ปริยัติธรรม
หนังสือ พระพุทธวจนะ คาถาธรรมบท จาก...พระไตรปิฎก
อภิวาทนสีลิสฺส นิจฺจํ วุฑฒาปจายิโน จตฺตาโร ธมมา วฑฺฒนุติ อายุ วณฺโณ สุขํ พลํ
ธรรม ๔ ประการ คือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ ย่อมเจริญแก่ผู้มีปกติไหว้กราบ อ่อนน้อมต่อผู้เจริญเป็นนิตย์
ท้าวเวสวัณอนุญาตให้อวรุทธยักษ์จับเด็กกินได้..พระพุทธเจ้าทรงแนะวิธีปริตต์... เด็กมีอายุยืน ๑๒๐ ปี
พราหมณ์ชาวเมืองทีฆลัมพิกะ ๒ คน บวชเป็นบรรพชิตภายนอก (คือนอกพระพุทธศาสนา ได้แก่ บวชประพฤติ โกมารพรหมจรรย์ คือ รักษาพรหมจรรย์ตั้งแต่สมัยเป็นเด็กชายตามคําสอนเก่าแก่ของพวกพราหมณ์) บําเพ็ญตบะอยู่นาน ๔๘ ปี คนหนึ่งคิดว่า “เชื้อสาย (วงศ์สกุล) ของเราจะสิ้นสุดลงถ้าเราไม่กลับไปเป็นคฤหัสถ์” (โกมารพรหมจรรย์ระบุว่าครบ ๔๘ ปีต้องไปเป็นคฤหัสถ์ มีภรรยามีลูก คนใดไม่มีลูก ตายไปจะเกิดในนรก หลังมีบุตรแล้วจะกลับมาประพฤติพรหมจรรย์ ต่อก็ได้) เขาจึงลาพราหมณ์ผู้เป็นสหาย แล้วนำบริขารที่ใช้บำเพ็ญตบะไปขายแก่ผู้อื่น (ที่ต้อง ประพฤติโกมารพรหมจรรย์) เป็นคฤหัสถ์แล้วมีภรรยา มีโค ๑๐๐ ตัว และมีทรัพย์เก็บไว้อีก ๑๐๐ กหาปณะ....เมื่อภรรยาคลอดบุตรชายแล้วเขาก็ได้ข่าวว่า พราหมณ์ผู้เป็นสหายกลับมาที่บ้านเกิด ในเมืองทีฆลัมพิกะ เขาจึงพาภรรยาและอุ้มบุตรไปเยี่ยม, ทั้งสองคนไหว้พราหมณ์แล้ว พราหมณ์ ก็กล่าวว่า “ท่านจงเป็นผู้มีอายุยืน” ครั้นจับมือให้บุตรไหว้ พราหมณ์สหายก็ไม่พูดอะไรๆ เลย ได้แต่นิ่ง, เขาจึงถามว่า เหตุใดท่านไม่กล่าวอะไรเลย? พราหมณ์ตอบว่า “จะมีอันตรายอย่างหนึ่ง เกิดแก่ทารกคนนี้” ถามว่า อันตรายนั้นจะมีภายในกี่วัน?, ตอบว่า อีก ๗ วัน, ถามว่า ท่านรู้วิธีป้องกันไหม? ตอบว่า เราไม่มีวิธีป้องกันเหตุ, ถามว่า แล้วมีใครจะรู้ได้บ้าง? ตอบว่า มีแต่พระสมณโคดม ท่านจงไปถามพระสมณโคดมเถิด, (พราหมณ์มีความรู้แต่ไม่รู้วิธีป้องกัน เขาเทียบ คะเนว่า พระพุทธเจ้ามีพระสัพพัญญุตญาณย่อมจะรู้มากกว่าเขา) เขากล่าวว่า ถ้าเราไปหา ตบะ ของเราก็จะเสื่อมนะสิ,พราหมณ์ผู้เป็นบรรพชิตให้ข้อคิดว่า ถ้าท่านรักลูกก็อย่าคิดเรื่องตบะเสื่อม จงไปถามพระสมณโคดมเถิด (บัดนี้ พระสมณโคดมมาประทับอยู่ที่กุฎีในป่าแห่งเมืองนี้แล้ว)
เขาพาภรรยาและลูกน้อยเข้าไปหาพระพุทธเจ้า เมื่อเขาและภรรยาไหว้, พระศาสดาตรัสว่า “ท่านจงมีอายุยืน” (ตุวํ ทีฆายุโก โหหิ) แต่เมื่อเขาจับมือทารกให้ไหว้ ก็ทรงนิ่งไม่ตรัสอะไรๆ เลย, เขาทูลถามเหตุ พระพุทธเจ้าก็ตรัสอธิบายว่า อีก ๗ วันจะเกิดอันตรายแก่ทารก, ถามว่า จะป้องกันอันตรายได้อย่างไร ขอโปรดจงแนะนําด้วยเถิด, พระศาสดาทรงแนะนําให้เขาทําปะรำไว้ หน้าประตูเรือน ตั้งอาสนะไว้ ๘ หรือ ๑๖ ที่ให้ภิกษุนั่งล้อมรอบดั่งที่อยู่ตรงกลางซึ่งจะให้ทารก นอน เราจะให้สาวกนั่ง ทำปริตร (ปริตฺตํ กาเรตุํ - กระทําซึ่งปริตร) ต่อเนื่องกัน ๗ วัน ทารกก็จะพ้น จากอันตรายได้พราหมณ์ได้ทําตามนั้น เสร็จแล้วนําบุตรนอนอยู่บนตั่งตรงกลาง มีภิกษุทั้งหลาย สวดปริตร (ปริตฺตํ ภณิสุ - สวดแล้วซึ่งปริตร)วันที่ ๗ พระศาสดาก็เสด็จมา ณ ปะรํานั้น หมู่เทวดาในจักรวาลก็มาประชุมกัน ทําให้ อวรุทธยักษ์ ผู้จะจับทารกกินต้องถอยร่นออกไปไกล ๑๒ โยชน์ หมดโอกาสจับเด็กแล้ว ท่านว่าท้าวเวสวัณให้พรแก่ยักษ์ตนนี้ให้จับเด็กคนนี้กินได้
