ปริยัติธรรม
หนังสือ ตามรอยพระธรรม ของ พระบรมศาสดา ผู้เขียน สุรีย์ มีผลกิจ
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงกามาทีนวกถา ทรงชี้ให้เห็นโทษของกามทั้งหลาย เพราะความสุขในสวรรค์ ก็ยังเพียบพร้อมอยู่ด้วยกามคุณ ๕ ชาวสวรรค์ก็ยังมีความยินดีพอใจในกามคุณ อารมณ์ อันเป็นเหตุที่ยังทําให้วนเวียนอยู่ในวัฏฏะได้อีก
** มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เล่ม ๓/๑ เสวิตัพพาเสวิตัพพสูตร ธรรมที่ควรเสพ หน้า ๒๘๗ กล่าวว่า
อริยบุคคลคือพระโสดาบัน พระสกทาคามีบุคคล ที่บังเกิด ในสวรรค์ อกุศลธรรมทั้งหลายก็ยังเจริญได้ แม้พระอนาคามีที่บังเกิด ในชั้นสุทธาวาส ได้เห็นต้นกัลปพฤกษ์ในสวนสวรรค์ ก็ยังเปล่งอุทานว่า สุขหนอ สุขหนอ ทั้งนี้เพราะ พระอนาคามีท่านก็ยังละตัณหาในภพไม่ได้ แต่ตัณหานั้นก็มิใช่ว่าจะเกิดกับทุกคน บางคนเพลิดเพลินยินดีก็ถึงความเสื่อมและพินาศจากกุศลธรรม บางคนเบื่อหน่ายคลายกําหนัด ย่อมเจริญวิปัสสนา ได้บรรลุธรรมขั้นสูงขึ้นในสวรรค์นั้นเอง
กาม มี ๒ ประเภท คือ วัตถุกาม และกิเลสกาม
* วัตถุกาม ได้แก่ วัตถุอันน่าใคร่ ชวนให้เกิดความยินดีเพลิด เพลิน มีรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันเป็นที่ชื่นชอบใจ รวมทั้งวัตถุต่าง ๆ เช่นเครื่องนุ่งห่ม เงิน ทอง บ้าน ที่ดิน แพะ แกะ สุกร ฯลฯ และวัตถุทั้งหลาย อันเป็นที่ตั้งแห่งความยินดีพอใจ
* กิเลสกาม ได้แก่ กิเลสที่เป็นอารมณ์ของตัณหา ความพอใจ ความชอบใจ ความหลงใหล ความหมกมุ่นในราคะ ย่อมติดใจใน รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์ที่น่ารักน่ายินดี
โทษของความยินดีในรูป
** มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ หน้า ๑๒๐-๑๒๒ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงโทษในรูปว่า หญิงสาวในวัยรุ่นย่อมมีผิวพรรณงดงามเปล่งปลั่ง ครั้นเวลาล่วงไป ๗๐-๘๐ ปี หญิงนั้น กลายเป็นคนแก่มีเรือนร่างคดงอ ถือไม้เท้า ฟันหลุด ผมหงอก หนังเที่ยว มีตัวตกกระ ความงดงามที่มีในครั้งก่อนหายไป นี้คือโทษของรูป
อีกประการหนึ่ง หญิงนั้นเมื่อเป็นซากศพ ถูกทิ้งไว้ในป่าช้าเป็นซากศพขึ้นพอง ฝูงกาฝูงแร้งจิกกิน เหลือแต่โครงกระดูก ปราศจากเนื้อ ปราศจากเอ็น กระจายไปในทิศน้อยใหญ่ ฯลฯ ความงดงามเปล่งปลั่ง ที่มีแต่ก่อนหายไปแล้ว นี้คือโทษในรูป
** ธรรมบทแปล ภาค ๘ หน้า ๑๒๓-๑๒๖ พระวักกลิผู้ยินดี ติดใจในรูป ความว่า ท่านเกิดในตระกูลพราหมณ์กรุงสาวัตถี เห็นพระบรมศาสดาเสด็จเข้าไปบิณฑบาต ชมพระสรีรสมบัติแล้วมีความพอใจ ไม่อิ่มด้วยการเห็น จึงบรรพชาในสํานักพระบรมศาสดา ด้วยเข้าใจว่าจัก ได้เห็นพระตถาคตอย่างใกล้ชิดโดยตลอด ได้เฝ้ายืนอยู่ในที่ที่สามารถแลเห็นพระพุทธองค์ได้ ละจากกิจวัตรอันควรกระทํา ไม่สาธยายและมนสิการในกัมมัฏฐาน ได้แต่เฝ้าติดตามมองพระบรมศาสดาอยู่เช่นนั้น อย่างมิรู้เบื่อหน่าย
พระบรมศาสดา ทรงรอความแก่กล้าแห่งญาณของเธออยู่ จึงไม่ตรัสเตือนอะไร ต่อมาทรงทราบว่าญาณของเธอถึงความแก่กล้า แล้ว จึงโอวาทว่า
วักกลิ ประโยชน์อะไรของเธอด้วยการเฝ้าดูกายเน่านี้วักกลิ ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นจึงจะชื่อว่าเห็นเราตถาคต
แม้พระบรมศาสดาจะตรัสสอนอย่างไร พระวักกลิก็ยังไม่อาจละจากการเฝ้าแลดู พระบรมศาสดาดําริว่า ภิกษุนี้หากมัวแต่พะวงอยู่ด้วยการเฝ้าดูเช่นนี้ จักไม่ได้ตรัสรู้ พระองค์จึงเสด็จไปกรุงราชคฤห์ ในวันเข้าพรรษาทรงขับไล่ด้วยพระดํารัสว่า วักกลิ เธอจงหลีกไป พระวักกลิน้อยใจคิดว่าเราไม่อาจอยู่ต่อหน้าพระพักตร์ของ พระบรมศาสดาได้ตลอดไตรมาส ประโยชน์อะไรของเราด้วยชีวิตนี้ จึงขึ้นไปบนภูเขาคิชฌกูฏเพื่อปลงชีวิต
พระบรมศาสดาทรงทราบด้วยพระญาณ จึงเปล่งพระรัศมีไป ทรงแสดงพระองค์ให้ปรากฏ ตรัสว่าภิกษุผู้มากด้วยปราโมทย์ เลื่อมใสแล้วในพระพุทธศาสนา
พึงบรรลุสันติบท เป็นที่เข้าไปสงบสังขาร เป็นสุข
เมื่อตรัสพระคาถานี้แล้ว ทรงเหยียดพระหัตถ์ ตรัสอีกว่า มาเถิดวักกลิ เธออย่ากลัวจงแลดูพระตถาคต เราจักยกเธอขึ้นเหมือนบุคคลพยุงช้างขึ้นจากเชือกตม ฉะนั้น
พระวักกลิเกิดปีติอย่างแรงกล้า ที่ได้เห็นพระพุทธองค์เสด็จ มา อุทานว่า เราได้เห็นพระทศพลแล้ว ยิ่งได้ยินเสียงร้องเรียกว่ามาเถิด จึงคิดว่าเราจะพึงไปทางไหน เมื่อไม่เห็นทางเป็นที่ไป จึงกระโดดลงมาจากยอดเขา นึกถึงพระคาถาที่พระบรมศาสดาตรัส ข่มปิติในอากาศบรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลาย พระบรมศาสดาทรงตั้งไว้ใน ตําแหน่งอันเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้เป็น สัทธาวิมุตติ (หลุดพ้นด้วยศรัทธา)
** ธรรมบทแปล ภาค ๔ หน้า ๑๕๒-๑๖๓ ในครั้งพุทธกาล พระกุณฑลเกลีเถรีเป็นธิดาเศรษฐี อยู่ชั้นบนของปราสาท ได้เห็นเขา นําโจรจะไปฆ่า เกิดความรักโจรนักโทษนั้นทันทีที่เห็น ถึงกับว่าถ้าไม่ได้ โจรมาเป็นสามีจักต้องตาย บิดามารดาจึงต้องให้สินบนผู้คุม นําเอาชาย อื่นไปฆ่าแทนโจรนั้น
ครั้นได้โจรมาเป็นสามีแล้ว โจรนั้นก็ไม่ทิ้งนิสัยโจร ลวงนาง ให้ขึ้นไปบนภูเขา เพราะต้องการสมบัติของนาง อ้างว่าได้บนบานไว้ต่อ เทพดาที่สถิตอยู่บนภูเขาในวันที่จะถูกฆ่า ชีวิตนี้จึงได้มาด้วยอานุภาพแห่งเทวดา บัดนี้จึงใคร่ไปทําพลีกรรม โจรพานางขึ้นไปสู่ภูเขานั้นเพียงสองคน เมื่อขึ้นไปถึงบนยอดเขานางจึงได้รู้ถึงเล่ห์กลนั้น อาศัยที่นางเป็นคนฉลาด ได้ใช้อุบายผลักโจรสามีตกเขาตายเสียก่อน
ภายหลัง นางออกบวชในพวกนักบวชปริพาชก เรียนปัญหาทั้งหมดแล้วท่องเที่ยวไปถามปัญหากับผู้อื่น แต่ไม่มีผู้ใดตอบได้ จนกระทั่งมาพบพระสารีบุตร ท่านตอบปัญหาของนางได้ทั้งหมด แต่นางตอบปัญหาของท่านพระสารีบุตรไม่ได้ จึงยอมตนบวชในพระศาสนา นางได้บรรลุเป็นพระอรหันตเถรีในที่สุด ด้วยอํานาจที่เคยอบรมปัญญามามาก ในอดีต หากว่าท่านไม่ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ก็คงจะต้องชดใช้บาปอกุศลที่ฆ่าโจร ตกอยู่ในอบายอีกเป็นแน่ นี้คือโทษของกาม อันมาจากยินดีพอใจในรูป
โทษของความยินดีในเสียง
** ธรรมบทแปล ภาค ๑ หน้า ๓-๓๔ เรื่องปาลิตสามเณรศีลวิบัติ เพราะยินดีในเสียงของหญิง ความตอนหนึ่งว่า ครั้งนั้น กุฎุมพีมหาปาละ เห็นหมู่อริยสาวกถือเครื่องสักการะ บูชามีของหอมและดอกไม้เป็นต้น ไปเพื่อฟังธรรม มหาปาละติดตาม ไปด้วย พระผู้มีพระภาคเจ้าทอดพระเนตรเห็นอุปนิสัยของมหาปาละ จึงตรัสอนุปุพพิกถา มหาปาละสดับธรรมนั้นแล้ว ยกสมบัติทั้งหมดให้น้องชาย เข้าไปทูลขอบรรพชาอุปสมบทในสํานักพระบรมศาสดา ทูลขอกรรมฐานแล้ว ไปอยู่หมู่บ้านชายแดนแห่งหนึ่ง กับภิกษุ ๖๐ รูป
พระมหาปาละกล่าวสอนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุตั้งอยู่ในโอวาท ครั้นจวนปวารณา ได้บรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทุกรูป ส่วนพระมหาปาลเถระถือเนสัชชิกธุดงค์ (ไม่นอน) ตลอดไตรมาส จนตาบอด ออกพรรษาปวารณา ภิกษุทั้งหลายใครไปเฝ้าพระบรมศาสดา พระเถระจึงส่งภิกษุเหล่านั้นไปก่อน ด้วยเกรงว่าตนจะเป็นภาระแก่ภิกษุทั้งหลาย โดยฝากให้กราบนมัสการพระบรมศาสดา และพระมหาเถระทั้งหลายด้วย พร้อมกับฝากให้บอกน้องชายเพื่อจะได้ส่งคนไปรับในภายหลัง
น้องชายเมื่อทราบข่าวจึงจะส่งหลานชาย ชื่อปาลิตะไปรับ ภิกษุเหล่านั้นบอกว่า อันตรายในระหว่างทางมีอยู่ ควรให้หลานชายบรรพชา เป็นสามเณรก่อนแล้วจึงค่อยไป ปาลิตะบรรพชา ศึกษาข้อวัตรปฏิบัติ ถึงเดือนแล้ว จึงเดินทางไปรับพระเถระ สามเณรจับปลายไม้เท้าของพระมหาปาลเถระผู้เป็นลุงซึ่งตาบอด จูงเดินนําทางกลับยังบ้านเดิมของท่านที่กรุงสาวัตถี
เมื่อเดินผ่านดงมาในระหว่างทาง สามเณรได้ยินเสียงขับร้องของหญิงเก็บพื้นที่อยู่ในป่า เธอติดใจในเสียงนั้นทันที ปล่อยไม้เท้าที่จูง บอกพระเถระว่า ท่านขอรับ ขอท่านรออยู่ก่อน กิจของกระผมมี
