สันทิฏฐิโกจากผู้เห็นภัยในวัฏฏสงสาร
๑. ทาน
องค์ประกอบ ๓ ประการ สำหรับการทำทานซึ่งมีผลมาก ได้บุญบารมีมาก กล่าวคือ
๑. "วัตถุทานที่ให้ต้องบริสุทธิ์"
๒. "เจตนาในการให้ทานต้องบริสุทธิ์"
- ระยะก่อนที่จะให้ทาน
- ระยะที่กำลังลงมือให้ทาน
- ระยะหลังจากที่ได้ให้ทานไปแล้ว
ประเภทของทาน
- อามิสทาน คือ การให้วัตถุสิ่งของ
- ธรรมทาน คือ การให้ที่ไม่เป็นวัตถุสิ่งของ
- อภัยทาน คือ การยกโทษด้วยการไม่พยาบาทจองเวร
อ่านต่อ ทาน
๒. การรักษาศีล
“ศีล” นั้น แปลว่า “ปกติ” คือสิ่งหรือกติกาที่บุคคลจะต้องระวังรักษาตามเพศและฐานะ ศีลนั้นมีหลายระดับ คือ ศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ และศีล ๒๒๗ และในบรรดาศีลชนิดเดียวกันก็ยังจัดแยกออกเป็นระดับธรรมดา มัชฌิมศีล (ศีลระดับกลาง) และอธิศีล (ศีลอย่างสูง ศีลอย่างอุกฤษฏ์)
คำว่า “มนุษย์” นั้น คือผู้ที่มีใจอันประเสริฐ คุณธรรมที่เป็นปกติของมนุษย์ที่จะต้องทรงไว้ให้ได้ตลอดไปก็คือศีล ๕ บุคคลที่ไม่มีศีล ๕ ไม่เรียกว่ามนุษย์ แต่อาจจะเรียกว่า “คน” ซึ่งแปลว่า “ยุ่ง” ในสมัยพุทธกาลผู้คนมักจะมีศีล ๕ ประจำกันเป็นนิจ ศีล ๕ จึงเป็นเรื่องปกติของบุคคลในสมัยนั้น และจัดว่าเป็น “มนุษย์ธรรม” ส่วนหนึ่งในมนุษย์ธรรม ๑๐ ประการ ผู้ที่จะมีวาสนาได้เกิดมาเป็นมนุษย์ จะต้องถึงพร้อมด้วยมนุษย์ธรรม ๑๐ ประการเป็นปกติ (ซึ่งรวมถึงศีล ๕ ด้วย) รายละเอียดจะมีประการใดจะไม่กล่าวถึงในที่นี้
การรักษาศีลเป็นการเพียรพยายามเพื่อระงับโทษทางกายและวาจา อันเป็นเพียงกิเลสหยาบมิให้กำเริบขึ้น และเป็นการบำเพ็ญบุญบารมีที่สูงขึ้นกว่าการให้ทาน ทั้งในการถือศีลด้วยกันเอง ก็ยังได้บุญมากและน้อยต่างกันไปตามลำดับ ดังต่อไปนี้คือ
- การให้อภัยทาน แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถือศีล ๕ แม้จะได้ถือแต่เพียงครั้งเดียวก็ตาม
- การถือศีล ๕ แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถือศีล ๘ แม้จะถือแต่เพียงครั้งเดียวก็ตาม
- การถือศีล ๘ แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถือศีล ๑๐ คือการบวชเป็นสามเณรในพระพุทธศาสนา แม้จะบวชมาได้แต่เพียงวันเดียวก็ตาม
- การที่ได้บวชเป็นสามเณรในพระพุทธศาสนา แล้วรักษาศีล ๑๐ ไม่ให้ขาด ไม่ด่างพร้อย แม้จะนานถึง ๑๐๐ ปี ก็ยังได้บุญน้อยกว่าผู้ที่ได้อุปสมบทเป็นพระในพระพุทธศาสนา มีศีลปาฏิโมกข์สังวร ๒๒๗ แม้จะบวชมาได้เพียงวันเดียวก็ตาม
อ่านต่อ ศีล
๓. สมาธิ (สมถภาวนา)
การเจริญภาวนานั้น เป็นการสร้างบุญบารมีที่สูงที่สุด และยิ่งใหญ่ที่สุดในพระพุทธศาสนา จัดว่าเป็นแก่นแท้และสูงกว่าฝ่ายศีลมากนัก การเจริญภาวนาอย่างที่ (๑) คือ สมถภาวนา (การทำสมาธิ)
สมถภาวนา ได้แก่ การทำจิตให้เป็นสมาธิ หรือเป็นฌาน ซึ่งก็คือ การทำจิตให้ตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียว ไม่ฟุ้งซ่านแส่ส่ายไปยังอารมณ์อื่น ๆ วิธีภาวนานั้น มีมากมายหลายร้อยชนิด ซึ่งพระพุทธองค์ทรงบัญญัติแบบอย่างเอาไว้ ๔๐ ประการ เรียกกันว่า "กรรมฐาน ๔๐" ซึ่งผู้ใดจะเลือกใช้วิธีใดก็ได้ตามแต่สมัครใจ ทั้งนี้ย่อมสุดแล้วแต่อุปนิสัยและวาสนาบารมีที่ได้เคยสร้างสมอบรมมาแต่ในอดีตชาติ เมื่อสร้างสม อบรมมาในกรรมฐานกองใด จิตก็มักจะน้อมชอบกรรมฐานกองนั้นมากกว่ากองอื่น ๆ และการเจริญภาวนาก็ก้าวหน้าเร็วและง่าย
แต่ไม่ว่าจะเลือกปฏิบัติวิธีใดก็ตาม จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรักษาศีลให้ครบถ้วนบริบูรณ์ตามเพศของตนเสียก่อน คือ หากเป็นฆราวาสก็จะต้องรักษาศีล ๕ เป็นอย่างน้อย หากเป็นสามเณรก็จะต้องรักษาศีล ๑๐ หากเป็นพระก็จะต้องรักษาศีลปาฏิโมกข์ ๒๒๗ ข้อให้บริบูรณ์ ไม่ให้ขาดและด่างพร้อย จึงจะสามารถทำจิตให้เป็นฌานได้
หากศีลยังไม่มั่นคง ย่อมเจริญฌานให้เกิดขึ้นได้โดยยาก เพราะศีลย่อมเป็น บาทฐาน (เป็นกำลัง ให้เกิดสมาธิขึ้น) อานิสงส์ของสมาธินั้น มีมากกว่าการรักษาศีลอย่างเทียบกันไม่ได้ ซึ่งพระพุทธองค์ได้ตรัสว่า "แม้จะได้อุปสมบทเป็นภิกษุรักษาศีล ๒๒๗ ข้อ ไม่เคยขาด ไม่ด่างพร้อยมานานถึง ๑๐๐ ปี ก็ยังได้บุญกุศลน้อยกว่าผู้ที่ทำสมาธิเพียงให้จิตสงบนานเพียงชั่วไก่กระพือปีก ช้างกระดิกหู"
