ปริยัติธรรม
หนังสือ พระพุทธวจนะ คาถาธรรมบท จาก...พระไตรปิฎก
ปฐวีสโม โน วิรุชฺฌติ อินฺทขีลูปโม ตาทิ สุพฺพโต รหโทว อเปตกทฺทโม สํสารา น ภวนฺติ ตาทิโน
จิตของผู้ใดเสมอเหมือนแผ่นดิน คงที่ประดุจเสาเขื่อน มีพรตงาม มีเปลือกตม คือ กิเลสปราศไปแล้ว ดุจห้วงน้ำใส ไร้ตะกอน ย่อมไม่ยินร้าย (ต่อโลกธรรม) สังสาระย่อมไม่มีแก่ผู้คงที่เช่นนั้น
ภิกษุรูปหนึ่งกล่าวหาว่าถูกพระสารีบุตรทำร้ายพระเถระจึงบันลือสีหนาทเปรียบเทียบตนด้วยอุปมา ๙ อย่าง
ออกพรรษาแล้ว พระสารีบุตร (จำพรรษาในพระเชตวัน กรุงสาวัตถี) ต้องการจะหลีกไปสู่ที่จาริก ท่านเข้าเฝ้ากราบทูลลาพระพุทธเจ้าในพระเชตวันแล้วก็ออกมาพร้อมด้วยภิกษุบริวาร มีภิกษุจำนวนมาก รอส่งท่านอยู่ ท่านจึงสนทนาปราศรัยถามชื่อและโคตรของภิกษุแต่ละรูปแล้วก็ บอกให้กลับ (ไม่ต้องตามส่งไกลกว่านี้)
ภิกษุรูปหนึ่ง เกิดความน้อยใจที่พระสารีบุตรไม่ถามชื่อและโคตรของตนบ้าง เกิดความ ผูกโกรธ (พนฺธิ อาฆาตํ) ขึ้นเงียบๆ แล้วระหว่างทักทายกัน ต่อจากนั้นพระสารีบุตรไม่ทันระวัง ชายสังฆาฏิของท่านได้ถูกสรีระของภิกษุรูปนั้นเข้า ภิกษุนั้นก็เกิดความผูกโกรธอีกครั้ง คิดว่าพระสารีบุตรกำลังจะออกไปพ้นวิหารแล้ว (เราจะทำให้ท่านรู้จักเราล่ะ) จึงเข้าเฝ้ากราบทูลฟ้องกับพระศาสดาว่า ถูกพระสารีบุตรทำร้ายเหมือนทำลายใบหูแล้วไม่ยอมขอโทษ คงคิดว่าเป็นอัครสาวกของพระองค์กระมัง ตอนนี้ท่านก็กําลังจะหลีกไปสู่ที่จาริก
พระพุทธเจ้าตรัสให้ภิกษุนี้ไปนิมนต์พระสารีบุตรมาเข้าเฝ้า, พระมหาโมคคัลลานะและ พระอานนท์ทราบข้อกล่าวหาแล้วคิดว่า พระศาสดาย่อมทรงทราบดีว่า พี่ชายของพวกเรา (เชฏฐฺภาตรา) ไม่ได้ทำร้ายใครๆ คงทรงต้องการให้พระเถระบันลือสีหนาท, จึงนํากุญแจเปิด ประตูบริเวณนั้นทั้งหมดให้หมู่ภิกษุเข้าเฝ้าประชุมกันโดยสะดวก พลางเชิญชวนให้ภิกษุทั้งหลาย เข้าฟังการบันลือสีหนาทต่อหน้าพระพักตร์... "
พระศาสดาตรัสถามพระสารีบุตรว่า ได้ทำร้ายใบหูของภิกษุนี้จริงหรือ? ท่านกราบทูลว่า ภิกษุใดมีสติเป็นไปในกาย ถ้ากระทบกระทั่งเพื่อนสพรหมจารี ถ้าไม่กล่าวขอโทษก็จะไม่หลีกไป สู่ที่จาริกแน่ แล้วทูลถึงความที่จิตของท่านเป็นเหมือนแผ่นดิน, น้ำ, ไฟ, ลม, ผ้าเช็ดธุลี และเด็กจัณฑาล เป็นต้น (รวม ๙ อุปมา) ภิกษุรูปนั้นฟังแล้วหมอบลงใกล้พระบาทพระศาสดาแล้วสารภาพ เรื่องที่ตนกล่าวตู่พระเถระด้วยคำเท็จ ตรัสให้พระเถระยกโทษให้แก่ภิกษุรูปนั้น พระเถระได้ยกโทษให้ และขอให้ภิกษุนั้นยกโทษให้ด้วย ถ้าโทษใดๆ มีอยู่ภิกษุทั้งหลายกล่าวชื่นชมพระสารีบุตรว่ามีคุณธรรมสูง ไม่โกรธหรือไม่ประทุษร้ายภิกษุ ผู้กล่าวตู่เลย, พระพุทธเจ้าตรัสว่า ใครๆ ก็ไม่อาจทำให้ภิกษุเช่นพระสารีบุตรโกรธได้....แล้วตรัส ภาษิตนี้
อธิบายพุทธภาษิต : คนทั้งหลายทิ้งของสะอาดและของสกปรกลงบนแผ่นดิน แผ่นดิน ก็ไม่รู้สึกยินดี หรือยินร้าย, เด็กและสัตว์ย่อมถ่ายปัสสาวะอุจจาระรดเสาเขื่อน (อินทขีลํ - เสาเอก ของเมือง, เสาหลักเมือง) ที่ปักอยู่ใกล้ประตูเมือง และเมื่อชนพวกอื่นๆ พากันบูชาสักการะเสา เขื่อนนั้น เสาเขื่อนนั้นก็ไม่รู้สึกยินดียินร้ายเลย ฉันใด ภิกษุผู้เป็นพระขีณาสพก็ฉันนั้น เพราะท่านเป็นผู้คงที่ ไม่หวั่นไหวต่อโลกธรรม ๘, มีพรตงาม เพราะปฏิบัติงามในวัตรทั้งหลาย (วตุตานํ สุนฺทรตาย), สังสาระ (การเวียนตายเวียนเกิด) ทั้งหลาย คือ การท่องเที่ยวไปในสุคติและทุคติต่างๆ ไม่มีแก่ท่านแล้ว จึงเรียกท่านว่า “ผู้คงที่” (ดู ธ.อ.๒/๓๑๘-๓๒๑)
พึงสังเกตว่า “สุพฺพโต” (มีวัตรงาม) มี ต-เต่า ตัวเดียว ควรจะแปลว่า “มีพรตงาม” (หมายถึง รักษาธุดงค์) แต่อรรถกถาท่านอธิบายว่า “วตฺตานํ สุนทรตาย” (ความที่วัตรทั้งหลาย เป็นวัตรงาม) คือ มี ต-เต่า ๒ ตัว จึงมีการแปล “สุพฺพโต” ตามอรรถกถาว่า มีวัตรงาม
คติธรรมความรู้ : บางคนโกรธนาน เหมือนรอยขีดบนแผ่นหิน บางคนโกรธไม่นาน เหมือนรอยขีดบนแผ่นดิน บางคนโกรธง่าย หายเร็ว เหมือนรอยขีดบนน้ำ