ปริยัติธรรม
หนังสือนิทานบำเพ็ญบุญ 100 เรื่อง
สองสามีภรรยามีผ้าห่มเพียงผืนเดียว...ภรรยาห่มไปฟังธรรมตอนกลางวัน สามีห่มไปฟังธรรมตอนกลางคืน...
พราหมณ์และพราหมณีเป็นคู่สามีภรรยาชาวสาวัตถีที่มีฐานะยากจนข้นแค้น ทั้งสองไม่มีบุตร เพื่อนบ้านจึงเรียกพราหมณ์ผู้เป็นสามีว่า จูเฬกสาฎก เพราะในบ้านของเขามีแต่ผ้านุ่งผืนเล็กผืนเดียวที่ปกปิดกายยามออกไปนอกบ้าน เพื่อทำกิจการงานและพบปะเพื่อน ๆ (เหมือนบางคนที่ชอบใส่แต่กางเกง ไม่ชอบใส่เสื้อทำการงาน)
และเพราะความยากจนนี้ ทั้งสองจึงมีผ้าห่มอยู่เพียงผืนเดียวในเรือน ที่ต้องเปลี่ยนกันใช้ห่ม (ผ้าสำหรับห่มออกไปนอกบ้าน เช่น ร่วมงานมงคล) ผลัดกันใช้ผ้าผืนนี้ เช่น ถ้าภรรยาห่มไปร่วมงานมงคล สามีก็ไม่อาจไปงานเดียวกันได้ เพราะไม่มีผ้าห่มสำหรับอีกคน)ชาวบ้านจึงเรียกเขาว่า พราหมณ์ผู้มีผ้าน้อยผืน(จูเฬกสาฎกอ่านว่า จู-เร-กะ-สา-ดก, หรือผู้มีผ้านุ่งผืนเดียวก็ได้ แต่ในที่นี้ท่านมุ่งถึงมีผ้าห่มผืนเดียว)
สองสามีภรรยาแม้จะยากจน แต่ก็เป็นคนมีศรัทธา วันใดที่ได้ของมามากก็ยังจัดแบ่งและนิมนต์ภิกษุเข้ามานั่งฉันในเรือนเนือง ๆ
วันหนึ่ง มีการประกาศเชิญชวนให้ชาวพุทธร่วมฟังธรรมในพระวิหารเชตวัน พราหมณ์ได้ยินแล้วมีจิตยินดี กล่าวกับภรรยาว่า "นี่แน่ะแม่ เค้ามีการประกาศเชิญชวนให้พวกเราไปร่วมฟังธรรมที่พระวิหารในวันพรุ่งนี้ แต่เรามีผ้าห่มอยู่ผืนเดียวก็ไปพร้อมกันไม่ได้ ต้องสลับกันไป แม่จะเลือกไปตอนกลางวันหรือกลางคืนดีล่ะ?" นางพราหมณีตอบว่า "ฉันขอไปตอนกลางวันดีกว่า"
วันรุ่งขึ้น นางพราหมณีก็ห่มผ้านั้นออกจากบ้าน เข้าไปฟังธรรมในพระวิหาร ครั้น พระแสดงธรรมจบแล้ว นางก็กลับบ้านและเปลี่ยนให้พราหมณ์สามีใช้ผ้าห่มกายไปฟังธรรม ในเวลาค่ำ เมื่อเขาไปถึงก็ได้นั่งฟังธรรมอยู่ไกลจากพระพุทธเจ้าพอสมควร พระพุทธเจ้า ทรงแสดงธรรมท่ามกลางหมู่พุทธบริษัท ซึ่งมีพระเจ้าปเสนทิโกศลร่วมสดับพระธรรมอยู่ด้วยพราหมณ์ได้ฟังธรรมแล้ว เกิดความรู้ความเข้าใจ กำหนดรู้ตามเป็นระยะ ๆ เปรียบเหมือนคนที่มีครูแนะนำขั้นตอนของการเอาลิ่มสลักออกจากประตูได้ ภายในจิตบังเกิดความปีติ (อิ่มเอมใจปลื้มใจ) ซึมซาบและศรัทธามีกำลังทวีคูณ ความสุขที่เกิดจากจิตปีติได้แผ่ซ่านไป ทั่วกายและจิตใจ เขาเลยคิดจะนำผ้าห่มที่มีอยู่ผืนเดียวนั้น