คำว่า "จิตสงบ" ในที่นี้หมายถึงจิตที่เป็นอารมณ์เดียวเพียงชั่ววูบ ที่พระท่านเรียกว่า "ขณิกสมาธิ" คือ สมาธิเล็ก ๆ น้อย ๆ สมาธิแบบเด็ก ๆ ที่เพิ่งหัดตั้งไข่ คือ หัดยืนแล้วก็ล้มลง แล้วก็ลุกขึ้นยืนใหม่ ซึ่งเป็นอารมณ์จิตที่ยังไม่ตั้งมั่น สงบวูบลงเล็กน้อยแล้วก็รักษาไว้ไม่ได้ ซึ่งยังห่างไกลต่อการที่จิตถึงขั้นเป็นอุปจารสมาธิและฌาน แม้กระนั้นก็ยังมีอานิสงส์มากมายถึงเพียงนี้ โดยหากผู้ใดจิตทรงอารมณ์อยู่ในขั้นขณิกสมาธิแล้วบังเอิญตายลงในขณะนั้น อานิสงส์นี้จะส่งผลให้ได้ไปบังเกิดในเทวโลกชั้นที่ ๑ คือ ชั้นจาตุมหาราชิกา หากจิตยึดไตรสรณคมน์ (มีพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ เป็นที่พึ่งอันสูงสุดด้วย ก็เป็นเทวดาชั้น ๒ คือ ดาวดึงส์)
การทำสมาธิเป็นการสร้างบุญกุศลที่ยิ่งใหญ่ ลงทุนน้อยที่สุด เพราะไม่ได้เสียเงินเสียทอง ไม่ได้เหนื่อยยากต้องแบกหามแต่อย่างใด เพียงแต่คอยเพียงระวังรักษาสติ คุ้มครองจิตมิให้แส่ส่ายไปสู่อารมณ์อื่น ๆ โดยให้ตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียวเท่านั้น การทำทานเสียอีกยังต้องเสียเงินเสียทอง การสร้างโบสถ์ วิหาร ศาลาโรงธรรมยังต้องเสียทรัพย์ และบางทีก็ต้องเข้าช่วยแบกหามเหนื่อยกาย แต่ก็ได้บุญน้อยกว่าการทำสมาธิอย่างที่เทียบกันไม่ได้
อย่างไรก็ดี การเจริญสมถภาวนาหรือสมาธินั้น แม้จะได้บุญอานิสงส์มากมายมหาศาลอย่างไร ก็ยังไม่ใช่บุญกุศลที่สูงสุดยอดในพระพุทธศาสนา หากจะเปรียบกับต้นไม้ก็เป็นเพียงเนื้อไม้เท่านั้น การเจริญวิปัสสนา (การเจริญปัญญา) จึงจะเป็นการสร้างบุญกุศลที่สูงสุดยอดในพระพุทธศาสนา หากจะเปรียบก็เป็นแก่นไม้โดยแท้
อ่านต่อ สมาธิ
๔. ปัญญา (วิปัสสนาภาวนา)
การเจริญภาวนานั้น เป็นการสร้างบุญบารมีที่สูงที่สุด และยิ่งใหญ่ที่สุดในพระพุทธศาสนา จัดว่าเป็นแก่นแท้และสูงกว่าฝ่ายศีลมากนัก การเจริญภาวนาอย่างที่ (๒) วิปัสสนาภาวนา (การเจริญปัญญา)
วิปัสสนาภูมิ ๖ หมายถึง ธรรมอันเป็นอารมณ์ของวิปัสสนา คือ การเห็นแจ้ง รู้แจ้ง ตามความเป็นจริงในเรื่อง ๖ เรื่องนี้ การเข้าใจวิปัสสนาภูมิ ๖ เป็นพื้นฐาน รากฐานก็ให้เกิดปัญญา ทำให้เห็นความไม่เที่ยง ทนอยู่ไม่ได้ ไม่เป็นอะไรทั้งนั้น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา และปัญญา เกิดความไม่ยึดมั่นถือมั่น ทำให้เกิดความพ้นทุกข์ แยกประเภทเป็น ขันธ์ อายตนะ ธาตุ อินทรีย์ สัจจะ และปฏิจจสมุปบาท
เมื่อจิตของผู้บำเพ็ญตั้งมั่นในสมาธิจนมีกำลังดีแล้ว เช่นอยู่ในระดับฌานต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นฌานในระดับใดก็ได้ แม้แต่จะอยู่แค่เพียงอุปจารสมาธิ จิตของผู้บำเพ็ญเพียรก็ย่อมีกำลังและอยู่ในสภาพที่ นุ่มนวล ควรแก่การเจริญวิปัสสนาต่อไปได้ อารมณ์ของวิปัสสนานั้น แตกต่างไปจากอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งแต่อารมณ์เดียว โดยแน่นิ่งอยู่เช่นนั้น ไม่นึกคิดอะไร ๆ แต่วิปัสสนาไม่ใช่ให้จิตตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียวนิ่งอยู่ เช่นนั้น แต่เป็นจิตที่คิดและใคร่ครวญหาเหตุและผลในสภาวธรรมทั้งหลายและสิ่งที่เป็นอารมณ์ของวิปัสสนานั้น มีแต่เพียงอย่างเดียวคือ "ขันธ์ ๕" ซึ่งนิยมเรียกกันว่า "รูป- นาม" โดย รูปมี ๑ ส่วน นาม นั้นมี ๔ คือ เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ขันธ์ ๕ ดังกล่าวเป็นเพียงอุปาทานขันธ์ เพราะแท้จริงแล้วเป็นแต่เพียงสังขารธรรมที่เกิดขึ้นเนื่องจากการปรุงแต่ง แต่เพราะอวิชชา คือ ความไม่รู้เท่าสภาวธรรม จึงทำให้เกิดความ ยึดมั่นด้วยอำนาจอุปาทานว่าเป็นตัวตนและของตน การเจริญวิปัสสนาก็โดยมีจิตพิจารณาจนรู้แจ้งเห็นจริงว่า อันสภาวธรรมทั้งหลาย อันได้แก่ขันธ์ ๕ นั้นล้วนแต่มีอาการเป็นพระไตรลักษณ์ คือ เป็นอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา
อ่านต่อ ไตรลักษณ์
