ปริยัติธรรม
หนังสือ พระพุทธวจนะ คาถาธรรมบท จาก...พระไตรปิฎก
ผนฺทนํ จปลํ จิตฺตํ ทุรกฺขํ ทุรกฺขํ ทุนฺนิวารยํ
อุชุ กโรติ เมธาวี อุสุกาโรว เตชนํ.
จิตเป็นธรรมชาติดิ้นรน กลับกลอก รักษายาก ห้ามได้ยาก
ผู้มีปัญญาย่อมตัดให้ตรงได้ เหมือนดังช่างทำลูกศรดัดลูกศรให้ตรง ฉะนั้น
วาริโชว ถเล ขิตฺโต โอกโมกตอุพฺภโต
ปริผนฺทติทํ จิตฺตํ มารเธยฺยํ ปหาตเว.
เมื่อจิตนี้ (ถูกวิปัสสนานำออกจากกามคุณ ๕)
ย่อมดิ้นรนไปมาเหมือนปลาถูกจับโยนไปบนบก ฉะนั้น
ผู้มีปัญญาจึงควรละบ่วงแห่งมาร (กิเลสเหตุให้จิตดิ้นรน)
พระเมฆิยะละทิ้งหน้าที่พุทธอุปัฏฐาก เพราะความมุ่งมั่น แต่ต้องเผชิญการดิ้นรนของจิต
พระเมฆิยะทำหน้าที่อุปัฏฐากพระพุทธเจ้าครั้งประทับอยู่ที่จาลิกบรรพต เมืองจาลิกา วันหนึ่ง ท่านบิณฑบาตผ่านมาเห็นป่ามะม่วง (อมฺพวเน) ริมแม่น้ำกิมิกาฬา น่ารื่นรมย์ เมื่อกลับ ถึงที่พักแล้วได้กราบทูลขออนุญาตไปบำเพ็ญเพียรที่นั่น พระศาสตาตรัสขอให้รอจนกว่าจะมีภิกษุ รูปอื่นมาที่นี่ก่อนแล้วค่อยไป, ท่านก็ไม่ยอม ถวายบังคมแล้วรีบออกไป...เมื่อไปอยู่ ณ ที่นั้น จิตใจ ของท่านก็เกิดอกุศลวิตกขึ้น (ตรึกถึงเรื่องราวต่างๆ จนฟุ้งซ่านวุ่นวาย) ไม่อาจทำจิตให้สงบได้ จึง กลับมาเข้าเฝ้ากราบทูลให้ทรงทราบ (ดู ขุ.อุ.ข้อ ๘๕-๘๙)
พระศาสดาตรัสว่า "ด้วยเหตุนี้แหละ เราจึงให้เธออยู่รอจนกว่าภิกษุรูปอื่นจะมา เพราะ จิตเป็นธรรมชาติเปลี่ยนแปลงเร็ว" แล้วตรัส ๒ คาถานี้ จบพระพุทธดำรัส พระเมฆิยะบรรลุ โสดาปัตติผล
อธิบายพุทธภาษิต
ความดิ้นรน (ผนฺทนํ) ของจิต คือ พล่านไปรู้รูปและเสียง เป็นตัน, ไม่อยู่นิ่ง (จปลํ- กลับกลอก) คือ ไม่ชอบอยู่ในอารมณ์ใดเพียงอารมณ์เดียว, รักษายาก (ทุรกฺขํ) คือ จะให้อยู่กับอารมณ์ที่ชอบเพียงอารมณ์เดียว จิตก็ยังไม่ยอม ห้ามได้ยาก (ทุนฺนิวารยํ) คือ ห้ามไม่ให้ไปรู้อารมณ์ที่ไม่ดีไม่ควร ก็ห้ามได้ยาก, คนที่มีปัญญา ในที่นี้หมายถึง ผู้รู้แจ้ง ฝึกจิต ให้พ้นกิเลสหยาบด้วยธุดงค์ (สมาทานธุดงค์ ๑๓) และการอยู่ป่า, แล้วมีศรัทธาปรารภความเพียร ให้เป็นไปทางกายและจิต ด้วยเครื่องมือดัดจิต คือ สมถะและวิปัสสนา พิจารณาสังขารทั้งหลาย ทำลายอวิชชาแล้ว ถึงคุณวิเศษเหล่านี้ คือ วิชชา ๓ อภิญญ ๖ โลกุตตรธรรม ๙ ย่อมเป็น ทักขิไณยบุคคลผู้เลิศ
คติธรรมความรู้ จิตเป็นธรรมชาติยินดีติดใจในกามคุณ ๕ เมื่อจะให้ตั้งอยู่ในสมถะและวิปัสสนา จิตก็ยิ่งดิ้นรน ดุจปลาถูกจับขึ้นจากน้ำ