หญิงนั้นเห็นสามเณรแล้วหยุดยืนรออยู่ สามเณรถึงศีลวิบัติกับหญิงนั้นด้วยความพอใจในเสียงขับ สมดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าเคย ตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า เราไม่เห็นเสียงอื่นแม้สักอย่างเดียว อันจะยึดจิตของบุรุษให้ตกอยู่ในราคะ เหมือนเสียงของมาตุคาม (หญิง)
พระเถระผู้เป็นลุงคอยอยู่ คิดว่าเราได้ยินเสียงขับของหญิง เมื่อครู่นี้ สามเณรก็ชักช้าอยู่ เธอคงจักถึงศีลวิบัติเสียแน่แล้ว ฝ่ายสามเณรเมื่อทํากิจของตนเสร็จแล้วกลับมา พูดว่า เราเดินทางกันต่อ เถิดขอรับ พระเถระถามว่า สามเณรเธอกลายเป็นคนชั่วเสียแล้วหรือ สามเณรไม่ตอบ แม้พระเถระจะถามซ้ำก็ไม่พูดว่ากะไร
พระเถระจึงกล่าวว่า ธุระด้วยการที่คนชั่วเช่นเธอจะจับปลายไม้เท้าให้เรา ไม่ต้องมี สามเณรถึงความสังเวชเปลื้องผ้ากาสายะแล้ว นุ่งห่มอย่างคฤหัสถ์ พูดกับพระเถระว่า ท่านผู้เจริญ แต่ก่อนกระผมเป็นสามเณร บัดนี้กระผมเป็นคฤหัสถ์แล้ว อนึ่งเมื่อกระผมบวชก็มิได้ บวชด้วยศรัทธา บวชเพราะกลัวแต่อันตรายในหนทาง ขอท่านจงส่งปลายไม้เท้ามาเถิด กระผมจักพาท่านไป พระเถระพูดว่า คฤหัสถ์ชั่วก็ดี สมณะชั่วก็ดี สามเณรชั่วก็ดี ก็ชื่อว่าชั่วทั้งนั้น แม้ขณะที่เธอตั้งอยู่ในความเป็นสามเณร เธอก็มิอาจ เพียงทําศีลให้บริบูรณ์ได้ เมื่อมาเป็นคฤหัสถ์จักทําความดีงามอะไรได้ ธุระด้วยการที่คนชั่วเช่นเธอ จะจับปลายไม้เท้าของเราไม่ต้องมี
หลานชายพูดว่า ท่านผู้เจริญ หนทางที่จะไปมีอมนุษย์ชุกชุม ท่านก็เสียจักษุ จักอยู่ในที่นี้ได้อย่างไร แม้จะอ้อนวอนอย่างไรพระเถระ ก็บอกว่า เธออย่าได้คิดอย่างนั้น เราจักนอนตายอยู่ ณ ที่นี้ ขึ้นชื่อว่า จะไปกับเธอย่อมไม่มี แล้วกล่าวคาถาว่า
เราเป็นผู้มีจักษุอันเสียแล้ว มาสู่ทางไกลอันกันดารแม้จะนอนตายอยู่ ณ ที่นี้ ก็จะไม่ไปกับเธอ
เพราะความเป็นสหายในชนพาลย่อมไม่มี
เราจักยอมตายอยู่ ณ ที่นี้ จักไม่ร่วมทางไปกับเธอ
ด้วยอานุภาพแห่งศีลของพระเถระ ร้อนถึงท้าวสักกเทวราช ลงมาพาพระเถระไปถึงกรุงสาวัตถี บ้านเกิดของท่านในเพลาเย็นนั้นเอง พระเถระจึงทราบว่าผู้นี้มิใช่มนุษย์ จักต้องเป็นเทวดาแน่นอน เรื่องนี้ชี้ให้เห็นโทษของความยินดีพอใจในเสียงขับของหญิง
** ธรรมบทแปลภาค ๖ หน้า ๒๒๗-๒๓๑ ตรัสโทษของกาม เรื่องอนิตถิคันธกุมาร ความว่า อนิตถิคันธกุมารจุติมาจากพรหมโลก บังเกิดในตระกูลมีโภคะมาก ในกรุงสาวัตถี นับตั้งแต่วันที่เกิด ไม่ปรารถนาจะเข้าใกล้หญิง แม้ถูกหญิงจับก็ร้องไห้ มารดาต้องใช้ผ้ารองแล้วจึงอุ้มให้ดื่มนม ครั้นเจริญวัยมารดาบิดาจะจัดงานอาวาหมงคล ก็ห้ามว่า ลูกไม่มีความต้องการด้วยหญิง บิดากล่าวว่าหากลูกไม่ทําการอาวาหมงคล ตระกูลเราจะตั้งอยู่ไม่ได้
ครั้นถูกอ้อนวอนหนักเข้า อนิตถิคันธะจึงให้ช่างทองหล่อรูป หญิงสาวงดงาม แล้วบอกแก่บิดาว่า หากได้หญิงงามเช่นนี้จักทําตาม มารดาบิดาจึงส่งพราหมณ์ไปแสวงหา หญิงที่มีรูปงามเช่นนี้ ไปจนถึงสาคลนคร แคว้นมัททะ ตั้งรูปทองคํานั้นไว้ริมทางที่ไปสู่ท่าน้ำแล้วนั่งเฝ้าดูอยู่
นครนั้นมีกุมาริการูปสวย อายุประมาณ ๑๖ ปี มารดาบิดา ให้นางอยู่บนปราสาทชั้น ๗ ครั้งนั้นแม่นมของหญิงนั้นลงมาสู่ท่าน้ำ เพื่ออาบน้ำ เห็นรูปหญิงนั้นแล้วคิดว่าเป็นกุมาริกา กล่าวว่า เราให้เจ้าอาบน้ำแล้วเมื่อครู่นี้เอง เหตุใดจึงลงมาอีก เข้าไปใกล้แล้วตีที่มือ แม่นมจึงรู้ความที่รูปนั้นเป็นรูปทองคํามิใช่ธิดาของตน
พราหมณ์เห็นดังนั้นจึงถามแม่นมว่า ธิดาท่านงามเห็นปานนี้หรือ หญิงแม่นมจึงพาพราหมณ์ไปสู่เรือน บอกแก่นายคือเจ้าของบ้าน นายชื่นชมพวกพราหมณ์แล้วให้ธิดาลงมายืนใกล้รูปทองคํา ณ ปราสาท ชั้นล่าง รูปทองคํานั้นหมดรัศมีไปทีเดียว
เหล่าพราหมณ์กลับไปส่งข่าวกุมาริกา ให้มารดาบิดาของอนิตถิคันธกุมารทราบ ทั้งสองท่านมีความยินดี ส่งพราหมณ์พร้อมด้วยเครื่องบรรณาการเป็นอันมากไปสู่ขอ ฝ่ายอนิตถิคันธะเพียงได้ยินข่าวนั้น บังเกิดความรักกุมาริกาขึ้นทันที กล่าวสําทับกับพราหมณ์เหล่านั้นว่า ท่านทั้งหลายจงรีบไปนํานางมาโดยเร็วเถิด
กุมาริกานั้นเป็นหญิงสาวที่บอบบาง ขณะที่เดินทางเกิดป่วย ด้วยความกระทบกระเทือนแห่งยาน ได้เสียชีวิตลงในระหว่างทาง แต่ชนทั้งหลายมิได้บอกความนั้นแก่อนิตติคันธะ จนเวลาล่วงไป ๒-๓ วันจึงบอก อนิตติคันธะเสียใจมาก ถูกความโศกท่วมทับ จนไม่เป็นกินอันนอน
พระบรมศาสดาทรงเห็นอุปนิสัยของอนิตติคันธะ จึงเสด็จไปบิณฑบาต ยืนอยู่ที่ประตูเรือนแล้วถามหาอนิตติคันธะ มารดากราบทูล ว่าอดอาหารนอนอยู่ในห้อง พระบรมศาสดาจึงรับสั่งให้หา ถามว่า ความโศกมีกําลังเกิดขึ้นแก่เธอหรือ อนิตถิคันธะกราบทูลว่า ความโศกเกิดขึ้นแก่ข้าพระองค์ นับแต่ได้ยินว่าหญิงงามนั้นทํากาละในระหว่างทาง แม้ภัตข้าพระองค์ก็ไม่ประสงค์ พระบรมศาสดาตรัสถามว่า ความโศกที่เกิดขึ้นแก่เธอเพราะอาศัยอะไรอนิตถิคันธะทูลตอบว่า ไม่ทราบขอรับ พระพุทธองค์จึงตรัสว่า อนิตถิคันธะ ความโศกมีกําลังเกิดขึ้นแก่เธอ เพราะอาศัยกาม ความโศกก็ดี ภัยก็ดี ย่อมเกิดขึ้นเพราะอาศัยกาม ความโศก และภัยย่อมไม่มีแก่บุคคลผู้สิ้นอาสวะแล้ว ในกาลจบเทศนาอนิตติคันธะตั้งอยู่แล้วในโสดาปัตติผล
โทษของความยินดีในกลิ่น
** อุปสงฆบุปผชาดกที่ ๗ ข้อ ๙๔๔-๙๕๐ กล่าวโทษของการยินดีในกลิ่นว่า สมัยพุทธกาล ภิกษุรูปหนึ่ง เจริญสมณธรรมอยู่ในป่า ลงไปในสระบัวสูดดมดอกบัวที่บานอยู่ในสระนั้น เทวดาที่สถิต อยู่ในราวป่านั้น ปรารถนาจะเตือนให้ท่านเกิดความสลดใจ ได้กล่าวกับท่านว่า การที่ท่านสูดดมกลิ่นดอกบัวที่เขาไม่อนุญาตเช่นนี้ เป็นลักษณะของการขโมย เพราะฉะนั้นท่านชื่อว่าเป็นผู้ขโมยกลิ่น
ภิกษุรูปนั้นฟังคําของเทวดาแล้วคิดว่า ก็ดอกบัวนั้นเกิดเองอยู่ในสระไม่มีเจ้าของหวงแหน เหตุไรจึงชื่อว่าเป็นขโมยท่านจึงตอบเทวดาว่า เราไม่ได้นําเอาดอกบัวไป ทั้งไม่ได้บริโภค เราเพียงแต่ดมกลิ่นของดอกบัวเท่านั้น เหตุไรท่านจึงว่าเราเป็นผู้ขโมยกลิ่นเล่า
ขณะที่ท่านกําลังพูดกับเทวดาอยู่นั้น ก็มีบุรุษผู้หนึ่งมาขุดเอาเหง้าบัวและเด็ดดอกบัวถือไป ท่านจึงพูดกับเทวดาว่า ก็บุรุษคนนั้นทํากรรมที่ไม่สมควร เหตุไรท่านจึงไม่ตําหนิบุรุษนั้น เราเพียงสูดดมกลิ่นของดอกบัว ท่านกลับกล่าวว่าเราเป็นขโมย เทวดาตอบว่า คนที่หยาบช้าโหดร้าย แปดเปื้อนไปด้วยบาป เราไม่ปรารถนาจะไปว่ากล่าวเขา แต่สําหรับท่านเป็นผู้แสวงหาความ สะอาดอยู่เป็นนิจ ควรเห็นความผิดบาปแม้เพียงเล็กน้อย แม้เท่าปลาย ขนทราย ว่าใหญ่โตเหมือนก้อนเมฆใหญ่ เราจึงปรารถนาที่จะให้ท่านได้สังวรสํารวม
ภิกษุรูปนั้นฟังคําของเทวดาแล้วสลดใจ ขอบคุณเทวด พร้อมทั้งขอให้เทวดาตักเตือนท่านอีกเมื่อเห็นท่านทําผิด เทวดากล่าวว่า ท่านควรจะรู้กิจที่ควรกระทําด้วยตนเอง กรรมใดเป็นเหตุให้ไปสุคติ ท่านพึงกระทํากรรมนั้น ภิกษุฟังคําของเทวดาแล้ว เป็นผู้สํารวมระวัง ในอินทรีย์ทั้งหลายยิ่งขึ้น
ภิกษุเมื่อกลับจากป่า ได้เข้าไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์ตรัสว่า ท่านมิได้เคยถูกเทวดาตักเตือนแต่ในชาตินี้เท่านั้น แม้ในอดีต ครั้งที่บวชเป็นฤาษีอยู่ในป่า ท่านก็เคยไปสูดดมดอกบัวในสระและถูกเทวดาตักเตือนเช่นเดียวกันนี้ ทําให้เห็นได้ว่าความยินดีพอใจในกลิ่น แม้จะเพียงติดในกลิ่นของดอกบัว ก็ยังเป็นเหตุให้เกิดสืบต่อกันมานานแสนนาน แม้ในชาติที่ได้พบพระพุทธเจ้าแล้ว ก็ยังกระทำกรรมนี้ คือสูดดมดอกบัวเหมือนที่เคยทํามาแล้วในอดีตชาติ ต่อมา ตั้งใจบําเพ็ญกสิณ จนได้ฌานสมาบัติ จุติแล้วไปบังเกิดในพรหมโลก
โทษความยินดีในรส