สมาธิย่อมมีกรรมฐาน ๔๐ เป็นอารมณ์ ซึ่งผู้บำเพ็ญอาจจะใช้กรรมฐานบทใดบทหนึ่งตามแต่ที่ถูกแก่จริตนิสัยของตนก็ย่อมได้ ส่วนวิปัสสนานั้น มีแต่เพียงอย่างเดียว คือมี ขันธ์ ๕ เป็นอารมณ์ เรียกสั้น ๆ ว่า มีแต่รูปกับนามเท่านั้น ขันธ์ ๕ นั้นได้แก่ รูป เวทนา สัญญา และวิญญาณ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสภาวธรรมหรือสังขารธรรมเกิดขึ้นเนื่องจากการปรุงแต่ง เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ไม่เที่ยง ทนอยู่ในสภาพเช่นนั้นไม่ได้ และไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนแต่อย่างใด อารมณ์ของวิปัสสนานั้น เป็นอารมณ์จิตที่ใคร่ครวญหาเหตุและผลในสังขารธรรมทั้งหลาย จนรู้แจ้งเห็นจริงว่าเป็นพระไตรลักษณ์ คือ เป็นอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา และเมื่อใดที่จิตยอมรับสภาพความเป็นจริงว่าเป็นอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตาจริง เรียกว่าจิตตกกระแสธรรมตัดกิเลสได้
ข้อปฏิบัติอย่างที่กล่าวมานี้ เป็นปฏิปทาของผู้ปฏิบัติที่มีชื่อเรียกในสมัยอรรถกถาว่า “สมถ-ยานิก” แปลว่า ผู้มีสมถะเป็นยาน คือบำเพ็ญสมถะจนได้ฌานก่อนแล้วจึงเจริญวิปัสสนา และนับว่าเป็นวิธีปฏิบัติอย่างหนึ่งในบรรดาวิธี ๔ อย่างที่ท่านกล่าวไว้ในบาลี คือ
๑. สมถปุพพังคมวิปัสสนา วิปัสสนามีสมถะนำหน้า (เรียกเต็มว่า สมถปุพพังคมวิปัสสนาภาวนา การเจริญวิปัสสนาโดยมีสมถะนำหน้า)๒. วิปัสสนาปุพพังคมสมถะ สมถะมีวิปัสสนานำหน้า (เรียกเต็มว่า วิปัสสนาปุพพังคมสมถภาวนา การเจริญสมถะโดยมีวิปัสสนานำหน้า)
๓. ยุคนัทธสมถวิปัสสนา สมถะและวิปัสสนาเข้าคู่กัน (เรียกเต็มว่า สมถวิปัสสนายุคนัทธภาวนา การเจริญสมถะและวิปัสสนาควบคู่ไปด้วยกัน)
๔. ธัมมุทธัจจวิคคหิตมานัส วิธีปฏิบัติเมื่อจิตถูกชักให้เขวด้วยธรรมุธัจจ์ คือความฟุ้งซ่านธรรม หรือตื่นธรรม (ความเข้าใจผิดยึดเอาผลที่ประสบในระหว่างว่าเป็นมรรคผลนิพพาน)
ปัญญาที่จะเป็นสภาพความเป็นจริงดังกล่าว ไม่ใช่แต่เพียงปัญญาที่นึกคิดและคาดหมายเอาเท่านั้น แต่ย่อมมีตาวิเศษหรือตาใน ที่พระท่านเรียกว่า "ญาณทัสสนะ" เห็นเป็นเช่นนั้นจริง ๆ ซึ่งจิตที่ได้ผ่านการอบรมสมาธิมาจนมีกำลังดีแล้ว ย่อมมีพลังให้เกิดญาณทัสสนะ หรือปัญญาที่รู้แจ้งเห็นจริงดังกล่าวได้ เรียกกันว่า "สมาธิอบรมปัญญา" คือ สมาธิทำให้วิปัสสนาญาณเกิดขึ้น และเมื่อวิปัสสนาญาณได้เกิดขึ้นแล้ว ย่อมถ่ายถอนกิเลสให้เบาบางลง จิตก็ย่อมจะเบาและใสสะอาดบางจากกิเลสทั้งหลายไปตามลำดับ สมาธิจิตก็จะยิ่งก้าวหน้าและตั้งมั่นมากยิ่ง ๆ ขึ้นไปอีก เรียกว่า "ปัญญาอบรมสมาธิ"
ฉะนั้น ทั้งสมาธิและวิปัสสนา จึงเป็นทั้งเหตุและผลของกันและกัน และอุปการะซึ่งกันและกัน จะมีวิปัสสนาปัญญาเกิดขึ้นโดยขาดกำลังสมาธิสนับสนุนมิได้เลย อย่างน้อยที่สุดก็จะต้องใช้กำลังของ ขณิกสมาธิเป็นบาทฐานในระยะแรกเริ่ม
สมาธิจึงเปรียบเหมือนกับหินลับมีด ส่วนวิปัสสนานั้น เหมือนกับมีดที่ได้ลับกับหินคมดีแล้ว ย่อมมีอำนาจถากถางตัดฟันบรรดากิเลสทั้งหลายให้ขาดและพังลงได้
พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ว่า "ผู้ใดแม้จะทำสมาธิจนจิตเป็นฌานได้นานถึง ๑๐๐ ปี และไม่เสื่อม ก็ยังได้บุญน้อยกว่าผู้ที่มองเห็นความเป็นจริงที่ว่า สรรพสิ่งทั้งหลายอันเนื่องมาจากการปรุงแต่ง ล้วนแล้วแต่เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แม้จะเห็นเพียงชั่วขณะจิตเดียวก็ตาม" ดังนี้
จะเห็นได้ว่า วิปัสสนาภาวนานั้น เป็นสุดยอดของการสร้างบุญบารมีโดยแท้จริง และการกระทำก็ไม่เหนื่อยยากลำบาก ไม่ต้องแบกหาม ไม่ต้องลงทุนหรือเสียทรัพย์แต่อย่างใด แต่ก็ได้กำไรมากที่สุด เมื่อเปรียบการให้ทานเหมือนกับกรวด และทราย ก็เปรียบวิปัสสนาได้กับเพชรน้ำเอก ซึ่งทานย่อมไม่มีทางที่จะเทียบศีล ศีลก็ไม่มีทางที่จะเทียบกับสมาธิ และสมาธิก็ไม่มีทางที่จะเทียบกับวิปัสสนา
แต่ตราบใดที่เราท่านทั้งหลายยังไม่ถึงฝั่งพระนิพพาน ก็ต้องเก็บเล็กผสมน้อย โดยทำทุก ๆ ทางเพื่อความไม่ประมาท โดยทำทั้งทาน ศีล และภาวนา สุดแต่โอกาสจะอำนวยให้ จะถือว่าการเจริญวิปัสสนาภาวนานั้นลงทุนน้อยที่สุด แต่ได้กำไรมากที่สุด ก็เลยทำแต่วิปัสสนาอย่างเดียว โดยไม่ยอมลงทุนทำบุญให้ทานใด ๆ ไว้เลย เมื่อเกิดชาติหน้า เพราะเหตุที่ยังไม่ถึงฝั่งพระนิพพาน ก็เลยมีแต่ปัญญาอย่างเดียวไม่มีจะกินจะใช้ ก็เห็นจะเจริญวิปัสสนาให้ถึงฝั่งพระนิพพานไปไม่ได้เหมือนกัน