น้อมถวายบูชาแต่พระบรม ศาสดา แต่แล้วก็ต้องชะงักความคิดนั้นเสีย เมื่อคิดว่า "หากเรานำผ้าผืนนี้ถวายไป เรากับ ภรรยาก็จะไม่มีผ้าห่มเลย นางคงจะไม่เห็นด้วยกับเราแน่ ๆ เราคงต้องเดือดร้อนใจ รวบรวมเงินหาซื้อผ้าผืนใหม่อีก" ความตระหนี่ (มัจฉริยะ) เกิดขึ้นในจิตใจ ขัดขวางศรัทธา ปรากฏเป็นความคิดที่ค้านกันอยู่ตลอดสลับไปมา ระหว่าง "จะถวายกับไม่ถวาย ดีไหม หนอ?" ตลอดปฐมยามที่พิจารณาธรรม จนเวลาแห่งปฐมยามผ่านไป
ล่วงเข้าสู่มัชฌิมยามแล้ว พรหมณ์ก็ยังคงนั่งฟังธรรมอยู่ และความคิดนั้นก็ยังเกิด สลับกันระหว่างความปรารถนาที่จะถวายผ้าห่มผืนเดียว กับ การเก็บผ้านี้ไว้ จะได้ไม่เดือดร้อน พราหมณ์ก็ยังคงถูกความตระหนี่เล่นงานตลอดมัชฌิมยาม ศรัทธายังมีกำลังน้อยกว่า
ฟังธรรมแล้วเกิดศรัทธา เอาชนะความตระหนี่ ถวายผ้าห่มที่มีอยู่ผืนเดียว เปล่งเสียงประกาศชัยชนะเหนือกิเลส
ครั้นถึงปัจฉิมยาม พราหมณ์คิดว่า "ตั้งแต่เราเริ่มฟังธรรม เราเกิดศรัทธาจะถวาย ผ้า แต่ก็ถูกมัจฉริยะรบกวนรัดตรึงจิตไว้ไม่ให้เราถวายผ้าได้ บัดนี้ ปฐมยามกับมัชฌิมยามผ่านไปแล้ว ความตระหนี่เล็ก ๆ ที่มีอยู่ในใจเราขณะนี้ หากปล่อยให้มันชนะเราบ่อย ๆ มันก็จะครอบงำเราได้หมด ทำให้เราจมอยู่ในอบาย ๔ (นรก เปรต อสุรกาย เดรัจฉาน)
เราต้องชนะมันให้ได้ ไม่ต้องฟังมัน เราควรถวายผ้าตอนนี้แหละ"
พราหมณ์สำรวมจิตข่มมิให้มัจฉริยะเกิดขึ้นได้อีก รักษาศรัทธาให้คงมั่น ค่อย ๆ ใช้ มือดึงผ้าออกจากกายช้า ๆ...ประหนึ่งดังดึงมีดตัดตัวมัจฉริยะ (ตระหนี่) ให้ขาดผึงจากกาย แล้วค่อย ๆ บรรจงพับผ้าอย่างเรียบร้อย เมื่อพระพุทธเจ้าแสดงธรรมจบลง เขาก็ประคอง ผืนผ้าเข้าไปกระทำอัญชุลีประณตน้อมแล้ววางผ้าไว้ที่พระบาทพระบรมศาสดา แล้วเปล่งคำพูดดัง ๆ ว่า "เราชนะแล้ว เราชนะแล้ว"
กาลนั้นพระพุทธเจ้ายังคงประทับนั่งอยู่ หมู่มหาชนถวายบังคมแล้วเริ่มทยอยออก จากพระวิหาร พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงเห็นพราหมณ์มีเพียงผ้านุ่งผืนเดียว นำผ้าที่ห่มมา นั้นไปวางแทบพระบาท แล้วพูดว่า "เราชนะแล้ว ๆ" ทรงสงสัยว่าพราหมณ์ผู้นี้ชนะอะไร จึงประทับนั่งต่อ และตรัสให้คนไปเชิญพราหมณ์มาเข้าเฝ้า และทรงสอบถามเหตุ? พราหมณ์ จูเฬกสาฎกจึงกราบทูลความคิดที่เกิดขึ้นระหว่างความศรัทธาและความตระหนี่...
พระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงทึ่งชัยชนะที่แสนยาก ทรงพระราชทานผ้าและสิงของอย่างละ ๔
พระราชาทรงดำริว่า "พราหมณ์ทำสิ่งที่คนอื่น ๆ ทำได้ยาก ทั้งบ้านมีผ้าห่มอยู่ เพียงผืนเดียวยังถวายได้ เราจะช่วยสงเคราะห์เขา" แล้วตรัสให้เจ้าหน้าที่นำผ้าสาฎกมา ให้เขา ๑ คู่ พราหมณ์รับไว้แล้ว ได้น้อมถวายผ้าคู่นั้นแต่พระพุทธเจ้า
พระราชาจึงพระราชทานผ้าสาฎกให้เขาเพิ่มอีกเป็น ๒ คู่ เขารับแล้วคิดว่า"พระราชา ให้ผ้าแก่เรา เหตุเพราะเราฟังธรรมและถวายผ้าแด่พระพุทธเจ้า ถ้าเราไม่ได้ถวายแด่พระ พุทธเจ้า พระราชาก็คงจะไม่ให้ผ้าแก่เราหรอก ดังนั้น ผ้าเหล่านี้ควรน้อมถวายแด่พระพุทธเจ้า" จึงถวายผ้า ๒ คู่นี้อีก พระราชาตรัสให้พระราชทานผ้าเพิ่มอีกเป็น ๔ คู่... .๘ คู่.. ๑๖ คู่ พราหมณ์ก็ยังถวายแด่พระศาสดาทั้งหมด
พระราชายิ่งพระราชทานเพิ่มให้อีกเป็น ๓๒ คู่ คราวนี้พราหมณ์คิดว่า "ถ้าเรายัง คงไม่รับไว้เองบ้าง ก็จะเป็นการไม่ให้เกียรติพระราชา ทั้งไม่รู้ประมาณตน เราควรรับไว้ ใช้สอยบ้าง" เขาจึงรับผ้าสาฎกไว้ ๒ คู่ (=๔ผืน) สำหรับตนเองและภรรยา แล้วถวายผ้า ๓๐ คู่ แด่พระศาสดา
พระราชาทรงพอพระทัยในตัวพราหมณ์ผู้นี้มาก ตรัสสั่งให้เจ้าหน้าที่ รีบไปนำผ้า กัมพล (ผ้าทอด้วยขนสัตว์) ในวังมาเพิ่มอีก ๒ ผืน มีมูลค่าถึง ๑ แสนกหาปณะ เจ้าหน้าที่นำ มาแล้ว จึงได้พระราชทานให้แก่เขา แล้วเสด็จกลับไป
พราหมณ์รับผ้ามาแล้วคิดว่า ผ้ากัมพลเป็นผ้าที่ทำด้วยความประณีต บรรจง ดีเลิศ มีราคาแพงมาก ไม่คู่ควรกับเราและภรรยา เราควรตั้งใจน้อมถวายไว้ในพระศาสนาจะดีกว่า เขาจึงนำผ้ากัมพลขึงถวายเป็นผ้าเพดานไว้ภายในพระคันธกุฎีของพระบรมศาสดา ส่วนอีกผืน หนึ่ง เขานำไปขึงเป็นเพดานไว้ที่เรือน บริเวณที่ภิกษุจะเข้ามานั่งฉัน