** ธรรมบทแปลภาค ๗ หน้า ๑๙๒-๑๙๓ กล่าวโทษของ ความยินดีพอใจในรส ความว่า ขณะที่พระบรมศาสดาประทับที่กรุงเวสาลี ทรงปรารภกับเหล่าภิกษุผู้อยู่ที่ฝั่งแม่น้ำชื่อวัคคุมุทา ทรงติเตียนภิกษุที่ติดในรส เห็นแก่ปากท้อง ตรัสถามภิกษุเหล่านั้นว่า พวกเธอพากันกล่าวคุณแห่งอุตตริมนุสสธรรมของกันและกัน ให้แก่คฤหัสถ์เพื่อประโยชน์แห่งท้องหรือ ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า เป็นดังนั้น พระเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ก้อนเหล็กอันร้อนประหนึ่งเปลวไฟ ภิกษุบริโภคยังดีกว่าภิกษุผู้ทุศีล ไม่สํารวม บริโภคก้อนข้าวของชาวแว่นแคว้นด้วยเหตุแห่งปากท้อง เพราะเหตุว่า ภิกษุผู้บริโภคก้อนเหล็กที่ร้อนประหนึ่งเปลวไฟ ก็ในอัตภาพเดียวคือในชีวิตนี้เท่านั้น แต่ภิกษุผู้ทุศีลบริโภคก้อนข้าวที่ชาวบ้านถวายด้วยศรัทธา บาปกรรมนั้นพึงไหม้ ในนรกตั้งหลายร้อยชาติ
** ธรรมบทแปล ภาค ๗ อีกเรื่องหนึ่ง หน้า ๒๒๘-๒๓๐ สมัยหนึ่งพระเจ้าปเสนทิโกศล เสวยพระกระยาหารเช้าแล้ว ยังไม่ทรงบรรเทาความเมาในภัต ได้เสด็จไปเฝ้าพระบรมศาสดา ถวายบังคมแล้ว ประทับนั่งพลิกไปข้างโน้นข้างนี้ด้วยความอึดอัดพระวรกาย และถูกความง่วงครอบงำ ไม่สามารถจะประทับเฉพาะพระพักตร์ ได้หลีกไปประทับนั่ง ณ ที่สุดข้างหนึ่ง พระบรมศาสดาตรัสถามว่า มหาบพิตรพระองค์ยังมิได้ทรงพักผ่อนเสด็จมา พระราชาทูลว่า ถูกแล้วพระเจ้าข้า ตั้งแต่กาลที่บริโภคแล้ว หม่อมฉันมีทุกข์มาก
พระบรมศาสดาตรัสว่า มหาบพิตร คนติดในรส บริโภคมากเกินไป ย่อมมีทุกข์อย่างนี้ แล้วตรัสพระคาถาว่าในกาลใด บุคคลเป็นผู้ติดในรส กินมาก
ย่อมมีอาการอึดอัด กระสับกระส่าย และง่วง
เปรียบเหมือนสุกร ที่ถูกปรนปรือด้วยอาหาร
ย่อมล้มตัวลงนอน ณ รางอาหารนั้นเอง
อรรถกถาขยายความว่า บุคคลที่กินจุ มักเกิดอาการง่วงงุน ครั้นลงนอนก็ไม่หลับ พลิกกลับไปกลับมาด้วยความอึดอัด ขณะนั้นย่อมมิอาจเพื่อมนสิการพระไตรลักษณ์ ก็เพราะไม่มนสิการธรรมทั้งหลายจึง ชื่อว่าเป็นผู้มีปัญญาทึบ เปรียบเหมือนสุกรที่ถูกขุนจนอ้วนพี ย่อมนอนกลิ้งอยู่ข้างรางอาหาร เพราะลุกไม่ไหว ฉะนั้น
ในกาลจบเทศนา พระบรมศาสดาทรงแนะนําพระราชาว่า
บุคคลผู้มีสติทุกเมื่อ รู้จักประมาณในโภชนะที่ได้ย่อมมีโรคภัยไข้เจ็บน้อย แก่ช้า และมีอายุยืน
แล้วทรงโปรดให้อุตตรมาณพ ผู้เป็นหลานชายของพระเจ้าปเสนทิโกศลเรียนคาถาบทนี้ไว้ รับสั่งว่าเธอพึงกล่าวคาถานี้ในเวลาที่ พระราชาเสวยทุกครั้ง จึงให้พระราชาลดพระกระยาหารลงด้วยอุบายนี้ พึงระทําตามพระดํารัสของพระผู้มีพระภาคเจ้าอย่างเคร่งครัด ในเวลาต่อมา พระราชาทรงกระปรี้กระเปร่า มีพระสรีระเบา ทรงถึงความสําราญ เพราะความที่ลดพระกระยาหารลงได้ ครั้งแล้ว พระราชาทรงถวายอสทิสทานให้เป็นไป ๗ วัน มหาชนที่มาประชุมกัน ณ ที่นั้น ได้บรรลุคุณวิเศษมากมาย
โทษของความยินดีในโผฏฐัพพะ
** ขุททกนิกาย เถรีคาถา เล่ม ๒/๔ หน้า ๔๕๓-๔๖๖ เรื่อง พระอิสิทาสีเถรี กล่าวถึงโทษของกาม การติดในโผฏฐัพพะ ติดอยู่ในกามคุณ คือการเสพอสัทธรรม ความว่าในอดีตชาติ นับถอยหลังไป ๗ ชาติ ท่านเกิดเป็นช่างทอง ได้เป็นชู้กับภรรยาของผู้อื่น ต้องตกนรก อยู่หลายแสนปี พ้นจากนรกมาเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานอยู่ ๓ ชาติ คือเกิด เป็นวานร พอเกิดได้ ๗ วัน ก็ถูกวานรหัวหน้าฝูงกัดอวัยวะเพศ
ครั้นตายไป เกิดเป็นลูกของแม่แพะตาบอดขาเสีย ในแคว้นสินธพ พออายุ ๑ ปีก็ถูกหนอนชอนไชอวัยวะเพศให้เสียไป ตายจากกําเนิดแพะมาเกิดเป็นโค อายุได้ ๑ ปีก็ถูกตอน และถูกเทียมไถทํางานหนัก ต่อมาตาบอดและขาพิการ พ้นจากกําเนิดสัตว์เดรัจฉานมาเกิดเป็นลูกของนางทาสี แต่เป็นกระเทย ต่อมาเกิดเป็นลูกสาวของช่างจักสานที่ยากจน มีหนี้สินมาก พ่อค้าเกวียนมาฉุดเอาไปเป็นการใช้หนี้ตั้งแต่ อายุยังน้อย ครั้นอายุ ๑๖ ปี ก็ตกเป็นภรรยาน้อยของลูกพ่อค้าเกวียน ชื่อคิริทาสเมื่อเป็นภรรยาของนายคิริทาสก็ได้ริษยาภรรยาหลวงซึ่งเป็น คนดีมีศีลธรรม คนทั้งหลายพากันเกลียดชัง ทั้งที่นางปรนนิบัติสามีเยี่ยง ทาสีภรรยา ในชาติสุดท้ายเกิดเป็นธิดาของเศรษฐีเมืองอุชเชนี เป็นที่รักใคร่โปรดปรานของบิดา ต่อมาได้เป็นสะใภ้ของเศรษฐี เมืองสาเกต นางได้ปรนนิบัติพ่อแม่สามี พี่น้อง และบริวารของสามีด้วยดี แต่แม้กระนั้นสามีก็ไม่ต้องการ จําต้องกลับไปอยู่กับบิดามารดาของตน
ต่อมาเศรษฐียกนางให้ลูกเศรษฐี รายนี้ก็ถูกขับไล่กลับมาอีก บิดาจึงขอร้องชายขอทานคนหนึ่งให้เลิกขอทาน แล้วให้มาเป็นสามีของนาง แม้เป็นสามีได้เพียงครึ่งเดือนก็บอกบิดานางว่า ขอกลับไปเป็นขอทานดังเดิม ไม่ขออยู่ร่วมบ้านกับนาง เมื่อถูกชายขอทานทอดทิ้ง นางจึงคิดว่าควรตาย หรือไม่ก็จะออกบวช
ครั้งนั้นพระชินทัตตาเถรีผู้ทรงพระวินัย เป็นพหูสูต สมบูรณ์ด้วยศีล ได้มาบิณฑบาตที่เรือนของบิดา นางได้จัดแจงเสนาสนะแล้วนำอาหารมาถวาย ครั้นพระเถรีฉันเสร็จแล้ว นางจึงกราบเท้าพระเถรีขอบวช นางได้กราบลาบิดามารดาและหมู่ญาติออกบวช เพียง ๗ วันก็ได้ บรรลุเป็นพระอรหันต์พร้อมด้วยวิชชา ๓ ท่านพิจารณาเห็นกรรมในอดีต จึงเล่าความเป็นมาในอดีต ๗ ชาติให้พระโพธิเถรีฟังดังที่กล่าวมา
กามทั้งหลายที่เนื่องด้วยสัมผัสจึงเป็นเรื่องใหญ่ กรรมที่เป็นชู้กับภรรยาผู้อื่นเพียงชาติเดียว ได้ให้โทษแก่ พระอิสิทาสีเถรีอย่างทารุณ ร้ายกาจแสนสาหัส มีผลเผ็ดร้อนยิ่งนัก หากท่านมิได้เห็นโทษแล้วออกบวช ก็ไม่ทราบว่ากรรมนี้จะติดตามท่านไปอีกนานเท่าใด
** อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต หน้า ๓๗๒-๓๗๕ อีกเรื่องหนึ่ง ความว่า บุรุษผู้หนึ่งประพฤติมิจฉาจารต่อภรรยาของพี่ชาย บุรุษนั้นได้เป็นที่รักของหญิงยิ่งกว่าสามีของตน นางได้พูดกับบุรุษนั้นว่าเมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ ข้อครหาอย่างใหญ่หลวงจักมีขึ้น ท่านจงฆ่าพี่ชายของท่านเสีย บุรุษนั้นไม่ยอมแต่ก็เกิดความลังเล นางรบเร้าอีกถึง ๓ ครั้ง จึงตัดสินใจ นางได้บอกอุบายว่า ใกล้บ้านมีท่านอยู่ท่านจงถือมีดอันคม ไปดักอยู่ ฝ่ายพี่ชายทํางานในป่าเสร็จก็กลับบ้าน นางก็ทําเป็นเอาใจ พูดว่า ศีรษะของนายสกปรก จากนั้น นางส่งผลมะคําดีควายให้ แล้วสั่งว่า ท่านจงไปล้างศีรษะ ที่ท่าน้ำใกล้บ้านเถิด
บุรุษนั้นเดินไปสู่ท่านตามที่นางบอก สระผมด้วยฟองของผลมะคําดีควายลงอาบน้ำเสร็จแล้ว จะกลับบ้าน ขณะนั้นน้องชายออกมาจากระหว่างต้นไม้ที่ซ่อนตัวอยู่ ฟันพี่ชายที่ต้นคอถึงแก่ความตายทันที
พี่ชายมีความรักผูกพันในภรรยา ได้ไปเกิดเป็นงูเขียวใหญ่ในเรือนหลังนั้น เมื่อนางจะยืนก็ตาม จะนั่งก็ตาม งูเขียวนั้นจะตกลงมา ที่ตัวของนาง ต่อมา นางให้ฆ่างูนั้นด้วยเข้าใจว่าเป็นสามีเก่าของตน แต่เพราะจิตที่ยังผูกพันอยู่กับนาง งูนั้นได้มาเกิดเป็นสุนัขในเรือนนี้อีก แต่เวลาที่เดินได้ สุนัขตัวนี้จะวิ่งตามหลังนางไปทุกหนทุกแห่ง แม้แต่ในเวลาที่เข้าป่า ก็จะติดตามไปด้วยเสมอ ชนทั้งหลายเห็นแล้วพูดเย้ยหยันว่า พรานสุนัขออกมาแล้ว จักไปไหนกัน นางจึงสั่งให้ฆ่าสุนัขนั้น เพื่อสุนัขตายแล้ว ก็ยังมาเกิดเป็นลูกวัวในเรือนหลังนี้อีก ด้วยความผูกพัน ลูกวัวนั้นได้เดินตามหลัง และถูกชาวบ้านเย้ยหยันดังสุนัขนั้น นางจึงสั่งให้ฆ่าลูกวัวนั้นอีก ณ ที่ตรงนั้น
ในวาระที่ ๔ บุรุษผู้พี่ชายมิอาจสละความสิเนหาในตัวภรรยา ได้มาเกิดในท้องของนาง แล้วระลึกชาติได้ว่าเราถูกนางฆ่ามาถึง ๓ อัตภาพแล้ว นับแต่นั้นมาก็ไม่ยอมให้นางถูกต้องตัวได้ เมื่อนางจะอุ้มก็ร้องไห้สะอึกสะอื้น ผู้เป็นตาเท่านั้นจะอุ้มชูได้ ตามีความสงสัยเมื่อรู้ความ ตาจึงถามว่าเพราะเหตุใด หลานได้เล่าความเป็นไปทั้งหมดแก่ตา (เพราะระลึกชาติได้) ผู้เป็นตาทราบเรื่องทั้งหมดแล้วร้องไห้ บอกหลานว่า เหตุใดพวกเราจึงต้องอาศัยหญิงใจร้ายนี้ แล้วพาหลานออกจากบ้านไป สู่วิหารแห่งหนึ่ง สองตาหลานพากันบวชอยู่ในวิหารนั้น ต่อมาได้บรรลุพระอรหัตทั้งสองคน
ในเรื่องนี้ท่านแสดงให้เห็นโทษของกาม ซึ่งมีโทษสองสถาน คือ ด้วยอํานาจของ โลกวัชชะ ๑ ด้วยอํานาจของ วิปากวัชชะ ๑
โลกวัชชะ โลกติเตียน ผู้ที่ถูกอกุศลทั้งหลายครอบงำ ย่อมประพฤติผิดในบิดามารดา ในพี่ชายน้องชาย ในพี่สาวน้องสาว หรือในบรรพชิต เป็นต้น ในที่ทุกแห่งที่ผ่านไป เขาย่อมได้รับคําครหา อย่างใหญ่หลวง อันเป็นผลที่ได้รับในปัจจุบัน