อนึ่ง พระพุทธองค์ได้ตรัสเอาไว้ว่า "ผู้ใดมีปัญญาพิจารณาจนจิตเห็นความจริงว่า ร่างกายนี้เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน คน สัตว์ แม้จะนานเพียงชั่วช้างยกหูขึ้นกระดิก ก็ยังดีเสียกว่าผู้ที่มีอายุยืนนานถึง ๑๐๐ ปี แต่ไม่มีปัญญาเห็นความเป็นจริงดังกล่าว" กล่าวคือ แม้ว่าอายุของผู้นั้นจะยืนยาวมานานเพียงใด ก็ย่อมโมฆะเสียเปล่าไปชาติหนึ่ง จัดว่าเป็น "โมฆบุรุษ" คือ บุรุษที่สูญเปล่า
อ่านต่อ วิปัสสนากัมมัฏฐาน
๕. วิปัสสนาญาณ
วิปัสสนาญาณ ญาณ ๑๖ หรือ โสฬสญาณ ความหยั่งรู้ ในที่นี้หมายถึงญาณที่เกิดขึ้นแก่ผู้เจริญวิปัสสนาตามลำดับ ตั้งแต่ต้นจนถึงที่สุด
๑. นามรูปปริจเฉทญาณ ความรู้จักรูปธรรม-นามธรรม
๒. นามรูปปัจจัยปริคคหญาณ ญาณที่กําหนดปัจจัยของนามรูป
๓. สัมมสนญาณ หมายถึง ญาณที่พิจารณา นามรูปตามแนวไตรลักษณ์
๔. อุทยัพพยานุปัสสนาญาณ ญาณอันตามเห็นความเกิดดับ
๕. ภังคานุปัสสนาญาณ ญาณอันตามเห็นความสลาย
๖. ภยตูปัฏฐานญาณ ญาณอันมองเห็นสังขารปรากฎเป็นของน่ากลัว
๗. อาทีนวานุปัสสนาญาณ ญาณอันคํานึงเห็นโทษเป็น อุปมาเหมือนเรานอนอยู่บนเรือนที่ไฟกำลังไหม้อยู่ฉะนั้น
๘. นิพพิทานุปัสสนาญาณ ญาณอันคํานึงเห็นเป็นของน่าเกลียดน่าหน่าย ว่าเราหลงเข้ามายึดเอาของไม่ดีว่าเป็นของดี
๙. มุจจิตุกัมยตาญาณ ญาณหยั่งรู้ที่ทําให้ต้องการจะพ้นไปเสีย เหมือนกับปลาที่ติดอวนหรือนกที่ติดข่ายฉะนั้น
๑๐. ปฏิสังขานุปัสสนาญาณ ญาณอันพิจารณาทบทวนเพื่อให้เห็นทางเอาตัวรอดด้วยอุบายต่างๆ
๑๑. สังขารุเบกขาญาณ ญาณอันเป็นไปโดยความเป็นกลางต่อสังขาร เพราะเห็นชัดตามเป็นจริง หายความสงสัยแล้ววางเฉยในสังขารทั้งปวง
๑๒. สัจจานุโลมิกญาณ ญาณอันเป็นไปโดยอนุโลมแก่การหยั่งรู้อริยสัจ
๑๓. โคตรภูญาณ ญาณครอบโคตร ญาณที่เป็นหัวต่อ ระหว่างภาวะ ปุถุชน กับภาวะอริยบุคคล
๑๔. มัคคญาณ ญาณในอริยมรรค คือ ความหยั่งรู้ที่ให้สำเร็จภาวะอริยบุคคลแต่ละขั้น
๑๕. ผลญาณ ญาณในอริยผล คือ ความหยั่งรู้ที่เป็นผลสำเร็จของพระอริยบุคคลชั้นนั้นๆ
๑๖. ปัจจเวกขณญาณ ญาณหยั่งรู้ด้วยการพิจารณาทบทวน คือ สำรวจรู้มรรค ผล กิเลสที่ละแล้ว กิเลสที่เหลืออยู่ และนิพพาน
หลวงพ่อฤาษีลิงดำ กล่าวไว้ว่า
"วิปัสสนาญาณ ๙ ท่านบอกว่า ท่านทำ ๒ อย่าง เท่านั้น อีก ๗ อย่างจะเข้ามาหา ๒ อย่าง คือ นิพพิทาญาณ ความเบื่อหน่ายในขันธ์ ๕ และ สังขารุเปกขาญาณ วางเฉยในอารมณ์ต่างๆ ที่จะพึงเกิดขึ้นหรือว่าอาการต่างๆ ที่จะพึงเกิดขึ้นกับใจก็ดี กับขันธ์ ๕ ก็ดี ถ้าได้อย่างตัวนี้ก็ชื่อว่าจบวิปัสสนาญาณ ๙"
หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี กล่าวไว้ว่า
"เมื่อเจริญสมถะมีกำลังแล้ววิปัสสนาจึงจะเดินต่อ เมื่อเดินวิปัสสนาเต็มที่แล้ว จิตก็ต้องมาพักอยู่ในอารมณ์ของสมถะนั้นเอง ทั้งที่จิตเดินวิปัสสนาอยู่นั้น เช่น พิจารณาเห็นสังขารเป็นอนิจจลักษณะเป็นต้น จิตก็สงบเพ่งอยู่ในอารมณ์อันเดียวนั้นเอง วิปัสสนาจึงแจ้งชัด ซึ่งจัดว่ามีสมถะอยู่พร้อมแล้ว เมื่อเจริญสมถะอยู่ เช่น เพ่งพิจารณารูปกายอันนี้ให้เป็นธาตุ ๔ เป็นต้น ตามความเป็นจริงแล้ว จิตนั้นสงบแน่วแน่อยู่ในอารมณ์อันนั้น ความเห็นตามเป็นจริงก็ได้ชื่อว่าวิปัสสนาอยู่แล้ว
สมถวิปัสสนานี้ เมื่อมีกำลังเสมอภาคกันเข้าเมื่อไรแล้ว เมื่อนั้นแล มรรคทั้งแปดมีสัมมาทิฏฐิเป็นต้น จะมารวมกันเข้าเป็นองค์อันเดียว อย่าว่าแต่มรรคทั้งแปดเลย อริยสัจธรรมทั้งสี่ก็ดี โพธิปักขิยธรรมทั้งสามสิบเจ็ดก็ดี หรือธรรมหมวดอื่นๆ นอกจากนี้ก็ดี ย่อมมารวมอยู่ในมรรคอันเดียวในขณะเดียวกันนั้น ขณะนั้นท่านจึงเรียกว่า สมัยวิมุตติ หรือ เอกาภิสมัย รู้แจ้งแทงตลอดในสัพพเญยยธรรมทั้งปวงขณะเดียว ของไม่รวมกันอยู่ ณ ที่เดียวจะไปรู้ได้อย่างไร จึงสมกับคำว่า ผู้มีเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ จึงจะถึงวิมุตติธรรมได้ดังนี้