พระศาสดาอยู่ร่วมทําปริตรตลอดคืน อรุณรุ่งวันที่ ๘ พราหมณ์และภรรยาก็นําเด็กมาไหว้ ก็ตรัสว่า “เธอจงมีอายุยืนยาวเถิด” เขาทูลถามว่า “เด็กจะมีอายุเท่าไร?” ตรัสตอบว่า “๑๒๐ ปี” สามีภรรยาจึงตั้งชื่อบุตรว่า “อายุวัฒนกุมาร” (เด็กผู้เจริญด้วยอายุ)
(ข้อสังเกต : ครั้งพุทธกาลยังไม่มีบทสวดที่เรียกว่า บทสวดพระปริตร อย่างที่ปรากฏใน เจ็ดตํานาน และสิบสองตํานาน ท่านไม่ได้ระบุว่าสวดธรรมอะไร ที่จริง การที่ภิกษุมานั่งล้อมเด็ก ทารกอยู่หลายวัน วันที่ ๗ พระพุทธเจ้ายังเสด็จมาร่วมด้วย ก็เป็นการ “ปริตร” (ป้องกัน, รักษา) เด็กอยู่แล้ว เป็นการ “ทํา” ปริตรอยู่แล้วโดยไม่จําเป็นต้อง “สวด” ปริตร อย่างไรก็ตาม พึงทราบ ว่าเรื่องนี้บ่งบอกถึงยุคสมัยของการบันทึกอรรถกถาเรื่องนี้ได้ว่า เป็นสมัยที่มีการสวดปริตรอย่าง แพร่หลายแล้วนั่นเอง)
ต่อมา ภิกษุทั้งหลายสนทนาในธรรมสภาว่า อายุวัฒนกุมารจะตายในวันที่ ๗ ตอนนี้เขาเป็น อุบาสก มีอุบาสกติดตาม ๕๐๐ คน เหตุที่ทําให้สัตว์เจริญด้วยอายุจะต้องมีอยู่แน่....พระพุทธเจ้า ทรงทราบแล้ว ตรัสว่า “ไม่ใช่แต่อายุเท่านั้นเจริญ ถ้าสัตว์ไหว้ผู้เจริญด้วยคุณ สัตว์นั้นก็ย่อม เจริญด้วยเหตุ ๔ พ้นจากอันตราย ดํารงอยู่จนอายุเทียว” แล้วตรัสภาษิตนี้, จบพระพุทธดํารัส อายุวัฒนกุมารและอุบาสก ๕๐๐ บรรลุโสดาปัตติผล
อธิบายพุทธภาษิต : ผู้อภิวาท (= กราบไหว้) เป็นปกติ ได้แก่ ผู้ขวนขวายในการไหว้เนืองๆ, อ่อนน้อมต่อผู้เจริญ (วุฑฺฒาปจายิโน) คือ คฤหัสถ์อ่อนน้อมต่อภิกษุหนุ่มและสามเณร ที่บวชแม้ในวันนั้น, บรรพชิต (ภิกษุ สามเณร) อ่อนน้อมหรือบูชาด้วยการกราบไหว้ภิกษุหรือ สามเณรที่แก่กว่า คือ บวชก่อน หรือเจริญด้วยคุณ, ธรรม ๔ ย่อมเจริญแก่คฤหัสถ์และบรรพชิต ผู้อภิวาทและอ่อนน้อม คือ เมื่อกุศลทําให้บุคคลนั้นมีอายุ ๕๐ ปี จะมีอันตรายแก่เขาตอนอายุ ๒๕ ปี ถ้าเขาอภิวาทและอ่อนน้อมต่อผู้เจริญ อันตรายก็จะไม่มี เขาก็จะมีอายุถึง ๕๐ ปี และมิใช่ เขาจะได้แต่อายุเท่านั้น ยังได้ วรรณะ (ผิวพรรณ, ชื่อเสียง) สุข (สุขกายสุขใจ) และพละ (กําลัง กายใจ) ด้วย (ดู ธ.อ.๒/๓๗๙-๓๘๓)
คติธรรมความรู้ พระพุทธเจ้าทรงอธิบายเหตุให้ได้ธรรม ๔ ประการนี้ว่า ๑. ต้องเจริญอิทธิบาท ๔ จึงเจริญด้วยอายุ (สิ่งหล่อเลี้ยงให้ชีวิตยืนยาว) ๒. ต้องเจริญศีล (ปาติโมกขสังวร) จึงเจริญด้วยวรรณะ (ความผ่องใสน่าเจริญตาเจริญใจ) ๓. ต้องเจริญฌาน ๔ (ปฐมฌาน เป็นต้น) จึงเจริญด้วยสุข ๔. ต้องทําให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ (= บรรลุอรหัตตผล สิ้นอาสวะทั้งปวง) จึงเจริญด้วยพละ (มีกําลังชีวิตที่ดีงาม ไม่มีกิเลสเป็นอุปสรรค) ดู จักกวัตติสูตร ที.ปา.ข้อ ๕๐