วิปากวัชชะ ผลที่ได้รับในภพหน้า ผู้ที่ถูกอกุศลทั้งหลายครอบงำ ย่อมเสวยทุกข์ในอบาย มีนรก เปรต อสุรกาย เดรัจฉาน อย่างใดอย่างหนึ่ง ตามกรรมที่ได้กระทําไว้ ท่านกล่าวว่า
ผู้ที่ถูกราคะครอบงำ จักไปเกิดเป็นเปรต หรืออสูรกายผู้ที่ถูกโทสะครอบงำ จักไปเกิดในนรก
ผู้ที่ถูกโมหะครอบงำ จักไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน
ราคะ คนที่ถูกราคะครอบงำ ย่อมประพฤติผิดในมารดาบิดาก็ได้ ในพี่น้องก็ได้ ในบรรพชิตก็ได้ ยากที่จะคลาย ไม่หลุดพ้นไปเร็ว จะติดตามอยู่นานเสมือนเรื่องที่กล่าวข้างต้น แม้จะไปอยู่ในภพอื่นอีกหลายภพ ก็ยังไม่จางไปด้วยความผูกพันที่สลัดออกได้ยาก
โทสะ คนที่ถูกโทสะครอบงำ ย่อมประพฤติผิดในมารดาบิดาบ้าง บรรพชิตบ้างเจดีย์บ้าง โพธิพฤกษ์บ้าง ในที่ทุกแห่งที่ผ่านไปเขาจะได้รับคําครหาอย่างใหญ่หลวงอันโลกติเตียน และจักได้เสวยผลในนรก ตลอดกัป เพราะอนันตริยกรรมที่ทําไว้ด้วยอํานาจของโทสะ ท่านจึงกล่าวว่า โทสะมีโทษมากด้วยความที่เป็นวิปากวัชชะ แต่โทสะนั้นคลาย เร็ว และเมื่อเขาขอโทษว่าขอท่านทั้งหลายจงอดโทษให้แก่ข้าพเจ้า พร้อมด้วยการขอขมาของเขา กรรมนั้นจะกลับกลายเป็นปกติไปทันที
โมหะ คนที่หลงเพราะโมหะครอบงำ กรรมที่ทําไว้จะค่อย ๆ คลายไป เสมือนหนึ่งผ้าเปื้อนยางไม้ แม้จะซักหลายครั้งก็ยังไม่สะอาดได้ ฉันใด กรรมที่ผู้หลงทําลงไปเพราะโมหะครอบงํา ก็จะไม่พ้นไปได้อย่าง รวดเร็ว ฉันนั้น
บุคคลทั้งหลาย เมื่อเกิดความเพลิดเพลินในวัตถุกาม และ กิเลสกามเหล่านี้แล้ว ย่อมเกิดความติดใจ ยึดมั่นในกามนั้นกลาย อุปาทาน เพราะอุปาทานเป็นปัจจัยจึงมีภพ เพราะภพเป็นปัจจัยจึงมีชาติ คือความเกิด เพราะชาติเป็นปัจจัยจึงมีชรามรณะ ความโศก ความคร่ำครวญ ความทุกข์ ความผิดหวัง ความคับแค้น ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นมีได้ด้วยกามคุณ นี้คือโทษของกามคุณทั้งหลาย
ท่านเปรียบกามเสมือนหลุมถ่านเพลิงอันร้อนแรง ผู้ที่รักชีวิตทั้งที่รู้ว่าตกลงไปแล้ว ไม่ตายก็ต้องเจ็บสาหัส แม้ไม่อยากจะตกลงไป แต่ก็ยังมีอํานาจของกามคอยฉุดดึงให้เข้าไปสู่ปากหลุมนั้นอยู่เรื่อย ๆ ผู้บริโภคกามสุขย่อมถูกคุกคามด้วยความเพลิดเพลิน ผู้ใดลุ่มหลง มัวเมามาก ย่อมต้องตกลงในหลุมถ่านเพลิงนั้นแน่นอน
** ขุททกนิกาย อุทาน ปฐมกามสูตร หน้า ๖๖๔-๖๗๑ พระพุทธองค์ตรัสว่า สัตว์ผู้ติดข้องอยู่ในกามเป็นภาวะที่เปลื้องออกได้ยาก มีเรื่องเล่าว่า สมัยนั้นภิกษุทั้งหลายเข้าไปบิณฑบาตในกรุงสาวัตถี เห็นชนทั้งหลายในเรือนนั้น ๆ และในสวนอันเป็นที่รื่นรมย์ เป็นต้น พากันโฆษณา เล่นมหรสพ กิน ดื่ม มีจิตน้อมไปในการบริโภคกามทั้งในที่แจ้งทั้งในที่ลับ ไม่กระทํากิจอย่างอื่น ถึงความหมกมุ่น งมงายอยู่ด้วย กิเลสกามทั้งหลาย
ภิกษุกลับจากบิณฑบาต ภายหลังภัตแล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ กราบทูลความนั้นให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาคเจ้าทราบความแล้ว ทรงประกาศโทษแห่งกามและกิเลสว่า สัตว์ทั้งหลายข้องแล้วในกาม ไม่มีกิจอย่างอื่น หมกมุ่นงมงาย อยู่ด้วยอํานาจกิเลส พรั่งพร้อมด้วยกามคุณในทุกอิริยาบถ ไม่เห็นโทษ ในกามทั้งหลายที่น่ากลัว มีผลเผ็ดร้อน มีความเร่าร้อนมาก อันความพินาศติดตามผูกพัน ติดข้องอยู่ในวัตถุกามและกิเลสกาม คือ กามราคะ ทิฏฐิ มานะ โทสะ และอวิชชา ย่อมข้ามพ้นจากโอฆะไม่ได้
ขณะที่พระบรมศาสดาเสด็จออกจากกรุงสาวัตถี ไปยังพระเชตวันวิหาร ระหว่างทางทอดพระเนตรเห็นปลาเป็น จํานวนมาก แออัดกันเข้าไปสู่ไซ (เครื่องมือดักปลา) ที่พวกชาวประมงดักไว้ ในแม่น้ำอจิรวดี เสด็จดําเนินต่อมา เห็นลูกโคที่ยังไม่หย่านมร้องติดตามแม่โค ยื่นคอเข้าไปเพื่อดื่มน้ำนม น้อมปากเข้าไปในระหว่างขาแม่โค พระองค์จึงทรงยกเรื่องที่ทอดพระเนตรเห็นนั้น เข้ามาเป็นข้ออุปมาในเรื่องของชนชาวสาวัตถีที่ข้องอยู่ในกาม ทรงเปล่งอุทานว่า
สัตว์ทั้งหลายผู้มืดมนเพราะกาม ถูกตัณหาซึ่งเป็นดุจข่ายปก คลุมไว้แล้ว ถูกเครื่องมุงคือตัณหาปกปิดไว้แล้ว ถูกกิเลสและเทวบุตร มารผูกพันไว้แล้ว ย่อมนําไปสู่ชราและมรณะ เหมือนปลาในไซ หรือ เหมือนลูกโคที่ยังไม่หย่านม ติดตามแม่โคไป ฉะนั้น
อธิบายว่า เหมือนโครุ่นที่ยังไม่หย่านม ย่อมติดตามแม่ของตนเท่านั้น ไม่ติดตามโคตัวอื่น ฉันใด สัตว์ที่ผูกพันไว้ด้วยเครื่องผูกคือกาม ก็ฉันนั้น เมื่อหมุนเวียนไปในสังสารวัฏ ย่อมตามไปสู่มรณะถ่ายเดียว
กาม นอกจากจะเกิดขึ้นในตน สร้างความทุกข์ทรมานให้แก่ตนเองแล้ว ความลุ่มหลงมัวเมานั้น ก็ยังก่อให้เกิดความทุกข์ความพินาศแก่ครอบครัว ญาติพี่น้อง ตลอดจนชาติบ้านเมืองได้อีก
ทุกข์ในการแสวงหา วัตถุกามเพื่อให้ได้มาครอบครอง ต้องต่อสู้อดทนต่อความเหนื่อยยาก ความลําบากเดือดร้อนแสนสาหัส บางครั้งถึงขั้นเอาชีวิตเข้าแลก
ทุกข์ในการรักษา บางครั้งได้มาแล้วก็ต้องระมัดระวัง ปกป้อง ด้วยเกรงจะสูญเสีย กลัวจะถูกแย่งชิง ถูกโกง ถูกโจรปล้น ถูกไฟไหม้ ถูกภัยธรรมชาติทําลาย เป็นต้น บางครั้งก็เป็นชนวนให้เกิดการทะเลาะวิวาท ด้วยความโลภ ความอิจฉาริษยา
โทษของกาม
** มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ หน้า ๑๓๗ มหาทุกขักขันธสูตรและจูฬทุกขักขันธสูตร ตรัสโทษของกามทั้งหลายว่า ขณะที่พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ นิโครธาราม เจ้าศากยะทรงพระนามว่ามหานามเข้าไปเฝ้า กราบทูลว่า ข้าพระองค์เข้าใจ ว่าโลภะ โทสะ โมหะเป็นอุปกิเลสแห่งจิต แต่ธรรมเหล่านี้ก็ยังครอบงำจิตข้าพระองค์อยู่เป็นครั้งคราว ข้าพระองค์ใคร่ทราบว่าธรรมชื่อใด ที่ข้าพระองค์ยังละไม่ได้ ซึ่งยังเป็นเหตุให้โลภะ โทสะ โมหะยังครอบงำ จิตของข้าพระองค์อยู่ในกาลบางคราว
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า มหานาม ตราบใดที่ท่านยังอยู่ ครองเรือน ยังบริโภคกาม ย่อมไม่มีทางที่จะละธรรมเหล่านั้นได้โดยเด็ดขาด แล้วทรงตรัสโทษของกามทั้งหลายว่า
ดูก่อน มหานาม กุลบุตรในโลกนี้ เลี้ยงชีวิตด้วยความขยันไม่ว่าจะมีอาชีพอย่างหนึ่งอย่างใด ต้องตรากตรําต่อความหนาว ความร้อน กระวนกระวายอยู่ด้วยสัมผัสเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลาน ต้องตายด้วยความหิวกระหาย นี้เป็นโทษของกามทั้งหลาย
ดูก่อน มหานาม กุลบุตรนั้นแม้จะขยัน มีความพยายามอยู่ หากโภคะอันเป็นสิ่งที่ปรารถนานั้นไม่สําเร็จผล เขาย่อมเศร้าโศก รำพัน คร่ำครวญว่า ความขยันของเราไม่มีผล นี้ก็เป็นโทษของกามทั้งหลาย
ดูก่อน มหานาม กุลบุตรเมื่อขยันอยู่อย่างนั้น โภคะเหล่านั้นสําเร็จผล เขากลับเสวยทุกข์โทมนัส ที่ต้องคอยระวังรักษาโภคะเหล่านั้น จากโจรลัก จากไฟไหม้ จากน้ำพัดพาไป เป็นต้น หากต้องสูญเสียไปด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง เขาย่อมเศร้าโศก คร่ำครวญว่า สิ่งที่เคยเป็นของเรา บัดนี้มีอันสลายไปมิใช่ของเราเสียแล้ว นี้ก็เป็นโทษของกามทั้งหลาย
ดูก่อน มหานาม อีกประการหนึ่ง พวกกษัตริย์ก็วิวาทกับพวกกษัตริย์ พวกพราหมณ์ก็วิวาทกับพวกพราหมณ์ พวกคหบดีก็วิวาทกับพวกคหบดี ชนในครอบครัวก็ทะเลาะแก่งแย่งวิวาทกัน ทําร้ายซึ่งกันและกันด้วยฝ่ามือบ้าง ก้อนดินบ้าง ท่อนไม้บ้าง ศาสตราบ้าง จนถึงแก่ความตายหรือทุกข์ปางตาย เป็นกองทุกข์ที่เห็นกันอยู่ อันมีกามเป็นเหตุ นี้ก็เป็นโทษของกามทั้งหลาย
ดูก่อน มหานาม อย่างอื่นยังมีอีก ฝูงชนต่างถือศรดาบและโล่ วิ่งเข้าสู่สงครามปะทะกันทั้ง ๒ ฝ่ายถูกยิงด้วยลูกศรบ้าง ถูกหอกแทงบ้าง ถูกดาบตัดศีรษะบ้าง พากันถึงแก่ความตาย หรือถึงทุกข์ปางตาย หรือพวกโจรทั้งหลายที่ถูกลงทัณฑ์วิธีต่าง ๆ เช่นพระราชาสั่งให้เฆี่ยน ด้วยหวายบ้าง ด้วยแส้บ้าง รดด้วยน้ำมันที่ร้อนบ้าง ให้สุนัขกัดกินบ้าง ถูกเสียบหลาวทั้งเป็นบ้างถูกดาบตัดศีรษะบ้าง เป็นต้น เหล่านี้เกิดเพราะ เหตุแห่งกามทั้งหลาย นี้ก็เป็นโทษของกามทั้งหลาย