ดังจักมีคำถามว่า มรรคทั้งแปดทำไมจึงมารวมเป็นอันเดียวกัน แล้วธรรมทั้งหลายมีอริยสัจ ๔ เป็นต้น ก็มารวมอยู่ในที่นั้นด้วย ส่วนผู้ที่มาอบรมให้เป็นไปเช่นนั้นแต่ก่อนๆ ก็ไม่ทราบว่าอะไรเป็นธรรมหมวดไหน แต่ในเวลาธรรมมารวมเข้าเป็นอันเดียวกันแล้วทำไมจึงรู้ได้ (ข้าพเจ้าขอตอบโดยอนุมานว่า) เพราะจิตเดิมเป็นของอันเดียว ที่ว่าจิตมีมากดวง เพราะจิตแสดงอาการออกไปจึงได้มีมาก เมื่อจิตมีอันเดียว ธรรมอันบริสุทธิ์ที่จะให้หลุดพ้นจากอาการมาอย่างก็ต้องมีอันเดียวเหมือนกัน จิตอันเดียว ธรรมอันเดียว จึงเข้าถึงซึ่งวิมุตติได้ จึงเรียกว่า เอกาภิสมัยวิมุตติ"
เมื่อกล่าวถึงวิปัสสนาญาณโดยเฉพาะ อันหมายถึงญาณที่นับเข้าในวิปัสสนา หรือญาณที่จัดเป็นวิปัสสนา จะมีเพียง ๙ ขั้น คือ ตั้งแต่ อุทยัพพยานุปัสสนาญาณ ถึง สัจจานุโลมิกญาณ (ตามปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ (ขั้นหนึ่งในวิสุทธิ ๗) ที่บรรยายคัมภีร์ในวิสุทธิมรรค แต่ในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะ นับรวม สัมมสนญาณ ด้วยเป็น ๑๐ ขั้น) เมื่อโพชฌงค์เจริญบริบูรณ์ครบ ๗ ข้อ จิตจึงมีกำลังสามารถเห็นวิปัสสนาญาณได้ และใช้วิปัสสนาที่ปรากฏขึ้นมาเป็นเครื่องมือนำไปสู่มรรค ผล นิพพาน
อ่านต่อ วิปัสสนาญาณ ๙ อ่านต่อ วิปัสสนาญาณ ๑๖
๖. มรรคผลนิพพาน
ความจริงวิปัสสนาญาณจะเกิดได้พร้อมๆ กันในวิถีจิตเดียวก็หามิได้ เมื่อจะเกิดนั้นย่อมเกิดจากภูมิของสมาธิเป็นหลัก สมาธิเป็นเกณฑ์ ถ้าหากสมาธิหนักแน่นมาก หรือถอนออกจากอัปปนาใหม่ๆ แล้ว วิปัสสนาญาณทั้งหกเหล่านี้คือ อุทยัพพยญาณ ภังคญาณ ภยตูปัฏฐานญาณ อาทีนวญาณ นิพพิทาญาณ มุญจิตุกัมยตาญาณ มักเกิด ถ้าหากอุปจารสมาธิแก่กล้า วิปัสสนาญาณทั้งสองเหล่านี้ คือ สัมมสนญาณ กับ ปฏิสังขาญาณ มักเกิด เรียกกันง่ายๆ ว่า ถ้าอุปจารสมาธิกล้าก็คือหนักไปทางปัญญา อัปปนาสมาธิกล้าก็คือหนักไปในทางสมถะ ถ้าสมถะกับปัญญามีกำลังพอเสมอเท่าๆ กัน ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันแล้ว "สังขารุเปกขาญาณ" ย่อมเกิดขึ้น หรือจะเรียกอีกนัยหนึ่งว่า "มัคคสมังคี"
องค์มรรคสามัคคี หรือ มัคคสมังคี มุ่งหมายไปที่ "สัมมาสมาธิ" เพื่อให้เป็นสนามปฏิบัติการของปัญญา องค์ธรรมทั้งหลายจะมาทํางานร่วมกันให้บรรลุวัตถุประสงค์ คือ การรู้แจ้งสัจธรรม กําจัดกิเลส ถึงภาวะดับปัญหาไร้ทุกข์ และก็ได้กล่าวแล้วเช่นเดียวกันว่า องค์มรรคทั้ง ๘ ประการทํางานประสานสอดคล้องส่งเสริมกัน โดยมี "สัมมาทิฏฐิ" เป็นหัวหน้านําทางไป
อ่านต่อ มรรคมีองค์ ๘
จึงเป็นอันได้ความในตอนนี้ว่า องค์มรรคอื่นทั้ง ๗ ข้อ เป็นเครื่องเกื้อหนุนให้กําลังแก่สมาธิ ช่วยให้สมาธิเกิดขึ้นได้ ดํารงอยู่ได้ดี เป็นสัมมาสมาธิ คือสมาธิที่ถูกต้อง ส่งผลคืบหน้าต่อไปอีกจนถึงจุดหมาย โดยช่วยให้เกิดองค์ธรรมเพิ่มขึ้นอีก ๒ อย่างในขั้นสุดท้าย เรียกว่า สัมมาญาณ (หยั่งรู้ ชอบ) และสัมมาวิมุตติ (หลุดพ้นชอบ)
เมื่อมองในแง่นี้ ท่านเรียกองค์มรรคอื่นทั้ง ๗ ข้อ ว่าเป็น “สมาธิบริขาร” แปลว่า บริขารของสมาธิ หมายความว่า เป็นเครื่องประกอบ เครื่องแวดล้อม เครื่องหนุนเสริม หรือเครื่องปรุงของสมาธิ สมาธิที่ประกอบด้วยบริขารนี้แล้ว เรียกว่า เป็นอริยสัมมาสมาธิ
อ่านต่อ สัมมาสมาธิ
มรรคมีองค์ ๘ หรืออัฏฐิงคิกมรรค นี้ เมื่อเจริญพรั่งพร้อมถึงที่ ก็จะถึงขีดและถึงขณะหนึ่ง ซึ่งองค์มรรคทั้งหมดร่วมกัน ( มัคคสมังคี ) ทําหน้าที่ ให้เกิดญาณอันแรงกล้าสว่างขึ้นมาหยั่งเห็นสัจธรรม และกําจัดกวาดล้างกิเลสที่หุ้มห่อบีบคั้นจิตออกไป การที่องค์มรรคทั้งหมดทําหน้าที่พร้อมกันเช่นนี้ เรียกว่าเป็น “มรรค” เพราะเป็นขณะซึ่งมี องค์ประกอบทั้งหมดครบเป็นมรรคจริงๆ
อ่านต่อ มัคคสมังคีเมื่อมรรคทําหน้าที่แล้ว ก็มีภาวะที่เป็นผลตามมา คือความรู้ความเข้าใจในสัจธรรม และความหลุดพ้น จากกิเลส ไร้สิ่งบีบคั้น เป็นอิสระ เรียกสั้นๆ ว่า “ผล”
ถ้าทุกอย่างค่อยดําเนินไปตามลําดับ จะมีการทําหน้าที่ของมรรคเช่นนี้ ที่แรงหรือเบ็ดเสร็จยิ่งขึ้น จนเสร็จ สิ้นรวมทั้งหมด ๔ คราว หรือ ๔ ขั้น จึงเรียกว่ามรรค ๔ และภาวะที่เป็นผลจึงมี ๔ เช่นเดียวกัน รวมเรียกว่า มรรค ๔ ผล ๔ หรือ อริยมรรค ๔ หรือ อริยผล ๔ คือ
