรลุโลกุตตระ) ท่านให้อยู่ตลอดปี ก็ย่อมมีค่าไม่ถึงส่วนที่ ๔ ของกุศลเจตนาที่เกิดขึ้นแล้วของบุคคลผู้ไหว้สาวกของเราด้วยจิต เลื่อมใส” แล้วตรัสภาษิตนี้, จบพระพุทธดํารัส พราหมณ์นี้บรรลุโสดาปัตติผลแล้ว
อธิบายพุทธภาษิต : ยงฺกญฺจิ – อย่างใดอย่างหนึ่ง (= อย่างใดๆ) เป็นการหมายรวมการบูชาทุกชนิด, คําว่า ยัญ (ยิฏฐํ) ได้แก่ การให้ทานที่มักเกิดขึ้นเพราะถือว่าเป็นการทํามงคล เป็นต้น คําว่า “เซ่นสรวง” (หุตํ - บูชา, เซ่นสรวง) ในที่นี้ได้แก่ การให้ทานแก่ผู้มาเยือน และการให้ที่เกิด จากการเชื่อกรรมและผลของกรรม (เช่น ให้เพราะเชื่อว่าเป็นกรรมดี ถ้ากรรมนี้ให้ผลเราจะเข้าถึงสุคติ), ปุญฺญเปกโก – ผู้เพ่งซึ่งบุญ คือ ผู้ปรารถนาบุญ, ท่านผู้ปฏิบัติตรง (อุชุคเตสุ) คือ ต่ำสุด หมายถึงพระโสดาบัน สูงสุดหมายถึงพระขีณาสพ, อธิบายย่อว่า การบริจาคทานที่เขาทํากันอยู่ นั้น มีค่าไม่ถึงส่วนที่ ๔ (๑ ใน ๔) ของผลแห่งกุศลเจตนาของคนที่น้อมสรีระไหว้ หรือการอภิวาท (กราบไหว้) ท่านผู้ปฏิบัติตรง (ดู ธ.อ.๒/๓๗๗-๓๗๘)
คติธรรมความรู้ พระพุทธเจ้าทรงสอนให้เลิกพิธีบูชายัญที่มีการนําคนและสัตว์มาฆ่า แล้วทรงนําคําว่า “ยัญ” มาใช้ในความหมายใหม่ คือ การบําเพ็ญทานโดยไม่มีการเบียดเบียนคนและสัตว์ และ ทรงแสดงว่า การอภิวาทพระอริยเจ้า มีผลมากกว่าการให้ทานที่พวกพราหมณ์บัญญัติขึ้น