ดูก่อน มหานาม อีกประการหนึ่ง ฝูงชนที่ประพฤติกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ครั้นกระทํากาละแล้ว ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เป็นกองทุกข์ในภพหน้า เพราะมีกามทั้งหลายเป็นต้นเหตุ เหล่านี้ก็เป็นโทษของกามทั้งหลายทั้งนั้น
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสโทษของกาม แก่เจ้าศากยะมหานาม โดยประการต่าง ๆ แล้ว จึงตรัสความสลัดออกจากกามว่า การกําจัด ฉันทราคะในกามทั้งหลาย คือรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นต้น ชื่อว่า การสลัดออกจากกามทั้งหลาย
ดูก่อน มหานาม เมื่อครั้งเราเป็นโพธิสัตว์ ยังมิได้ตรัสรู้ เราพิจารณาเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงว่า กามให้ความยินดีน้อยมีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก โทษของกามนี้ยิ่งนัก เราจึงเว้นจากกาม เว้นจากอกุศลธรรม บรรลุปีติและสุข เจริญกุศลอื่นที่สงบกว่านั้น เป็นผู้ไม่เวียนมาในกามทั้งหลายอีก
ดูก่อน มหานาม ก็รูปที่รู้แจ้งด้วยจักษุ... เสียงที่รู้แจ้งด้วย..โสตะ กลิ่นที่รู้แจ้งด้วยฆานะ....รสที่รู้แจ้งด้วยชิวหา โผฏฐัพพะที่รู้แจ้ง ด้วยกายอันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจอันเป็นที่ตั้งแห่งความกําหนัด ท่านย่อมกําหนดรู้กามที่กําลังเกิดขึ้นตามความเป็นจริง ย่อมรู้ชัดในโทษของกาม เมื่อรู้ชัดแล้วย่อมเบื่อหน่าย เมื่อเบื่อหน่ายย่อมคลายกําหนัด เมื่อคลายกําหนัดย่อมหลุดพ้น นี้เป็นทางสลัดออกจากกามทั้งหลาย
เพราะเหตุนี้ ท่านพึง รู้ชัดในความน่ายินดีของกามทั้งหลาย รู้ชัดในโทษของกามทั้งหลาย รู้ชัดในการสลัดออกจากกามทั้งหลาย อุปกิเลสเหล่านั้นจึงจะไม่ครอบงำจิตของท่านได้อีกต่อไป
** มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒/๑ มาคัณฑิยสูตร หน้า ๔๘๖-๕๐๑ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกับ มาคัณฑิยปริพาชก ด้วยเรื่องของกามคุณว่า ดูก่อน มาคัณฑิยะ ตา มีรูปเป็นที่มายินดี..หู มีเสียงเป็นที่มายินดี...จมูก มีกลิ่นเป็นที่มายินดี..ลิ้น มีรสเป็นที่มายินดี..กาย มีโผฏฐัพพะเป็นที่มายินดี..ใจ มีธรรมารมณ์เป็นที่มายินดี
คนบางคนในโลกนี้ เป็นผู้เคยได้รับบำเรอด้วยกามคุณที่สัตว์ ทั้งหลายปรารถนา น่ารักใคร่ น่าชอบใจ อันเป็นที่ตั้งแห่งความกําหนัด สมัยต่อมา บุคคลนั้นรู้ความเกิด ความดับ คุณ โทษ และอุบายอันเป็นเครื่องสลัดออกแห่งรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์ได้ ตามความเป็นจริง แล้วละตัณหาในรูป บรรเทาความเร่าร้อนอันเกิดจากการปรารภรูป เป็นต้น เป็นผู้ปราศจากความกระหาย มีจิตสงบใน ภายในอยู่ท่านจะพึงกล่าวว่าพระสมณโคดม เป็นผู้กําจัด ความเจริญ แก่ชนเหล่านั้นหรือ มาคัณฑิยะทูลตอบว่า ข้าพเจ้าไม่พึงว่าเช่นนั้น
ดูก่อน มาคัณฑิยะ ในครั้งก่อนเราเป็นคฤหัสถ์ผู้ครองเรือน เพียบพร้อมด้วยกามคุณทั้งหลายปราสาทของเรามี ๓ แห่ง คือเป็น ปราสาทที่อยู่ในฤดูฝน ฤดูหนาว และฤดูร้อน เราได้รับบําเรอด้วยดนตรี ล้วนแต่สตรีไม่มีบุรุษเจือปน ในปราสาทอันเป็นที่อยู่ในฤดูฝนตลอด ๔ เดือน ไม่ได้ลงมาภายใต้ปราสาทเลย
สมัยต่อมา เราได้รู้ความเกิด ความดับ รู้คุณ รู้โทษ และรู้ถึงอุบายอันเป็นเครื่องสลัดออกแห่งกามทั้งหลาย ตามความเป็นจริง แล้วละตัณหาในกาม บรรเทาความเร่าร้อนที่เกิดขึ้นเพราะปรารภกาม เป็นผู้ปราศจากความกระหายในกาม มีจิตสงบในภายในอยู่
เมื่อเราเห็นหมู่สัตว์อื่น ผู้ยังไม่ปราศจากความกําหนัดในกาม ถูกกามตัณหาเกี่ยวกินอยู่ ถูกความเร่าร้อนที่เกิดขึ้นเพราะปรารภกาม แผดเผาอยู่ มัวเมาเสพกามอยู่ เราย่อมไม่ใส่ใจต่อสัตว์เหล่านั้น ไม่ยินดีในกามนั้น ข้อนั้นเพราะเรายินดีที่เว้นจากกาม เว้นจากอกุศลธรรมอยู่ จึงไม่ใส่ใจต่อธรรมอันเลว ไม่ยินดีในธรรมอันเลวนั้น
ดูก่อน มาคัณฑิยะ เปรียบเหมือนบุรุษโรคเรื้อน มีกายเป็น แผลอันกิมิชาติ (หนอน) บ่อนไซอยู่ เกาปากแผลอยู่ด้วยเล็บ ย่างกายให้ร้อนที่หลุมถ่านเพลิง มิตรอํามาตย์ญาติสาโลหิตของเขา หาแพทย์ผู้ชํานาญทํายารักษาให้บุรุษนั้นอาศัยยาที่แพทย์ผู้ชํานาญรักษา ได้หายจากโรคนั้น มีความสุข ไม่เป็นทุกข์ด้วยโรคเรื้อนอีก ต่อมาบุรุษนั้น ได้เห็นบุรุษอื่นเป็นโรคเรื้อนอย่างที่ตนเคยเป็น ท่านคิดว่าบุรุษนนั้น จะสนใจต่อยา และหลุมถ่านเพลิงอีกหรือไม่ มาคัณฑิยะทูลตอบว่า บุรุษนั้นเมื่อไม่มีโรคแล้วกิจที่ควรทําด้วยยาหรือหลุมถ่านเพลิงย่อมไม่มี
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า มาคัณฑิยะ กามทั้งหลายก็ฉันนั้น แม้ในอดีตกาล อนาคตกาล หรือปัจจุบัน กามทั้งหลายก็มีสัมผัสเป็นทุกข์ มีความเร่าร้อนมาก เหล่าสัตว์ที่ยังไม่ปราศจากความกําหนัดในกาม ถูกกามตัณหาเกี่ยวกินอยู่ ถูกความเร่าร้อนเกิดขึ้นเพราะปรารภกามแผดเผาอยู่ เมื่อยังไม่รู้ถึงโทษของกาม กลับมีความสําคัญผิดในกามอันมีสัมผัสเป็นทุกข์ ว่าเป็นความสุข
มาคัณฑิยะ บุรุษผู้บริโภคกามเปรียบเหมือนคนตาบอดมาแต่กําเนิด เขาไม่เคยได้เห็นรูปว่าเป็นสีดําหรือสีเขียว ไม่ได้เห็นพื้นที่อันเสมอและไม่เสมอ ไม่ได้เห็นหมู่ดาว ไม่ได้เห็นดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ หากมีบุรุษอื่นลวงเอาผ้าเปื้อนมาให้ บอกว่านี้เป็นผ้าห่มที่ดี คนตาบอด ก็จะดีใจ ด้วยเข้าใจว่าจะได้ห่มผ้าดี เพราะเชื่อในบุคคลผู้มีจักษุ ฉันใด ปริพาชกและ อัญญเดียรถีย์ก็ฉันนั้น เพราะไม่มีจักษุ ไม่รู้ความไม่มีโรค จึงไม่เห็นพระนิพพาน
เมื่อได้ฟังพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดังนี้แล้ว มาคัณฑิยะทูลขอให้พระผู้มีพระภาคเจ้าแสดงธรรม เพื่อให้รู้ถึงความไม่มีโรค และให้เห็นพระนิพพาน ไม่เป็นคนบอด ลุกขึ้นจากอาสนะนี้ได้
พระพุทธองค์จึงตรัสว่า เราจักแสดงธรรมแก่ท่าน จักชี้แจงให้ท่านเห็นว่าความไม่มีโรคคือข้อนี้ นิพพานคือข้อนี้ ท่านก็จักละจากความกําหนัดความพอใจในขันธ์ที่มีอุปาทานทั้งห้าได้ พร้อมกับความเห็นเกิดขึ้นว่า เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ภพจึงมีแก่เรา เพราะภพนั้นเป็นปัจจัย จึงมีชาติ เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมีชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้น ย่อมมีด้วยประการนี้
ดูก่อน มาคัณฑิยะ ท่านควรคบสัตบุรุษ เพราะเมื่อใดท่านคบสัตบุรุษ เมื่อนั้นท่านจักได้ฟังธรรมของสัตบุรุษ เมื่อท่านได้ฟังธรรมของสัตบุรุษแล้ว ท่านจักปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม เมื่อท่านปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ท่านจักรู้เอง เห็นเองว่า โรค ฝี ลูกศร คืออย่างนี้ และจักรู้ว่า โรค ฝี ลูกศรจะดับไปโดยไม่เหลือ เพราะอุปาทานของเราดับ ภพจึงดับ เพราะภพดับ ชาติจึงดับ เพราะชาติดับ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาสก็ดับ ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมีด้วยประการฉะนี้
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้แล้วมาคัณฑิยะปริพาชกได้ กราบทูลว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก เปรียบเสมือนบุคคลหงายของที่คว่ำเปิดของที่ปิด บอกทางให้แก่คนหลงทาง หรือตามประทีปในที่มืด ด้วยหวังว่าผู้มีจักษุจะเห็นรูป ฉันใด ท่านพระโคดมทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ข้าพระองค์ขอถึงท่านพระโคดม พระธรรม และพระสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอข้าพระองค์จึงได้บรรพชาอุปสมบท ในสํานักพระโคดมเถิด