๑. โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล ละสังโยชน์เบื้องต่ำ ๓ ประการคือ
1. กายทิฏฐิ คือ ความเห็นว่าเป็นตัวของตน ความเห็นเป็นเหตุถือตัวตนเป็นอัตตาทิฎฐิ เช่น เห็นรูปเป็นตน เห็นเวทนาเป็นตน
2. วิจิกิจฉา คือ ความสงสัยในพระรัตนตรัย และในกุศลธรรมทั้งหลาย
3. สีลัพพตปรามาส คือ ความยึดมั่นในข้อปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ที่เข้าใจว่าเป็นข้อปฏิบัติที่บริสุทธิ์หลุดพ้น เป็นมิจฉาทิฏฐิ เช่น การประพฤติวัตรอย่างโค การนอนบนหนามของพวกโยคี เป็นต้น
๒. สกทาคามิมรรค สกทาคามิผล ละสังโยชน์เบื้องต่ำ ๓ ประการ และทำสังโยชน์เบื้องต่ำอีกสองประการที่เหลือให้เบาบางลงด้วย
4. กามราคะ หมายถึง ความพอใจในกาม คือ การความเพลินในการได้เสพ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ธรรมารมณ์ ที่น่า
5. พอใจปฏิฆะ หมายถึง ความกระทบกระทั่งในใจ คล้ายความพยาบาทอย่างละเอียด
๓. อนาคามิมรรค อนาคามิผล ละสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ ประการได้แล้ว ยังเหลือสังโยชน์เบื้องสูง (อุทธัมภาคิยสังโยชน์) อีก ๕ ประการ คือ
6. รูปราคะ หมายถึง ความพอใจในรูปฌาน หรือ รูปธรรมอันประณีต หรือ ความพอใจในรูปภพ
7. อรูปราคะ หมายถึง ความพอใจในอรูปฌาน หรือ พอใจในอรูปธรรม เช่น ความรู้ เป็นต้น หรือ ความพอใจในอรูปภพ
8. มานะ หมายถึง ความสำคัญตนว่าเป็นนั่นเป็นนี่ เช่น เป็นพระอนาคามี (แม้ว่าจะเป็นจริงๆ) เป็นต้น
9. อุทธัจจะ คือ ความฟุ้งของจิต
10. อวิชชา คือ ความไม่รู้แจ้ง
๔. อรหัตมรรค และอรหัตผล ละสังโยชน์ได้ครบ ๑๐ ประการ คือ พระอริยบุคคลชั้นสูงสุด
รูปประกอบจากหนังสือ พุทธธรรม ฉบับปรับขยาย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต)
อ่านต่อ สังโยชน์
ในขณะแห่งมรรคนี้ มิใช่เฉพาะองค์มรรคเพียง ๘ เท่านั้น แม้โพธิปักขิยธรรมทั้ง ๓๗ ประการก็เกิดขึ้น ทําหน้าที่พร้อมหมดในขณะจิตเดียวกัน
อ่านต่อ โพธิปักขิยธรรม
ต่อไปนี้ เป็นตัวอย่างพุทธพจน์แสดงวิธีปฏิบัติธรรมแนวหนึ่ง ซึ่งให้เห็นการที่โพธิปักขิยธรรมทั้งหมด เนื่องอยู่ด้วยกันกับมรรคมีองค์ ๘ และเป็นวิธีปฏิบัติที่มองเผินๆ อาจว่าง่าย ไม่มีอะไรมาก คือ สําหรับผู้พร้อม แล้ว ก็ง่าย แต่ผู้ไม่พร้อม อาจยาก และอาจต้องปฏิบัติอะไรๆ อื่นอีกมาก เพื่อทําให้พร้อม
“ภิกษุทั้งหลาย บุคคลรู้อยู่ เห็นอยู่ตามเป็นจริง ซึ่งจักษุซึ่งรูปทั้งหลาย...ซึ่งจักขุวิญญาณ ซึ่งจักขุสัมผัส. ซึ่งเวทนา สุข ทุกข์ หรือไม่ทุกข์ไม่สุข ที่เกิดขึ้นเพราะจักขุสัมผัสเป็นปัจจัย ย่อม ไม่ติดใครใน (จักษุเป็นต้นที่กล่าวมาแล้ว) นั้น เมื่อเขาไม่ติดใคร่ ไม่ผูกรัดตัว ไม่ลุ่มหลง เล็งเห็น โทษอยู่ อุปาทานขันธ์ ๕ ย่อมถึงความไม่เติบขยายต่อไป, ตัณหา อันนําให้มีภพใหม่ ประกอบด้วยนันทิราคะ ซึ่งครุ่นใครใฝ่หาในอารมณ์ต่างๆ ก็ถูกละได้, ความกระวนกระวายกายก็ดี ความกระวนกระวายใจก็ดี ความแผดเผาทางกายก็ดี ความแผดเผาทางใจก็ดี ความเร่าร้อนกายก็ ดี ความเร่าร้อนใจก็ดี ก็ถูกละได้, เขาย่อมได้เสวยทั้งสุขทางกาย ทั้งสุขทางใจ;
“บุคคลที่เป็นเช่นนั้นแล้ว มีความเห็นอันใด ความเห็นนั้นก็เป็นสัมมาทิฏฐิ มีความดําริใด ความดํารินั้นก็เป็นสัมมาสังกัปปะ มีความพยายามใด ความพยายามนั้นก็เป็นสัมมาวายามะ มีสติ ใด สตินั้นก็เป็นสัมมาสติ มีสมาธิใด สมาธินั้นก็เป็นสัมมาสมาธิ ส่วนกายกรรม วจีกรรม อาชีวะ ของเขา ย่อมบริสุทธิ์ดีตั้งแต่ต้นที่เดียว, มรรคมีองค์ ๘ อันเป็นอริยะของเขา ย่อมถึงความ เจริญเต็มบริบูรณ์ได้ ด้วยอาการอย่างนี้”
“เมื่อเขาเจริญมรรคมีองค์ ๘ อันเป็นอริยะนี้อยู่อย่างนี้ แม้สติปัฏฐาน ๔ ก็ย่อมถึงความ เจริญเต็มบริบูรณ์ แม้สัมมัปปธาน ๔ แม้อิทธิบาท ๔ แม้อินทรีย์ ๕ แม้พละ ๕ แม้โพชฌงค์ ๗ ก็ย่อมถึงความเจริญเต็มบริบูรณ์, เขาย่อมมีธรรม ๒ อย่างนี้ คือ สมถะ และ วิปัสสนา เข้าเคียงคู่กันไป”