ครั้นถึงเวลาเย็น พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จเข้ามาเฝ้าพระพุทธเจ้า ทรงเห็นผ้ากัมพล ที่ขึงอยู่นั้น ทรงจำผ้าได้ จึงกราบทูลถามว่า "ใครเป็นผู้นำผ้าผืนนี้มาถวายพระพุทธองค์? พระเจ้าข้า" พระศาสดาตรัสตอบว่า "ก็พราหมณ์ที่ชื่อว่า เอกสาฎก (ผู้มีผ้าผืนเดียว) มหาบพิตร" พระราชาทรงมีดำริว่า "พราหมณ์ผู้นี้เลื่อมใสในฐานะที่ควรเลื่อมใส เขามี ศรัทธาปสาทะในพระศาสดาเหมือนกันกับเรา"
ครั้นเสด็จเข้าสู่พระราชวังแล้ว ตรัสให้เจ้าพนักงานไปเชิญพราหมณ์มาเข้าเฝ้าแล้ว พระราชทานสิ่งของแก่พราหมณ์อย่างละ ๔ จำนวน ๑๐๐ ชนิด คือ ช้าง ๔ ม้า ๔ กหาปณะ ๔,๐๐๐ สตรี ๔ ทาสี ๔ บุรุษ ๔ บ้านส่วย ๔ ตำบล...
พระศาสดาตรัสสอน ทำกุศลช้า ผลที่น่าปรารถนาก็มาถึงช้า ทำกุศลช้า ใจจะยินดีในบาป
ต่อมา ภิกษุทั้งหลายสนทนากันอยู่ในโรงธรรม ต่างก็พากันชื่นชมว่าพราหมณ์ จูเฬกสาฎก ทำกุศลกรรมงามเพียงครู่เดียวในเขตบุญที่ดีเยี่ยม ผลบุญยังให้เขาได้รับวัตถุ อย่างละ ๔ ในวันเดียวกันเลย น่าอัศจรรย์นัก
เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จมายังโรงธรรม ทรงทราบการสนทนาของเหล่าภิกษุแล้ว ตรัส ว่า "ภิกษุทั้งหลาย ถ้าพราหมณ์ผู้นี้ถวายผ้าให้เราในตอนปฐมยาม เขาจะได้รับวัตถุสิ่งของ ต่าง ๆ อย่างละ ๑๖ แต่ถ้าเขาถวายตอนมัชฌิมยาม เขาจะได้วัตถุสิ่งของต่างๆ อย่างละ ๘, แต่นี่เขาถวายตอนใกล้รุ่ง เขาจึงได้วัตถุสิ่งของอย่างละ ๔ ที่จริง เมื่อบุคคลทำกรรมดีงาม ไม่ให้จิตมีอุปสรรคขัดขวางก็ควรทำในขณะนั้น เพราะกุศลที่บุคคลทำช้า ผลอันน่าปรารถนา ก็ย่อมมีผลช้าเหมือนกัน จึงควรทำกรรมดีในขณะเกิดความคิดนั้นที่เดียว"
แล้วตรัสพระคาถาว่า
"บุคคลพึงรีบขวนขวายบุญ พึงห้ามจิตเสียจากบาป เพราะว่า เมื่อทำบุญช้าไปใจจะยินดีในบาป"
(ดู ขุ.ธ.ข้อ ๑๙,ธ.ธ.๓/๙-๘)
คติธรรมสำคัญของเรื่อง : เบื้องต้นของทานที่ยิ่งใหญ่ คือ การเอาชนะความตระหนี่