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า มาคัณฑิยะ ผู้ใดเคยเป็นเดียรถีย์ หวังบรรพชา หวังอุปสมบทในธรรมวินัยนี้ จะต้องอยู่ปริวาส ๔ เดือน เมื่อล่วง ๔ เดือน ภิกษุทั้งหลายเต็มใจแล้ว จึงให้บรรพชาอุปสมบท มาคัณฑิยะทูลว่า ข้าพระองค์จักขออยู่ปริวาส ๔ ปี พระเจ้าข้า
มาคัณฑิยะได้รับบรรพชาอุปสมบท ในสํานักของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วไม่นาน ปฏิบัติให้แจ้งที่สุดแห่งพรหมจรรย์ ได้เป็นพระอรหันต์รูปหนึ่งในบรรดาพระอรหันต์ทั้งหลาย ด้วยประการฉะนี้
** มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ สาเลยยกสูตร เล่ม ๑/๓ หน้า ๒๕๕-๒๖๗ สมัยหนึ่งที่พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จจาริกไปในแคว้นโกศล พราหมณ์ และคหบดีชาวสาละพากันเข้าไปเฝ้ากราบทูลถามว่า อะไรเป็นเหตุ อะไรเป็นปัจจัยให้สัตว์บางเหล่าในโลกนี้ หลังจากสิ้นชีวิต แล้ว เข้าสู่อบายภูมิ
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า พราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย เพราะสัตว์เหล่านั้น ประพฤติแต่อุศลกรรมบถทั้งหลาย คือทางกาย ๓ ได้แก่ ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม
ทางวาจา ๔ ได้แก่ พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดหยาบ พูดเพ้อเจ้อ
ทางใจ ๓ ได้แก่ ความโลภ ความพยาบาท ความเห็นผิด
อกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการเหล่านี้ จึงเป็นเหตุชักนําให้บุคคลไปเกิดในอบายภูมิ คือ นรก เปรต อสุรกาย และเดรัจฉาน หลังจากสิ้นชีวิตจากโลกนี้ไป อย่างนี้แล
ธรรมที่นําให้เกิดในนรก
** อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต กรรมปถวรรคที่ ๗ หน้า ๖๓๐-๑๓๒ กล่าวว่า บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ ย่อมเกิดใน นรก เหมือนถูกนํามาทิ้งลง ได้แก่
ตนเองเป็นผู้ฆ่าสัตว์ ๑ชักชวนผู้อื่นในการฆ่าสัตว์ ๑
พอใจในการฆ่าสัตว์ ๑
กล่าวสรรเสริญคุณของการฆ่าสัตว์ ๑
บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ ย่อมเกิดในนรกเหมือนถูกนํามาทิ้งลง ได้แก่
ตนเองเป็นผู้ลักทรัพย์ ๑
ชักชวนผู้อื่นในการลักทรัพย์ ๑
พอใจในการลักทรัพย์ ๑
กล่าวสรรเสริญคุณของการลักทรัพย์ ๑
บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ ย่อมเกิดในนรก เหมือนถูกนํามาทิ้งลง ได้แก่
ตนเองเป็นผู้ประพฤติผิดในกาม ๑
ชักชวนผู้อื่นในการประพฤติผิดในกาม ๑
พอใจในการประพฤติผิดในกาม ๑
กล่าวสรรเสริญคุณของการประพฤติผิดในกาม ๑
บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ ย่อมเกิดในนรก เหมือนถูกนํามาทิ้งลง ได้แก่
ตนเองเป็นผู้พูดเท็จ ๑
ชักชวนผู้อื่นในการพูดเท็จ ๑
พอใจในการพูดเท็จ ๑
กล่าวสรรเสริญคุณของการพูดเท็จ ๑
บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ ย่อมเกิดในนรก เหมือนถูกนํามาทิ้งลง ได้แก่
ตนเองเป็นผู้พูดส่อเสียด ๑
ชักชวนผู้อื่นในการพูดส่อเสียด ๑
พอใจในการพูดส่อเสียด ๑
กล่าวสรรเสริญคุณในการพูดส่อเสียด ๑
บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ ย่อมเกิดในนรก เหมือนถูกนํามาทิ้งลง ได้แก่
ตนเองเป็นผู้พูดคําหยาบ ๑
ชักชวนผู้อื่นในการพูดคําหยาบ ๑
พอใจในการพูดคําหยาบ ๑
กล่าวสรรเสริญคุณในการพูดคําหยาบ ๑
บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการย่อมเกิดในนรก เหมือนถูกนํามาทิ้งลง ได้แก่
ตนเองเป็นผู้พูดเพ้อเจ้อ ๑
ชักชวนผู้อื่นในการพูดเพ้อเจ้อ ๑
พอใจในการพูดเพ้อเจ้อ ๑
กล่าวสรรเสริญคุณในการพูดเพ้อเจ้อ ๑
บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ ย่อมเกิดในนรก เหมือนถูกนํามาทิ้งลง ได้แก่
ตนเองเป็นผู้มากไปด้วยความโลภ ๑
ชักชวนผู้อื่นในความโลภ ๑
พอใจในความโลภ ๑
กล่าวสรรเสริญคุณของความโลภ ๑
บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ ย่อมเกิดในนรก เหมือนถูกนํามาทิ้งลง ได้แก่
ตนเองเป็นผู้มีจิตพยาบาท ๑
ชักชวนผู้อื่นในความพยาบาท ๑
พอใจในความพยาบาท ๑
กล่าวสรรเสริญคุณในความพยาบาท ๑
บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ ย่อมเกิดในนรก เหมือนถูกนํามาทิ้งลง ได้แก่
ตนเองเป็นผู้มีความเห็นผิด ๑
ชักชวนผู้อื่นในความเห็นผิด ๑
พอใจในความเห็นผิด ๑
กล่าวสรรเสริญคุณในความเห็นผิด ๑
สรุปได้ว่า บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการใน อกุศล กรรมบถ ๑๐ ย่อมได้เกิดในนรก เหมือนถูกนํามาทิ้งลง ฉะนั้น สัตว์ทั้งหลายที่ไปอุบัติในอบายภูมิ ย่อมเป็นไปด้วยอํานาจ แห่งอกุศลกรรม ด้วยประการฉะนี้
อบายภูมิ
ในกรรมทีปนี กล่าวถึงอบายภูมิว่า ในอบายภูมิมี ๔ ภูมิ คือ นิรยภูมิ เปตภูมิ อสุรกายภูมิ และเดรัจฉานภูมิ
นิรยภูมิ
ชีวิตของเหล่าสัตว์ในนิรยภูมิ คือนรก เป็นโลกที่มากไปด้วยความทุกข์ยิ่งกว่าโลกใด ๆ เหล่าสัตว์ที่อุบัติในโลกนี้มีความเป็นอยู่ที่ทุกข์ทรมานโดยวิธีต่างๆ ความทุกข์จะสาหัสหรือไม่ ก็สุดแต่ว่ากรรมจะนําไปบังเกิดในนรกใด โลกนรกนี้มีอาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาลหนักหนา สถานที่ในนิรยภูมินี้เรียกว่าขุม มหานรก ซึ่งเป็นนรกขุมใหญ่ มี ๘ ขุม แต่ละชุมยังมีนรกขุมเล็กเป็นบริวารชั้นใน ชื่อ อุสสทนรก ล้อมรอบอีก ๔ ทิศ ทิศละ ๔ ขุม รวมทั้งหมด ๑๒๘ ขุม
นอกจากนั้น ยังมีนรกขุมเล็กตั้งอยู่ล้อมรอบมหานรก เป็นบริวารชั้นนอกในทิศทั้งสี่ อีกทิศละ ๑๐ ขุม มีชื่อเรียกว่า ยมโลกนรกในสถานที่นี้มีการลงโทษหนักเบาแตกต่างกัน ตามชั้นแห่งมหานรก
มีนรกขุมพิเศษชื่อว่า โลกันตนรก นรกขุมนี้เป็นขุมที่ยิ่งใหญ่ คือ อยู่ในระหว่างจักรวาลทั้งสาม ช่องว่างในระหว่างจักรวาลทั้งสามนี้ เป็นสถานที่ตั้งโลกันตนรกมีสภาพมืดมน ไม่มีแสงอาทิตย์ แสงจันทร์ สาดส่องไปถึง สัตว์ที่ไปอุบัติใน โลกันตนรกนี้มีสรีระใหญ่โต ประกอบ ด้วยเล็บมือและเล็บเท้ายาวเหลือประมาณ ต้องใช้เล็บมือ เล็บเท้าเกาะ อยู่ตามเชิงเขาจักรวาล ห้อยโหนเอาหัวปักลงมาข้างล่างอยู่ตลอดเวลา เปรียบดังค้างคาว ครั้นปีนป่ายถูกต้องตีนมือของกันและกัน ต่างก็ ตะครุบกันเข้าใจว่าเป็นอาหาร เพราะความมืดต่างก็ตกลงไปในทะเลน้ำกรดซึ่งมีความเย็นยะเยือก ถูกน้ำกรดกัดจนถึงแก่ความตายแล้วก็กลับ ฟื้นขึ้นมาตามเดิม เฝ้าเวียนตายเวียนเกิดอยู่ด้วยความทุกข์ทรมาน แสนสาหัสชั่วพุทธันดรหนึ่ง จึงจะพ้นไปจากโลกันตนรกนี้
เหล่าสัตว์ที่ตกลงไปในนิรยภูมินี้ ขึ้นอยู่กับบาปกรรมที่เหล่าสัตว์นั้นทําไว้เช่นตกไปในมหานรกแล้ว หากบาปกรรมยังไม่สิ้น ก็ต้องไป สู่นรกขุมอื่นๆ อีก ด้วยความทุกข์ทรมานจนกว่าจะสิ้นกรรม ทั้งนี้สุดแต่ กรรมใดจะมีกําลังให้ผล
กรรมที่ทําให้เกิดในนรก
**ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑/๖ หน้า ๕๙๙-๖๒๐ โกกาลิกสตร แสดงกรรมที่ทําให้ไกกาลิกภิกษุบังเกิดในนรก ความย่อว่า สมัยหนึ่งที่พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวันวิหาร โกกาลิกภิกษุเข้าไปกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระสารีบุตรและพระมหาโมคคัลลานะ เป็นผู้มีความปรารถนาลามก ตกอยู่ในอํานาจแห่งความปรารถนาลามก พระเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า โกกาลิกะ เธออย่ากล่าวเช่นนั้น เธอจงยังจิตให้เลื่อมใสในสารีบุตรและโมคคัลลานะเถิด สารีบุตรและ โมคคัลลานะมีศีลเป็นที่รัก โกกาลิกะก็ยังกราบทูลซ้ำอีกเป็นครั้งที่ ๒-๓ จึงถวายบังคมพระบรมศาสดา กระทําประทักษิณ แล้วหลีกไป
เมื่อโกกาลิกะหลีกไปไม่นานนัก ได้มีต่อมประมาณเมล็ดพันธุ์ ผักกาดเกิดขึ้นทั่วกาย ครั้นแล้ว ต่อมนั้นโตขึ้น ประมาณมล็ดถั่วเขียว เท่าเมล็ดถั่วดํา เท่าเมล็ดพุดซา เท่าผลพุดซา เท่าผลมะขามป้อม เท่าผล มะตูมอ่อน หัวต่อมนั้นแตกแล้วหนองและเลือดไหลออก โกกาลิกภิกษุ มรณภาพเพราะอาพาธนั้น ไปบังเกิดในปทุมนรก เพราะมีจิตคิดอาฆาต พระอัครสาวกทั้งสอง ปฐมยามล่วงไปแล้วท้าวสหัมบดีพรหมนำความมากราบทูลพระพุทธองค์ให้ทรงทราบ
พระบรมศาสดาตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า การติเตียนพระอริยเจ้า ชื่อว่าสะสมโทษด้วยปาก บุคคลตั้งใจและวาจาอันลามกกล่าวหาติเตียนสัตบุรุษ ย่อมเข้าถึงนรกหมกไหม้อยู่ในนรกนั้นยาวนานนับโดยประมาณมิได้ ด้วยความทุกข์ทรมานแสนสาหัสอยู่
นายนิรยบาลจักให้นอนเหนือแผ่นดินอันร้อนจัด บนหลาวเหล็กอันคมกริบแข็งร้อน ตรึงตะปูเหล็กแดงที่มือทั้งสองข้าง ตรงกลางหน้าอก และที่เท้าทั้งสองข้าง หรือจับสัตว์นั้นเทียมรถวิ่งกลับไปกลับ มาบนแผ่นดินที่มีไฟลุกโพลงโชติช่วง หรือให้สัตว์นั้นปืนขึ้นลงบนภูเขา ถ่านเพลิง มีประการต่าง ๆ
นายนิรยบาลจะกรอกน้ำทองแดงร้อนลงในปาก แล้วโยนลงไปในหม้อทองแดงที่มีไฟลุกโพลง สัตว์นั้นจะเดือดพล่านลอยขึ้นข้างบนลงข้างล่าง ผุดขึ้น จมลง เสวยทุกข์เวทนาหมกไหม้อยู่ในหม้อทองแดง และยังไม่ตายตราบเท่าบาปกรรมยังไม่สิ้นสุดในอเวจีมหานรกนั้น มีสัตว์เบียดเสียดยัดเยียดกันเหมือนแป้ง ที่ใส่ไว้ในทะนาน
พระผู้มีพระภาคทรงแสดงความเป็นไปในนรกอันสมควรแก่ การติเตียนพระอริยเจ้าดังนี้แล้ว ตรัสสอนภิกษุทั้งหลายว่า ชีวิตที่เหลืออยู่ พวกเธอทั้งหลายพึงไม่ประมาท ควรกระทํากุศลกรรม มีการถึงพระไตรสรณาคมน์ เป็นต้น
ความละเอียดอยู่ในขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑/๖ หน้า ๕๙๙-๖๒๐ และมัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เล่ม ๓/๒ เทวทูตสูตร หน้า ๑๘๙-๒๐๘
เปตภูมิ
ผลของอกุศลกรรมที่ทําให้ไปเกิดเป็นเปรต แม้จะมีความทุกข์ทรมานน้อยกว่านรกก็ตาม แต่ชีวิตในภูมิเปรตนี้ก็ยังห่างไกลจากความสุข มีรูปร่างชั่วร้ายน่าเกลียด มีลักษณะผิดแผกแตกต่างกัน ได้เสวยทุกขเวทนามีความหิวโหยเป็นกําลัง เปรตทุกตัวจะต้องถูกไฟเปรตเผาไหม้ตลอดร่างกาย ตลอดทั้งกลางวัน กลางคืนไม่ว่างเว้น นานแสนนาน จนกว่าจะสิ้นกรรมที่ตนทําไว้
เปรตในเปตโลกมีมากมายหลายชนิด อุบัติขึ้นด้วยอกุศลกรรมของตนเอง เปรตบางประเภทไม่สามารถจะรับส่วนบุญส่วนกุศลของผู้ใดได้ แม้ญาติในมนุษยโลกจะทําบุญกรวดน้ำอุทิศให้ด้วยความห่วงใย ก็ไม่สามารถจะรับได้ เพราะยังต้องก้มหน้าเสวยทุกขเวทนา อยู่อย่างไม่มีเวลาว่างเว้น
เปรตที่ชื่อว่า เวมานิกเปรต เป็นเปรตที่มีความเป็นอยู่ดีกว่าเปรตทุกประเภท เพราะเหตุว่ามีสมบัติคือวิมานเป็นทอง มีของใช้เป็นทิพย์ ในบางครั้งได้เสวยสุขประดุจเทพเจ้า ปรารถนาสิ่งไรก็ได้ดังใจ มีเปรตบริวารรับใช้มากมาย แต่เมื่อถึงกําหนดที่จะต้องเสวยทุกข์ อกุศล วิบากก็ทําให้กลายเป็นเปรตมีรูปร่างแสนน่าเกลียดน่าชัง บางครั้งได้ เสวยทุกขเวทนายิ่งกว่าเปรตธรรมดาเสียอีก เปรตจําพวกนี้ต้องเสวย ทุกขเวทนามีสภาพกึ่งเปรตกึ่งเทวดา ผลัดเปลี่ยนไปตามกาละเช่นนี้เป็นเวลานานแสนนาน จนกว่าจะสิ้นอกุศลกรรมที่ทําไว้
เปรตอีกประเภทหนึ่งชื่อ ปรทัตตปชีวีเปรต ที่มีอกุศลเบาบาง จําพวกเดียว ที่สามารถจะรับส่วนบุญที่มีผู้อุทิศไปให้ เปรตจําพวกนี้ บางตนมีความหิวโหย เพราะอดข้าวอดน้ำมานานนักหนา พยายามเสาะหาหมู่ญาติของตน รอคอยอยู่ด้วยหวังว่าเมื่อใดญาติทํากุศลแล้ว เขาคงจะอุทิศให้ตนบ้าง ในบางครั้งญาติทํากุศลแต่ลืมอุทิศกุศลให้ ต้องทุกข์ทรมานอยู่ด้วยความหิวโหยอยู่เช่นนั้น ชั่วกาลนาน ดังเรื่องเปรตเป็นญาติของพระเจ้าพิมพิสาร เป็นต้น
กรรมที่ทําให้ไปเกิดเป็นเปรต
** ขุททกนิกาย เปตวัตถุ เล่ม ๒/๒ หน้า ๒๗๖-๓๐๑ เรื่องนางเปรตผู้เคยเป็นมารดาของนายอุตตระ เมื่อพระบรมศาสดา ปรินิพพานแล้ว พระมหากัจจายนเถระพร้อมด้วยภิกษุ ๑๒ รูป พํานักอยู่ในราวป่าแห่งหนึ่ง ไม่ไกลจาก กรุงโกสัมพี สมัยนั้นอํามาตย์ผู้หนึ่งของพระเจ้าอุเทนซึ่งเป็นบิดาของอุตตระทํากาละลง พระราชาจึงแต่งตั้งให้ อุตตรมาณพเป็นผู้จัดการงานแทนบิดา วันหนึ่งอุตตระพานายช่างไม้เข้าไปในป่า เพื่อตัดไม้มาซ่อมแซมพระนคร เห็นพระมหากัจจายนเถระ ผู้ทรงบังสุกุลจีวร เลื่อมใสในอิริยาบถ พระเถระได้แสดงธรรมแก่เธอ ครั้นอุตตรมาณพสดับธรรมแล้ว ขอตั้งอยู่ในไตรสรณาคมน์ นิมนต์พระเถระพร้อมด้วยภิกษุ ๑๒ รูป รับภัตตาหารในวันรุ่งขึ้น เมื่อ พระเถระรับนิมนต์แล้ว อุตตระชวนอุบาสกเหล่าอื่นให้ร่วมทําบุญด้วย
วันรุ่งขึ้น อุตตรมาณพเตรียมภัตตาหารอันประณีต นิมนต์ให้ พระเถระและภิกษุทั้งหลายนั่งบนอาสนะ ทําการบูชาด้วยของหอมและ ดอกไม้ อังคาสภิกษุให้อิ่มหนำด้วยข้าวน้ำที่มีรสเลิศ พระเถระฉันเสร็จ กระทําอนุโมทนาแล้วกลับ อุตตระมาณพถือบาตรพระเถระตามไปส่ง วิงวอนว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอพระคุณเจ้าทั้งหลายพึงเข้ามายังเรือน ของข้าพเจ้าเป็นนิตย์ ตราบที่ยังพํานักอยู่ ณ ที่นี้
อุตตรมาณพอุปัฏฐากพระเถระอยู่อย่างนี้ ตั้งอยู่ในโอวาท ของพระมหากัจจายนเถระ ที่สุดได้บรรลุโสดาปัตติผล ได้สร้างวิหารถวาย ชักชวนให้ญาติทั้งหลายเลื่อมใส ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรม วินัยที่พระเถระแสดง ญาติเหล่านั้นเป็นผู้ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ
ฝ่ายมารดาของอุตตรมาณพ มีความตระหนี่กลุ้มรุม บริภาษว่า เจ้าให้สิ่งไรแก่พวกสมณะ สิ่งนั้นจงกลายเป็นโลหิตแก่เจ้าในปรโลก เมื่อนางกระทํากาละลง ได้ไปเกิดเป็นเปรต แต่แม้จะเป็นเปรตนางก็มีผมยาวสลวย เส้นละเอียด มีสีดําสนิท เพราะอานิสงส์ที่นางเคยได้กําหางนกยูงถวายทานในวันฉลองวิหาร
ในคราวที่นางลงไปในแม่น้ำคงคา ด้วยปรารถนาจักดื่มน้ำ แม่น้ำคงคาก็เต็มไปด้วยเลือด นางถูกความหิวกระหายครอบงำเที่ยวไป วันหนึ่ง ได้เห็นพระกังขาเรวตเถระนั่งพักกลางวัน ณ ริมฝั่งแม่น้ำคงคา นางเปรตมีผิวพรรณน่าเกลียดน่ากลัว มีผมยาวห้อยลง จรดพื้นดิน คลุมร่างด้วยผม เข้าไปขอน้ำดื่ม กล่าวว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ตั้งแต่ดิฉันตายจากโลกมนุษย์มา ยังมิได้บริโภคข้าวหรือน้ำดื่มเลย แม้แต่น้อยตลอดเวลาอันยาวนาน ขอท่านโปรดอนุคราะห์ให้น้ำดื่ม แก่ดิฉันผู้กระหายน้ำด้วยเถิด
พระเถระกล่าวว่า แม่น้ำคงคามีน้ำเย็นใสสะอาด ไหลมาจากภูเขาหิมพานต์ ท่านจงดื่มน้ำในแม่น้ำนั้นเถิด ทําไมจึงต้องขอกับเรา นางเปรตกล่าวว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ เมื่อดิฉันดื่มน้ำในแม่น้ำคงคา น้ำนั้นย่อมกลายเป็นโลหิตปรากฏแก่ดิฉันทุกครั้ง เพราะฉะนั้น ดิฉันจึงต้องขอน้ำจากท่าน พระเถระถามว่า ท่านได้กระทําความชั่วอันใดไว้ น้ำในแม่น้ำ คงคาจึงกลายเป็นโลหิตปรากฎแก่ท่าน นางเปรตจึงเล่าบุพกรรมว่า ครั้งเป็นมนุษย์บุตรชายคน เป็นอุบาสกผู้มีศรัทธา เขาได้ถวายจีวร บิณฑบาต ที่นอน ที่นั่ง และ คิลานปัจจัยแก่สมณะทั้งหลาย ดิฉันไม่พอใจ เพราะถูกความตระหนี่ ครอบงำ บริภาษเขาว่า สิ่งไรๆ ที่เจ้าถวายแก่สมณะด้วยความไม่พอใจ ของเรา ขอจงกลายเป็นเลือดปรากฏแก่เจ้าในปรโลก เพราะวิบากแห่ง กรรมนั้น น้ำในแม่น้ำคงคาจึงกลายเป็นโลหิตปรากฏแก่ดิฉันเช่นนี้
เช้าวันรุ่งขึ้น พระเรวตะ ได้ถวายน้ำดื่มแก่ภิกษุสงฆ์ อุทิศ ให้นางเปรตนั้น แล้วท่านก็เที่ยวไปบิณฑบาตรับภัตรแล้วถวายแก่ภิกษุ ทั้งหลาย แล้วถือเอาผ้าบังสุกุลจากกองหยากเยื่อ มาซักทําเป็นฟูกและ หมอน ถวายแก่ภิกษุทั้งหลายแล้วอุทิศให้ นางเปรตได้รับทิพยสมบัติแล้ว ไปยังสํานักพระเถระ แสดงทิพยสมบัติที่ตนได้แก่พระเถระ
พระเถระจึงเล่าประวัติของนางแก่บริษัท ๔ ที่มาประชุมกัน อยู่ ณ ที่นั้น แล้วแสดงธรรมกถา มหาชนบังเกิดความสังเวช เป็นผู้ปราศจากความตระหนี่ ยินดียิ่งในกุศลธรรม มีทานและศีล เป็นต้น
เรื่องนี้ทักษิณาย่อมสําเร็จผลในขณะนั้นได้ ด้วยองค์ ๓ คือด้วยการอนุโมทนาของนางเปรต ๑
ด้วยการอุทิศของพระกังขาเรวตเถระ ๑
ด้วยการถึงพร้อมแห่งสงฆ์ผู้เป็นทักขิไณยบุคคล ๑