“ธรรมเหล่าใด พึงกําหนดรู้ด้วยอภิญญา เขาก็กําหนดรู้ด้วยอภิญญา ซึ่งธรรมเหล่านั้น ธรรมเหล่าใด พึงละด้วยอภิญญา เขาก็ละด้วยอภิญญา ซึ่งธรรมเหล่านั้น, ธรรมเหล่าใด จึงให้เกิดมีด้วยอภิญญา เขาก็ทําให้เกิดมีด้วยอภิญญา ซึ่งธรรมเหล่านั้น, ธรรมเหล่าใด พึงประจักษ์ แจ้งด้วยอภิญญา เขาก็ประจักษ์แจ้งด้วยอภิญญา ซึ่งธรรมเหล่านั้น”
นิพพาน กล่าวโดยอาการที่เข้าถึง หรือกล่าวโดยสภาพที่บรรลุ หรือโดยอาการ ที่เป็นไปแล้ว มี ๓ คือ
ก. อนิมิตนิพพาน หมายถึงนิพพานนั้นไม่มีนิมิตไม่มีเครื่องหมาย ไม่มีรูปร่าง การสงัดจากนิมิตอารมณ์ ที่ยังให้เกิดกิเลส หรือ ชรามรณธรรม เป็นต้น นั้น เรียกว่า อนิมิตตนิพพาน ผู้เจริญวิปัสสนาภาวนา จนเห็นสามัญลักษณะ หรือ ไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง เห็นความไม่เที่ยง อันปราศจากนิมิตเครื่องหมายเช่นนี้แล้ว และเพ่งอนิจจังต่อไปจน บรรลุมัคคผล มีนิพพานเป็นอารมณ์ นิพพานที่เป็นอารมณ์แก่ผู้ที่เห็นอนิจจังนั้นมี ชื่อว่า อนิมิตตนิพพาน ผู้มีอนิมิตตนิพพานเป็นอารมณ์ บุญญาธิการแต่ปางก่อนแรง ด้วย สีล
ข. อัปปณิหิตนิพพาน หมายถึง นิพพานนั้น ไม่มีอารมณ์เป็นที่น่าปรารถนา การสงัดจากความดิ้นรนอันเป็นเหตุให้เกิดสรรพทุกข์นั้น เรียกว่า อัปปณิหิตนิพพาน ผู้เจริญวิปัสสนาภาวนา จนเห็นไตรลักษณ์ คือ ทุกข์ เห็นความทนอยู่ไม่ได้ ต้องเปลี่ยนแปรไป อันหาเป็น ปณิธิ ที่ตั้งไม่ได้เช่นนี้แล้ว และเพ่งทุกข์ต่อไปจน บรรลุมัคคผล มีนิพพานเป็นอารมณ์ นิพพานที่เป็นอารมณ์แก่ผู้ที่เห็นทุกข์นั้นมี ชื่อว่า อัปปณิหิตนิพพาน ผู้มีอัปปณิหิตนิพพานเป็นอารมณ์ บุญญาธิการแต่ปางก่อน แรงด้วย สมาธิ
ค. สุญญตนิพพาน หมายถึง นิพพานนั้นสูญสิ้นจากกิเลสและอุปาทาน และ ขันธ์ ๕ ไม่มีอะไรเหลืออยู่ ผู้เจริญวิปัสสนาภาวนา จนเห็นไตรลักษณ์ คือ อนัตตา เห็นความไม่ใช่ตัวตน บังคับบัญชาไม่ได้ อันเป็นความว่างเปล่า เช่นนี้แล้ว และเพ่งอนัตตาต่อไปจนบรรลุมัคคผล มีนิพพานเป็นอารมณ์ นิพพานที่เป็นอารมณ์แก่ผู้เห็นอนัตตานั้น มีชื่อว่า สุญญตนิพพาน ผู้ที่มีสุญญตนิพพานเป็นอารมณ์นี้ บุญญาธิการแต่ปางก่อนแรงด้วย ปัญญา
ผู้ที่เห็นสามัญญลักษณ์ หรือไตรลักษณ์ คือ อนิจจังกับอนัตตาแล้วก้าวขึ้นสู่ มัคคผลนั้น มีจำนวนมากกว่าผู้ที่เห็น ทุกขังอ่านต่อ นิพพาน
ปัญญากับการบรรลุธรรมในสมัยพุทธกาล
พระพุทธองค์ได้แสดงปฐมเทศนาคือธัมมจักกัปปวัตตนสูตรแก่ปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ จนพระอัญญาโกณฑัญญะบรรลุโสดาบัน และในวันต่อ ๆ มา คือในวันแรม ๑ ค่ำ ๒ ค่ำ ๓ ค่ำ และ ๔ ค่ำเดือน ๘ ทรงแสดง “ปกิณณกเทศนา” คือ เทศนาธรรมรายละเอียดเบ็ดเตล็ดต่างๆ ยังผลให้พระวัปปะ พระภัททิยะ พระมหานามะ และพระอัสสชิ บรรลุโสดาบันตามลำดับ และได้รับเป็นเอหิภิกขุอุปสัมปทาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ในระหว่างที่ทรงแสดงปกิณณกเทศนา เพื่ออบรมพระวัปปะ พระภัททิยะ พระมหานามะ และพระอัสสชิอยู่นั้น พระอริยเจ้าทั้งหลายมิได้บิณฑบาตยังชีพ ต่างเร่งกระทำความเพียร เช่นเดียวกับสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็มิได้ทรงบิณฑบาตรเช่นกัน เพื่อทรงสั่งสอนอบรมพระอริยเจ้าจนกระทั่งแต่ละองค์สำเร็จมรรคผลขั้นต้นในที่สุด คือ พระโสดาบัน
พระพุทธองค์ทรงพิจารณาเห็นว่า พระปัญจวัคคีย์ มีญาณแก่กล้า พอที่จะบรรลุธรรมเบื้องสูงได้แล้ว จึงตรัสพระธรรมเทศนา “อนัตตลักขณสูตร”
วันแรม ๕ ค่ำ เดือน ๘ หลังจากสดับพระธรรมเทศนาอนัตตลักขณสูตร คือสูตรที่แสดงลักษณะแห่งเบญจขันธ์ว่าเป็นอนัตตาความไม่มีตัวตน พระภิกษุปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ได้บรรลุพระนิพพานเป็นพระอรหันต์พร้อมกันทั้ง ๕ รูป นับเป็นพระอรหันต์กลุ่มแรกในพระบวรพุทธศาสนา ดังปรากฏในเนื้อความของพระสูตรดังที่พระธรรมสังคาหกาจารย์ หรือ พระอาจารย์ผู้ทำสังคายนาร้อยกรองตั้งเป็นพระบาลีไว้ ได้กล่าวไว้ในตอนท้ายพระสูตรไว้ ดังนี้
" อิทมโวจ ภควา. อตฺตมนา ปญฺจวคฺคิยา ภิกฺขู ภควโต ภาสิตํ อภินนฺทุ. อิมสฺมึ จ ปน เวยฺยากรณสฺมึ ภญฺญมาเน ปญฺจวคฺคิยานํ ภิกฺขูนํ อนุปาทาย อาสเวหิ จิตฺตานิ วิมุจฺจึสุ. เตน โข ปน สมเยน ฉ โลเก อรหนฺโต โหนฺติ."
