คัณฐิเภทกโจโร : โจรผู้ทำลายปม

คัณฐิเภทกโจโร : โจรผู้ทำลายปม

ปริยัติธรรม

หนังสือ พระพุทธวจนะ คาถาธรรมบท จาก...พระไตรปิฎก

โย พาโล มญฺญตี พาลฺยํ ปณฺฑิโต วาปิ เตน โส พาโล
พาโล จ ปณฺฑิตมานี ส เว "พาโล" ติ วุจฺจติ

บุคคลใดเป็นคนโง่ รู้ความที่ตนเป็นคนโง่ บุคคลนั้นเป็นบัณฑิตได้บ้าง
เมื่อรู้ตัวอย่างนั้น ส่วนบุคคลใดเป็นคนโง่ แต่สำคัญตนว่าเป็นบัณฑิต บุคคล
นั้นแล ย่อมเรียกว่า คนโง่

 

โจรผู้ทำลายปม คือ การนำทรัพย์ออกจากปมผ้า, ตั้งใจเข้ามาลักทรัพย์ ได้ฟังธรรม...บรรลุโสดาปัตติผล

 

โจรสองคนเป็นเพื่อนกันวางแผนกันไว้ว่า จะขโมยสิ่งของๆ ผู้ที่เข้าไปฟังธรรมภายในพระเชตวันจึงร่วมเดินปะปนเข้าไปกับมหาชนผู้ต้องการฟังธรรมนั่งลงแล้ว โจรคนหนึ่งตั้งใจฟังธรรม และบรรลุโสดาปัตติผล (เป็นพระอริยะขั้นพระโสดาบัน) ส่วนโจรอีกคนคอยหาโอกาสลักทรัพย์ เขาขโมยเงินจากชายพกของอุบาสกคนหนึ่งได้มา ๕ มาสก เมื่อการแสดงธรรม (ของภิกษุ) จบลง ทั้งสองก็กลับบ้าน โจรที่ขโมยได้ ๕ มาสกได้เล่าเรื่องที่เพื่อนตั้งใจฟังธรรมให้ภรรยาของตนเองฟัง แล้วร่วมกันเยาะเย้ยเพื่อนว่า "เป็นยังไงเล่าเพื่อน อยากเป็นบัณฑิตนัก เลยไม่ได้แม้แต่เงินจะซื้อ ข้าวหุงสักจาน" เพื่อนที่เป็นพระโสดาบันแล้วคิดว่า "เพื่อนเราคิดว่าตัวเองเป็นบัณฑิต แต่ความคิดยังเป็นคนพาลอยู่เลย" วันต่อมา อุบาสกผู้เป็นอดีตโจรชักชวนพวกญาติเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ในพระเชตวันวิหาร แล้วกราบทูลให้ทรงทราบเรื่องทั้งหมดนั้น พระศาสดาจึงตรัสภาษิตนี้, จบ พระพุทธดำรัส พวกญาติๆ บรรลุโสดาปัตติผล

 

อธิบายพุทธภาษิต

 

พาโล แปลว่า คนพาลหรือคนโง่ หมายถึง คนที่ไม่ใช่บัณฑิต (อปัณฑิต) ถ้ารู้ตัวเองว่า "เราเป็นคนโง่" คนที่รู้เช่นนี้ย่อมเป็นบัณฑิตได้ หรือจะเป็นเหมือนผู้เป็นบัณฑิตได้ บ้าง เพราะเขาจะเข้าไปหาบัณฑิต ฟังบัณฑิตกล่าวสอน ตั้งใจเรียนโอวาท ก็ย่อมเป็นบัณฑิตได้ หรือเป็นอติบัณฑิตได้ (มีความรู้ความแตกฉาน, ปฏิบัติดีมากกว่าบัณฑิตผู้เป็นอาจารย์ คือ เป็น บัณฑิตกว่าอาจารย์)

ส่วนคนโง่ที่สำคัญตนผิดว่า "เราเป็นบัณฑิตแล้ว" ก็จะเกิดความถือตัวว่า "ใครเล่าจะเป็น พหูสูตเป็นธรรมกถึก รู้วินัย เป็นธุตวาทะ (กล่าวสรรเสริญคุณของการกำจัดกิเลส) เหมือนกับเรา" คนโง่เช่นนี้ย่อมไม่เข้าไปหาบัณฑิต ไม่นั่งใกล้บัณฑิต ไม่เรียนปริยัติ ไม่ปฏิบัติ ย่อมถึงความเป็น คนโง่โดยส่วนเดียว (ไม่มีภาวะของความเป็นบัณฑิตสลับสับเปลี่ยนเลย) ย่อมเป็นเหมือนโจรผู้ ทำลายปม (คณฺฐิเภทกโจโร, คือ ชำนาญการแกะห่อทรัพย์ที่เขาผูกเป็นปมไว้ที่ชายผ้า) ฉะนั้น (ดู ธ.อ.๒/๑๕๕-๑๕๖)

 

คติธรรมความรู้ คนที่โง่แท้คือ คนที่คิดว่าตนเองเป็นบัณฑิต ไม่ต้องฟังต้องเรียนจากใครๆ แล้ว


พิมพ์