** ขุททกนิกาย เปตวัตถุ เล่ม ๒/๒ หน้า ๔๒๒-๔๒๗ กล่าวถึงเวมาณิกเปรต เป็นเปรตอีกประเภทหนึ่งที่เสวยสุข และทุกข์ เรื่องมีว่า นายพรานเนื้อคนหนึ่งอยู่ในกรุงราชคฤห์ เที่ยวล่าเนื้อเลี้ยงชีพตลอดคืนและวัน เป็นผู้มีฝ่ามือเปื้อนโลหิต เป็นคนหยาบช้าทารุณ มีใจประทุษร้ายในสัตว์เป็นอันมาก ยินดีในการเบียดเบียนสัตว์อื่น เป็นผู้ไม่สํารวมกาย วาจา ใจเป็นนิตย์
อุบาสกผู้เป็นสหายคนหนึ่ง คอยห้ามเขาอยู่เนือง ๆ ถ้า ความปรารถนาดีว่า เพื่อนอย่ากระทําบาปกรรมเช่นนี้เลย ขอให้งดเว้น จากการฆ่าการเบียดเบียน เพื่อจะได้ไปสู่สุคติ แม้เพื่อนจะเตือนอย่างไร ก็มิได้เชื่อฟัง เมื่อไม่อาจให้นายพรานนั้นละจากความชั่วตลอดกาลได้ เพื่อนจึงชักชวนให้เว้นจากบาปอกุศลในช่วงกลางคืน เขาได้กระทําตาม งดเว้นปาณาติบาตในตอนกลางคืน ทําแต่ในเวลากลางวันเท่านั้น
กาลต่อมา นายพรานทํากาละแล้ว บังเกิดเป็น เวมาณิก เปรต ใกล้กรุงราชคฤห์ เสวยทุกข์ใหญ่หลวงตลอดเวลาในกลางวัน ส่วนในเวลากลางคืนเขาจะเพียบพร้อมด้วยกามคุณ ๕
พระนารทเถระเห็นดังนั้นจึงถามว่า ท่านเป็นคนหนุ่มแน่น ห้อมล้อมด้วยเทพบุตรเทพธิดา รุ่งเรืองอยู่ด้วยกามคุณอันให้เกิดความ กําหนัดยินดีในเวลาราตรี แต่กลับเสวยทุกข์ในกลางวัน ท่านกระทํา กรรมอันใดไว้ในชาติก่อน เขาได้เล่าให้พระเถระฟังดังที่กล่าวไว้ข้างต้น แล้วกล่าวต่อไปว่า ด้วยเหตุนี้ ในเวลากลางวันกระผมจึงได้เสวยทุกข์ ถูกฝูงสุนัขใหญ่มีจิตเดือดดาล พากันห้อมล้อมกัดกินกระผมรอบด้าน กระทำสรีสระ ให้เหลือเพียงร่างกระดูก ครั้นเมื่อเวลาย่างเข้ากลางคืนร่างกายนั้น ก็กลับเป็นปกติตามเดิม ได้เสวยทิพยสมบัติดังที่พระคุณเจ้าเห็นอยู่
จากนั้น เวมาณิกเปรตได้กล่าวว่า ผู้งดเว้นการฆ่าสัตว์เพียง เฉพาะในเวลากลางคืน ยังได้เสวยทิพยสมบัติเห็นปานนี้ ก็ชนเหล่าใด หมั่นประกอบเนือง ๆ ในอธิศีลของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กลางวันและกลางคืน ชนเหล่านั้นจักได้บรรลุอมตธรรมอย่างแน่นอน
** ขุททกนิกาย เปตวัตถุ เล่ม ๒/๒ หน้า ๕๒-๕๗๖ พระภาคผู้มีพระภาคเจ้าขณะที่ประทับอยู่ ณ พระเชตวันวิหาร ทรงปรารภ เรื่อง เวมาณิกเปรตตนหนึ่ง ความว่า พ่อค้าชาวกรุงสาวัตถี และชาวกรุงเปาฏลีบตร แล่นเรือไปยังสุวรรณภูมิ บรรดาพ่อค้าเหล่านั้น อุบาสกคนหนึ่งเกิดป่วยไข้ มีจิตปฏิพัทธ์ในมาตุคาม ทํากาละลงในเรือนั้น อุบาสกนี้ถึงแม้ว่าจะทํากุศลไว้บ้าง แต่ก็ไม่เข้าถึงเทวโลก บังเกิด ณ วิมานเปรต ในท่ามกลางมหาสมุทร
เปรตนั้นประสงค์จะจับหญิงที่ตนปฏิพัทธ์ จึงปิดกั้นไม่ให้เรือ แล่นไป พ่อค้าทั้งหลายพิจารณากันว่า สาเหตุใดเรือจึงไม่แล่น จึงลงความเห็นให้จับสลากคนที่เป็นกาลกิณี สลากได้แก่หญิงนั้นถึง ๓ ครั้ง พวกพ่อค้าจึงหย่อนแพไม้ไผ่ลงในมหาสมุทร พอหญิงนั้นลงไปอยู่บนแพไม้ไผ่ เรือก็แล่นบ่ายหน้าไปยังสุวรรณภูมิโดยเร็ว เปรตยกหญิงขึ้นมายังวิมานของตน ได้ร่วมอภิรมย์กับหญิงนั้น
ครั้นเวลาล่วงไป ๑ ปี หญิงนั้นเกิดเบื่อหน่าย ขอร้องให้เปรต นําไปกรุงปาฏลีบุตร เปรตนั้นกล่าวว่า สัตว์นรกบางพวกท่านก็เห็นแล้ว สัตว์เดรัจฉาน เปรต อสุรกาย มนุษย์หรือเทวดา ท่านก็เห็นแล้ว ผล กรรมของตนท่านก็เห็นประจักษ์ด้วยตนเองแล้ว เราจะนําท่านไปส่งยังเมืองปาฏลีบุตร เมื่อท่านไปถึงแล้ว จงกระทํากุศลกรรมให้มากเถิด
หญิงนั้นได้ฟังคําของเปรตแล้ว มีความดีใจ กล่าวว่า ข้าแต่เทพเจ้า ท่านปรารถนาความเจริญแก่ดิฉัน ปรารถนาประโยชน์เกื้อกูล แก่ดิฉัน ดิฉันจักทําตามคําของท่าน ดิฉันไปถึงกรุงปาฏลีบุตรแล้วจักทําบุญให้มาก เปรตจึงพาหญิงนั้นไปทางอากาศ พักไว้ในท่ามกลางกรุงปาฏลีบุตร แล้วก็หลีกไป ญาติมิตรเห็นหญิงนั้นก็ดีใจ ถามว่าเจ้าถูกพ่อค้าทั้งหลายโยนลงทะเลแล้ว ไฉนจึงกลับมาโดยสวัสดี
เมื่อญาติมิตรกลับมาถึงกรุงสาวัตถีแล้ว พากันไปเฝ้าพระบรมศาสดา พระองค์ยกเอาเรื่องนี้เป็นเหตุ แสดงธรรมแก่บริษัท มหาชนฟังธรรมนั้นแล้ว ยินดีในกุศลธรรม มีทานและศีลเป็นต้น
อสุรกายภูมิ
อกุศลกรรมที่สัตว์ทั้งหลายทําไปด้วยโลภเจตนา มากด้วย อภิชฌา เพ่งเล็งอยากได้ทรัพย์สมบัติของผู้อื่น ประกอบทุจริตด้วยการ ปล้นขโมย หรือฉ้อโกงทรัพย์สมบัติของผู้อื่น หรือถือเอาของสงฆ์มาเป็นของตน มีความอิจฉาริษยาปรารถนา ทําลายล้าง หรือเห็นผู้อื่นทํา ความดีก็ไม่พอใจ เพราะเป็นคนมากด้วยความพยาบาท มีความเห็นผิด ว่าทานที่ให้แล้วไม่มีผล โลกหน้าไม่มี เป็นต้น ย่อมส่งผลให้ไปเกิดในโลก ของอสุรกาย ซึ่งทํากรรมคล้ายคลึงกับสัตว์ที่ไปเกิดเป็นเปรต
ผิดกันที่ว่าเปรต ย่อมประสบกับทุกขเวทนาเพราะความหิว โดยอาหาร บังเกิดความแสบร้อนในท้อง เพราะถูกไฟในกายเผาผลาญอยู่ตลอดเวลาเปรียบเหมือนไฟที่ไหม้อยู่ในโพรงไม้ แต่อสุรกาย หรือที่มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า วินิบาต ประสบ ทุกขเวทนาเพราะความกระหายน้ำ ในบางครั้ง ตลอดเวลานานสิ้นกาล ๒-๓ พุทธันดร ไม่เคยได้น้ำแม้แต่หยดเดียว บางที่เห็นบ่อบึงและแม่น้ำ ก็ตะเกียกตะกายเข้าไปหวังจะได้ดื่มกิน แต่พอเข้าไปใกล้ ท้องน้ำนั้นกลับกลายเป็นทรายหรือแผ่นศิลาอันแห้งผาก ซ้ำเป็นเพิลงเผาผลาญ ให้เสวยทุกข์คือมีความกระหายน้ำยิ่งขึ้น
มีเรื่องเล่าว่า ในครั้งที่เป็นมนุษย์ พาลชนคนหนึ่งประกอบแต่อกุศลทุจริต ไม่รู้จักบาปบุญคุณโทษ เมื่อสิ้นชีพลงไปเกิดในอสุรกายภูมิ มีรูปร่างน่าเกลียด มีความรู้สึกกระหายน้ำเป็นกําลัง พอเห็นน้ำในแม่น้ำ ก็รีบลงไปหวังจะได้ดื่มให้สมกับความกระหายมานาน แต่อกุศลวิบาก บันดาลให้น้ำในแม่น้ำนั้นบังเกิดเป็นพื้นทราย อสุรกายนั้นเดินไปบนผืน น้ำประดุจว่าเดินไปบนแผ่นดิน ในตอนเช้าวันนั้นมีภิกษุ ๓๐ รูป เดินเลียบฝั่งน้ำเพื่อไปบิณฑบาต ได้เห็นอสุรกายเดินอยู่บนผิวน้ำ เกิดความสงสัยจึงหยุดถาม ว่า เหตุใดท่านจึงเดินบนผิวน้ำได้ อสุรกายตอบว่า ตนปรารถนาจะหาน้ำ ดื่มครั้นเห็นแม่น้ำ เข้ามาหมายว่าจะดื่มกินเพราะหิวกระหายมานานแล้ว แต่มาถึงน้ำก็หายไปหมดสิ้น ขอพระคุณเจ้าบอกข้าพเจ้าหน่อยเถิดว่า น้ำมีอยู่ ณ ที่ใด ภิกษุเหล่านั้นพากันแปลกใจกล่าวว่า ก็ท่านเดินอยู่บนน้ำ แต่ท่านยังไม่เห็นน้ำเลยหรือ
ภิกษุทราบความเป็นมาของอสุรกายแล้ว เกิดความเมตตา กล่าวว่า ท่านจงมานอนที่พื้นทรายนี้ เราทั้งหลายจักให้ท่านได้ดื่มน้ำ ภิกษุเหล่านั้นตักน้ำจนเต็มทั้ง ๓๐ บาตร แล้วค่อยเทลงในปากของ อสุรกายอันมีช่องเล็กเท่ารูเข็ม ด้วยความยากลําบากจนกระทั่งสายเกือบ หมดเวลาภิกขาจาร ก็ยังไม่สําเร็จ ภิกษุถามว่าท่านพอสิ้นความกระหายบ้างหรือยัง อสุรกาย สั่นศีรษะ ภิกษุทั้งหลายเห็นดังนั้นบังเกิดความสังเวชใจ แต่มิรู้ว่าจะช่วยได้ด้วยประการใด จึงละจากอสุรกาย เดินทางเข้าละแวกบ้านเพื่อ บิณฑบาตตามสมณวิสัย
เดรัจฉานภูมิ
สัตว์ในเดรัจฉานภูมิ เป็นสัตว์ที่มีรูปร่างปรากฏให้เห็น และเกิดไม่เป็นที่ ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง บ้างก็แซกแซงอยู่ตามร่างกายของมนุษย์ อยู่ตามบ้านเรือน บ้างก็เป็นสัตว์ที่อยู่ตามป่าตามภูเขา บ้างก็อยู่ในหนองน้ำลําธาร อยู่ในพื้นดิน ในอากาศ พื้นปฐพี่ที่เราอยู่ในเวลานี้มี สัตว์เดรัจฉานอาศัยอยู่มากมาย แบ่งออกเป็น ๔ ประเภท คือ
สัตว์ไม่มีขา ได้แก่ งูปลาไหล ไส้เดือน เป็นต้นสัตว์สองเท้า ได้แก่ นก เป็ด ไก่ เป็นต้น
สัตว์สี่เท้า ได้แก่ ช้าง ม้า วัว ควาย เป็นต้น
สัตว์มากเท้า ได้แก่ กิ้งกือ ตะขาบ หนอน เป็นต้น
ชีวิตของสัตว์เดรัจฉาน มีความเป็นอยู่ลําบากยากเย็นยิ่งนัก เพราะเป็นสัตว์ที่มีภัยแห่งชีวิตรอบด้าน ต้องแสวงหาที่กินที่นอน ต้องคอยระแวดระวังภัยจากมนุษย์และสัตว์ที่ใหญ่กว่าเนืองนิตย์
สัตว์ที่มาเกิดในภูมินี้ ไม่ว่าจะไปทางไหนก็ไปในสภาพตามขวางหรือตามยาว คือคว่ำอกไปทั้งสิ้น นอกจากร่างกายจะมีสภาพไป อย่างขวาง จิตใจก็มีสภาพขวางอีกด้วย คือขวางจากมรรคผลนิพพาน เพราะขึ้นชื่อว่าเป็นสัตว์เดรัจฉาน แม้ว่าจะมีคุณงามความดีสักเท่าใด และจะมีน้ำใจประเสริฐสักเพียงไหน ก็ไม่มีโอกาสที่จะบรรลุอมตธรรม อย่างมากที่สุดก็ได้เพียงสวรรค์สมบัติ