ความว่า"พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระสูตรนี้แล้ว พระปัญจวัคคีย์มีใจยินดี เพลิดเพลินภาษิตของพระผู้มีพระภาค. ก็แลเมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสไวยากรณภาษิตนี้อยู่ จิตของพระปัญจวัคคีย์พ้นแล้วจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น ครั้งนั้น มีพระอรหันต์เกิดขึ้นในโลก ๖ องค์"
อนัตตลักขณสูตร พระสูตรนี้มีใจความโดยย่อดังที่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก (เจริญ สุวฑฺฒโน) ได้ทรงมีพระนิพนธ์ไว้ดังต่อไปนี้
ตอนที่ ๑ พระบรมศาสดาได้ทรงแสดง รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ว่าเป็นอนัตตา มิใช่อัตตาตัวตน ถ้าทั้งห้านี้ พึงเป็นอัตตาตัวตน ทั้งห้านี้ก็ถึงไม่เป็นไปเพื่ออาพาธ และบุคคลก็จะพึงได้ในส่วนทั้งห้านี้ว่า ขอให้เป็นอย่างนี้เถิด อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย แต่เพราะเหตุว่าทั้งห้านี้มิใช่อัตตาตัวตน ฉะนั้น ทั้งห้านี้จึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และบุคคลก็ย่อมไม่ได้ส่วนทั้งห้านี้ว่า ขอให้เป็นอย่างนี้เถิด อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย
ตอนที่ ๒ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสสอบความรู้ความเห็นของท่านทั้งห้านั้น ตรัสถามว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ทั้งห้านี้เที่ยงหรือไม่เที่ยง ท่านทั้งห้า ทูลตอบว่า ไม่เที่ยง ตรัสถามอีกว่า สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข ท่านทั้งห้ากราบทูลว่าเป็นทุกข์ ก็ตรัสถามต่อไปว่า สิ่งใดไม่เที่ยงเป็นทุกข์มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา ควรหรือจะเห็นสิ่งนั้น
ตอนที่ ๓ พระพุทธเจ้าได้ตรัสรุปลงว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ทั้งห้านี้ที่เป็นส่วนอดีตก็ดี เป็นส่วนอนาคตก็ดี เป็นส่วนปัจจุบันก็ดี เป็นส่วนภายในก็ดี เป็นส่วนภายนอกก็ดี เป็นส่วนหยาบก็ดี เป็นส่วนละเอียดก็ดี เป็นส่วนเลวก็ดี เป็นส่วนประณีตก็ดี อยู่ในที่ไกลก็ดี อยู่ในที่ใกล้ก็ดี ทั้งหมดก็สักแต่ว่าเป็นรูป เป็นเวทนา เป็นสัญญา เป็นสังขาร เป็นวิญญาณ ควรเป็นด้วยปัญญาชอบตามที่เป็นแล้วว่า นี่ไม่ใช่ของเรา เราไม่ใช่นี่ นี่ไม่ใช่ตัวตนของเรา
ตอนที่ ๔ พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงผลทีเกิดแก่ผู้ฟังและเกิดความรู้เห็นชอบดั่งกล่าวมานั้นต่อไปว่า อริยสาวก คือ ผู้ฟังผู้ประเสริฐซึ่งได้สดับแล้วอย่างนี้ ย่อมเกิดนิพพิทา คือ ความหน่ายในรูป หน่ายในเวทนา หน่ายในสัญญา หน่ายในสังขาร หน่ายในวิญญาณ เมื่อหน่ายก็ย่อมสิ้นราคะ คือ สิ้นความติด ความยินดี ความกำหนัด เมื้อสิ้นราคะ ก็ย่อมวิมุตติ คือ หลุดพ้น เมื่อวิมุตติ ก็ย่อมมีญาณ คือความรู้ว่าวิมุตติ หลุดพ้นแล้ว และย่อมรู้ว่า ชาติ คือ ความเกิดสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำสำเร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นที่จะพึงทำเพื่อความเป็นเช่นนี้อีกต่อไป
จุดมุ่งหมายของพระสูตรนี้ก็เพื่อชี้ให้เห็นถึงความเป็นอนัตตาของสรรพสิ่ง ให้เล็งเห็นว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ หรือขันธ์ ๕ นั้น ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรไปเป็นธรรมดา ไม่ควรที่จะเห็นโดยสำคัญด้วยตัณหา มานะ ทิฏฐิว่า นั่นเป็นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา ก่อนที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุธเจ้าจะทรงตรัสรู้ทรงตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณนั้น ชาวโลกมีทิฏฐิสุดโต่งอยู่ ๒ ประการ กล่าวคือ ฝ่ายสัสสตทิฏฐิ ที่เห็นว่าในปัจจุบันชาตินี้ก็มีอัตตา คือ ตัวตน เมื่อสิ้นชีวิตไปแล้วอัตตาคือตัวตนก็ยังไม่สิ้น ยังจะมีสืบภพชาติต่อไป มีชาติหน้าเรื่อยไปไม่มีขาดสูญ และฝ่ายอุจเฉททิฏฐิ ความเห็นว่า มีอัตตาตัวตนอยู่แต่ในปัจจุบันชาตินี้เท่านั้น เมื่อสิ้นชีวิตไปแล้วอัตตาตัวตนก็สิ้นไป ไม่มีอะไรเหลืออยู่ที่จะให้ไปเกิด ดั่งที่เห็นว่า ตายสูญ
แต่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประกาศว่า ความเห็นทั้ง ๒ ฝ่ายล้วนเป็น มิจฉาทิฏฐิ คือความเห็นผิด และทรงชี้ทางที่เห็นถูกไว้ว่า ตราบใดที่ยังไม่สิ้นความยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ ๕ แล้ว อาทิ ยังยึดมันว่า รูปเป็นตัวตน หรืออัตตา เวทนาเป็นอัตตา สัญญาเป็นอัตตา สังขารเป็นอัตตา และวิญญาณเป็นอัตตา ก็ยังจะมีการเกิดดับไม่รู้จักจบสิ้นในสังสารวัฏ การยึดมั่นในขันธ์ ๕ นี้ เรียกว่า "ปัญจุปาทานขันธ์"
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก (เจริญ สุวฑฺฒโน) ทรงแสดงทัศนะไว้ว่า "ในสมัยพุทธกาลหรือสมัยไหน ๆ ก็คงเป็นเช่นนี้ ในปัจจุบันก็เป็นเช่นนี้ และพระปัญจวัคคีย์นั้นก็ย่อมมีความยึดถืออยู่เช่นนี้อย่างมั่นคง เพราะฉะนั้น เมื่อฟังธรรมจักร ท่านพระอัญญาโกณฑัญญะจึงได้ดวงตาเห็นธรรมเพียงรูปเดียว เมื่อพระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงธรรมอบรมอีก จึงได้ดวงตาเห็นธรรมจนครบทั้ง ๕ รูป แต่ก็ได้เพียงดวงตาเห็นธรรม เท่ากับว่าเห็นทุกขสัจ ความจริงคือทุกข์ขึ้นเท่านั้น พระพุทธเจ้าจึงได้ทรงแสดงพระสูตรที่ ๒ ชี้ลักษณะของอาการทั้ง ๕ เหล่านี้ว่าเป็น อนัตตา คือ ไม่ใช่ตัวตนโดยชัดเจน
มรรค ๔ คือ ทางเข้าถึงความเป็นอริยบุคคล, ญาณที่ทำให้ละสังโยชน์ได้ขาด- โสดาปัตติมรรค คือ มรรคอันให้ถึงกระแสที่นำไปสู่พระนิพพานทีแรก, มรรคอันให้ถึงความเป็นพระโสดาบัน เป็นเหตุละสังโยชน์ได้ ๓ คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส
- สกทาคามิมรรค คือ มรรคอันให้ถึงความเป็นพระสกทาคามี เป็นเหตุละสังโยชน์ได้ ๓ ข้อต้น กับทำราคะ โทสะ โมหะ ให้เบาบางลง
- อนาคามิมรรค คือ มรรคอันให้ถึงความเป็นพระอนาคามี เป็นเหตุละสังโยชน์เบื้องต่ำได้ทั้ง ๕
- อรหัตตมรรค คือ มรรคอันให้ถึงความเป็นพระอรหันต์ เป็นเหตุละสังโยชน์ได้หมดทั้ง ๑๐
เราจะเห็นได้ว่า "การบรรลุธรรม" นั้น ในหลายๆ ท่าน ตามที่มีหลักฐานในสมัยพุทธกาล หากท่านใดมี "ญาณแก่กล้า" ท่านเหล่านั้นสามารถบรรลุธรรมได้เลยในครานั้น เช่น ปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ในครั้งแรก สำเร็จมรรคผลขั้นต้นเป็นพระโสดาบัน และครั้งต่อมา คือ บรรลุพระนิพพานเป็นพระอรหันต์พร้อมกันทั้ง ๕ รูป